สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 19-25 พ.ค. 2562

กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน สั่งติดตามกรณี บริษัท ฟอร์ด มอเตอร์ เตรียมลดพนักงานตามนโยบายบริษัทแม่ที่สหรัฐฯ พร้อมแนะนายจ้างปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด

นายสมบูรณ์ ตรัยศิลานันท์ รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เปิดเผยถึงกรณีที่มีข่าวว่าบริษัท ฟอร์ด มอเตอร์ ค่ายรถยนต์ของสหรัฐอเมริกา ได้มีนโยบายปรับลดพนักงานลงประมาณ 10% ทั่วโลก หรือประมาณ 7,000 ตำแหน่งภายในสิ้นเดือนสิงหาคมนี้ โดยมีเป้าหมายเพื่อปรับลดต้นทุนตามแผน ปรับโครงสร้างของบริษัท สำหรับบริษัทฟอร์ดในประเทศไทยตั้งอยู่ที่ อ.ปลวกแดง จ.ระยอง ซึ่งจากการตรวจสอบข้อเท็จจริงทราบว่าขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของผู้บริหาร แต่การปรับลดดังกล่าวจะไม่กระทบกับลูกจ้างระดับปฏิบัติการ

"อย่างไรก็ตาม ได้สั่งการให้พนักงานตรวจแรงงาน สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดระยอง ติดตามสถานการณ์ความเคลื่อนไหวอย่างใกล้ชิด รวมทั้งชี้แจงข้อกฎหมายให้นายจ้างและลูกจ้างทราบ กรณีที่มีการเลิกจ้างให้เข้าไปตรวจสอบว่านายจ้างมีการจ่ายสิทธิประโยชน์ให้กับลูกจ้างถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ หากพบว่าบริษัทปฏิบัติไม่ถูกต้องจะดำเนินการให้ความช่วยเหลือลูกจ้างทันที" นายสมบูรณ์ กล่าว

ที่มา: กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน, 24/5/2562

ประกันสังคม เตือนผู้ประกันตน ม.39 อย่าขาดส่งเงินสมทบเผยล่าสุด 2 หมื่นกว่ารายสุ่มเสี่ยงสิ้นสภาพ

นายอนันต์ชัย อุทัยพัฒนาชีพ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า สำนักงานประกันสังคมยังคงมุ่งมั่นแก้ไขปัญหาการสิ้นสภาพความเป็นผู้ประกันตนมาตรา 39 ซึ่งเกิดจากสาเหตุสิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตนเนื่องจากขาดส่งเงินสมทบ 3 เดือนติดต่อกัน หรือภายในระยะเวลา 12 เดือน ส่งเงินสมทบมาแล้วไม่ครบ 9 เดือน จากการรายงานข้อมูลของผู้ประกันตนมาตรา 39 พบว่ามีผู้ประกันตนมาตรา 39 ยังคงค้างชำระเงินสมทบ จำนวน 20,751 ราย ซึ่งผู้ประกันตนกลุ่มดังกล่าวสุ่มเสี่ยงต่อการสิ้นสภาพ เป็นผู้ประกันตนมาตรา 39 ทันที ทั้งนี้ สำนักงานประกันสังคมได้ดำเนินการแจ้งเตือนเป็นหนังสือและข้อความ SMS ให้ผู้ประกันตนกลุ่มดังกล่าวรีบมาดำเนินการส่งเงินสมทบให้ครบถ้วนอย่างเร่งด่วนแล้ว

เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กล่าวต่อไปว่า ขอย้ำถึงผู้ประกันตนมาตรา 39 ซึ่งอยู่ในความดูแลของสำนักงานประกันสังคมในขณะนี้มีจำนวน 1,612,388 คน (ข้อมูล ณ 30 เม.ย.62) หมั่นให้ความสำคัญในการตรวจสอบการนำส่งเงินสมทบด้วยตนเองกับสำนักงานประกันสังคมอย่างสม่ำเสมอ และควรนำส่งเงินสมทบ อย่างต่อเนื่อง หากผู้ประกันตนขาดส่งเงินสมทบ 3 เดือนติดต่อกัน หรือภายในระยะเวลา 12 เดือน ส่งเงินสมทบมาแล้วไม่ครบ 9 เดือน จะสิ้นสภาพการเป็นผู้ประกันตนทันที อย่างไรก็ดีสำนักงานประกันสังคมได้อำนวยความสะดวกในการชำระเงินสมทบของผู้ประกันตนมาตรา 39 โดยชำระเงินสมทบเดือนละ 432 บาท ภายในวันที่ 15 ของทุกเดือน สามารถจ่ายเงินสมทบได้หลากหลายช่องทางด้วยกันดังนี้ จ่ายเงินสมทบได้ที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่/จังหวัด/สาขาทุกแห่งที่สะดวก หรือหักผ่านบัญชีเงินฝากธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนาคารกรุงไทย ธนาคารธนชาต ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารทหารไทย และธนาคารกรุงเทพ จ่ายด้วยเงินสดได้ที่ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนาคารกรุงไทย และธนาคารธนชาต และจ่ายผ่านระบบ Pay at Post ณ ที่ทำการไปรษณีย์ทั่วประเทศ จ่ายผ่านเคาน์เตอร์เซอร์วิส (7-11) หรือจ่ายผ่านเคาน์เตอร์เซ็นเพย์ (เซ็นทรัล) โดยผู้ประกันตนมาตรา 39 จะได้รับสิทธิประโยชน์ 6 กรณีเช่นเดิม คือ กรณีเจ็บป่วยหรือประสบอันตราย คลอดบุตร ทุพพลภาพ ตาย สงเคราะห์บุตร และชราภาพ ทั้งนี้ผู้ประกันตนสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ ทั้ง 12 แห่ง สำนักงานประกันสังคมจังหวัด/สาขา ที่ท่านสะดวก หรือโทร.1506 ตลอด 24 ชั่วโมง

ที่มา: ศูนย์สารนิเทศ สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน, 24/5/2562

กรมการจัดหางานจับกุมและดำเนินคดีแรงงานต่างชาติทำงานไม่ตรงกับใบอนุญาต ส่งกลับประเทศแล้วกว่า 6,200 คน

เมื่อวันที่ 23 พ.ค. 2562 นางเพชรรัตน์ สินอวย อธิบดีกรมการจัดหางาน เปิดเผยว่า กรมการจัดหางาน ได้บูรณาการร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง และกรมการปกครอง เข้าตรวจสอบ จับกุมและดำเนินคดีแรงงานต่างด้าวที่ลักลอบเข้ามาทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงานและแย่งอาชีพคนไทย ทำให้คนไทยได้รับความเดือดร้อนเป็นจำนวนมาก ซึ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้ตนได้สั่งการให้กองทะเบียนจัดหางานกลางและคุ้มครองคนหางาน กรมการจัดหางาน สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ และสำนักงานจัดหางานจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดที่มีแรงงานต่างด้าวทำงานเป็นจำนวน 5 หมื่นคนขึ้นไป เช่น สมุทรสาคร ปทุมธานี สมุทรปราการ ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี สงขลา เชียงใหม่ กรุงเทพมหานคร อาทิ เขตห้วยขวาง เขตสุขุมวิท เป็นต้น ซึ่งมีการลักลอบทำงานเป็นจำนวนมาก ให้จัดชุดเฉพาะกิจลงพื้นที่ร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง และฝ่ายปกครองในพื้นที่ตรวจเข้มการทำงานของแรงงานต่างด้าวและดำเนินคดี ซึ่งตั้งแต่ 1 กรกฎาคม 2561 – 22 พฤษภาคม 2562 ได้ตรวจสอบการทำงานของแรงงานต่างด้าวไปแล้ว จำนวน 371,823 คน และดำเนินคดีแรงงานต่างด้าวที่ทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงาน ขายสินค้า ขายอาหารตามแผงต่างๆ ขายของหน้าร้าน รวมทั้งเร่ขายสินค้า และงานอื่น ๆ ได้แก่ พนักงานรักษาความปลอดภัย วินมอเตอร์ไซต์ นวดแผนไทย และเสริมสวย ซึ่งเป็นงานที่ห้ามคนต่างด้าวทำตามกฎหมาย จำนวน 6,206 คน พบส่วนใหญ่เป็นสัญชาติเมียนมามากที่สุด รองลงมาเป็นเวียดนาม ลาว กัมพูชา อินเดีย จีน และอื่น ๆ ตามลำดับ โดยได้เปรียบเทียบปรับแรงงานต่างด้าว คิดเป็นเงินค่าปรับรวม 24,793,100 บาท ผลักดันส่งกลับแรงงานแล้ว จำนวน 6,081 คน

“แรงงานต่างด้าวต้องมีใบอนุญาตทำงานและทำงานตรงกับที่ระบุไว้ในใบอนุญาต โดยงานที่ทำต้องไม่ใช่งานที่ห้ามคนต่างด้าวทำหรือนอกเหนือจากที่มีสิทธิจะทำได้ หากฝ่าฝืนจะมีโทษปรับ 5,000-50,000 บาท หากผู้ใดพบเห็นคนต่างด้าวทำงานผิดกฎหมาย สามารถแจ้งเบาะแสได้ที่กองทะเบียนจัดหางานกลางและคุ้มครองคนหางาน กรมการจัดหางาน สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 หรือสายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร. 1506 กด 2 กรมการจัดหางาน เพื่อให้เจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบต่อไป” นางเพชรรัตน์ฯ กล่าว

ที่มา: กรมการจัดหางาน, 23/5/2562

ก.แรงงาน เผย ทางการญี่ปุ่นคุมเข้มคนเข้าเมือง รองรับความต้องการแรงงานระบบใหม่

นายสุรเดช วลีอิทธิกุล รองปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงความต้องการแรงงานระบบใหม่ของญี่ปุ่นว่า เนื่องจากกฎหมายควบคุมคนเข้าเมืองฉบับใหม่ของทางการญี่ปุ่น ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2562 เป็นต้นมา โดยครอบคลุมแรงงาน 2 กลุ่ม คือ กลุ่มแรงงานที่อยู่ในประเทศญี่ปุ่น ได้แก่ ผู้ฝึกงานในระบบเดิมซึ่งผ่านการฝึกงานมา 3 ปี นักศึกษาต่างชาติที่ต้องการทำงานระบบใหม่ต้องทดสอบภาษาญี่ปุ่นและทักษะอาชีพ และกลุ่มแรงงานที่เดินทางมาจากประเทศต้นทาง ได้แก่ ผู้ที่เคยผ่านการฝึกงาน 3 ปี และเดินทางกลับประเทศต้นทาง จะได้รับการยกเว้นไม่ต้องผ่านการทดสอบ และแรงงานใหม่ที่ไม่เคยผ่านการฝึกงานในญี่ปุ่น จะต้องทดสอบภาษาญี่ปุ่นและทักษะอาชีพโดยทดสอบในประเทศต้นทาง สำหรับการใช้เอกสารเพื่อขอออกวีซ่าจากญี่ปุ่นจะต้องยื่นเอกสารต่อสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองเพื่อให้ออก Certificate of eligibility : COE โดยยื่นขอวีซ่าจากสถานทูตญี่ปุ่น ออกเป็นวีซ่าชั่วคราวระยะเวลา 4 เดือน เป็นวีซ่าสถานะ“Designated Activities”เพื่อให้มีเวลาในการยื่นขอวีซ่าตามสถานะใหม่ ต่อกลุ่มแรงงาน ได้แก่ กลุ่มผู้สำเร็จการฝึกงาน 3 ปี กลุ่มผู้กำลังฝึกงานในปีที่ 3 กลุ่มผู้สำเร็จการฝึกงานปีที่ 5 กลุ่มแรงงานก่อสร้างและต่อเรือที่เข้ามาทำงานตามมาตรการพิเศษของกระทรวงที่ดิน สาธารณูปโภค คมนาคม และการท่องเที่ยว

รองปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวต่อว่า การเตรียมการแรงงานไทยไปทำงานญี่ปุ่น กระทรวงแรงงานได้เตรียมความพร้อมของแรงงานไทยทั้ง 3 ด้าน ได้แก่ 1) ด้านฐานข้อมูลแรงงานและการทดสอบแรงงาน โดยสำรวจฐานข้อมูลแรงงานไทยภายในประเทศที่เคยผ่านการฝึกงานที่ประเทศญี่ปุ่นและเดินทางกลับมาแล้ว 3 ปี ซึ่งจะได้รับการยกเว้นไม่ต้องผ่านการทดสอบ สำรวจความต้องการแรงงานไทยที่ต้องการไปทำงานที่ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งไม่เคยผ่านการฝึกงานที่ญี่ปุ่นมาก่อน สำรวจและสนับสนุนหน่วยงานที่ทำการทดสอบแรงงานเกี่ยวกับภาษาญี่ปุ่นและทักษะอาชีพโดยเฉพาะ 14 สาขา ซึ่งเป็นประเภทงานระบบเทคนิคพิเศษ 1 ที่ทางการญี่ปุ่นกำหนด สำรวจแรงงานไทยปัจจุบันที่อยู่ในประเทศญี่ปุ่น เช่น ผู้ฝึกงานในระบบเดิมผ่านการฝึกมาแล้ว 3 ปี หรือนักศึกษาที่ต้องการทำงานระบบใหม่ จะต้องทดสอบภาษาญี่ปุ่นและทักษะอาชีพ เพื่อเตรียมการสนับสนุนและให้ความช่วยเหลือให้ได้ทำงานตามระบบใหม่ 2) ด้านการมอบหมายหน่วยงานเพื่อประสานงานสภาสาขาอาชีพ โดยเตรียมการเพื่อมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดเจ้าหน้าที่ทำการประสานงานในเรื่องต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสภาสาขาอาชีพในแต่ละสาขาอาชีพของประเทศญี่ปุ่นที่ตั้งขึ้นเพื่อนำเข้าแรงงาน และ 3) ด้านการเตรียมเอกสารเพื่อขอวีซ่า โดยเตรียมการให้ความรู้แก่แรงงานในเรื่องเอกสารเพื่อยื่นต่อสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองออกเอกสาร Certificate of eligibility : COE ยื่นต่อสถานทูตญี่ปุ่นเพื่อขอออกวีซ่า ทั้งนี้ หากมีข้อสงสัยสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกระทรวงแรงงาน 1506 กด 2 กรมการจัดหางาน

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 21/5/2562

ตัวแทน 5 องค์กรวิชาชีพสื่อ ยื่นหนังสือถึงเลขาธิการ กสทช. เรียกร้องช่วยเหลือ เยียวยา ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนที่ได้รับผลกระทบจากคำสั่ง คสช.ที่ 4/2562

เมื่อวันที่ 21 พ.ค. 2562 ตัวแทน 5 องค์กรวิชาชีพสื่อ ในฐานะ “ศูนย์ประสานงานและติดตามข้อมูลสถานการณ์ในอุตสาหกรรมสื่อมวลชน” (ศปส.) ยื่นหนังสือถึงเลขาธิการ กสทช. โดยมี"ข้อเรียกร้องในการให้ความช่วยเหลือ เยียวยา ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนที่ได้รับผลกระทบจากคำสั่ง คสช.ที่ 4/2562" ดำเนินการ 5 ข้อดังนี้

1. ให้ผู้ประกอบกิจการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล ที่แจ้งความประสงค์คืนใบอนุญาต ประกอบกิจการ พิจารณาการเลิกจ้างลูกจ้างด้วยความรอบคอบ เป็นธรรม คำนึงถึงคุณค่าของทรัพยากรมนุษย์ที่เป็นกลไกสำคัญในการปฏิบัติงานวิชาชีพสื่อสารมวลชน และคำนึงถึงความอุตสาหะทุ่มเทเสียสละให้กับองค์กรในการทำหน้าที่สื่อมวลชนตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา

2. กำหนดมาตรการให้ความช่วยเหลือลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้างเป็นเงินพิเศษไม่น้อยกว่า 3 เดือน เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรม พัฒนาทักษะ ในการประกอบอาชีพใหม่ นอกเหนือจากค่าชดเชยเลิกจ้างตามที่กฎหมายกำหนด

3. ให้ผู้ประกอบกิจการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอลที่ยังคงประกอบกิจการต่อไป ทำสัญญาการจ้างงานที่เป็นธรรม เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล และเสนอแผนงานด้านการพัฒนาบุคลากรที่ยังคงประกอบวิชาชีพสื่อสารมวลชนต่อ กสทช. เพื่อยืนยันความมุ่งมั่นตั้งใจในการสร้างสื่อมวลชนมืออาชีพ และยืนยันถึงความตระหนักในการพัฒนาเนื้อหารายการให้มีคุณภาพและเป็นประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

4. ให้กองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ สนับสนุนงบประมาณในการจัดฝึกอบรม พัฒนาวิชาชีพ ให้กับพนักงานที่ได้รับผลกระทบดังกล่าวในระยะยาว เพื่อประโยชน์ในการสร้างบุคลากรที่มีทักษะด้านสื่อสารมวลชนเป็นกำลังส่วนหนึ่งในการพัฒนาประเทศ สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ และแผนพัฒนาประเทศตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0

5. ขอให้มอบหมายเจ้าหน้าที่ กสทช.ที่เกี่ยวข้อง ในการประสานงานด้านข้อมูลร่วมกับ “ศูนย์ประสานงานและติดตามข้อมูลสถานการณ์ในอุตสาหกรรมสื่อมวลชน” (ศปส.) เพื่อได้รับทราบข้อมูลที่ถูกต้องและทันท่วงทีต่อการแก้ไขเยียวยาให้กับพนักงานในองค์กรสื่อมวลชนที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการดังกล่าว

ด้าน นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. รับหนังสือพร้อมระบุว่าจะนำข้อเสนอขององค์กรวิชาชีพไปนำเสนอในที่ประชุมอนุกรรมการเยียวยาฯ ที่เป็นประธานให้เป็นหนึ่งในข้อพิจารณา ซึ่งข้อเสนอในการเยียวยาพนักงานที่ได้รับผลกระทบ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ก็ได้แสดงความห่วงใยตัั้งแต่ก่อน ม.44 ด้วยซ้ำ โดยขอให้ดูแลเยียวยาพนักงานที่จะได้รับผลกระทบ

ที่มา: NBCT สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย, 21 พ.ค. 2562

ปิด 'ตะวันแดงอุบล' ที่ถูกไฟไหม้ จ่ายชดเชยพนักงานกว่า 160 ชีวิต

จากกรณีไฟไหม้สถานบันเทิงชื่อดัง “ตะวันแดง มหาซน” ที่ จ.อุบลราชธานี เมื่อช่วงบ่ายวันที่ 19 พ.ค.ที่ผ่านมา เบื้องต้นแม่บ้านบอกเห็นกระแสไฟจากฝาเพดานที่ติดโฟมดูดซับเสียง ทำให้ไฟลุกไหม้ขึ้นอย่างรวดเร็ว สร้างความเสียหายกว่า 20 ล้านบาท

ความคืบหน้าล่าสุด 20 พ.ค. 2562 จ.ส.อ.เกริกชัย ผ่องแผ้ว ปลัดจังหวัดอุบลราชธานี นำเจ้าหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาทิ โยธาธิการจังหวัด แรงงานจังหวัด พิสูจน์หลักฐานจังหวัด และสำนักงานประกันภัยจังหวัดเข้าตรวจสอบสถานที่เกิดเหตุตะวันแดง มหาซน อุบลราชธานี อาคารชั้นเดียวแบบมีระเบียงยกสูง ตัวอาคารและทรัพย์สินภายในถูกไฟไหม้ได้รับความเสียหายเกือบทั้งหมด ทำให้ต้องปิดให้บริการ และมีผลต่อพนักงานกว่า 160 คนที่ทำงานอยู่กับสถานบันเทิงแห่งนี้

จากการตรวจสอบ พ.ต.อ.ตะวัน ไวยารัตน์ พิสูจน์หลักฐานจังหวัดระบุว่า เบื้องต้นจุดเกิดเพลิงไหม้น่าจะเกิดใกล้กับเวทีการแสดง เพราะบริเวณดังกล่าวถูกเพลิงไหม้จนหลังคายุบลงมา แต่ยังไม่มีความแน่ชัด ต้องรอให้นำวัสดุที่เก็บจากจุดเกิดเหตุไปตรวจวิเคราะห์จึงจะทราบผลเป็นจุดเกิดเพลิงไหม้หรือไม่ โดยใช้เวลาประมาณ 1 สัปดาห์

ด้านนายธนาวิศร์ พีรภัทร์จิรกิจ ผู้อำนวยปฏิบัติการสาขาทั่วประเทศตะวันแดง ซึ่งเดินทางมาดูที่เกิดเหตุระบุว่า ในส่วนของพนักงานกว่า 160 คน เบื้องต้นจะให้กระจายไปทำงานอยู่กับสถานบันเทิงตะวันแดงจังหวัดใกล้เคียง ส่วนพนักงานที่ไม่ต้องการไปก็จะได้รับเงินค่าชดเชยตามที่กฎหมายแรงงานกำหนด

ส่วนลูกค้าที่ซื้อบัตรร่วมชมคอนเสิร์ตที่ตะวันแดงนำศิลปินมาแสดงก็สามารถนำบัตรมารับเงินคืนได้เต็มตามจำนวน ส่วนการปรับปรุงแก้ไขต้องดูไปก่อนว่าจะทำได้เพียงใด เพราะรอให้สำนักงานโยธาธิการและวิศกรของสำนักงานเทศบาลนครอุบลราชธานี มีความเห็นออกมาก่อน

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 20/5/2562

'เครือข่ายสถานีอนาล็อก' เรียกร้อง 'ประยุทธ์' เยียวยาพนักงาน หลังโดนพิษทีวีดิจิทัลตกงาน

นายบราเห็ม สลีมิน ในนามเครือข่ายอนาล็อก เปิดเผยว่าเมื่อวันที่ 16 พ.ค. 2562 ที่ผ่านมา ตนกับพวกรวม 20 คน ได้ยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช. ผ่านศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ขอความเป็นธรรมให้มีมาตรการเยียวยาพนักงานเครือข่ายสถานีอนาล็อก สถานีต่างจังหวัด กรณีนายจ้าง บริษัท กรุงเทพโทรทัศน์และวิทยุ จํากัด ในนามสถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 ได้บอกเลิกจ้างพนักงานต่างจังหวัดทั้งหมด ซึ่งทำให้มีคนตกงาน 113 คน

ทั้งนี้ หนังสือดังกล่าวระบุว่า ด้วยเครือข่ายสถานีอนาล็อก สถานีต่างจังหวัด กรณีนายจ้างบริษัทกรุงเทพโทรทัศน์และวิทยุ จํากัด ในนามสถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 ได้บอกเลิกจ้างพนักงานต่างจังหวัดทั้งหมด โดยแบ่งเป็น 3 เฟส เฟสที่ 1 จํานวน 4 สถานี เมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2560 เฟสที่ 2จํานวน 13 สถานี เมื่อวันที่ 31 ธ.ค. 2560 เฟสที่ 3 จํานวน 20 สถานี เมื่อวันที่ 12 มี.ค. 2561 โดยทางบริษัทฯ ไม่เคยทําแผนงานระบบทีวีดิจิตอลแจ้งให้พนักงานทราบมาก่อน ซึ่งไม่เป็นไปตามนโยบายของ กสทช. ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐโดยตรงที่กํากับดูแลทีวีระบบกระจาย เสียงและภาพระบบดิจิตอลให้นโยบายไว้ว่าให้สถานีออกอากาศในระบบอนาล็อกควบคู่กับระบบดิจิตอลไปจนถึงอายุ สัมปทานในปี 2566

“ทําให้พนักงานต่างจังหวัดที่ถูกเลิกจ้าง ทั้งหมด 113 ราย อย่างเช่น พวกกระผมซึ่งมีอายุ 40 กว่าปีขึ้นไปทั้งสิ้น ขาดโอกาสในการหางาน ไม่มีโอกาสขยับขยายหางานใหม่ ครอบครัวที่ต้องดูแลต้องประสบปัญหาเดือดร้อนในทันที และหลังจากนี้ไปจะมีพนักงานต่างจังหวัดอีกมากมายหลายช่องก็จะถูกเลิกจ้างและประสบปัญหาเช่นเดียวกับพวก กระผมกันหมด ด้วยสภาวการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน ปัญหาหนี้สิน ความเดือดร้อนเหล่านี้มีที่มาจากบริษัทที่วิ ดิจิตอล และนโยบายของรัฐที่สนับสนุนให้มีทีวีดิจิตอลทั้งสิ้น ซึ่งขณะนี้ทาง กสทช. ก็ได้มีมาตรการเยียวยา ผู้ประกอบการทีวีดิจิตอลไปบ้างแล้ว”

ในตอนท้ายของหนังสือระบุว่า ขอความกรุณาต่อท่านนายกรัฐมนตรีได้โปรดพิจารณาถึงปัญหาดังกล่าว และได้โปรดมีมาตรการ เยียวยาพนักงานเครือข่ายสถานีอนาล็อก สถานีต่างจังหวัดจํานวนมากที่ถูกเลิกจ้าง ที่ได้รับความเดือดร้อนจากพิษของดิจิตอลจากนโยบายของรัฐให้ได้รับความดูแลชดเชยเยียวยาด้วย

“พวกผมอยู่ต่างจังหวัดที่โดนเลิกจ้าง สถานีต่างจังหวัดทั้งหมด 37สถานีโดนเลิกจ้างทั้งหมด ทีวีอนาล็อคเดิมจะมีช่อง7ช่อง 3 ช่อง9 ช่อง Thaipbs และช่อง5 เราโดนกลุ่มแรก และปิดก่อนออายุสัมปทานการเดินทางเข้ากทม. พวกผมอาศัยร่วมเงินคนละ100-200 บาท เพื่อให้ตัวแทนไปทำหน้าที่ครับ พวกผมลำบากกันจริง อายุก็เลย40-50ปีแล้ว ทั้งนั้นขาดโอกาสในการหางานใหม่ ด้วยอายุที่เกิน ช่วยแรงงานอย่างพวกผมด้วยเถอะครับ” นายบราเห็ม กล่าว

ที่มา: แนวหน้า, 20/5/2562

จับกระบะขนแรงงานผิดกฎหมาย 14 คน อัดแน่นเต็มรถ ขณะขนมาจาก จ.เชียงราย จะไปส่งที่ จ.ลำปาง

เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.งาว จ.ลำปาง ได้นำกำลัง เจ้าหน้าที่ทำการตั้งด่านตรวจยาเสพติดพื้นที่ บน ถนนลำปาง-เชียงราย (ขาเข้าเมืองลำปาง) พื้นที่ ต.นาแก อ.งาว จ.ลำปาง เพื่อป้องกันการกระทำสิ่งผิดกฎหมายและการลักลอบ ขนยาเสพติด และการขนแรงงานต่างด้าว ในขณะที่กำลังตั้งด่านนั้นได้มีรถยนต์กระบะคันหนึ่งขับผ่านด่านตรวจดังกล่าว

จากนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ส่งสัญญาณขอหยุดตรวจรถเพื่อทำการตรวจค้นในรถซึ่งเป็นรถกระบะแคป ปรากฏว่าด้านหลังแคปพบมีคนต้องสงสัยว่าจะเป็นคนต่างด้าวนั่งอัดมาเต็มในรถและด้านหลังกระบะอีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ สอบถามปรากฏว่า การพูดโต้ตอบ นั้นพูดภาษาไทยได้ไม่ชัดเจน จึงได้ควบคุมตัวแรงงานต่างด้าวทั้งหมด 14 คน พบว่าเป็นหญิง 7 คน เป็นชาย 7 คนอายุระหว่าง 14 ปีถึง 30 ปี

จากการสอบสวนคนขับรถคือนายแสง ได้ไปรับการสารภาพว่าได้ไปรับบุคคลต่างด้าวชาวพม่าทั้งหมดมาจากพื้นที่ตลาดในตัว อ.แม่สาย จ.เชียงราย โดยจะนำแรงงานทั้งหมดเดินทางมาส่งในตัวเมืองลำปาง แต่พอขับรถผ่านด่านตรวจมาถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจค้นและจับกุมแรงงานต่างด้าวทั้งหมดได้เสียก่อน ซึ่งหลังจากเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ ควบคุมตัวแรงงานต่างด้าว ทั้งหมดมาสอบปากคำแล้ว เจ้าหน้าที่ได้ดำเนินคดีในข้อหากับนายแสง คนขับรถคันดังกล่าวว่ากระทำการ ด้วยประการใดๆ อันเป็นการอุปการะและช่วยเหลือให้ความสะดวกแก่คนต่างด้าวให้เข้ามาในราชอาณาจักรโดยฝ่าฝืนกฎหมาย จึงได้ควบคุมตัวนายแสง ส่งพนักงานสอบสวนสภ.งาว จ ลำปาง เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป ส่วนแรงงานทั้งหมดเจ้าหน้าที่จะได้ผลักดัน ส่งตัวแรงงานทั้งหมด กลับประเทศเพื่อนบ้านต่อไป

ที่มา: สำนักข่าวไอเอ็นเอ็น, 20/5/2562

ส.อ.ท. เสนอรัฐบาลใหม่เพิ่ม Productivity แรงงานเป็นวาระแห่งชาติ

นายสุชาติ จันทรานาคราช รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และประธานคณะกรรมการสายงานแรงงาน ส.อ.ท. กล่าวว่า ปัจจุบันแรงงานคุณภาพมีไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้ประกอบการ รวมทั้งขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะ ขณะที่ตัวเลขคาดการณ์ผู้จบการศึกษาปี 2563 มีสูงถึง 1.8 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปี 2562 ที่มี 1.6 ล้านคน โดยพบว่าแรงงานที่จบการศึกษามานั้น ส่วนใหญ่เป็นแรงงานที่ไม่ตรงกับความต้องการของผู้ประกอบการ และบางสาขาวิชาเกินความต้องการในตลาดแรงงาน

ล่าสุดส.อ.ท.ได้จัดให้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยการประสานความร่วมมือกับบริษัท ซูเปอร์เรซูเม่ จำกัด หรือ ‘’JOBTOPGUN’ เพื่อสนับสนุนระบบสรรหาแรงงานและเครื่องมือการค้นหาผู้สมัครงานให้ตรงตามความต้องการของตลาดแรงงานทั้งในปัจจุบันและอนาคต เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ช่วยเพิ่มช่องทางการเข้าถึงแหล่งงานภาคอุตสาหกรรม สร้างตลาดงานและคนหางานบนโลกไซเบอร์ (Cyber Employment Community) ที่ผู้ประกอบการและผู้สมัครงานสามารถเข้าถึงได้จากทุกที่ สร้างโอกาสให้บุคลากรที่มีคุณภาพได้มีงานทำเพิ่มมากขึ้น

รวมถึงการให้โอกาสในด้านการฝึกงานในระหว่างการศึกษาของนักศึกษา มุ่งเน้นเสริมศักยภาพให้ผู้สมัครงานมีความพร้อมทุกด้านก่อนเข้าสู่ตลาดงานเพื่อสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งภาคการผลิตยังมีความต้องการแรงงานคุณภาพเข้าสู่ตลาดแรงงานอีกเป็นจำนวนมาก การลงนามนี้ จะตอบโจทย์ในการแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานคุณภาพ

นอกจากนี้ ส.อ.ท. ต้องการเสนอให้รัฐบาลชุดใหม่ช่วยผลักดันให้การเพิ่มผลผลิต (Productivity) ของแรงงาน ให้เป็นวาระแห่งชาติ มากกว่าการแก้ปัญหาด้วยการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำที่อาจทำให้ผู้ประกอบการ SMEs ไม่สามารถจ่ายค่าจ้างในอัตราสูงได้ และส่งผลให้ล้มเลิกกิจการไปในที่สุด

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 18/5/2562

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท