รมต.ดิจิทัลไต้หวันพูดถึงวิธีการแก้ปัญหา 'ข่าวปลอม' แบบไม่ต้องเซนเซอร์

ออเดรย์ ถัง รัฐมนตรีลอยที่ดูแลด้านกิจการดิจิทัลในไต้หวัน ที่มาภาพ: Audrey Tang (CC BY 2.0)

25 พ.ค. 2562 หนึ่งในประเด็นสำคัญของเรื่องข้อมูลข่าวสารในยุคสมัยปัจจุบันคือเรื่องของ 'ข่าวปลอม' (Fake News) หรือ 'การเผยแพร่ข้อมูลเท็จ' (disinformation) แต่ทว่ามีรัฐบาลหลายแห่งในโลกที่อ้างเรื่องนี้มาใช้ในการเซนเซอร์ข้อมูลข่าวสารหรือปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น อย่างไรก็ตาม ออเดรย์ ถัง หญิงข้ามเพศที่เป็นรัฐมนตรีลอยดูแลด้านกิจการดิจิทัลในไต้หวันก็พูดถึงวิธีการจัดการรับมือกับปัญหาเหล่านี้โดยที่ไม่ใช้วิธีการเซนเซอร์หรือปิดกั้น พวกเขาใช้วิธีการอย่างไร

ออเดรย์ ถัง รัฐมนตรีลอยที่ดูแลด้านกิจการดิจิทัลในไต้หวัน ให้สัมภาษณ์ต่อองค์กรคณะกรรมการคุ้มครองผู้สื่อข่าว (CPJ) เกี่ยวกับเรื่องวิธีการจัดการกับ 'ข่าวปลอม' (Fake News) หรือ 'การเผยแพร่ข้อมูลเท็จ' (disinformation) โดยที่ถึงแม้ว่ารัฐบาลในเอเชียบางประเทศจะอ้างใช้เรื่องนี้มาเซนเซอร์สื่อ แต่ในไต้หวันพวกเขาก็มีวิธีจัดการในแบบที่ต่างออกไป

ถังกล่าวว่าตามกฎหมายของไต้หวันแล้วจะไม่มีการเรียกสิ่งที่เกี่ยวกับข้อมูลเท็จว่าเป็น 'ข่าวปลอม' ดังนั้นในการให้สัมภาษณ์เธอจะขอเรียกตามนิยามว่าเป็น 'การเผยแพร่ข้อมูลเท็จ' (disinformation) ซึ่งสำหรับกฎหมายในไต้หวันหมายถึงการที่จงใจเผยแพร่ความเท็จในแบบที่ส่งผลเสียต่อประชาชนและต่อระบอบประชาธิปไตย ไม่ได้เกี่ยวกับการส่งผลเสียต่อคณะรัฐมนตรี

CPJ ระบุถึงความเป็นมาทางการเมืองยุคสมัยใหม่ของไต้หวัน โดยระบุว่าไต้หวันเพิ่งจะยกเลิกกฎอัยการศึกไปเมื่อปี 2530 และะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีเป็นครั้งแรกในปี 2539 ถึงแม้ว่าไต้หวันจะพึ่งพาการค้าและการลงทุนจากจีนมากขึ้นในขณะที่จีนพยายามอ้างสิทธิไต้หวันเป็นอาณาเขตของตัวเอง ประชาธิปไตยก็ทำให้ไต้หวันแตกต่างจากจีนแผ่นดินใหญ่ในด้านระบอบการเมือง ในไต้หวันผู้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งเริ่มสนับสนุนพรรคก็กมินตั๋ง (KMT) น้อยลง โดยที่พรรคก็กมินตั๋งเป็นพรรคที่พยายามเปิดความสัมพันธ์เข้าหาจีน ผู้ลงคะแนนเสียงส่วนใหญ่หันมาสนับสนุนพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า (DPP) ที่เน้นการเป็นอิสระของไต้หวันแทน

ถังเป็นหนึ่งในทีมรัฐมนตรีของรัฐบาลพรรค DPP ปัจจุบัน เธอเป็นโปรแกรมเมอร์ซอฟต์แวร์ที่มีชื่อมาจากกลุ่มสังคมแฮ็กเกอร์ เธอให้สัมภาษณ์กับ CPJ เกี่ยวกับการรักษาความน่าเชื่อถือของสื่อและระบอบประชาธิปไตยไปพร้อมๆ กันท่ามกลางการควบคุมสื่ออย่างหนักของจีนแผ่นดินใหญ่โดยมีโอกาสที่จีนจะพยายามแทรกแซงระบบเปิดของไต้หวัน และหนึ่งในวิธีการที่จีนใช้อาจจะเป็นการส่งอิทธิพลต่อความคิดเห็นของชาวไต้หวันด้วยการเล่นตุกติกจาก 'การเผยแพร่ข้อมูลเท็จ'

ถัง กล่าวว่าเธอคิดว่าไต้หวันอาศัยให้สังคมช่วยชี้ให้เห็นถึงเรื่องการเผยแพร่ข้อมูลเท็จซึ่งหมายถึงเนื้อหาเท็จที่จงใจให้เป็นภัยต่อสังคมและใม่ใช่งานข่าวที่แท้จริง แต่ถังก็มองว่าสังคมในปัจจุบันเล็งเห็นเรื่องนี้ได้ง่ายขึ้นเมื่อเทียบกับ 30-35 ปีที่แล้ว แต่ก็อาจจะยังมีคนสูงอายุในไต้หวันที่แยกไม่ค่อยออกระหว่างการเผยแพร่ข้อมูลเท็จกับข่าวจริงๆ เพราะก่อนหน้านี้พวกเขาเคยรับสื่อของรัฐได้สื่อเดียว และสื่อของรัฐก็มักจะเป็นสื่อแบบโฆษณาชวนเชื่อ ทำให้แยกแยะได้ยากกว่าเมื่อเทียบกับคนที่เกิดหลังการยกเลิกกฎอัยการศึกแล้ว

แต่ถึงแม้ว่าการเผยแพร่ข้อมูลเท็จจะเป็นอันตรายต่อสังคม ถังก็บอกว่าไต้หวันก็ไม่อยากทำตามหลายๆ ประเทศที่อ้างใช้เรื่องนี้มาทำการเซนเซอร์ เธอเสนอวิธีการโต้ตอบคือการรีบนำเสนอเรื่องราวที่น่าเชื่อถือขึ้นมาโดยเร็วก่อนที่โฆษณาชวนเชื่อหรือข้อมูลเท็จเหล่านั้นแพร่กระจายออกไป ถังบอกว่าเธอทำการทดลองนี้ในระบบปิดมาแล้วเพื่อดูว่าข้อมูลเหล่านี้จะกลายเป็นไวรัลหรือไม่

ถังเล่าถึงการทดสอบว่าเธอจัดให้รัฐมนตรีต่างๆ สำรวจในระบบปิดว่าพวกเขาพบเห็นว่ามีการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารเท็จเกิดขึ้นหรือไม่ก่อนที่จะมีการกระจายออกไปสู่คนทั่วไป โดยเธอให้เวลา 60 นาทีสำหรับรัฐมนตรีเหล่านี้ในการบอกเล่าเรื่องราวให้ดูน่าเชื่อถือเทียบเท่าหรือมากกว่าข้อมูลเท็จเหล่านั้น โดยจะออกมาเป็นสื่อในรูปแบบใดก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นหนังสั้น การไลฟ์สดตัวเอง การแสดงตลกเดี่ยวไมโครโฟน หรือกระทั่งการชวนชมการไลฟ์สดวิดีโอเกมของรองนายกฯ 

จากการทดสอบของเธอพบว่าหลังจากที่มีการแก้ไขข้อมูลด้วยการทำสื่อของตัวเองเหล่านี้ผู้ชมที่ได้รับสื่อเหล่านี้ก่อนจะเปรียบเสมือนได้รับภูมิคุ้มกันเตรียมพร้อมเอาไว้เวลาเจอข่าวปลอม

ถังยอมรับว่าวิธีการโต้ตอบการเผยแพร่ข้อมูลเท็จด้วยเรื่องที่น่าเชื่อถือกว่าแบบนี้เป็นวิธีที่ 'เหนื่อยมาก' เพราะถ้าจะให้ได้ผลดีที่สุดต้องทำหลังจากที่ข่าวลวงเผยแพร่ออกมาไม่เกิน 6 ชั่วโมง เพราะถ้าทำหลังจากวงจรข่าวเปลี่ยนวงจรไปสู่กระแสใหม่แล้วมันจะเป็นเรื่อง 'สิ้นหวัง'

อย่างไรก็ตามถังบอกว่าวิธีนี้ยังมีจุดอ่อนคือการที่ข่าวกระแสไวรัลบางอย่างหลุดรอดสายตาไป ซึ่งเรื่องนี้จะเป็นปัญหาที่ต้องอาศัยวิธีการของโครงสร้างเว็บไซเชียลมีเดียเช่นระบบที่ผู้ใช้รายงานข้อมูลที่น่าสงสัยให้กับ 'บอท' หรือระบบพิจารณาอัตโนมัติของเว็บ เพื่อเอาไปเทียบกับเว็บไซต์ตรวจสอบข้อเท็จจริงต่างๆ

ในบทสัมภาษณ์ยังมีการยกตัวอย่างข้อมูลเท็จที่เป็นภัยต่อสังคม คือกรณีที่มีคนปล่อยข่าวลือเท็จเรื่องแผ่นดินไหวระดับรุนแรงกว่า 7.0 ริกเตอร์ ซึ่งจะอนุญาตให้ประเทศใกล้เคียงส่งทีมกู้ภัยเข้ามาในประเทศประสบภัยได้โดยไม่ต้องขออนุมัติ ซึ่งถังมองว่าเป็นข้ออ้างให้เกิดการรุกรานประเทศนั้นๆ ได้ เรื่องนี้จึงกลายเป็นหน้าที่ของ 'ศูนย์ตรวจสอบข้อเท็จจริงของไต้หวัน' (Taiwan FactCheck Center) ในการนำเสนอข้อมูลพร้อมหลักฐานต่างๆ ที่น่าเชื่อถือเพื่อต้านทานข่าวลือเรื่องแผ่นดินไหว

อย่างไรก็ตามถังบอกว่า "ถึงที่สุดแล้ว ฉันคิดว่าส่งที่จะเป็นเครื่องมือให้การศึกษาได้อย่างมีประโยชน์ที่สุดคือเรื่องการรู้เท่าทันสื่อ (media literacy)"

เรียบเรียงจาก
Q&A: Taiwan's digital minister on combatting disinformation without censorship, CPJ, 23-05-2019
https://cpj.org/blog/2019/05/qa-taiwans-digital-minister-on-combatting-disinfor.php

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท