วีระ สมบูรณ์: Autonomy ไม่ใช่คำตอบเดียวของการการุณยฆาต

นักวิชาการชี้ว่า การการุณยฆาตมีปัจจัยหลายอย่างที่ต้องนำมาขบคิดร่วม การมี Autonomy หรือการมีสิทธิ์ในร่างกายและชีวิตตนเอง อาจไม่ใช่คำตอบเดียวต่อการเลือกอยู่หรือไป เพราะในสังคมยังมีเงื่อนไขอื่นๆ ที่ผูกโยงต่อการเลือกให้มีหรือไม่มีการการุณยฆาต

  • Autonomy อาจไม่ใช่คำตอบเดียวต่อการยอมรับการการุณยฆาต
  • ในสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำสูง กลุ่มคนด้อยโอกาสอาจถูกทำให้ต้องเลือกการการุณยฆาต
  • ตัวบุคคล, คนใกล้ชิด, สถาบัน และกฎหมาย คือ 4 เงื่อนไขที่ต้องนำมาคิดเพื่อใคร่ครวญต่อประเด็นการทำการุณยฆาต

วีระ สมบูรณ์ (แฟ้มภาพ ประชาไท)

REST IN PEACE วิกฤตความหมายของความตาย งานเสวนาที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2562 ที่ผ่านมา ณ ห้องประชุมจุมภฎ-พันธุ์ทิพย์ อาคารประชาธิปก-รำไพพรรณี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เวทีเสวนาย่อยหัวข้อ ‘Dying in the future อนาคตใหม่ของความตาย จุดจบชีวิตที่กำหนดได้’ มีการอภิปรายกันถึงการทำการุณยฆาต (Euthanasia) ว่าในสังคมไทยควรอนุญาตหรือไม่

มุมมองของ วีระ สมบูรณ์ อาจารย์ประจำสถาบันการทูตและการต่างประเทศ มหาวิทยาลัยรังสิต ที่ว่า Autonomy อาจไม่ใช่คำตอบเดียวที่จะใช้ตัดสินว่า คนเราควรมีสิทธิ์ตัดสินใจต่อชีวิตตนเองเพื่อจบชีวิตหรือไม่ เพราะการอยู่ในสังคมมีเงื่อนไขอื่นๆ อีกมากที่ต้องนำมาร่วมขบคิด

0000

ยิ่งผมอ่านมากขึ้น ดูมากขึ้น และคิดมากขึ้น ผมรู้สึกว่าเป็นเรื่องที่ยากและสำคัญ และไม่กล้าตอบ ที่จะพูดต่อไปนี้เป็นแค่ความนึกคิดที่เกิดขึ้นจากเรื่องนี้

ทางกลุ่มนิสิตที่ทำเรื่องนี้ค่อนข้างมีจุดยืนชัดเจนว่า โอนเอนไปในทางว่ามันเป็นเรื่องของ Autonomy หมายความว่าเป็นความสามารถของคนที่จะกำหนดด้วยตัวเอง เรามีเกณฑ์และบรรทัดฐานของเราอยู่ และเราจะยึดเกณฑ์หรือบรรทัดฐานนี้โดยอาจจะมีคนข้างนอกเข้ามาเกี่ยว แต่ในที่สุดแล้วก็เป็นเรื่องของแต่ละคน เมื่อยึด Autonomy ก็มีลักษณะของวิธีคิดที่เป็นเสรีนิยมค่อนข้างเต็มที่ คือว่าอะไรก็ตามที่เป็นเสรีภาพของบุคคลย่อมเป็นเสรีภาพของบุคคลและไม่เกี่ยวอะไรกับคนอื่น และตราบใดที่มันไม่ไปทำอะไรให้คนอื่นเป็นอันตรายหรือเสียหายอย่างชัดเจน โดยเฉพาะกรณีนี้เป็นเรื่องของร่างกาย ของชีวิต ก็ไม่ควรมีอะไรเข้ามาเกี่ยวข้องหรือยับยั้งเสรีภาพนี้ได้ นี่เป็นข้อโต้แย้งที่สำคัญของวิธีคิดแบบ Autonomy หรือเสรีนิยม

แต่โจทย์มันมีหลายเรื่องที่เข้ามาเกี่ยวข้อง เผอิญมีอยู่ข่าวหนึ่งในอังกฤษเผยแพร่ว่าคุณแม่คนหนึ่งในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ค่อยๆ ฟื้นกลับขึ้นมาเมื่อกลางปีก่อนจากการเป็นผักเป็นระยะเวลา 27 ปี เหตุที่ผู้หญิงคนนี้เป็นเจ้าหญิงนิทราเป็นเพราะอุบัติเหตุทางรถ ระหว่างนั้นหญิงคนนี้กอดลูกไว้แน่น เอาตัวปกป้องลูกไว้ ลูกได้รับบาดเจ็บเพียงเล็กน้อย แต่ทำให้เธอหมดสติไป ตามข่าว เนื่องจากทำประกันไว้ และประกันในสหรัฐอาหรับเอมิเรตก็มีเงื่อนไขให้จำเป็นต้องเลี้ยง ให้การรักษาให้มีชีวิตอยู่ต่อมาเรื่อยๆ

จนในที่สุดเทคโนโลยีก็พัฒนาไป เมื่อปีสองปีก่อนก็มีเทคโนโลยีในเยอรมนีสามารถทำให้คนที่เป็นผักมีโอกาสฟื้นขึ้นมาได้ นี่เลยเป็นกรณีที่องค์มกุฎราชกุมารออกทุนทรัพย์ให้ไปรักษาที่เยอรมนี แล้วทำให้ค่อยๆ ฟื้นขึ้นมาได้ เมื่อฟื้นขึ้นมาแล้ว สิ่งแรกที่แม่จำได้และพยายามพูดคือชื่อของลูก

กรณีนี้ทำให้เกิดคำถามว่าสมมติว่าเราคิดเรื่องการุณยฆาต ในตอนที่เกิดอุบัติเหตุปี 1991 เขากลายเป็นเจ้าหญิงนิทรา สมมติว่าไม่มีประกัน สมมติว่าประกันไม่รับผิดชอบ สมมติว่าค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงเจ้าหญิงนิทรานี้ก็มากมายมหาศาล เวลานั้นจะมีการตัดสินใจจบชีวิตผู้หญิงคนนี้หรือไม่ และถ้าให้เขาเสียชีวิตไปในขณะนั้น โอกาสที่เขาจะฟื้นก็จะไม่เกิดขึ้น

ตรงนี้เป็นประเด็นที่เกิดขึ้น หลายครั้งที่เราคิดเรื่อง Autonomy คำถามคือ Autonomy เกี่ยวข้องกับอะไรบ้าง หรือมีแค่ว่าเมื่อมันเกิดขึ้นเดี๋ยวนั้น ฉันคิดอย่างนั้น ตรงนั้น จบ หรือในขณะนั้นฉันเลือกอย่างนั้น จบแล้ว ฉันมี Autonomy Autonomy มีอยู่แค่นั้นหรือเปล่า การที่บุคคลจะสามารถตัดสินใจและปกครองตัวเองได้ มันมีลักษณะของตัวบุคคลขนาดไหน ในระยะเวลาเท่าไหร่ และเราจะตีความสักแค่ไหน

ขณะเดียวกันขอให้ลองย้อนกลับไปว่า สิ่งที่เกิดขึ้นมาได้เพราะมีระบบประกัน มีผู้คอยดูแล ในกรณีที่คนตัดสินจะจบชีวิตตัวเอง ลองนึกดูว่าถ้ามีระบบการแพทย์ มีสวัสดิการที่ดีพอ ที่จะทำให้เขาได้รับการรักษา ดูแล และเยียวยาต่อไป กรณีเช่นนี้จะเห็นว่าเงื่อนไขของ Autonomy ก็จะเปลี่ยนไป เพราะฉะนั้นแล้ว Autonomy ไม่ได้ขึ้นอยู่กับความคิดหนึ่งๆ ลอยๆ แต่มันขึ้นกับหลายอย่างที่ประกอบกัน รวมทั้งคนใกล้ชิดที่เกี่ยวข้องด้วย สังคมทั้งหมด และเงื่อนไขที่เข้ามาเกี่ยวข้อง

ดังนั้น การเป็น Agency ก็เป็นโจทย์ทางสังคมวิทยาว่า Agency มีอยู่จริงแค่ไหน ความเป็น Agent มีแค่ไหน อยู่ตรงไหน อยู่ที่ปัจเจก อยู่ที่กลุ่ม องค์กร หรือที่ไหน หรือจริงๆ แล้ว Agency ต้องอยู่ในโครงสร้างบางอย่างด้วย ซึ่งอาจจะหมายถึงว่าถ้าในสังคมมีค่าใช้จ่ายตรงนี้สูงมาก มีความเหลื่อมล้ำสูง คนก็จะตัดสินใจให้กระทำบางอย่าง เพราะฉะนั้นโจทย์ของการุณยฆาตก็จะมีคนแย้งขึ้นมาเสมอว่า มันจะกลายเป็นเครื่องมือทำให้คนด้อยโอกาสต้องจบชีวิตไปอย่างรวดเร็วหรือเปล่า หมายความในที่สุดแล้วคนที่ด้อยโอกาสหรือไม่มีโอกาสเผชิญหน้ากับความเจ็บป่วยด้วยค่าใช้จ่ายแพงๆ หรือไม่มีระบบสวัสดิการที่ดีพอ ในที่สุดแล้วกลับกลายเป็นว่าผลความเหลื่อมล้ำตกอยู่ที่ตัว Agency และต้องตัดสินใจแบบนั้น เพราะตัวเองไม่มีความสามารถเพียงพอ

ในที่สุดแล้ว การแพทย์ก้าวหน้าไปเรื่อยๆ ระบบการแพทย์ที่ดี คนที่มีฐานะสามารถรองรับและดำเนินไปได้ แต่กลุ่มคนด้อยโอกาสต้องเผชิญหน้ากับโจทย์อีกแบบหนึ่ง ต้องตกอยู่ภายใต้ข้อจำกัดบางอย่างด้วย เพราะฉะนั้นที่บอกว่า Autonomy ตัดสินใจโดยไม่มีข้อจำกัด จริงๆ แล้วมีหรือไม่มีแค่ไหน ผมคิดว่านี่เป็นโจทย์ที่สำคัญว่า เรายึด Autonomy อย่างเดียวได้หรือไม่ หรือเราต้องคำนึงถึงเรื่องอื่น

ประเด็นที่ 2 คือเวลาคิดโจทย์เรื่องนี้มีอะไรบ้างที่ต้องเกี่ยวข้อง ผมก็ลองจัดหมวดหมู่ประเด็นดู ผมคิดว่ามีประเด็นคำถามอยู่ 4 เรื่อง หนึ่ง-เป็นเรื่องตัวบุคคลหรือตัวเราเองคิดยังไง สอง-เกี่ยวข้องกับคนใกล้ชิด คนในครอบครัว สาม-เป็นคำถามในเชิงสังคม เชิงสถาบัน เชิงวัฒนธรรม เพราะว่าคำตอบเหล่านี้ไม่ใช่คำตอบแค่ตัวบุคคล แต่ในที่สุดจะกลายเป็นสถาบันในการปฏิบัติ เป็นธรรมเนียม เป็นค่านิยม เป็นวัฒนธรรมที่ตามมาด้วย รวมไปถึงการประกอบวิชาชีพของแพทย์ สี่-เรื่องกฎหมายว่าควรอนุญาตหรือไม่ ซึ่งโยงมาถึงอำนาจรัฐที่เข้ามาเกี่ยวข้อง

เวลาเราตอบ 4 ข้อนี้ หลายเรื่องมันเป็นคนละโจทย์กัน ดังนั้น เราไม่จำเป็นต้องตอบข้อเดียว แล้วไปสรุปว่าข้ออื่นต้องเป็นไปตามข้อใดข้อหนึ่งหมด เพราะฉะนั้นถ้าเราบอกว่าต้องมีเสรีภาพตามกฎหมายในข้อ 4 ไม่ได้แปลว่าข้อ 3 ที่ว่าด้วยสถาบัน จรรยาบรรณวิชาชีพ หรืออะไรต่างๆ จะต้องตอบตามข้อ 4 หมด ไม่ใช่ หรือไม่ใช่ว่าเราตอบข้อ 1 ว่าชีวิตศักดิ์สิทธิ์ ละเมิดไม่ได้ แล้วจะทำให้กฎหมายในข้อ 4 ไม่มีโอกาสอื่นได้เลย กฎหมายอนุญาตหรือไม่ ไม่ได้แปลว่ามันจะจบลงเพียงแค่ 0 หรือ 1 มันอาจจะเป็นว่าอนุญาตได้แต่มันมีกรณียกเว้นอย่างไร

แม้แต่กฎหมายที่ออกมาแล้ว เราก็จะเห็นได้ว่าต้องกระทำโดยรอบคอบ รัดกุมมาก ต้องมีความเห็นของแพทย์กี่คน สิ่งเหล่านี้เป็นโจทย์ที่ผมคิดว่าเราไม่จำเป็นต้องตอบข้อหนึ่งแล้วใช้ตอบทั้งหมด เราสามารถพิจารณาแต่ละข้อแล้วมีคำตอบบางอย่างที่ตามมา อย่างที่ผมบอกว่ายิ่งพิจารณาแล้ว ยิ่งไม่กล้าตอบ เพราะมันเป็นโจทย์ที่ฟันธงยากมาก

ข้อที่ 1 เรื่องของตัวบุคคล ถ้าเราเผชิญหน้ากับโจทย์นี้จริงๆ ในทางจริยธรรมมีแนวคิดหนึ่งที่เราเรียกชื่อตามนักปรัชญาท่านนี้ว่า การเดิมพันของปาสคาล ปาสคาลต้องการบอกว่าในชีวิตคนเรามีเกมอยู่เกมหนึ่งที่เราต้องเล่น เกมนั้นคือการตาย เมื่อเกมนี้ต้องเล่น เราจะได้หรือเสียอะไรตอนที่เราต้องเล่นนั้น เมื่อเราต้องได้หรือเสียอะไรในขณะที่ตาย แล้วเราจะทำอย่างไรในการเล่นเกมนี้ วิธีเล่นเกมที่ดีที่สุดคือการแทงกั๊ก ปาสคาลบอกว่าอย่าไปปฏิเสธ อาจจะมีพระเจ้าก็ได้ อาจจะมีสวรรค์ นรกก็ได้ เรายังไม่รู้ว่ามีหรือไม่มี แต่ถ้าเราเล่นเกมนี้ด้วยการแทงกั๊ก อย่างน้อยเราก็สบายใจว่าถ้ามันมี แล้วเราเล่นดี เราก็ได้ ถ้าเล่นไม่ดีเราก็เสียหมด ดังนั้น ในระหว่างที่มีชีวิตอยู่ เราแทงกั๊กแบบนั้น เราก็มีชีวิตที่ดี ถึงที่สุดแล้ว พูดแบบภาษาไทยก็คือไม่เชื่ออย่าลบหลู่ ถึงจะไม่เชื่อว่าตายแล้วจะมีชีวิตหลังความตาย วิธีเล่นเกมนี้ที่ดีที่สุดคือแทงกั๊ก ไม่เชื่ออย่าลบหลู่ ดังนั้น วิธีพิจารณาเกี่ยวกับความตาย เราจะเอาคติความตายอันไหนมาใช้ล่ะ ถ้าเรานิยามความตายแบบหนึ่ง วิธีพิจารณาความตายว่าดี มันดีอย่างไรที่เรียกว่าดี

ถ้ามีความเชื่อว่าการตายที่ดีคือการตายมีจิตที่สงบ ไปสู่สุขคติ อีกฝ่ายก็บอกว่าการตายที่ดีคือการได้ตัดสินใจที่จะจบชีวิตตัวเอง เท่ากับเราจบชีวิตที่พระเจ้าให้มาหรือชีวิตที่ไม่ใช่ของเรา ถ้าเราพิจารณาการตายดีกับไม่ดีด้วยเงื่อนไขบางอย่าง การพิจารณาการุณยฆาตก็จะเปลี่ยนไปทันทีว่า ดีคืออะไร ถ้าเราคิดว่าตายคือการจบสิ้น เราก็จะนิยามการตายดีแบบหนึ่ง เพราะฉะนั้นข้อ 1 เป็นข้อที่เราต้องเผชิญด้วยตัวเองและเลือกว่าเราจะเดิมพันนี้ด้วยอะไร ด้วยวิธีคิดแบบไหน อย่าไปเอาเรื่อง Autonomy อย่างเดียวมาเดิมพัน และอย่าเอากฎหมายมาเป็นตัวตัดสิน เสรีภาพก็บอกเราไม่ได้ เพราะตัวเสรีภาพก็ทำให้เราต้องคิดอีกว่าเสรีภาพนั้น เราจะใช้อย่างไร

ข้อที่ 2 เรื่องคนใกล้ชิด โจทย์นี้เราจะคิดกับคนใกล้ชิดอย่างไร มีโจทย์ข้อหนึ่งที่เป็นที่ถกเถียงกันมากคือการที่เราตัดสินใจให้คนรอบข้าง เราตัดสินใจได้หรือ แต่ถ้าเขาบอกอะไรไม่ได้ เขานอนอยู่อย่างนั้น เราจะปล่อยให้เขาอยู่ต่อไปหรือจะทำอย่างไร โจทย์ข้อนี้จะทำอย่างไร มันจะขึ้นกับเราคนเดียว ขึ้นกับคนในครอบครัว ซึ่งจะมาโหวตกันหรือเปล่า ในกรณีคนใกล้ชิดผมก็ไม่แน่ใจว่าเราจะเอาอะไรเป็นตัววัด ถ้าเราเชื่อแบบสังคมโบราณ มีคำตอบที่ชัดเจน ผู้อาวุโสสูงสุดว่ายังไงก็ว่าตามนั้น แต่ถ้าไม่มีแล้วจะเป็นอย่างไร

ข้อที่ 3 โจทย์ที่ว่าด้วยสังคม วัฒนธรรม เราอยู่ในสังคมที่มีความเชื่อ ความคิดในเรื่องนี้มากมาย และเราก็เชื่อว่าทุกคนมีสิทธิที่จะตอบข้อ 1 และข้อ 2 ในแบบที่ต้องการ แต่โจทย์ข้อ 3 มันยังมีสิ่งที่ตามมาอย่างเงื่อนไขทางสังคมที่ทำให้การตัดสินใจบางอย่างทำได้และทำไม่ได้สำหรับคนบางกลุ่ม สิ่งเหล่านี้อาจต้องพิจารณาเป็นโจทย์ต่างหาก โดยไม่ต้องพิจารณาโจทย์ข้อ 1 และ 2 ให้ชัดเจน เราอาจจะถามว่าระบบสาธารณสุขแบบไหนในสังคมที่จะสามารถทำให้คนมีโอกาสเข้าสู่ความตายได้อย่างมีเสรีภาพและเข้าสู่การตายที่ดีได้มากที่สุด โจทย์ข้อนี้สามารถตอบได้โดยไม่ต้องตอบโจทย์ข้อ 1 ข้อ 2 เราสามารถสร้างระบบสวัสดิการบางอย่างที่จะเอื้อเรื่องนี้ได้ แล้วก็ไม่ต้องไปฟันธงใดๆ ทั้งสิ้นกับข้อ 1 และ 2 นี่เป็นเพียงตัวอย่างซึ่งอาจจะโยงไปสู่ความคิดเกี่ยวกับการแพทย์และจรรยาบรรณทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ เพราะข้อถกเถียงเรื่องนี้ก็มีอยู่ว่าการที่แพทย์จะตัดสินใจให้ผู้ป่วยเสียชีวิตมีแง่มุมทางจรรยาบรรณของแพทย์อย่างไร

สุดท้าย ข้อที่ 4 กฎหมาย ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นขาวหรือดำทั้งหมด เพราะเราคงไม่สามารถบอกได้ว่าถ้าใครนึกอยากตายก็ให้ตายได้ ผมเข้าใจว่ากฎหมายเวลานี้ก็เป็นอย่างนั้นว่า ถ้าเราพูดหรือเกลี้ยกล่อมให้ใครฆ่าตัวตาย เรามีความผิดทางอาญา กรณีกฎหมายการุณยฆาต ในหลายประเทศก็มีอยู่ หรือแม้การฆ่าตัวตาย ผมได้ฟังนักปรัชญาบางท่านที่ดีเบตทางยูทูบ ท่านบอกว่าการตายโดยได้รับการช่วยเหลือจากแพทย์ (Assistant Dying) ที่จริงแล้วเรากำลังเลี่ยงบาลี จริงๆ แล้วการช่วยเหลือให้ตายคือการฆ่าตัวตาย (Suicide) ไม่ได้แปลว่ามีการตายด้วยความช่วยเหลือ เพราะว่าผู้ตัดสินใจได้ตัดสินใจทำอย่างนั้น ถามว่าเรื่องนี้ถูกหรือผิดแค่ไหน และกฎหมายจะให้ได้มากแค่ไหน

อันนี้ก็เรื่องที่มีการถกเถียงกันมาก เพราะพอเราบอกว่าแค่นี้ได้ แล้วถ้าคนบอกว่าฉันเจ็บแค่นี้ฉันก็ไม่เอาแล้ว ฉันเจอค่าใช้จ่ายแค่นี้ฉันก็ไม่เอาแล้ว แค่ไหนคือเส้นแบ่งตรงนั้น แล้วก็มีผู้ชี้ให้เห็นข้อมูลที่ตามมาว่าในหลายรัฐในสหรัฐฯ ตัวเลขการการุณยฆาตค่อยๆ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เรียกว่าพอปล่อยแล้วมันไหลไปเรื่อยๆ เป็น Slippery Slope จนไม่รู้ว่าจะไปหยุดที่ตรงไหน

ผมจึงคิดว่ากฎหมายจะต้องเป็นเรื่องที่ทำให้รัดกุมที่สุด จะบอกให้เปิดเสรีภาพ แล้วไม่มีกฎหมาย ในแง่หนึ่งต้องยอมรับว่า เมื่อปล่อยไปแล้วจะหยุดลำบาก ในท้ายที่สุด เราต้องเข้าใจอย่างหนึ่งด้วยว่ากฎหมายไม่ได้มีเพียงอำนาจที่เข้ามาบังคับอย่างเดียว แต่สิ่งที่กฎหมายทำด้วยไม่ว่าเราจะยอมรับหรือไม่ก็ตาม คือกฎหมายเป็นตัวกำหนดบรรทัดฐานและค่านิยม มันจึงไปกระทบข้อ 3 โดยปริยายเช่นกัน หรือมันจะไปเปลี่ยนความคิดของคนในโจทย์ข้อ 2 รวมทั้งการที่เราจะเลือกในโจทย์ข้อ 1

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท