จอน อึ๊งภากรณ์ ‘เมื่อเกิดระบบสวัสดิการแล้วมักเป็นสิ่งที่ไม่อาจยกเลิกได้’

จอน อึ๊งภากรณ์ ชี้ รัฐสวัสดิการคือสังคมที่มีหลักประกันในเรื่องจำเป็นต่อการมีชีวิตดี ร่วมจ่ายตามความสามารถ ได้รับประโยชน์เท่าเทียม ลดเหลื่อมล้ำ พัฒนาคนอย่างทั่วถึง แนะภาคประชาชน นักวิชาการ พรรคการเมืองร่วมผลักดัน และแม้ต่อสู้ให้ได้มาจะยากลำบากแต่เมื่อเกิดระบบสวัสดิการแล้วมักเป็นสิ่งที่ไม่อาจยกเลิกได้

 


แฟ้มภาพ

 

27 พ.ค. 2562 วานนี้ งานเสวนาเชิงปฏิบัติการ เส้นทางสู่รัฐสวัสดิการถ้วนหน้าในยุครัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง จัดขึ้น ณ ห้องเอนกประสงค์ 107-108 คณะศิลปะศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ภายในงานมีการกล่าวปาฐกถาโดย จอน อึ๊งภากรณ์ อดีต ส.ว.กรุงเทพฯจากการเลือกตั้ง และนักรณรงค์เพื่อรัฐสวัสดิการ ในหัวข้อ ‘เส้นทางสู่รัฐสวัสดิการถ้วนหน้าและสังคมไทยเสมอหน้า

จอน กล่าวตอนหนึ่งให้กำลังใจผู้รณรงค์เพื่อสร้างรัฐสวัสดิการในสังคมไทยไว้น่าสนใจว่า การไปสู่ระบบรัฐถ้วนหน้าที่ครอบคลุมทุกด้านในไทยยังต้องต่อสู่อีกหลายสิบปี แต่เชื่อว่าเราจะค่อยๆ มีการพัฒนาในบางส่วน เช่น แนวโน้มตอนนี้หลายพรรคเริ่มสนใจพัฒนาบำนาญผุ้สูงอายุ จะผลักง่ายหน่อย ขณะที่บางเรื่องยังผลักยาก

“ทั่วโลกเมื่อต่อสู้สำเร็จสามารถพัฒนาระบบสวัสดิการด้านใดด้านหนึ่งได้ มักเป็นเรื่องที่จะยกเลิกไม่ได้ กว่าจะได้มาต้องสู้ด้วยความยากลำบาก แต่เมื่อได้มาแล้วใครจะทำลายไม่ได้ ประชาชนไม่ยอม เป็นประโยชน์ประชาชนโดยตรง ถ้าเราพร้อมจะต่อสู้ในเรื่องนี้อย่างกัดไม่ปล่อย เชื่อว่าจะเห็นพัฒนาการรัฐสวัสดิการถ้วนหน้าในไทยในอนาคตทีละอย่างๆ” จอน กล่าว

 

คือการประกันคุณภาพชีวิตทุกคนอย่างถ้วนหน้า

จอน อธิบายถึงระบบรัฐสวัสดิการว่า เป็นโครงสร้างทางสังคมที่รัฐมีนโยบายชัดเจนที่จะประกันคุณภาพชีวิตของประชาชนทุกคนอย่างถ้วนหน้า ทุกคนที่อยู่ในสังคมนั้นจะได้รับหลักประกันในเรื่องที่จำเป็นต่อการมีชีวิตที่ดี ตั้งแต่เด็กได้รับการดูแล การศึกษาฟรีทุกระดับ มีหลักประกันเรื่องที่อยู่อาศัย ไม่มีคนไร้บ้าน มีหลักประกันรายได้ ไม่มีใครได้รายได้ที่ต่ำกว่าเส้นความยากจน มีหลักประกันเรื่องของบำนาญเมื่อสูงอายุ นี่คือหลักประกันคุณภาพชีวิตถ้วนหน้าตั้งแต่เกิดจนตาย

ในโลกยังไม่มีประเทศไหนบรรลุได้หมด แต่มีหลายประเทศที่ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีเกือบจะถ้วนหน้า  โดยเฉพาะประเทศแถบสแกนดิเนเวีย

 

แตกต่างจากระบบสวัสดิการแห่งรัฐยุค คสช.

จอน ย้ำว่า ระบบรัฐสวัสดิการเป็นระบบที่แตกต่างจากระบบสวัสดิการแห่งรัฐของไทยในยุค คสช. แตกต่างอย่างสิ้นเชิง หลักการระบบรัฐสวสดิการทุกคนได้หมด ไม่ใช่เฉพาะคนจน ทุกคนต้องจ่าย แต่จ่ายตามความสามารถ คนมีเงินเยอะจ่ายมาก มีปานกลางจ่ายปานกลาง ยากจนอาจไม่ต้องจ่ายจนกว่าจะมีรายได้เพียงพอ ดังนั้นเป็นการแบ่งปันร่วมจ่ายตามความสามารถ ได้รับประโยชน์เท่าเทียมกัน

เรื่องที่เถียงในสังคม สวัสดิการถ้วนหน้ากับสวัสดิการเฉพาะคนจน ทำไมแบบถ้วนหน้าถึงดีกว่า นั้นเพราะระบบสวัสดิการคนจนเป็นการแบ่งแยกระหว่างคนพอมีกับคนจน ทำให้เกิดพวกเขาพวกเรา และหลายครั้งคนอยู่เหนือเส้นแบ่งก็ยังมีความจำเป็นต้องใช้สวัสดิการ สวัสดิการเฉพาะคนจนจึงเป็นลักษณะการสงเคราะห์ การแสดงความเมตตา ขณะเดียวกันเป็นการทำลายศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ต้องพิสูจน์ความจน ต้องไปแสดงว่าตัวเองจน และสวัสดิการคนจนมักมีคุณภาพต่ำ ขาดประสิทธิภาพ ไม่เท่ารัฐสวัสดิการถ้วนหน้า ไม่มีระบบควบคุมคุณภาพ เพราะคนจนในสังคมไม่ค่อยมีเสียงเท่าไหร่

 

3 ระบบสวัสดิการไทย

จอน ชี้ให้เห็นถึงระบบสวัสดิการของไทยว่ามี 3 ระบบ คือ หนึ่ง ประกันสังคม ผ่านการต่อสู้มานาน แต่ยังบกพร่องมาก หากดูประเทศสาธารณะเช็ก ประกันสังคมครอบคลุมตั้งแต่เยาวชนไม่มีรายได้ ครอบคลุมทุกอาชีพแม้ไม่มีนายจ้าง ครอบคลุมคนว่างงาน เมื่อไหร่รายได้ไม่พอประกันสังคมก็จ่าย เมื่อไหร่มีเงินพอก็จ่ายให้ประกันสังคม ขณะที่ประกันสังคมด้อยอยู่เพราะไม่ได้อยู่ในมือของคนทำงานจริง แต่อยู่ที่กระทรวงแรงงาน

สอง ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งอยู่ในอันตรายช่วงเรามีรัฐบาลเผด็จการ มีความพยายามจะให้มีการร่วมจ่ายสาม เบี้ยยังชีพ ซึ่งยังไม่เพียงพอต่อการแก้ปัญหา

 

4 เหตุผลที่ต้องมีรัฐสวัสดิการถ้วนหน้า

สำหรับคำถามที่ว่า “ทำไมเราจึงต้องมีระบบรัฐสวัสดิการถ้วนหน้า” จอน ยกมา 4 เหตุผลประกอบด้วย หนึ่ง เป็นเหตุผลทางสิทธิมนุษยชน ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เราไม่ควรมีสังคมที่บางคนไร้ศักดิ์ศรี มีคุณภาพชีวิตที่ไม่สมกับความเป็นมนุษย์ เราจึงต้องประกันไม่ให้ใครตกต่ำ

สอง เป็นระบบที่มีประสิทธิภาพมากสุดในการลดช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจน ไทยเป็นประเทศที่มีช่องว่างคนรวยกับคนจนมากที่สุดประเทศหนึ่ง ในยุโรปเช่น สาธารณรัฐเช็ก เป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำน้อยที่สุดในโลก มีประชากรที่อยู่ใต้เส้นความยากจนเพียง 4% เพราะมีระบบรัฐสวัสดิการมีคุณภาพ ใกล้เคียงสวีเดนมาก ขณะที่สวีเดนจีดีพีต่อหัวสูงประมาณสามเท่าของสาธารณรัฐเช็ก และสาธารณรัฐเช็กมีจีดีพีต่อหัวสูงกว่าไทยสามเท่าเช่นกัน จึงเป็นไปได้ที่ไทยจะมีรัฐสวัสดิการ ด้วยวิธีแบบสาธารณรัฐเช็กซึ่งเป็นการจัดการแบบประหยัดแต่มีคุณภาพ

สาม เป็นการพัฒนาคนอย่างทั่วถึง ไทยมีเด็กเรียนเก่งแต่ไร้ทุนในการเรียนจำนวนมาก ก่อนหน้านี้ที่อังกฤษนักศึกษาทุกคนนอกจากเรียนฟรียังได้ทุนการศึกษาจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แม้เดี๋ยวนี้อังกฤษถอยหลังเป็นการให้กู้ยืมแทนได้ทุน แต่ไทยสามารถทำได้โดยต้องปรับให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเก็บภาษีได้เพียงพอ เพราะระบบสวัสดิการถ้วนหน้าทำให้เด็กและเยาวชนพัฒนาเต็มที่

สี่ ข้อถกเถียงที่ว่ารัฐสวัสดิการแพง ใช้จ่ายสูง แต่ความจริงในหลายกรณีรัฐสวัสดิการประหยัดค่าใช้จ่ายมากกว่า เช่น อเมริกาที่ไม่มีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ค่าใช้จ่ายทางการแพทย์สูงที่สุดในโลก ประชากรจำนวนมากยังไม่สามารถเข้าถึงการรักษาที่จำเป็นสำหรับตัวเอง ไทยพอมีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ค่าใช้จ่ายด้นการแพทย์ลดลงเยอะ รวมทั้งทำให้ต่อรองราคายาให้ลดลงได้

 

หนทางและอุปสรรคของการเกิดรัฐสวัสดิการ

ส่วนหนทางและอุปสรรคของการจะได้มาซึ่งรรัฐสวัสดิการได้นั้น จอน มองว่า  หนึ่ง ต้องมีแนวร่วมภาคประชาชนเข้มแข็งพอในการผลักดัน ซึ่งขณะนี้เรามีเครือข่ายภาคประชาชนหลายเครือข่ายที่ผลักดัน สอง จำเป็นต้องมีนักวิชาการและผลงานที่สามารถชี้ช่องทางทำให้นโยบายเป็นจริงได้ สาม จำเป็นต้องมีรัฐบาลและสภาที่มาจากการเลือกตั้ง ต้องเกิดการแข่งขันนโยบายระหว่างพรรคการเมืองต่างๆ ยิ่งมีพรรคการเมืองใหม่ที่มีนโยบายก้าวหน้า พรรคใหม่สามารถช่วยผลักดันนโยบายด้านนี้ได้ เป็นโอกาสดีที่ปัจจุบันเรามีพรรคใหม่ที่ดูเหมือนมีนโยบายก้าวหน้า

อย่างไรก็ตามการผลักดันจะพบอุปสรรคหลายอย่าง ได้แก่ หนึ่ง กลุ่มทุนและภาคเอกชนที่เสียผลประโยชน์จากระบบรัฐสวัสดิการ สอง กลุ่มผู้มีรายได้สูง รวมถึงสมาชิกรัฐสภา สมาชิกสภามักมาจากกลุ่มผู้ที่มีรายได้สูง เพราะต้องมีการปฏิรูปภาษี เพิ่มภาษีส่วนคนรวย สาม เรายังไม่มีพรรคการเมืองแทนผู้ด้อยโอกาสในสังคมโดยตรง ต่างจากต่างประเทศที่มีพรรคการเมืองของผู้ใช้แรงงาน สี่ ไทยยังขาดระบบการเก็บภาษีที่มีประสิทธิภาพ

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท