วงคุยว่าด้วย 'ชาติที่เรา (จะ) รัก ของ นิธิ' ผ่านนักวิชาการ 3 รุ่น หลังเลือกตั้ง

'เกษียร-ภาณุวัฒน์-พศุตม์-วาสนา-ปิ่นแก้ว' ร่วมเสวนา “ชาติที่เรา(จะ)รัก” 79 ปี นิธิ เอียวศรีวงศ์ ชวนหาคำตอบเราจะรักชาติอย่างไรได้บ้างที่จะไม่ทำร้ายผู้อื่น ไม่ทำร้ายตนเอง และที่สำคัญไม่ถูกชาติทำร้ายผ่านนักวิชาการ 3 รุ่นในห้วงเวลาหลังการเลือกตั้ง

 

เมื่อวันที่ 25 พ.ค. ที่ผ่านมา ที่บุ๊ครีพับลิก โครงการสี่หนึ่งพาร์ค จัดงานเสวนา “ชาติที่เรา(จะ)รัก” 79 ปี นิธิ เอียวศรีวงศ์ โดยกลุ่มเพื่อนนิธิสนับสนุนโดย We Watch ร่วมถกชาติ มีผู้ร่วมเสวนาคือ พศุตม์ ลาศุขะ อาจารย์คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) ภาณุวัฒน์ พันธุ์ประเสริฐ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มช. วาสนา วงศ์สุรวัฒน์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์และอาจารย์คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเกษียร เตชะพีระ ศาสตราจารย์และอาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดำเนินรายการโดย ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี รองศาสตราจารย์และอาจารย์คณะสังคมศาสตร์ มช.

 

ปิ่นแก้ว เริ่มด้วยว่า งานเขียนของ อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ พูดถึง ‘ชาติ’ เป็นส่วนใหญ่ และมักย้ำว่าชาติเป็นสิ่งประกอบสร้างทางสังคม การเมือง ทั้งยังเป็นการประกอบสร้างแบบไทยๆ แม้ชาติถูกพูดถึงว่าเป็นสมบัติของคนไทย แต่เป็นสมบัติที่คนไทยไม่เคยได้เป็นเจ้าของ บ่อยครั้งพลเมืองต้องถูกทิ้งขว้างจากชาติ ตกอยู่ภายใต้รัฐที่ไม่มีชาติ หากไม่ทำให้พลเมืองเลิกรักชาติได้เลย เมื่ออ่าน ‘ชาติ...ยอดรัก’ บทความหนึ่งของอ.นิธิ ซึ่งให้มุมมองเกี่ยวกับความรักชาติจบนั้น จะพบว่าความโรแมนติกที่ปรากฎในต้นเรื่องหายไปในตอนท้าย ซึ่งยังไม่มีงานเขียนไหนของนิธิที่ชาติกับพลเมืองจะอยู่ด้วยกันแบบแฮปปี้เอนดิ้ง อย่างตอนจบของบทความนี้ มีอยู่ว่า

“...คนที่รู้จักความรักอยู่อย่างเดียวคือรักชาติ โดยไม่รู้จักความรักอื่นๆ ที่คนในโลกปัจจุบันต่างแบ่งปันความรักจากชาติไปให้ จึงกลายเป็นคนโง่แบบไร้เดียงสา (IGNORANT ไม่ใช่ DUMB) และกลายเป็นตัวตลกประจำชาติไปอย่างน่าสมเพช” (สามารถอ่าน ‘ชาติ...ยอดรัก’ เพิ่มเติมได้ที่ https://www.matichonweekly.com/culture/article_142589)

วิธี (ไม่) รักชาติบน Twitter

เหตุนี้จึงร่วมสนทนากันในหัวข้อเราจะรักชาติอย่างไร ไม่ให้ถูกชาติทำร้าย เริ่มด้วย พศุตม์ ชวนทุกคนดูว่าทุกวันนี้เราพูดถึงชาติกันอย่างไรบ้าง ผ่าน Twitter Trending Hashtags ซึ่งโดยทั่วไปแล้วแฮชแท็กของทวิตเตอร์ทำหน้าที่ช่วยให้คนใช้โซเชียลมีเดียเข้าถึงข้อมูลที่ตนเองสนใจ เกิดสังคมของคนที่สนใจสิ่งเดียวกัน และเป็นการบอกว่าสังคมกำลังสนใจอะไร ในทุกวันนี้ทวิตเตอร์ถูกใช้เพื่อความบันเทิงมากขึ้นต่างจากเดิมที่ถูกใช้สำหรับการติดตามข่าวสาร และคนไทยนิยมใช้ทวิตเตอร์กันอย่างมากโดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่นถึงอายุประมาณ 35 ปี

พศุตม์ สนใจวัฒนธรรมการใช้ทวิตเตอร์ของคนรุ่นใหม่ในสังคมไทย โดยส่วนตัวมองว่าคนกลุ่มนี้นิยมทวิตเตอร์ เพราะสามารถพูดถึงเพศสถานะ เพศวิถี หรือบางเรื่องที่ไม่สามารถพูดในแพลตฟอร์มอื่นได้เต็มที่ เป็นพื้นที่เพื่อความบันเทิงที่มีปฏิสัมพันธ์กับครอบครัวน้อย รวมถึงอาจมองว่าเป็นพื้นที่ที่ไม่ได้ถูกสอบจากรัฐโดยตรง สิ่งที่จะพูดถึงต่อไปนี้คือแฮชแท็กในปี 2562 อย่างเดือนมกราคม เช่น #อย่าเลื่อนเลือกตั้ง #เลื่อนแม่มึงสิ #ทวงคืนวันสอบ เดือนกุมภาพันธ์ เช่น #มึงมาไล่ดูสิ # ฟ้ารักพ่อเพราะนโยบายของพ่อ #SaveThanathorn #นารีขี่ม้าขาว #แม่มาแล้วทนอส มีนาคม เช่น #โตแล้วเลือกเองได้ #กกตโป๊ะแตก #เลือกตั้ง 2562 เป็นต้น ซึ่งนอกจากคำเหล่านี้จะเป็นการแสดงอารมณ์ความรู้สึกแล้ว ในอีกแง่ยังเป็นการบอกว่าคนรุ่นใหม่ต้องการให้ชาติเป็นไปแบบไหน นับเป็นวิธีเรียกร้องให้สังคมวงกว้างมองเห็นสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคม และยังพบว่าการพูดคุยที่เกี่ยวข้องกับแฮชแท็กไม่ได้มีน้ำเสียงแค่การ บ่นดา ยังรวมไปถึงการขายสินค้าต่างๆ ซึ่งเหล่านี้สามารถดึงคนจำนวนมากให้มาอยู่รวมกันเป็นกลุ่มก้อนได้จำนวนมาก จนน่าตั้งคำถามว่าการที่แฮชแท็กดึงคนจำนวนมากมีมีนัยยะทางการเมืองที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงระดับชาติได้หรือไม่

ถอดบทเรียน Brexit มองชาตินิยมไทย

ตามด้วย ภาณุวัฒน์ ชวนมองแนวคิดเรื่องชาตินิยมผ่านปรากฎการณ์ ‘Brexit’ การถอนตัวออกจากสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักร โดยเล่าย้อนกลับไปว่ากรณีพิพาทพรมแดนไทย–กัมพูชาเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เคยแสดงความคิดเห็นกับอาจารย์ชาวไอริชในชั้นเรียนปริญญาโทว่า ชาตินิยมไม่ดีต่อประชาธิปไตย เพราะเป็นการสร้างความขัดแย้งให้เกิดขึ้น มนุษย์ต้องมาเกลียดชังต่อกันเพราะชาติ หากอาจารย์ไอริชตอบกลับว่าสำหรับเขาแล้วถ้าประเทศไทยไม่เป็นชาตินิยมก็ไม่จะสามารถเป็นประชาธิปไตยได้ ทั้งนี้ต้องทราบว่าในทางประวัติศาสตร์แล้ว ไอร์แลนด์ต้องดิ้นร้นให้พ้นจากการตกอยู่ใต้อำนาจของอังกฤษมาโดยตลอดกระทั่งทุกวันนี้ จากการพูดคุยครั้งนั้นทำให้ได้กลับมามองชาตินิยมในแง่บวกว่ามีประโยชน์คือช่วยให้ผู้คนลุกขึ้นมาเรียกร้องการปกครองตนเองเพื่อสิทธิของตนเอง โดยที่สุดแล้วชาตินิยมก็มีทั้งด้านสร้างสรรค์และกดขี่

ภาณุวัฒน์ กล่าวต่อว่า ในทางวิชาการ กรณี Brexit ถูกวิเคราะห์เกี่ยวกับประชานิยมและชาตินิยมมากที่สุด โดยประชานิยมนั้น กรณี  Brexit ได้สะท้อนว่าคนธรรมดาได้สื่อสารว่าไม่ต้องการโครงการใหญ่ๆ จากชนชั้นนำ สำหรับชาตินิยม กรณี  Brexit ก็อาจสามารถสะท้อนชาตินิยมได้เช่นกัน ขอเริ่มด้วยว่าอังกฤษมีความซับซ้อนในตนเอง เช่น เรื่องการแบ่งเขตการปกครอง ดังนั้น Brexit มีส่วนในการขับเน้นความเป็นชาตินิยมของอังกฤษมากขึ้น เพราะชาตินิยมจะกลับมาทำงานก็ต่อเมื่อมีการสร้างความเป็นอื่น นั่นคือสหภาพยุโรป ซึ่งผลโหวตครั้งนี้มีประชาชนต้องการจากสหภาพยุโรปถึง 52 เปอร์เซ็นต์ และไม่ต้องการออกจากสหภาพยุโรป 48 เปอร์เซ็นต์ พอจะสะท้อนได้ว่ามีความต้องการของชาตินิยมในการกีดกั้นสหภาพยุโรปหรือความเป็นอื่นออกไป

น่าสนใจว่า ชาตินิยมคงมีอยู่ในประเทศที่มีประชาธิปไตยและเข้าสู่การพัฒนาแล้วอย่างอังกฤษ ที่ซับซ้อนคือกรณีนี้ยังขับเน้นชาตินิยมเฉพาะของคนอิงแลนด์อีกด้วย เพราะผลโหวตในอิงแลนด์กับเวลส์ต้องการออกจากสหภาพยุโรป ขณะที่สกอตแลนด์ต้องการอยู่ในสหภาพยุโรป จึงกลายเป็นว่าคนอิงแลนด์ต้องการลากทั้งประเทศออกจากสหภาพยุโรป เกิดความคับข้องระหว่างกันตามมา ไม่ต่างกับว่าชาตินิยมถูกกระตุ้นขึ้นอีกครั้งเช่นเดียวกันในตอนปี 1997 ที่อังกฤษมีการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ ได้กระจายอำนาจไปสู่สกอตแลนด์และเวลส์แต่ไม่ได้กระจายอำนาจสู่อิงแลนด์ เนื่องด้วยอิงแลนด์ถูกมองว่าเป็นศูนย์กลางอยู่แล้ว ปัญหาที่ตามมาคือมีคนอิงแลนด์ไม่พอใจ ทั้งที่การกระจายอำนาจครั้งนี้ทำด้วยความหวังดีแต่กลับกระตุ้นให้เกิดความขัดแย้งกันเอง

ภาณุวัฒน์  กล่าวว่า ในแง่มุมของชาตินิยมของอังกฤษมีความน่าสนใจ ซึ่งแน่นอนว่าชาตินิยมอาจจะมีได้ 2 แบบ ทั้งในแง่ของความสร้างสรรค์ที่เปิดกว้างและแง่ของความกดขี่ปิดกั้น แม้ในอุดมคติหนึ่งเราจะพูดกันว่าสามารถทำลายกำแพงของความเป็นมนุษย์ลงได้ แต่ที่สำคัญคือนี่เป็นที่มาของคำถามว่าทำไมชาตินิยมจึงไม่หายไปเป็นประเทศพัฒนาแล้ว และอาจจะถามต่อไปอีกว่าคำว่าชาตินิยมนี้ควรจะหายไปไหม  หรือแท้ที่จริงแล้วเราอาจทำได้แค่จัดการชาตินิยมให้อยู่ในกรอบของแง่ที่ไม่กดขี่ ไม่นำไปสู่การปิดกั้น

ชาติคือการปลดแอก

สำหรับ วาสนา แสดงความเห็นว่าตนเองไม่ได้รู้สึกว่าชาตินิยมจะโรแมนติกเท่าใน ชาติ..ยอดรัก ของอ.นิธิ เพราะชาตินิยมของไทยเป็นชาตินิยมที่ไม่ปล่อยประชาชนให้ไปไหนได้ไกล แต่เป็นการหมอบคลาน การเสียสละตนเอง หากใน “A Bitter Revolution: China’s Struggle with the Modern World ของ Rana Mitter” ได้กล่าวถึงประวัติศาสตร์จีนสมัยใหม่ กรณี 4 พฤษภาคม 1919 ซึ่งเป็นการลุกฮือของนักศึกษาปัญญาชนคนรุ่นใหม่ที่รวมตัวกันที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน แนวคิดของการการเคลื่อนไหวครั้งนี้ถูกพูดถึงอีกหลายครั้งในกระบวนการเคลื่อนไหวครั้งอื่นๆ ของประชาชน เช่น สงครามมหาเอเชียบูรพา การปฏิวัติทางวัฒนธรรมใหญ่ของกรรมาชีพ การชุมนุมประท้วงที่จัตุรัสเทียนอันเหมินปี 1989 หรือในการปฎิวัติร่มที่ฮ่องกง โดยพบว่ามีคำที่ตรงกันกับใน ชาติ..ยอดรัก อย่าง “รักประโลมโลกย์” “รักเสรี” “หนุ่มสาว” ซึ่งในกรณี 4 พฤษภาคม 1919 แรกเริ่มจากจีนไม่ได้ผลประโยชน์ตามที่คาดหวังไว้หลังอยู่ฝั่งชนะสงครามโลกครั้งที่ 1

ถึงอย่างนั้นลักษณะการประท้วงของนักศึกษาปัญญาชนคนรุ่นใหม่ของจีนจำนวนมากที่ออกมารวมตัวกันที่เทียนอันเหมิน ไม่ได้เป็นการต่อว่าญี่ปุ่น กลับกันพวกเขาตั้งคำถามว่าอะไรในบ้านเมืองของตนเองที่ทำให้ประเทศตกต่ำ พัฒนาต่อไปไม่ได้ ซึ่งเป็นการตั้งคำถามถึงรากฐานอารยธรรมจีน อย่าง ขงจื้อและวิชาอื่นๆ จนนำไปสู่การเรียกร้องที่ปลดแอก คือพวกเขาพบว่าประเทศย่ำอยู่ที่เดิม เพราะสังคมชนชั้นนำมีแนวคิดขงจื้อรับรองไว้ อย่างคติผู้ปกครองกับผู้ถูกปกครอง พ่อกับลูก สามีกับภรรยา พี่ชายกับน้องชาย เพื่อนกับเพื่อน นั่นล้วนเป็นความสัมพันธ์อันจะสลับที่กันไม่ได้ แต่การเป็นประชาธิปไตยนั้นต้องออกจากโครงสร้างชนชั้น เป็นสังคมที่คนเท่าเทียมกัน และสามารถต้องแก้ไขได้ด้วยการศึกษาสมัยใหม่ การคิดแบบมีวิทยาศาสตร์ เปิดรับภาษาและวัฒนธรรมจากต่างประเทศมากขึ้น รวมถึงปรับระบบครอบครัว เพราะสำหรับจีนนั้นครอบครัวเป็นส่วนสำคัญที่ไม่ส่งเสริมให้คนรุ่นใหม่ได้สร้างสรรค์ และผู้หญิงต้องลำบาก เหล่านี้นับเป็นการต่อสู้ที่สำคัญมากเพื่อให้ได้ซึ่งความรักเสรีจริงๆ

“เป็นความรักที่เสรีจริงๆ สำหรับจีนนั้นเป็นความรักเสรีต้องอธิบายได้ เพราะเดิมระบบครอบครัวจีนเป็นเรื่องการจัดการสินทรัพย์ของครอบครัว การแต่งงานของหนุ่มสาวคล้ายการขยายสินทรัพย์ของบริษัท ผู้ใหญ่จึงเป็นคนกำหนดว่าใครจะแต่งงานกับใคร เพราะถ้าให้คนในครอบครัวของตนเองไปแต่งงานกับคนที่ไม่เชื่อฟังแล้วกงสีก็แตกแยก ฉะนั้นผู้ใหญ่ต้องเลือกคนที่เชื่อฟัง ทำให้คนที่คิดใหม่ทำใหม่ ไม่เชื่อฟังผู้ใหญ่ไม่ได้แต่งงาน นอกจากนี้ระบบครอบครัวจีนยังมีการควบคุมผู้หญิงสารพัด ทำให้ทรัพยากรบุคคลครึ่งหนึ่งไม่ได้พัฒนาอะไรเลย ถึงขั้นมีการบอกว่าระบบครอบครัวจีนทำให้ลูกสาวไม่ต่างจากกะหรี่และพ่อแม่เป็นแมงดา” วาสนา กล่าว

วาสนา ทิ้งท้ายว่า ความรักเสรีของจีนสามารถต่อต้านระบบครอบครัว ทำให้เพศหญิงมีอิสรภาพมากขึ้น ตั้งอยู่บนเสรีภาพและความเสมอภาค เป็นการทำให้ผู้คนปลดแอกออกจากโครงสร้างสังคมชนชั้น แล้วเมื่อไหร่เราจะปลดแอกจากประชาชนไทยจากชาติและความรักได้บ้าง

สิทธิ์ของคนไทยคืออะไรภายใต้ประชาธิปไตยอันมีพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ

เข็มทอง กล่าวว่า ในมุมมองของนักกฎหมายไม่ได้สนใจชาติแต่สนใจรัฐ เพราะรัฐมีอำนาจออกกฎหมาย ถ้านักกฎหมายไม่ได้ตระหนักในมุมนี้ก็จะค่อยๆ ผลักคนออกจากชาติไปในที่สุด โดยประเด็นที่จะพูดถึงคือพุทธศาสนาอันเป็นศาสนาประจำชาติ และเป็นหนึ่งในไม่กี่หัวข้อที่ข้ามเส้นความเป็นเหลือง-แดง ซึ่งจะได้เห็นว่าคนที่มีแนวคิดทางการเมืองต่างกัน รู้สึกหวงแหน เกรี้ยวกราดร่วมกันเมื่อเกิดอะไรที่เกี่ยวข้องกับพุทธศาสนาขึ้น

“พุทธศาสนาเป็นพลังอันหนึ่งที่ทรงพลังมากในการรวมเอาเลือดเนื้อชาติเชื้อไทยไปทำอะไรบางอย่าง 5 ปีหลังมานี้ ด้วยปัจจัยต่างๆ ทำให้มีการเรียกร้องให้รัฐใส่ใจพุทธศาสนามากขึ้น มีคนกลุ่มหนึ่งที่อ่อนไหวกับประเด็นพุทธศาสนา…เกิดเรื่องที่เกี่ยวข้องกับพุทธศาสนาเล็กน้อยก็ใช้อำนาจรัฐจัดการ ทั้งที่คนกลุ่มนี้ไม่ค่อยมีความรู้เกี่ยวกับพุทธศาสนาเท่าไหร่นัก จริงๆ มันเป็นแค่อาการป่วยของสังคมที่เอาชาตินิยมกับศาสนาพุทธมารวมกัน”

เข็มทอง ขยายความต่อว่า กรณีที่น่าสนใจคือ ชาวพุทธกลุ่มหนึ่งร้องเรียกให้มีการปรับแก้เพลงชาติ ทั้งที่เพลงชาติผลิตโดยเผด็จการทหาร มากด้วยความเป็นชาติไทยอยู่แล้ว แต่ยังมีชาวพุทธที่คิดว่าเพลงชาติยังไทยไม่พอ เพราะเพลงชาติยังพุทธไม่พอ จนเผด็จการทหารที่ว่าแน่แล้วก็ยอมปรับแก้เพลงชาติให้พุทธมากขึ้นไปอีก ที่น่ากลัวคือแรงต้านเรื่องพุทธและชาตินิยมในบ้านเรามันแผ่วลงจนแทบไม่เหลืออะไรเลย จากเดิมที่รัฐธรรมนูญเคยระบุว่าพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติและอุปถัมภ์ศาสนาอื่น หากทุกวันนี้กลายเป็นว่าต้องคุ้มครองพุทธศาสนาให้ปลอดภัยจากภัยคุกคามด้วย โดยแรงขับเคลื่อนของชาว ‘พุทโธเลี่ยน’ นี้อาจมีทั้งวิกฤตภายในและภายนอก วิกฤตภายใน เช่น คำสอนของพุทธศาสนาก็มีส่วนทำให้เกิดความกังวลใจศาสนาพุทธจะเสื่อมลงในที่สุด แต่ความกลัวของคนกลุ่มนี้ไม่ได้มาจากคำสอนเหล่านั้น หากเป็นความกลัวความเสื่อมของวงการสงฆ์ ความกลัวว่าจะตามโลกสมัยใหม่ไม่ทันจนคนสิ้นศรัทธากับพุทธศาสนากระแสหลักนี้ แต่มันก็มีกระแสรองอื่นๆ มารองรับได้ หากทำให้คนกลุ่มนี้เกรงว่าจะไม่มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน นอกจากนี้ในประวัติศาสตร์ไทย เมื่อพุทธศาสนาถูกโจมตีเป็นระยะๆ ล้วนต้องอาศัยผู้นำในการพยุงพุทธศาสนาอยู่เสมอ ดังนั้นแล้วพุทธไทยมองตนเองว่าค่อนข้างอ่อนแอและมองรัฐในแง่ดี มีอะไรเกิดขึ้นกับพุทธศาสนาก็พึ่งพารัฐ  ไม่ได้ทำหน้าที่เป็นผู้ให้คำปรึกษาทางศีลธรรมได้ยามชาติมีปัญหา

ในอีกแง่หนึ่งเวลาพูดถึงพุทธศาสนาว่าเป็นศาสนาประจำชาติ ความกลัวหลักๆ คือเสรีภาพทางศาสนา แรกสุดคือคนต่างศาสนา ตามมาคือคนศาสนาพุทธที่ไม่ใช่ชาว ‘พุทโธเลี่ยน’ เพราะต้องไม่ลืมว่าพุทธไทยมักลงโทษคนในศาสนาเดียวกันหนักกว่าคนต่างศาสนา โดยถ้ามองให้กว้างการที่ศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติหรือเป็นความคิดใหญ่ทางการเมืองไม่ได้เป็นการกีดกั้นคนต่างต่างศาสนาออกไป แต่รวมถึงการทำให้คนที่นิยมประชาธิปไตยหรือพุทธสมัยใหม่ต้องขัดแย้งกับศาสนาพุทธโดยหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งคนกลุ่มนี้พูดถึงการปกครองที่เป็นรัฐธรรมนูญนิยม อย่างน้อยต้องเป็นการปกครองโดยรัฐธรรมนูญที่การันตีเรื่องสิทธิเสรีภาพ ปัจเจก เสมอภาค แต่เมื่อดูการเมืองการปกครองไทยกลับพบว่าทุกอย่างมันขัดกัน สังคมไทยเป็นสังคมที่มีตำแหน่งแห่งที่ของทุกคนแล้วมันสลับกันไม่ได้ คือแสดงถึงความเชื่อแบบพุทธว่าสังคมจะดำเนินไปได้ดีคือสังคมที่ต้องมีชนชั้น มีสูงมีต่ำ หากความจริงคือคนในสังคมต้องไม่มีการกดขี่กัน

“มีกระบวนการที่ทำธรรมในนิติธรรมหมายถึงธรรมะ ซึ่งแปลว่ากฎที่เป็นทั้งของคน สัตว์ สิ่งของ และมีคำในกฎหมายหลายคำที่ผูกโยงกับศาสนาเอาไว้อย่างลึกซึ้ง ฉะนั้นเมื่อถามถึงความเป็นธรรม ยุติธรรมจะย้อนกลับมาที่ความดีความชั่ว ความชั่วต้องถูกลงโทษ ศาลจะต้องพิทักษ์ความดีไว้ จะเห็นว่าการใช้กฎหมายในประเทศไทยนั้นความผิด ข้อหา การลงโทษ ข้อเท็จจริงไม่ได้ต้องสอดคล้องกัน” เข็มทองกล่าว และทิ้งท้ายว่าเกิดการปะทะกันระหว่างสิทธิเสรีภาพของปัจเจกกับอะไรบางอย่างในพุทธศาสนา เพราะพุทธศาสนาไม่ได้เปลี่ยนผ่านคำว่าสิทธิที่เป็นของส่วนบุคคล การใช้สิทธิของพุทธศาสนายังคงไว้ซึ่งความถูกต้องดีงาม ต้องเหมาะสมกับกาลเทศะเสมอ

ชาตินิยมกับปัจเจกบุคคล

เกษียร กล่าวว่า อ.นิธิ พูดถึงปัจเจกบุคคล (individuals) ผูกโยงเข้ากับชาตินิยมอย่างชัดเจน ซึ่งน้อยคนจะพูดแบบนี้ต่างจากการพูดถึงเสรีภาพ หรือประชาธิปไตย เพราะคนไทยคิดว่าส่วนร่วมมาก่อนปัจเจกบุคคล มองว่าคนเราเกิดมาเพื่อรับใช้สังคมหรืออะไรที่ใหญ่กว่าตนเอง อย่างชาติ ขณะที่รากของแนวคิดวิถีประชาธิปไตยคือการค้นพบปัจเจกบุคคล แล้วสังคมส่วนรวม รัฐต้องรับใช้ปัจเจก ส่วนตัวจึงอยากชวนคิดต่อจากบทความ ชาติ...ยอดรัก ด้วยสาระสำคัญคือ 1) ความรักชาติแบบชาตินิยมคืออะไร 2) เปรียบได้กับความรักประโลมโลกย์ (Romantic Love) 3) เป็นของปัจเจกบุคคลพลเมือง (individuals) 4) เป็นของสมัยใหม่ 5) เกี่ยวพันกับเสรีภาพในการเลือก โดยมีข้อแม้ว่าเสรีในการเลือกอาจจะถูกปรับแต่งแล้ว คือ ได้รับการศึกษามาแล้วว่าตนเองสามารถเลือกที่จะรักชาติได้

เกษียร  เริ่มอธิบายว่าทฤษฎีว่าด้วยชาตินิยม แบ่งเป็น Primordialism กับ Modernism ซึ่งบอกว่างานของอ.นิธิอยู่ในกลุ่มหลัง คือการผูกโยงชาตินิยมเข้ากับสมัยใหม่ ซึ่งที่น่าสนใจของ ชาติ...ยอดรัก ก็คือการพูดถึงชาตินิยมกับปัจเจกบุคคล มีความคล้ายคลึงกับกะเทยมุสลิมสู่ความเป็นไทยผ่านวิทยานิพนธ์ของ สมฤดี สงวนแก้วที่พูดถึงกระบวนการพัฒนาและธำรงเอกลักษณ์กะเทยในสังคมมุสลิมที่ว่า ความมุสลิมเป็นสิ่งที่ได้มาจากชุมชน แต่เมื่อเข้ามาเรียนในเมืองกลับพบว่าตนเองเป็นกะเทย ดังนั้นในความหมายคือเขาอยากเป็นมุสลิมที่ดี และรู้ว่าการเป็นกะเทยนั้นบาป แต่ก็ไม่สามารถปฏิเสธความเป็นกะเทยได้ เขาจึงชดเชยบาปโดยการทำบุญมากขึ้น กล่าวคือมีการปะทะกันของเอกลักษณ์ชุมชนอย่างมุสลิมกับเอกลักษณ์บุคคลอย่างกะเทย  คำถามคือเอกลักษณ์ชาติเข้ามาอย่างไร ซึ่งคิดว่าเป็นกระบวนการปัจเจกปลดตัวออกมาจากชุมชน แต่ชุมชนหมู่บ้านก็กลายเป็นสังคมเมืองมากขึ้น เป็นพื้นที่ที่แต่ละคนมีความแตกต่างหลากหลายแล้วโดยผูกพันกันด้วยความเป็นคนไทย นั่นคือ เอกลักษณ์ของชาติ

เกษียร ชวนคุยต่อด้วยการนำปัจเจกชาติมาเทียบเคียงกับปัจเจกประชาธิปไตย พร้อมแสดงความคิดเห็นว่าไม่ใช่ปัจเจกทุกชนิดจะรักชาติ เพราะปัจเจกบุคคลแบบเสรีนิยมกับปัจเจกบุคคลแบบประชาธิปไตยมีความแตกต่างกัน โดยเสรีนิยม คือปัจเจกที่ตัดขาดจากองคาพยพลอย ลอยคอต่อสู้เอาตัวรอดอยู่ในโลกที่แปลกหน้าและอันตราย เสรีจากรัฐในแง่จิตวิญญาณและเศรษฐกิจ ผู้กระทำการนอกกรอบจำกัดของรัฐ เน้นสมรรถภาพที่จะพัฒนาสร้างสรรค์ตนเองให้ก้าวหน้าสูงสุดทั้งทางปัญญาและศีลธรรมโดยปลอดข้อจำกัดเหนี่ยวรั้งภายนอก ห่วงใยด้านที่มองเข้ามาข้างในปัจเจก เป็นต้น ในขณะที่ปัจเจกบุคคลแบบประชาธิปไตยคือ การเชื่อมต่อกับคนอื่นที่เหมือนตนเองเพื่อสร้างสังคมขึ้นใหม่ให้เป็นสมาคมของปัจเจกบุคคลเสรี รอมชอมเข้ากับสังคมที่เป็นผลผลิตของข้อตกลงระหว่างปัจเจกบุคคลทั้งหลาย เน้นสมรรถภาพที่จะข้ามความโดดเดี่ยวไปสร้างกระบวนการให้เกิดสถาบันอำนาจร่วมกันที่ไม่เป็นเทวราช ห่วงใยด้านที่มองออกไปนอกตัวปัจเจก ประกอบส่วนสร้างอำนาจสาธารณะใหม่ขึ้นมาจากผลรวมของอำนาจเฉพาะทั้งหลาย เป็นต้น

สำหรับปัจเจกบุคคลที่สร้างชาติผ่านการเลือกตั้งหรือในหีบบัตรเลือกตั้งนั้น เกษียร กล่าวว่า การที่เราได้เลือกตั้งต่างๆ นั้นไม่ใช่เพราะความเป็นชายหรือหญิง หรือเพราะลักษณะเฉพาะอื่นๆ หากคือได้เลือกในฐานะปัจเจกบุคคล แต่เมื่อมีผู้แทนขึ้น ผู้แทนนั้นกลับไม่ได้เป็นผู้แทนของปัจเจกบุคคลแต่คือผู้แทนของชาติทั้งชาติ รวมถึงตั้งคำถามว่าเราจะเลือกรักชาติได้อย่างอิสระเสรีเสมอไปนั้นจริงหรือไม่ หรือเรารักชาติโดยตกภายใต้เงื่อนไขใด ฉะนั้นแทนที่ความรักชาติแบบนิยมจะเป็นเรื่องของปัจเจกบุคคลผู้เลือกที่จะรักชาติอย่างเสรีนั้น น่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงชะตากรรมและการณ์จริงที่ดันเผอิญเกิดมาอยู่ในประเทศชาตินี้ให้กลายเป็นชะตาลิขิตให้ก่อกำเนิดมารับสืบเนื่องความเป็นชาติที่มาแต่อดีตต่อไปข้างในอนาคตอย่างมีความหมาย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท