Skip to main content
sharethis

รัฐบาลบังกลาเทศและ UNHCR ลงทะเบียนผู้ลี้ภัยโรฮิงญาเกือบ 3 แสนคนในค่ายผู้ลี้ภัย ทำฐานข้อมูล อำนวยความสะดวกในการส่งกลับตามข้อตกลง พม่า-บังกลาเทศที่ยังไม่ไปหน้ามาหลัง ทางพม่าเริ่มใช้การให้สัญชาติจูงใจให้คนกลับ แต่ในบัตรใช้ชื่อชาติพันธุ์ว่า 'เบงกาลี' แทนคำว่า 'โรฮิงญา' ทำให้ชาวโรฮิงญาต้องเลือกระหว่างอัตลักษณ์กับชีวิตที่ดีกว่าเมื่อมีสัญชาติ

ภาพชาวโรฮิงญา (ที่มา: Amnesty International)

27 พ.ค. 2562 สื่อวอยซ์ออฟอเมริการายงานเมื่อ 17 พ.ค. ที่ผ่านมาว่า ทางการบังกลาเทศ ร่วมกับข้าหลวงใหญ่ด้านผู้ลี้ภัยขององค์การสหประชาชาติ (UNHCR) ประกาศว่าได้ทำการลงทะเบียนผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญามากกว่า 270,000 แล้ว และยังให้บัตรประจำตัวกับผู้ลี้ภัยเหล่านั้นแล้วด้วย โดยในบัตรมีข้อมูลจำพวกชื่อ วันเกิด รวมถึงสถานที่เกิดซึ่งระบุว่าเป็นพม่า

กระบวนการลงทะเบียนเริ่มขึ้นเมื่อเดือน มิ.ย. 2561 มีวัตถุประสงค์เพื่อประกันสิทธิของผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาเพื่อใช้ในการเดินทางกลับพม่าโดยสมัครใจ ดังแผนที่เคยมีและจะดำเนินไปในอนาคต เมื่อ 17 พ.ค. รัฐบาลบังกลาเทศและ UNHCR จดทะเบียนให้กับชาวโรฮิงญา 270,348 ราย หรือ 59,842 ครอบครัว ในเขตที่พักพิงชั่วคราว อ.คอกซ์ บาซาร์

การเก็บข้อมูลผู้ลี้ภัยมีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อการทำฐานข้อมูลผู้ลี้ภัยที่แม่นยำ เพื่อที่รัฐบาลหรือองค์กรด้านมนุษยธรรมจะนำไปปรับใช้ในการทำความเข้าใจและช่วยเหลือผู้ลี้ภัย การเก็บข้อมูลดังกล่าวทำผ่านระบบการจัดการสถิติทางชีวภาพ มีการเก็บข้อมูลลายนิ้วมือและม่านตาอันเป็นข้อมูลทางชีวภาพที่มีเอกลักษณ์เฉพาะ โดยผู้ลี้ภัยที่มีอายุมากกว่า 12 ปี จะได้รับบัตรประจำตัวดังกล่าว

ปัจจุบัน มีผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญามากกว่า 900,000 คนลี้ภัยมาอยู่ในคอกซ์ บาซาร์ ในจำนวนนั้นมีถึง 741,000 คนที่ลี้ภัยมาจากปฏิบัติการกวาดล้างชาวโรฮิงญาเมื่อ ส.ค. 2560

แนวโน้มของการดำเนินการส่งตัวชาวโรฮิงญากลับพม่าค่อยๆ ชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ หลังพม่าและบังกลาเทศมีข้อตกลงร่วมกันในการนำตัวผู้ลี้ภัยกลับพม่าเมื่อต้นปี 2561 แต่ทางสหประชาชาติเองก็กดดันให้การส่งตัวกลับเป็นไปโดยสมัครใจและต้องประกันความปลอดภัยให้กับผู้ลี้ภัย จนถึงตอนนี้ ผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาที่กลับไปนั้นมีจำนวนน้อย โดยส่วนมากผ่านช่องทางที่ไม่เป็นทางการ หนึ่งในสาเหตุที่การเดินทางกลับยังไม่เกิดขึ้นนั้นเป็นเพราะข้อกังวลเรื่องความปลอดภัย

พม่า-บังกลาเทศเตรียมส่งโรฮิงญากลับพฤหัสบดี 2 พันคน UN หวั่นไม่ปลอดภัย

5 เรื่องควรรู้หลังยูเอ็นจัดหนักพม่าด้วยรายงานที่ดุดันในกรณีโรฮิงญา

นอกจากสิ่งปลูกสร้างต่างๆ รัฐบาลพม่าพยายามจูงใจให้ชาวโรฮิงญาเดินทางกลับมาด้วยการให้สัญชาติ เมื่อเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา ทางการพม่าให้สัญชาติชาวโรฮิงญามากกว่า 3,500 คน จากทั้งหมด 7,000 คนที่มาลงทะเบียนขอสัญชาติ

กฎหมายสัญชาติพม่าที่บังคับใช้เมื่อปี 2525 ในสมัยรัฐบาลเนวินได้จำแนกสถานะความเป็นพลเมืองเอาไว้สามแบบ ได้แก่ 1. พลเมืองพม่า (บัตรชมพู) 2. พลเมืองผู้อาศัย (บัตรน้ำเงิน) และ 3. พลเมืองแปลงสัญชาติ (บัตรเขียว) โดยผู้ที่จะถือเป็นพลเมืองพม่าจะต้องมีพ่อแม่เป็นพลเมืองพม่า หรือมีชาติพันธุ์ 1 ใน 135 ชาติพันธุ์ที่พม่ารับรอง คุณสมบัติอื่นคือสามารถพิสูจน์ได้ว่าบรรพบุรุษอยู่ในพม่าก่อนปี พ.ศ. 2367 (ค.ศ.1824) หรือก่อนสงครามพม่า-อังกฤษครั้งที่ 1 ที่ทำให้ราชวงศ์คองบองสูญเสียดินแดนมณีปุระ อาระกัน และตะนาวศรี

ผู้ที่บรรพบุรุษเข้ามาอยู่ในพม่าก่อนวันที่ 4 ม.ค. 2391 ที่พม่าประกาศเอกราชจะมีสิทธิขอสัญชาติหนึ่งในสามสถานะข้างต้น ทั้งนี้ ประชากรกลุ่ม 2. พลเมืองผู้อาศัย และ 3. พลเมืองแปลงสัญชาติ ภายใต้กฎหมายสัญชาติ 1982 พวกเขาจะถูกจำกัดสิทธิหลายประการ ไม่สามารถรับราชการ ไม่สามารถเรียนในวิทยาลัยแพทย์และวิศวกรรมศาสตร์ได้ โดยส่วนมากประชากรพม่าที่บรรพบุรุษมาจากอินเดียและจีนจะถูกจัดให้อยู่ในประชากรกลุ่มนี้

สื่ออิระวดีของพม่ารายงานคำพูดของรองผู้อำนวยการกรมจดทะเบียนและสัญชาติว่าชาวโรฮิงญาส่วนมากได้รับสัญชาติในประเภทที่ 2 และ 3 ส่วนผู้ได้พลเมืองพม่านั้นมีจำนวนน้อยกว่า ซึ่งเป็นกลุ่มที่สามารถสืบสาวเอกสารที่บ่งชี้ถึงบรรพบุรุษได้อย่างสมบูรณ์ไปถึงปี 2391 ทั้งนี้ ในบัตรสัญชาติดังกล่าวไม่ใช้ชื่อชาติพันธุ์ว่าโรฮิงญา แต่ใช้คำว่าเบงกาลีแทน

อย่างไรก็ดี ผู้ข้อสัญชาติบางคนก็ตัดสินใจแลกอัตลักษณ์ไปเพื่อให้ได้สัญชาติเพื่อเข้าถึงคุณภาพชีวิตที่ดีกว่า อามีร์ ฮัมซ่า (นามสมมติ) กล่าวกับอิรวดีว่า บัตรสัญชาติ ไม่ว่าสีใดก็ตามจะเป็นตั๋วพาเขาไปสู่ชีวิตที่ดีกว่า แม้แต่บัตรประเภทที่ 3 ก็ยังอนุญาตให้เขาเดินทางได้อย่างอิสระ เป็นเจ้าของสินทรัพย์ได้ และเขาถึงการศึกษา การลงคะแนนเสียงเลือกตั้งและการทำพาสปอร์ต

“แม้เราจะชอบชื่อโรฮิงญามากกว่าเบงกาลี (แต่) บัตรเขียวหรือชมพูนั้นเป็นสิ่งจำเป็น ดังนั้นเราจึงแลกสถานะ (ทางชาติพันธุ์) เพื่อให้มีชีวิตที่จับต้องได้” อามีร์ ฮัมซ่า กล่าว

การเข้าไม่ถึงสถานะสัญชาติเป็นหนึ่งในปัญหาที่รายล้อมกรณีความรุนแรงต่อชาวโรฮิงญา ลอร่า เฮย์ นักวิจัยผู้จัดทำงานวิจัย ‘กรงขังไร้หลังคา’ เกี่ยวกับความรุนแรงที่ชาวโรฮิงญาในพม่าประสบ ให้แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เคยกล่าวในงานเปิดตัวงานวิจัยว่า ชาวโรฮิงญาเกิดมาอย่างไร้สถานะ มีความลำบากตลอดชีวิตในการอธิบายว่าเป็นใคร มาจากไหนเพราะว่าเอกสารทางราชการหรือบัตรชั่วคราวโดนยกเลิก (เมื่อปี 2555) หรือไม่ก็ถูกยึดไป ถ้าไม่อยู่บ้านในขณะสำรวจสำมะโนประชากรนั่นหมายความว่าชาวโรฮิงญาคนนั้นจะไม่มีตัวตนในพื้นที่

แอมเนสตี้ฯ เปิดรายงานสถานการณ์โรฮิงญา หนักถึงขั้นอาชญากรรมต่อมวลมนุษย์

การขาดสถานะพลเมืองจะส่งผลกับชาวโรฮิงญาตลอดชีวิต จะเดินทางก็ต้องมีใบอนุญาต การขอใบอนุญาตต้องใช้เวลาและผ่านหลายขั้นตอนมาก ระหว่างเดินทางก็อาจโดนเจ้าหน้าที่ตามด่านตรวจทำร้ายร่างกายหรือไม่ก็ถูกคุมขัง การไม่มีสถานะและเงื่อนไขการขอใบอนุญาตเดินทางทำให้เข้าถึงบริการสาธารณะลำบากขึ้นด้วย

ปัจจุบัน ในพื้นที่รัฐยะไข่ยังคงมีการปะทะกันระหว่างทหารของรัฐบาลพม่ากับกลุ่มกองกำลังอาระกัน (Arakan Army) กลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ยะไข่ที่นับถือศาสนาพุทธเป็นส่วนใหญ่ ที่ต่อสู้เรียกร้องอธิปไตยในรัฐยะไข่ การปะทะดังกล่าวส่งผลกระทบโดยตรงกับประชาชนในพื้นที่ในเรื่องความปลอดภัยของชีวิต

แปลและเรียบเรียงจาก

Rohingya Trading Identity for Partial Citizenship, More Rights in Rakhine State, The Irrawaddy, Mar. 7, 2019

Over 250,000 Rohingya refugees get identity documents, for many a first, UNHCR, May 17, 2019

Stateless Rohingya Refugees in Bangladesh Receive Identity Documents for First Time, VOA, May 17, 2019

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net