มองผ่านกระแส แลผ่านสมอง: งูเห่าประชาชน

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ชัยชนะของผู้สมัครจากพรรคอนาคตใหม่ในสนามเลือกตั้งซ่อมที่เขต 8 จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2562 ที่ผ่านมา อาจจะไม่ใช่สิ่งแปลกประหลาด เกินคาดแต่อย่างใดนัก สำหรับนักวิเคราะห์การเมืองและประชาชนทั่วไป เพราะทันทีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. มีมติแจกใบส้มแก่ นายสุรพล เกียรติไชยากร แทบทุกคนในประเทศนี้ ล้วนทราบดีกันว่าคะแนนเสียงที่เคยโหวตเลือกนายสุรพล นั้น จะเทไปฝั่งไหน เลือกใคร ในการเลือกตั้งซ่อมที่จะมีขึ้น

ดังนั้นชัยชนะในการเลือกตั้งซ่อมครั้งนี้ จึงมิใช่ปรากฏการณ์ที่เหนือความคาดหมายแต่อย่างใด ที่จะสามารถสร้างความตื่นเต้น ฮือฮา ให้กับแวดวงการเมืองแม้แต่น้อย โดยเฉพาะกับนางศรีนวล บุญลือ ผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฏรจากพรรคอนาคตใหม่ และนายนเรศ ธำรงทิพยกุล ผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฏรจากพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งเชื่อว่าทั้งคู่ก็คงรู้ดีอยู่แล้วว่า ผลการเลือกตั้งซ่อมจะออกมาในทิศทางใด

แต่หากพิจารณาจากองค์ประกอบด้านเหตุการณ์ทางการเมืองในวันก่อนจะมีการเลือกตั้งซ่อม ที่มีการประชุมสภาผู้แทนราษฏร เพื่อเลือกตัวประธานสภาผู้แทนราษฏร และตัวเลขผลการเลือกตั้งซ่อม ที่เป็นตรรกะ จะสามารถพิสูจน์ให้เห็นนัยยะบางอย่าง ที่อาจจะสามารถสื่อสะท้อนปัจจัยบางประการในการเลือกตั้งซ่อมครั้งนี้ ที่อาจจะเป็นตัวชี้วัดอนาคตผลการเลือกตั้ง ที่อาจจะมีขึ้นในไม่ช้านาน ตามที่หลายฝ่ายได้มีการประเมินสถานการณ์กันไว้ว่า น่าจะเป็นเช่นนั้น

การเลือกตั้งเชียงใหม่ เขต8 เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 มีผู้มาใช้สิทธิ์ 144,271 คน ผลการเลือกตั้งในครานั้น นายสุรพล เกียรติไชยากร ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทยได้ 52,165 คะแนน โดยมีนายนเรศ ธำรงทิพยกุล ผู้สมัครจากพรรคพลังประชารัฐ ได้รับเลือกด้วยคะแนนโหวต 39,221 คะแนน และผู้สมัครจากพรรคอนาคตใหม่ นางศรีนวล บุญลือ ได้คะแนนเสียงเลือก 29,556 คะแนน

ส่วนการเลือกตั้งซ่อมในวันที่ 26 พฤษภาคม 2562 ที่ผ่านมา ซึ่งไม่มี นายสุรพล ที่โดนตัดสิทธิ์นั้น ผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการเบื้องต้น มีผู้มาใช้สิทธิ์ 127,832 คน มีบัตรเสีย 6,916 ใบ และผลการเลือกตั้ง นางศรีนวล บุญลือ ผู้สมัครจากพรรคอนาคตใหม่ได้ 75,891 คะแนน ชนะนายนเรศ ธำรงทิพยกุล ผู้สมัครจากพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งได้ 27,861 คะแนน

ดั่งที่บอกไว้ว่าผลการเลือกตั้งซ่อมครั้งนี้ ไม่ได้สร้างความแปลกประหลาดใด แม้ว่าผู้ที่ได้คะแนนลำดับที่สามจากการเลือกตั้งในครั้งก่อน จะพลิกมาชนะผู้ที่ได้คะแนนเป็นลำดับที่สองในการเลือกตั้งครั้งนั้นก็ตาม แต่ผลตัวเลขที่ออกมาได้สะท้อนปรากฏการณ์บางอย่างที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง

ในการเลือกตั้งครั้งก่อน (24 มี.ค.) มีผู้มาใช้สิทธิ์ 144,271 คน ส่วนการเลือกตั้งซ่อม 26 พ.ค.มีผู้มาใช้สิทธิ์ 127,832 คน ลดลงประมาณ 9.80 % และหากเราเทียบบัญญัติไตรยางศ์ตามผลการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มี.ค. โดยใช้จำนวนผู้มาใช้สิทธิ์เป็นเกณฑ์ เราจะได้ตรรกะบางอย่างดังนี้

ในการเลือกตั้งซ่อมหากไม่มีผู้สมัครโดนตัดสิทธิ์ แต่มีผู้มาใช้สิทธิ์ลดลง ผลการเลือกตั้งที่ควรเป็นปรากฏตัวเลขว่า นายสุรพล เกียรติไชยากร ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย ควรจะได้ 46,221 คะแนน ส่วนนายนเรศ ธำรงทิพยกุล ผู้สมัครจากพรรคพลังประชารัฐ ควรจะได้ 34,752 คะแนน และผู้สมัครจากพรรคอนาคตใหม่ นางศรีนวล บุญลือ ควรจะได้ 26,188 คะแนน

เมื่อพิจารณาบัตรเสียจำนวน 6,916 ใบ ที่พออนุมานได้ว่าไปกาเลือกนายสุรพล ที่ถูกตัดสิทธิ์ ดังนั้นคะแนนจากที่เคยเลือกผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย ที่คาดการณ์กันว่าจะเทเลือกนางศรีนวล บุญลือ ผู้สมัครจากพรรคอนาคตใหม่ในการเลือกตั้งซ่อมครั้งนี้ จะเป็นจำนวน 39,305 คะแนน (46,221 - 6,916)

เมื่อรวมกับคะแนนของนางศรีนวล เอง คะแนนของผู้สมัครจากพรรคอนาคตใหม่ที่ควรจะเป็น ควรจะอยู่ที่ 65,493 คะแนน (26,188 + 39,305) ดังนั้นจำนวน 75,891 คะแนนที่นางศรีนวล บุญลือ ผู้สมัครจากพรรคอนาคตใหม่ได้รับเลือก จึงเริ่มไม่ธรรมดา (เกินจากที่ควรเป็นถึง 10,398 คะแนน) และตัวเลข 27,861 คะแนนที่นายนเรศ ธำรงทิพยกุล ผู้สมัครจากพรรคพลังประชารัฐ ได้รับในการเลือกตั้งซ่อมครั้งนี้จากที่ควรจะได้รับเลือกที่ 34,752 คะแนน ก็ยิ่งไม่ธรรมดา (หายไป 6,891 คะแนนจากที่ควรเป็น) และแน่นอนคะแนนเสียงที่หายไปจากคะแนนเสียงที่ควรเป็นส่วนหนึ่งนั้น ปฏิเสธไม่ได้ว่า ไปร่วมกาเลือกนางศรีนวล บุญลือ ผู้สมัครจากพรรคอนาคตใหม่อย่างแน่นอน

การพลิกไป-มาของคะแนนเสียงในการประชุมสภาผู้แทนราษฏรเมื่อวันที่ 25-26 พ.ค.ที่ผ่านมา หลายผู้รู้บอกว่าเป็นเพราะปรากฏการณ์ที่เรียกกันว่า “งูเห่า” ซึ่งมีการยืนยันชัดเจนว่าจ่ายกันมากถึง 8 หลัก เล่นเอาร้านอาหารป่ารสเด็ดหลายแห่ง แทบต้องปิดกิจการ เพราะต้นทุนวัตถุดิบมีราคาแพง

แต่กับการเลือกตั้งที่เขต 8 จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งตัวเลขคะแนนเสียงของผลการเลือกตั้งก็สะท้อนว่าน่าจะไม่แตกต่างกันนักกับการประชุมสภาผู้แทนราษฏร เพราะมีปรากฏการณ์ “งูเห่า” เกิดขึ้นเฉกเช่นกัน เป็น “งูเห่า” ภาคประชาชน

ซึ่งไม่มีค่าตัวแต่อย่างใด และที่สำคัญมีจำนวนมากมายถล่มทะลายไม่ได้มีเพียงแค่คะแนนเสียง “ปริ่มน้ำ” แต่อย่างใด

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท