Skip to main content
sharethis

วงเสวนาชวนเข้าใจแนวโน้ม-การกำกับสื่อโซเชียล ท่ามกลางข้อถกเถียงว่าอะไรควรทำและไม่ควรทำ ทั้งในมุมของผู้ใช้งานทั่วไปและรัฐบาลที่พยายามเข้ามาควบคุมการใช้งาน ทบทวนความคาดหวังว่าอินเทอร์เน็ตจะเปลี่ยนสังคมให้ดีขึ้นว่าแท้จริงไม่ได้ง่ายเช่นนั้น การกำกับ ดูแลการใช้งานสื่อโซเชียลควรเริ่มจากการพูดคุย ไม่ใช่เอากฎหมายนำหน้า

ที่มาภาพ:amnesty.or.th

ปฏิเสธไม่ได้แล้วว่าอินเทอร์เน็ตเป็นหนึ่งในปัจจัยที่คนไทยใช้ประกอบกิจกรรมประจำวันตั้งแต่ตื่นยันหลับ การใช้งานอินเทอร์เน็ตและโทรศัพท์มือถือของประชากรไทยเพิ่มขึ้นทุกปี โดยในปี 2559 มีจำนวน 29 ล้านคนและ 51 ล้านคนตามลำดับ (ที่มา:สำนักงานสถิติแห่งชาติ) แถมค่าเฉลี่ยการใช้เวลาของอินเทอร์เน็ตต่อวันของประชากรไทยในปี 2561 ก็สูงถึง 10 ชั่วโมง 5 นาทีต่อวัน (ที่มา:ETDA)

เทคโนโลยีที่ถูกใช้บนอินเทอร์เน็ตบางส่วนเข้ามาอำนวยความสะดวกชีวิต แต่บางอย่างทำหน้าที่กำหนดการรับรู้ไปจนถึงหล่อเลี้ยงจิตวิญญาณ ผู้เขียนกำลังพูดถึงสื่อโซเชียลที่ผู้ผลิตเนื้อหาและผู้รับสารต่างพาตัวเองกระโจนลงไปในมหาสมุทรที่เป็นแพลตฟอร์มของข้อมูลมหาศาล เราเห็นคุณอนันต์และโทษมหันต์ของการใช้สื่อโซเชียลและอินเทอร์เน็ตกันมาแล้วไม่ว่าจะเป็นอาชญากรรมทางอินเทอร์เน็ต ไปจนถึงผลกระทบทางการเมืองอย่างผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ หรือการลุกฮือขับไล่เผด็จการโดยประชาชนนับแสนที่เริ่มจากการนัดชุมนุมในสื่อโซเชียลหลายประเทศในภูมิภาคตะวันออกกลางหรือที่เรารู้จักกันในชื่อ ‘อาหรับสปริง’

ปัจจุบัน ข้อกังวลใหม่เกี่ยวกับสื่อโซเชียลมาอยู่ที่เรื่องของการใช้งานแพลตฟอร์มดังกล่าว เมื่อ ‘ความแท้จริง’ ของข้อมูลถูกคาดด้วยประโยคคำถามนำมาสู่ใส่ร้ายป้ายสีและบิดเบือนการรับรู้ข้อเท็จจริง รวมถึงความพยายามกำกับ ควบคุมพื้นที่การแสดงออกบนสื่อโซเชียลของเจ้าของแพลตฟอร์มและรัฐบาลแต่ละประเทศเอง คำถามคือ อะไรควรทำหรือไม่ควรทำ ทำได้แค่ไหน อย่างไร คำถามนั้นครอบคลุมตัวละครทั้งปัจเจก รัฐ และเจ้าของแพลตฟอร์ม

สิ่งสำคัญที่ควรจะรู้ ก่อนจะไปถึงคำตอบทั้งในรูปแบบคุณพ่อคุณแม่รู้ดีหรือข้อเสนอแนะต่างๆ คือความพยายามทำความเข้าใจสื่อโซเชียล อินเทอร์เน็ตและข้อมูลแวดล้อมการถกเถียง

ซ้ายไปขวา: ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ สฤณี อาชวานันทกุล ผศ.พิจิตรา สึคาโมโต้ โตมร ศุขปรีชา 

เมื่อ 22 พ.ค. 2562 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร มีวงเสวนาเรื่อง 'DOs AND DON'Ts ในสื่อโซเชียล มีผู้ร่วมเสวนาได้แก่ ผศ.พิจิตรา สึคาโมโต้ หัวหน้าภาควิชาวารสารสนเทศจากคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โตมร ศุขปรีชา บรรณาธิการและนักเขียน และสฤณี อาชวานันทกุล นักวิชาการอิสระ ผู้ร่วมก่อตั้งสื่อไทยพับลิก้า ดำเนินรายการโดยยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw)

เข้าใจสื่อโซเชียล ระดับการกำกับและแนวโน้ม

สฤณีกล่าวว่า เวลาพูดถึงอินเทอร์เน็ตมีประวัติศาสตร์ 3 ยุคใหญ่ๆ หนึ่ง ยุคที่คนเริ่มใช้งานอินเทอร์เน็ตเยอะ มีการมองในแง่ดีว่าอินเทอร์เน็ตคือยูโทเปีย ไม่มีใครครอบงำเราได้ นั่นคือช่วงเมื่อ 20 กว่าปีที่แล้ว ต่อมาก็เป็นยุคดิสโทเปีย คือมีข่าวปลอม ข้อมูลลับ ลวง พราง แถมรัฐบาลยังเซ็นเซอร์ได้ง่ายเพราะผู้ใช้งานทิ้ง digital footprint ไว้เยอะ ปัจจุบันคือยุคที่คนเห็นทั้งแง่ดีและแง่ร้ายของอินเทอร์เน็ตมาแล้วก็เป็นช่วงที่น่าสนใจว่าคนจะมองอินเทอร์เน็ตเป็นอย่างไร

สฤณีตั้งข้อสังเกตถึงอินเทอร์เน็ตในแง่เทคโนโลยีว่า ทุกวันนี้แพลตฟอร์มต่างๆ ไม่ได้เก็บเงินค่าใช้บริการ แต่นำข้อมูลของผู้ใช้งานไปเป็นสินค้า ซึ่งถือเป็นอิทธิพลเหนือตลาด จะกำกับเรื่องนี้อย่างไร ในยุโรปเองก็มีความคิดเรื่องการเปลี่ยนนิยามของอำนาจเหนือตลาด คือเปลี่ยนการพิจารณาจากฐานยอดขายไปอยู่บนฐานข้อมูล เปลี่ยนการมองฐานอำนาจของเจ้าของแพลตฟอร์ม อย่างเฟสบุ๊คเองตอนนี้ก็พูดไม่ได้เต็มปากว่าเป็นแค่แพลตฟอร์ม เนื่องจากการเป็นแพลตฟอร์มก็มีผลกระทบทางสังคมอย่างกรณีการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ครั้งล่าสุด จึงมีกระแสว่าเฟสบุ๊คเองก็ต้องรับผิดชอบเรื่องเนื้อหาด้วย

พิจิตรากล่าวว่า สมัยหนึ่งอินเทอร์เน็ตเป็นไซเบอร์สเปซ คืออะไรที่เหมือนพื้นที่ที่อยู่บนโลกออนไลน์ พอมีโลกออนไลน์ก็จะมีเว็บเพจ ซึ่งเข้าถึงได้ผ่าน URL เป็นลักษณะที่ผู้บริโภคต้องเข้าหาผู้ผลิต แต่พอเป็นสังคมออนไลน์ วิธีการรับรู้ข่าวสารจะไม่เหมือนเดิม ผู้บริโภคนั่งอยู่เฉยๆ ข้อมูลก็จะประดังประเดมาผ่านเครือข่ายสื่อสังคมออนไลน์ที่แต่ละแพลตฟอร์มจะมีวิธีปฏิบัติการที่ต่างกัน อย่างเฟสบุ๊คก็จะมีระบบอัลกอริธึมและนโยบายว่าเนื้อหาชนิดหนึ่งๆ จะขึ้นไปอยู่บนฟีดได้แค่ไหน จึงมีหลายคนที่ทำเพจที่มีความคิดสร้างสรรค์เยอะมาก แต่เนื้อหาที่ทำออกมาก็กระจายหายไป ในจุดนี้ การทำเนื้อหาที่โยงไปยังบ้านอย่างเว็บไซต์หรือบล็อกเพื่อให้คนที่รู้จักเราได้วิ่งหาเราบ้างก็จะเป็นการสนับสนุนตัวผู้ทำเนื้อหาได้

พิจิตรายังตั้งข้อสังเกตว่าควรจับตามองเรื่องธรรมาภิบาลสื่อโซเชียลที่อาจมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงนโยบายหรืออัลกอริธึมของแพลตฟอร์ม หลายประเทศในซีกโลกตะวันตกอย่างในยุโรปเริ่มกำกับเรื่องเฮทสปีชหรือข่าวปลอมกันแล้ว

อาจารย์คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า โลกไซเบอร์ในปัจจุบันถูกควบคุมในสองระดับ หนึ่ง รัฐบาลที่ออกกฎหมายกำกับ และอีกหนึ่งก็คือเจ้าของแพลตฟอร์ม เกือบทุกแพลตฟอร์มมีระเบียบว่าอะไรโพสท์ได้หรือไม่ได้ ส่วนตัวคิดว่าปัจจุบันอำนาจต่อรองที่สูงสุดยังอยู่ที่ตัวแพลตฟอร์มที่พยายามสร้างกฎเกณฑ์เองเพื่อไม่ให้รัฐเข้าไปแทรกแซง คิดว่า หากยิ่งเป็นสังคมที่มีวัฒนธรรมที่ค่อนข้างจะโลกแคบ ไม่เปิดโอกาสให้แสดงออก คนในสื่อโซเชียลก็มามีอำนาจในการกำกับดูแลด้วยผ่านระบบรีพอร์ต เช่นบางครั้งมีนิสิตที่โพสท์อะไรที่มีความวิพากษ์วิจารณ์เยอะ ท้ายสุดมีการรีพอร์ตจากผู้ใช้งานที่รับไม่ได้กับสิ่งที่คนรุ่นใหม่โพสท์ พอรีพอร์ตไป โพสท์ก็ถูกระงับ การกำกับจึงมีอยู่หลายระดับ และในปัจจุบันเวลาสัมภาษณ์นิสิตใหม่ก็พบว่าไม่เล่นเฟสบุ๊คกันแล้ว

โตมรกล่าวว่าการใช้สื่อโซเชียลในห้าปีที่ผ่านมามีความน่าสนใจสนใจ แง่บวกของสื่อโซเชียลคือได้เห็นแง่ลบเยอะดี ใครจะไปคิดว่าการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด จะถูกตีความเป็นการล้มล้างสถาบัน แต่มันก็เป็นไปได้เวลาที่ฟังเหตุผลของผู้อาวุโส (หม่อมเจ้าจุลเจิม ยุคล) ก็น่าสนใจดีว่ามีชุดเหตุผลที่อธิบายความคิดข้างหลังของคนแบบหนึ่งที่มีวิธีคิดแบบหนึ่ง เรามักคิดว่าสื่อโซเชียลเป็นของคนรุ่นใหม่ แต่ห้าปีที่ผ่านมาเห็นได้ชัดว่าไม่ใช่แค่คนรุ่นใหม่เข้ามาใช้ การส่งต่อความคิด เรื่องราวและข่าวคราวของคนต่างรุ่นก็ส่งผ่านกันในสื่อโซเชียลทั้งนั้น เมื่อก่อนเราไม่เคยเห็นว่าคนอายุหนึ่งๆ จะมีความคิดเป็นแบบหนึ่งๆ และก็ค้นพบว่ามีคนที่ฉลาดๆ อีกเยอะ ก็เป็นการเปิดกะลาของเราด้วย

อินเทอร์เน็ตเปลี่ยนสังคมได้ แต่ไม่ใช่แค่ดีดนิ้ว และทุกคนให้ค่าไม่เท่ากัน

สฤณีพูดถึงประเด็นการเปลี่ยนแปลงทางสังคมผ่านอินเทอร์เน็ตว่า เคยคุยกับผู้ก่อตั้ง avaaz.org (เว็บไซต์ล่ารายชื่อ สร้างการเปลี่ยนแปลงทางสังคม) และ ผอ. ของ Citizen Media Lab ที่ MIT (สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตต์) ทั้งสองมีแง่คิดคล้ายๆ กันคือต้องมองระดับผลกระทบต่อสังคมผ่านการใช้งานอินเทอร์เน็ตให้เป็นสเปคตรัม การที่คนจะลุกขึ้นมามีส่วนร่วมทางสังคมมีหลายระดับตั้งแต่กดปุ่มอยู่บ้านหรือออกไปแสดงออกข้างนอก สิ่งที่ต้องทำให้เกิดการรับรู้คือผลของการมีส่วนร่วมทางสังคมในแบบต่างๆ ที่ไม่เหมือนกัน การอธิบายและทำความเข้าใจเครื่องมือว่าอะไรทำได้หรือไม่ได้บนเครื่องมือชนิดต่างๆ อย่าง avaaz ที่ล่ารายชื่อประเด็นการเมืองเป็นส่วนมาก แต่เมื่อส่งให้ผู้แทนฯ ก็ไม่ได้รับการตอบสนองเพราะเขารู้ว่าการกดปุ่มสนับสนุนมันใช้เวลาไม่ถึงสองวินาที อาจไม่ได้ใช้ความพยายามมาก ก็อาจจะยกระดับด้วยการเขียนจดหมายด้วยลายมือแล้วลงชื่อส่งให้ผู้แทน ก็อาจทำให้ผู้แทนฯ เห็นว่าพวกเขาใช้เวลาหรือใช้แรง

สฤณียังพูดถึงวาทกรรมเรื่องเสรีภาพทางเน็ตในไทยที่คนมองไม่เหมือนกันว่า ไม้บรรทัดเสรีภาพแต่ละคนไม่เท่ากัน คิดว่าเป็นเรื่องปกติที่ขีดความรับได้ของแต่ละคนไม่เท่ากัน แต่เพดานที่มีผลทางกฎหมายจริงๆ ที่ทำให้คนเข้าคุกได้จริงๆ มันลดต่ำลงเรื่อยๆ บางเรื่องลดต่ำมากๆ ถึงระดับที่ว่าแค่พาดพิงก็อันตรายแล้ว เห็นชัดว่าบางเรื่องที่ไร้สาระมาก อย่างโพสท์ภาพขันแดง ปฏิทินอดีตนายกฯ ก็ถูกทหารตามไปที่บ้านแล้วบอกว่าเป็นการยุยงปลุกปั่น แต่ก็ยังมีคนยอมรับ และก็มีบางคนที่บอกว่าเป็นปัญหา การรณรงค์ไม่ง่ายในสังคมไทย แต่ส่วนตัวคือที่คุยเรื่องนี้ได้ยากเพราะเราไม่เคยมีฉันทามติร่วมกันในเสรีภาพการแสดงออกที่เป็นมาตรฐาน

Do และ Don’t ของปัจเจกบุคคล

สฤณีเสนอแนวทางเรื่องที่ควรทำและไม่ควรทำบนอินเทอร์เน็ต เพราะทำแล้วโดนด่า กอบกู้ชื่อเสียงได้ยากมาก

  1.  ทำเพจแบบสักแต่ว่ามี เพราะการทำเพจนั้นเท่ากับว่าเป็นสื่อสังคมออนไลน์แล้ว คนคาดหวังว่าจะได้รับการปฏิสัมพันธ์ที่ดีจากการติดต่อไปที่เพจ
  2. การขโมยเนื้อหา เคลมเอาเนื้อหาหรือรูปภาพในอินเทอร์เน็ตเป็นของตนเอง เมื่อถูกจับได้ก็เสียหายมากจากการหลอกลวงจนถึงกับต้องสร้างบัญชีใหม่หรือตัวตนใหม่
  3. แชร์เนื้อหาต่อแบบไม่ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริง
  4. การละเมิดความเป็นส่วนตัว บางครั้งทำไปโดยไม่คิด อย่างไปกินข้าวกับคนอื่นแล้วอยากด่าร้านอาหาร แต่ภาพบิลที่ถ่ายไปนั้นติดหมายเลขบัตรเครดิตไปด้วย เป็นต้น

เรื่องที่ควรทำ

  1. รู้จักกลุ่มเป้าหมาย เพราะมีผลกับการทำรูปแบบและเลือกสรรเนื้อหา ยกตัวอย่างเช่น การออกแบบเนื้อหาให้สามารถส่งผ่านได้หลายแพลตฟอร์มเพื่อเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่อยู่ในแพลตฟอร์มต่างๆ
  2. อย่าเผลอแชร์อะไรที่ไม่ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริง รับผิดชอบกับสิ่งที่แชร์
  3. ให้เครดิตอ้างอิงอย่างถูกต้อง
  4. พยายามก้าวข้ามพื้นที่ของตัวเองไปติดตามคนที่คิดแตกต่างกันมากๆ พยายามมีส่วนร่วมในการถกเถียง พูดคุย

Do และ Don’t ของผู้ออกกฎหมาย-นโยบาย

ยิ่งชีพพูดถึงสิ่งที่ผู้ออกกฎหมาย นโยบายควรทำและไม่ควรทำกับสื่อโซเชียลว่า กฎหมายที่ดีคืออ่านแล้วเข้าใจเลย รู้เรื่องเลย อะไรทำได้ไม่ได้ กฎหมายที่ออก 3-4 ฉบับเกี่ยวกับโลกออนไลน์ในปัจจุบันอย่าง พ.ร.บ.ข่าวกรองแห่งชาติ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ หรือ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์) ปี 2540 2550 มีลักษณะตรงกันข้าม คือเขียนให้กว้าง อ่านแล้วไม่เข้าใจ สะท้อนความล้มเหลวของคนที่ออกกฎหมาย ผู้ออกกฎหมายควรต้องกลับไปทบทวนเมื่อออกกฎหมายมาแล้วคนไม่รู้ว่าอะไรทำได้ทำไม่ได้ ถ้ามีสภาที่มาจากการเลือกตั้งและฟังเราบ้าง ก็ควรทบทวนว่ากฎหมายแบบนี้อย่าเขียน

สฤณีตอบว่า ต้องเห็นว่ากฎหมายไม่ใช่ทางเลือกทางเดียวในการกำกับ อินเทอร์เน็ตมีแนวปฏิบัติ ค่านิยมและมารยาทอยู่ อย่างที่เฟสบุ๊คจัดการข่าวปลอมด้วยการระบุว่าโฆษณาใดๆ ที่ผลิตข่าวปลอมจะไม่ได้รับอนุญาตให้โฆษณา กฎหมายควรเป็นเครื่องมือสุดท้ายในการจัดการ นอกจากนั้น การแสดงออกออนไลน์ในอนาคตก็อาจมีอะไรที่เราไม่คุ้นเคย จึงเป็นเรื่องยากที่กฎหมายจะปรับตัวตาม ส่วนตัวยังเชื่อว่าไม่มีความจำเป็นใดๆ ในการใช้กฎหมายคอมพิวเตอร์มากำกับอินเทอร์เน็ตนอกไปจากการปราบปรามอาชญากรรม เนื้อหาที่อาจมีปัญหาอย่างเฮทสปีชหรือการกลั่นแกล้งกันบนอินเทอร์เน็ต (cyber bullying) ควรมีการคุยกันเพื่อสร้างบรรทัดฐาน กฎหมายควรถูกใช้เมื่อเห็นว่าไม่มีทางอื่นแล้ว เกิดความเสียหายที่ชัดเจนก่อนจึงมีกฎหมาย แต่ตอนนี้กลับตาลปัตร แล้วพอบังคับใช้กฎหมายก็มีต้นทุน ต้องกลับมาถามว่าต้นทุนสูงเกินไปหรือเปล่า

ด้านพิจิตรากล่าวว่าสิ่งที่อยากได้คือกระบวนการได้มาซึ่งกฎหมายที่โปร่งใส มาจากความต้องการของคนในสังคมจริงๆ ต่อให้ท้ายสุดกฎหมายไม่ได้สวยงามมาก หรือมีความเร่งครัดมาก แต่ก็รับได้มากกว่าออกกฎหมายอะไรก็ไม่รู้ที่มาจากคนกลุ่มน้อยๆ กลุ่มเดียว

รายการเสวนาเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ โครงการ Social Media Smart Page Award จัดโดย TCIJ ร่วมกับกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) ศูนย์ข้อมูล&ข่าวสืบสวนเพื่อสิทธิพลเมือง (TCIJ)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net