ณัฎฐพล ทีปสุวรรณ รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ระบุไม่ได้เบี้ยวให้คำตอบพรรคประชาธิปัตย์ แต่พล.อ.ประยุทธ์ขอเป็นคนเคาะที่นั่ง ครม. ชุดใหม่เอง เผยตอนนี้ยังรอประชาธิปัตย์ตัดสินใจอยู่ ย้ำหากไม่ร่วม พล.อ.ประยุทธ์ ก็ยังเป็นนายกฯ ได้ แต่หลังจากเป็นนายกฯ อาจยุบสภาเลือกตั้งใหม่ เพื่อให้ประชาชนเลือกว่าใครควรเป็นนายกฯ อีกครั้ง
28 พ.ค. 2562 ณัฎฐพล ทีปสุวรรณ รองหัวหน้ายพรรพลังประชารัฐ กล่าวถึงกรณีที่พรรคประชาธิปัตย์ เลื่อนการประชุมระหว่างคณะกรรมการบริหารพรรค กับสมาชิกสภาผ้แทนราษฏรพรรคประชาธิปัตย์เพื่อหารือถึงจุดยืนเรื่องการร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐว่า การที่พรรคพลังประชารัฐยังไม่ได้ให้คำตอบกับพรรคประชาธิปัตย์นั้นเป็นเพราะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคพลังประชารัฐมีความต้องการที่จะตรวจสอบรายชื่อครม.ที่จะร่วมรัฐบาลในอนาคตด้วยตัวเองก่อน และต้องให้เวลากับพรรคประชาธิปัตย์ พูดคุยกันภายในก่อนโดยเฉพาะเรื่องของการสร้างความเข้าใจถึงการทำงาน และการที่พรรคพลังประชารัฐ จะเสนอรายชื่อครม.ให้พล.อ.ประยุทธ์ พิจารณาในรายละเอียด เพราะพล.อ.ประยุทธ์ เป็นผู้นำในการสร้างผลงานของทุกพรรคการเมืองที่ได้หาเสียงกับประชาชนไว้ และพรรคพลังประชารัฐเข้าใจว่าเหตุผลที่พรรคประชาธิปัตย์ยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจนว่าจะเข้าร่วมรัฐบาลหรือไม่ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการพูดคุยเรื่องของการจะเข้ามาทำงานในตำแหน่งหน้าที่ต่างๆ ยังไม่ลงตัว
“การทาบทามเชิญเข้าร่วมรัฐบาลอย่างเป็นทางการเพิ่งผ่านพ้นไป เวลา 24 ชั่วโมง อาจจะเร็วเกินไปในการที่จะตัดสินใจ พรรคพลังประชารัฐรอได้ เพราะในที่สุด เชื่อว่าพรรคประชาธิปัตย์จะมีคำตอบและเข้าใจในการทำงานในรูปแบบที่มีพล.อ.ประยุทธ์ เป็นผู้นำ ซึ่งเป็นอีกรูปแบบหนึ่งที่แตกต่าง ไม่เหมือนที่ผ่านมา เวลานี้ยังคงมีการพูดคุยของบรรดาแกนนำพรรคพลังประชารัฐกับพรรคที่จะร่วมทำงานอย่างต่อเนื่องจนกว่าจะได้ข้อสรุปที่ชัดเจน ก่อนที่จะมีการเลือกนายกรัฐมนตรี อย่าเพิ่งมองว่าการจัดตั้งรัฐบาลจะล้มหรือไม่ประสบความสำเร็จเพราะเป็นเพียงการเริ่มต้นและยังมีเวลาเดินหน้าจัดรัฐบาลต่อไป” ณัฏฐพล กล่าว
ณัฏฐพล กล่าวด้วยว่า แม้พรรคประชาธิปัตย์ไม่ร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ ทุกอย่างต้องเป็นไปตามขั้นตอน เมื่อถึงวันเลือกนายกรัฐมนตรี พรรคพลังประชารัฐ ก็พร้อมให้มีการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีโดยมีเสียงของพรรคร่วมรัฐบาล รวมกัน 191 เสียง คือพรรคพลังประชารัฐ 116 สียง พรรคภูมิใจไทย 51 คน พรรครวมพลังประชาชาติไทย 5 เสียง พรรคชาติพัฒนา 3 เสียง พรรคพลังท้องถิ่นไท 3 เสียง พรรครักษ์ผืนป่าประเทศไทย 3 เสียง และพรรคเล็ก 10 พรรคที่มี 10 เสียง เมื่อรวมกับ ส.ว. 250 คน ก็สามารถเลือกนายกรัฐมนตรีได้ด้วยเสียง 441 เสียง ซึ่งมีเสียงเกินกึ่งรัฐสภา แม้พรรคประชาธิปัตย์จะไม่สนับสนุน พลเอกประยุทธ์ก็ต้องได้เป็นนายกรัฐมนตรีแน่นอน เมื่อมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีเรียบร้อยก็ควรยุบสภาเลือกตั้งใหม่ เพื่อให้ประชาชนตัดสินใจว่าจะเลือกใครเป็นนายกรัฐมนตรี
เรียบเรียงจาก: ฐาปนีย์ เอียดศรีชัย , คมชัดลึก