Skip to main content
sharethis

จากกรณีวิกฤตทางการเมืองล่าสุดในเวเนซุเอลา รัฐมนตรีต่างประเทศของนอร์เวย์แถลงว่าจะจัดให้มีการเจรจาหารือระหว่างตัวแทนฝ่ายรัฐบาลเดิมของเวเนซุเอลาที่นำโดยนิโกลาส มาดูโร กับตัวแทนฝ่ายรัฐบาลเฉพาะกาลที่นำโดย ฮวน กวยโด อย่างไรก็ตามฝ่ายต่อต้านรัฐบาลก็ยังคงมีท่าทีแข็งกร้าว มีความกังขาต่อฝ่ายรัฐบาลและยืนกรานว่าจะต้องทำให้มาดูโรออกจากตำแหน่งหรือให้มีการจัดเลือกตั้งอย่างเป็นธรรมให้ได้ไม่ว่าเงื่อนไขการเจรจาจะเป็นอย่างไรก็ตาม

นิโกลาส มาดูโร (ซ้าย) ประธานาธิบดีเวเนซุเอลา และฮวน กวยโด (ขวา) ผู้นำฝ่ายค้าน ที่มี 54 ประเทศรับรองว่าเขาเป็นรักษาการณ์ประธานาธิบดี ที่มา: Flickr/Eneas de Troya/Gabriel Cruz)

เมื่อวันที่ 26 พ.ค. 2562 สื่อต่างประเทศหลายแห่งรายงานเรื่องที่รัฐบาลนอร์เวย์เป็นตัวกลางจะจัดการเจรจาหารือระหว่างฝ่ายความขัดแย้งทางการเมืองในเวเนซุเอลาภายในสัปดาห์นี้ ซึ่งความขัดแย้งในเวเนซุเอลาดำเนินต่อเนื่องมาเป็นเวลายาวนานนับตั้งแต่หลังการเลือกตั้งในปีที่แล้ว (2561) โดยมีคู่ขัดแย้งหลักๆ คือประธานาธิบดี นิโกลาส มาดูโร และฮวน กวยโด ซึ่งไม่ลงรอยกันในเรื่องความชอบธรรมในการขึ้นเป็นประธานาธิบดีหลังการเลือกตั้งครั้งดังกล่าว

สื่อวิทยุสาธารณะแห่งชาติสหรัฐฯ (NPR) ระบุว่าเจรจายุติความขัดแย้งของทั้งสองฝ่ายเริ่มเป็นไปได้มากขึ้นหลังจากที่ทั้งมาดูโรและกวยโดเริ่มส่งสัญญาณยอมรับเรื่องการเจรจา การเสนอเจรจาของนอร์เวย์มีขึ้นเพื่อยุติความขัดแย้งที่สร้างความติดขัดทางการเมืองในประเทศขณะที่เวเนซุเอลากำลังเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจครั้งเลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์ที่ทำให้ประชาชนมากกว่า 3 ล้านรายอยากออกนอกประเทศ

อย่างไรก็ตามฝ่ายกวยโดมีความกังขาต่อการเจรจาในครั้งนี้ โดยอ้างว่าฝ่ายมาดูโรเคยใช้การเจรจาในอดีต เช่น การเจรจาในโดมินิกันเมื่อ 2 ปีที่แล้วในการถ่วงเวลาให้ตัวเองและไม่ได้มีการยินยอมต่อข้อตกลงใดๆ กวยโดบอกกับผู้สนับสนุนเขาเมื่อวันที่ 25 พ.ค. ที่ผ่านมาว่า "พวกเขาจะไม่สามารถหลอกพวกเราได้อีกแบบเดียวกับในการเจรจาปลอมๆ ที่เกิดขึ้นในปี 2560"

ทั้งนี้กวยโดยังกล่าวย้ำว่าพวกเขาจะยืนกรานในการเจรจาที่กำลังจะมีขึ้น ให้มีข้อตกลงในเชิงทำให้มาดูโรออกจากตำแหน่งให้ได้

กวยโดขึ้นเป็นประธานาธิบดีรักษาการณ์ของเวเนซุเอลาโดยได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐฯ และประเทศอื่นๆ มากกว่า 50 ประเทศ หลังจากที่มีการกล่าวหาเรื่องที่ฝ่ายมาดูโร โกงการเลือกตั้งอย่างกว้างขวาง แต่เขาก็ล้มเหลวในการเรียกการประท้วงบนท้องถนนในระดับใหญ่ต่อและไม่สามารถทำให้กองทัพเวเนซุเอลาถอนการสนับสนันมาดูโรได้

ความขัดแย้งในครั้งนี้ยังนำมาซึ่งการชุมนุมจากทั้งสองฝ่ายนับตั้งแต่ปลายเดือน เม.ย. 2562 ซึ่งมีการใช้กำลังปราบปรามและจับกุมผู้ชุมนุมทำให้มีทั้งผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บ อีกทั้งต่างฝ่ายยังกล่าวหาว่าอีกฝ่ายได้รับการสนับสนุนจากต่างชาติ โดยที่ฝ่ายมาดูโรกล่าวหาว่ากวยโดได้รับการส่งเสริมจากรัฐบาลสหรัฐฯ และที่ฝ่ายกวยโดก็กล่าวหาว่ามาดูโรได้รับการสนับสนุนจากรัสเซีย

ลูอิส วิเซนเต เลออง นักวิเคราะห์การเมืองและนักสำรวจโพลในเวเนซุเอลากล่าวว่าทั้งสองฝ่ายอาจจะมีการหารืออย่างลับๆ เป็นเวลาหลายเดือนมาก่อนจนกระทั่งสามารถจัดให้มีการเจรจาในนอร์เวย์ได้ โดยที่นอร์เวย์เคยเป็นตัวกลางเจรจาที่สามารถบรรลุสนธิสัญญาสันติภาพระหว่างกองกำลังกบฏกับฝ่ายรัฐบาลโคลอมเบียได้สำเร็จมาก่อนในปี 2559

จอฟฟ์ แรมซีย์ จากองค์กรด้านนโยบายและสิทธิมนุษยชนวอชิงตันออฟฟิศออนละตินอเมริกากล่าวว่า มีหลายปัจจัยที่จะทำให้มาดูโรยอมเข้ามาเจรจา หนึ่งในปัจจัยนั้นคือการที่สหรัฐฯ คว่ำบาตรอุตสาหกรรมน้ำมัน ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมสำคัญสร้างรายได้จากการส่งออกร้อยละ 90 ของเวเนซุเอลา ทำให้ถ้าหากกลุ่มมาดูโรเข้าร่วมเจรจาก็อาจจะสามารถใช้เรื่องนี้หลุดจากการกดดันด้วยการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ ได้ นอกจากนี้อีกเรื่อหนึ่งที่มาดูโรกลัวคือการรัฐประหารและแทนที่ด้วยรัฐบาลที่มีความชอบธรรมในสายตานานาชาติมากกว่าจากการที่สภาพความเป็นอยู่ของเจ้าหน้าที่ย่ำแย่ลง

มาดูโรปรากฏตัวทางโทรทัศน์ช่องรัฐบาลเมื่อวันที่ 25 พ.ค. ที่ผ่านมาพร้อมทั้งรอยยิ้มโดยประกาศว่าเขาจะส่งตัวแทนไปเจรจาที่นอร์เวย์โดยมุ่งหวังว่าจะได้ "ข้อตกลงที่ดี"

ขณะที่ฝ่ายต่อต้านมาดูโรยืนยันว่าการเจรจาที่จะมีขึ้นนี้ควรจะเน้นเรื่องการให้มาดูโรลงจากตำแหน่งหรือให้มีการจัดการเลือกตั้งประธานาธิบดีใหม่อย่างเสรีและเป็นธรรม  อย่างไรก็ตามฝ่ายต่อต้านก็กลัวว่าการเจรจาในครั้งนี้จะกลายเป็นแค่การที่มาดูโรอ้างใช้เพื่อดึงความสนใจไปจากปัญหาความเสียหายของประเทศเวเนซุเอลา ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเงินเฟ้ออย่างหนัก ปัญหาการขาดแคลนไฟฟ้า เชื้อเพลิง อาหาร และยา

ทั้งนี้ก็มีประชาชนบางส่วนหวังว่าการเจรจาจะแก้ไขปัญหาได้ อเล็กซานเดอร์ เปเรซ ครูใหญ่ของโรงเรียนแห่งหนึ่งบอกว่าปัญหาเงินเฟ้อหนักทำให้ในตอนนี้สภาพความเป็นอยู่ย่ำแย่มากก เขาต้องใช้เงินจ่ายค่ารถโดยสารเดินทางไปทำงานมากกว่าเงินรายได้จากงาน บีบให้เขาต้องเดินไปทำงานแทน แต่เขาก็เชื่อว่า "การเจรจาจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด" เพราะมันจะเป็นการหลีกเลี่ยงการนองเลือดที่จะทำให้เกิดความทุกข์ซ้ำมากไปกว่าเดิม

เรียบเรียงจาก

Delegates For Maduro, Guaidó To Meet For Talks On Ending Venezuela's Political Crisis, NPR, 26-05-2019
Venezuela: Representatives of Maduro and Guaido to meet in Norway,
Deutsche Welle, 26-05-2019

ข้อมูลเพิ่มเติมจาก

Wikipedia2019 Venezuelan presidential crisis, Wikipedia

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net