Skip to main content
sharethis

ประธาน TDRI อธิบายข้อเท็จ-ข้อจริง ความเสียหาย 3 รูปแบบ 8 ประการในรูปแบบนิทาน เมื่อมี ม.44 สั่งอุ้มทีวีดิจิทัล ให้คืนใบอนุญาต ลด แลก แจก แถมอื้อซ่า ห่วงทำลายระบบตลาดเสรี การแข่งขันที่เป็นธรรม ระบบนิติรัฐ สร้างนิสัยให้ทุนใช้อิทธิพลโยกรัฐอยู่เรื่อย ประมูลเท่าไหร่ก็สู้แล้วค่อยไปต่อรองรัฐเอาดาบหน้า ม.44 ตรวจสอบได้ยาก ยิ่งทำหลังเลือกตั้งยิ่งตรวจสอบข้อกังขาทางการเมืองลำบาก

สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์

สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ขึ้นพูดเปิดประเด็นในงานเสวนาหัวข้อ “ม.44 อุ้มทีวีดิจิทัล: รัฐเอื้อทุน ประชาชนได้อะไร” ที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) จัดโดยคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาและคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

สมเกียรติอธิบายการใช้คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 4/2562 เรื่อง มาตรการแก้ไขปัญหาการประกอบกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม สืบเนื่องจากสภาพปัญหาการแข่งขันทางธุรกิจสำหรับกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมในปัจจุบัน ทำให้ชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตไม่ทันกำหนด ว่าเป็นนิทานที่มีตัวละคร 4 ตัว ได้แก่ ลุง เฮีย เสี่ย เรา โดยเนื้อเรื่องก็คือ “ลุงสั่งเฮีย อุ้มเสี่ย ด้วยเงินเรา”

ม.44 อุ้มค่ายมือถือ ยืดจ่ายค่าประมูล 10 ปี ทีวีคืนคลื่นได้-งดจ่ายค่าธรรมเนียม 3 งวด

สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์: 7 เรื่องคนไทยควรรู้เมื่อ ม.44 อุ้มผู้ประกอบการมือถือ

อดีต กสทช. ชี้ ม.44 อุ้มค่ายมือถือ-ทีวีดิจิตอล ผิดหลักการ ผิดเวลา สื่อน้ำท่วมปาก

การที่ทีวีดิจิทัลล้ม ต้องอุ้ม คือส่วนหนึ่งของนิทานที่เรื่องนี้แต่มีนิทานซ้อน 5 เรื่อง

  1. ทีวีดิจิทัลถูก disrupt (ทำให้ปั่นป่วน) ธุรกิจล้ม ต้องอุ้ม
  2. ถ้าไทยไม่รีบเปิดบริการ 5 จี จะเกิดความเสียหายมากมาย
  3. เอาเรื่องที่ 1 กับ 2 มาผสมกันแล้ววิน-วิน เอาคลื่นทีวีดิจิทัลมาทำบริการ 5 จีแทน และได้เงินที่จะได้จากการจัดสรร 5 จีมาอุ้มทีวีดิจิทัล
  4. จูงใจให้ผู้ประกอบการ 4 จีปัจจุบันด้วยการยืดหนี้บริการ 4 จี ที่ยังติดภาครัฐอยู่
  5. ใช้ดาบกายสิทธิ์ ม.44 เพื่อให้เรื่องข้างต้นเกิดขึ้น

ที่เรียกเป็นนิทานเพราะว่าทั้งหมดไม่เป็นความจริง เรื่องแรก ทีวีล้มละลาย ประเด็นนี้เป็นนิทานที่น่าสงสารที่สุด จริงๆ แล้วทีวีดิจิทัลจำนวนมากขาดทุนจริง แต่เมื่อทีวีดิจิทัลขาดทุนแล้วรัฐต้องเข้าไปอุ้มหรือไม่ ส่วนตัวคิดว่านิยายปรัมปราที่หลอกหลอนคนไทยมานานพอสมควรคือการที่เมื่อธุรกิจไม่ไหวก็ไปวิ่งเต้นหารัฐ มันคือการอุ้มเสี่ยหรือบรรดาผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลที่มีทั้งทุนขนาดกลางถึงทุนขนาดใหญ่ ไม่จำเป็นที่ธุรกิจล้มแล้วรัฐต้องเข้าไปอุ้มเสมอไป สิ่งที่ควรทำคือให้ทีวีดิจิทัลคืนใบอนุญาตแบบไม่ต้องเอาผิด ไม่ต้องมีค่าปรับ แต่ไม่ใช่การชดเชยหรือให้เงินคืนแล้วพาลไปอะไรต่อมิอะไร สิ่งที่รัฐควรจะช่วยในสภาวะที่โลกแปรเปลี่ยนและเกิดการปั่นป่วนทางเทคโนโลยีคือช่วยให้คนหางานใหม่ได้ สร้างทักษะใหม่ได้ ไม่ใช่การไปอุ้มเสี่ยหรือเจ้าสัว

เรื่องที่สอง การทำบริการ 5 จี ไม่ต้องรีบ เพราะประเทศต่างๆ จำนวนมากยังไม่ทำ 5 จีกัน ถ้าเห็นหนังสือพิมพ์เขียนว่ากัมพูชาทำ 5 จี เมื่ออ่านก็จะเห็นว่าเป็นการทดลอง ไม่ใช่เปิดให้บริการ ประเทศที่เปิดใช้คือประเทศที่ทำอุปกรณ์อย่างจีนที่หัวเหว่ยทำอุปกรณ์แล้วรัฐบาลอยากให้นำไปขายได้ เกาหลีใต้ก็มีซัมซุง อเมริกามีควาลคอม ผู้ผลิตชิป 5 จีที่ใหญ่ที่สุดในโลก แต่ไทยไม่ได้เป็นผู้ผลิตเทคโนโลยีเหล่านั้น

ทุกวันนี้อุปกรณ์ที่ใช้ทำ 5 จียังไม่พร้อมและขาดแคลนอยู่เยอะ หมอประวิทย์ (ลี่สถาพรวงศา) บอกว่าถ้าเอาคลื่นย่าน 700 MHz มาทำ 5 จี ตอนนี้ไม่มีอุปกรณ์มือถือสำหรับพวกเรา มือถือสำหรับไอโฟน ซัมซุง ไม่มีมือถือที่ใช้กับคลื่นย่าน 700 MHz  อุปกรณ์ต่างๆ เดี๋ยวก็ออกมาก็จริง แต่ตอนนี้ก็มีราคาแพง การเข้าไปทำบริการ 5 จีเร็วไม่ได้แปลว่าได้ประโยชน์แต่กลับจะทำให้เสียเปรียบ คือทำให้ใช้ของแพง และปัจจุบันไม่มีบริการอะไรที่ 5 จีทำได้แล้วคนอยากใช้วันนี้เลยที่ 4 จีทำไม่ได้ มันอาจสู้ 5 จีไม่ได้เรื่องความเร็ว ความหน่วง แต่ที่มนุษย์มนาใช้ทุกวันนี้ก็สามารถทำได้หมด นอกจากนั้น กสทช. เองก็ยังไม่พร้อมกับการวางโรดแมป 5 จี ที่เกี่ยวข้องกับย่านความถี่หลายย่านทั้งความถี่ต่ำ ปานกลาง และสูง นอกจากนั้น การจัดสรรคลื่น 4 จีที่ผ่านมาก็ไม่ได้กำหนดว่าทำ 4 จีเท่านั้น คือ 4 จี and beyond คือถ้ามีเทคโนโลยีอะไรก็เอาคลื่นที่มีไปใช้ ไม่มีความจำเป็นเร่งด่วนเอาคลื่น 5 จี ผู้ประกอบการโทรคมนาคมสามรายก็มีคลื่น 3 จี 4 จีอยู่แล้ว จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องรีบแจกคลื่น 5 จีเลย

เรื่องที่สาม เอาเงินจัดสรรคลื่น 5 จีมาอุ้มทีวี โดยกติกา กสทช. จะชดเชยทั้งคนที่เลิกบริการและให้บริการต่อ จะไม่มีเงินมาอุ้มทีวีดิจิทัลถ้าไม่มีการจัดสรรคลื่น 5 จี แต่ถ้าไม่ต้องยืดหนี้ 4 จี รัฐจะมีเงินเข้ามามากมายมหาศาล แม้จะต้องอุ้มทีวีดิจิทัล เงินที่จะเข้ามาเป็นแสนล้านก็พอทำได้ ไม่จำเป็นต้องเอาเงินการจัดสรรคลื่น 5 จีมาอุ้ม นอกจากนั้นคลื่น 700 MHz ที่จะต้องย้ายไปทำ 5 จีนั้น ต้องย้ายที่ตั้งคลื่นให้แต่ละช่องย้ายกันไป และจะมีค่าชดเชย จริงๆ แล้วก็แล้วเป็นคลื่นที่ว่างอยู่ ไม่มีคนใช้ จึงไม่จำเป็นต้องมีการชดเชย

เรื่องที่สี่ ต้องยืดหนี้ 4 จีเพื่อจูงใจให้ประมูล 5 จี จริงๆ แล้วนิทานยืดหนี้ 4 จี เกิดมาพักใหญ่ก่อนจัดสรรคลื่น 5 จีเพื่อมาอุ้มทีวีดิจิทัล มีความพยายามของผู้ประกอบการโทรคมนาคมวิ่งเต้นอยากให้รัฐยืดหนี้มานานก่อนที่จะพูดถึง 5 จีแล้ว การที่ทำเรื่องไม่สมเหตุสมผลเหล่านี้ มีความเสียหายอย่างน้อย 8 ประการและ 3 รูปแบบ ดังนี้

เสียหาย 3 รูปแบบ

  1. เสียหายต่อเงินพวกเราในฐานะผู้เสียภาษี
  2. เสียหายต่อตลาดโทรคมนาคมที่จะเกิดขึ้น คือ 5 จี ที่ถูกจัดสรรคลื่นแบบซี้ซั้ว เฉพาะหน้า เฉพาะกิจ
  3. เสียหายต่อระบบนิติรัฐของประเทศที่จะเดือดร้อนกับพวกเราในฐานะพลเมือง

เสียหาย 8 ประการ

  1. กสทช. พูดว่าต้องใช้เงินอุ้มทีวีดิจิทัลประมาณ 31,000 ล้านบาท ประกอบด้วยการอุ้ม 7 ช่องที่ขอเลิก 3,000 อีก 15 ช่องที่ประกอบการต่อจะมีการลดหย่อนค่าธรรมเนียมใบอนุญาต 9700 และสนับสนุนค่าโครงข่าย MUX 19000 ล้านบาท ส่วนสุดท้ายคือส่วนที่ใหญ่ที่สุด ผู้ได้รับประโยชน์คือช่อ 5 ที่รับบริการเครือข่ายใหญ่ที่สุด และสถานะทางกฎหมายของช่อง 5 ก็ไม่รู้ว่าเป็นสถานะอะไร ไม่เคยทำความเข้าใจได้
  2. ความเสียหายทางการเงินจากการเลื่อนหนี้ 4 จีที่ผู้ประกอบการสามรายได้ประโยชน์ไม่เท่ากัน แต่เดิม AIS DTAC TRUEMOVE ต้องจ่ายเงินค่าประมูล 4 จี เข้ารัฐให้จบเร็วๆ นี้ แต่มีการยืดหนี้ยาวออกไปแบบไม่มีดอกเบี้ย ส่วนนี้ทำให้เกิดความเสียหาย เมื่อคำนวณแล้วจะพบว่าแต่ละเจ้าได้ประโยชน์ไม่เท่ากัน TRUEMOVE ได้ประโยชน์ 8,800 ล้านบาท AIS ได้ 8,400 บาท และ DTAC ได้ไป 2,600 ล้านบาท มีนักการเงินส่วนหนึ่งคัดค้านว่าการเอาต้นทุนทางการเงินของผู้ประกอบการทั้งสามมาคิดเพราะไม่ต้องจ่ายดอกเบี้ยการเงินที่แต่เดิมควรต้องจ่ายที่ร้อยละ 9 นั้นไม่ถูกต้อง เพราะเชื่อว่ารัฐบาลไทยมีต้นทุนทางการเงินที่ต่ำกว่าเอกชน ซึ่งก็จริง ฉะนั้นตรรกะของนักการเงินบางกลุ่มชี้ไปว่า ต่อไปถ้าเอกชนมีต้นทุนการเงินสูงกว่ารัฐ ให้รัฐเป็นคนกู้เงินให้แล้วเอกชนใช้ฟรี ถ้าทำตามตรรกะการอุ้มค่ายโทรศัพท์ แปลว่ารัฐเข้ามาอุ้มความเสี่ยงทางการเงินของเอกชนหมดเลย ซึ่งคิดว่าไม่ถูกต้อง
  3. ผู้บริโภคเสียหายเสียโอกาสจากตลาด 5 จีที่ไม่มีผู้ประกอบการรายใหม่มาแข่งขัน กสทช. แต่เดิมตั้งใจจะแจกคลื่น 5 จี ขนาด 15 MHz ต่อราย เหมือนจัดที่ให้คนละ 15 ไร่ แต่เอกชนสู้ราคาที่ 25,000-27,000 ล้านบาทไม่ไหว จึงต่อรองเหลือ 10 MHz สุดท้ายตกมาเหลือ 16,000 ล้านบาทเพราะขนาดเล็กลง แต่ก็ยังไม่ใช่มูลค่าที่สามรายต้องจ่ายจริง เพราะเป็นการผ่อนจ่ายยาว 10 ปีแบบไม่คิดดอกเบี้ย จึงตกอยู่ที่ 11,000 ล้านบาทต่อรายเมื่อคำนวณค่าของเงินที่ลดลงเมื่อเวลาผ่านไป เมื่อคำนวณกับผลได้จากการช่วยค่าประมูล 4 จีพบว่า TRUEMOVE จะประหยัดจากการเลื่อนหนี้ 8,800 ล้านบาท แล้วมาซื้อคลื่น 5 จีในราคา 11,000 ล้านบาท แปลว่าจ่ายจริง 2,200 ล้านบาท น่าจะเป็นราคาที่ถูกที่สุดในโลก AIS จะจ่าย 2,600 ล้านบาท DTAC จะต้องจ่ายแพงสุดคือ 8,400 ล้านบาท ทั้งหมดคือความเสียหายจากการที่ตลาดค่ายมือถือของไทยจะถูกผูกขาดต่อไปจากผู้ประกอบการ 3 รายโดยไม่มีความพยายามเอาผู้เล่นรายใหม่เข้ามา
  4. กติกาโทรคมนาคมชองไทยจะมั่วต่อไปอีก หลังจากมีระบบสัมปทานมาสู่ระบบใบอนุญาตนานแล้ว แต่ต่อไปจะกลับไปเป็นแบบเดิม โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ามีผู้ประกอบการ 3 รายที่ไม่ไปเอาใบอนุญาต 5 จี สมมติว่ามีรายหนึ่งไม่ไปเอา คิดว่า TRUEMOVE กับ AIS คงไปเอา แต่ DTAC นั้นต้องสงสัยเพราะต้องจ่ายแพงกว่าเจ้าอื่น สมมติว่า DTAC ไม่ไปเอาแปลว่าจะมีคนที่ได้คลื่น 5 จีและคนที่ยังไม่ได้ วิธีการในการกำกับดูแลในตลาด หน่วยงานที่กำกับดูแลในไทยที่ถูกโน้มน้าวใจได้ไม่ยากเท่าไหร่ การออกกติกาจะบิดเบี้ยวเหมือนตอน 3 จี ที่มีคนที่ได้คลื่นไปก่อนแล้วจากการบล๊อคไม่ให้ประมูลก่อน ทำให้มีคนได้เปรียบอยู่ มีการดึงเกมแล้วทำให้ตลาดมั่วไป
  5. เสียหายต่อนิติรัฐ หลักการในการทำธุรกิจในระบบตลาดเสรีที่รัฐไม่ควรไปแบกรับความเสี่ยงของธุรกิจเอกชน แปลว่าธุรกิจใดขาดทุนแล้วมีอำนาจก็สามารถบอกให้รัฐไปแบกรับความเสี่ยงได้ ความเสี่ยงมีสองแบบใหญ่ คือความเสี่ยงแบบปกติที่ธุรกิจมี แต่ยังมีความเสี่ยงที่เกิดจากรัฐ คือ regulatory risk ที่อยู่ๆ รัฐกำหนดกติกาแผลงๆ แปลกๆ มาแล้วทำให้ผู้ประกอบการเดือดร้อน ตามหลักวิชาการนั้นชัดเจน รัฐไม่ควรไปรับผิดชอบความเสี่ยงแบบแรก เว้นแต่กรณีที่รัฐไปทำให้ธุรกิจดำเนินการไม่ได้
  6. หลักการความเสี่ยงเกินปกติของผู้ประกอบการที่มีเส้นสายทางการเมือง วันหลังจะทำให้เกิดความคิดว่า เรื่องอะไรได้ยากๆ ก็เอามาก่อนแล้วค่อยไปตายเอาดาบหน้า อาจจะเกิดกับโครงการรัฐขนาดใหญ่ๆ อย่างรถไฟความเร็วสูง ถ้าวันไหนขาดทุนก็อาจมีการวิ่งกันแบบนี้ เมื่อไปดูผู้ประกอบการหรือผู้ถือหุ้นก็มีหน้าตาคล้ายๆ กันอยู่ หรือถ้าเกิดโครงการดิวตี้ฟรีได้กำไรไม่ตามเป้า สุดท้ายก็มาวิ่งแบบนี้อีก ถ้าติดตามดูประมูล 4 จี จะเห็นค่ายเจ้าสัวบางค่ายได้รับบัญชาว่า เท่าไหนเท่ากัน เอามาก่อน สักพักหนึ่งก็มาต่อรองกับภาครัฐ จะส่งผลต่อความน่าลงทุนเพราะมันแสดงให้เห็นว่ารัฐไม่ใช่เสาที่ตั้งยู่ตรง แต่โยกได้ถ้ามีอิทธิพลมากพอ
  7. เกิดปรัชญาของการที่รัฐเป็นพ่อรู้ดี มาแทรกแซงกลไกตลาดไปทุกเรื่อง เอกชนบอกว่ายังไม่สมควร 5 จีก็ยังให้ทำทั้งๆ ที่รัฐก็ไม่พร้อม อย่างเมื่อประมูล 4 จี ก็มีการเอาคลื่น 4 จีที่บางรายประมูลแล้วทิ้ง เอากลไกรัฐไปบีบให้เอา สุทด้ายก็มาต่อรองกันแล้วยืดหนี้ 4 จี จะเห็นว่าเงื้อมมือของรัฐภายใต้ กสทช. เอื้อมเข้าไปในกลไกตลาดลึกมาก โดยเฉพาะกลไกที่มีผู้เล่นน้อยรายยิ่งเสี่ยงให้มีความฉ้อฉลมาก
  8. การใช้ ม.44 ไม่สามารถตรวจสอบการใช้อำนาจนี้ในทางกฎหมายได้ และจังหวะการออกมาหลังเลือกตั้งก็ทำให้ตรวจสอบในทางการเมืองทำได้ยาก

นิทานที่แต่งมาไม่ฉลาด ไม่สนุกสนาน ไม่ประเทืองปัญญา แต่ผู้แต่งหรือภาครัฐก็เก่งในแง่การเมือง คือแจกทีวีดิจิทัล ให้ทีวีจำนวนมากเงียบเสียงในเรื่องนี้ แจกในช่วงสงกรานต์ที่คนกำลังจะไปพักผ่อน แจกช่วงหลังเลือกตั้ง คือจะเอามาโมตีในช่วงเลือกตั้งไม่ได้ แจกในช่วงจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ทำให้พรรคที่จะร่วมรัฐบาลรอ ไม่ร่วมอภิปรายรัฐบาลในเรื่องนี้ อย่างเช่นพรรคลูกผีลูกคนว่าจะร่วมรัฐบาลหรือไม่อย่างประชาธิปัตย์จะไม่แตะเรื่องแบบนี้เพราะจำทำให้กระอักกระอ่วนถ้าเข้าไปร่วมรัฐบาล

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net