Skip to main content
sharethis

จากผลเลือกตั้งทั่วไปในอินเดียที่พรรคภารตียชนตา (BJP) ชนะถล่มทลาย นเรนทรา โมดี ยึดตำแหน่งนายกฯ ต่อไป สื่ออัลจาซีรานำเสนอว่าชัยชนะของพรรคและนายกฯ ที่มีแนวทางชาตินิยมฮินดูจะส่งผลต่อมุสลิมในอินเดียอย่างไร มีคนชี้ว่า BJP มักใช้โวหารแบ่งแยกทางศาสนาในการหาเสียง แต่ก็มีนักวิชาการที่แย้งว่าคะแนนสนับสนุนโมดีอาจมาจากภาพลักษณ์ "ขวัญใจผู้ใช้แรงงาน" มากกว่า

นเรนทรา โมดี (ที่มา: Wikipedia)

30 พ.ค. 2562 อัลจาซีราระบุว่าหลายวันหลังจากที่นเรนทรา โมดี และพรรคภารตียชนตา (BJP) ชนะการเลือกตั้งและกลับมาเป็นรัฐบาลต่อ โมดีก็เริ่มพูดด้วยน้ำเสียงที่ประนีประนอมว่าพรรคของเขาควรจะต้องชนะใจชาวมุสลิมซึ่งเป็นกลุ่มประชากรชนกลุ่มน้อยที่ใหญ่ที่สุดในอินเดียให้ได้

ในคำปราศรัยต่อ ส.ส. ที่เพิ่งได้รับการเลือกตั้งเข้ามาในสภา โมดีก็กล่าวในทำนองว่าพรรคการเมืองฝ่ายค้าน "ล่อลวงชนกลุ่มน้อย" จากการที่ไม่ได้พูดถึงความต้องการขั้นพื้นฐานของพวกเขาอย่างเรื่องการสาธารณสุขและการศึกษา

อย่างไรก็ตาม ท่าทีล่าสุดของโมดีขัดกับสิ่งที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ในช่วงหาเสียงเลือกตั้งที่อาศัยการหาเสียงในเชิงแบ่งแยกโดยมีเป้าหมายต่อต้านชาวมุสลิมอย่างเห็นได้ชัด และในหมู่ ส.ส. พรรค BJP ที่ได้รับเลือกตั้งเข้าไปในสภา 303 รายก็ไม่มีคนที่เป็นชาวมุสลิมเลย

ตัวตน 'นเรนทรา โมดี' ในฐานะผลผลิต-ผู้ใช้ชาตินิยมฮินดูเป็นเครื่องมือการเมือง

อะซาดอุดดิน โอเวซี ประธานกลุ่มชาวมุสลิมในอินเดีย AIMIM กล่าวว่าเขาไม่ประทับใจในวิธีการเข้าหาชนกลุ่มน้อยของโมดี โอเวซีพูดถึงเรื่องอาชญากรรมจากความเกลียดชังทางอัตลักษณ์ (Hate crime) ที่เกิดขึ้นหลังจากมีการประกาศผลการเลือกตั้ง มีกลุ่มคนที่ฉลองชัยชนะของโมดีออกทำร้ายชาวมุสลิมในที่สาธารณะ มีรายงานเกี่ยวกับการก่อเหตุเช่นนี้เกิดขึ้นแล้วอย่างน้อย 5 กรณี เช่นในรัฐมัธยประเทศมีกรณีชาวมุสลิม 3 รายถูกกลุ่มม็อบทุบตีทำร้ายเพราะต้องสงสัยว่าถือเนื้อวัวมาด้วย อีกกรณีหนึ่งเกิดขึ้นในย่านชานเมืองของเดลี มีชาวมุสลิมคนหนึ่งถูกดึงหมวกสวดมนต์ออกและถูกบีบให้ตะโกนคำขวัญสรรเสริญพระเจ้าฮินดู

โอเวซี บอกว่าถ้าหากโมดีเป็นห่วงชาวมุสลิมจริงก็ควรให้ชาวฮินดูเลิกรุมประชาทัณฑ์ชาวมุสลิมด้วยเรื่องเนื้อวัว องค์กรสิทธิมนุษยชนฮิวแมนไรท์วอทช์เคยนำเสนอในรายงานว่า ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาภายใต้รัฐบาลโมดีมีคนที่ถูกรุมประชาทัณฑ์ 44 รายเพราะเรื่องเกี่ยวกับวัวซึ่งเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ตามความเชื่อฮินดู และคนส่วนใหญ่ที่ถูกรุมประชาทัณฑ์เป็นชาวมุสลิม

พรรค BJP เองก็ทำให้ชาวฮินดูหวาดกลัวว่าชาวมุสลิมจะเป็นภัย มีการรณรงค์ในทำนองทำให้เกิดการแบ่งแยกอย่างการสร้างวิหารฮินดูทับพื้นที่มัสยิดที่ถูกรื้อถอน ไปจนถึงการเปลี่ยนกฎหมายพลเมืองเพื่อกีดกันชาวมุสลิม

ซาอีด นัควี นักข่าวอาวุโสและนักเขียนในอินเดียกล่าวว่าพรรค BJP อาศัยการแบ่งขั้วทางศาสนาเป็นปัจจัยหลักในการประสบความสำเร็จ เป็นการแบ่งขั้วทางศาสนาในระดับเดียวกับช่วงที่มีความขัดแย้งเกี่ยวกับการแยกตัวเป็นประเทศอิสระของปากีสถานซึ่งเป็นประเทศที่มีชาวมุสลิมเป็นส่วนใหญ่ เทียบกับอินเดียที่มีชาวฮินดูเป็นส่วนใหญ่

นัควีเป็นผู้เขียนหนังสือชื่อ "อยู่แบบเป็นอื่น : ชาวมุสลิมในอินเดีย" เขาบอกว่านับตั้งแต่การแยกประเทศของปากีสถาน ก็ทำให้ชาวฮินดูในอินเดียอยากทำให้อินเดียเป็นประเทศสำหรับฮินดูเท่านั้น นัควีเชื่อว่าผลการเลือกตั้งที่โมดีได้รับชัยชนะนั้นสะท้อนการที่ชาวฮินดูระบายอารมณ์ต่อความปรารถนาของการทำให้อินเดียเป็นประเทศฮินดูที่ไม่สัมฤทธิ์ผล

ทนายความสิทธิมนุษยชน 2 คน คือปาร์เวซ อิมรอซ จากรัฐแคชเมียร์และอามาน วาดุด จากรัฐอัสสัม แสดงความกังวลว่าชาวมุสลิมในรัฐของพวกเขาจะกลายเป็นกลุ่มคนแรกๆ ที่ตกเป็นเป้าหมายต่อกลุ่มพรรค BJP ที่ต้องการทำให้ชาวฮินดูอยู่เหนือกว่าคนอื่น กรณีระเบิดพลีชีพในแคชเมียร์เมื่อเดือน ก.พ. ส่งผลให้ความนิยมของพวกเขาลดลง และในรัฐอัสสัม BJP ก็หาเสียงด้วยการสัญญาว่าจะขจัดกลุ่มผู้อพยพชาวมุสลิมจากบังกลาเทศและเก็บผู้อพยพชาวฮินดูไว้ ทั้งที่การกระทำนี้ขัดกับหลักรัฐธรรมนูญแบบโลกวิสัยของอินเดียเอง

ในรัฐอัสสัมมีประชากรชาวมุสลิมอยู่ 1 ใน 3 แต่พวกเขาก็มักจะถูกต้องสงสัยในเรื่องสถานะพลเมืองอยู่เสมอ ในปีที่แล้วมีการเผยแพร่ลิสต์รายชื่อของพลเมืองในรัฐอัสสัมกีดกันประชากร 4 ล้านรายออกจากสถานะนี้ การถูกถอดสถานะพลเมืองกลายเป็นการกีดกันไม่ให้พวกเขามีสิทธิในด้านสาธารณสุข การศึกษา และสิทธิในการเลือกตั้ง นอกจากนี้ อมิต ชาห์ ประธานพรรค BJP ยังเคยหาเสียงโดยเรียกผู้อพยพจากบังกลาเทศว่าเป็น "ปลวก" และเป็น "ผู้แทรกซึม" ด้วย วาดุดบอกว่าผลการเลือกตั้งยิ่งเสมือนเป็นการสร้างความฮึกเหิมให้กับพรรค BJP ในการขับไล่ชาวมุสลิมจากอัสสัม

ขณะที่อิมรอซพูดถึงรัฐแคชเมียร์แสดงความกังวลว่าพรรค BJP จะแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อถอนการคุ้มครองแคชเมียร์ซึ่งเป็นดินแดนที่มีข้อพิพาท แคชเมียร์ตกอยู่ภายใต้การสู้รบระหว่างกลุ่มติดอาวุธแบ่งแยกดินแดนที่ต้องการแยกตัวเป็นอิสระหรือรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของปากีสถาน จากความรุนแรงช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมามีพลเรือนเสียชีวิตแล้วมากกว่า 60,000 ราย อย่างไรก็ตามอิมรอชกลัวว่าการถอนการคุ้มครองทางกฎหมายจะทำให้เกิดการลุกฮือขึ้นและอาจจะยิ่งทำให้ประชาชนที่พยายามจะไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมืองถูกทำให้เป็นพวกสุดโต่งได้ แล้วหลังจากนั้นก็มีโอกาสจะเกิดการนองเลือดจากการใช้กำลังทหารปราบปราม อิมรอชกังวลว่าแนวทางของพรรค BJP จะนำไปสู่วิธีการเดียวกับที่อิสราเอลใช้ในปาเลสไตน์

ทั้งนี้ สุมีต มาสการ์ นักวิชาการจากวิทยาลัยด้านการปกครองและนโยบายสาธารณะจินดัลกล่าวว่าผลการเลือกตั้งที่ออกมานี้อาจจะไม่ได้มาจากอิทธิพลของกลุ่มคลั่งไคล้ศาสนาฮินดูมากขนาดนั้น มาสการ์กล่าวในฐานะที่เป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องแรงงานไม่ผ่านการจัดตั้งและการเมืองเรื่องการต่อต้านชนชั้นวรรณะกล่าวว่า วรรณะระดับล่างของอินเดียมักจะเป็นแรงงานที่ไม่ผ่านการจัดตั้ง คนกลุ่มนี้จะโหวตให้ BJP มากเพราะพรรคนี้สร้างภาพให้โมดีเป็น "ขวัญใจผู้ใช้แรงงาน"

มาสการ์ชี้ให้เห็นว่าการหาเสียงของ BJP นั้นนำเสนอภาพลักษณ์ของโมดีในฐานะ "กลุ่มชนนอกวรรณะ" ที่เรียกว่า "Other Backward Caste" (OBC) คนกลุ่มนี้มักจะเป็นคนขายชาหรือยาม กลายเป็นการชักจูงทางอารมณ์ความรู้สึกต่อกลุ่มผู้ใช้สิทธิฯ ที่อยู่ในวรรณะระดับล่างที่เป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งส่วนใหญ่ในอินเดียได้ มาสการ์บอกว่าในขณะที่เขาสร้างภาพลักษณ์ผู้นำเป็นคนขายชาพวกเขาก็พยายามขายวิสัยทัศน์เรื่องความเป็นชาติฮินดูใหม่ที่แม้แต่คนขายชาก็กลายเป็นประธานาธิบดีได้ และแน่นอนว่าภาพลักษณ์นี้มีการแฝงการต่อต้านชาวมุสลิมอยู่ในนั้น แต่ภาพลักษณ์แบบนี้แตกต่างอย่างมากกับฮินดูสายศาสนาจัดหรือเน้นพิธีกรรมซึ่งให้ความสำคัญกับเรื่องหน้าที่ตามวรรณะที่ถูกกำหนดมาตั้งแต่เกิดเปลี่ยนแปลงไม่ได้

เรียบเรียงจาก

What does Modi's return to power mean for India's Muslims?, Aljazeera, May 28, 2019

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net