Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

เหลืออีกเพียงไม่กี่วัน ก็กำลังจะผ่านพ้นเดือนพฤษภาคมกันแล้ว เดือนที่ว่ากันว่าเป็นอีกหนึ่งเดือนที่มีเหตุการณ์สำคัญทางการเมืองเกิดขึ้นมากมายในอดีต

“สุจินดา...ออกไป” “สุจินดา...ออกไป” คือเสียงที่ยังกึกก้องอยู่ในโสตประสาท ตราบกระทั่งทุกวันนี้ แม้เวลาจะล่วงเลยมาแล้วร่วม 30กว่าปี

ย้อนอดีตกลับไป สำหรับอีกหนึ่งเหตุการณ์สำคัญทางการเมืองที่นำมาซึ่งความสูญเสียครั้งใหญ่ในประเทศ กับเหตุการณ์ล้อมปราบประชาชนที่มาร่วมชุมนุมขับไล่การสืบทอดอำนาจของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ หรือ รสช.

เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534 คณะ รสช.ที่นำโดย พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ได้ทำการรัฐประหารยึดอำนาจจาก พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ และได้แต่งตั้งนายอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรี ก่อนที่จะมีการจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 22 มีนาคม 2535

หลังการเลือกตั้ง พรรคสามัคคีธรรมที่ว่ากันว่ามีความเชื่อมโยงกับคณะ รสช.ไดัรวบรวมเสียงข้างมากในสภา 195 เสียงพร้อมกับยกมือหนุนให้ พล.อ.สุจินดา คราประยูร ผู้บัญชาการทหารบกและรองหัวหน้าคณะ รสช. ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี หลังหัวหน้าพรรคสามัคคีธรรมแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลไม่สามารถดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้เนื่องจากติดปัญหาบางประการ ท่ามกลางกระแสการต่อต้านการสืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหาร ที่ต้องยอมรับว่าหนึ่งในแกนนำการเคลื่อนไหวของกลุ่มนักศึกษามีชื่อของนายวัชระ เพชรทอง ปรากฎขึ้นมา โดยเฉพาะในการชุมนุมเคลื่อนไหวของนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยรามคำแหง และที่ปฏิเสธอีกไม่ได้ก็คือว่า ในการชุมนุมต่อต้านการสืบทอดอำนาจของคณะ รสช.ครั้งนั้น มีบทบาทของพรรคการเมืองฝ่ายค้านในขณะนั้นร่วมสนับสนุนอยู่ด้วย เพราะมี “จุดยืน” ทางการเมืองที่ไม่สนับสนุนการสืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหาร และหนึ่งในพรรคการเมืองที่ว่านั่นก็คือพรรคประชาธิปัตย์ พรรคการเมืองเก่าแก่ของประเทศไทยนั่นเอง

กลับสู่สถานการณ์ทางการเมืองในปัจจุบัน ที่กำลังสาละวนอยู่กับความพยายามจัดตั้งรัฐบาลของพรรคการเมืองแกนนำ ที่ว่ากันว่ามีความเชื่อมโยงกับคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือคณะ คสช.คณะรัฐประหารที่ยึดอำนาจจากรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ที่ว่ามีความเชื่อมโยงกันเพราะพรรคการเมืองที่ว่านี้ มีการเสนอชื่อผู้นำคณะรัฐประหารขึ้นเป็นผู้นำรัฐบาล โดยมีกระแสข่าวการต่อรองเก้าอี้รัฐมนตรี เป็นเงื่อนไขสำคัญในการเข้าร่วมหรือไม่เข้าร่วมรัฐบาลของพรรคการเมืองขนาดกลางโดยเฉพาะพรรคประชาธิปัตย์ ที่กำลังเป็นตัวละครที่สำคัญ จนหลงประเด็นกันในเรื่อง“จุดยืน”ทางการเมืองที่ไม่สนับสนุนการสืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหาร ทั้งนี้ไม่เกี่ยวกับการพูดยืนยันอย่างมุ่งมั่นต่อสาธารณะของอดีตหัวหน้าพรรคฯอย่างนายอิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่หลายคนในพรรคฯ ที่อยากเข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ พยายามชี้ภาพว่านั่นคือความเห็นส่วนตัวของอดีตหัวหน้าพรรคฯ ไม่ใช่ความเห็นของพรรคฯ จนคนทั่วไปเริ่มคล้อยตามว่าการไม่สนับสนุนการสืบทอดอำนาจ เป็น“จุดยืน” ของนายอภิสิทธิ์ ไม่ใช่“จุดยืน” ของพรรคฯ

หลายคำถามจากอดีตจึงเริ่มส่งตรงถึงพรรคประชาธิปัตย์อย่างเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะคำถามที่ว่ามัน“ต่าง”กันตรงไหน

อดีต คณะ รสช.ยึดอำนาจ แล้วจัดให้มีการเลือกตั้ง โดยพรรคสามัคคีธรรมที่ผ่านการเลือกตั้งตามกติกา ได้รวบรวมเสียงข้างมากจัดตั้งรัฐบาล แล้วสนับสนุนให้ผู้นำคณะ รสช.ขึ้นสู่อำนาจในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นไปตามรัฐธรรมนูญฉบับนั้นทุกประการ

ปัจจุบัน คณะ คสช.ยึดอำนาจ แล้วจัดให้มีการเลือกตั้ง โดยพรรคพลังประชารัฐที่ก็ผ่านการเลือกตั้งตามกติกา กำลังพยายามรวบรวมเสียงข้างมากเพื่อจัดตั้งรัฐบาล แล้วสนับสนุนให้ผู้นำคณะ คสช.ก้าวขึ้นสู่อำนาจในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งก็เป็นไปตามรัฐธรรมนูญเฉกเช่นกัน

ถ้าในอดีตพรรคประชาธิปัตย์มองว่า การ “ขึ้นสู่อำนาจ”ของผู้นำคณะ รสช.คือการสืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหาร วันนี้พรรคประชาธิปัตย์เสียเอง ที่กำลังมีส่วนในการสนับสนุนให้การก้าว “ขึ้นสู่อำนาจ”ของผู้นำคณะรัฐประหารสำเร็จลุล่วงได้

สิ่งที่เปลี่ยนไป จึงไม่ใช่แค่ตัวอักษร รอ เรือ (รสช.) กับ คอ ควาย(คสช.) เท่านั้น แต่เป็น“จุดยืน” ทางการเมืองของพรรคประชาธิปัตย์นั่นเองที่เปลี่ยนไป ทั้งที่องค์ประกอบของการสืบทอดอำนาจหลายอย่างมีความแตกต่างกัน ในลักษณะที่ดูเหมือนจะหนักหนาสาหัสสากรรจ์กว่าอดีต

- รสช.ยึดอำนาจ เพียง 2 ปีก็จัดการเลือกตั้งคืนอำนาจให้ประชาชน ก่อนที่จะขึ้นสืบทอดอำนาจผ่านการเลือกตั้งตามกติกา แต่ คสช.ยึดอำนาจ นานถึง 5 ปี กว่าจะคืนอำนาจให้ประชาชน ก่อนที่จะสืบทอดอำนาจผ่านการเลือกตั้งตามกติกาเหมือนกัน

- พรรคสามัคคีธรรม ที่สนับสนุนการกลับสู่อำนาจของผู้นำคณะรัฐประหาร ได้รับเลือกตั้งมาเป็นลำดับที่ 1 ด้วยจำนวน ส.ส. 79 คน (มากที่สุดในขณะนั้น) และมีการเสนอชื่อหัวหน้าพรรคขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีก่อน ที่จะมาเสนอชื่อแกนนำคณะรัฐประหารในภายหลัง ขณะที่พรรคพลังประชารัฐ ที่สนับสนุนการกลับสู่อำนาจของผู้นำคณะรัฐประหาร ไม่ได้รับเลือกตั้งมาเป็นลำดับที่ 1 เพราะมีจำนวน ส.ส. 116 คน (พรรคเพื่อไทย 136คน) และเสนอชื่อผู้นำคณะรัฐประหาร ขึ้นสู่อำนาจโดยตรง

- พล.อ.สุจินดา คราประยูร ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีด้วยจำนวนเสียงของสมาชิกสภาผู้แทนราษฏร ซึ่งผ่านการเลือกตั้งของประชาชนเท่านั้น

หลายคนที่สนับสนุนการสืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหาร มักอ้างความชอบธรรมในการสืบทอดอำนาจว่าผ่านการเลือกตั้งมาแล้ว ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นจริง การก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.สุจินดา คราประยูร มันผิดตรงไหน และถ้าบริบททางการเมืองของสังคม ยังคงงมงายบิดเบี้ยวอยู่เช่นนี้ เราควรคืนความบริสุทธิ์ให้กับความพยายามสืบทอดอำนาจของ พล.อ.สุจินดา หรือเปล่า เพราะเชื่อว่าหากใครมีโอกาสไปเยี่ยมเยือนอดีตผู้นำคณะรัฐประหารผู้นี้ อาจจะได้เห็นรอยยิ้มเล็กเล็กที่มุมปาก พร้อมกับคำรำพึงรำพันเบาเบาว่า

“เพียง 2 ปี กูก็คืนอำนาจประชาชน จัดให้มีการเลือกตั้ง ซึ่งพรรคที่สนับสนุนกู ก็มีความชอบธรรมในการจัดตั้งรัฐบาลเพราะชนะการเลือกตั้ง ได้จำนวน ส.ส.มาเป็นลำดับที่หนึ่ง  และที่สำคัญ กูผ่านการโหวตเลือกให้มาเป็นนายกฯ ด้วยจำนวนมือของ ส.ส. ที่เป็นผู้แทนของปวงชน”

ก่อนทิ้งท้ายสั้นสั้น แต่ได้ใจความว่า

“กูสง่างาม กว่าเยอะ”

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net