‘สุรชาติ’ วิเคราะห์หลังสิ้น ‘เปรม’ มรดกเก่าเหลือแค่วาทกรรมในยุค ‘เผด็จการครึ่งใบ’

นักรัฐศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงวิเคราะห์ การจากไปของพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ไม่น่าจะมีผลกระทบโครงสร้างอำนาจ เพราะ ‘ป๋า’ ห่างการเมืองนานแล้ว และ ‘ลูกป๋า’ ก็ต่างทยอยเกษียณ ขั้วกองทัพเปลี่ยนมือเป็นบูรพาพยัคฆ์ยาวนาน ส่วนอิทธิพลทางความคิด ‘ทหารการเมือง’ ‘ประชาธิปไตยครึ่งใบ’ คงเหลือแค่คำคุยของอดีต ปัจจุบันแย่กว่ายุคประชาธิปไตยครึ่งใบ เป็นเผด็จการครึ่งใบ แนะจัดความสัมพันธ์ระหว่างกองทัพกับรัฐบาลเลือกตั้งใหม่

พลันข่าวการถึงแก่อสัญกรรมของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี รัฐบุรุษ และอดีตนายกรัฐมนตรีผู้ครองตำแหน่งยาวนาน 8 ปี ได้รับการยืนยันตามหน้าข่าว กระแสลมทางการเมืองเป็นสิ่งที่ถูกคาดไว้ด้วยประโยคคำถาม มรดกต่างๆ ไม่ว่าเครือข่ายอำนาจ แนวคิดการต่อสู้ศัตรู(คอมมิวนิสต์)ด้วยการเมืองนำการทหาร ฯลฯ จะยังมีพลังอยู่หรือไม่

ประชาไทพูดคุยกับ ศ.สุรชาติ บำรุงสุข อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงถึงดุลอำนาจทางการเมืองที่เปลี่ยนและมรดกของ พล.อ.เปรม

ประชาไท: หลังจากที่ไม่มี พล.อ.เปรมแล้วดุลอำนาจทางการเมืองของกองทัพจะเปลี่ยนหรือไม่

สุรชาติ บำรุงสุข (แฟ้มภาพ)

สุรชาติ: ผมคิดว่าคงต้องยอมรับว่าบทบาท พล.อ.เปรมในช่วงหลังไม่ใช่บทบาททางการเมือง โดยฐานะที่ พล.อ.เปรมเป็น จะแตกต่างจากครั้งที่เป็นนายกฯ หรือในยุคที่เราเรียกกันว่าประชาธิปไตยครึ่งใบ ช่วงนั้นเราเห็นบทบาททางการเมืองและด้านความมั่นคงค่อนข้างชัด

ประการที่สอง พล.อ.เปรมถอยห่างจากการเมืองนานพอสมควรแล้ว ความจริงต้องมารับตำแหน่งประธานองคมนตรี ภาพความชัดเจนของบทบาททางการเมืองผมว่าเปลี่ยนแปลงไป

ประการที่สาม พล.อ.เปรมออกมาจากความเกี่ยวข้องทางการเมืองโดยตรงหรือบทบาททางการทหารเป็นระยะเวลานานพอสมควร ถ้าเราสังเกตยุคนั้นจะมีคำเรียกทหารที่เราเรียกว่า ‘สายป๋า’ หรือ ‘ลูกป๋า’ แต่ปัจจุบันคำพูดเปลี่ยนไปกลายเป็นทหารสายบูรพาพยัคฆ์ เป็นสายที่เกี่ยวข้องทั้ง พล.อ.ประยุทธ พล.อ.ประวิตรและ พล.อ.อนุพงษ์ ฉะนั้นพูดง่ายๆ คือผมคิดว่าขั้วในกองทัพมันเปลี่ยนนานแล้ว สภาวะขั้วในกองทัพมันเปลี่ยนนานแล้ว

การจากไปของ พล.อ.เปรม จะไปกระทบต่อขั้วนี้โดยตรงไหม ผมคิดว่าไม่ใช่ เงื่อนไขของกองทัพเป็นเงื่อนไขของกลุ่มที่อยู่กับสามนายพลหลัก (พล.อ.ประยุทธ พล.อ.ประวิตร พล.อ.อนุพงษ์) ในด้านหลัก ยังคงปฏิเสธไม่ได้ว่าภายในกองทัพยังถูกคลุมโดยกลุ่มบูรพาพยัคฆ์เหมือนเดิม แต่ฐานอำนาจของพูรพาพยัคฆ์ยังเหมือนเดิมไหมก็คงเป็นข้อถกเถียงกันอยู่พอสมควร แต่โดยนัยการจากไปของ พล.อ.เปรม โครงสร้างอำนาจทางกองทัพอาจจะไม่ได้เปลี่ยนมาก

มองว่าสถานะเครือข่าย ‘ลูกป๋า’ จะเป็นอย่างไร

อย่างที่เราคุยกันตอนต้นว่าเงื่อนไขทางเวลามันผ่านช่วงยุคของ พล.อ.เปรม พอสมควรแล้ว โดยอายุอานามหลายคนที่เป็นอดีตลูกป๋าในยุคนั้น หลายท่านก็เกษียณไปแล้ว ฉะนั้นก็ไม่ได้มีสถานะที่เป็นเครือข่ายเข้มแข็งในแบบเดิม ในช่วงที่ พล.อ.เปรมยังมีอำนาจหรือในช่วงหลังที่ลงจากตำแหน่งนายกฯ แล้วสักระยะหนึ่งที่อำนาจอาจยังพอเห็นชัด เครือข่ายหรือในโครงสร้างเดิมของความเป็นลูกป๋าเรายังเห็น แต่ปัจจุบันช่วงนั้นมันผ่านไปแล้ว

แนวคิดให้ทหารมากุมอำนาจเพื่อผสานส่วนต่างๆ ในยุค พล.อ.เปรม ยังจะมีอิทธิพลอยู่หรือไม่

มรดกยุค พล.อ.เปรมมีทั้งเรื่องบทบาทของทหารในทางการเมือง ยุค พล.อ.เปรมเป็นช่วงปลายของยุคสงครามเย็น ถ้าย้อนกลับไป เราเห็นตัวอย่างคำสั่งที่ถือว่าเป็นหมุดหมายที่สำคัญของรัฐบาลนายกฯ เปรมก็คือคำสั่ง 66/23 และคำสั่ง 65/25 ซึ่งเป็นที่รับรู้กันว่าผลักดันโดยกลุ่มทหารประชาธิปไตย บุคคลสำคัญก็คือ พล.อ.เชาวลิต ยงใจยุทธ

เมื่อเราพูดถึงบทบาททางทหาร ความคิดทางทหารมันมีอิทธิพลของยุทธศาสตร์ใหม่ๆ ที่ถูกออกแบบเพื่อการต่อสู้กับสงครามคอมมิวนิสต์ หมายความว่าทหารมีความรู้ทางการเมือง และที่สำคัญรู้ข้อจำกัดว่าอะไรควรทำอะไรไม่ควรทำ บทบาททางการเมืองมันมีเงื่อนไขมันมีข้อจำกัด ในอีกมุมหนึ่ง คำสั่งไม่ว่าจะเป็น 66/23 หรือ 65/25 มันหล่อหลอมชุดความคิดทหารมาพอสมควรว่า ประชาธิปไตยเป็นเรื่องสำคัญ เป็นประเด็นหลักที่ต้องผลักดันให้เกิด เพื่อใช้ต่อสู้กับคอมมิวนิสต์

แต่พอมาถึงวันนี้ผมไม่ค่อยแน่ใจว่ามรดกทางความคิดชุดนี้มันยังหลงเหลืออยู่ภายในกองทัพหรือโครงสร้างของผู้มีอำนาจในสังคมไทย

แต่ทุกวันนี้ก็ยังคงเห็นทหารการเมืองอยู่ไม่ใช่หรือ

เมื่อพูดถึงทหารการเมือง ย้อนกลับไปก็จะเห็น ไม่ว่าจะเป็นพล.อ.เปรม พล.อ.ประวิตรหรือบรรดากลุ่มทหาร พวกเขาพยายามจะเปลี่ยนภาพลักษณ์ว่าทหารที่เป็นนักการเมืองไม่ใช่คำตอบในการต่อสู้กับสงครามคอมมิวนิสต์ พวกเขาพยายามผลักดันให้ทหารเป็นทหารประชาธิปไตย ถ้าเราย้อนกลับไปดูการใช้ความคิดหรือเอกสารต่างๆ เวลาเราพูดถึงทหารการเมืองยุคนั้น ทหารเกี่ยวข้องกับการเหมือง แต่มันมีมิติของความเกี่ยวข้องต่างกับปัจจุบันมาก หลังรัฐประหารปี 2557 บทบาททางการเมืองของทหารมันเข้าไปเกี่ยวข้องกับการเมืองแบบตรงๆ ใกล้เคียงกับยุคจอมพล ป. (พิบูลสงคราม)  ประเด็นเหล่านี้มันเคยจบไปแล้วตั้งแต่เหตุการณ์ปี 2516

เพราะฉะนั้นถ้าเปรียบเทียบบทบาททางการเมืองของทหาร 2 ยุค ผมว่าก็ต่าง จะเห็นอย่างหนึ่งว่าทหารในช่วงของคำสั่ง 66/23 ที่ยังสู้กับสงครามคอมมิวนิสต์หรือในช่วงปลายสงคราม ทหารก็ไม่เข้าไปเกี่ยวข้องกับกลุ่มทุนใหญ่ๆ แล้วยอมรับว่าการเข้าไปเกี่ยวข้องกับกลุ่มทุนใหญ่ๆ อาจจะเป็นอุปสรรคในการสร้างประชาธิปไตย แต่ปัจจุบันผมคิดว่าชุดวิธีคิดอย่างนี้แทบจะไม่หลงเหลืออยู่

มรดกทางความคิดมันเหลือแค่วลีติดปาก คำสั่ง 66/23 หรือที่พูดว่าเวลาการเมืองนำการทหาร ไม่แน่ว่าในกองทัพปัจจุบันที่มีอำนาจคิดถึงแนวคิดนี้แค่ไหน หรือภาษาพวกนี้กลายเป็นภาษาลอยๆ ที่ไม่ได้มีความมีความหมายอะไรลึกซึ้ง ในขณะที่ย้อนกลับไปในช่วงที่สงครามคอมมิวนิสต์ยังอยู่ ในช่วงปลายที่ยังสู้ในตอนนั้น ภาษาพวกนี้มีความสำคัญในการสื่อสารทั้งภายในกองทัพและนอกกองทัพ

มองว่าแนวคิดประชาธิปไตยครึ่งใบยังมีอิทธิพลอยู่ไหมจากภูมิทัศน์การเมืองปัจจุบัน

เวลาพูดเปรียบเทียบหลังเลือกตั้งปี 2562 หรือยุคหลัง คสช. กับ ยุคหลังรัฐประหารปี 2520 โครงสร้างรัฐธรรมนูญต่างกันเยอะมาก รัฐธรรมนูญในยุคนั้นไม่ได้ออกแบบให้รัฐบาลที่ยึดอำนาจสามารถคุมอำนาจเบ็ดเสร็จได้เหมือนปัจจุบัน ถ้าเราดูปัจจุบัน รัฐบาลทหารที่มาจากการรัฐประหารแทบจะคุมอำนาจเบ็ดเสร็จหลังการเลือกตั้ง

ต้องอย่าลืมว่า ไม่ว่าจะเป็นท่านนายกฯ เกรียงศักดิ์ หรือนายกฯ เปรม ด้วยเงื่อนไขรัฐธรรมนูญปี 2520 ก็ไม่ได้ตั้งพรรคการเมือง ไม่ได้ออกแบบกติกาทางการเมือง ซึ่งมีลักษณะรวบอำนาจเบ็ดเสร็จเหมือนปัจจุบัน ฉะนั้น เวลาพูดถึงประชาธิปไตยครึ่งใบในยุคของ พล.อ.เปรม มันยังเห็นสีสันของความเป็นประชาธิปไตย แต่สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นกับปัจจุบันมันไม่สะท้อนความเป็นประชาธิปไตยครึ่งใบ ผมอยากจะเรียกว่ามันเป็นเผด็จการครึ่งใบซะมากกว่า เป็นเผด็จการที่มีเงื่อนไขการเลือกตั้งมารองรับ ซึ่งตัวแบบพวกนี้ถามว่าเป็นอะไรใหม่ในทางรัฐศาสตร์ไหม ก็ไม่ใช่

สิ่งที่เรากำลังเห็นในการเลือกตั้งหลังปี 2562 ในสังคมไทย โดยภาษาทางทฤษฎีเรียกว่า ระบอบพันทางหรือระบอบไฮบริด สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่การเปลี่ยนผ่านทางการเมือง แต่มันเกิดการเลือกตั้ง แล้วการเลือกตั้งกลายเป็นเครื่องมือสร้างความชอบธรรมให้กับรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารสามารถดำรงอยู่ต่อไปได้ ผมคิดว่าอันนี้ต่างจากยุค พล.อ.เปรมอยู่พอสมควร

มองว่าทหารจะมีบทบาททางการเมืองน้อยลงหรือไม่

อันนี้คือโจทย์ใหญ่ตั้งแต่หลังรัฐประหารปี 2557 รวมถึงหลังการเลือกตั้ง มีหลายฝ่ายออกมาพูดแล้วว่า สุดท้ายแล้วกองทัพจะมีบทบาทอย่างไร ยิ่งในอนาคตถ้าเรามองว่าสังคมไทยต้องสร้างระบบการเมืองที่มีประชาธิปไตยที่เข้มแข็ง โจทย์มันคือการจัดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งกับกองทัพก็คงจะต้องมีการออกแบบเงื่อนไขทางการเมือง โครงสร้างหรือความสัมพันธ์บางอย่าง ซึ่งคงหนีไม่พ้นเรื่องการปฏิรูปกองทัพ

ขณะเดียวกัน โจทย์คู่ขนานกันก็คือ ต้องปฏิรูปความสัมพันธ์ระหว่างกองทัพกับรัฐบาลพลเรือน ซึ่งมีทั้งปัญหาระยะสั้น ระยะกลางและระยะยาว ถ้าคิดด้วยกรอบเวลาก็คงต้องตั้งกรอบเวลาว่า ในแต่ละช่วง ถ้ารัฐบาลพลเรือนในอนาคต ต้องย้ำว่าเราพูดถึงอนาคตซึ่งอาจยังไม่รู้ว่าจะเกิดจริงๆ ได้เมื่อไร รัฐบาลพลเรือนในอนาคตที่มีความเข้มแข็งอาจต้องคิดถึงประเด็นเหล่านี้ให้มากขึ้น อย่างเช่นปัจจุบัน กอ.รมน. โดยคำสั่งของคณะรัฐประหารในช่วงที่ผ่านมาถูกยกระดับขึ้นมีบทบาทจนเป็นเหมือนกระทรวงความมั่นคงใหม่ ประเด็นเหล่านี้อาจต้องนำกลับมาถกแถลงว่า ในอนาคต กอ.รมน. จะอยู่ตรงไหน ในอนาคตจะทำอย่างไร เป็นต้น

ภูมิทัศน์ของขั้วอำนาจในกองทัพปัจจุบันเป็นอย่างไร

ถ้าตอบสั้นๆ บนเงื่อนไขของภูมิทัศน์ทางการเมืองของทหาร ยังคงปฏิเสธไม่ได้ว่า อำนาจยังอยู่ในมือของฝ่ายบูรพาพยัคฆ์อยู่พอสมควร เรายังไม่เห็นลักษณะของการเปลี่ยนผ่านของอำนาจ เมื่อเปรียบเทียบกับยุคนายกฯ เปรม จะเห็นชัดว่าช่วงต้นนายกฯ เปรมอิงอยู่กับฐานอำนาจของกลุ่มอย่างเดิม คือ กลุ่มยังเติร์กหรือกลุ่ม จปร.7 แต่หลังความล้มเหลวของรัฐประหารที่เกิดขึ้นจากกลุ่มยังเติร์ก ก็จะเห็นกลุ่มพล.อ.เปรมเคลื่อนตัวไปอิงอยู่กับอำนาจของกลุ่ม จปร.5 ซึ่งในยุคปัจจุบันมันไม่มีสภาพอย่างนั้น คือ กลุ่มบูรพาพยัคฆ์ที่อยู่ในโครงสร้างอำนาจของกองทัพบกมาอย่างยาวนาน วันนี้ก็ยังอยู่ โดยด้านหลักเรายังคงเห็นกองทัพบกอยู่ภายใต้โครงสร้างของบูรพาพยัคฆ์ อย่างน้อยสามพี่ใหญ่ของบูรพาพยัคฆ์ ไม่ว่าจะเป็นพล.อ.ประยุทธ พล.อ.ประวิตรหรือ พล.อ.อนุพงษ์ยังคงมีบทบาทหลัก

ในสภาวะอย่างนี้ ยังคงเป็นอะไรที่น่าจับตาดูต่อว่า อนาคตเมื่อการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเกิดขึ้นหลังการเลือกตั้ง มันจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในโครงสร้างของกองทัพได้มากน้อยเพียงใด แต่ก็อาจต้องยอมรับว่าการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นอาจจะไม่ได้มีผลกระทบอะไรมากกับโครงสร้างของกองทัพ เนื่องจากรัฐบาลที่จะเกิดในอนาคตก็ยังน่าจะเป็นรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารชุดเดิม

กลุ่มวงษ์เทวัญจะมีบทบาทอะไรขึ้นมาหรือไม่

ผมคิดว่าภาษาลิเกพวกนี้ต้องเลิกคิด สิ่งที่เห็นทั้งหมดมีอย่างเดียวคือ ในโครงสร้างทหารกลุ่มหลักยังเป็นบูรพาพยัคฆ์ เพียงแต่การถดถอยของบูรพาพยัคฆ์ก็อาจจะเกิดขึ้นบนเงื่อนไขทางการเมือง และในอนาคตผมคิดว่ายังเป็นโจทย์ที่น่าจับตามอง

คนทั่วไปควรตระหนักต่อการจากไปของ พล.อ.เปรมในแง่ไหน

คงขึ้นอยู่กับเงื่อนไขอายุของแต่ละคน ผมเชื่อว่าคนรุ่นใหม่ที่ไม่ได้เคยผ่านยุคนายกฯ เปรม ที่เราเรียกว่าประชาธิปไตยครึ่งใบก็อาจจะไม่ค่อยรู้สึกอะไรมาก แต่สำหรับคนที่เคยเห็นยุคนายกฯ เปรม ผมว่าก็ต้องยอมรับว่าพล.อ.เปรมเป็นบุคคลสำคัญคนหนึ่งในการเมืองไทยสมัยใหม่ ถ้ามองการเมืองไทยหลัง 14 ตุลาฯ หลัง 6 ตุลาฯ การเกิดของรัฐบาลประชาธิปไตยครึ่งใบในยุคพล.อ.เปรม ซึ่งมีระยะเวลาอยู่นานมากนานถึงประมาณ 8 ปี ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นจุดสำคัญหรือเป็นหมุดหมายหนึ่งที่สำคัญของการเมืองไทย เพราะฉะนั้นในการต่อไป โดยอายุอานามของกลุ่มคน สำหรับคนที่อยู่ในยุคอย่างนั้นก็คงเหมือนกับเห็นการเปลี่ยนยุคที่กำลังเกิดขึ้นในทางการเมือง พูดง่ายๆ ก็คือ เป็นยุคที่ผู้นำยุคเก่ากำลังจะเริ่มเปลี่ยนผ่านจากกัน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท