Skip to main content
sharethis

ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์คดี บ.ธรรมเกษตร ฟ้องหมิ่นประมาท แจ้งความเท็จกับ 14 คนงานพม่าที่ร้องเรียน กสม. เรื่องการถูกละเมิดสิทธิแรงงาน ระบุ ข้ออุทธรณ์เป็นการโต้แย้งดุลพินิจของศาลชั้นต้นที่ยกฟ้องไปแล้ว

ภาพจำเลยที่ศาลแขวงดอนเมือง

30 พ.ค. 2562 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ศาลแขวงดอนเมือ ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ในคดีที่บริษัทธรรมเกษตร จำกัด บริษัทส่งออกเนื้อไก่เป็นโจทก์ฟ้องโทน โทน วิน และแรงงานข้ามชาติรวม 14 คนในข้อหาหมิ่นประมาทและแจ้งข้อความอันเท็จต่อพนักงานเจ้าหน้าที่กรณีที่จำเลยยื่นจดหมายร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กล่าวหาว่าโจทก์ละเมิด พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน  โดยมีการจ่ายค่าแรงให้คนงานต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนด ไม่มีการจ่ายค่าล่วงเวลาและมีการยึดเอกสารประจําตัวของพวกเขา รวมทั้งหนังสือเดินทางเมื่อปี 2559

ศาลยกฟ้อง 14 คนงานเมียนมา ข้อหาหมิ่นฯ บ.ธรรมเกษตร ชี้ใช้สิทธิโดยสุจริตร้อง กสม.

หนังสือศาลระบุถึงคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นที่พิพากษายกฟ้อง และระบุว่า ข้ออุทธรณ์ของโจทก์ที่ระบุว่าศาลชั้นต้นวินิจฉัยไม่ครบประเด็นตามที่จำเลยทั้ง 14 ได้ร้องเรียนต่อ กสม. ซึ่งเห็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายต่อเชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง มีผลกระทบต่อธุรกิจของโจทก์เป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลชั้นต้นอันเป็นการอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง จึงต้องห้ามอุทธรณ์ ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 22 ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ของโจทก์ชอบแล้ว ให้ยกคำร้อง

บริษัทธรรมเกษตร จํากัด แจ้งข้อหาหมิ่นประมาททางอาญาตามมาตรา 137  และ 326 ของประมวลกฎหมายอาญาต่อคนงาน 14 คน กล่าวหาว่าการร้องเรียนของพวกเขากับ กสม.ทำลายชื่อเสียงของ บริษัท คนงานทั้ง  14 คนซึ่งประกอบด้วยชาย 9 คนและหญิง 5 คน มีภูมิลําเนาอยู่ที่ภาคพะโค เมียนมา

สำหรับมาตรา 137 ของประมวลกฎหมายอาญากําหนดเป็นความผิดอาญาฐาน “แจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงาน”  ซึ่ง “อาจทําให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหาย” และกําหนดโทษจําคุกไม่ เกินหกเดือน และ/หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท  ในทํานองเดียวกัน มาตรา 326 กําหนดเป็นความผิดอาญาฐาน “ใส่ความ” ผู้อื่น “ต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะ ทําให้ ผู้อื่นนั้นเสีย ชื่อเสียง  ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง” และกําหนดโทษจําคุกไม่เกินหนึ่งปี และ/หรือ ปรับไม่เกินสองหมื่นบาทหรือทั้งจําทั้งปรับ

นอกจากคดีนี้แล้ว ธรรมเกษตรยังดำเนินการฟ้องร้องการทำงานของนักวิจัยด้านสิทธิมนุษยชนที่เข้ามาทำข้อมูลเรื่องการละเมิดสิทธิแรงงานของบริษัทด้วย เมื่อ 24 พ.ค.2562 สุธารี วรรณศิริ อดีตนักวิจัยประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน ถูกบริษัทธรรมเกษตร จำกัด (ผู้ประกอบกิจการฟาร์มไก่ส่งออก) ฟ้องคดีหมิ่นประมาทจากการโฆษณา เนื่องจาก สุธารีได้เผยแพร่คลิปจากยูทูปซึ่งเป็นคลิปสัมภาษณ์อดีตลูกจ้างของบริษัทธรรมเกษตรฯซึ่งเป็นแรงงานข้ามชาติ สัญชาติเมียนมาร์ในประเด็นเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิแรงงาน โดยในคดีเดียวกันยังฟ้องนาน วิน อดีตลูกจ้างธรรมเกษตรจากพม่าในข้อหาหมิ่นประมาทด้วย 

'ฟาร์มไก่ธรรมเกษตร' ฟ้องหมิ่นฯกับนักวิจัยสิทธิฯ เหตุทวีตคลิปสัมภาษณ์อดีตลูกจ้างถูกละเมิดสิทธิแรงงาน

เมื่อ 4 พ.ย. 2559 ธรรมเกษตรยังเคยฟ้องอานดี้ ฮอลล์ นักวิจัยด้านสิทธิแรงงานในคดีหมิ่นประมาท และ พ.ร.บ. การกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ จากการใช้โซเชียลมีเดียเรียกร้องให้เกิดความเป็นธรรมและให้มีการชดเชยอย่างเพียงพอต่อคนงานข้ามชาติ 14 คน

อนึ่ง บริษัทธรรมเกษตร จำกัด เป็นโจทก์ฟ้องทั้งคดีแพ่งและคดีอาญา ต่อแรงงานข้ามชาติ อดีตลูกจ้างของตนเอง รวมถึงบุคคลอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับการช่วยเหลือหรือบุคคลที่สื่อสารประเด็นการละเมิดสิทธิต่อสาธารณะมาตั้งแต่ปี 2559 จนถึงปัจจุบันจำนวนมากว่า 10 คดีแล้ว โดยได้แยกฟ้องต่อศาลตามสถานที่มูลคดีเกิดหลายจังหวัด

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net