Skip to main content
sharethis

30 พ.ค.2562 จากที่เมื่อวาน (29 พฤษภาคม) พล.ท.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. แนะนำให้อ่านหนังสือ Animal Farm ฉบับภาษาไทย ซึ่งเป็นหนังสือน่าอ่านที่ให้ข้อคิดเกี่ยวกับการดำเนินชีวิตได้เป็นอย่างดี จนสาธารณะให้ความสนใจเป็นวงกว้าง โดยเฉพาะในสื่อสังคมออนไลน์

รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีระบุเพิ่มเติมอีกว่า "นายกฯ ไม่อยากให้เชื่อมโยงทุกอย่างเป็นเรื่องการเมือง และอย่าตีความว่าการแนะนำให้อ่านหนังสือเป็นการดูถูกผู้อื่น เพราะที่จริงการอ่านหนังสือจะช่วยสร้างหลักคิด สร้างปัญญาไม่ใช่ปัญหา สิ่งที่ได้จากหนังสือเล่มนี้ คือ แม้คนเราจะอยากได้ทุกสิ่งที่ดีกว่า แต่ก็ไม่ใช่จะสมหวังทุกอย่าง และไม่มีใครทำให้คนอื่นพอใจได้ทั้งหมด ซึ่งเป็นกฏของธรรมชาติ มนุษย์ควรดูแลใส่ใจสิ่งที่อยู่รอบตัวให้ดี รวมถึงสัตว์เลี้ยงในฟาร์มก็ต้องทำให้มีความสุข ทุกชีวิตต้องช่วยเหลือเกิ้อกูลซึ่งกันและกัน”

วันนี้ (30 พ.ค.62) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เพจ V2902 ได้จัดกิจกรรม "ร่วมกันอ่าน Animal Farm ตามคำสอนของลุง" เวลา 17.00-19.00 น. ที่หอนาฬิกา สวนจตุจักร กทม. โดยอีเวนต์ในเฟสบุ๊คระบุรายละเอียดกิจกรรมว่า “พวกเราขอน้อมนำคำสอนของลุงตู่ด้วยการจัดโปรแกรมชวนคุณมาอ่านหนังสือที่ถูกจัดว่าควรค่าแก่การอ่านตลอดกาล ใครใคร่มาอ่านและสนทนาธรรมด้วยกันก็เชิญชวนที่สวนรื่นรมย์แห่งนี้”

แม้จะมีผู้กดสนใจและบอกว่าจะมาจำนวนมากในเฟสบุ๊ค แต่ในบริเวณกิจกรรม มีพลเมืองเข้าร่วมกิจกรรมทั้งหมด 8 คนด้วยกัน ผู้เข้าร่วมได้นำเสื่อมาปูและนำหนังสือต่าง ๆ ของจอร์จ โอเวลล์มากางและพูดคุยอภิปราย ไม่ว่าจะเป็น “1984”, “จิบพม่าตามหา จอร์จ ออร์เวล”, และ “Animal Farm” สำนวนแปลต่าง ๆ ในวงสนทนานำโดย “แชมป์ 1984” ตั้งข้อสังเกตุว่าลุงตู่อาจจะอ่านแต่บทนำของสำนวนแปลฉบับปี พ.ศ. 2557 ที่พูดถึงการปกครองด้วยคนที่มีคุณธรรม ถึงได้แสดงความเห็นออกมาในลักษณะดังกล่าว

ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวได้สัมภาษณ์ผู้เข้าร่วมกิจกรรมทั้งหมด 3 คน ซึ่งไม่เปิดเผยชื่อนามสกุล ประกอบด้วย ผู้จัดกิจกรรม และผู้เข้าร่วมจากเพจ Literature Club for the People และผู้เข้าร่วมอีก 1 คน ซึ่งระบุว่าอ่านรอบที่ 2 แล้ว ตีความยังไงก็ขึ้นอยู่กับแต่ละคน การพูดคุยกับผู้เข้าร่วมทั้ง 3 ช่วยให้เข้าใจถึงเป้าหมายของการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ และมุมมองที่มีต่อหนังสือ Animal Farm ซึ่งผู้เข้าร่วมกิจกรรมให้ไว้อย่างน่าสนใจ ดังนี้

ผู้จัดกิจกรรม: ช่วยลุงตู่รณรงค์ให้คนอ่านหนังสือ

แนะนำตัวหน่อยครับ

“เป็นแอดมินเพจ V2902 อันนั้นเป็นเพจที่เราเอาไว้ใช้ทำงานศิลปะส่วนตัว เราเห็นข่าวของอดีตนายก เราก็เลยแบบว่า เห้ย หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือที่ดีและน่าสนใจ ควรค่าแก่การแนะนำให้คนอื่น เราก็เลยชวนทุกคนมาอ่านหนังสือกันในสวน เพราะว่าสวนเป็นสวนสาธารณะ เราก็แบบว่า อ่านหนังสือท่ามกลางพุ่มไม้ใบหญ้า แล้วก็อ่าน Animal Farm ที่ลุงตู่แนะนำกัน”

จัดงานนี้เพราะอะไร

“เราเห็นว่าคนทุกวันนี้ไม่ยอมอ่านหนังสือกัน เราเห็นลุงตู่แนะนำมาให้อ่านหนังสือ เราก็เลยเฮ้ย เราควรจะมีวัฒนธรรมการอ่านในเมืองที่เป็นจริงเป็นจังได้แล้ว ก็เลยอยากเชิญชวนให้คนหันมาร่วมกันอ่านหนังสือ แล้วก็กลายเป็นชมรมรักการอ่าน จะได้ส่งเสริมวัฒนธรรมการอ่านให้มันยั่งยืน มากกว่าแค่งานหนังสือ”

คิดว่าลุงตู่ได้อ่านไหม

“หนูก็ไม่รู้หรอกว่าลุงตู่อ่านจริงไหม ไม่ได้อ่าน หรือว่าเป็นหน่วยข่าวกรอง ไม่ว่าจะอ่านหรือไม่อ่าน แต่ลุงตู่ก็ช่วยให้เรามานั่งอ่านด้วยกันแล้ว”

อันนี้ก็เป็นผลงานหนึ่งของลุงตู่

“ใช่ค่ะ”

อ่านแล้วเป็นอย่างไรบ้าง

“ก็เอาจริง ๆ เราเบลอมากเลยว่าพูดเรื่องอะไรบ้าง เพราะว่าเสียงดังเต็มไปหมด แต่เราเคยอ่านมาแล้วตั้งแต่ ป.6 จริง ๆ หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือที่เราซื้อให้น้องชายในวันเกิด แต่เราแอบเอามาอ่านก่อน เราอ่านไป มันเป็นเรื่องที่น่าสนใจดีที่เราเอา metaphor (อุปมาอุปมัย) แทนด้วยสัตว์กับฟาร์ม ถ้าจำไม่ผิด George Orwell เป็นคนพูดถึงปัญหา จริง ๆ มันมีการพูดเสียดสีอังกฤษด้วย แล้วขณะเดียวกันก็มีการเสียดสีพวกที่ทำการปฏิวัติในรัสเซียอีกที มันก็น่าสนใจที่จะหยิบเอามาอ่านอีกรอบหนึ่ง ในบริบทของการที่ลุงได้แนะนำเรา เหมือนพ่อส่งต่อให้ลูกอ่าน อะไรอย่างนี้อะค่ะ”

ดื่มด่ำกับคำสอนที่ลุงตู่มอบให้ผ่านหนังสือเล่มนี้ไหม

“คือ Animal Farm เขาก็เล่าเป็นสัตว์ใช่ไหม พอเป็นสัตว์มันก็เหมือนนิทานอิสปสอนใจ ใช่มั้ยล่ะ พอเวลาอ่านเราก็เข้าใจแล้วว่าที่ลุงสอนที่ลุงพูดในข่าวลงออกมา อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง อ่านแล้วเข้าถึงเลยว่าทำไมเขาอ่าน แล้วถึงได้อย่างนั้น เป็นนิทานอิสปสอนใจที่ดี”

รองโฆษกบอกไม่อยากให้มองเป็นเรื่องการเมือง แม้เราอยากได้ทุกสิ่งที่ดีกว่า แต่ก็ไม่สมหวังทุกอย่าง คุณคิดอย่างไร

“เขาอาจพูดถึงสโนว์บอลที่อยากล้มนโปเลียน แล้วสุดท้ายนโปเลียนก็ชนะ แล้วเราก็เข้าใจว่าที่เขาต้องการจะสื่อคือเรื่องตรงนี้ ประเทศเราต้องอยู่ไปวัน ๆ ทำอะไรไม่ได้หรอก แค่ต้องยอมรับ เขาบอกให้เรายอมรับ พอเพียงกับสิ่งที่ตัวเองมี เราก็เข้าใจว่าอย่างนั้น มันไม่เกี่ยวกับการเมืองหรอกค่ะพี่ มันจะเกี่ยวกับการเมืองได้ยังไง๊”

รองโฆษกยังด้วยบอกว่าไม่มีใครทำให้คนอื่นพอใจได้ทั้งหมด เป็นกฎของธรรมชาติ

“เขาก็คงหมายถึงตัวเขาเองในฐานะที่เป็นนายกฯ เป็นรัฐบาล เป็น คสช. เขาก็ทำได้แค่เท่าที่คนกลุ่มหนึ่งจะพอใจ และคนอีกกลุ่มเขาก็ต้องปล่อยไป ไม่พอใจก็เรื่องของเขา เพราะเราก็ต้องอยู่กันอย่างนี้ ต้องเคารพ ซึ่งกันและกัน เคารพหน้าที่ สิทธิที่เราพึงมีในรัฐบาล คสช.”

คิดว่าสังคมเราจะทำให้คนรักและเกื้อกูลซึ่งกันและกัน เหมือนคำสอนลุงตู่ที่ได้จากการอ่าน Animal Farm อย่างไรบ้าง

“จะเห็นว่าการศึกษาใน animal farm มันแบ่งชัดเจนว่าคนไหนเรียนไม่ได้ก็ไม่ให้เรียน คนไหนเรียนได้ก็ให้เรียนแล้วเป็นตัวแกนนำ เราต้องมีการแบ่งชนชั้นกัน สังคมถึงจะอยู่อย่างสงบสุขอย่างที่ขงจื๊อทำ ต้องมีชนชั้น มีหน้าที่ เพื่อเป็นพลวัตที่ดีและทำให้ชุมชนมีมนุษยธรรมที่สวยงาม อะไรอย่างนี้อะค่ะ”

ผู้เข้าร่วมจากเพจ Literature for the People: "เขาหมายถึงธนาธรหรือเปล่า?"

วันนี้มาทำอะไรครับ

“มาอ่านหนังสือสิคะ คิดว่าหนูจะมาทำอะไรคะ ถือหนังสืออยู่ในมือเนี่ยค่ะ”

วันนี้อ่านอะไรครับเนี่ย

“จิบชาตามหา จอร์จ ออร์เวล ค่ะ หนังสือแปลที่ออร์เวลไม่ได้เขียน แต่คุณเอมม่า ราคิน เขาเขียน เหมือนไปพม่ามาแล้วเขาคิดว่าประเทศนี้เหมาะกับนิยายของออร์เวลเลย ยังไม่ได้อ่านบทแรกเลย”

แต่วันนี้เขานัดมาอ่าน Animal Farm กัน

“หนูหา animal farm ไม่เจอ แต่อ่านจบแล้ว จริง ๆ มีที่บ้านที่เป็นฉบับ bilingual (สองภาษา) ของสำนักพิมพ์ aero classic สำนักพิมพ์นี้แปลดี แต่ยังไม่ได้อ่านเลย แต่ที่อ่านแล้วคือ ฉบับที่ปราบดา หยุ่น เป็น บ.ก. ปกเป็นรูปหมูถือธงสีเขียว รู้สึกจะขายต่อไปแล้วด้วย ฉบับของสำนักพิมพ์ aero classic ควรจะอยู่ในชั้นที่บ้าน แต่ว่าหาไม่เจอ เลยเอาหนังสืออีก 2 เล่มที่ relate (เกี่ยวข้อง) มาแทน”  

อ่าน Animal Farm แล้วคิดยังไงบ้าง

“ก็คิดว่ามัน represent (เป็นภาพแทน) การเมืองแบบ ปชต แบบ dictatorship ได้ตรงเลยอ่ะ ตอนแรกเหมือนจะดีแต่สุดท้ายก็ปฏิวัติตัวเองแล้วใช้อำนาจเผด็จการ”

ลุงตู่แนะนำอ่านหนังสือเล่มนี้ คิดยังไง

“เขาอาจจะตีความอย่างหนึ่ง แต่คนทั้งประเทศตีความเป็นอีกอย่างหนึ่ง มันตีความได้หลายมุม ก็อยากรู้ว่าลุงตู่คิดยังไงถึงแนะนำเล่มนี้”

รองโฆษกบอกว่า แม้เราจะอยากได้ทุกสิ่งที่ดีกว่า แต่ก็ไม่ได้สมหวังทุกอย่าง  

“เขาพูดถึงธนาธรหรือเปล่า”

คิดว่าเขาพูดถึงธนาธรหรอ

“ใช่ค่ะ”

รองโฆษกยังบอกด้วยว่า มนุษย์ควรใส่ใจสิ่งรอบตัวให้ดี แม้แต่สัตว์ในฟาร์มก็ต้องทำให้มีความสุข คิดว่าเราควรจะทำไงให้สังคมมีความสุข เหมือนสัตว์ใน Animal Farm

“แล้วเขา represent (แทนภาพ) สัตว์ในฟาร์มว่าเป็นประชาชนเขาเหรอคะ ไม่มีใครรู้นอกจากเขา หนูก็ไม่รู้เหมือนกัน”

ผู้เข้าร่วมกิจกรรม: อ่านรอบที่ 2 แล้ว ตีความยังไงขึ้นอยู่กับแต่ละคน

แนะนำตัวหน่อยครับ

“ขอไม่บอกชื่อแล้วกัน ไม่มีนามสมมติด้วย ผมกลัว ๆ”

อ่านแล้วมีตรงไหนที่อินบ้าง

“ผมอ่านครั้งแรกแล้วผมอินมากเลยนะ แต่อ่านครั้งที่สอง ผมไม่อินแล้ว ผมชินแล้ว ผมรู้สึกเป็นเหมือนลา ที่บอกว่าคนเรามันก็เกิดมา เห็นโลกมาเยอะแล้ว แล้วมันก็ไม่อยากจะทำอะไร พอเห็นไปเยอะ ๆ แล้วมันก็เลยแบบ salty (ก้าวร้าว) ไปเลย แบบ *วย *วย *วย *วย *วย ผมก็แนว ๆ นั้นแหละ”

“แต่พอผมอ่านอีกรอบหนึ่ง ผมก็ชอบมากกว่าที่คิดนะ ตอนแรกผมคิดว่าผมอ่านรอบสองคงจะเบื่อ ๆ แล้ว แต่อ่านแล้วมาคุยเฉย ๆ แต่อ่านแล้วผมก็ติด พอถึงบทที่ 5 ก็ติด แล้วก็อ่านถึงตีสอง อะไรอย่างนี้”

อ่านรอบสองแล้วชอบตรงไหนบ้าง

“ผมชอบ Animal Farm อย่างหนึ่ง เพราะว่าถ้าคุณดูจากระบบการปกครองจะเห็นว่า ถ้าหมูหายไปแล้ว สัตว์มันปกครองกันเองไม่ได้ อันนี้เป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก คือเหมือนกับว่าสัตว์ที่ฉลาดกว่าแล้วมันปกครองได้ คือหมูอย่างเดียว ซึ่งผมเศร้านะเว้ย แต่คือ set up มันเป็นแบบนั้น”

“ทีนี้ก็จะมีประเด็นเชิงโครงสร้างของมัน ตอนแรกกับนโปเลียนกับสโนว์บอลที่มันแย่งอำนาจกันโดยที่ไม่มีการใช้กำลัง แต่โครงสร้างมันนำไปสู่การใช้กำลังโดยธรรมชาติอยู่แล้ว ใครใช้กำลังก่อนชนะ โครงสร้างแบบนี้มันเศร้านะ แต่มันเป็นโครงสร้างของประเทศที่เพิ่งเกิดใหม่ แล้วก็ประเทศที่คนส่วนใหญ่ในประเทศไม่มีอำนาจพอในการควบคุมประเทศ … คนก็ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ สุดท้ายใครจับมือถือดาบมาฆ่าอีกคนก่อน คนนั้นก็ชนะ ซึ่งผมคิดว่ามันน่าสนใจมากเลยเรื่องแบบนี้”

ลุงตู่บอกว่าอย่าโยงเรื่องการเมือง คุณเห็นว่ายังไงบ้าง

“ผมก็แนะนำให้ทุกคนลองไปอ่านดูนะครับ จะเชื่อมการเมืองหรือไม่เชื่อมการเมืองก็ได้ แล้วก็ลองไปตีความเอาเอง ผมว่าการตีความเป็นเรื่องที่ค่อนข้างที่จะ subjective หรือขึ้นอยู่กับตัวบุคคล ถ้าลุงตู่จะไม่ตีความโยงการเมือง มันก็โอเคนะ

มันก็คือการอ่านรูปแบบหนึ่ง

“ใช่ ผมคิดว่าหนังสือดี ๆ มีเอาไว้ให้คนอ่าน มันก็น่าสนใจ ถ้ามาร์กอ่านแล้วมองแบบหนึ่ง ลุงอ่านแล้วมองอีกแบบหนึ่ง ธนาธรอ่านแล้วมองอีกแบบหนึ่ง ผมว่ามันก็น่าอ่านอยู่ดีครับ ก็ไม่ได้เกี่ยวกับว่าใครตีความยังไงเท่าไหร่”

เกี่ยวกับหนังสือ

นวนิยายขนาดสั้นเรื่อง “Animal Farm” โดยจอร์จ ออร์เวล นักเขียนชาวอังกฤษ เขียนขึ้นระหว่างปีค.ศ. 1943 - 1944 ในช่วงท้ายของสงครามโลกครั้งที่สอง ในขณะนั้นสหราชอาณาจักรเป็นพันธมิตรกับสหภาพโซเวียต สำนักพิมพ์หลายสำนักจึงปฏิเสธต้นฉบับของออร์เวล เนื่องจากว่านวนิยายขนาดสั้นเรื่องนี้เป็นการเขียนแบบเสียดสีเพื่อวิพากษ์วิจารณ์สหภาพโซเวียตภายใต้การปกครองของสตาลินและสิ่งที่ออร์เวลเห็นว่าเป็นการล่มสลายของแนวคิดสังคมนิยมในอุดมคติ ต่อมาในเดือนสิงหาคมปี ค.ศ. 1945 นวนิยายเรื่องนี้ถึงได้ตีพิมพ์ และประสบความสำเร็จพอประมาณในช่วงแรกของสงครามเย็น ปัจจุบันนวนิยายเรื่องนี้เป็นหนึ่งในผลงานที่เป็นที่รู้จักมากที่สุดของออร์เวล พร้อมกับ “1984” และ “Homage to Catalonia”

นวนิยายเรื่อง Animal Farm ผ่านการแปลเป็นภาษาไทยมาแล้วหลายครั้งหลายหน อย่างน้อย ๆ ก็เก้าฉบับพิมพ์ มีการตั้งข้อสังเกตด้วยว่าหนังสือเล่มนี้มีการนำมาแปลใหม่เป็นภาษาไทยบ่อยครั้งในช่วงที่เพิ่งเกิดการก่อรัฐประหาร

ถ้าหากผู้อ่านท่านใดสนใจ ฉบับที่หาได้ในท้องตลาดช่วงนี้น่าจะเป็น “แอนิมอล ฟาร์ม สงครามกบฎของสรรพสัตว์” แปลโดย บัญชา สุวรรณานนท์ และพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ไต้ฝุ่น นอกจากนี้ก็ยังมีฉบับสองภาษาที่พิมพ์โดยสำนักพิมพ์ แอร์โรว์ คลาสสิค บุ๊คส์ แปลโดย สรวงอัปสร กสิกรานันท์ และใช้ชื่อหนังสือว่า “การเมืองเรื่องสรรพสัตว์”

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net