Skip to main content
sharethis

ครบรอบ 58 ปี การประหาร ครูครอง จันดาวงศ์ ด้วย ม.17 ของจอมพลสฤษดิ์ กับวาทะ "เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ" ที่ยังคงไม่ตายและยังรับใช้ปัจจุบันกับการต่อต้านรัฐบาลทหาร พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งมีหลายคนที่ยังนำเอาคำนี้มาใช้เพื่อต่อต้านและถูกดำเนินคดี

 

31 พ.ค.2562 ครบรอบ 58 ปี การประหารชีวิต ครอง จันดาวงศ์ ครูและผู้เป็นกำลังสำคัญของขบวนการเสรีไทยสายภูพาน นักสู้เพื่อความเท่าเทียมและเสมอภาค เจ้าของฉายา "วีรบุรุษสว่างแดนดิน"

"เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ" ครอง กล่าว ก่อนโดนประหารด้วยลูกปืนที่ อำเภอสว่างแดนดิน เมื่อวันที่ 31 พ.ค. 2504 ตามมาตรา 17 ซึ่งให้อำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดกับจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ โดยอ้างว่าเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประเทศชาติ

สำหรับ ครอง เขาชนะเลือกตั้งเป็นผู้แทนราษฎร จ.สกลนคร ในนามพรรคแนวร่วมเศรษฐกร แต่อยู่ได้เพียง 10 เดือน จอมพลสฤษดิ์ ก็ก่อรัฐประหารตัวเองขึ้นครองอำนาจ ยกเลิกระบอบรัฐสภาและการเลือกตั้ง ใช้รัฐธรรมนูญปกครองประเทศเพียง 20 มาตรา จากนั้นก็ลงมือกวาดล้างนักหนังสือพิมพ์และนักการเมืองฝ่ายค้าน 

ตามบทความของ อิทธิเดช พระเพ็ชร ที่เผยแพร่ทางประชาไทเมื่อ ก.ย.61 ระบุถึง ข้ออ้างในการประหาร ครอง ว่า “อาศัยอำนาจตามมาตรา 17 แห่งธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร และโดยมติคณะรัฐมนตรี ในการประชุมเมื่อวันอังคารที่ 30 พ.ค. 2504 จึงให้กรมตำรวจจัดการประหารชีวิต นายครอง จันดาวงศ์ กับนายทองพันธ์ สุทธิมาศ เพื่อรักษาไว้ซึ่งความมั่นคงของราชอาณาจักรและราชบัลลังก์สืบไป ให้กรมตำรวจปฏิบัติตามคำสั่งนี้ โดยเร็วที่สุด สั่ง ณ วันที่ 30 พฤษภาคม 2504 จอมพล ส. ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรี”

คำสั่ง ให้ประหารชีวิต ครองกับทองพันธ์ ด้วยมาตรา 17 ถูกอ่านโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจยศพลตำรวจโทนายหนึ่ง ณ บริเวณสนามหลังอำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร ซึ่งถูกแปรสภาพให้กลายเป็นสถานที่ประหารชีวิต เมื่อวันที่ 31 พ.ค. 2504 ณ เวลาประมาณเที่ยงตรง

การต่อสู้ทางการเมืองของ ครูครอง

ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการต่อสู้ทางการเมืองของ ครอง เว็บไซต์ศิลปวัฒนธรรม รายงานไว้ว่า ครอง เป็นอดีตเสรีไทยสายอีสานร่วมกับเตียง ศิริขันธ์ อีกทั่งยังเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสกลนคร มีการต่อต้านคัดค้านระบอบการปกครองที่ไม่เป็นประชาธิปไตยมาโดยตลอด เคยถูกจับข้อหาเป็นกบฏแบ่งแยกดินแดนเมื่อปี 2491 และกบฏสันติภาพเมื่อปี 2495 ถูกปล่อยตัวออกมาในช่วงพ.ศ. 2500 ในกรณีนิรโทษกรรมกึ่งพุทธกาล ช่วงที่จอมพลสฤษดิ์ รัฐประหารโค่นจอมพล ป. พิบูลสงคราม มีการยุบสถาและเปิดให้มีการเลือกตั้งในปีเดียวกัน ครูครองลงสมัคร ส.ส.ก็ได้เป็น ส.ส.จังหวัดสกลนคร  จนกระทั่งจอมพลสฤษดิ์ ก่อการรัฐประหารครั้งที่สองเพื่อยึดอำนาจใน พ.ศ.2501 พร้อมกับปกครองในระบอบเผด็จการเต็มรูปแบบ ยกเลิกระบอบรัฐสภาและยุติการเลือกตั้ง จากนั้น ก็ได้กวาดล้างปราบปรามนักหนังสือพิมพ์และนักการเมืองฝ่ายค้านจำนวนมาก

ในตอนแรกนั้นครูครองไม่ได้ถูกกวาดล้างในรอบแรกนี้ ครูครองจึงต้องออกจากส.ส. มาประกอบอาชีพเป็นครูควบคู่กับการทำเกษตรกรและค้าขายที่สกลนคร รวมถึงยังคงทำงานร่วมกับประชาชนเช่นเดิม โดยมีจุดมุ่งหมายที่จะจัดตั้งให้ชาวนาชาวไร่รวมตัวกันเพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกันเป็นสำคัญ ครูครองได้แนะนำการทำเกษตรกรโดยให้ชาวบ้านลงแขกเพื่อช่วยเหลือกันในการทำนา พร้อมกันนั้นเขาก็ได้ต่อต้านอำนาจเผด็จการไปด้วย

ครองและเพื่อนมีการจัดตั้งสมาคมลับที่ชื่อ “สามัคคีธรรม” เพื่อทำการต่อต้านอำนาจเผด็จการ และอบรมสั่งสอนประชาชนที่ทุกข์ยากให้รู้จักถึงความสำคัญของชนชั้นกรรมาชีพ ครูครองทำการต่อต้านอำนาจเผด็จการจนกระทั่งถูกล้อมจับในวันที่ 6 พ.ค.2504 ท้ายที่สุดก็ถูกคำสั่งประหารชีวิตด้วยมาตรา 17 ของจอมพลสฤษดิ์ โดยไม่มีการไต่สวนพิจารณาคดีแต่อย่างใด 

"เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ" ในปัจจุบันกับคดีความของผู้ใช้

"เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ" ถูกนำมาใช้รณรงค์ต่อต้านรัฐบาลทหารของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ว่าจะเป็นการแขวนป้ายผ้าพร้อมข้อความนี้หรือการโปรยใบปลิว เช่น กรณีการนำใบปลิว “เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ 7 ส.ค. Vote No” ไปเสียบบริเวณลานจอดรถ ในช่วงก่อนหน้าการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งสามารถ ขวัญชัย ถูกดำเนินคดีในข้อหาตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 มาตรา 61 (1) วรรคสอง แต่ต่อมา 24 เม.ย.60 ศาลจังหวัดเชียงใหม่ได้อ่านคำพิพากษายกฟ้อง และคดีถึงที่สุดแล้วเพราะหลังอัยการไม่อุทธรณ์

หรือ 21 มี.ค.2558 ในจังหวัดระยอง พบการโปรยในปลิวมีข้อความ "ตื่น และลุกขึ้นสู้ได้แล้ว ... ผู้รักประชาธิปไตยทุกคน เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ" ตามสถาบันการศึกษาไม่ว่าจะเป็นหน้าโรงเรียนอนุบาล โรงเรียนมัธยม และวิทยาลัยเทคนิค ซึ่งเป็นช่วงที่สถานการณ์ในกรุงเทพฯ ร้อนแรง เริ่มจากในงานฟุตบอลเพณีจุฬา-ธรรมศาสตร์ ครั้งที่ 70 เมื่อวันที่ 7 ก.พ.58 ปรากฏป้ายผ้าบนอัฒจันทร์ 2 ผืน มีข้อความว่า “coup = corruption” และ “เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ” ก่อนจะมีป้ายข้อความทำนองเดียวกัน ผุดขึ้นตามมุมต่างๆ หรือพื้นที่ใกล้มหาวิทยาลัยต่างๆ ทั้งม.บูรพา ม.รามคำแหง จุฬาฯ ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ 

โดยที่ จ.ระยอง พลวัฒน์ วโรดมพุฒิกุล อายุ 22 ปีเพิ่งจบมหาวิทยาลัยและทำงานในบริษัทใหญ่ในจังหวัดระยองได้ไม่ถึงปี ถูกดำเนินคดีในฐานะผู้โปรยใบปลิวดังกล่าว ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 และ 368 หลังขังที่สถานีตำรวจ 2 วันก็ขอฝากขังกับศาลทหารจังหวัดชลบุรี เนื่องจากเป็นคดีความมั่นคง และถูกประกันตัวออกมาด้วยด้วยหลักทรัพย์ 70,000 บาท ต่อมาเขายังถูกแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มว่าทำผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ด้วยจากการถ่ายรูปใบปลิวที่เขาแปะไว้และส่งไปให้กับเฟสบุ๊คเพจของกลุ่มศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาเพื่อประชาธิปไตยแห่งประเทศไทย (ศนปท.) ซึ่งพลวัฒน์รับว่าเป็นคนถ่ายรูปและส่งไปจริง แต่ไม่ได้มีเจตนายั่วยุปลุกปั่น หรือทำให้กระทบกระเทือนต่อความมั่นคง

ขณะที่คดีความ iLaw รายงานความคืบหน้าไว้ว่ามีการสืบพยานโจทก์ปากที่ 4 แล้ว และเมื่อวันที่ 17 พ.ค.ที่ผ่านมา มีการนัดสืบพยานอีกครั้งที่ศาลทหาร ตั้งอยู่ในค่ายนวมินทราชินี มณฑลทหารบกที่ 14 แต่อัยการทหารลุกขึ้นแถลงว่า พยานที่นัดไว้วันนี้ติดราชการจำเป็นและเร่งด่วน ไม่อาจมาศาลได้ จึงขอเลื่อนไปสืบพยานปากนี้ใหม่ในนัดหน้า ฝ่ายทนายจำเลยไม่คัดค้าน จึงนัดวันสืบพยานใหม่เป็นวันที่ 23 ก.ค. 2562

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net