พลิกฟื้นชุมชนคนคลองเปรมฯ-สช.แนะใช้ธรรมนูญสุขภาพร่วมหาทางออก

ภาคประชาชน หน่วยงานรัฐ วิชาการ พูดคุยหาแนวทางพัฒนาคลองเปรมประชากร ตามโครงการสานใจ สานพลัง พลิกฟื้นประวัติศาสตร์วิถีชุมชนคนคลองเปรมสู่สายน้ำและลำคลอง และแผนแม่บทโครงสร้างพื้นฐานระบบคลอง การพัฒนาชุมชนริมคลองเปรมประชากร ให้ชุมชนมีส่วนร่วม ด้าน สช. แนะใช้เครื่องมือธรรมนูญสุขภาพสร้างกติกา วางอนาคตการอยู่ร่วมกันในพื้นที่

31 พ.ค.2562 กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) รายงานว่าาเมื่อวันที่ 30 พ.ค.ที่ผ่านมา ที่วัดดอนเมือง กรุงเทพฯ มีการจัดประชุม ‘สานใจ สานพลัง พลิกฟื้นประวัติศาสตร์วิถีชุมชนคนคลองเปรมสู่สายน้ำและลำคลอง’ โดยมีตัวแทนจากหลายภาคส่วนเข้าร่วม ทั้งหน่วยงานรัฐ ภาคประชาสังคม แกนนำชุมชน และพระภิกษุ

พระปริยัติโศภณ เจ้าอาวาสวัดดอนเมือง กล่าวว่า งานครั้งนี้ถือเป็นการจุดประกายให้ผู้ที่อยู่ริมคลองเปรมประชากรมาช่วยกันดูแลคลองที่อยู่อาศัย โดยมีสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นหัวเรือใหญ่ เกิดเป็นพลังแห่งความสามัคคี

ขณะที่ สุรศักดิ์ เรียงเครือ รองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า โครงการนี้เป็นโครงการที่สำคัญเพื่อสนองพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยหนึ่งในนั้นคือ กิจกรรมรณรงค์สร้างการรับรู้และนำองค์ความรู้มาพัฒนาคลองเปรมประชากรและคลองสาขาซึ่งจัดมาแล้วถึง 3 ครั้ง การจัดในครั้งนี้ประกอบด้วยคณะสงฆ์และแกนนำชุมชนในพื้นที่ที่อยู่บริเวณริมคลองเปรมประชากรและคลองสาขา ทั้งในกรุงเทพฯ ปทุมธานี และอยุธยา เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนริมคลองเปรมประชากร

“โครงการเฉลิมพระเกียรติส่วนใหญ่เกี่ยวกับการรักษาสิ่งแวดล้อม คือ ทำอย่างไรให้ประชาชนริมน้ำมีความสุขมีสุขภาวะที่ดีและสร้างการตระหนักรู้ไปด้วยกัน นี่คือจุดประสงค์ของการดำเนินงานครั้งนี้ ซึ่งจะขยายไปใช้ในลำน้ำทั่วประเทศต่อไป”

นอกจากนี้ ยังมีการบรรยายถึงอดีตของคลองเปรมประชากรโดย เอนก นาวิกมูล เล่าว่า “คลองเปรมประชากร รัชกาลที่ 4 มีดำริให้สร้างมาก่อน โดยมีหลักฐานอยู่ในหนังสือพิมพ์ของหมอบรัดเลย์ปี 2049 แต่มาดำเนินการขุดจริงในช่วงต้นรัชกาลที่ 5 ปี 2412 ต้นคลองอยู่ที่วัดโสมนัส ผ่านวัดเบญจมบพิตร โดยจะมีหลักบอกระยะทางทุกๆ 4 กิโลเมตรหรือ 100 เส้น คำว่าหลักสี่จึงมีที่มาจากหลักบอกระยะการขุดคลอง รัชกาลที่ 5 ทรงให้ขุดคลองนี้ขึ้นเพื่อใช้เป็นเส้นทางตรงไปยังอยุธยาได้ง่ายขึ้น โดยไปออกที่บ้านบางเคียน อำเภอบางปะอิน คลองนี้ถือเป็นคลองเฉลิมพระเกียรติสายแรกของรัชกาลที่ 5”

ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบแผนแม่บทโครงสร้างพื้นฐานระบบคลองและการพัฒนาชุมชนริมคลองเปรมประชากรไปเมื่อวันที่ 9 เมษายน 2562 ซึ่งเป็นแผนระยะยาว 9 ปี ตั้งแต่ปี 2562-2570 แบ่งเป็น 4 ภารกิจ คือ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของคลอง การพัฒนาชุมชนคลองเปรมประชากร การสร้างการรับรู้และการมีส่วนร่วม และมาตรการด้านกฎหมายเพื่อคลี่คลายอุปสรรคในการดำเนินการต่างๆ โดยทางสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. รับหน้าที่ดูแลภารกิจที่ 2

ธนัช นฤพรพงค์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน กล่าวว่า พื้นที่ที่ พอช. รับผิดชอบเริ่มตั้งแต่วัดเสมียนนารีจนถึงหลักหกรวมระยะทาง 17 กิโลเมตร ประชาชนริมคลองยังสามารถอาศัยอยู่ที่เดิมได้ตามเงื่อนไขที่กำหนด ทาง พอช. จะเข้าไปออกแบบผังชุมชนอย่างมีส่วนร่วมและรักษาเอกลักษณ์ของคลองเปรมประชากรไว้ให้มากที่สุด เป็นการจัดระเบียบที่อยู่อาศัยใหม่ให้สอดรับกับแผนแม่บท

ทางด้าน อรพรรณ ศรีสุขวัฒนา ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ประเด็นสำคัญคือจะรักษาความเป็นคลองเปรมประชากรไว้อย่างไร โดยให้ทุกคนที่เกี่ยวข้องดูแลเอง จัดการกันเอง และรวมถึงหน่วยงานรัฐด้วย ซึ่งจำเป็นต้องมีเครื่องมือสำหรับการดำเนินงาน

อรพรรณ กล่าวอีกว่า พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 ระบุถึงคำว่าสุขภาพที่กินความทั้งด้านร่างกาย จิตใจ สังคม และจิตวิญญาณ และมี มาตรา 5 ระบุว่า “ประชาชนมีสิทธิในการดํารงชีวิตในสิ่งแวดล้อมและสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาพ” กฎหมายจึงให้เครื่องมือไว้หลายชนิดเพื่อสนับสนุนการทำงาน เช่น ธรรมนูญสุขภาพ สมัชชาสุขภาพ การประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ เป็นต้น

“สิ่งที่จะทำต่อไปนี้อาจเรียกว่าเป็นนโยบายสาธารณะ แต่ก่อนพูดว่านโยบายมักคิดถึงรัฐ แต่ภาคประชาชนในพื้นที่ก็มีความต้องการ และเป็นคนที่อยู่กับคลองมาทั้งชีวิต มีภูมิปัญญา บางครั้งความต้องการไม่ตรงกัน จึงต้องมีการสร้างนโยบายแบบมีส่วนร่วม เชิญทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องมานั่งคุยกัน และตัดสินในร่วมกันบนฐานข้อมูลข้อเท็จจริงและเหตุผลเชิงประจักษ์”

อรพรรณ แนะนำว่า ชุมชนอาจนำเครื่องมือที่เรียกว่าธรรมนูญสุขภาพมาใช้ในการดำเนินการพัฒนาชุมชนได้ เพราะกฎหมายเพียงอย่างเดียวไม่สามารถจัดการปัญหาได้ทั้งหมด แต่ต้องอาศัยความเห็นพ้องของชุมชนเข้ามาจัดการ ซึ่งปัจจุบันมีธรรมนูญสุขภาพแล้วกว่า 400 ฉบับทั่วประเทศ

“การทำธรรมนูญสุขภาพคือการวาดภาพอนาคตหรือการแก้ปัญหาของพื้นที่ วิธีการสร้างธรรมนูญต้องใช้รัฐ ประชาชน และภาควิชาการมาร่วมกัน ธรรมนูญสุขภาพจึงเป็นเป้าหมาย กติกา ข้อตกลง เป็นสิ่งที่คนในชุมชนอยากเห็น อยากมี อันนำไปสู่การมีความสุขและคุณภาพชีวิตที่ดีร่วมกัน เช่น การจัดการปัญหาคนทิ้งขยะ ใช้กฎหมายอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ ชุมชนต้องสร้างจิตสำนึกโดยมีข้อตกลงร่วมกัน” อรพรรณ กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท