Skip to main content
sharethis

ศาลปกครองรับฟ้องกรณีภาคประชาชน ชาวบ้านริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาฟ้องรัฐให้เพิกถอนโครงการทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยาในประเด็นหลัก คือการดำเนินโครงการไม่ชอบด้วยกฎหมาย ให้เพิกถอนโครงการ แต่ไม่รับประเด็นองค์ประกอบ ทนายระบุ จากนี้เป็นการโต้ตอบกันด้วยข้อมูลบนเอกสาร

ภาพประกอบ: นัฐพล ไก่แก้ว 

31 พ.ค. 2562 สอ รัตนมณี พลกล้า ทนายความจากมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน ให้ข้อมูลว่าศาลปกครองรับฟ้องกรณีที่ภาคประชาสังคมและตัวแทนชุมชนริมแม่น้ำเจ้าพระยาฟ้องศาลปกครองกรณีโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา หรือที่รู้จักกันในชื่อโครงการทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา (ต่อไปเรียกว่า โครงการฯ) ที่ฟ้องไปเมื่อ 21 พ.ย. 2561 ในคดีหมายเลขดำที่ ส.88/2561

ภาคประชาชนยื่นเอกสารเพิ่ม ขอศาลปกครองระงับ-พับ 'ทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา'

ทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา: สำรวจข้อถกเถียง-การมีส่วนร่วม(ในกรอบที่วางไว้แล้ว)

สอ ผู้เป็นทนายฝ่ายโจทก์ระบุว่า ได้รับแจ้งเมื่อปลายเดือน เม.ย. ว่าศาลรับฟ้องในประเด็นหลักที่โจทก์ระบุว่าการดำเนินการโครงการฯ นั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้เพิกถอน ส่วนประเด็นที่เป็นองค์ประกอบอย่างการชดเชยเยียวยาในกรณีที่โครงการสร้างไปแล้วนั้นไม่รับ เนื่องจากยังไม่ได้ดำเนินโครงการ หรือในเรื่องการให้ภาครัฐดำเนินการตามกฎหมาย ซึ่งอย่างไรเสียก็ต้องดำเนินการตามกฎหมายระบุอยู่แล้ว โดยกระบวนการต่อจากนี้จะเป็นการโต้ตอบกันทางเอกสารระหว่างโจทก์และจำเลย โดยศาลได้มีคำสั่งให้จำเลยยื่นคำให้การไปแล้ว

ผู้ถูกฟ้องในคดีนี้คือคณะรัฐมนตรี (ครม.) คณะกรรมการอำนวยการโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา กระทรวงมหาดไทย และกรุงเทพมหานคร โดยทางผู้ฟ้องขอให้ศาลมีคำพิพากษาว่าโครงการฯ มีลักษณะไม่ชอบด้วยกฎหมาย ให้เพิกถอนโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา มีมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ ระบบนิเวศในกรณีที่โครงการเริ่มดำเนินแล้ว และให้ ครม. มีกฎหมายหรือกฎระเบียบเพื่อดำเนินการคุ้มครองและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา

รู้จักทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา

ทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยาเป็น 1 ใน 12 แผนงานจากโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาของกระทรวงมหาดไทย ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อ 9 ธ.ค. 2557 โดยให้สำนักการโยธา กทม.รับผิดชอบดำเนินโครงการ

เดิมทีการดำเนินโครงการเป็นไปอย่างเร่งรัด มติ ครม. วันที่ 12 พ.ค. 2558 ระบุว่าจะมีการลงนามในสัญญาจ้างภายในเดือน ธ.ค. 2558 แล้วใช้เวลาก่อสร้างรวม 18 เดือน  (ม.ค.2559 - ก.ค.2560) โดยขอให้กระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันบูรณาการโครงการพัฒนาพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาโครงการอื่น เช่น สะพานปลากรุงเทพ อู่เรือกรุงเทพ ให้เชื่อมโยงและสอดคล้องกับโครงการพัฒนาพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาให้เกิดประโยชน์สูงสุด

12 โครงการพัฒนาริมแม่น้ำเจ้าพระยา หรือ เจ้าพระยา ฟอร์ ออล (Chaophraya for All)

  1. ทางเดินริมแม่น้ำเจ้าพระยา
  2. ปรับปรุงภูมิทัศน์เขื่อน
  3. พัฒนาท่าเรือ
  4. พัฒนาศาลาท่าน้ำ
  5. พัฒนาพื้นที่บริการสาธารณะ
  6. พัฒนาเส้นทางการเข้าถึงพื้นที่
  7. ปรับปรุงพื้นที่แนวคูคลองประวัติศาสตร์
  8. พัฒนาพื้นที่ชุมชน
  9. อนุรักษ์พัฒนาพื้นที่ศาสนสถาน
  10. พัฒนาพื้นที่นันทนาการและสวนสาธารณะริมน้ำ
  11. พัฒนาจุดหมายตา (แลนด์มาร์ก) ริมแม่น้ำ
  12. พัฒนาสะพานคนเดินข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา

โดย นัฐพล ไก่แก้ว (คลิ๊กเพื่อดูภาพขนาดใหญ่

เฟสแรกจะดำเนินการโครงการที่ 1-6 ก่อน ในส่วนของทางเลียบฯ นั้นมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์จนทำให้มีการปรับแผนงานมาตลอด กระทั่งเดือน พ.ย. ปี 2561 มีข่าวว่าโครงการฯ กำลังอยู่ในขั้นตอนขอความเห็นชอบจากกระทรวงมหาดไทยเพื่อทำประกวดราคาก่อสร้างทางเลียบฯ ในส่วนนำร่อง เริ่มตั้งแต่สะพานพระราม 7 - สะพานพระปิ่นเกล้า ระยะทางฝั่งละ 7 กม. รวมสองฝั่งเป็น 14 กม. จากระยะทางทั้งหมดของโครงการ 57 กม.โดยใช้งบราว 8,363 ล้านบาท ในส่วนโครงการนำร่องแบ่งสัญญาก่อสร้างออกเป็น 4 ส่วน ส่วนละ 3.5 กม. ดังนี้

ช่วงที่ 1 จากพระราม7 - คลองบางซื่อ วงเงิน 1,770 ล้านบาท

ช่วงที่ 2 จากคลองบางซื่อ - สะพานปิ่นเกล้า วงเงิน 2,470 ล้านบาท

ช่วงที่ 3 จากสะพานพระราม7 - คลองบางพลัด วงเงิน 2,061.5 ล้านบาท

ช่วงที่ 4 จากคลองบางพลัด - คลองสามเสน วงเงิน 2,061.5 ล้านบาท

กระทรวงมหาดไทยและ กทม. ว่าจ้างสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) และมหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) เป็นที่ปรึกษา สำรวจ ออกแบบและจัดทำแผนแม่บทโครงการด้วยงบประมาณราว 120 ล้านบาท

ข้อมูลจากกลุ่มภูมิสถาปัตยกรรม สำนักสถาปัตยกรรม กรมศิลปากรระบุว่า ตลอดเส้นทาง 14 กม. มีชุมชนริมแม่น้ำเจ้าพระยาที่มีความสำคัญ 32 ชุมชน การสำรวจจาก กทม. พบว่ามีบ้านเรือนที่ปลูกสร้างรุกล้ำริมแม่น้ำจำนวน 273 หลังคาเรือนใน 15 ชุมชน มีท่าเทียบเรือหรือโป๊ะเทียบเรืออีก 9 แห่ง จึงให้สำนักงานเขตที่รับผิดชอบ ได้แก่ เขตดุสิต บางซื่อ บางพลัด ร่วมกับสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) สอบสวนสิทธิ์ ประมาณราคาสิ่งปลูกสร้าง รื้อย้ายและจัดหาที่อยู่ใหม่ให้ผู้ได้รับผลกระทบ โดยมีการทยอยรื้อย้ายบ้านเรือนตั้งแต่กลางปี 2561

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net