Skip to main content
sharethis

ผู้เชี่ยวชาญของสหประชาชาติที่เข้าเยี่ยมจูเลียน อัสซาจน์ ในคุกเปิดเผยว่าอัสซาจน์แสดงให้เห็นถึงอาการแบบเดียวกับคนที่ถูกทารุณกรรมทางจิตใจเป็นเวลานานและไม่ควรจะส่งตัวเขาในฐานะนักโทษข้ามแดนให้สหรัฐฯ

นิลส์ เมลเซอร์ ผู้รายงานพิเศษประเด็นการทารุณกรรมจากสหประชาชาติเปิดเผยเมื่อวันที่ 31 พ.ค. 2562 ว่า จูเลียน อัสซาจน์ ผู้ร่วมก่อตั้งเว็บไซต์จอมแฉวิกิลีกส์มีอาการแบบเดียวกับคนที่ถูกทารุณกรรมทางจิตใจ หลังจากที่ก่อนหน้านี้ทนายความของเขาเปิดเผยว่าอัสซาจน์มีอาการป่วยเกินกว่าที่จะให้การในศาลเมื่อวันที่ 30 พ.ค. ที่ผ่านมา

ก่อนหน้านี้อัสซาจน์ลี้ภัยอยู่ในสถานทูตเอกวาดอร์ประจำกรุงลอนดอน แต่เมื่อเดือน เม.ย. ที่ผ่านมาเอกวาดอร์ได้ถอนสถานะคุ้มครองเขาทำให้อัสซาจน์ถูกควบคุมตัวโดยทางการอังกฤษและกำลังรับโทษจำคุก 50 สัปดาห์ฐานฝ่าฝืนการประกันตัว และในขณะเดียวกันก็ต้องต่อสู้ไม่ได้ถูกส่งตัวนักโทษข้ามแดนไปให้กับสหรัฐฯ จากการที่เขาถูกกล่าวหาว่าละเมิดกฎหมายจารกรรมจากการเผยแพร่เอกสารที่เป็นความลับราชการของสหรัฐฯ เขาถูกส่งตัวไปยังเขตอนามัยของเรือนจำเบลมาร์ชในกรุงลอนดอน

เมลเซอร์ได้เข้าพบอัสซาจน์พร้อมกับกลุ่มผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ก่อนหน้านี้ เมลเซอร์บอกว่ามันอาจจะกลายเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงถ้าหากมีการส่งตัวอัสซาจน์ในฐานะนักโทษข้ามแดนให้กับสหรัฐฯ ทั้งนี้ผู้รายงานพิเศษยูเอ็นยังกล่าวประณามสิ่งที่เขาเรียกว่าเป็น "การจงใจและสมคบคิดร่วมกันในการข่มเหงทำร้ายเขามาเป็นเวลาหลายปี"

เมลเซอร์บอกว่า "ในเรื่องอาการป่วยทางร่างกายนั้นได้รับการพูดถึงจากบุคลากรด้านสุขภาพในเรือนจำ และไม่มีอะไรที่เร่งด่วนหรือเป็นอันตรายในทางนั้น" แต่สิ่งที่เขาเป็นห่วงคือเรื่องสุขภาพจิตของอัสซาจน์ เมลเซอร์บอกว่าอัสซาจน์ต้องอยู่กับความวิตกกังวลตลอดเวลา ต้องคอยอยู่กับความรู้สึกว่าตกอยู่ภายใต้อันตรายจากคนรอบตัว เมลเซอร์บอกว่าอัสซาจน์มีอาการกระวนกระวายอย่างหนักและกลัดกลุ้มอยู่กับความคิดของตัวเอง จึงเป็นไปได้ยากที่จะสามารถสนทนากับอัสซาจน์ได้อย่างเป็นระบบ

ผู้รายงานพิเศษของยูเอ็นยังพูดถึงสภาพของเรือนจำว่าแม้จะเป็นเรือนจำเก่าแต่ก็มีการดูแลรักษาดี การเปรียบเปรยว่าเป็นเสมือน "กวนตานาโมแห่งอังกฤษ" นั้นไม่ได้ช่วยอะไร เพราะถึงแม้ว่าคุกแห่งนี้จะมีส่วนที่รักษาความปลอดภัยเข้มงวด แต่อัสซาจน์ก็ไม่ได้ถูกคุมขังอยู่ในส่วนนี่น

อย่างไรก็ตามเมลเซอร์ยังคงยืนยันว่าการปฏิบัติต่ออัสซาจน์ในช่วงตลอด 9 ปีที่ผ่านมาล้วนแต่ส่งผลต่อสภาพจิตใจของเขา ทั้งจากการอ้างใช้ระบบกระบวนการยุติธรรมในการข่มเหงรังแกเขา การถูกบีบให้อยู่แต่ในสถานทูตเอกวาดอร์ การโดดเดี่ยวในเชิงกดขี่ การรังแกและสอดแนมภายในสถานทูต รวมถึงการล้อเลียน เย้ยหยัน เหยียดหยาม จากกลุ่มคนอย่างจงใจ กระทั่งการยุยงให้ใช้ความรุนแรงกับเขา หรือเรียกร้องให้มีการลอบสังหารเขา 

เมลเซอร์เปิดเผยอีกว่าเขาได้เขียนจดหมายเกี่ยวกับเรื่องนี้ถึงกระทรวงต่างประเทศของทางการสหรัฐฯ อังกฤษ และสวีเดน โดยที่ทางการอังกฤษระบุตอบกลับยูเอ็นว่าพวกเขาจะโต้ตอบข้อกล่าวหาเหล่านี้เป็นข้อๆ ทั้งนี้เมลเซอร์ยังได้วิจารณ์เรื่องการปฏิบัติต่ออัสซาจน์หลังจากควบคุมตัวเขาจากสถานทูตด้วย จากที่หลักนิติธรรมทั่วไปจะมีการจับกุมและให้เวลาอย่างน้อย 2 สัปดาห์ในการเตรียมการแก้ต่างในฐานะจำเลยแต่อัสซาจน์ถูกนำตัวขึ้นศาลทันทีและหลังจากนั้นก็ถูกตัดสิน

"จากตลอด 20 ปีที่ผ่านมาที่ทำงานร่วมกับเหยื่อของสงคราม เหยื่อความรุนแรง และเหยื่อการปราบปรามทางการเมือง ผมไม่เคยเห็นกลุ่มประเทศประชาธิปไตยจงใจรุมรังแก ทำให้โดดเดี่ยว และทำให้คนๆ เดียวดูเป็นผู้ร้ายได้ยาวนานขนาดนี้โดยที่มีการคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และหลักนิติธรรมน้อยมาก" เมลเซอร์กล่าว เขาเคยทำงานเป็นที่ปรึกษาด้านกฎหมายให้กับองค์กรกาชาดมาก่อน


เรียบเรียงจาก

Julian Assange shows psychological torture symptoms, says UN expert, The Guardian, 31-05-2019
https://www.theguardian.com/media/2019/may/31/julian-assange-shows-psychological-torture-symptoms-says-un-expert

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net