Skip to main content
sharethis

ก.แรงงาน ออกมาตรการอุดหนุน สปก.เพิ่มทักษะ ดัน Super Worker

นายสุทธิ สุโกศล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่าจากการจัดตั้งกองทุนพัฒนาฝีมือแรงงาน เพื่อเป็นทุนหมุนเวียนสำหรับใช้จ่ายเกี่ยวกับการส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ. 2545 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2557 เพื่อให้มีการพัฒนาฝีมือแรงงานอย่างมีประสิทธิภาพและเหมาะสมกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลง ได้กำหนดหลักเกณฑ์ฯ ช่วยเหลือหรืออุดหนุน กิจการที่ดำเนินงานเกี่ยวกับการพัฒนาฝีมือแรงงานหลายประการ เพื่อส่งเสริมให้แรงงานทุกกลุ่มได้รับการพัฒนาและเข้าสู่กระบวนการทดสอบมาตรฐานฝีมือฯ เพิ่มมากขึ้น  

โดยสถานประกอบกิจการที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 100 คน เข้าข่ายที่ต้องปฏิบัติตามพรบ.ดังกล่าวคือ ต้องจัดฝึกอบรมพนักงานไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของพนักงานทั้งหมด คณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงานได้เห็นชอบ ให้จ่ายเงินอุดหนุนจำนวน 200 บาทต่อลูกจ้าง 1 คน แก่ผู้ประกอบกิจการที่ดำเนินการพัฒนาฝีมือแรงงานให้แก่ลูกจ้าง ในส่วนที่เกินกว่าร้อยละ 70 ของลูกจ้างทั้งหมด ตัวอย่างเช่น สถานประกอบกิจการมีลูกจ้างทั้งหมด 1,000 คน ฝึกอบรมพนักงานในปี 61 จำนวน 850 คน ซึ่งเป็นการจัดอบรมพนักงานเกินกว่าร้อยละ 70 จำนวน 150 คน (ร้อยละ 70 ของลูกจ้างเท่ากับ 700 คน) มีสิทธิขอรับเงินอุดหนุนจำนวน 30,000 บาท

นายสุทธิ กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า กรณีที่สถานประกอบกิจการส่งลูกจ้างเข้าทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติและผ่านการทดสอบ พร้อมทั้งจ่ายค่าจ้างตามอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงาน กพร.ให้เงินอุดหนุนอีก 1,000 บาทต่อคน ทั้งนี้ไม่เกินปีละ 100,000 บาท  อีกกรณีคือ สถานประกอบกิจการจัดทำมาตรฐานฝีมือของตนเอง แล้วนำไปใช้ทดสอบแก่ลูกจ้างของตนเอง ในส่วนนี้ก็ได้รับเงินอุดหนุนเช่นกัน โดยอุดหนุนให้สาขา ระดับละ 10,000 บาท  ตัวอย่างเช่น จัดทำมาตรฐานเพียง 1 สาขา แต่มี 2 ระดับ มีสิทธิได้รับเงินอุดหนุนถึง 20,000 บาท เป็นต้น

ในปี 2562 กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ได้รับการจัดสรรจากกองทุนพัฒนาฝีมือแรงงาน เพื่อเป็นเงินช่วยเหลือหรืออุดหนุนตามมาตรการดังกล่าวเป็นเงิน 15 ล้านบาท ปัจจุบันมีสถานประกอบกิจการ ได้รับเงินช่วยเหลือหรืออุดหนุนดังกล่าวไปแล้วจำนวน 580 แห่ง เป็นเงิน 10,122,780 บาท

“สำหรับผู้ประกอบการที่เข้าหลักเกณฑ์ สามารถติดต่อขอรับเงินช่วยเหลือหรืออุดหนุนในแต่ละกรณี สามารถติดต่อสถาบัน/สำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานทั่วประเทศ หรือสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ 0 2643 6039 หรือ 0 2643 4977 หรือสายด่วนกระทรวงแรงงาน 1506 กด 4”  อธิบดี กพร.กล่าว

ที่มา: บ้านเมือง, 1/6/2562

ก.แรงงาน ปิดคอร์ส เสริมทักษะเด็กช่างยนต์ คาดเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทย

เมื่อเร็วๆ นี้ ณ สถาบันพัฒนาบุคลากรในอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนอะไหล่ยานยนต์ (AHRDA) จ.สมุทรปราการ นายอนุชา ละอองพันธ์ ผู้อำนวยการ สถาบันพัฒนาบุคลากรในอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนอะไหล่ยานยนต์ เป็นประธานพิธีปิดการฝึกอบรมหลักสูตรยกระดับฝีมือแรงงาน สาขางานผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ และชิ้นส่วนอะไหล่ยานยนต์ หลักสูตร 150 ชั่วโมง 5 โมดูล ได้แก่ 1. การควบคุมไฟฟ้ารีเลย์ใน อุตสาหกรรม 2. นิสัยอุตสาหกรรม 3. การบำรุงรักษาเครื่องจักรเบื้องต้น 4. การใช้คอมพิวเตอร์ช่วยในการผลิต และ 5. การเชื่อมแม็กสำหรับการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ ซึ่งเป็นการบูรณาการความร่วมมือในรูปแบบประชารัฐระหว่าง สถาบันพัฒนาบุคลากรในอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนอะไหล่ยานยนต์ (AHRDA) ในสังกัด กพร.และหน่วยงานภาครัฐและเอกชน เพื่อพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา ซึ่งประกอบอาชีพเกี่ยวข้องกับด้านยานยนต์และชิ้นส่วน โดยมุ่งเน้นให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมมีความรู้ และ ทักษะ สามารถปฏิบัติงานได้จริง ในสถานประกอบการตามนโยบายของกระทรวงฯ และยกระดับทักษะฝีมือให้เป็นแรงงานคุณภาพ (super worker) รองรับ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ในพื้นที่ EEC

นายอนุชา เปิดเผยว่า ที่ผ่านมา สถาบันพัฒนาบุคลากรในอุตสาหกรรมยานยนต์ และชิ้นส่วนอะไหล่ยานยนต์ เร่งดำเนินการพัฒนาฝีมือแรงงานในภาคอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนอะไหล่ยานยนต์ เพื่อให้สอดรับกับเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาโดยตลอด เพื่อเป็นการช่วยยกระดับฝีมือแรงงานไทยในภาคอุตสาหกรรมนี้ให้สูงขึ้นตามนโยบาย 3 A ของกระทรวงแรงงาน และป้อนสู่ตลาดอุตสาหกรรมนี้ให้เพียงกับความต้องการ และการแข่งขันด้านเทคโนโลยีที่พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว โดยมุ่งเน้นให้ความสำคัญกับกำลังแรงงาน ที่จะเข้าสู่สถานประกอบกิจการซึ่งเป็นคนกลุ่มใหญ่ขององค์กร เพื่อเป็นการแก้ปัญหาด้านการบริหารจัดการในภาคธุรกิจยานยนต์ในอนาคต

“หวังว่าผู้ผ่านการฝึกอบรมทั้ง 107 คน จาก 8 สถาบันการศึกษา จะได้นำความรู้ ทักษะ และแนวคิดใหม่ๆกลับไปใช้ในการปฏิบัติงานจริงสถานประกอบกิจการ อย่างมีประสิทธิภาพและสัมฤทธิ์ผลตามเป้าหมายที่ตั้งเป้าไว้ เพื่อเป็นการเพิ่มผลิตภาพแรงงาน และ ขีดความสามารถในการแข่งขันในภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งเป็น 1 ใน 10 อุตสาหกรรมหลักที่เป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 และ ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ต่อไป” นายอนุชา กล่าว

ที่มา: บ้านเมือง, 30/5/2562

ประกันสังคมเผยสถานะเงินลงทุนของกองทุนไตรมาส 1/2562 1,968,975 ล้านบาท ดอกผลลงทุนสะสม 593,187 ล้านบาท

นายอนันต์ชัย อุทัยพัฒนาชีพ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานการบริหารการลงทุนประกันสังคม กองทุนประกันสังคมและกองทุนเงินทดแทน ในไตรมาสที่ 1 ปี 2562 ช่วงระหว่างเดือนมกราคม -มีนาคม 2562 มีสถานะเงินลงทุนของกองทุนประกันสังคม ณ 31 มีนาคม 2562 มีเงินลงทุนจำนวน 1,968,975 ล้านบาท ประกอบด้วยเงินสมทบที่จัดเก็บจากผู้ประกันตน นายจ้าง และรัฐบาลจำนวน 1,375,788 ล้านบาท และดอกผลจากการลงทุนสะสม 593,187 ล้านบาท

โดยเงินลงทุนสามารถแบ่งออกเป็น หลักทรัพย์ที่มีความมั่งคงสูงร้อยละ 79 และหลักทรัพย์เสี่ยงร้อยละ 21 ซึ่งเป็นไปตามระเบียบคณะกรรมการประกันสังคมที่กำหนดกรอบการลงทุน ในหลักทรัพย์เสี่ยงไม่เกินร้อยละ 40 และอยู่ภายใต้ค่าความเสี่ยงที่คณะกรรมการกำหนด ทั้งนี้ ในไตรมาส 1 ปี 2562 ตั้งแต่มกราคม – มีนาคม 2562 สำนักงานประกันสังคมสามารถสร้างผลตอบแทนกองทุนประกันสังคมได้จำนวน 12,790 ล้านบาท

สำหรับสถานะเงินลงทุนของกองทุนเงินทดแทน ในไตรมาสที่ 1 ปี2562 ช่วงระหว่างเดือนมกราคม – มีนาคม 2562 สถานะเงินลงทุนของกองทุนเงินทดแทน ณ 31 มีนาคม 2562 มีเงินลงทุนจำนวน 62,999 ล้านบาท ประกอบด้วยเงินสมทบที่จัดเก็บจากนายจ้างจำนวน 43,015 ล้านบาท และดอกผลจากการลงทุนจำนวน 19,984 ล้านบาท โดยเงินลงทุนสามารถแบ่งออกเป็น หลักทรัพย์ที่มีความมั่งคงสูงร้อยละ 72 และหลักทรัพย์เสี่ยงร้อยละ 28

ทั้งนี้เพื่อให้เกิดการรับทราบข้อมูลที่เป็นประโยชน์ และเพื่อความโปร่งใสในการดำเนินงานของสำนักงานประกันสังคม อย่างไรก็ตามสำนักงานประกันสังคมขอให้ผู้ประกันตนมีความเชื่อมั่นในความมุ่งมั่นในการบริหารกองทุนและสร้างผลตอบแทนสะสมอย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มความมั่นคงให้แก่กองทุนประกันสังคมสามารถรองรับค่าใช้จ่ายในการดูแล และพัฒนาสิทธิประโยชน์กลับคืนสู่ผู้ประกันตนทั้งในปัจจุบันและอนาคตต่อไป

ที่มา: ไอเอ็นเอ็น, 29/5/2562

กยศ.ลดเงินต้น-ดอกเบี้ย ปล่อยกู้ยืมเรียน รับอุตสาหกรรมเป้าหมาย

นายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ กยศ.ได้เริ่มทยอยปรับลดดอกเบี้ยและลดเงินต้นให้กับเด็กนักเรียน นักศึกษา ตามโครงการส่งเสริมการพัฒนาทุนมนุษย์เพื่อรองรับ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย และ 3 โครงสร้างพื้นฐานที่ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไปแล้ว เพื่อส่งเสริมการเรียนในสาขาวิชาที่เป็นความต้องการของตลาดแรงงานยุคใหม่ โดยคาดว่าในปีการศึกษา 2562 ซึ่งเป็นปีแรกจะมีผู้ได้รับสิทธิ์ 2-3 หมื่นราย ใช้เงินสนับสนุนกว่า 1.7 พันล้านบาท

"ตอนนี้นักเรียนระดับอาชีวศึกษาในอุตสาหกรรมกลุ่มเป้าหมายได้เริ่มทยอยรับสิทธิ์การลดดอกเบี้ยและเงินต้นแล้ว ส่วนระดับปริญญาตรีจะได้รับช่วงเปิดภาคเรียนในเดือน ส.ค.นี้ โดยคาดว่าตลอดระยะเวลาดำเนินโครงการ 5 ปี จะสามารถผลิตแรงงานเข้าระบบ ได้ไม่น้อยกว่า 1.5 แสนคน โดยสิทธิประโยชน์ในระดับปริญญาตรี ผู้กู้ยืมเงินที่กำลังศึกษาหรือกำลังจะเข้าศึกษา เมื่อสำเร็จการศึกษาในสาขาวิชาที่กำหนด กยศ.จะคิดดอกเบี้ยไม่เกิน 0.5% และลดเงินต้น 30% ส่วนระดับอาชีวศึกษาจะคิด ดอกเบี้ยไม่เกิน 0.5% และได้ส่วนลด เงินต้น 50%" นายชัยณรงค์กล่าว

ทั้งนี้ ปัจจุบัน กยศ.มีลูกหนี้กว่า 3 ล้านราย ผิดนัดการชำระ หนี้ประมาณ 1.8 ล้านราย หรือคิดเป็น 60% โดยขณะนี้ได้หักบัญชีเงินเดือนลูกหนี้เป็นเงินมาก กว่า 420 ล้านบาทต่อเดือน

ที่มา: ไทยโพสต์, 30/5/2562

ประกันสังคมแจง สิทธิกรณีเสียชีวิต ทายาทยื่นรับสิทธิใน 2 ปี รับค่าทำศพ 4 หมื่น

นายอนันต์ชัย อุทัยพัฒนาชีพ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึง การจ่ายสิทธิประโยชน์ทดแทนกรณีตายของกองทุนประกันสังคมว่า การจ่ายค่าทำศพให้แก่ผู้มีสิทธิรับประโยชน์จำนวน 40,000 บาท เพื่อเป็นค่าจัดการศพ ผู้ประกันตนจะต้องส่งเงินสมทบไม่น้อยกว่า 1 เดือน ภายในระยะเวลา 6 เดือนก่อนถึงแก่ความตาย โดยผู้มีสิทธิสามารถนำหลักฐาน คือ แบบคำขอรับประโยชน์ทดแทนกองทุนประกันสังคม (สปส.2-01) สำเนาบัตรประชาชนของผู้จัดการศพ หลักฐานจากฌาปณสถานหรือมัสยิดที่แสดงว่าเป็นผู้จัดการศพ สำเนาใบมรณบัตร สำเนาสมุดบัญชีเงินฝากธนาคาร ประเภทออมทรัพย์หน้าแรก ซึ่งมีชื่อและเลขที่บัญชีของผู้จัดการศพ (กรณีรับเงินทางธนาคาร)

นอกจากนี้ ทายาทผู้มีสิทธิของผู้ประกันตนจะได้รับเงินสงเคราะห์กรณีตาย โดยสำนักงานประกันสังคมจะจ่ายให้กับบุคคลที่ผู้ประกันตนระบุให้เป็นผู้รับสิทธิประโยชน์ โดยการทำหนังสือระบุไว้ ทั้งนี้ กรณีที่ผู้ประกันตนไม่ได้ทำหนังสือระบุไว้ว่า ให้ใครเป็นผู้รับสิทธิประโยชน์ดังกล่าว สำนักงานประกันสังคมจะจ่ายให้ผู้มีสิทธิตามกฎหมาย คือ บิดา มารดา สามีหรือภริยา และบุตร โดยหารเฉลี่ยในอัตราคนละเท่าๆ กัน ดังนี้

หนึ่ง ถ้าก่อนถึงแก่ความตาย ผู้ประกันตนได้ส่งเงินสมทบมาแล้วตั้งแต่ 36 เดือนขึ้นไป แต่ไม่ถึง120 เดือน ให้จ่ายเงินสงเคราะห์เป็นจำนวนเท่ากับค่าจ้างเฉลี่ย 2 เดือน

สอง ถ้าก่อนถึงแก่ความตายผู้ประกันตนได้ส่งเงินสมทบมาแล้วตั้งแต่ 120 เดือนขึ้นไป ให้จ่ายเงินสงเคราะห์เท่ากับค่าจ้างเฉลี่ย 6 เดือน ทายาทผู้มีสิทธิสามารถขอรับประโยชน์ทดแทน ได้ภายใน 2 ปี

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 29/5/2562

"กสศ."ยกระดับแรงงานด้อยโอกาสของไทย นำร่อง 50 พื้นที่ทั่วไทย

ที่ห้องอารีย์ 1 โรงแรมเดอะ ควอเตอร์ อารีย์ เมื่อวันที่ 28 พ.ค.2562 กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา จัดประชุมวิชาการนานาชาติ "ยุทธศาสตร์การพัฒนาและการเพิ่มทักษะดิจิตอลให้แก่กลุ่มประชากรวัยแรงงานที่ด้อยโอกาส : บทเรียนและประสบการณ์จากประเทศเอสโตเนีย" โดยมี ศาสตราจารย์นักสิทธิ์ คูวัฒนาชัย ที่ปรึกษาคณะกรรมการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) นพ.สุภกร บัวสาย ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) นางสาวไครี โซลแมน ผู้บริหารโครงการสำนักการศึกษาและพัฒนาผู้ใหญ่ กระทรวงศึกษาธิการและการวิจัย ประเทศเอสโตเนีย เข้าร่วมเสวนา

ศาสตราจารย์นักสิทธิ์ คูวัฒนาชัย ที่ปรึกษาคณะกรรมการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เปิดเผยว่า ประเทศไทยมีกลุ่มแรงงานด้อยโอกาสจำนวนมาก และมีปัญหามากมาย ไม่ว่าจะเป็น แรงงานไทยมีการศึกษา ทักษะค่อนข้างต่ำ เมื่อเทียบกับประเทศอื่น โดยผลิตภาพต่ำกว่าของสิงคโปร์และไม่มีแนวโน้มดีขึ้น เป็นแรงงานนอกระบบ หรือแรงงานด้อยโอกาส ซึ่งมีประมาณ 55% นั้นไม่ได้รับการคุ้มครอง ถ้าจะพัฒนาประเทศให้หลุดพ้นจากกับดักประเทศรายได้ปานกลาง การพัฒนาแรงงานจึงมีความสำคัญสูงมาก ดังนั้น กสศ. หน่วยงานที่พยายามลดช่องว่างทางการศึกษาของประเทศไทย เพื่อไม่ให้ตกขบวนทางการศึกษา ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการดำเนินการสนับสนุนเด็กนักเรียนยากจน มอบทุนสายอาชีพแล้ว ยังมีหน้าที่ในการพัฒนายกระดับทักษะให้แก่กลุ่มวัยแรงงานด้อยโอกาสด้วย การที่ กสศ. จัดอบรมแรงงานด้อยโอกาส ถือเป็นการลดช่องว่างทางการศึกษาให้คนด้อยโอกาส และได้แรงงานที่มีทักษะเพิ่มขึ้น นำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในอนาคต

"แรงงานในระบบมีอยู่ประมาณ 17 ล้านคน แบ่งเป็นระดับปริญญาตรี 4 ล้านคน อาชีวศึกษา 2.2 ล้านคน นอกนั้นอีก 10 ล้านคน เป็นแรงงานที่มีวุฒิการศึกษาต่ำกว่าระดับชั้น ม.6 ซึ่งโจทย์ปัญหาแรงงานในประเทศไทยที่ต้องเตรียมรับมือในอนาคตก็คืออีก 5-10 ปี ข้างหน้า แรงงานกลุ่มนี้จะถูกแทนด้วยระบบอัตโนมัติ ประเทศไทยต้องผลิตแรงงานให้ตรงกับความต้องการ โดยมีทักษะความรู้ตอบโจทย์ตลาดแรงงานในอนาคตได้" ศาสตราจารย์นักสิทธิ์ กล่าว

ด้าน นพ.สุภกร บัวสาย ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวว่า ประเทศเอสโตเนียมีขนาดเท่ากับจังหวัดเชียงใหม่ของประเทศไทย มีประชากรราว 1.3 ล้านคน ได้รับสมญานามว่า ‘Silicon Valley’ ของยุโรปที่พัฒนาไปเร็วมาก ใช้เวลาไม่ถึง 30 ปี เปลี่ยนจากประเทศยากจนเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว ปัจจุบันมีรายได้ต่อหัวมากกว่าประเทศไทยถึง 7 เท่า ผลการสอบ PISA ปี 2015 เอสโตเนียอยู่ในระดับท็อป 5 ของโลก ระบบโรงเรียนสร้างคนรุ่นใหม่ที่มีขีดความสามารถสูงไม่ขาดสาย การสนับสนุนการเรียนรู้ตลอดชีวิตและการเปิดโอกาสให้แรงงานวัยผู้ใหญ่ที่ด้อยโอกาสได้กลับมา RESKILL เพิ่มศักยภาพได้ ประเด็นที่น่าสนใจคือจะสร้างแรงจูงใจอย่างไรให้คนกลุ่มนี้อยากกลับมาเรียน ฝึกอบรมเพิ่มเติม ซึ่งพบว่าประเทศเอสโตเนียใช้วิธีสร้างแรงจูงใจให้ทั้งนายจ้างและลูกจ้าง โดยส่วนของนายจ้างหากมีนโยบายส่งเสริมให้ลูกจ้างไปเรียนรู้เพิ่มเติม สามารถที่จะนำโครงการดังกล่าวไปลดหย่อนภาษีได้ ในขณะที่ในส่วนของลูกจ้างเอง ได้กำหนดให้สามารถลาหยุดงานเพื่อไปเรียนเพิ่มเติมเฉลี่ยสูงสุดถึง 30 วันต่อปี ขณะเดียวกันยังมีการจัดแคมเปญรณรงค์ให้แรงงานทุกระดับชั้นเข้าเรียนเพื่อเพิ่มทักษะอย่างต่อเนื่อง

"กสศ. เองได้นำบทเรียนจากเอสโตเนียมาเป็นส่วนหนึ่งของฐานความรู้ในการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส ให้เป็นผู้ประกอบการรุ่นใหม่และแรงงานฝีมือโดยใช้ชุมชนเป็นฐานนำร่องใน 50 พื้นที่ทั่วประเทศ ที่มีสัดส่วนความยากจน การว่างงานสูง และมีดัชนีความก้าวหน้าของคนต่ำ โดยจะมีการวิเคราะห์ศักยภาพและจัดทำแผนร่วมกับชุมชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดรูปแบบการพัฒนาทักษะอาชีพแบบครบวงจร โดยใช้ชุมชนเป็นฐาน คาดว่าในปีแรกจะครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายประมาณ 5,000-10,000 คน ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนเชิญชวนหน่วยงานทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน ภาคประชาสังคม สถาบันการศึกษา ที่มีศักยภาพในด้านการฝึกอบรมอาชีพระยะสั้น สามารถเป็นแกนหลักในการขับเคลื่อนร่วมกับชุมชนได้ โดยสามารถติดตามรายละเอียดได้ใน www.eef.or.th ตั้งแต่เดือนมิถุนายนนี้ เป็นต้นไป

ขณะที่ นางสาวไครี โซมานน์ ผู้บริหารโครงการสำนักการศึกษาและพัฒนาผู้ใหญ่ กระทรวงศึกษาธิการและการวิจัย ประเทศเอสโตเนีย กล่าวว่า รากฐานความสำเร็จของเอสโตเนียเริ่มมาจากการกำหนดยุทธศาสตร์และนโยบายระดับชาติที่ให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างชัดเจน ภายใต้ยุทธศาสตร์ Estonia 2020 ซึ่งกำหนดเป้าหมายให้มีประชากรวัยทำงานที่กลับเข้าสู่ระบบการศึกษาเพื่อพัฒนาทักษะใหม่ๆ เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 20 ภายในปี 2020 จากร้อยละ 10.5 เมื่อปี 2010 ล่าสุดในปี 2018 อยู่ที่ 19.7% โดยสูงกว่าค่าเฉลี่ยของอียูซึ่งอยู่ที่ 11.1%

"เอสโตเนียให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ตลอดชีวิตของประชากรวัยทำงานเท่ากับการศึกษาขั้นพื้นฐานอาชีวะศึกษาและอุดมศึกษาของเยาวชน เพราะเราเชื่อว่าแรงงานที่มีประสิทธิภาพจะต้องเรียนรู้และพัฒนาทักษะใหม่ๆ เสมอ และแน่นอนว่าเป็นหน้าที่ของภาครัฐที่ต้องเข้ามาดูแลและลงทุนเรื่องนี้" นางสาวไครี กล่าว

นางสาวไครี กล่าวว่า ปัจจัยความสำเร็จอีกด้านคือ การทำงานร่วมกันทั้งภายในภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องอย่างจริงจัง เช่น ภาครัฐให้สิทธิลดหย่อนทางภาษีกับแรงงานที่กลับเข้าสู่ระบบการศึกษา ขณะที่ภาคเอกชนก็อนุญาตให้ลูกจ้างกลับเข้าศึกษาได้ภายในระยะเวลาที่กำหนด (30วัน) โดยยังได้ค่าจ้างตามปกติ นอกจากนี้ ยังมีการจัดตั้งสภาการศึกษาสำหรับผู้ใหญ่แห่งชาติ (National Council for Adult Education) เพื่อกำหนดนโยบายการศึกษาสำหรับผู้ใหญ่โดยเฉพาะอีกด้วย และต้องมีการกำหนดกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจน โดยภาครัฐจะมุ่งเน้นการพัฒนาทักษะแรงงานไปที่ผู้ใหญ่ที่มีการศึกษาในระดับต่ำ ผู้ที่ออกจากโรงเรียนก่อนเวลาอันควร ผู้ใหญ่ที่ไม่มีคุณวุฒิทางวิชาชีพและผู้ใหญ่ที่มีทักษะอาชีพที่จำเป็นต้องพัฒนาให้ทันสมัย

"เรายังนำระบบ E-service มาใช้อย่างกว้างขวาง เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกให้กับผู้เรียนมากขึ้น รวมถึงการสร้างระบบฐานข้อมูลขนาดใหญ่ของรัฐที่รวบรวมข้อมูลทั้งหมดเกี่ยวกับการศึกษาในเอสโตเนียไว้ด้วยกัน โดยฐานข้อมูลนี้จะจัดเก็บรายละเอียดเกี่ยวกับสถาบันการศึกษา นักเรียน ครู หลักสูตร ความต้องการแรงงานของภาคเอกชนเพื่อให้ทุกฝ่ายสามารถเข้าถึงข้อมูลและนำไปใช้ในการวางแผนการศึกษาและผลิตแรงงานในอนาคตได้ตรงกัน เราเชื่อมั่นว่าเราจะไปถึงเป้าหมายได้ภายในปี 2020 และคาดหวังว่าบทเรียนในการพัฒนาการศึกษาของเอสโตเนียจะเป็นประโยชน์กับประเทศไทยในการพัฒนาหลักสูตรสำหรับประชากรในวัยทำงานและกระตุ้นให้แนวคิดเรื่องการเรียนรู้ตลอดชีวิตเป็นที่แพร่หลายในไทยมากขึ้น" นางสาวไครี กล่าว

ที่มา: สยามรัฐออนไลน์, 28/5/2562

สรท.หวังรัฐบาลใหม่ฟังเสียงภาคเอกชน เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เดินหน้า

น.ส.กัณญภัค ตันติพิพัฒน์พงศ์ ประธานผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า รัฐบาลใหม่ไม่ว่าพรรคไหนจะดูแลกระทรวงใด โดยเฉพาะกระทรวงเศรษฐกิจ เชื่อว่าขณะนี้ทุกกระทรวงมีเป้าหมายการดำเนินงานอยู่แล้ว แต่สิ่งสำคัญที่สุดพรรคใดร่วมรัฐบาลจะต้องเปิดโอกาสและรับฟังเสียงภาคเอกชนเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหา เพื่อให้ภาพรวมเศรษฐกิจสามารถเดินหน้าต่อไปได้ หากรัฐบาลไหนไม่ฟังเสียงภาคเอกชน การแก้ไขปัญหาก็จะไม่ประสบผลสำเร็จและไม่ตรงตามแนวทางแก้ไขปัญหา ดังนั้น สิ่งที่ภาคเอกชนอยากให้รัฐบาลใหม่ดำเนินการสานต่อ คือ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานโดยเฉพาะการขนส่งทางราง ทางเรือ ให้เกิดเป็นรูปธรรมโดยเร็ว เพราะยอมรับว่าเศรษฐกิจไทยพึ่งพาส่งออก โดยกระทรวงพาณิชย์จะต้องเร่งผลักดันส่งออกทุกรูปแบบ อีกทั้งต้องร่วมกันพิจารณาลดขั้นตอนปรับปรุงกฎระเบียบให้สะดวกและรวดเร็ว เชื่อว่าจะช่วยส่งเสริมการส่งออกดีขึ้น อีกทั้งดึงการลงทุนจากต่างประเทศให้เข้ามาลงทุนในประเทศไทย

สำหรับสิ่งที่วิตกกังวลกรณีพรรคการเมืองบางพรรคนำแนวทางหาเสียงมาพิจารณาปรับค่าจ้างแรงงานเพิ่มขึ้นนั้น อยากให้รัฐบาลพิจารณาตามความเหมาะสม แต่ไม่ควรขึ้นทีเดียวในอัตราสูง เพราะจะทำให้ผู้ประกอบการไม่สามารถแบกรับภาระได้ ถือเป็นการเพิ่มต้นทุน รวมถึงเร่งพัฒนาดิจิทัลอีโคโนมีให้เกิดอย่างรวดเร็ว และขณะนี้ประเทศไทยกำลังประสบปัญหาพัฒนาบุคลากรโดยเฉพาะเรียนไม่ตรงสาขากับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม ทำให้อุตสาหกรรมหลักขาดแรงงาน จึงอยากให้รัฐบาลใหม่ส่งเสริมสนับสนุนให้นักศึกษาเรียนสาขาที่ตรงกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 28/5/2562

กสร. เผย ผลเลือกคณะกรรมการคุ้มครองการรับงานไปทำที่บ้าน ฝ่ายละ 3 คน มีผู้มาใช้สิทธิ 80 และ 83%

นายวิวัฒน์ ตังหงส์ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เปิดเผยว่าผลการเลือกผู้แทนผู้จ้างงานและผู้แทนผู้รับงานไปทำที่บ้าน เพื่อเป็นคณะกรรมการคุ้มครองการรับงานไปทำที่บ้าน ฝ่ายละ 3 คน โดยมีผู้มาใช้สิทธิลงคะแนนเลือกผู้แทนผู้จ้างงานและผู้แทนผู้รับงานไปทำที่บ้าน คิดเป็นร้อยละ 80 และ 83 ตามลำดับ

สำหรับผลการลงคะแนนมีรายละเอียดดังนี้

ผู้แทนผู้จ้างงาน

ลำดับที่ 1 นางสาวสรรัศมิ์ตรี พรมเสาร์

ลำดับที่ 2 นายอานนท์ จิตรมีศิลป์

ลำดับที่ 3 นางวัลลภา ธัญญพันธ์

ผู้แทนผู้รับงานไปทำที่บ้าน

ลำดับที่ 1 นายสมคิด ด้วงเงิน

ลำดับที่ 2 นางณีรมล สุทธิพรรณพงศ์

ลำดับที่ 3 ผู้แทนผู้จ้างงาน นางสาวยุพิน เถิงจางวงศ์

อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการชุดนี้จะทำหน้าที่แทนคณะกรรมการชุดปัจจุบันที่จะหมดวาระในวันที่ 3 ตุลาคม 2562 และคณะกรรมการคุ้มครองการรับงานไปทำที่บ้านมีวาระอยู่ในตำแหน่งคราวละ 2 ปี โดยมีหน้าที่เสนอแนะและให้ความเห็นต่อรัฐมนตรีเกี่ยวกับนโยบายการคุ้มครอง ส่งเสริม พัฒนาผู้รับงานไปทำที่บ้าน มาตรการพัฒนาฝีมือแรงงาน มาตรการในการป้องกันการประสบอันตรายเจ็บป่วย หรือถึงแก่ความตายเนื่องจากการทำงาน การคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของผู้รับงานไปทำที่บ้าน รวมถึงการออกกฎกระทรวง ประกาศเพื่อดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้ กำหนดอัตราค่าตอบแทนในงานที่รับไปทำที่บ้าน ส่งเสริมผู้จ้างงานและผู้รับงานไปทำที่บ้านในการสร้างแนวปฏิบัติที่ดี ตลอดจนส่งเสริมความร่วมมือและการประสานงานระหว่างหน่วยงานราชการ องค์กรเอกชนและองค์กรอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

ที่มา: ไอเอ็นเอ็น, 28/5/2562

กระทรวงแรงงานติวเข้ม "พ่อครัวบนเรือ" ตลาดแรงงานต้องการสูงพร้อมดันครัวไทย สู่ครัวโลก

นายสุทธิ สุโกศล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า คนครัวบนเรือ เป็นตำแหน่งงานที่ผู้ประกอบการมีความต้องการสูงมาก อีกทั้งเรือเดินทะเลระหว่างประเทศ เรือพาณิชย์ เรือท่องเที่ยว ที่กำหนดให้คนครัวบนเรือ ต้องผ่านมาตรฐานการฝึกอบรมและมีคุณสมบัติเหมาะสมกับตำแหน่ง ตามหลักเกณฑ์วิธีการ และเงื่อนไขที่ กพร. กำหนด

ทั้งนี้ ความต้องการของผู้ประกอบการ และแรงงานที่สนใจไปทำงานบนเรือสำราญ และเรือเดินทะเลระหว่างประเทศ มีแรงจูงใจจากรายได้ที่สูง หากเป็นเรือเดินทะเลระหว่างประเทศ จะมีรายได้ตั้งแต่ 40,000-90,000 บาท/เดือน ซึ่ง กพร.ได้ดำเนินการฝึกอบรมมาแล้วหลายรุ่น เพื่อรองรับยุทธศาสตร์ครัวไทยสู่ครัวโลกกพร.จึงดำเนินการจัดอบรม สาขาการจัดการด้านอาหารและโภชนาการบนเรือ (Food and Catering) ขึ้น โดยสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 13 กรุงเทพมหานคร ดำเนินการฝึกอบรมแล้วจำนวน 4 รุ่น มีผู้ผ่านการอบรมรวม 81 คน ซึ่งรุ่นที่ 4 อบรมระหว่างวันที่ 21-26 พฤษภาคม 2562 นอกจากนี้ยังประกาศรับสมัครอบรม สาขาการจัดการด้านอาหารและโภชนาการบนเรือ อีก 2 รุ่น กำหนดเปิดฝึกอบรมระหว่างวันที่ 23 – 28 กรกฎาคม 2562 และวันที่ 17 – 22 กันยายน 2562 ผู้ที่สนใจสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานวิทยาลัยการแรงงาน สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 13 กรุงเทพมหานคร โทร.0 2245 4317 หรือ www.facebook.com/thailabourcollege หรือ สายด่วนกระทรวงแรงงาน 1506 กด 4

ที่มา: ไอเอ็นเอ็น, 27/5/2562

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net