Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ระบบรัฐสวัสดิการนั้นเกิดขึ้นได้ยากในรัฐเผด็จการอำนาจนิยมหรือกึ่งประชาธิปไตยกึ่งเผด็จการ ฉะนั้นคำกล่าวของหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ที่กล่าวว่า “ระบบรัฐที่สร้างขึ้นมาในยุคของ พล.อ. เปรม นี่นะครับ ถ้ายังยอมให้รูปแบบรัฐที่เกิดขึ้น ที่ถูกสร้างขึ้นในยุคนี้ดำรงอยู่ไม่มีทางที่จะเกิดรัฐสวัสดิการได้” 

เป็นคำกล่าวที่ได้พิสูจน์แล้วว่าเกิดขึ้นและเป็นจริงในหลายประเทศ ไม่สมควรที่จะนำไปเบี่ยงประเด็นโจมตีกัน เพราะสิ่งที่คุณธนาธรกล่าวนั้น เป็นการวิจารณ์ระบอบเปรมาธิปไตย (ระบอบประชาธิปไตยครึ่งใบ) ว่าจะไม่สามารถสร้างรัฐสวัสดิการได้ ไม่ได้วิพากษ์ พล.อ. เปรม ในฐานะบุคคล ระบอบกึ่งประชาธิปไตยในยุครัฐบาลเปรม (ระบอบเปรมาธิปไตย) นั้นไม่ได้ผลักดันให้เกิดระบบสวัสดิการใดๆแต่มุ่งไปที่การฟื้นเศรษฐกิจหลังวิกฤตการณ์น้ำมันครั้งที่สอง วางรากฐานวินัยการเงินการคลังและให้น้ำหนักไปที่การสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ประสบความสำเร็จในเรื่องการแก้ไขปัญหาความยากจนในระดับที่น่าพอใจแต่ไม่ประสบความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำและการกระจายความมั่งคั่ง เพราะไปเน้นการเติบโตทางเศรษฐกิจมากกว่า ด้วยการดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติโดยเฉพาะใน Eastern Seaboard 

อุปสรรคสำคัญ คือ การไม่มีการเปิดกว้างและการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนมากพอ 

ระบอบประชาธิปไตยจะสามารถแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำได้ดีกว่าระบอบเผด็จการอำนาจนิยมแน่นอนเนื่องจากระบอบประชาธิปไตยจะทำให้อำนาจในการจัดสรรทรัพยากรมีการกระจายตัว มีการตรวจสอบถ่วงดุล 

ประเทศทั้งหลายในยุโรปที่มีระบบรัฐสวัสดิการ ล้วนแล้วแต่เป็นประเทศที่มีระบอบประชาธิปไตยเต็มใบและมั่นคงทั้งสิ้น หรือ อาจจะเป็นประเทศสังคมนิยมแบบจีนไปเลย

เราจะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า สวัสดิการต่างๆที่เกิดขึ้นในเวลานี้ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นในช่วงรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งบริหารประเทศ มากกว่า ช่วงรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารหรือช่วงรัฐบาลประชาธิปไตยครึ่งใบ เนื่องจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งจะฟังเสียงเรียกร้องประชาชนและตอบสนองต่อผู้สิทธิเลือกตั้งมากกว่า ระบบประกันสังคมเกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลชาติชาย ระบบสวัสดิการ 30 บาทรักษาทุกโรค (ต่อมาพัฒนาเป็นหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า) เกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลทักษิณ นโยบายเรียนฟรีและเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลชวนและรัฐบาลอภิสิทธิ์ การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำแบบก้าวหน้าเกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ส่วนรัฐบาลจากระบอบอำนาจนิยมนั้นมักจะมุ่งตอบสนองต่อผู้สนับสนุนการรัฐประหารมากกว่าประชาชนโดยรวม 

อย่างไรก็ตาม ในยุคปัจจุบันและอนาคต แม้นรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากประชาชนก็ยังต้องตอบสนองต่อความต้องการมากขึ้น 
หากไม่ตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนย่อมไม่สามารถปกครองประเทศไปได้อย่างราบรื่น 

จุดเปลี่ยนผ่านทางการเมืองหลังการเลือกตั้งครั้งนี้มีความสำคัญ หากระดับความเป็นประชาธิปไตยของประเทศก้าวหน้าขึ้นหลังจากนี้ ประเทศจะมุ่งสู่ความเป็นรัฐสวัสดิการได้ในอนาคต หากยังเป็นระบอบครึ่งๆกลางๆเช่นนี้ โอกาสของการเกิดขึ้นของระบบรัฐสวัสดิการย่อมเป็นไปไม่ได้เลย การทำให้เกิดรัฐสวัสดิการนั้น ไทยต้องเพิ่มสัดส่วนรายได้ภาษีต่อจีดีพีให้สูงกว่า 40% และ เพิ่มค่าใช้จ่ายทางด้านสวัสดิการสำหรับประชาชนอย่างมีนัยยสำคัญโดยเฉพาะสวัสดิการด้านรักษาพยาบาล การศึกษา การประกันการว่างงาน สวัสดิการเด็กแรกเกิดและสวัสดิการชราภาพ ต้องไปลดค่าใช้จ่ายการจัดซื้ออาวุธและค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นอื่นๆ     

ในช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2519 – 2557 ประเทศไทยมีคณะรัฐมนตรี 14 คณะ (นับคณะรัฐมนตรีภายใต้นายกรัฐมนตรีคนเดียวกัน) ผ่านการรัฐประหาร 3 ครั้ง มีรัฐธรรมนูญร่างใหม่ (ไม่นับฉบับแก้ไขหรือฉบับชั่วคราว) 3 ฉบับ ( 2521, 2540 และ  2550) และขณะนี้เราอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ปี พ.ศ. 2560 เกิดวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจสำคัญในปี  พ.ศ. 2540 ตั้งแต่เกิดวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจปี 2540 ถึงปัจจุบัน ครอบคลุมแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 6 ฉบับ ตั้งแต่ ฉบับที่ 7 – 12 ช่วงเวลาดังกล่าว สามารถแบ่งยุคทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมไทย ออกเป็น 6 ยุคสำคัญ คือ ยุคเศรษฐกิจฟองสบู่ (2535-2538) ยุคเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง (2539 – 2543) ยุคทักษิโณมิกส์ (2544 – 2549) ยุค คมช หลังรัฐประหาร 19 กันยายน (19 ก.ย. 2549-2550)  ยุคหลัง คมช และวิกฤติการเมืองขัดแย้งเหลืองแดง (2551-2557) ยุค คสช ( พ.ศ. 2557-ปัจจุบัน) พวกเราทั้งหลายผู้รักชาติรักประชาธิปไตยจำเป็นต้องช่วยกันรณรงค์ให้เกิดการคืนอำนาจให้กับประชาชนอย่างแท้จริงและให้มีการดำเนินการปฏิรูปเศรษฐกิจสู่รัฐสวัสดิการ

87 ปี หลังเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 นั้น สงครามกลางเมืองระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์กับกองทัพไทยได้ยุติลงโดยมีนโยบาย 66/23 (ต้องยกคุณูปการให้กับ พล.อ. เปรม ผู้ถึงแก่อสัญกรรม พล.อ. ชวลิต และ คณะทหารประชาธิปไตย) เป็นเครื่องมือสำคัญ ต่อมาประเทศไทยได้ผ่านช่วงความรุ่งโรจน์ทางเศรษฐกิจในช่วงทศวรรษ 2530 และได้เกิดวิกฤตการณ์เศรษฐกิจปี 2540 โดยก่อนหน้านั้นมีเหตุการณ์รัฐประหารปี 2534 และกองทัพได้กลับไปเป็นทหารอาชีพและลดบทบาททางการเมืองอย่างชัดเจนหลังเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2535 และ กลับมามีบทบาททางการเมืองอีกครั้งหนึ่งเมื่อมีปัญหาวิกฤตการณ์ทางการเมืองในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา บทบาททางการเมืองของผู้นำกองทัพจะเป็นเช่นใดต่อจากนี้ไปย่อมมีความสำคัญต่อความมั่นคงของระบอบประชาธิปไตยไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าบทบาทของพรรคการเมืองและนักการเมือง ผู้นำกองทัพต้องเป็นทหารอาชีพและต้องไม่มีการสืบทอดอำนาจโดยหัวหน้าคณะรัฐประหารจะต้องไม่สืบทอดอำนาจ จะทำให้ ระบอบประชาธิปไตยเดินหน้าต่อไปได้ ความหวังในการเกิดขึ้นของระบบรัฐสวัสดิการย่อมมีความเป็นไปได้แม้นเส้นทางข้างหน้าอาจจะลุ่มๆดอนๆ และต้องใช้เวลาอันยาวนานเช่นเดียวกับประชาธิปไตยของประเทศไทย แต่ต้องพยายามและไม่ท้อถอยเพื่อไทยทุกคน ครับผม
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net