Skip to main content
sharethis

สายการบิน SAS ยกเลิกเที่ยวบินเพิ่มหลังนักบินผละงานประท้วง

สายการบินสแกดิเนเวียน SAS ยกเลิกเที่ยวบินเพิ่มกว่า 500 เที่ยวบินเมื่อวันที่ 1 พ.ค. 2019 กระทบกับผู้โดยสารอีกราว 47,000 คน หลังจากที่นักบินของสายการบินผละงานประท้วงต่อเป็นวันที่ 5 โดยไม่มีท่าทีว่าการหารือระหว่างทีมผู้บริหารสายการบิน สหภาพ และนักบินจะเกิดขึ้นในเร็ววันนี้

ผู้โดยสารมากกว่า 300,000 คน ได้รับผลกระทบจากการประท้วงของนักบินสายการบิน SAS ที่ผละงานประท้วงขอขึ้นเงินเดือนตั้งแต่ปลายเดือน เม.ย. 2019 กระทบกับเที่ยวบินร้อยละ 70 ของสายการบิน ซึ่งนักวิเคราะห์ประเมินว่า การประท้วงครั้งนี้สร้างความเสียหายต่อสายการบินเฉลี่ย 10.5 ล้านดอลลาร์ต่อวัน

ทั้งนี้ สายการบิน SAS ที่มีรัฐบาลสวีเดน นอร์เวย์ และเดนมาร์ก ร่วมถือหุ้นอยู่ ถูกสหภาพนักบิน SAS Pilot Group ประท้วงขอขึ้นเงินเดือนร้อยละ 13 จากเดิมที่นักบินมีเงินเดือนเฉลี่ย 93,000 โครนสวีเดนต่อเดือน และความชัดเจนเรื่องการจัดสรรชั่วโมงการทำงานของนักบินที่โปร่งใสและเป็นระบบมากขึ้น

ที่มา: VOA, 1/5/2019

กระทรวงแรงงานไต้หวันมอบหมายให้ศึกษาหาแหล่งนำเข้าแรงงานต่างชาติเพิ่ม นักวิชาการเสนออินเดียเหมาะสมที่สุด

ท่ามกลางภาวะความต้องการด้านแรงงานในไต้หวันยังอยู่ในระดับสูง ประกอบกับมีประเทศคู่แข่งเพิ่มมากขึ้น อาทิ ญี่ปุ่นและเกาหลีเป็นต้น รวมถึงกฎหมายไต้หวันมีการจำกัดแรงงานต่างชาติทำงานได้เพียง 12 ปี ส่งผลให้แรงงานต่างชาติที่จะเดินทางมาทำงานที่ไต้หวันมีแนวโน้มลดลง กระทรวงแรงงานไต้หวันจึงมอบหมายหน่วยงานวิชาการศึกษาความเป็นไปได้ที่จะนำเข้าแรงงานต่างชาติแหล่งใหม่เพิ่มเติม

หน่วยงานวิชาการที่ได้รับมอบหมายดังกล่าวได้แก่ มูลนิธิวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจื้อเฉียง (Tze Chiang Foundation) เพื่อศึกษาแนวโน้มและนโยบายการส่งออกแรงงานของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกแรงงานและมาตรการการรับมือ กระทรวงแรงงานกล่าวว่า รายงานการศึกษาดังกล่าว จะนำมาประกอบการพิจารณาเกี่ยวกับนโยบายการนำเข้าแรงงานต่างชาติในอนาคต

แหล่งข่าวเปิดเผยว่านักวิชาการได้เสนอเพิ่มการนำเข้าแรงงานจากแหล่งใหม่ ได้แก่ พม่า กัมพูชา บังคลาเทศและอินเดีย โดยในจำนวนนี้ มีเพียงอินเดีย ซึ่งแรงงานส่วนใหญ่พูดภาษาอังกฤษได้ ง่ายต่อการสื่อสาร ขณะนี้กระทรวงการต่างประเทศไต้หวันกำลังอยู่ระหว่างประสานติดต่อกับอินเดียเกี่ยวกับเรื่องการจัดส่งแรงงานมาทำงานที่ไต้หวัน ส่วนพม่าและบังคลาเทศ ติดขัดที่ปัญหาไม่สามารถตั้งสำนักงานตัวแทนของไต้หวันได้ ทำให้ขาดหน่วยงานที่จะดูแลเรื่องการออกวีซ่าเข้าเมืองให้กับแรงงานจาก 2 ประเทศนี้ได้ ด้านกัมพูชา เนื่องจากมีความสัมพันธ์กับจีนแผ่นดินใหญ่ ไม่มีนโยบายจะจัดส่งแรงงานมาทำงานที่ไต้หวัน

รายงานการศึกษาฉบับนี้กล่าวว่า สำหรับสถานการณ์ของประเทศผู้ส่งออกแรงงานต่างชาติในปัจจุบันทั้ง 4 ประเทศ ซึ่งอยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในปี 2560 ที่ผ่านมา อัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ GDP ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เฉลี่ยอยู่ที่ 4.9% โดยประเทศไทยมีอัตราการเติบโตพอๆ กับไต้หวัน แต่อินโดนีเซีย เวียดนามและฟิลิปปินส์ 6% พม่าสูงถึง 8% ประเทศเหล่านี้ มีเศรษฐกิจดีขึ้น ประชาชนมีรายรับรายจ่ายสูงขึ้น และมีความต้องการแรงงานภายในประเทศสูงขึ้น จึงมีแนวโน้มไม่ส่งเสริมการส่งออกแรงงานไปทำงานต่างประเทศอีกต่อไป

ยกตัวอย่างเช่น ตำแหน่งผู้อนุบาลในประเทศไทย มีค่าจ้างสูงพอๆ กับในไต้หวัน สำหรับเวียดนามมีโอกาสทำงานเพิ่มมากขึ้น จากการลงทุนของนักธุรกิจต่างชาติที่เพิ่มมากขึ้น ส่วนอินโดนีเซียได้หยุดการส่งออกผู้อนุบาลไปทำงานในแถบตะวันออกกลางแล้วตั้งแต่ปี 2560 ที่ผ่านมา และจะทยอยลดการส่งออกไปยังประเทศเอเชียอื่นๆ เช่น ไต้หวัน ฮ่องกง มาเลเซีย สิงคโปร์ และมาเก๊าเป็นต้น อย่างไรก็ตาม หากนายจ้างไต้หวันสามารถรับประกันเงื่อนไขการจ้างของฝ่ายอินโดนีเซียได้ เช่นค่าจ้าง ชั่วโมงการทำงานและที่พักเป็นต้น กระทรวงแรงงานอินโดนีเซียยังคงจะอนุญาตให้ส่งออกแรงงานของตนมาทำงานที่ไต้หวันได้ต่อไป ด้านฟิลิปปินส์ เนื่องจากปัจจัยด้านศาสนา การสื่อสารด้านภาษา รวมถึงสวัสดิการเป็นต้น แรงงานฟิลิปปินส์ส่วนใหญ่ มีแนวโน้มต้องการไปทำงานที่ประเทศตะวันตก โดยเฉพาะแคนาดา

รายงานยังกล่าวว่า ประเทศที่มีโอกาสกลายเป็นผู้ส่งออกแรงงานมายังไต้หวันมากที่สุดประเทศหนึ่ง ได้แก่อินเดีย ซึ่งมีประชากรสูงถึง 1,300 ล้านคน และมีกำลังแรงงานจำนวนมากซึ่งมีอายุโดยเฉลี่ยเพียง 26 ปีเท่านั้น ประชากรยังมีโอกาสเติบโตอีก 50 ปี และไม่มีปัญหาแรงกดดันด้านการทูต เป็นเขตพื้นที่ที่ไต้หวันควรพิจารณานำเข้าแรงงานเป็นอันดับแรก โดยเฉพาะ 6 รัฐทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อย่างรัฐอัสสัมเป็นต้น

ส่วนประเทศอื่นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียใต้ เช่น พม่า กัมพูชา ลาวและศรีลังกา ประเทศที่นำเข้าแรงงานอย่างญี่ปุ่นและเกาหลี ยังไม่ได้ติดต่อนำเข้าแรงงานจากประเทศเหล่านี้ จึงเป็นเขตพื้นที่ที่มีศักยภาพค่อนข้างสูงสำหรับ รายงานเน้นว่า นโยบายแรงงานต่างชาติ ไม่ควรจะมองในด้านเดียวเท่านั้น ควรจะพิจารณาพร้อมกับความต้องการด้านกำลังแรงงานของประเทศโดยรวม ตลอดจนต้องสอดคล้องกับนโยบายด้านอุตสาหกรรมและระบบการดูแลผู้สูงอายุระยะยาว

ที่มา: Radio Taiwan International, 3/5/2019

คนขับ Uber และ Lyft เตรียมผละงานประท้วง ก่อนที่ Uber เตรียมเสนอขายหุ้นต่อสาธารณชนเป็นครั้งแรก (IPO) ที่ตลาดหุ้นนิวยอร์ก

8 พ.ค. 2019 คนขับ Uber และ Lyft เตรียมผละงานประท้วง ก่อนที่ Uber เตรียมเสนอขายหุ้นต่อสาธารณชนเป็นครั้งแรก (IPO) ที่ตลาดหุ้นนิวยอร์กในที่ 10 พ.ค. 2019 ซึ่งอาจทำให้ทางบริษัทมีมูลค่าตลาดสูงถึง 9.15 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อประท้วงต่อสภาพการทำงาน และการจ่ายค่าตอบแทนของทางบริษัท นอกจากนี้คนขับมีสถานะเป็นเพียงคู่ทำสัญญา แทนที่จะเป็นพนักงานบริษัท ทำให้คนขับของ Uber ไม่มีสิทธิได้รับสิทธิประโยชน์ต่างๆ เช่น การได้รับค่าจ้างขั้นต่ำ และสวัสดิการสังคม

ที่มา: cnn.com, 8/5/2019

เวียดนามเริ่มมีแรงงานน้อยกว่าจำนวนงาน

บริษัทขายปลีกจากต่างประเทศต่างเข้าไปเปิดกิจการเพื่อเเย่งส่วนเเบ่งในตลาดผู้บริโภคของเวียดนาม มีโรงงานเเละบริษัทจำนวนหนึ่งที่ย้ายฐานจากจีนเข้าไปยังเวียดนาม ตลอดจนผู้ว่าจ้างงานต้องการพนักงานที่มีฝีมือทางเทคนิคเพิ่มมากขึ้น

บริษัท Navigos Group ที่ให้บริการด้านการว่าจ้างพนักงานที่ใหญ่ที่สุดในเวียดนาม ที่ชื่อว่า VietnamWorks ชี้ว่า การเปลี่ยนแปลงทั้งสามด้านนี้ทำให้เกิดความต้องการเเรงงานที่มีความสามารถเพิ่มขึ้นอย่างทันทีทันใด ในขณะที่แรงงานเหล่านี้มีอยู่ในจำนวนจำกัดเท่านั้น

บริษัท Navigos Group เปิดเผยในรายงานรอบไตรมาสเเรกของปีนี้เมื่อเดือน เม.ย. 2019 ที่ผ่านมาว่า บริษัทต่างๆ ที่ย้ายฐานการผลิตจากจีนมายังเวียดนามเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะอุตสาหกรรมสนับสนุนเเละโรงงานผลิตเครื่องเรือนไม้

รายงานของชี้ว่า มีหลายบริษัทที่เข้ามาเปิดโรงงานเเห่งใหม่ๆ ในเวียดนาม ซึ่งทำให้ต้องการพนักงานเพิ่มขึ้นเท่าตัวหรือสามเท่าตัวในปีนี้ โดยเฉพาะทางด้านการผลิตชิ้นส่วนอิเลคทรอนิคส์ชั้นดีเยี่ยม

รายงานของธนาคารเพื่อการลงทุน Natixis เมื่อเดือน ธ.ค. 2019 ชี้ว่าเวียดนามจัดอยู่ในอันดับที่ 1 ในบรรดาประเทศเอเชีย 6 ชาติที่บริษัทผู้ผลิตสินค้าจะย้ายฐานจากจีนเข้าไปดำเนินการ รายงานนี้วิเคราะห์ปัจจัย 4 อย่าง คือ แนวโน้มทางด้านลักษณะประชากร ค้าลงทุน ระบบโครงสร้างพื้นฐานเเละส่วนแบ่งของการผลิตของต่างประเทศ

เมื่อมีการลงทุนหลั่งไหลเข้าไปในเวียดนาม ความสมดุลด้านอุปสงค์เเละอุปทานต่อเเรงงานได้เปลี่ยนแปลงตามไปด้วย เพราะมีอุปสงค์ต่อเเรงงานใหม่เพิ่มขึ้น เเต่เวียดนามยังมีอุปทานด้านเเรงงานที่ต่ำมานานหลายปีเเล้ว ซึ่งเกิดจากสาเหตุหลายประการด้วยกัน

เวียดนามมีประชากร 100 ล้านคน เเละมีอัตราการว่างงานต่ำที่ราวร้อยละ 2 ดังนั้นคนส่วนมากที่ต้องการงานมีงานทำอยู่เเล้ว รัฐบาลคอมมิวนิสต์ของเวียดนามยังรับประกันความมั่นคงหลายอย่างเเก่แรงงานอีกด้วย รวมทั้งวันหยุดงานที่ได้รับค่าจ้างจนถึงระเบียบควบคุมเรื่องการไล่ออก

นอกจากนี้ เเรงงานโดยเฉพาะหนุ่มสาว มักเลือกที่จะเปลี่ยนงานหลังจากทำงานในตำเเหน่งนั้นนานอย่างน้อย 3 ปี ซึ่งแปลความได้สองนัยยะด้วยกัน นัยยะเเรก นี่อาจเป็นสัญญาณที่ดีว่าเเรงงานไม่รู้สึกว่าต้องยึดติดกับงานเดิมไปตลอดชีวิต เพื่อรักษาประกันสุขภาพหรือสวัสดิการอื่นๆ เเละมีอิสรภาพในการเปลี่ยนงานมากขึ้น

เเละอีกนัยยะหนึ่ง ผู้จ้างงานไม่ต้องการเสียค่าใช้จ่ายไปกับการฝึกฝนแรงงานใหม่ๆ ทุกสองสามปี เเละการมีบริษัทเข้าไปลงทุนในประเทศมากขึ้น ก็จะยิ่งทำให้ขาดเเคลนเเรงงานเพิ่มขึ้น

Gaku Echizenya ซีอีโอของบริษัท Navigos Group กล่าวว่า การว่าจ้างเเรงงานในเวียดนามมีสีสันเเละเเข่งขันกันสูงขึ้น เนื่องจากการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ รวมถึงอุตสาหกรรมด้านไอที ที่ระดับความสามารถของเเรงงานไม่ทันต่อเทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น ปัญญาประดิษฐ์เเละอินเตอร์ของทุกสรรพสิ่ง

Echizenya กล่าวว่า ความต้องการว่าจ้างทรัพยากรบุคคลด้าน IT กำลังเพิ่มสูงขึ้นในยุคดิจิตัล ซึ่งนำไปสู่ความท้าทายหลายอย่างในการดึงดูดเเรงงานที่มีความสามารถเเละคงให้อยู่กับบริษัทต่อไป และทางแก้อย่างหนึ่งเเก่ช่องว่างทางความสามารถของเเรงงาน คือการฝึกพนักงานที่มีอยู่เเล้วให้มีความสามารถเพิ่มขึ้นทางไอที

Alice Pham ผู้อำนวยการ CUTS International แห่งเวียดนาม กล่าวว่า บริษัทต่างๆ ยังเปิดกว้างมากขึ้นด้วยการว่าจ้างพนักงงานที่มีผ่านการฝึกฝนความสามารถผ่านทางชั้นเรียนทางออนไลน์

เธอชี้ว่า หากผู้ว่าจ้างหรือบริษัท recruiters ไม่ยอมรับประกาศนียบัตรที่ได้จากการเรียนทางออนไลน์ หรือ การฝึกอบรมความสามารถทางออนไลน์ เพราะมองว่าด้อยกว่าคนที่เรียนจบจากสถาบันการศึกษา เเรงจูงใจของผู้เรียนก็จะได้รับผลกระทบทางลบเเละการเรียนทางออนไลน์ก็จะไม่ได้รับความนิยมในที่สุด

บริษัทในเวียดนามมักเลือกจ้างเเรงงานที่จบจากสถาบันการศึกษาหรือมหาวิทยาลัยมากกว่าคนที่มีประสบการณ์การทำงานหลายปี เเต่เมื่อประเทศกำลังขาดเเคลน กาลเวลาเปลี่ยนไป การเลือกจ้างเเรงงานตามคุณสมบัติเดิมอาจต้องเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย

ที่มา: VOA, 13/5/2019

งานวิจัยพบแรงงานต่างชาติ 11.9% ถูกบริษัทจัดหางานเรียกเก็บค่าต่อสัญญาใหม่ และแรงงานอินโดนีเซียได้รับการต่อสัญญาใหม่ในไต้หวันมากสุด

กระทรวงแรงงานของไต้หวันได้มอบหมายให้นักวิชาการวิจัยและประเมินผลจากการยกเลิกกฎหมายการจ้างงานมาตรา 52 เพื่อศึกษาผลกระทบจากการยกเลิกข้อบังคับให้แรงงานต่างชาติต้องเดินทางกลับประเทศอย่างน้อย 1 วัน เมื่อทำงานครบสัญญา 3 ปี รายงานฉบับนี้ออกมาแล้ว สรุปผลกระทบโดยรวมเป็นไปในเชิงบวกต่อการบริหารของฝ่ายนายจ้างและช่วยลดภาระหนี้สินของแรงงานต่างชาติได้จริง นายจ้างและบริษัทจัดหางานส่วนใหญ่พึงพอใจกับขั้นตอนการยื่นขอต่อสัญญาใหม่ที่ง่ายและสะดวก และไม่ว่าจะเป็นแรงงานต่างชาติในภาคการผลิตหรือภาคสวัสดิการสังคม การยื่นขอต่อสัญญาใหม่และการเปลี่ยนนายจ้าง ส่วนใหญ่ยังคงยื่นขอผ่านบริษัทจัดหางาน ซึ่งอาจเป็นช่องทางให้บริษัทจัดหางานบางราย มีการเรียกเก็บค่าต่อสัญญาใหม่ในสัดส่วน 11.9%

รายงานฉบับนี้กล่าวว่า นับตั้งแต่สภานิติบัญญัติของไต้หวัน ผ่านการแก้ไขกฎหมายการจ้างงานมาตรา 52 ยกเลิกข้อบังคับให้แรงงานต่างชาติจะต้องเดินทางกลับประเทศอย่างน้อย 1 วัน หลังทำงานครบ 3 ปี โดยอนุญาตให้ต่อสัญญาใหม่ที่ไต้หวันได้ และให้มีผลตั้งแต่วันที่ 5 พ.ย. 2016 เป็นต้นมา จนถึงสิ้นเดือน มิ.ย. 2018 มีแรงงานต่างชาติได้รับการต่อสัญญาใหม่และเปลี่ยนนายจ้างใหม่แล้ว 121,630 คน ในจำนวนนี้ ได้รับการต่อสัญญาใหม่จำนวน 116,273 คน ครองสัดส่วน 95.6%  ส่วนการเปลี่ยนนายจ้างใหม่มีจำนวน 5,357 คน ครองสัดส่วนเพียง 4.4% แรงงานต่างชาติที่ได้รับการต่อสัญญาใหม่และเปลี่ยนนายจ้างใหม่ ส่วนใหญ่เป็นแรงงานอินโดนีเซีย ทำงานในภาคการผลิต อายุงานระหว่าง 6-9 ปี นอกจากนี้ ขณะทำการสัมภาษณ์แรงงานต่างชาติพบว่า มีแรงงานต่างชาติ 11.9% ถูกบริษัทจัดหางานเรียกเก็บค่าต่อสัญญาใหม่ และ 2 ใน 3 ของจำนวนนี้กล่าวว่า ถูกเรียกเก็บค่าต่อสัญญาใหม่เพิ่ม 10,000-20,000 เหรียญไต้หวัน

รายงานกล่าวว่า หลังอนุญาตให้ต่อสัญญาใหม่ที่ไต้หวันได้แล้ว ปัญหาการขาดช่วงของบุคลากรที่นายจ้างเคยประสบก่อนการแก้กฎหมายยังคงมีอยู่เหมือนเดิม แต่แรงงานต่างชาติมีสิทธิ์ในการลากลับบ้านไปเยี่ยมครอบครัวและมีความยืดหยุ่นในการวางแผนวันลาของตนมากขึ้น โดยช่วงการลาแตกต่างไปตามแรงงานแต่ละชาติ และมีแนวโน้มจะกระจุกตัวอยู่ในช่วงเวลาเดียวกัน ส่งผลให้ปัญหาขาดแคลนคนงานที่จะมารับช่วงระหว่างที่แรงงานต่างชาติลากลับบ้าน ดูเหมือนว่าจะหนักว่าเดิม ทั้งนี้รายงานวิจัยพบว่า แรงงานอินโดนีเซียมักจะนิยมลากลับบ้านในช่วงเทศกาลถือศีลอดหรือช่วงเดือนรอมฎอน ประมาณเดือน มิ.ย.-ก.ค. คนงานฟิลิปปินส์จะลาในช่วงเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่สากล ส่วนแรงงานเวียดนามและไทย นิยมลากลับบ้านในช่วงเทศกาลตรุษจีนเสียเป็นส่วนใหญ่

รายงานกล่าวว่า ผลจากการแก้กฎหมายการจ้างงาน อนุญาตให้แรงงานต่างชาติต่อสัญญาใหม่ที่ไต้หวันได้ แรงงานเวียดนามสามารถประหยัดเงินได้คนละ 45,000-90,000 เหรียญไต้หวัน ส่วนแรงงานไทยประหยัดได้คนละ 15,000-20,000 เหรียญไต้หวัน

รายงานฉบับนี้ ได้เสนอกระทรวงแรงงานจัดทำสัญญามาตรฐานระหว่างนายจ้างและแรงงานต่างชาติที่ประสงค์ต่อสัญญาใหม่ และปรับปรุงระบบการรายงานให่มีประสิทธิภาพ เพื่อลดข้อพิพาทให้น้อยลง ในด้านการประชาสัมพันธ์และการปฏิบัติตามกฎหมาย แนะให้กระทรวงแรงงานจะต้องดำเนินการลงโทษบริษัทจัดหางานที่มีการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายในการต่อสัญญากับแรงงานต่างชาติให้หนักและเอาจริงเอาจังมากขึ้น นอกจากนี้ กองแรงงานท้องที่ควรจัดคอร์สสอนภาษาอาเซียนให้กับนายจ้างหรือผู้บริหารระดับกลางและล่าง และสอนภาษาจีนให้แก่แรงงานต่างชาติ เพื่อลดปัญหาที่เกิดจากการสื่อสารไม่รู้เรื่อง 

ที่มา: Radio Taiwan International, 24/5/2019

งานวิจัยพบออฟฟิศหนาวเกินไป ทำลายประสิทธิภาพในการคิดของพนักงานหญิง

เมื่อต้องเจอกับสภาพอากาศที่ร้อนจัด สำนักงานหลายแห่งมักจะเร่งเครื่องปรับอากาศให้กระหน่ำทำความเย็นกันอย่างเต็มที่ จนบางครั้งกลายเป็นว่าภายในตัวอาคารหนาวเย็นเกินไป ซึ่งนอกจากจะทำให้ป่วยได้แล้ว ยังส่งผลกระทบทางลบต่อประสิทธิภาพในการทำงานและการใช้ความคิดของผู้หญิงอีกด้วย

ทีมนักวิจัยจากสหรัฐฯและเยอรมนี ทำการทดสอบกับอาสาสมัคร 543 คน เพื่อสังเกตถึงความสัมพันธ์ระหว่างอุณหภูมิของสิ่งแวดล้อมโดยรอบกับความสามารถในการคิดวิเคราะห์ของทั้งเพศชายและหญิง โดยได้ตีพิมพ์ผลการศึกษาดังกล่าวลงในวารสารวิชาการ PLOS ONE

มีการทดลองให้อาสาสมัครทั้งสองเพศแก้โจทย์ปัญหาตรรกศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเล่นเกมผสมตัวอักษร โดยต้องทำแบบทดสอบที่เตรียมไว้ในหลายห้อง ซึ่งแต่ละห้องได้ปรับอุณหภูมิไว้แตกต่างกันตั้งแต่ 16-32 องศาเซลเซียส โดยอาสาสมัครจะได้รับเงินรางวัลหากตอบได้ถูกต้องในแต่ละคำถาม

ผลที่ได้พบว่า อาสาสมัครหญิงสามารถทำคะแนนได้ดีขึ้นมากในด้านคณิตศาสตร์และภาษา หากอยู่ในห้องที่มีอุณหภูมิสูงขึ้นกว่าเดิม โดยความแตกต่างเพียง 1 องศาเซลเซียส ทำให้พวกเธอทำคะแนนได้ดีขึ้นเกือบ 2% ในขณะที่อาสาสมัครชายส่วนใหญ่ทำคะแนนได้แย่ลงเล็กน้อย

อย่างไรก็ตาม การปรับอุณหภูมิห้องให้สูงขึ้นไม่กี่องศา ช่วยส่งเสริมให้ผลิตภาพและประสิทธิภาพในการทำงานของผู้หญิงเพิ่มขึ้นหลายเท่า ในขณะที่ผู้ชายซึ่งดูเหมือนจะชอบอุณหภูมิระดับต่ำกว่า ได้รับผลกระทบไม่มากนักจากการทำงานในสภาพแวดล้อมที่อบอุ่นเหมาะกับผู้หญิง

ก่อนหน้านี้ ระดับอุณหภูมิตามสำนักงานต่าง ๆ ในสหรัฐฯ และในอีกหลายประเทศ มักจะถูกปรับตั้งไว้ที่ราว 20-22 องศาเซลเซียสในฤดูร้อน ซึ่งเป็นระดับอุณหภูมิที่เหมาะสมกับอัตราการเผาผลาญในร่างกายของชายวัย 40 ปี ที่มีน้ำหนัก 70 กิโลกรัม ในขณะที่ผู้หญิงส่วนมากต้องการสภาพแวดล้อมที่อบอุ่นกว่า 25 องศาเซลเซียสขึ้นไป

ทีมผู้วิจัยกล่าวสรุปว่า ผลการทดลองชี้ให้เห็นถึงข้อดีของการปรับอุณหภูมิในตัวอาคารให้สูงขึ้นกว่าเดิมเล็กน้อย ซึ่งนอกจากจะช่วยประหยัดพลังงาน และทำให้พนักงานรู้สึกเย็นสบายกำลังดีแล้ว องค์กรจะได้รับประโยชน์จากประสิทธิภาพในการคิดของพนักงานหญิงที่เพิ่มขึ้นด้วย

อย่างไรก็ตาม การทดลองในครั้งนี้เป็นเพียงการทดสอบเบื้องต้น ซึ่งจะต้องมีการทำซ้ำเพื่อพิสูจน์ความถูกต้องอีกหลายครั้ง เนื่องจากก่อนหน้านี้การทดลองในเรื่องระดับอุณหภูมิที่เหมาะสมของแต่ละเพศ มักได้ผลที่กลับกันไปมาไม่แน่นอน ทั้งมีการถกเถียงกันจนแทบจะเรียกได้ว่าเป็น "สงครามเครื่องปรับอากาศ" ระหว่างชายและหญิงเลยทีเดียว

ที่มา: BBC, 27/5/2019

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net