Skip to main content
sharethis


ที่มาภาพ: naksit.net

3 มิ.ย. 2562 เพจ Human Rights Lawyers Association ของสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน รายงานว่าวันนี้ (3 มิ.ย.) นายกฤษกร ศิลารักษ์ หรือ 'ป้าย ปากมูล' นักปกป้องสิทธิมนุษยชน เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหา ฐานนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลอันเป็นเท็จโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อความมั่นคงฯ และคดีหมิ่นประมาทฯ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี

นายกฤษกร ศิลารักษ์ หรือ ป้าย ปากมูลได้ถูกฟ้องดำเนินคดีในเวลาไล่เลี่ยกันเป็นจำนวน 2 คดี โดยคดีแรกเป็นคดีอาญาหมายเลขดำที่ 2445/2561 ระหว่างพนักงานอัยการจังหวัดอุบลราชธานี โจทก์ โดยนายสฤษดิ์ วิฑูรย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี เป็นผู้กล่าวหาและร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีกับจำเลย และนายกฤษกร ศิลารักษ์ จำเลย ในข้อหานำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลอันเป็นเท็จโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อความมั่นคงฯ และวันที่ 4 มิ.ย.-5 มิ.ย. 2562 นายกฤษกรและทนายความ จะเดินทางไปศาลจังหวัดอุบลราชธานี โดยศาลนัดสืบพยานโจทก์และสืบพยานจำเลย

และคดีที่สอง นายกฤษกรถูกฟ้องเป็นคดีอาญาหมายเลขดำที่ 99/2562 โดยผู้ที่ดำรงตำแหน่งในหน่วยงานราชการ คดีนี้ศาลนัดพร้อมสอบคำให้การครั้งแรกในวันที่ 29 เม.ย. 2562 ที่ผ่านมา ณ ศาลจังหวัดอุบลราชธานี ในวันดังกล่าว ศาลได้อ่านคำฟ้อง แจ้งข้อหา และแจ้งฐานความผิดต่อจำเลยว่าจำเลยกระทำความผิดตาม ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 198 , 326 และ 328 ซึ่งเป็นความผิดในข้อหาหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา และหมิ่นประมาทศาล พร้อมกับเสนอให้จำเลยนับโทษจำคุกในคดี 2445/2561 รวมกับโทษในคดีอาญาคดีนี้ (99/2562) ด้วย แต่จำเลยได้ให้การปฏิเสธ และขอต่อสู้คดี ศาลจึงได้นัดสืบพยานโจทก์ และพยานจำเลยครั้งต่อไป ในวันที่ 24, 25 และ 26 ก.ย. 2562

สำหรับคดีอาญาหมายเลขดำที่ 2445/2561 จากข้อเท็จจริงตามฟ้อง เนื่องจากนายกฤษกร ศิลารักษ์ ผู้เป็นจำเลย ได้โพสข้อความเฟสบุ๊ค โดยพิมพ์ข้อความ พร้อมกับลงรูปภาพ ในเว็บไซต์ facebook.com โดยใช้บัญชีของตนเอง ในวันที่ 2 พ.ย. 2560 โดยมีการแสดงความคิดเห็นว่า ในกรณีเปิด-ปิดเขื่อนปากมูล ที่หน่วยงานราชการจังหวัดอุบลราชธานีได้มีหนังสือ เรียกประชุมอนุกรรมการบริหารจัดการน้ำเขื่อนปากมูล ซึ่งในขณะนั้นมีปริมาณน้ำมากมายมหาศาลที่เขื่อนอุบลรัตน์ ระบายลงจนท่วมจังหวัดขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด และไหลลงสู่แม่น้ำชี และต่อมาจะไหลเข้าสู่จังหวัดอุบลฯ และประกอบกับปริมาณน้ำในลำน้ำมูล มีปริมาณมากกำลังเอ่อท่วมจังหวัดศรีษะเกษก็กำลังไหลเข้าสู่ตัวเมืองอุบลฯ ซึ่งหากมีการปิดประตูเขื่อนปากมูล จะทำให้มวลน้ำเหล่านี้ท่วมเมืองอุบลฯเพราะไม่สามารถไหลลงสู่แม่น้ำโขงได้” ซึ่งโจทก์เห็นว่า การโพสในลักษณะนี้ทำให้เกิดความเสียหายต่อการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือโครงสร้างพื้นฐานอันเป็นประโยชน์สาธารณะของประเทศ ทำให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน ซึ่งนายสฤษดิ์ ในฐานะผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานีและในฐานะประธานอนุกรรมการบริหารจัดการน้ำเขื่อนปากมูล ผู้เสียหาย เป็นผู้ดำเนินการปฏิบัติหน้าที่ ได้กล่าวว่าข้อมูลที่จำเลยกล่าวเป็นข้อมูลอันเป็นความเท็จ และกล่าวว่าในการประชุมดังกล่าวเพื่อเป็นการติดตามปริมาณน้ำในแม่น้ำมูลเพื่อใช้เป็นข้อมูลในการรายงานสถานการณ์น้ำในลำน้ำมูลให้กับคณะกรรมการอำนวยการเพื่อแก้ไขเขื่อนปากมูลทราบ

โดยจำเลยได้ให้การปฏิเสธในชั้นสอบสวน

ทั้งนี้ สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนซึ่งเป็นองค์กรที่ให้ความช่วยเหลือทางคดีต่อนายกฤษกร ศิลารักษ์ จึงขอเชิญผู้ที่มีความสนใจหรือสื่อมวลชนเข้าร่วมติดตามและทำข่าวในวันนัดสืบพยานโจทก์และจำเลย ในวันที่ 4-5 มิ.ย. 2562 เวลา 09.00 น. ณ ศาลจังหวัดอุบลราชธานี

กฤษกร ศิลารักษ์ คือใคร?

นายกฤษกร ศิลารักษ์ หรือ “ป้าย ปากมูล” ปัจจุบันเป็นที่ปรึกษาสมัชชาคนจน กรณีเขื่อนปากมูล ที่ปรึกษาชมรมอนุรักษ์ดอนคำพวง จังหวัดอุบลราชธานี ที่ปรึกษาเครือข่ายผู้เดือดร้อนจากเขื่อนหัวนา จังหวัดศรีสะเกษ และคณะทำงานประเทศไทย ในการเป็นเจ้าภาพจัดประชุมภาคประชาชนอาเซียน (APF/ACSC 2019)

เริ่มต้นการเข้าทำกิจกรรมกับชุมชน จากการเป็นตัวแทนของครอบครัวในการยื่นเรื่องเรียกร้องความเป็นธรรมจากความเดือดร้อนของชาวบ้านในการที่รัฐบาลสร้างเขื่อนราษีไศลในปี 2535 โดยได้รับหน้าที่ให้เป็นผู้รวบรวมเอกสาร ข้อมูลต่างๆ และประสานงานกับตัวแทนชาวบ้าน

เนื่องจากเป็นผู้รวบรวมเอกสารและประสานงานกับตัวแทนชาวบ้าน จึงเป็นตัวแทนร่วมกับแกนนำเขื่อนราษีไศล มาร่วมก่อตั้ง “สมัชชาคนจน” และถูกแต่งตั้งให้เป็นพ่อครัวใหญ่ ในเวทีสมัชชาคนจนด้วย อีกทั้งยังได้รับมอบหมายให้เป็นหนึ่งในตัวแทนเจรจากับรัฐบาลในช่วงปี 2539

ภายหลังจากการจ่ายค่าชดเชยกรณีเขื่อนราศีไศล ในปี 2540 ป้ายต้องเดินทางลี้ภัยที่ต่างประเทศ เนื่องจากเหตุผลด้านความปลอดภัย และในช่วงปี 2559 ที่ผ่านมา ได้รับการร้องขอจากเทศบาล กำนันผู้ใหญ่บ้าน และชาวบ้านในชุมชน ตำบลกุดชมพู อำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี ให้เข้าไปช่วยเหลือกรณีที่ดินดอนคำพวง ที่กำลังถูกบุกรุกโดยนายทุน เนื่องจากมีประสบการณ์และเป็นผู้ที่ชาวบ้านให้ความเคารพนับถือ จากกรณีเป็นหนึ่งในผู้นำ เรียกร้องความเป็นธรรม จากการสร้างเขื่อนราศีไศล ซึ่งถือได้ว่าป้ายเป็นหนึ่งในนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่ทำงานเพื่อสาธารณะชนเป็นหลัก (อ่านประวัติของป้ายเพิ่มเติมได้ที่) http://naksit.net/2019/06/slapps_12122/
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net