Skip to main content
sharethis

4 มิ.ย.2562 ศาลจังหวัดชลบุรีอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ยกฟ้อง ‘เค’ อดีตหนุ่มโรงงานในจังหวัดชลบุรี ในข้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ตามมาตรา 112  และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากการโพสต์ขายเหรียญหลังช่วงสวรรคตของในหลวงรัชกาลที่ 9 คำพิพากษาระบุว่า พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ แก้ไขใหม่แล้ว แต่คำบรรยายฟ้องขอโจทก์ยังกล่าวถึงกฎหมายเดิม จึงลงโทษจำเลยไม่ได้ ส่วนข้อหามาตรา 112 ศาลชั้นต้นยกฟ้องไปแล้วก่อนหน้านี้ โดยชี้ว่า โพสต์ของจำเลยไม่อาจทำให้พระเกียรติยศและความรักเคารพเทิดทูนต่อพระองค์สูงขึ้นหรือต่ำลง หลังจากนี้ต้องรอดูว่าอัยการจะยื่นฎีกาต่อหรือไม่

ศาลอุทธรณ์ พิจารณาแล้วเห็นว่า ข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นโดยโจทก์ไม่ได้อุทธรณ์ ส่วนความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ นั้น ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยใช้งานเฟซบุ๊กและเป็นสมาชิกกลุ่มเฟซบุ๊ก "กลุ่มสินค้ามือสอง อมตะนคร ตลาดนัดออนไลน์ สร้างรายได้ 24 ชั่วโมง" ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุในฟ้อง จำเลยใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่โพสต์ขายเหรียญ พร้อมข้อความประกอบและแสดงความคิดเห็นตามฟ้อง 

ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยมีว่า คำพิพากษาศาลชั้นต้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า องค์ประกอบความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ตามมาตรา 14(1) "โดยทุจริตหรือโดยหลอกลวง นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน" แต่ในคดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องเพียงว่า การกระทำของจำเลยเป็นการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ตามประมวลกฎหมมายอาญา ซึ่งเป็นองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 14(3) และแตกต่างจากองค์ประกอบตามมาตรา 14(1) ทั้งโจทก์ก็มีคำขอท้ายฟ้องให้ลงโทษจำเลยตามมาตรา 14(3) เท่านั้น ดังนั้นนอกจากฟ้องไม่ครบองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 14(1) เดิมและที่แก้ไขใหม่แล้ว โจทก์มิได้ประสงค์ขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดดังกล่าวอีกด้วย ศาลจึงไม่อาจลงโทษจำเลยในความผิดฐานเดียวกันได้ เพราะเป็นการพิพากษาเกินคำขอหรือที่ไม่ได้กล่าวในฟ้อง ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 192 วรรค 1 และ วรรค 4

 

คำพิพากษาศาลชั้นต้นที่วินิจฉัยว่า จำเลยมีความผิดและลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(1) ที่แก้ไขใหม่ จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้น เมื่อวินิจฉัยข้อนี้แล้วจึงไม่ต้องวินิจฉัยข้ออื่นต่อไป พิพากษาแก้ให้ยกฟ้องโจทก์ในข้อหาพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ”

ไอลอว์และศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานเหตุผลการยกฟ้องของศาลอุทธรณ์

เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นหลังการสวรรคตของในหลวงรัชกาลที่ 9 เมื่อวันที่ 13 ต.ค.2559 โดยอีก 5 วันต่อมาหรือวันที่ 18 ต.ค.2559 เฟสบุ๊คแฟนเพจ 'คนข่าวบางปะกง' ได้เผยแพร่ภาพประชาชนบุกจับตัวชายวัยรุ่นจากห้องพักแห่งหนึ่ง เพจดังกล่าวมีข้อความบรรยายภาพว่า "โพสต์หมิ่นเบื้องสูง ชาวบ้านเค้ารับไม่ได้ เลยช่วยกันตามล่าตัวจนเจอ และนำมากราบขอขมาต่อหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ จะด้วยความคึกคะนองหรือมึนเมาแอดไม่ทราบนะครับ แต่ที่ทราบคือสังคมได้ลงโทษเค้าแล้ว แถมโดนไล่ออกจากงานเป็นที่เรียบร้อยแล้ว คิดต่าง เห็นต่างได้ แต่อย่าลืม ว่าเรามีพ่อคนเดียวกัน"

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ขณะประชาชนจับกุมตัวชายคนดังกล่าวจากห้องพักได้มีการถ่ายทอดผ่านเฟสบุ๊คไลฟ์ซึ่งปรากฏมีการทำร้ายร่างกายด่าทอข่มขู่ชายคนดังกล่าวตลอด อย่างไรก็ตามมีผู้พยายามห้ามปรามการทำร้ายร่างกายอยู่เป็นระยะเช่นกันโดยระบุว่าควรรอให้เจ้าหน้าที่ตำรวจมาดำเนินการต่อ ทั้งนี้ คลิปจากเฟสบุ๊คต้นทางถูกลบออกในเวลาไม่นาน แต่มีผู้นำไปเผยแพร่ต่อในยูทูบ ด้านเว็บไซต์ข่าวสดอิงลิชรายงานว่า ในวิดีโอดังกล่าวมีผู้มาคอมเม้นต์ระบุว่าชายคนนี้ทำงานที่บริษัท Thai Steel Cable PCL ในจังหวัดชลบุรี เมื่อมีการโทรศัพท์สอบถามไปยังผู้จัดการฝ่ายบุคคลได้ความว่า ชายคนดังกล่าวคือ “เค” อายุ 19 ปีเคยทำงานที่บริษัทจริง เมื่อบริษัททราบว่าเขาโพสต์ข้อความเข้าข่ายหมิ่นฯ เมื่อคืนวันที่ 17 ต.ค.2559 ก็ได้ไล่ออกทันทีในวันรุ่งขึ้น เมื่อตำรวจมาถึงที่เกิดเหตุ "เค" ถูกนำตัวไปรักษาอาการบาดเจ็บแล้วส่งพนักงานสอบสวนในช่วงค่ำวันนั้น ตำรวจนำตัว “เค” ไปขอศาลฝากขังในวันที่ 20 ต.ค.2559 ถูกขังในเรือนจำชลบุรีอยู่นาน 1 เดือนเศษ จากนั้นศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนนำเงินที่ได้จากการระดมทุนผ่านเฟสบุ๊ก "ฟ้าเดียวกัน"จำนวน 200,000 บาทมาเป็นหลักทรัพย์ประกันตัว และศาลอนุญาตให้ประกันตัว

ไอลอว์รายงานว่า "เค" ต่อสู้คดีโดยให้การว่า เขาไม่ได้มีเจตนาดูหมิ่นหรือลบหลู่พระมหากษัตริย์ แต่มีเจตนาโพสต์เพื่อให้ติดตลกเท่านั้น และเมื่อเห็นว่ามีคนไม่พอใจก็ได้ลบโพสต์ดังกล่าวออกแล้วทันที แต่มีคนอื่นถ่ายภาพหน้าจอไว้และแชร์ต่อกัน นำไปสู่ความโกรธแค้นของคนจำนวนมาก

ต่อมาวันที่ 5 กรกฎาคม 2561 ศาลจังหวัดชลบุรีอ่านคำพิพากษา สรุปใจความได้ว่า การขายเหรียญในราคาที่ต่ำกว่าราคาหน้าเหรียญมีผลเพียงแต่ลดทอนมูลค่าของเหรียญ แต่ไม่มีผลเป็นการลดทอนคุณค่าในเชิงสัญลักษณ์บนเหรียญกษาปณ์ที่แสดงถึงชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์แต่อย่างใด ตลอดระยะเวลาที่รัชกาลที่เก้า ทรงครองสิริราชสมบัติ ได้ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจอันมีคุณประโยชน์ต่อพสกนิกรชาวไทยนานัปการ พระเกียรติยศของพระองค์ท่านรวมทั้งความรักเคารพเทิดทูนของพสกนิกรชาวไทยที่มีต่อพระองค์ท่านจึงไม่แปรผันไปตามมูลค่าของเหรียญกษาปณ์ที่สูงขึ้นหรือต่ำลง การที่จำเลยโพสต์ภาพเหรียญกษาปณ์ชนิดต่างๆ พร้อมข้อความประกาศขายเหรียญทั้งหมดในราคาเดียว จึงไม่เป็นการใส่ความพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช[พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร]ต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง ไม่เป็นการดูถูกเหยียดหยาม ให้ยกฟ้องในข้อหามาตรา 112 แต่จำเลยโพสต์โดยมิได้มีเจตนาจะขายเหรียญจริง จึงเป็นการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยหลอกลวง มีผลเป็นการทำลายความน่าเชื่อถือของเพจ ทำให้ประชาชนที่เป็นสมาชิกของเพจและผู้ดูแลรู้สึกสับสน การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิด ตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(1)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net