Skip to main content
sharethis

อีกหนึ่งเรื่องราวที่ชวนให้รำลึกถึงเกี่ยวกับเหตุการณ์ทหารสังหารหมู่การชุมนุมที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน คือเรื่องที่ บ็อบ ฮอว์ก นายกรัฐมนตรีออสเตรเลียในสมัยนั้นอนุญาตให้ชาวจีนอาศัยอยู่ในประเทศได้ ทำให้เขาได้รับการชื่นชมและพูดถึงต่อกันจากรุ่นสู่รุ่นในหมู่ผู้อพยพชาวจีน และทำให้ออสเตรเลียมีภาพลักษณ์ "เอื้ออารี" อย่างน้อยก็ในยุคสมัยนั้น ก่อนที่นโยบายกีดกันผู้อพยพอย่างแล้งน้ำใจจะกลับมา

(ซ้าย) Pu Zhiqiang นักศึกษาจีนที่เข้าร่วมประท้วงที่จตุรัสเทียนอันเหมิน ภาพถ่ายเมื่อ 10 พฤษภาคม 2532 (ที่มา:  蔡淑芳@sfchoi8964/Wikipedia) (ขวา) แฟ้มภาพงานรำลึกเหตุสลายการชุมนุมเทียนอันเหมิน เมื่อ 4 มิถุนายน 2557 ที่สวนสาธารณะวิคตอเรียปาร์ก ฮ่องกง (ที่มา: melanie_ko/flickr.com)

4 มิ.ย. 2562 หกวันหลังจากเกิดเหตุการณ์ใช้กำลังปราบปรามผู้ชุมนุมที่จัตุรัสเทียนอันเหมินในวันนี้เมื่อ 30 ปีที่แล้ว บ็อบ ฮอว์ก นายกรัฐมนตรีออสเตรเลียในสมัยนั้นได้จัดงานรำลึกถึงผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ขึ้นที่รัฐสภาในแคนเบอร์รา ในงานรำลึกนี้มีนักศึกษาชาวจีนเข้าร่วมราว 500 ราย ฮอว์กกล่าวต่อหน้าฝูงชนทั้งน้ำตานองหน้าว่า "คนหลายพันถูกสังหาร เป็นเหยื่อให้กับผู้นำที่มีความดื้อดึงในการกุมอำนาจเอาไว้โดยไม่สนใจว่าจะต้องแลกกับอะไร และสิ่งที่พวกเขาแลกไปอย่างเลวร้ายคือชีวิตมนุษย์"

ในตอนนั้นฮอว์กยังกล่าวอีกว่ากองทัพจีนสั่งสังหารประชาชนไม่ให้ใครรอดชีวิต ไม้เว้นแม้แต่เด็กหรือหญิงรุ่นเยาว์ ทุกคนถูกสังหารอย่างไร้ความปราณี ในขณะที่มีทหารได้รับบาดเจ็บที่มาจากหน่วยอื่นอยู่ที่นั่นด้วย สิ่งที่ฮอว์กพูดในงานรำลึกครั้งนั้นกลายเป็นสิ่งที่ตราตรึงเป็นอมตะในประวัติศาสตร์การเมืองออสเตรเลียไปแล้ว

"มีการใช้รถถังเลื่อนหน้า ถอยหลังบดทับร่างของคนที่ถูกสังหารจนกว่าพวกเขาจะกลายเป็นเศษเนื้อ จากนั้นก็ใช้รถตักเคลื่อนย้ายซากศพเหล่านี้ไปเป็นกองแล้วให้ทหารเผาด้วยปืนไฟ" ฮอว์กพูดถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่เทียนอันเหมิน 2532

ขณะที่กลุ่มสิทธิมนุษยชนประเมินว่ามีผู้คนนับพันเสียชีวิตจากเหตุการณ์ประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยในครั้งนั้น แต่ทางการจีนก็ไม่เคยระบุตัวเลขออกมาอย่างชัดเจนเลย แม้กระทั่งล่าสุดในวันที่ 2 มิ.ย. ที่ผ่านมา รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมของจีน เว่ยเฝิงเหอ ก็กล่าวในการประชุมสุดยอดผู้นำเกี่ยวกับประเด็นความมั่นคงที่สิงคโปร์ว่าผู้ประท้วงเทียนอันเหมินเป็น "ความวุ่นวายทางการเมืองที่รัฐบาลกลางต้องปราบปราม" และอ้างว่าความโหดร้ายที่พวกเขาก่อกับประชาชนเป็น "นโยบายที่ถูกต้องแล้ว" เขายังอ้างอีกว่าจากการปราบปรามผู้ชุมนุมในครั้งนั้นทำให้ "จีนมีเสถียรภาพ"

ฮอว์กเพิ่งเสียชีวิตไปเมื่อวันที่ 16 พ.ค. ที่ผ่านมาก่อนหน้าการรำลึกครบรอบ 30 ปี เหตุการณ์เทียนอันเหมินเพียงไม่กี่วัน อย่างไรก็ตาม ในประวัติศาสตร์ช่วงปี 2532 เขาได้ตัดสินใจเปิดรับนักศึกษาชาวจีนในออสเตรเลียให้กลายเป็นผู้อยู่อาศัยถาวรในประเทศ หลังจากนั้น รัฐบาลของเขายังให้วีซาถาวรแก่นักศึกษาจีน 42,000 คนด้วย

แฟรงก์ บองจอร์โน นักประวัติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลียกล่าวว่าการตัดสินใจของฮอว์กมาจากความรู้สึกผิดหวังในตัวผู้นำจีนเพราะเขาเน้นย้ำเรื่องความสัมพันธ์ที่ดีกับจีน นอกจากนี้ยังต้องการเน้นเรื่องภาพลักษณ์ของออสเตรเลียในฐานะที่เป็น "สังคมที่มีน้ำใจ"

นักศึกษาจากจีนเริ่มเดินทางเข้าสู่ออสเตรเลียมาตั้งแต่ช่วงสมัยปี 2513-2523 หลังจากที่นายกรัฐมนตรี กอกฮ์ วิตแลมเชื่อมความสัมพันธ์ทางการทูตกับประเทศจีน

หนึ่งในผู้มีเชื้อสายจีนในออสเตรเลีย มารี หม่า เล่าว่าแม่ของเธอชื่อ หลิงเสีย เป็นนักศึกษาจีนในยุคนั้นที่เดินทางมายังซิดนีย์เพื่อเรียนภาษาอังกฤษ เธอเล่าว่าแม่ของเธอเผชิญกับช่วงปฏิวัติวัฒนธรรมจีนมาก่อนและรู้สึกอยากหนีออกมา ในช่วงที่เกิดเหตุการณ์ที่เทียนอันเหมิน เธอและพ่อยังคงอยู่ในจีนก่อนจะเดินทางไปอยู่ด้วยกันที่ออสเตรเลียอีกครั้งในปี 2536 หลิงเสียต้องทำงานสามอย่างเพื่อที่จะหาเลี้ยงครอบครัวเธอได้ในตอนนั้น แต่เธอก็ยังคงรู้สึกขอบคุณฮอว์กที่ให้เธอและครอบครัวได้อยู่ในที่ๆ ปลอดภัยกว่า

หม่าเล่าว่าฮอว์กกลายเป็นคนที่ครอบครัวมักจะพูดถึงว่าเป็นคนที่ทำในสิ่งน่าทึ่ง และคนที่ได้รับการต่อวีซาก็จะรู้สึกขอบคุณเขามากๆ แม่ของหม่าเคยบอกกับเธอว่าขอให้หม่าทำในสิ่งที่จะเป็นการตอบแทนประเทศออสเตรเลีย แบบที่ประเทศออสเตรเลียเคยทำดีกับครอบครัวพวกเขา

ในปัจจุบันหม่าเป็นผู้จัดการทั่วไปของสื่อวิชันไทม์ สื่อหนังสือพิมพ์ภาษาจีนอิสระที่มีจำหน่ายในห้าเมืองของออสเตรเลียแต่ก็ทำพื้นที่ออนไลน์ด้วย วิชันไทม์เป็นสื่อของชาวจีนไม่กี่แห่งที่ไม่เกี่ยวข้องอะไรกับพรรคคอมมิวนิสต์

การอพยพของชาวเอเชียครั้งใหญ่ไปสู่ออสเตรเลียในช่วง 40-50 ปีที่แล้ว กลายเป็นความก้าวหน้าสำคัญที่ทำให้ออสเตรเลียถอยห่างออกมาจากนโยบายเหยียดผิวที่ดำเนินมายาวนาน นักสังคมศาสตร์ในออสเตรเลีย โมโบ เกา และ เซียนหลิว เคยระบุในงานวิจัยเมื่อปี 2541 ว่าในช่วงที่มีการประท้วงที่จัตุรัสเทียนอันเหมินนั้น ชาวออสเตรเลียส่วนใหญ่มักจะสนับสนุนการเคลื่อนไหวของนักศึกษาในปักกิ่งและมีความรู้สึกร่วมกับนักศึกษาจีนในออสเตรเลีย 

แต่การที่ออสเตรเลียรับผู้อพยพทีละจำนวนมากๆ โดยเฉพาะจากเอเชียก็ทำให้เกิดแรงต่อต้าน มีประชาชนจำนวนมากที่กังวลเรื่องอัตราผู้อพยพเข้าที่เพิ่มสูงขึ้นในตอนนั้น นักการเมืองฝ่ายขวาฉวยโอกาสตั้งแง่ในเรื่องนี้ แต่ฮอว์กก็ยังคงยืนกรานนโยบายเดิม บองจอร์โนกล่าวว่านั่นทำให้ฮอว์กได้รับการจดจำในทางที่ดีเมื่อเทียบกับทัศนคติแล้งน้ำใจของออสเตรเลียที่มีต่อผู้อพยพและผู้ลี้ภัยหลังจากยุคนั้น "มันเป็นเรื่องที่มองไม่เห็นหนทางเลยว่ารัฐบาลออสเตรเลียยุคปัจจุบันจะตัดสินใจแบบเดียวกัน" บองจอร์โนกล่าว ทั้งนี้ฮอว์กยังเคยให้สัมภาษณ์ต่อสื่อในทำนองว่าเขามีความชื่นชอบในตัวชาวจีนถึงได้ตัดสินใจเช่นนั้น

จนถึงทุกวันนี้ เป็นเวลาผ่านมา 30 ปี แล้ว รัฐบาลคอมมิวนิสต์จีนยังคงยืนกรานว่าการสังหารผู้ชุมนุมเทียนอันเหมิน "ไม่ใช่การปราบปราม" แต่รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมตอบคำถามในเรื่องนี้ที่แชงกรีลาไดอะล็อกอ้างว่าเป็น "การที่หยุดยั้งความวุ่นวาย" ถึงแม้จะมีการพูดถึงเหตุการณ์ในแง่ที่มีผู้ชุมนุมถูกสังหารอย่างโหดเหี้ยมก็ตาม

เสี่ยวหลิงลี่ เคยเป็นสมาชิกกองทัพจีนมาก่อน ในปี 2532 เขาก็ไม่ได้เข้าร่วมในการสังหารประชาชนแต่ก็ได้เห็นผลลัพธ์จากความรุนแรงที่เกิดขึ้น ในเวลาต่อมาเขาลาออกจากกองทัพและเดินทางไปออสเตรเลียในฐานะนักศึกษานานาชาติในปี 2543 เสี่ยวหลิงลี่บอกว่าออสเตรเลียเป็นที่ๆ เดียวที่เขาจะมีชีวิตที่ดีได้ และเป็นที่ๆ เขาและครอบครัวจะสามารถพูดถึงเหตุการณ์เทียนอันเหมินได้อย่างเสรีด้วย อย่างไรก็ตามเสี่ยงหลิงลี่ก็มีความรู้สึกผิดเกี่ยวกับเหตุการณ์ทำให้เขาพยายามสร้างการตระหนักรับรู้ถึงเหตุการณ์เทียนอันเหมินหรือที่เรียกว่าเหตุการณ์ 4 มิ.ย. รวมถึงมีการบริจาคของจำนวนมากให้กับพิพิธภัณฑ์ผู้อพยพในเมลเบิร์น

"ผมก็เหมือนกับนักศึกษาจีนคนอื่นๆ ที่ต้องการจะมีชีวิตที่ดีกว่า โดยเฉพาะกับลูกของผม ผมไม่อยากให้ลูกถูกสังหารเมื่อเขาเติบโตขึ้นแล้วไปประท้วงอย่างสันติ และที่สำคัญที่สุดคือผมต้องการจะให้ทั้งโลกได้รับรู้ว่ามีอะไรกันแน่ที่เกิดขึ้นในปักกิ่ง" เสี่ยงหลิงลี่กล่าว

เรียบเรียงจาก

The Australian Chinese granted residency after Tiananmen Square, Aljazeera, Jun. 3, 2019

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net