Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ผมคิดอย่างไรก็คิดไม่ออกว่า ไม้ได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของ “ความเป็นไทย” ในสถาปัตยกรรมไทยปัจจุบันได้อย่างไร

ในฐานะวัสดุ ไม้เป็นวัสดุใกล้ตัวมนุษย์ที่มีปริมาณมาก ทั้งเป็นวัสดุที่เราสามารถตกแต่งดัดแปลง และใช้ประกอบในการก่อสร้างอาคาร หรือเครื่องมือในการดำรงชีพได้ง่าย (เช่น ง่ายกว่าหิน) ดังนั้น ไม้จึงถูกใช้ประโยชน์มาเก่าแก่พอๆ กับหิน

และคนไทยคงใช้ไม้ในการประดิษฐ์สิ่งโน้นสิ่งนี้มาแต่บรมสมกัลป์แล้ว เพียงแต่ว่าไม่เฉพาะคนไทยเพียงกลุ่มเดียวที่ทำอย่างนั้น คนเกือบทั้งโลกก็ทำอย่างเดียวกันมาแต่บรมสมกัลป์เช่นกัน ไม้จึงอาจใช้เป็นสัญลักษณ์ของความเป็นมนุษย์ก็ได้ และตรงตามความเป็นจริงยิ่งกว่า “ความเป็นไทย” เสียอีก

อย่างไรก็ตาม มีไม้อยู่ชนิดหนึ่ง ซึ่งใช้กันแพร่หลายมากในหมู่มนุษย์ของเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คือไม้ไผ่ ไม่ใช่เพียงเพราะไผ่งอกงามได้ดีในภูมิอากาศแถบนี้เท่านั้น จึงเป็นไม้ใกล้มือ ทั้งยังง่ายกว่าที่จะตัด และแปรสภาพไผ่ให้เหมาะกับเรื่องที่จะใช้สอย ด้วยเครื่องมือเพียงไม่กี่ชิ้น ก็สร้างเรือนไม้ไผ่หรือตั่งไม้ไผ่ได้แล้ว

อาจเป็นเพราะเหตุที่รู้กันอยู่แล้วว่าไผ่เป็นวัสดุที่ถูกใช้ในสองภูมิภาคนี้อย่างกว้างขวาง ซ้ำจีนและญี่ปุ่นยังโชว์ฝีมือเกี่ยวกับไม้ไผ่ไว้จนเป็นที่ยอมรับ ไผ่จึงไม่ถูกสถาปนิกไทยมอบตำแหน่ง “ความเป็นไทย” ให้ ซึ่งก็สมควรแล้ว เพราะเรือนและเครื่องไม้ไผ่ของจีน-ญี่ปุ่นนั้นเหนือชั้นกว่าที่จะพบได้ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างเห็นได้ชัด ไม่ว่าจะเป็นด้านการปฏิบัติต่อ (treat) ไผ่และไม้ไผ่ หรือความประณีตในการก่อสร้างและประกอบ

สถาปนิกไทยหันมาเลือกไม้ “จริง” มาแสดง “ความเป็นไทย” แต่น่าประหลาดที่ “ความเป็นไทย” ของสถาปนิกทำหน้าที่ “ประดับ” เท่านั้น ไม่มีส่วนในสาระสำคัญของอาคาร ไม่อยู่ในการจัด “พื้นที่” ใช้สอย, ไม่อยู่ในโครงสร้าง และแทบจะไม่อยู่แม้แต่ใน “พื้นผิว” หรือ texture ด้วยซ้ำ

สถาปนิกตั้งใจหรือไม่ที่ทำอย่างนี้ เพราะในความเป็นจริง “ความเป็นไทย” อาจเหลือบทบาทในสังคมสมัยใหม่เพียงเท่านี้ก็ได้

แม้กระนั้น การให้บทบาทแก่ไม้เพียงเท่านั้นก็นับว่ามีเหตุผล ไม้ไม่ใช่วัสดุก่อสร้างที่ดีสุดสำหรับอาคารอีกแล้ว คอนกรีตเสริมเหล็กขยายความเป็นไปได้ในการสร้างอาคารขึ้นอีกมาก และเข้ามาแทนที่ส่วนที่เป็น “สาระ” ของอาคารไปหมดแล้ว จึงเหลือหน้าที่ให้ไม้เพียงเป็นเครื่องประดับ ซึ่งก็งามดี ถ้าไม่ถมการประดับไม้เข้าไปครึ่งป่าอย่างเมามัน ดังเช่นอาคารรัฐสภาใหม่ ซึ่งสร้างขึ้นท่ามกลางสภาพที่ป่ากำลังจะหมดลง โดยที่ทุนนิยมกะพร่องกะแพร่งของไทยไม่ก่อให้เกิดการผลิตไม้เชิงพาณิชย์ขึ้นได้อย่างเพียงพอ

อาคารรัฐสภาจึงเป็นประจักษ์พยานว่า เราใช้ทรัพยากรไม้อย่างไร้คุณค่าอย่างไร

แต่ไม้คือ “ความเป็นไทย” จริงหรือ ก็คงต้องย้อนกลับไปดูการใช้ไม้ในสถาปัตยกรรมไทยในอดีต

ในบรรดาที่อยู่อาศัยทั้งหมดในสังคมไทยโบราณ เรือนไม้เป็นเพียงกระป๋องเดียวของน้ำทั้งพระมหาสมุทร เจ้านายและขุนนางนิยมอยู่เรือนไม้เพราะอะไร ข้อแรกก็เพราะมันแสดงสถานภาพที่สูงกว่าเรือนฟากหรือเรือนประเภทอื่นของราษฎรทั่วไป ซึ่งทำขึ้นจากโครงไม้ไผ่และใบไม้แห้ง แต่สถานภาพที่สูงกว่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะวัสดุก่อสร้าง อย่างน้อยก็ไม่ใช่เพราะเหตุเดียว

แต่ที่แสดงอย่างชัดแจ้งในไม้ก็คือแรงงานครับ กว่าจะสร้างเรือนฝากระดานขึ้นมาได้ ต้องใช้แรงงานจำนวนมาก ทั้งที่มีและไม่มีฝีมือ นับตั้งแต่ขนไม้มารวมกัน, แปรรูปไม้ให้เป็นแผ่นกระดาน, ขัดเกลาให้เรียบ, ฝังเสา ฯลฯ ทั้งหมดนี้ล้วนทำด้วยแรงงานคน ไม่มีเครื่องจักรช่วย และว่าที่จริงก็ไม่มีเครื่องไม้เครื่องมือที่ดีมากนัก (ผมสงสัยว่ากบไสไม้ที่ใช้สะดวก ก็เหมือนตะปูเหล็ก ต่างเป็นเทคโนโลยีจีนซึ่งเข้ามาทีหลัง เขายกย่องฝีมือช่างบางคนที่สามารถเกลาเสาได้กลมและเรียบด้วยขวานเล่มเดียว ก็แสดงความยากจนของเครื่องมือที่จะจัดการกับไม้ของช่างไทยไปพร้อมกัน)

ความยากจนของเครื่องมือช่างไม้สะท้อนให้เห็นว่า เอาเข้าจริงคนไทยไม่ชอบไม้ สถาปัตยกรรมชั้นสูงสุดของไทยซึ่งอยู่ในวัดและในวังนั้นล้วนปิดบังเครื่องไม้ไว้ด้วยกระจกสีหรือทอง จนไม่เหลือความเป็นไม้ให้เห็นเลย แหงนหน้าขึ้นไปในโบสถ์วิหารของชาวบ้าน ยังอาจเห็นเครื่องไม้ที่เป็นโครงหลังคาได้อยู่ แต่ถ้าเป็นวัดหลวง ท่านก็สร้างพิดารหรือเพดาน ทำด้วยไม้ก็จริง แต่ทาสีจนมองไม่เห็นลายไม้ และมีลวดลายดวงดาราปิดทองประดับกระจกสุกสว่าง ทำให้มองไม่เห็นเครื่องไม้ที่เป็นโครงหลังคา

ลองเปรียบเทียบสถาปัตยกรรมไม้ของญี่ปุ่นสิครับ จะเห็นว่าต่างกันเป็นตรงข้ามเลย ในขณะที่สถาปัตยกรรมไทยพยายามปิดบังวัสดุไม้ด้วยเครื่องประดับนานาชนิด สถาปัตยกรรมญี่ปุ่นตั้งใจจะแสดงวัสดุไม้ให้เห็นมากที่สุดเท่าที่จะเห็นได้ แหงนหน้าขึ้นไปในอาคารโบราณใหญ่ๆ ของญี่ปุ่น จะเห็นการโชว์เครื่องบนที่เป็นไม้ ละเอียดซับซ้อนและเป็นระเบียบสวยงาม ทั้งแสดงความแข็งแรงมั่นคงของตัวอาคารไม้ด้วย

เมื่อต้องโชว์ธรรมชาติของไม้ ก็ต้องปรุงให้ธรรมชาตินั้นเห็นได้ชัด ดึงเอาส่วนที่งดงามของธรรมชาตินั้นออกมา จึงต้องขัดและชักเงาไม้ให้ลายปรากฏขึ้นถนัดตา ไม่ใช่ปิดทองล่องชาดแบบไทย จนกระทั่งถึงใช้พลาสติกก็ไม่ต่างจากกัน

ความรักไม้ของญี่ปุ่นทำให้เกิดพัฒนาการของการใช้วัสดุประเภทนี้อย่างน้อยสามอย่าง ซึ่งไม่พบในวัฒนธรรมไทย

หนึ่งคือญี่ปุ่นพบวิธีที่จะทำให้ไม้มีความคงทนอย่างไม่น่าเชื่อ อาคารไม้ที่มีอายุเป็นหลายศตวรรษมีอยู่ดาษดื่น แน่นอนการซ่อมแซมและภูมิอากาศที่ไม่ร้อนชื้นเท่าไทยก็มีส่วน แม้กระนั้นไม้ก็ถูกปฏิบัติ (treat) ก่อนนำมาใช้อย่างสลับซับซ้อนทีเดียว เพื่อให้ได้ความคงทนถาวร

สอง ศิลปะญี่ปุ่น (ประติมากรรมและสถาปัตยกรรม) สร้างชิ้นไม้ที่งดงามจำนวนมาก รูปพระแม่กวนอิมนั่งไขว่ห้างเท้าคาง ทอดสายตามองลงมายังความทุกข์ของมนุษย์เบื้องล่าง อันเป็นประติมากรรมลือชื่อของญี่ปุ่น ก็เป็นไม้แกะสลัก โดยไม่ปิดบังเนื้อไม้ด้วยการลงรักปิดทองเลย และแน่นอนอาคารที่งดงามจำนวนมากในญี่ปุ่นก็สร้างขึ้นจากไม้ (หรือปูนผสมไม้)


สาม ญี่ปุ่น (และจีน) ได้พัฒนาด้านวิศวกรรมไม้ เพื่อสร้างอาคารขนาดใหญ่มากๆ ขึ้นจากไม้ ซึ่งแทบจะหาอะไรในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เทียบแทบไม่ได้

ทั้งนี้มิได้หมายความว่า ไทยไม่มีผลงานชิ้นเยี่ยมๆ ที่ทำจากไม้เลย ก่อนจะมีวัสดุเช่นพลาสติก การแกะสลักประตูไม้ที่วัดสุทัศน์ก็ต้องถือว่าบรรลุศิลปะแกะไม้ขั้นสูงที่เทียบได้กับศิลปะประเภทเดียวกันทั้งโลก ยิ่งคิดถึงเครื่องไม้เครื่องมือการแกะสลักที่มีจำกัด (แม้ในช่วงนั้นน่าจะมีมากขึ้นจากการค้าขายกับจีน) ก็ยิ่งต้องยอมรับฝีมือ (หรือฝีพระหัตถ์) ชั้นเทพของผู้แกะสลัก

จนทุกวันนี้ใครได้เห็นวัดต้นเกว๋นเป็นครั้งแรก ก็คงตะลึงจนตัวชา แม้แต่สถาปนิกญี่ปุ่นซึ่งไม่รู้ความหมายเชิงสัญลักษณ์ของสิ่งก่อสร้างเลยสักชิ้น

แต่ก็นั่นแหละบานประตูวัดสุทัศน์ไม่เหลือความเป็นไม้ให้เห็น และวัดต้นเกว๋นนั้น หากเดินเข้าไปพินิจพิจารณาเครื่องไม้อย่างละเอียด ก็ต้องพูดว่าค่อนข้างหยาบ แม้ว่าสถาปัตยกรรมโดยรวมแล้วคือการชะลอทิพยวิมานจากฟากฟ้าลงสู่พื้นโลกโดยแท้

นักชาตินิยมไทยอาจบอกว่า “มึงเห็นญี่ปุ่นดีนัก ก็ออกไปอยู่ญี่ปุ่นแล้วกัน ไม่ต้องอยู่ให้กูเหม็นหน้าอีก”

อันที่จริงนักชาตินิยมต้องการขับไล่ความคิดความเห็นที่ตนไม่ชอบออกไปมากกว่าขับไล่คน แต่เมื่อคนถูกไล่ออกไปจากบ้านเมืองแล้ว ความคิดความเห็นนั้นก็ยังอยู่ แม้แต่เอาเขาไปฆ่า ความคิดความเห็นนั้นก็ไม่ได้ตายตามเหยื่อไปด้วย

เผชิญหน้ากับความคิดเห็นนั้นตรงๆ ไม่ดีกว่าหรือ ทำความเข้าใจและมองเห็นจุดแข็งจุดอ่อนของความคิดเห็นนั้น แม้ไม่ทำให้นักชาตินิยมเปลี่ยนความคิดเห็นส่วนตัว แต่ก็จะทำให้สามารถสร้างข้อถกเถียงที่แข็งแกร่งขึ้นในการสนับสนุนความคิดเห็นของตัวได้

ความเด่นหรือด้อยในเรื่องการใช้ไม้ในสถาปัตยกรรม หรือเรื่องอื่นใดก็ตาม ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะสาระของความเป็นญี่ปุ่นหรือความเป็นไทย แต่เกิดขึ้นจากเหตุผลทางเศรษฐกิจ-สังคมที่แตกต่างกัน ดังนั้น เราจึงแก้ไขปรับปรุงความด้อยได้ แต่ต้องเริ่มจากการเข้าใจที่มาของความเด่นความด้อยให้ถูกเสียก่อน

ญี่ปุ่นประสบความสำเร็จในการพัฒนาการใช้ไม้อย่างที่กล่าวข้างต้นได้ด้วยเหตุผลอย่างน้อยสามประการ

1. ศาสนาชินโตเน้นความสะอาดบริสุทธิ์ของธรรมชาติที่ไม่ถูกดัดแปลงตกแต่ง ฉะนั้น ความงามในทัศนะญี่ปุ่นคือการดึงเอาส่วนที่เด่นสุดของธรรมชาติออกมา พุทธศาสนาแบบไทยมองธรรมชาติเป็น “กิเลส” แม้มีหลักการว่า “จิตเดิมแท้เป็นประภัสสร” แต่นับตั้งแต่เกิด มนุษย์ทุกคนก็ปรุงแต่งตัวกูของกูขึ้นมาเกือบจะทันที (เช่น ตัวกูของกูในวัยทารกติดอยู่ที่ปาก – เพื่อการกิน ซึ่งสำคัญอย่างยิ่งในการเอาชีวิตรอด – ดังที่ฟรอยด์เสนอก็ได้) ดังนั้น ความงามในทัศนะไทยคือธรรมชาติที่ถูกห่อหุ้มดัดแปลงจนไม่เหลือเค้าเดิมอีกเลย

2. ความจำเป็นทางเศรษฐกิจ-สังคมในญี่ปุ่นบังคับให้ต้องสร้างอาคารไม้ขนาดใหญ่มาแต่โบราณ อีกทั้งประชากรที่หนาแน่นกว่าไทยถูกภูมิศาสตร์บังคับให้มากระจุกตัวอยู่ตามริมฝั่งทะเล ทำให้ชุมชนของญี่ปุ่นมีขนาดใหญ่กว่าไทยเป็นอันมาก (และกลายเป็นชุมชนเมืองกระจายไปทั่วมากกว่ากระจุกอยู่ที่เมืองหลวงแห่งเดียวเหมือนไทย) ดังนั้น อาคารสาธารณะ ทางศาสนาหรือทางสังคมก็ตาม จึงต้องมีขนาดใหญ่ ตรงกันข้ามชุมชนไทยมีขนาดเล็ก อาคารเพื่อรับใช้กิจกรรมของชุมชนจึงไม่จำเป็นต้องมีขนาดใหญ่ ไม่มีความจำเป็นต้องพัฒนาวิศวกรรมศาสตร์ไม้ เพื่อสร้างอาคารขนาดใหญ่อย่างญี่ปุ่น ในกรณีจำเป็น เช่น พระที่นั่งซึ่งใช้ออกขุนนางหลังจากที่ราชธานีขยายอำนาจออกไปมากแล้ว ก็กลายเป็นอาคารปูน

3. ในญี่ปุ่น อย่างน้อยก็นับตั้งแต่สมัยโตกุงาวาเป็นต้นมา กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินของเจ้าครองแคว้น, พ่อค้า และประชาชนทั่วไปได้รับการรับรองอย่างมั่นคง ในขณะที่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทรัพย์สินส่วนบุคคลหาความมั่นคงไม่ได้ เพราะอาจถูกริบราชบาทว์เมื่อไรก็ได้ Anthony Reid อธิบายว่าพ่อค้าและขุนนางอยากเก็บโภคทรัพย์ของตนไว้ในรูปที่อาจปิดบังหรือขนหลบหนีได้ง่าย มากกว่าเอาไปลงทุนกับอะไรที่เป็นทุนคงที่ เช่น บ้านเรือนที่อยู่อาศัยหรือโรงงานและเครื่องมือ (Southeast Asia in the Age of Commerce)

ดังนั้น หากไม่นับวัดและวังซึ่งทรัพย์สินได้รับการรับรองอย่างมั่นคงแล้ว ก็ไม่มีใครคิดสร้างอาคารขนาดใหญ่ให้แก่ตนเอง หรือกิจการของตนเอง

ผมไม่ได้หมายความว่า เพื่อจะทำให้ไม้กลายเป็นสัญลักษณ์แห่ง “ความเป็นไทย” เราต้องหันไปนับถือชินโต หรือกลับไปแก้ไขสิ่งที่แม้แต่พระเจ้าก็แก้ไม่ได้อีกแล้วคืออดีต แต่จะง่ายกว่ากันแยะหากยอมรับตามความเป็นจริงว่า “ความเป็นไทย” ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับไม้เลย ทั้งในอดีตและปัจจุบัน

ผมไม่ทราบหรอกครับว่า “ความเป็นไทย” ในสถาปัตยกรรมอยู่ที่ไหน ที่เอามาแสดงกันอยู่เวลานี้คือรูปแบบอาคาร (หลังคาจั่ว) และการประดับ (หัวเสา, ผนัง, กรอบประตูหน้าต่าง ฯลฯ) ด้วยลวดลายไทยแบบประเพณีหรือประยุกต์ ผมไม่ทราบว่ารูปทรงและลายประดับเหล่านี้ไปสร้างข้อจำกัดในการก่อสร้างอาคารสำหรับกิจกรรมสมัยใหม่ (เช่น รัฐสภา) หรือไม่ และมากน้อยเพียงไร แต่สถาปนิกไทยน่าจะค้นหา “ความเป็นไทย” ที่ไม่ทื่ออย่างนี้ เช่น ในความเป็นจริงคนไทยปัจจุบันใช้พื้นที่ในอาคารประเภทต่างๆ อย่างไร แล้วออกแบบอาคารไปตามการใช้พื้นที่ซึ่งเป็นจริงในวัฒนธรรมไทยปัจจุบัน ผมเชื่อว่า “ความเป็นไทย” มันจะออกมาเอง โดยไม่ต้องเสแสร้ง

(อย่างที่ชาวบ้านออกแบบเรือนสร้างใหม่ของตนเอง แม้จะเป็นเรือนก่ออิฐถือปูน แต่ผมรู้สึกว่า “ไท้ยๆ” ยิ่งกว่าบ้านจัดสรรมาก เพราะเป็นการจัดพื้นที่ในอาคารให้ตรงกับการใช้ชีวิตจริงของเขา)

ความหลงตนนั้นมักเกิดจากการไม่รู้จักตนเอง ผลของการหลงตนก็คือกลัวความเปลี่ยนแปลง เกรงว่าทำให้ภาพลักษณ์ที่ไม่จริงของตนเองเสื่อมสลายไป และด้วยเหตุดังนั้นจึงปฏิเสธที่จะเรียนรู้สิ่งอื่นและสิ่งใหม่ “ความเป็นไทย” ในความหมายที่หลงตนจึงกลายเป็นสาระที่ไม่ขยับเขยื้อนเคลื่อนที่ เคยมีมาเมื่อพันปีที่แล้วอย่างไร ก็จะให้มันดำรงอยู่อย่างนั้นตลอดไป

อารยธรรมนั้นถือกำเนิดขึ้นได้เพราะการเรียนรู้สิ่งใหม่ที่แตกต่างออกไป การแสวงหา “ความเป็นไทย” จึงเป็นการค้นหาในความเปลี่ยนแปลง พูดอีกอย่างหนึ่งคือไม่ควรค้นหา “ความเป็นไทย” แต่ควรสร้างมันขึ้นมา ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงที่ไม่มีวันหยุดนิ่งของชีวิตบนโลกนี้… อย่างไม่มีวันหยุด ด้วยการสร้างและรื้อ แล้วสร้างใหม่ รื้อใหม่ ไปเรื่อยๆ

 

ที่มา: มติชนสุดสัปดาห์ www.matichonweekly.com/column/article_197440

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net