Skip to main content
sharethis

ดูเส้นทางวุฒิสภาลากตั้งที่ตลอด 87 ปีหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง กระบวนการลากตั้งมาจากการรัฐประหารเกือบทั้งหมด ยกเว้นเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ ในวันที่ ส.ว. ยุค คสช. ไม่แตกแถว แห่เลือก 'ประยุทธ์' เป็นนายกฯ ยกทีม แถมมีอภิปราย 'นิยมเผด็จการประชาธิปไตย'

การอภิปรายของรัฐสภาไทยนัดที่หนึ่งวันนี้ (5 มิ.ย. 2562) ถือว่ามีความดุเดือดและยาวนาน โดยเฉพาะในประเด็นคุณสมบัติของนายกรัฐมนตรีที่ตลอดสิบชั่วโมง สมาชิกวุฒิสภามีแนวโน้มจะอภิปรายสนับสนุน รำลึกถึงความดีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จนถึงที่สุด เมื่อลงคะแนนเลือกนายกฯ กลุ่ม 250 ส.ว. ก็ไม่แตกแถว โหวตเลือกประยุทธ์เป็นนายกฯ กัน 249 เสียง (ยกเว้นพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภาที่งดออกเสียง)

วุฒิสภาชุดนี้ ตามบทเฉพาะกาล มาตรา 269 รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ให้มีสมาชิก 250 คน ให้พระมหากษัตริย์แต่งตั้งตามที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ถวายคำแนะนำ ในทางปฏิบัติคือ คสช. เป็นผู้เลือกสรรผ่านคณะกรรมาธิการคัดสรรที่ยังไม่ปรากฏว่ามีใครบ้างที่มากไปกว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคงและรัฐมนตรีว่าการ (รมว.) กระทรวงกลาโหม

ส.ว. แต่งตั้งไม่ใช่สิ่งใหม่ในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ที่แล้วมาเมื่อมีการรัฐประหาร ส.ว. แต่งตั้ง หรือที่เรียกกันเล่นๆ ว่า ‘ลากตั้ง’ มักเป็นไอเทมติดไม้ติดมือรัฐบาลทหาร และถูกใช้เป็นเครื่องมือให้คณะรัฐประหารมีชีวิตทางการเมืองต่อไปได้

ส.ว.: ประวัติศาสตร์การแต่งตั้ง (โดยคณะรัฐประหาร) กับคำถาม “ยังจำเป็นต้องมี?”

ไฮไลท์เด็ดอภิปรายสภา ยังเน้นประเด็นสืบทอดอำนาจ-คุณสมบัตินายกฯ

(คำว่าพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งนั้นอ้างอิงตามเนื้อความในรัฐธรรมนูญ)

รัฐธรรมนูญ 2475 มีสภาเดียว โดยให้เป็นทั้ง ส.ส. เลือกตั้งและแต่งตั้ง

ต่อมาในปี 2489 มีการเพิ่มสภาสูงเข้าในชื่อ ‘พฤฒสภา’ มีจำนวน 80 คน ให้ ส.ส. เป็นผู้เลือก

จนกระทั่งปี 2490 จอมพล ป. พิบูลสงครามก่อการรัฐประหาร ฉีกรัฐธรรมนูญ 2489 แล้วให้มีรัฐธรรมนูญ 2490 ที่ให้พระมหากษัตริย์เป็นผู้แต่งตั้ง ส.ว. จำนวน 100 คน ซึ่งเป็นจำนวนเท่ากับ ส.ส. ในสภาล่าง

หลังจากนั้น จอมพล ป. รัฐประหารเงียบรัฐบาลควง อภัยวงศ์ เมื่อปี 2491 ให้มีรัฐธรรมนูญ 2492 ที่ให้พระมหากษัตริย์แต่งตั้ง ส.ว. จำนวน 100 คน

ต่อมาในปี 2494 จอมพล ป. ยึดอำนาจตัวเอง แล้วยุบสองสภาให้เหลือแค่สภาเดียวที่มี ส.ส. ทั้งเลือกตั้งและแต่งตั้ง จนกระทั่งปี 2500 จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ รัฐประหารยึดอำนาจจากจอมพล ป. ให้มีรัฐธรรมนูญในปี 2511 ซึ่งให้พระมหากษัตริย์แต่งตั้ง ส.ว. จำนวนสัดส่วน 3 ใน 4 ของสภาผู้แทนราษฎร

จากนั้นในปี 2514 จอมพลถนอม กิตติขจรทำการรัฐประหาร และให้มีสภานิติบัญญัติแห่งชาติขัดตาทัพในปี 2515 จนกระทั่งเหตุการณ์ ‘14 ตุลาฯ’ เมื่อ 14 ต.ค. 2514 นำไปสู่การหนีออกนอกประเทศของคณะรัฐบาลทหาร จากนั้นให้มีรัฐธรรมนูญปี 2517 ที่ให้พระมหากษัตริย์แต่งตั้ง ส.ว. จำนวน 100 คน

ต่อมา ปี 2519 มีการรัฐประหารยึดอำนาจหลังเหตุการณ์ ‘6 ตุลาฯ’ เมื่อ 6 ต.ค. 2519 คณะรัฐประหารนำโดย พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ นำไปสู่การมีสภาปฏิรูป และในปี 2520 พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ รัฐประหาร นำไปสู่การมีรัฐธรรมนูญปี 2521 ที่ให้พระมหากษัตริย์แต่งตั้ง ส.ว. ในจำนวนไม่เกิน 3 ใน 4 ของสภาผู้แทนราษฎร

ในปี 2534 คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ หรือ รสช. รัฐประหาร นำไปสู่รัฐธรรมนูญฉบับ 2534 ให้พระมหากษัตริย์แต่งตั้ง ส.ว. จำนวน 270 คน แต่หลังจากเหตุการณ์ ‘พฤษภาฯ ทมิฬ’ เมื่อเดือน พ.ค. 2535 นำไปสู่การร่างรัฐธรรมนูญที่ต่อมาเป็นรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 ให้ ส.ว. จำนวน 200 คนมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด

ส.ว. เลือกตั้งทั้งสภาอยู่ได้จนถึงการรัฐประหารปี 2549 โดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข  (คปค.) นำโดย พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน นำมาสู่รัฐธรรมนูญ 2550 ที่ให้มี ส.ว. มีจำนวน 150 คน มาจากการเลือกตั้ง 76 คน คนละหนึ่งจังหวัด และแต่งตั้งอีก 73 คน

รัฐธรรมนูญฉบับล่าสุด (2560) ที่มาจากการรัฐประหารยึดอำนาจโดย คสช. ให้ ส.ว. มีจำนวน 200 คน มาจากการเลือกกันเอง แต่ในบทเฉพาะกาล ม. 269 ให้วุฒิสภามี 250 คน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามที่ คสช. ถวายคําแนะนํา โดยตามกระบวนการมีที่มาจากสองส่วน ได้แก่ 1) เลือกจากสาขาอาชีพ 200 คน ส่งให้ คสช. เลือกเหลือ 50 คน 2) กรรมการสรรหาซึ่ง คสช. แต่งตั้งคัดเลือกจากผู้มีความรู้ความสามารถไม่เกิน 400 คน ส่งต่อให้ คสช. เลือกเหลือ 194 คน รวมกับ 6 คนที่มาโดยตำแหน่งจากปลัดกระทรวงกลาโหม ผบ.เหล่าทัพ และ ผบ.ตร.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net