Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

บทสังเคราะห์นี้ เป็นส่วนหนึ่งของการวิจัยการพัฒนาระบบเศรษฐกิจฐานรากเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในชุมชนชนบทอีสาน ซึ่งมีวัตถุประสงค์หลักๆ คือ ศึกษาการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจของชุมชนอีสาน ความเหลื่อมล้ำ การปรับตัว และเพื่อหาแนวทางในการพัฒนาระบบเศรษฐกิจชุมชนอีสานที่เข้มแข็งและเป็นธรรม และส่วนสำคัญนี้ คือ การพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบายในการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนอีสานเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ซึ่งในที่นี้จะสังเคราะห์จากงานกรณีศึกษาพื้นที่ชุมชนอีสานทั้ง 5 พื้นที่ ได้แก่ อำนาจเจริญ ขอนแก่น อุดรธานี หนองคาย และสกลนคร ที่มีเงื่อนไขในการพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่ต่างกัน และยังมีประเด็นสำคัญร่วมกันอยู่ด้วย โดยเฉพาะในมิติความเหลื่อมล้ำและการปรับตัวของคนและชุมชน แม้ว่าบางพื้นที่อาจจะไม่มีประเด็นความขัดแย้งเชิงนโยบายและมีการรุกคืบของรัฐ ทุน ที่หนักหน่วงนัก แต่ก็สามารถจำลองภาพของการต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจของชุมชนอีสานได้ดีเช่นกัน

1. เศรษฐกิจฐานรากและการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจของชุมชนอีสาน

เศรษฐกิจฐานราก เป็นกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่สำคัญอันเป็นกิจกรรมหลัก หรือระบบเศรษฐกิจหลักของชุมชน หรือครัวเรือน อันเป็นที่มาของรายได้หลัก หรือผลตอบแทนในรูปแบบอื่น กิจกรรมทางเศรษฐกิจบางกรณีก็ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนเป็นเงิน หรือสินค้าก่อนก็ได้  

1.1 รูปแบบของระบบเศรษฐกิจฐานรากชุมชนอีสาน ลักษณะของระบบเศรษฐกิจฐานรากของชุมชน จึงมีรูปแบบที่หลากหลาย ดังนี้

1.1.1 เศรษฐกิจฐานรากที่อิงกับฐานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นระบบเศรษฐกิจที่ชุมชนได้อาศัยฐานทรัพยากร (ป่าไม้ แหล่งน้ำ แหล่งแร่ ผืนดิน และความหลากหลายทางชีวภาพ) เพื่อเป็นแหล่งที่มาของผลผลิต หรือรายได้อันสำคัญ เช่น ชุมชนส่วนใหญ่ที่มีรายได้จากการหาปลา/จับสัตว์น้ำ เราจะพบชุมชนแบบนี้ในพื้นที่ลุ่มน้ำสงคราม ลุ่มน้ำชี และลุ่มน้ำมูน โดยเฉพาะชุมชนที่หาปลาในแม่น้ำมูน (ก่อนที่จะมีการสร้างเขื่อนปากมูล) ชุมชนริมแม่น้ำโขง ที่มีรายได้หลักจากการหาปลาในแม่น้ำโขง หรือมีรายได้หลักจากการเพาะปลูกพืชริมตลิ่งแม่น้ำโขง ในพื้นที่ศึกษาก็มีชุมชนริมโขง คือ ชุมชนบ้านหม้อ ตำบลบ้านหม้อ อำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย ซึ่งในอดีตก็สามารถเพาะปลูกพืชริมตลิ่งได้เกือบทั้งปี และหน้าแล้งที่น้ำโขงแห้งลงยังสามารถไปเพาะปลูกบนสันดอนทรายในแม่น้ำโขงได้อีกด้วย หลังการสร้างเขื่อนของจีนในบริเวณต้นน้ำโขง ชุมชนที่พึ่งพาความอุดมสมบูรณ์ของดินริตลิ่งแม่น้ำโขงได้รับผลผกระทบอย่างมากหลังจากระดับน้ำโขงในปัจจุบันที่ขึ้นลงไม่ปกติ เช่น อาจจะมีน้ำท่วมแม้ว่าจะเป็นฤดูแล้งก็ตาม นอกจากนี้ ยังรวมถึงชุมชนที่มีรายได้จากการหาของป่าเป็นหลัก หรือชุมชนที่มีรายได้จากการหาแร่มีค่า การทำเกลือจากน้ำเกลือใต้ดิน เป็นต้น ชุมชนที่มีระบบเศรษฐกิจหลักที่อิงฐานทรัพยากรที่ชัดเจนในปัจจุบันจึงมีน้อยมาก ด้วยผลกระทบจากการพัฒนาในโครงการขนาดใหญ่รัฐ หรือเอกชน รวมถึงเงื่อนไขทางกฎหมายที่ไม่เอื้ออำนวย เช่น ป่าที่เคยเป็นแหล่งทรัพยากรสำคัญถูกจัดการโดยรัฐ และกฎหมายก็ไม่เอื้อให้ชุมชนได้เข้าถึงทรัพยากรดังกล่าวมากนัก ดังนั้น ผลผลิต หรือรายได้ที่เก็บหาจากระบบนิเวศ ทั้งในระบบนิเวศธรรมชาติและระบบนิเวศเกษตรกรรม จึงไม่สามารถหล่อเลี้ยงชุมชนได้อย่างเต็มศักยภาพเหมือนเช่นอดีต ปัจจุบัน หลายชุมชนก็ได้ปรับตัวโดยอาศัยธรรมชาติในท้องถิ่นเป็นแหล่งท่องเที่ยว และเพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจโดยอิงฐานการท่องเที่ยวมากขึ้น และก็เป็นนโยบายสำคัญของรัฐที่สนับสนุนเรื่องนี้  

1.1.2 เศรษฐกิจฐานรากที่อิงกับการผลิตและระบบตลาด เป็นระบบเศรษฐกิจหลักของชุมชนที่มีรากฐานมาจากการผลิตเป็นหลัก โดยรายได้มาจากการขายผลผลิตสู่ระบบตลาดภายนอก ในชุมชนชนบทอีสานส่วนใหญ่เป็นระบบการผลิตทางเกษตรกรรม องค์ประกอบหลักคือการผลิตบนรากฐานวัฒนธรรมชาวนา (วัฒนธรรมข้าว) ผลิตภัณฑ์ที่สำคัญ คือ ข้าว โดยพึ่งพาทุน และปัจจัยการผลิตหลักมาจาก ที่ดิน (อันหมายรวมถึงสภาพลมฟ้าอากาศ ปริมาณน้ำฝน แหล่งน้ำ อุณหภูมิ ความอุดมสมบูรณ์ของดิน ฯลฯ ในพื้นที่นั้นๆ ด้วย) ทุนที่สำคัญในอดีตจึงเป็นเรื่องที่ดิน อันเป็นสินทรัพย์สำคัญของครัวเรือนและชุมชน แรงงาน (ส่วนใหญ่เป็นแรงงานในครอบครัว และแรงงานรับจ้าง) และปัจจัยการผลิตสำคัญอันได้แก่ พันธุ์ข้าว แรงงานสัตว์ (เครื่องจักร) ปุ๋ยจากสัตว์เลี้ยง (ปัจจุบันเป็นปุ๋ยเคมี) สารเคมีกำจัดศัตรูพืช ความรู้/ภูมิปัญญา ฯลฯ ผลผลิตที่ได้ส่วนหนึ่งนำมาบริโภคในครัวเรือน และขายเป็นรายได้ของครอบครัว ซึ่งความมั่นคงของระบบเศรษฐกิจฐานรากแบบนี้จึงขึ้นอยู่กับ ความอุดมสมบูรณ์ของที่ดิน (เพราะส่วนใหญ่พึ่งพาธรรมชาติเป็นหลัก เป็นระบบการผลิตที่อาศัยน้ำฝน) ดังนั้น ระบบตลาด เช่น ปริมาณความต้องการสินค้า คุณภาพของสินค้า จำนวนผู้ผลิตสินค้าชนิดเดียวกัน ความผันผวนของราคาผลผลิตจากการเก็งกำไรและปริมาณสินค้าสำรองในตลาด รวมถึงราคาปัจจัยการผลิต จึงเป็นสิ่งที่บ่งชี้ถึงเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจแบบพึ่งพาตลาดซึ่งชุมชนส่วนใหญ่อยู่ภายใต้ตลาดแบบนี้ และความแปรปรวนของสภาพลมฟ้าอากาศก็ยังเป็นปัจจัยสำคัญในการอยู่รอดของครัวเรือน เนื่องจากเป็นเรื่องที่เกษตรกรไม่สามารถควบคุมได้ และในสภาวะปัจจุบันเกษตรกรต้องพึ่งพาปัจจัยการผลิตจากภายนอกมากขึ้น ทั้งพันธุ์ข้าว ปุ๋ย สารเคมีเกษตร เครื่องจักรกล หรือแม้แต่แรงงาน เศรษฐกิจฐานรากของชุมชนชาวนาอันเป็นชุมชนส่วนใหญ่ของอีสาน จึงมีสภาพที่น่าเป็นห่วง หากไม่สามารถปรับตัวได้ในอนาคต รวมถึงเศรษฐกิจที่อิงการผลิตในกิจกรรมพืชเศรษฐกิจอย่างอื่น เช่น ยางพารา อ้อย สับปะรด มันสำปะหลัง ข้าวโพด ฯลฯ ซึ่งอาจจะเป็นทั้งรูปแบบการผลิตโดยอิสระ และการทำการผลิตแบบพันธะสัญญา (contract farming) ก็มีสภาพไม่แตกต่างกัน คือ ควบคุมปัจจัยภายนอกไม่ได้และขึ้นกับระบบตลาดที่ผันผวนเป็นสำคัญ

1.1.3 เศรษฐกิจฐานรากที่อิงกับหัตถอุตสาหกรรมและอุตสาหกรรมครัวเรือน ชุมชนชนบทอีสานโดยส่วนใหญ่แล้วไม่ใช่ชุมชนที่ผลิตหัตถกรรม หรืออุตสาหกรรมในครัวเรือนเป็นหลัก ในชุมชนหนึ่งๆ มีบางครอบครัวเท่านั้นที่มีอาชีพและรายได้หลักมาจากงานหัตถกรรม หัตถศิลป์ รวมถึงพัฒนาเป็นผู้ประกอบการอุตสาหกรรมจากงานหัตถกรรมในท้องถิ่น แต่ปัจจุบันก็มีความพยายามสนับสนุนและส่งเสริมจากหน่วยงานต่างๆ ให้งานหัตถกรรมกลายเป็นรายได้สำคัญของครัวเรือนและชุมชน เช่น กลุ่มทอผ้า ย้อมผ้า ตัดเย็บเสื้อผ้าและผลิตภัณฑ์จากผ้า งานเครื่องจักสาน จนกลายเป็นผลิตภัณฑ์สำคัญของชุมชน เป็นสินค้า OTOP ต่างๆ ที่เพิ่มรายได้ให้กับครอบครัวและชุมชนนอกเหนือจากรายได้ในภาคการเกษตร

1.1.4 เศรษฐกิจฐานรากที่อิงการเป็นแรงงานรับจ้าง ชุมชนอีสานเป็นชุมชนที่มีการอพยพเคลื่อนย้ายแรงงานจำนวนมากมาทุกยุคทุกสมัย ทั้งการไปรับจ้างทำงานในเมืองหลวง เมืองใหญ่ๆ หรือเมืองอุตสาหกรรมต่างๆ การไปทำงานต่างประเทศ การไปเป็นลูกจ้างในสวนปาล์ม สวนยางพาราภาคใต้ การเป็นลูกเรือประมง รวมถึงการไปประกอบอาชีพค้าขาย หรืองานบริการในต่างถิ่น แล้วส่งเงินมาให้ครอบครัวในชุมชนบ้านเกิด อาจจะสรุปได้ว่างานต่างๆ ทั้งกรรมกร ลูกจ้าง งานหนัก งานเบา งานเสี่ยง งานสกปรก ฯลฯ ล้วนผ่านมือคนอีสานมาแล้วทั้งสิ้น หากแรงงานเหล่านั้นประสบความสำเร็จก็อาจจะนำเงินมาซื้อทรัพย์สินเพิ่มเติม สร้างบ้านใหม่ ซื้อที่ดิน ยกระดับเป็นผู้ประกอบการ แล้วนำเอาลูกหลาน ญาติพี่น้อง หรือคนในชุมชนไปทำงานด้วย รวมถึงกลับมาประกอบกิจการในบ้านเกิด แต่ก็ไม่ได้มีจำนวนมากนักที่ประสบความสำเร็จแบบนั้นเมื่อเทียบกับประชากรทั้งหมดของชุมชน  

ระบบเศรษฐกิจฐานรากของชุมชนอีสาน จึงมีหลากหลายรูปแบบ ไม่จำเพาะอย่างใดอย่างหนึ่ง การเป็นชาวประมงของคนอีสานบางคน ก็ไม่สามารถบ่งชี้ได้ชัดเจนเพียงเพราะเขามีอาชีพจับสัตว์น้ำ เพราะในขณะเดียวกันเขาก็มีการทำนา ทำสวน การไปรับจ้าง การที่ลูกหลานไปทำงานต่างประเทศ หรืออาจจะรวมถึงการค้าขายเล็กๆ น้อยๆ และการแปรรูปสินค้าในบางฤดูกาลจำหน่ายด้วย เศรษฐกิจชนบทอีสาน จึงเป็นระบบเศรษฐกิจฐานรากแบบผสมผสาน ที่อิงอาศัยโครงข่ายทางเศรษฐกิจหลากหลายรูปแบบ ทั้งที่พึ่งพาผลผลิต หรือรายได้ที่เก็บหาจากระบบนิเวศ ทั้งในระบบนิเวศธรรมชาติ การผลิตทางการเกษตรต่างๆ ของครัวเรือน (ปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ ประมง) รวมถึงมูลค่าเพิ่ม อันเกิดจากการแปรรูปผลผลิตในท้องถิ่น หรือการใช้วัตถุดิบจากที่อื่นเพื่อแปลงเป็นผลิตภัณฑ์ สินค้า และบริการต่างๆ เพื่อค้าขายแลกเปลี่ยนในชุมชนและนอกชุมชน อันนำมาสู่การหมุนเวียนของเงิน แรงงาน ปัจจัยการผลิต และสินทรัพย์อันเกิดจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจดังกล่าว

ดังนั้น จึงอาจกล่าวได้ว่า เศรษฐกิจฐานรากของชุมชนอีสาน จึงไม่ขึ้นกับการผลิตทางการเกษตรกรรมเท่านั้น แต่หมายรวมถึงการเก็บหาผลประโยชน์จากธรรมชาติ การใช้แรงงานไปแลกเปลี่ยนเป็นรายได้ การให้บริการในรูปแบบต่างๆ การแปรรูป การรับจ้างเหมาผลิตสินค้า รวมถึงการที่สมาชิกในครัวเรือนซึ่งมีทักษะไปทำงานต่างถิ่นแล้วส่งเงินมาให้ครอบครัว เป็นต้น ซึ่งในภาคอีสาน มีระบบนิเวศที่หลากหลาย มีฐานทรัพยากรสำคัญหลายอย่าง มีแรงงานมาก จึงเป็นภูมิภาคที่มีระบบเศรษฐกิจฐานรากที่หลากหลาย เติบโต และมีความสำคัญที่เชื่อมโยงกับระบบเศรษฐกิจของประเทศอย่างมาก แต่การยกระดับฐานะทางเศรษฐกิจของคนอีสานในภาพรวมยังไม่ประสบผลสำเร็จมากนัก ขณะที่หนี้สินภาคครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น เกิดความไม่เป็นธรรมทางเศรษฐกิจและความเหลื่อมล้ำด้วยเหตุปัจจัยหลายอย่าง

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือหรือภาคอีสาน เป็นภูมิภาคที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 170,226 ตารางกิโลเมตร (ประมาณ 109 ล้านไร่) หรือ 1 ใน 3 ของดินแดนทั้งหมดของประเทศ ภาคอีสานจึงมีขนาดพอๆ กับประเทศกัมพูชา (181,035 ตารางกิโลเมตร) และใหญ่กว่าประเทศเกาหลีใต้ (100,210 ตารางกิโลเมตร) ภาคอีสานมีแนวเทือกเขาเพชรบูรณ์เป็นแดนกั้นกับภาคกลางและภาคเหนือ มีแม่น้ำโขงขนาบเป็นพรมแดนกั้นกับประเทศลาว ยาวถึง 850 กิโลเมตร มีเทือกเขาพนมดงรักกั้นกับประเทศกัมพูชา ดินแดนที่ราบสูงทั้ง 2 แอ่งของอีสาน (แอ่งโคราชและแอ่งสกลนคร) ถูกกั้นด้วยเทือกเขาภูพาน ทำให้ภาคอีสานมีทีราบที่กว้างใหญ่มาก ทั้งในลุ่มน้ำ ชี มูล และลุ่มน้ำสาขาของแม่น้ำโขง เช่น ลุ่มน้ำสงคราม ลุ่มน้ำห้วยหลวง เป็นต้น การผลิตที่สำคัญของอีสานจึงเป็นการทำนา ซึ่งส่วนใหญ่ปลูกทั้งข้าวเหนียวและข้าวเจ้า ทั้งเพื่อการบริโภคและการจำหน่าย ครอบครัวชนบทอีสานจึงมียุ้งข้าง (เล้าข้าว) อยู่ทุกบ้าน เพื่อเก็บข้าวไว้กินและรอขาย พื้นที่นาของอีสานจึงมากที่สุดในประเทศ หรือมากกว่าครึ่ง (คิดเป็นร้อยละ 57 ของพื้นที่ปลูกข้าวทั้งประเทศ) ดังนั้น จึงกล่าวได้ว่า การทำนาปลูกข้าว จึงเป็นเศรษฐกิจหลัก หรือเศรษฐกิจฐานรากที่สำคัญของคนอีสานและชุมชนอีสาน แม้ว่าปัจจุบันมูลค่าทางเศรษฐกิจหรือรายได้จากข้าวของครัวเรือนอีสานอาจจะไม่ใช่รายได้หลัก หรือเป็นกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่สร้างรายได้ให้แก่ครอบครัวมากที่สุด แต่คนอีสานยังถือว่า การทำนาเป็นอาชีพที่สำคัญของครอบครัว และเป็นกิจกรรมที่สมาชิกในครอบครัวจะต้องช่วยกันทำไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

ความเป็นอยู่ของชุมชนอีสานในอดีตจึงมีลักษณะที่พึ่งตนเองได้สูง ด้วยทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์ มีข้าว ปลา มีปริมาณน้ำฝนและแหล่งน้ำท่าต่างๆ ที่กระจายอยู่ในทุกพื้นที่ แม้บางพื้นที่จะมีความแห้งแล้ง ดินไม่อุดมสมบูรณ์ แต่ธรรมชาติก็จะชดเชยด้วยการมีป่าไม้ซึ่งชุมชนได้ใช้ประโยชน์อย่างมากมาย โดยเฉพาะป่าในเขตร้อนและแห้งแล้งอย่าง ป่าเต็งรัง (dry deciduous dipterocarp forest)  ซึ่งเป็นแหล่งอาหารที่หลากหลายตามฤดูกาล คนอีสานอาจจะไม่มีเงินมาก แต่ไม่อดอยาก ขณะที่บางพื้นที่ก็มีลักษณะภูมินิเวศและสังคมแบบภาคเหนือ เช่น จังหวัดเลย ที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขาสูงและที่ราบเชิงเขา บางพื้นที่มีปริมาณน้ำฝนดีมาก เช่น จังหวัดแถบชายโขง คือ หนองคาย บึงกาฬ นครพนม อำนาจเจริญ อุบลราชธานี เป็นต้น บางอำเภอของจังหวัดบึงกาฬมีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยทั้งปี 2,550 มิลลิเมตร ซึ่งมากกว่าภาคกลาง ภาคเหนือ และหลายจังหวัดของภาคใต้ (สุราษฎร์ธานี มีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย 1,800 มิลลิเมตร/ปี) บางพื้นที่เป็นที่ราบลุ่มน้ำท่วมถึงในฤดูน้ำหลาก เช่น ลุ่มน้ำสงครามตอนล่างของจังหวัดนครพนม เมื่อถึงฤดูฝน จึงมีน้ำหลากจากแม่น้ำโขงและจากส่วนบนของลุ่มน้ำไหลมาบรรจบกัน กลายเป็นทะเลสาบที่กินอาณาบริเวณกว่าล้านไร่ จึงเป็นแหล่งอาชีพประมงธรรมชาติสลับกับการทำนาหลังน้ำลดมาช้านาน ด้วยระบบนิเวศแบบแห้งสลับเปียกอันประกอบด้วยทุ่งและป่าบุ่งป่าทาม หนองน้ำ แม่น้ำ ทำให้พื้นที่แถบนั้นอุดมสมบูรณ์เป็นอย่างยิ่ง นอกจากนี้ ริมตลิ่งแม่น้ำโขงความยาวกว่า 800 กิโลเมตร ก็เป็นแหล่งเพาะปลูกอันสำคัญของชุมชนริมน้ำโขง เช่น พืชผัก พืชสวน และพืชไร่ในฤดูแล้งที่ปลูกบนสันดอนทรายในแม่น้ำโขง ประมงธรรมชาติที่ได้จากแม่น้ำโขง ตั้งแต่จังหวัดเลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม อำนาจเจริญ ไปจนถึงอุบลราชธานี และแม่น้ำสาขาเช่นแม่น้ำชี มูล ที่เป็นแหล่งอาหารเลี้ยงคนหลายจังหวัด อีสานจึงเป็นดินแดนที่มั่งคั่งด้วยข้าวปลาอาหารที่สุด

ชีวิตความเป็นอยู่ของคนอีสานก่อนถูกเชื่อมโยงเข้ากับเศรษฐกิจแบบตลาดทุนนิยมในช่วงแผนพัฒนาอีสาน (พ.ศ.2505) จึงมีลักษณะการผลิตแบบพอเลี้ยงชีวิต ทำนา ทำไร่ ผลิตข้าว ข้าวไร่ ปลูกพืชผักสวนครัว เพื่อบริโภคในครัวเรือนเป็นหลัก และปลูกฝ้ายเลี้ยงไหมเพื่อนำมาทอผ้าใช้ในครัวเรือน โดยอาศัยแรงงานภายในครัวเรือนและที่ดินขนาดเล็ก ขณะเดียวกัน ทรัพยากรธรรมชาติ ดิน น้ำ ป่า ถือเป็นส่วนหนึ่งของระบบเศรษฐกิจที่เป็นต้นทุนให้ครัวเรือนและชุมชน สามารถผลิตปัจจัยการดำรงชีวิตที่จำเป็นเพื่อบริโภคภายในครัวเรือน ผลผลิตส่วนเกินจะถูกผลักออกไปการแลกเปลี่ยนในเครือข่ายความสัมพันธ์แบบเครือญาติ เพื่อนบ้าน คนต่างถิ่น และเป็นเครื่องมือในการผดุงอุดมการณ์ทางความเชื่อ ศาสนา ของชุมชน รักษาความสัมพันธ์ของสังคมหมู่บ้านเอาไว้ แม้มีการนำผลิตส่วนเกินออกไปแลกเปลี่ยนในระบบเศรษฐกิจตลาดอยู่บ้าง แต่ก็เพื่อนำเงินไปแลกเปลี่ยนสินค้าจำเป็นที่ชุมชนผลิตเองไม่ได้ มากกว่าการค้าขายเพื่อสะสมความมั่งคั่งใหญ่โต และยังคงจำกัดวงอยู่ในเครือข่ายชุมชนท้องถิ่นที่ไม่กว้างขวางมากนัก (สุวิทย์ ธีรศาศวัต, 2546: 50, 144-145), (ดารารัตน์ เมตตาริกานนท์, 2546: 104)

พื้นที่ศึกษาชุมชนบ้านหม้อ ตำบลบ้านหม้อ อำเภอศรีเชียงใหม่ สะท้อนภาพของการเป็นชุมชนพึ่งพาธรรมชาติจากแม่น้ำโขงได้ดีที่สุด ด้วยเป็นหมู่บ้านที่ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขง ถึงแม้ว่าชาวบ้านในหมู่บ้านจะมีการประกอบอาชีพที่หลากหลาย ทั้งการทำนา ปลูกพืชเศรษฐกิจ รับจ้างทั่วไป ค้าขายสินค้า และออกไปทำงานนอกชุมชน แต่ชาวบ้านยังคงมีการพึ่งพาแม่น้ำโขงในการดำรงชีวิต ด้วยการหาปลา และโดยเฉพาะการทำการเกษตรริมฝั่งแม่น้ำโขง ซึ่งสามารถสร้างรายได้ให้กับชาวบ้านได้ปีละ 30,000 – 100,000 บาทต่อปี ส่วนชาวบ้านที่ทำการประมงธรรมชาติด้วยการหาปลาบนแม่น้ำโขง มีรายได้เฉลี่ยจากการได้ลงหาปลาไม่ต่ำกว่าครั้งละ 200 บาท แต่ถ้าหากเป็นช่วงที่ปลาขึ้น (ฤดูน้ำหลาก) มีปลาเป็นจำนวนมาก ชาวบ้านสามารถมีรายได้จากการหาปลาได้ไม่ต่ำกว่าวันละ 1,000 บาท

พื้นที่ศึกษา บ้านเชียงเพ็ง ตำบลป่าติ้ว อำเภอเมือง จังหวัดยโสธร มีพื้นที่รวมกว่า 3,000 ไร่ เป็นพื้นที่ทำการเกษตรกว่า 2,000 ไร่ ที่เหลือเป็นพื้นที่ป่า พื้นที่แหล่งน้ำประมาณ 1,000 ไร่ โดยแบ่งเป็นป่าชุมชน 3 แห่งได้แก่ 1) ป่าดอนมะหรี่มีพื้นที่ 73 ไร่ (เป็นป่าชุมชน) ซึ่งชาวบ้านได้ตั้งกลุ่มอนุรักษ์ดอนมะหรี่โดยมีการประชุม 2 เดือน/ครั้ง เป็นที่ดินสาธารณะประโยชน์ 2) ป่าดอนปู่ตา เนื้อที่ 29ไร่ เป็นสถานที่เคารพนับถือของชาวบ้านเชียงเพ็ง โดยถือปฏิบัติกันในเรื่องของการเซ่นไหว้ เลี้ยงขึ้นเลี้ยงลงก่อนลงทำนามาตั้งแต่ตั้งหมู่บ้าน 3) ดอนป่าซำ มีเนื้อที่ 23 ไร่ นอกจากนี้ บ้านเชียงเพ็งยังมี ลำน้ำเซบาย เป็นแหล่งน้ำสำคัญที่ไหลหล่อเลี้ยงชุมชนมาหลายชั่วอายุคน ซึ่งลำน้ำเซบายเป็นลำน้ำสาขาหนึ่งของแม่น้ำมูน มีความยาวประมาณ 223 กิโลเมตร มีต้นกำเนิดจากเทือกเขาภูพานบริเวณรอยต่อของจังหวัดยโสธร จังหวัดอำนาจเจริญ และจังหวัดมุกดาหาร ลำเซบายมีพื้นที่รับน้ำ 3,990 ตารางกิโลเมตร ได้แบ่งลำดับของลำน้ำและลักษณะการไหลของลำน้ำ เป็นลำดับที่ 6 หมายถึงมีน้ำไหลต่อเนื่องตลอดปี ประมาณ 9-12 เดือน ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยในพื้นที่ลุ่มน้ำ ประมาณ 1,530 มิลลิเมตร/ปี ต้นน้ำของลำเซบาย ประกอบด้วยลำน้ำขนาดเล็ก 2 สาย เริ่มจากเทือกเขาบริเวณเขตอำเภอเลิงนกทา จังหวัดยโสธร แล้วไหลมาบรรจบกับแม่น้ำมูน บริเวณบ้านทุ่งขุนน้อย อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี รูปแบบการใช้ประโยชน์จากฐานทรัพยากรของชาวบ้าน ยังถือว่าเป็นชุมชนชนบทอีสานที่พึ่งพาทรัพยากรท้องถิ่น (ดิน น้ำ ป่า) ค่อนข้างมาก กล่าวคือ ในช่วงฤดูแล้ง ชาวบ้านได้ใช้ประโยชน์จากพื้นที่ป่าทาม พื้นที่ทุ่งนาทาม และริมฝั่งลำน้ำเซบาย ในการประกอบอาชีพรอง คือ การเลี้ยงวัว-ควาย ในพื้นที่ทุ่งนาทามและการหาขุดหอย การปลูกผักริมฝั่งลำน้ำเซบาย การจับปลาในลำน้ำเซบาย การเข้าไปเก็บหาของป่า ส่วนช่วงต้นฤดูฝน ชาวบ้านบริเวณริมฝั่งลำน้ำเซบายจะมีวิถีที่สัมพันธ์กับฤดูกาลนั้นหมายถึงการหาของป่า การเก็บเห็ด การหาผัก แมลง และสัตว์ต่างๆ เป็นต้น ส่วนในช่วงฤดูน้ำหลาก เป็นอีกช่วงของพรานปลาในลำน้ำเซบายที่จับสัตว์น้ำ ซึ่งเครื่องมือที่ใช้จะเหมาะสมกับนิเวศนั้นๆ เช่น เบ็ดราว ลอบ ตุ้ม จิบ เป็นต้น จะเห็นได้ว่าลำน้ำเซบายตอนกลางยังมีทรัพยากรที่มีความอุดมสมบูรณ์ที่ชุมชนเข้าไปสัมพันธ์ ซึ่งทำให้ชุมชนมีรูปแบบการเข้าใช้ทรัพยากรท้องถิ่นอย่างรู้คุณค่า

 

1.2 ปัจจัยและมูลเหตุแห่งการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจชุมชนอีสาน

1.2.1 การเปลี่ยนแปลงอันเกิดจากนโยบายรัฐ

(1) กฎหมายเกี่ยวกับป่าไม้ การให้สัมปทานป่าและนโยบายความมั่นคง ในอดีตการใช้ทรัพยากรธรรมชาติของชาวอีสานมีความสมดุลระหว่างการใช้กับการเกิดขึ้นตามธรรมชาติ ความสมดุลดังกล่าวเกิดได้มานับพันปี ที่เป็นเช่นนี้เพราะในยุคก่อน พ.ศ.2504 ประชากรอีสานยังมีน้อย เมื่อเปรียบเทียบกับพื้นที่ของภาคอีสาน กล่าวคือ ใน พ.ศ.2480 ภาคอีสานมีประชากรเพียง 6,210,281 คน หรือคิดเฉลี่ยความหนาแน่นของประชากรเพียง 36.8 คน/ตารางกิโลเมตร พื้นที่ป่าภาคอีสานในปี 2485 มีถึง 102,667 ตารางกิโลเมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 60.8 ของพื้นที่ภาคอีสาน (สุวิทย์ ธีรศาศวัต และดารารัตน์ เมตตาริกานนท์. อ้างใน สุวิทย์ ธีรศาศวัต: 15) การสัมปทานป่าไม้ในภาคอีสาน เกิดขึ้นในช่วงหลังปี 2511 – 2524 มากที่สุด ก่อนจะยกเลิกการให้สัมปทานไม้ทั่วประเทศเมื่อปี 2532

เมื่อเริ่มแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ มีการกำหนดกฎหมายขึ้นหลายฉบับ เช่น พ.ร.บ. คุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2503 พ.ร.บ. อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 พ.ร.บ. ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 แม้จะมีวัตถุประสงค์ที่เพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสัตว์ป่า แต่กลับกลายเป็นกฎหมายที่พยายามแยกราษฎรออกจากพื้นที่ป่า มองราษฎรเป็นผู้บุกรุก ปฏิเสธบทบาทของราษฎรในการรักษาป่า ถึงกระนั้น พื้นที่ป่าไม้ของอีสานก็ลดลงมากที่สุดเมื่อเทียบกับภาคอื่น คือ ลดลงร้อยละ 9.48 ในขณะที่ภาคอื่นลดลงร้อยละ 2.34-4.50 ต่อปี สาเหตุสำคัญที่ทำให้พื้นที่ป่าไม้ภาคอีสานลดลง ได้แก่

  • การสัมปทานป่าไม้ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2511 จนยกเลิกในปี พ.ศ. 2532
  • การลักลอบตัดไม้ โดยนายทุนที่เข้ามาเอาไม้เพื่อการค้า อีกกลุ่มหนึ่ง ชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่เข้าไปตัดเพื่อนำมาสร้างหรือซ่อมแซมบ้านเรือน คอกสัตว์ เชื้อเพลิง
  • นโยบายการส่งเสริมพืชเศรษฐกิจ ทำให้เกิดการขยายพื้นที่การเพาะปลูกเพื่อเข้าสู่ระบบการค้า จนมีคำกล่าวว่า “ปอมาป่าหมด”
  • การก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานของรัฐ เช่น เขื่อน ถนนและไฟฟ้า
  • นโยบายการปราบปรามคอมมิวนิสต์ (พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ประกาศจัดตั้ง เมื่อปี พ.ศ. 2485 การปราบปรามคอมมิวนิสต์ครั้งใหญ่เกิดขึ้นในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และต่อเนื่องมาในหลายรัฐบาล) ซึ่งช่วงที่มีการสูญเสียพื้นที่ป่ามากที่สุดก็คือ ช่วงปี 2514-2524 ซึ่งเป็นช่วงที่อยู่ในยุคเฟื่อฟูของสัมปทานไม้ การปลูกพืชไร่ และการปราบปรามคอมมิวนิสต์  

ในยุคแรกๆ เป็นการทำไม้ในพื้นที่ป่าที่สำคัญๆ ในจังหวัดนครราชสีมา ชัยภูมิ เลย ขอนแก่น อุดรธานี สกลนครและหนองคายและซึ่งเป็นแหล่งไม้กระยาเลย และไม้เบญจพรรณที่มีคุณภาพดี รวมถึงแถบชายแดนอีสานใต้ อุบลราชธานี ศรีสะเกส เป็นต้น การให้สัมปทานไม้ เป็นการบุกเบิกเส้นทางใหม่ ที่เชื่อมต่อจากป่ามาสู่เส้นทางรถไฟตั้งแต่อุบลราชธานี นครราชสีมา เพื่อขนส่งไปกรุงเทพฯ อีกเส้นทางหนึ่งคือ หนองคาย อุดรธานี ขอนแก่น ขัยภูมิ รวมถึงการใช้เส้นทางถนนสายหลัก และแน่นอนว่าแปลงสัมปทานไม้และเส้นทางชักลากไม้ ช่วยให้ชาวบ้านใช้เป็นเส้นทางสัญจรไปบุกเบิกป่าที่สิ้นสัมปทานแล้ว เป็นที่ดินทำกินต่อไป ซึ่งผู้ที่มั่งคั่งก็คือพ่อค้าไม้เจ้าของสัมปทานซึ่งมาจากกรุงเทพ ในนี้หลักๆ คือ ตระกูลพร้อมพันธุ์ และตระกูลคุณกิตติ ซึ่งต่อมาได้เป็นกลุ่มทุนหลักของพรรคการเมืองและมีลูกหลานเข้าสู่การเมืองในเวลาต่อมา พร้อมทั้งการมีอิทธิพลในทางเศรษฐกิจและการเมืองระดับท้องถิ่นและระดับชาติ กรณี ป่ารอยต่อระหว่างจังหวัดขอนแก่น อุดรธานี และกาฬสินธุ์ ตั้งแต่อำเภอน้ำพอง โนนสะอาด เขาสวนกวาง ท่าคันโท ถูกสัมปทานโดยกลุ่มทุนพ่อค้าคนไทยเชื้อสายจีนจากกรุงเทพฯ จนเหลือเพียงผืนป่าหย่อมเล็กหย่อมน้อย นายทุนกลุ่มนี้ได้ใช้ให้ชาวบ้านเข้าไปบุกรุกแผ้วถางต่อหลังจากสัมปทานไม้หมดแล้ว เพื่อเข้าไปบุกยึดที่ดินแบ่งกัน และส่งเสริมให้ปลูกพืชไร่ เมื่อชาวบ้านไม่มีทุนรอนในการผลิต ก็ให้หยิบยืมเงินไปก่อน แต่เมื่อหักเงินค้างชำระหลังจากขายผลผลิตแล้วก็แทบไม่มีเงินเหลือ จึงต้องขายที่ดินใช้หนี้ หรือปล่อยให้เขายึดที่ดินไป นายทุนกลุ่มนี้จึงกลายเป็นเจ้าที่ดินในย่านแถบนี้ ดังนั้น ชาวบ้าน ชุมชนอีสาน แทบจะไม่ได้มีส่วนในการได้รับการแบ่งผลประโยชน์จากทรัพยากรป่าไม้ที่มีมากมายในระดับพื้นที่เลย แต่สิ่งที่ได้ตามมาคือ การทำให้ป่าสิ้นสัมปทานเป็นป่าเสื่อมโทรมและบุกยึดเอาที่ดินเพื่อปลูกพืชเศรษฐกิจโดยแบ่งกันกับนายทุนไม้ และกลุ่มอิทธิพลต่างๆ ในท้องถิ่น ดังนั้น มีแปลงสัมปทานป่าที่ไหน ย่อมมีคนอพยพไปอยู่ที่นั่น ชุมชนอีสานจึงกระจายไปอยู่ในพื้นที่ต่างๆ ทั่วทั้งภาค และทำให้ที่ดินที่เคยเป็นป่าเดิมเหล่านี้กลายเป็นพื้นที่เกษตรกรรม และปลูกพืชเศรษฐกิจพวก ข้าว ปอ มันสำปะหลัง และอ้อย หลังจากมีลานรับซื้อผลผลิตเพื่อส่งไปกรุงเทพฯ และต่างประเทศ จนต่อมาจึงมีการได้รับเอกสารสิทธิ์ในรูปแบบต่างๆ รวมทั้ง สปก. 4-01 และก็ยังมีอีกมากที่ยังอยู่ภายใต้เขตป่าสงวนอยู่ จึงมีชุมชนอยู่ในพื้นที่นี้อย่างผู้บุกรุกตามกฎหมายอยู่มากมาย เช่น พื้นที่ภูเขาทางอีสานตอนบน และอีสานใต้ เป็นต้น เศรษฐกิจที่พึ่งพาตนเอง พึ่งพาป่า จึงกลายเป็นระบบเศรษฐกิจที่พึ่งพาการผลิตจากการปลูกพืชเชิงเดี่ยวแทน

นายทุนโรงน้ำตาลที่ได้เข้ามาภายหลังเมื่อปอราคาตกต่ำ การส่งเสริมการปลูกอ้อยของโรงน้ำตาลก็ซ้ำรอยกลุ่มทุนสัมปทานไม้ คือ การให้สินเชื่อในการผลิตก่อนแล้วค่อยหักเงินใช้หนี้หลังขายผลผลิต เกษตรกรหลายรายก็ต้องสูญเสียที่ดินจากกรณีนี้เช่นกัน กลุ่มทุนเหล่านี้ก็กลายเป็นผู้มีอิทธิพลในทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองของภาคอีสานในเวลาต่อมา แต่การพัฒนาอีสานนับตั้งแต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2504) จนถึงปัจจุบัน คนอีสานก็ยังยากจนที่สุดในประเทศไทย และในจำนวนนี้ พบว่ามีเกษตรกรกว่า 1 แสนครอบครัว ที่ไม่มีที่ดินทำกิน หรือเกือบร้อยละ 5 ของครัวเรือนทั้งหมดในภาคอีสาน คิดเป็น ร้อยละ 23 ของครัวเรือนที่ไม่มีที่ทำกินทั้งหมดของประเทศ นี่เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้คนอีสานต้องอพยพไปขายแรงงานที่อื่นเป็นจำนวนมากที่สุด ไม่ว่าจะเข้ากรุงเทพฯ เมืองใหญ่ๆ หรือต่างประเทศ เพื่อหารายได้มาการเลี้ยงครอบครัวและชดใช้หนี้สิน[1]

(2) การส่งเสริมพืชเศรษฐกิจเชิงเดี่ยว พืชเศรษฐกิจหลักๆ ในภาคอีสานในยุคแรกๆ คือ ปอ เพื่อเป็นวัตถุดิบสำหรับโรงงานทอกระสอบ (ซึ่งมีโรงงานทอกระสอบหลายโรงงานในภาคอีสาน เช่น จังหวัดอุดรธานี ปัจจุบันได้เลิกไปนานแล้ว เพราะมีการใช้กระสอบที่ทอจากเส้นพลาสติกแทน) และพืชอย่าง ปอ ก็หายไปพร้อมกับโรงงานทอกระสอบ และจากนั้นนายทุนโรงน้ำตาลก็ได้เข้ามาภายหลังเมื่อปอราคาตกต่ำ การส่งเสริมการปลูกอ้อยของโรงน้ำตาลก็คือ การให้สินเชื่อในการผลิตก่อนแล้วค่อยหักเงินใช้หนี้หลังขายผลผลิต เกษตรกรหลายรายก็ต้องสูญเสียที่ดินจากกรณีนี้เช่นกัน กลุ่มทุนเหล่านี้ก็กลายเป็นผู้มีอิทธิพลในทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองของภาคอีสานในเวลาต่อมา แต่การพัฒนาอีสานนับตั้งแต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2504) จนถึงปัจจุบัน คนอีสานก็ยังยากจนที่สุดในประเทศไทย เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้คนอีสานต้องอพยพไปขายแรงงานที่อื่นเป็นจำนวนมากที่สุด ไม่ว่าจะเข้ากรุงเทพฯ เมืองใหญ่ๆ หรือต่างประเทศ เพื่อหารายได้มาการเลี้ยงครอบครัวและชดใช้หนี้สิน ส่วนพืชเศรษฐกิจอื่นๆ ที่สำคัญของอีสาน เช่น มันสำปะหลัง (เขามาทีหลังปอ พร้อมๆ กับอ้อย) มันสำปะหลังและอ้อย จึงมีพื้นที่ปลูกมากมายมหาศาลในภาคอีสาน เพราะมีโรงงานน้ำตาลรองรับ มีลานรับซื้อมัน โรงงานแป้งมัน หรือขายให้กับโรงงานผลิตอาหารสัตว์ เป็นต้น ซึ่งโรงงานเหล่านี้ได้ย้ายมาปักหลักในภาคอีสานมากขึ้นตั้งแต่ยุคป่าแตก เพราะมีพื้นที่ปลูกมาก มีวัตถุดิบสำหรับโรงงานมาก รวมถึง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ที่ได้รับการสนับสนุนจากนโยบาย เพื่อให้ประเทศไทยมีวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่ราคาถูก ทดแทนการนำเข้า ซึ่งมักจะได้รับการสนับสนุนสินเชื่อจาก ธกส. ทั้งที่ปลูกในที่ดินที่มีเอกสารสิทธิและการบุกเบิกป่าปลูกใหม่ เช่น แถบจังหวัดนครราชสีมา ชัยภูมิ เลย และหนองบัวลำภู เป็นต้น ต่อมาจึงมีการส่งเสริมการปลูกยางพาราในพื้นที่ที่มีปริมาณน้ำฝนที่เหมาะสม เช่น แถบอีสานใต้ อุบลราชธานี อำนาจเจริญ สุรินทร์ ศรีสะเกส อีสานตอนบน เช่น เลย หนองบัวลำภู อุดรธานี สกลนคร มุกดาหาร นครพนม หนองคาย และบึงกาฬ ในยุคปี 2548 ซึ่งก่อนหน้านั้น (ในช่วงปี 2532-2538) ก็ได้มีการทดลองปลูกยางพาราที่อำเภอโพนพิสัย และอำเภออื่นๆ จังหวัดหนองคาย จนมีสถานีวิจัยยางพาราในภาคอีสาน และผลผลิตจากยางพารารุ่นแรกๆ ในพื้นที่ดังกล่าว ได้ผลดี ประกอบกับช่วงเวลานั้น (2547-48) ยางราคาดีมาก มีความต้องการยางพาราของประเทศจีนจำนวนมาก จึงมีนโยบายส่งเสริมการปลูกยางพาราในภาคอีสาน 1 ล้านไร่ มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการเป็นจำนวนมาก จนเกิน 1 ล้านไร่ และอยู่ทั้งในรูปแบบส่งเสริมจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการทำสวนยาง และที่อยู่นอกการส่งเสริม รวมทั้งการปลูกนอกพื้นที่ที่ไม่ได้ส่งเสริมอีก ในช่วงดังกล่าว จึงมีสวนยางเพิ่มขึ้นเป็น 3 ล้านไร่ และเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนถึงปี 2559 ประมาณ 4,891,748 ไร่ ให้ผลผลิตกรีดได้ 3,666,280 ไร่ จากพื้นที่ปลูกยางทั้งประเทศ 19.2 ล้านไร่ (ข้อมูลจากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ปี 2560) ต่อมาชาวบ้านจึงมีการเลิกปลูก เพราะราคายางตกต่ำอย่างต่อเนื่องหลังปี 2553 เป็นต้นมา จะเห็นได้ว่านโยบายการปลูกพืชเชิงเดี่ยว แม่จะสร้างรายได้ให้ชุมชนอีสานเป็นอย่างมาก แต่ก็สร้างปัญหาอื่นตามมาด้วย เช่น หนี้สิน การสูญเสียที่ดิน การลดลงของพื้นที่ป่าไม้ ความเสื่อมโทรมของดิน และมลพิษสิ่งแวดล้อมจากการทำเกษตรกรรมที่ใช้สารเคมีมากขึ้น ซึ่งส่งผลต่อสุขภาพของคนในชุมชนตามมา แนวโน้มในอนาคต รัฐจึงพยายามที่จะปรับเปลี่ยนให้เกษตรกรเปลี่ยนชนิดพืชที่ปลูกจาก ข้าว ยางพารา มาเป็นพืชชนิดอื่น แต่ก็ยังไม่มีมาตรการที่จริงจัง ปัจจุบัน มีการให้เงินอุดหนุนการโค่นสวนยางพาราปลูกพืชอื่นทดแทน แต่ก็ยังไม่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงที่เป็นรูปธรรมได้ เพราะแบบอย่างในระดับพื้นที่ซึ่งเป็นการปลูกพืชทดแทนยางอย่างได้ผลยังไม่มีให้เห็น สถานีวิจัยของรัฐเองก็ยังไม่มีการวิจัยพืชแทนยางอย่างเป็นระบบ ยังวนเวียนอยู่กับการวิจัยในระบบการผลิตพืชเชิงเดี่ยวอยู่ โดยเฉพาะการวิจัยบูรณาการที่จะปลูกพืชผสมผสานในสวนยางภาคอีสาน ซึ่งน่าจะตอบโจทย์ของการแก้ปัญหามากกว่า และรัฐเองก็ยังไม่สามารถแก้ปัญหาราคาผลผลิตพืชเศรษฐกิจหลัก คือ ข้าว ยางพารา ข้าวโพด อ้อย และมันสำปะหลังได้ ส่วนพืชชนิดอื่นๆ ก็มีความสำคัญระดับรองลงมา เช่น สับปะรด ซึ่งปลูกกันมากในแถบจังหวัดหนองคาย บึงกาฬ (ปลูกผสมระหว่างแถวยางพาราที่ยังเล็กและปลูกเชิงเดี่ยวในพื้นที่ซึ่งเคยปลูกมันสำปะหลังมาก่อน) แต่ก็ต้องขนส่งไปขายไกล เพราะว่าโรงงานรับซื้อหลักอยู่ที่ภาคกลางและภาคตะวันออก โรงงานในพื้นที่ก็มีไม่มาก ดังนั้น การปลูกพืชเชิงเดี่ยวจำนวนมากในพื้นที่กว้างใหญ่ จึงไม่เหมาะสมกับภาคอีสาน หากเป้าหมายอยู่ที่การทำให้ครัวเรือนเกษตรกรหลุดพ้นจากหนี้สิน หรือมีรายได้ที่ยั่งยืน รวมทั้งการที่จะฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมให้อุดมสมบูรณ์และมีความมั่นคงของระบบนิเวศ เพราะพืชเศรษฐกิจเชิงเดี่ยวได้เข้ามาแทนที่ผืนป่าจาก ร้อยละ 60 ในปี 2485 เหลือป่าเพียง ร้อยละ 18 (ประมาณ 19.62 ล้านไร่) ของพื้นที่ทั้งภาค เท่านั้นในปัจจุบัน

แม้ภาคอีสานจะมีการผลิตแบบเลี้ยงชีพไปสู่การผลิตเพื่อการค้า แต่ก็ไม่ได้ความความว่าชนบทอีสานทุกแห่งจะมีพัฒนาการทางเศรษฐกิจไปในทิศทางเดียวกันในทุกพื้นที่ เช่น กรณี บ้านหินกอง อำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร และบ้านเชียงเพ็ง อำเภอป่าติ้ว จังหวัดยโสธร ซึ่งมีพื้นที่ไม่เหมาะสมต่อการเพาะปลูกมันสำปะหลังและอ้อย ทำให้มีชาวนาบางรายเข้าร่วมผลิตพืชเศรษฐกิจดังกล่าวเพียงช่วงเวลาสั้นๆ เมื่อไม่คุ้มทุนก็ล้มเลิกกันไป เพิ่งหวนกลับมาปลูกกันอย่างแพร่หลายกันอีกครั้งในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา (พ.ศ.2557-2560) หลังรัฐบาลประกาศแผนยุทธศาสตร์พื้นที่เกษตรพาณิชย์ และนโยบายประชารัฐ สนับสนุนให้ภาคธุรกิจการเกษตรขนาดใหญ่ขยายโรงงานเข้ามาในพื้นที่ พืชเศรษฐกิจในภาคอีสานของทั้งสองหมู่บ้านจึงเน้นไปที่การปลูกข้าว ด้วยเหตุผลด้านหลักเป็นการผลิตเพื่อบริโภคครัวเรือน อีกด้านเป็นการผลิตเพื่อขาย ไปพร้อมกับการผลิตในเศรษฐกิจภาคส่วนอื่นๆ เช่น การเก็บของป่า และการทำประมงพื้นบ้านตามแหล่งน้ำธรรมชาติ ในขณะที่บ้านหม้อ อำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย พืชเศรษฐกิจที่รัฐบาลเข้ามาส่งเสริมอย่างกว้างขวาง คือ ใบยาสูบ และมีการตั้งโรงรับซื้อและโรงบ่มใบยาในพื้นที่ ต่อมาโรงงานผลิตน้ำมะเขือเทศที่เข้ามาตั้งในพื้นที่เมื่อปี 2521 ได้กลายเป็นแรงกระตุ้นให้ชาวนาหันมาปลูกมะเขือเทศตามชายฝั่งริมแม่น้ำโขงป้อนโรงงานกันจำนวนมาก แต่ไม่นานนักชาวนาก็ต้องประสบปัญหาการขาดทุนและล้มเลิกไป เนื่องจากโรงงานรับซื้อผลผลิตในราคาที่ต่ำ อันมีสาเหตุมาจากชาวนาไม่สามารถผลิตมะเขือเทศให้โรงงานได้ตามเกณฑ์มาตรฐาน ขณะที่กลุ่มชาวนาที่มีที่ดินอยู่อย่างจำกัดและกลุ่มชาวนาไร้ที่ดินได้ผันตัวเองไปเป็นแรงงานในไร่ยาสูบ และทำงานโรงงานมะเขือเทศ นอกจากนี้การทำประมงพื้นบ้านในแม่น้ำโขงยังคงเป็นระบบเศรษฐกิจที่สร้างรายได้และความมั่งคงทางอาหารให้กับครัวเรือนบางส่วนในหมู่บ้านที่สำคัญ แต่ในระยะ 10 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ. 2550-2560) ทรัพยากรในแม่น้ำโขงลดจำนวนลงส่งผลให้การหาปลาและรายได้จากการขายปลาซบเซาตามไปด้วย

(3) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานถนน รถไฟ ชลประทาน ทางรถไฟสร้างเข้ามาในดินแดนอีสานถึงโคราช พ.ศ. 2443 ขยายไปทางอีสานใต้ถึงอุบลราชธานี พ.ศ. 2473 และขยายต่อไปทางอีสานเหนือปลายทางที่หนองคาย พ.ศ. 2499 พ่อค้าชาวจีนได้เข้ามาพร้อมกับทางรถไฟ ชาวจีนส่วนใหญ่จะเข้ามาทำการค้าบริเวณใกล้สถานีรถไฟ เช่น โรงสี โรงเลื่อย ร้านค้า และรับซื้อสินค้าทางการเกษตรจากชาวบ้านส่งขึ้นรถไฟเข้ากรุงเทพฯ ทางรถไฟกับพ่อชาวจีนจึงเป็นตัวกระตุ้นที่สำคัญให้เกิดการผลิตเพื่อขายและการค้าในบริเวณพื้นที่ใกล้สถานีรถไฟ โดยเฉพาะสินค้าเกษตรประเภทข้าวเปลือก กรณีของหมู่บ้านพื้นที่วิจัย บ้านสังคม ตำบลห้วยสามพาด อำเภอประจักษ์ศิลปาคม จังหวัดอุดรธานี บ้านหนองหารจาง อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น ซึ่งทั้งสองหมู่บ้านตั้งอยู่ไม่ห่างจากชุมทางรถไฟ ชาวบ้านมักนำข้าวเปลือก ของป่า หรืออาหารที่หาได้ตามธรรมชาติไปขายบริเวณตลาดรถไฟ ขณะที่หมู่บ้านที่ตั้งอยู่ห่างไกลชุมทางรถไฟออกไป ชาวบ้านจะใช้วิธีขนข้าว หรือ สินค้าทางการเกษตร ฝากไปกับเรือรับส่งสินค้าที่แล่นระหว่างท่าเรือของหมู่บ้านริมแม่น้ำโขงกับชุมทางรถไฟ เช่น ในกรณีของบ้านหม้อ อำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย หมู่บ้านชายแดนริมแม่น้ำโขง นอกจากนี้ในช่วงก่อนพรรคคอมมิวนิสต์ลาวจะประกาศอำนาจนำเหนือดินแดนประเทศลาว (พ.ศ.2518) รัฐบาลทั้งฝ่ายไทยและฝ่ายลาวไม่ได้เข้มงวดกวดขันประชาชนทั้งสองฝั่งในเรื่องการเดินทางข้ามพรมแดนมากนัก ชาวบ้านหม้อจะอาศัยท่าเรือข้ามฟากของหมู่บ้าน เป็นช่องทางข้ามแดนเพื่อนำสินค้าทางการเกษตรไปขายตลาดเช้านครหลวงเวียงจันทน์ในฝั่งตรงกันข้าม จนกลายเป็นแบบแผนการค้าข้ามพรมแดนของพื้นที่ชายแดนบริเวณนั้น ในทำนองเดียวกันหมู่บ้านเชียงเพ็ง อำเภอป่าติ้ว จังหวัดยโสธร จะอาศัยการขายข้าวให้กับเรือขนสินค้าเกษตรของพ่อค้าชาวจีนที่ล่องเรือจากตัวเมืองอุบลราชธานี มาตามแม่น้ำมูนเข้ามารับซื้อสินค้าจากชุมชนในแถบแม่น้ำเซบาย (ลำน้ำสาขาแม่น้ำมูนที่ไหลผ่านหมู่บ้านแห่งนี้) เพื่อนำกลับไปส่งขึ้นรถไฟไปกรุงเทพฯ ที่ตัวเมืองอุบลฯ หากพิจารณาในภาพรวมของภาคผลกระทบที่มีต่อการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจอีสาน การเข้ามาของรถไฟเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้ชาวนาและเศรษฐกิจของชนบทอีสานได้เคลื่อนตัวเข้ามาสัมพันธ์กับเศรษฐกิจแบบการค้าที่มีกรุงเทพฯเป็นศูนย์กลาง และเป็นส่วนหนึ่งของตลาดการค้าข้าวโลก แต่ถึงกระนั้นการผลิตเพื่อการค้าสำหรับชาวนาอีสานก็ยังคงจำกัดตัวอยู่ในวงแคบ และมีความสำคัญน้อยกว่าการผลิตเพื่อบริโภคภายในครัวเรือน การพึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติในท้องถิ่นยังคงเป็นด้านหลักของเศรษฐกิจแบบเลี้ยงชีพ

การพัฒนาเศรษฐกิจ นับตั้งแต่ทศวรรษที่ 2490 เป็นต้นมา สหรัฐอเมริกา องค์กรระหว่างประเทศอย่างธนาคารโลก และองค์กรอื่นๆ ได้ให้การสนับสนุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการสร้างถนนสายยุทธศาสตร์อย่างถนนมิตรภาพเชื่อมต่อกรุงเทพฯ เข้าสู่ดินแดนอีสาน การพัฒนาระบบชลประทานแหล่งน้ำเพื่ออุตสาหกรรมและการเกษตร การพัฒนาทางการเกษตรและสังคม รวมไปจนถึงการให้ความช่วยเหลือในการจัดทำแผนพัฒนาที่เน้นการเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นแนวทางพัฒนาประเทศ ด้านหนึ่งการตัดถนนมิตรภาพได้สนับสนุนโครงการทางการเมืองภายใต้ยุทธการล้อมปราบขบวนการคอมมิวนิสต์ของรัฐบาลไทยและอเมริกาได้ค่อนข้างมีประสิทธิภาพ อีกด้านหนึ่งการขยายโครงข่ายการคมนาคมเข้าไปถึงพื้นที่ห่างไกลศูนย์กลางเศรษฐกิจทุนนิยม การกระจายโครงข่ายระบบชลประทานที่ครอบคลุมพื้นที่บางส่วนที่เหมาะสมกับการพัฒนาเศรษฐกิจการเกษตร เมื่อผนวกรวมกับการฟื้นตัวขึ้นของตลาดการเกษตรโลกที่มียุโรปเป็นศูนย์กลาง และแผนพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศที่มุ่งหมายเปลี่ยนเศรษฐกิจแบบเลี้ยงชีพให้เป็นการผลิตเพื่อการค้าเชื่อมกับตลาดทุนนิยมโลก (มณีมัย ทองอยู่, 2546)

(4) เศรษฐกิจจากการขายแรงงาน อันเกิดจาก การขยายตัวของภาคอุตสาหกรรม ภาคบริการและการกระจายอุตสาหกรรมสู่ภูมิภาค ข้อมูลจากพื้นที่ศึกษา บ้านสังคม อำเภอประจักษ์ศิลปาคม จังหวัดอุดรธานี ชี้ให้เห็นว่าสมาชิกของครัวเรือนชาวนาวัยหนุ่มสาวจำนวนมากเดินทางออกไปขายแรงงานนอกหมู่บ้านมาตั้งแต่ช่วงต้นทศวรรษ 2500 ในยุคที่กองทัพประเทศสหรัฐอเมริกาเข้ามาขอใช้พื้นที่จังหวัดอุดรเป็นฐานทัพสนับสนุนการรบในสงครามอินโดจีน ไม่ว่าจะเป็นแรงงานก่อสร้าง แรงงานคนสวน และแม่บ้านในค่ายทหารอเมริกัน ส่วนใหญ่จะออกไปนอกฤดูกาลทำนาแบบไปเช้าเย็นกลับ แต่การทำงานที่ค่ายทหารต้องสิ้นสุดลงหลังสงครามอินโดจีนยุติในปี 2518 การอพยพแรงงานออกนอกภาคขยายตัวมากขึ้นอีกครั้งในช่วงทศวรรษ 2525 โดยเฉพาะการไปเป็นแรงงานทั้งในและนอกภาคการเกษตรภายนอกภาคอีสาน เช่น แรงงานก่อสร้างประเภทโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการขยายตัวของเมืองและเขตอุตสาหกรรมแถบกรุงเทพฯ ภาคกลาง และภาคตะวันออก นอกจากนี้ชาวนาบางส่วนได้เลือกเดินทางไปขายแรงงานในกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง อันเป็นช่วงเวลาที่ประเทศเหล่านี้มีความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจจากการค้าน้ำมันในตลาดโลก และมีความต้องการแรงงานจากกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพื่อไปทำงานก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน เช่น สนามบิน ถนน ท่าเรือ ฯลฯ อย่างไรก็ตามการเดินทางออกไปแสวงโชคของชาวนาอีสานยังต่างแดนกลับไม่ได้ประสบความสำเร็จกันอย่างถ้วนหน้า ชาวนาจำนวนไม่น้อยต้องสูญเสียที่ดินจากการนำไปค้ำประกันเงินกู้กับนายทุนในหมู่บ้าน เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปทำงาน เช่น กรณีของบ้านสังคม ชาวนารายหนึ่งต้องสูญเสียที่ดินให้กับนายทุนในหมู่บ้านไปกว่าเศษหนึ่งส่วนสามของพื้นที่ทำกินทั้งหมด และอีกหลายรายที่ที่ดินหลุดมือไปทั้งหมด และตกอยู่ในฐานะชาวนาไร้ที่ดิน ชาวนากลุ่มนี้จึงมีชีวิตที่ยากลำบากกว่าชาวนากลุ่มอื่นในหมู่บ้าน

การศึกษาของโครงการย่อยในพื้นที่ บ้านหนองหารจาง อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น สะท้อนให้เห็นว่าการเคลื่อนตัวไปเป็นแรงงานของชาวนาอีสานไม่ได้เกิดขึ้นจากความล้มเหลวในลงทุนภาคการเกษตรเพียงด้านเดียว แต่การสูญเสียสิทธิในการเข้าถึงและครอบคลุมทรัพยากรที่เคยอยู่ในมือชาวนาไป จากการขยายอำนาจของรัฐเหนือทรัพยากรของพื้นที่ผ่านโครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ เช่น การสร้างเขื่อนอุบลรัตน์ในลุ่มน้ำพอง ได้ส่งผลให้ชาวนาจำนวนมากถูกโยกย้ายออกจากหมู่บ้านและที่ดินทำกินเดิมของตัวเองแม้ภายหลังชาวนาบางส่วนจะสามารถบุกเบิกที่ดินทำกินแห่งใหม่ได้ แต่ขนาดของการถือครองที่ดินก็มีจำนวนจำกัดและไม่เพียงพอต่อการผลิตเพื่อเลี้ยงชีพ อีกทั้งที่ดินบางส่วนยังไปซ้อนทับกับกรรมสิทธิ์การถือครองของหน่วยงานรัฐอีกด้วย การออกไปเป็นแรงงานในตัวเมืองขอนแก่น จึงเป็นการปรับตัวของชาวนาเพื่อให้ครัวเรือนอยู่รอดต่อไปได้ ดังนั้น ระบบเศรษฐกิจชุมชนท้องถิ่น การขายแรงงาน จึงเป็นรูปแบบหนึ่งของการพยุงสถานะทางเศรษฐกิจของครอบครัว และของชุมชนให้อยู่รอดได้ แม้ว่าจะมีหลายครอบครัวที่ต้องประสบกับความยากลำบากและหนี้สินจากสถานการณ์ดังกล่าว แต่โดยภาพรวมแล้ว การออกไปหางานทำยังแหล่งอื่น การเดินทางไปทำงานต่างประเทศ ยังเป็นรายได้หลักของครัวเรือนมากมายในชนบทอีสาน

(5) การเปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้าและการเชื่อมโยงของอาเซียนและจีน หลังจากสงครามอินโดจีนเริ่มยุติ โดยเฉพาะในกัมพูชา การเจรจาของเขมร 3 ฝ่าย การเข้ามาของสหประชาชาติ บทบาทของไทยในอาเซียนเพื่อทำให้เกิดความสงบสุขในภูมิภาคมากขึ้น เกิดบรรยากาศที่ดีทางการค้า การลงทุน และการผ่อนปรนช่องทางการค้าตามแนวชายแดน จึงทำให้เศรษฐกิจการค้าขายตามแนวชายแดนได้เติบโตมากขึ้น ซึ่งนับเป็นนโยบายเริ่มต้นสำคัญในยุคของรัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุนหะวัณ (เปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า) และหลังจากนั้นเป็นต้นมา ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ก็เริ่มมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการค้า การลงทุนในภูมิภาคอาเซียน ข้อมูลสถิติการค้าชายแดนและการค้าผ่านแดนของประเทศไทย ปี 2558 – 2560 (มกราคม-พฤศจิกายน) ของกรมการค้าระหว่างประเทศ พบว่า มูลค่าการค้าขายระหว่างไทยกับลาว เติบโตอย่างต่อเนื่อง ภาวะการค้าชายแดนไทย – สปป.ลาว ในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2560 (ม.ค.-พ.ย) มีมูลค่าการค้ารวม 185,171.82 ล้านบาท เทียบกับ ช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีมูลค่า 183,380.55 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.98 โดยเป็นการส่งออกมูลค่า 116,591.58 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 5.49 และการนําเข้ามูลค่า 68,580.24 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.27 ไทยได้ดุลการค้า 48,011.34 ล้านบาท สินค้าส่งออกที่สําคัญ ได้แก น้ำมันดีเซล รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบสินค้าอุตสาหกรรมอื่นๆ น้ำมันสําเร็จรูปอื่นๆ ผลิตภัณฑ์เหล็กและเหล็กกล้า สินค้านําเข้าที่สําคัญ ได้แก่ เชื้อเพลิงอื่นๆ (พลังงานไฟฟ้า) ทองแดงและผลิตภัณฑ์ เครื่องรับ-ส่งสัญญาณและอุปกรณ์ติดตั้งฯ ผักและของปรุงแต่งจากผัก เครื่องรับวิทยุโทรศัพท์ โทรเลข โทรทัศน์ สินค้าหลักที่ไทยนําเข้าจาก สปป.ลาว สูงสุด ได้แก่ เชื้อเพลิงอื่นๆ (พลังงานไฟฟ้า) มีสัดส่วนร้อยละ 51.92 ของการนําเข้าทั้งหมด มีมูลค่าการนําเข้า 35,609.65 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.97 ส่วนภาวะการค้าชายแดนไทย - กัมพูชา ในชวง 11 เดือนแรกของปี 2560 (ม.ค.-พ.ย) มีมูลค่าการค้ารวม 113,830.32 ล้านบาท เพิ่มขึ้น ร้อยละ 2.02 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีมูลค่า 111,578.21 ล้านบาท แบ่งเป็นการส่งออกมูลค่า 92,147.65 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 1.12 และการนําเข้ามูลค่า 21,682.67 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.94 ไทยได้ดุลการค้า 70,464.98 ล้านบาท สินค้าส่งออกที่สําคัญ ได้แก่ เครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ รถจักรยานยนต์ และส่วนประกอบ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องยนต์สันดาปภายในแบบลูกสูบและส่วนประกอบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบอื่นๆ ผ้าผืนและด้าย สินค้านําเข้าที่สําคัญ ได้แก่ ผักและของปรุงแต่งจากผัก ลวดและสายเคเบิล ที่หุ้มฉนวน อะลูมิเนียมและผลิตภัณฑ์ เสื้อผ้าสําเร็จรูป ทองแดงและผลิตภัณฑ์ โดยสินค้า สําคัญที่มีมูลค่าการนําเข้าเพิ่มขึ้น ได้แก่ อะลูมิเนียมและผลิตภัณฑ์ เสื้อผ้าสําเร็จรูป และทองแดงและ ผลิตภัณฑ์[2] แม้ว่าสินค้าส่วนใหญ่ไม่ใช่ผลผลิตทางการเกษตร หรือสินค้าที่เกิดจากชุมชนชนบทโดยตรง แต่กระบวนการผลิตสินค้าต่างๆ เหล่านั้น ล้วนเกิดจากแรงงานที่หลั่งไหลออกจากชนบทอีสานเพื่อเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรม ทั้งในเขตกรุงเทพฯ มหานครและปริมณฑล รวมถึงในนิคมอุตสาหกรรมภาคตะวันออก มูลค่าการค้าขายในภูมิภาคอาเซียน จึงเป็นตลาดสำคัญที่ทำให้แรงงานและครอบครัวในชุมชนอีสานได้มีงานทำ มีรายได้มาแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายต่างๆ ของครอบครัว โดยระบบเศรษฐกิจที่พึ่งพารายได้หลายทางนี้เป็นรูปแบบสำคัญของครัวเรือนชนบทอีสาน เช่น การทำนา การทำไร่ (พืชเศรษฐกิจ) การเก็บหาผลผลิตจากธรรมชาติ การรับจ้าง การขายแรงงานต่างถิ่น จึงเป็นเศรษฐกิจฐานรากสำคัญของชุมชนอีสาน

การรุกเข้ามาของจีนในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ผ่านเส้นทางการค้าทางเรือในแม่น้ำโขง เส้นทางคมนาคมทางบกจากจีนตอนใต้มายังลาวและไทย การเข้ามามีบทบาทสำคัญในการลงทุนที่ลาว และกัมพูชา และการพยายามสร้างเส้นทางขนส่งสินค้าในทุกช่องทาง ทำให้อีสานที่เคยเป็นดินแดนที่ถูกล็อค (ปิดล้อม) ให้โดดเดี่ยวเพราะไม่มีทางออกทะเล ไม่มีเส้นทางเชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้านด้วยลัทธิอุดมการณ์ทางการเมืองที่แตกต่างกัน กลายเป็นดินแดนแห่งการเชื่อมต่อ (Land link) โดยเฉพาะการเกิดขึ้นชองสะพานมิตรภาพข้ามแม่น้ำโขงทั้ง 4 แห่ง รวมถึงในอนาคตทั้งทางรถไฟ ถนน และความพยายามในการระเบิดแก่งแม่น้ำโขงของจีนเพื่อให้เดินเรือขนาดใหญ่ได้จนถึงเวียงจันทน์ ส่งผลให้การค้าการลงทุนของจีน รวมถึงสินค้าจีนหลั่งไหลเข้ามาเป็นจำนวนมาก ขณะที่ภาคอีสานยังใช้ประโยชน์จากการเชื่อมต่อดังกล่าวได้ไม่มากนัก เพราะลำพังชุมชนอีสานคงไม่สามารถคิดได้ว่าจะเอาอะไรไปขายให้จีน หรือจะได้อะไรจากช่องทางเปิดตามแนวชายแดนต่างๆ และนี่อาจจะเป็นการก้าวเข้ามาของคนจีนโพ้นทะเลในดินแดนอีสานครั้งสำคัญก็เป็นได้ ปัจจุบันนี้ ตลาดค้าส่งเสื้อผ้าที่ใหญ่ที่สุดจากจีนในภาคอีสาน คือ ตลาดโบ้เบ๊ของจังหวัดอุดรธานี ซึ่งมีผู้ประกอบการชาวจีนเข้ามาลงทุนนำเข้าสินค้าจากจีนเข้ามาขายเป็นจำนวนมาก กิจการหลายๆ อย่างของคนจีนเข้ามาในอีสานมากขึ้น รวมทั้งการเข้ามาถือครองที่ดินอย่างถูกต้องและแอบแฝงในรูปแบบต่างๆ ทั้งการทำโรงงานยางพารา โรงงานอุตสาหกรรมขนาดย่อม การทำฟาร์มปศุสัตว์ การเช่าพื้นที่ปลูกพืชเศรษฐกิจ และการเข้ามาเป็นพ่อค้าคนกลางในการรวบรวมสินค้าส่งไปจีน ไม่รวมถึงการลักลอบทำธุรกิจที่ผิดกฎหมาย เช่น ไม้พยุง ซึ่งทำให้เห็นถึงระบบเศรษฐกิจแบบใหม่ในชุมชนอีสานที่หลากหลายและซับซ้อนกว่าเดิมมาก โดยที่ชุมชนอาจจะยังไม่อาจจะตั้งรับได้ทัน หรือไม่ทันรู้ตัว       

(6) การย้ายฐานการผลิตอุตสาหกรรมเพื่อลดข้อจำกัดและการปรับแก้เชิงพื้นที่ อันที่จริงแล้ว เป็นนวัตกรรมของทุนนิยมที่แสวงหาโอกาสที่จะทำกำไรสูงสุดจากสถานการณ์และต้นทุนที่เปลี่ยนไป เช่น ค่าแรงแพง ต้นทุนการขนส่ง วัตถุดิบ การจัดการ รวมถึงการลดต้นทุนการจัดการยิบย่อยที่ผู้ประกอบการต้องจ่าย หรือเป็นภาระ ซึ่งอาจจะรวมถึงการลดภาระด้านภาษี ค่าธรรมเนียมภาครัฐ กฎหมายเกี่ยวกับการดูแลสวัสดิการแรงงาน ฯลฯ ทำให้ครอบครัวชนบทมากมายในชุมชนเข้าไปอยู่ในห่วงโซ่ดังกล่าว เช่น ระบบเกษตรแบบพันธะสัญญาต่างๆ การเลี้ยงปลาในกระชัง การรับจ้างผลิตเมล็ดพันธุ์ การเลี้ยงไก่ในระบบปิด การทำฟาร์มสุกรขนาดใหญ่ รวมไปถึงการรับจ้างเหมาผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูป เป็นต้น เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการผลิตเอง การต้องจ่ายค่าจ้างและระบบสวัสดิการแก่แรงงาน รวมถึงการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรสาธารณะเพื่อประโยชน์ของตนเองมากขึ้น เช่นกรณีการเลี้ยงปลาในกระชังแบบพันธะสัญญาตามแม่น้ำต่างๆ

อุตสาหกรรมหลายชนิดย้ายฐานการผลิตเข้ามาในภาคอีสาน เพื่อลดค่าใช้จ่ายในแหล่งผลิตเดิมที่เผชิญปัญหาแรงงานหายาก ต้นทุนสูง ที่ดินราคาแพง เช่น อุตสาหกรรมน้ำตาล ซึ่งมีโรงงานที่ย้ายฐานการผลิตมายังภาคอีสานในรอบ 10 ปี นี้ 2550-2560 ถึง 14 โรงงาน แต่ละโรงงานต้องการพื้นที่เพาะปลูกอ้อยประมาณ 3-6 แสนไร่ ซึ่งหากดำเนินการจัดตั้งโรงงานได้ตามแผนจะต้องใช้พื้นที่ปลูกอ้อยรวมกันถึง 6 ล้านไร่ และก็เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับนโยบายของรัฐที่ต้องการลดพื้นที่การปลูกข้าว ทำให้การเข้ามาของโรงงานน้ำตาลจึงตอบโจทย์ของรัฐและทุน แต่จะเป็นที่พึ่งหวังของชาวบ้านหรือไม่ต้องพิจารณาจากโรงงานเดิมที่มีอยู่แล้วเป็นสำคัญด้วย ซึ่งเกษตรกรมักจะประสบความสำเร็จในช่วงแรกๆ และเผชิญหน้ากับต้นทุนที่สูงขึ้น ราคาตกต่ำ หนี้สิน และการสูญเสียที่ดินตามมา แต่ภาคอีสานยังน่าดึงดูดใจในการลงทุนด้านนี้ โดยเฉพาะพื้นที่เปิดโรงงานใหม่ๆ เพราะยังมีพื้นที่นาข้าว พืชไร่ และป่าครอบครัวตามหัวไร่ปลายนาที่พร้อมจะให้บุกเบิกแผ้วถางเพื่อปลูกพืชเศรษฐกิจส่งโรงงานอีกหลายล้านไร่        

 

1.2.2 ผลพวงที่ตามมาจากการเปลี่ยนแปลงระบบเศรษฐกิจของอีสาน

(1) การบริโภคและความทันสมัย การเปลี่ยนแปลงระบบเศรษฐกิจแบบเดิมจากการพึ่งพาธรรมชาติ การพึ่งพาตนเองและพึ่งพากันเองของชุมชน ไปสู่เศรษฐกิจที่พึ่งพาภายนอกมากขึ้น รวมถึงพึ่งพาความหลากหลายของอาชีพมากขึ้น ทำให้ภาพรวมของรายได้คนในชุมชนสูงขึ้น และมีกำลังซื้อมากขึ้นด้วย การสัมพันธ์กับโลกภายนอกและความก้าวหน้าของการสื่อสารต่างๆ ทำให้เกิดวิถีการบริโภคที่เปลี่ยนแปลงตามไปด้วย ปัจจุบันนี้ ขยะในชนบทกับขยะในเขตเมืองแทบมีส่วนประกอบไม่แตกต่างกัน คนชนบทใช้สินค้าและบริโภคสิ่งเดียวกันกับที่คนเมืองใช้ คนแทบทุกวัยใช้อินเตอร์เน็ตได้ สื่อสารกันด้วยรูปแบบที่ทันสมัยเหมือนกับที่คนในเมืองใช้ การบริโภคของชนบทที่เปลี่ยนไป ทำให้อุตสาหกรรมผลิตสินค้าและบริการที่เกี่ยวข้องกับการอุปโภคบริโภคได้เติบโตและยังเป็นธุรกิจที่มั่นคง ตามตลาดนัดในชุมชนเป็นสถานที่ระบายสินค้าจากอุตสาหกรรมทั้งในประเทศและนำเข้าจากต่างประเทศ เช่น จีน ความทันสมัยและการบริโภคที่มากขึ้นของครัวเรือน ย่อมส่งผลต่อรายจ่ายภาคครัวเรือนที่มากขึ้น รวมถึงการบริโภคในภาคบริการที่มากขึ้น ทั้งสินเชื่อ การศึกษาของบุตรหลาน ค่าสาธารณูปโภค โทรศัพท์ (ที่สมาชิกในครอบครัวมีทุกคน) สินค้าอื่นๆ เช่น รถยนต์ส่วนบุคคล อุปกรณ์ทางการเกษตร ก็มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเช่นกัน หรือแม้แต่ อาหาร ที่ส่วนใหญ่ต้องซื้อถึงร้อยละ 30-40 ของรายจ่ายทั้งหมดในครัวเรือน สะท้อนให้เห็นว่า แม้แต่อาหารที่เคยผลิตได้เองในครัวเรือนก็ต้องซื้อเป็นส่วนใหญ่ ครัวเรือนชนบทอีสานจึงมีค่าใช้จ่ายมากขึ้น มีค่าครองชีพที่สูงขึ้น ขณะที่รายได้ (นอกภาคการเกษตร) ก็สูงขึ้นด้วย แม้ว่ารายได้ภาคการเกษตรและราคาสินค้าเกษตรจะไม่ได้เพิ่มขึ้นนัก หรือแทบไม่เพิ่มขึ้นเลย อาชีพนอกภาคเกษตรจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ครอบครัวชนบทอีสานคำนึงถึงสำหรับอนาคตลูกหลานของพวกเขา

ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นมากของครัวเรือน คือ ด้านการศึกษา ซึ่งอาจจะเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเปลี่ยนผ่านไปสู่ความทันสมัย เป็นโอกาสในการยกระดับสถานะทางสังคมและเศรษฐกิจหากลูกหลานได้งานประจำที่มั่นคงและรายได้ที่ดี หลายครัวเรือนในพื้นที่ศึกษา คือ บ้านสังคม ตำบลห้วยสามพาด อำเภอประจักษ์ศิลปาคม จังหวัดอุดรธานี นิยมส่งลูกหลานของตนเองเข้าไปศึกษาในเมือง ซึ่งนำมาซึ่งการเพิ่มภาระค่าใช้จ่าย ทั้งค่าเทอม (จะแพงมากสำหรับกรณีที่เข้าไปเรียนสถานศึกษาเอกชน) ค่าอาหาร และค่าเดินทาง เมื่อเข้าสู่ระดับอุดมศึกษา ค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาก็จะสูงขึ้นอีกเท่าตัว เนื่องจากการศึกษาในระดับอุดมศึกษาต้องเข้าไปศึกษาในเมือง หรือไปใช้ชีวิตในจังหวัดอื่น ค่าใช้จ่ายก็จะเพิ่มมากขึ้นอีก เช่น ค่าหอพัก ค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า ค่าอาหาร ค่าบำรุงการศึกษาและกิจกรรมอื่นๆ ในระหว่างการศึกษา ซึ่งชาวบ้านให้ข้อมูลว่า เมื่อลูกหลานที่ออกไปเรียนข้างนอก ค่าใช้จ่ายด้านอาหารจะเพิ่มขึ้น เนื่องจากนักศึกษาไม่มีเวลาในการประกอบอาหาร ต้องซื้ออาหารสำเร็จรูปบริโภค ต่างจากการอยู่ที่บ้านที่ประกอบอาหารกินกันในครอบครัวอาจจะมีการซื้อวัตถุดิบบางอย่างเพิ่มเติมเท่านั้น แต่การลงทุนทางการศึกษา ก็เป็นความหวังหนึ่งที่สำคัญในการที่ลูกหลานจะมีโอกาสได้งานดีๆ ทำ และไม่ลำบากเหมือนคนรุ่นก่อนๆ

(2) ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ โดยภาพรวมของการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนอีสานที่ผ่านมากว่า 5 ทศวรรษ ส่งผลให้เกิดความเหลื่อมล้ำในหลายๆ ด้าน ทั้งการถูกลิดรอนสิทธิในการเข้าถึงและจัดการทรัพยากร เช่น การสร้างเขื่อนอุบลรัตน์ทำให้ชาวบ้านต้องอพยพจากที่ทำกินตนเอง ไปอยู่ในพื้นที่ใหม่ซึ่งไม่อุดมสมบูรณ์เหมือนเก่า และยังมีโครงการชลประทานที่ทำให้ทรัพยากรสัตว์น้ำในพื้นที่ชุ่มน้ำห้วยเสือเต้นลดน้อยลง การได้รับผลกระทบจากน้ำเสียที่มีอุตสาหกรรมโรงน้ำตาลและโรงงานเยื่อกระดาษอยู่ส่วนบนของลุ่มน้ำ ขณะที่รายได้จากการผลิตพืชไร่ส่งโรงงานก็ไม่เป็นดังที่มุ่งหวังเอาไว้ เพราะต้นทุนสูง ราคาผลผลผลิตตกต่ำ จึงเป็นปัญหาและความเหลื่อมล้ำในทางเศรษฐกิจตามมา ได้แก่  ความสามารถในการแข่งขัน (ต้นทุน ราคาผลผลิต และการต่อรองทางการตลาด) หนี้สินและการสูญเสียที่ดิน ส่วนต่างในการแบ่งปันผลประโยชน์จากการผลิตที่ไม่เป็นธรรม ความร่อยหรอเสื่อมโทรมของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ซึ่งส่งผลกระทบต่อศักยภาพของผลผลิตจากระบบนิเวศธรรมชาติที่เคยเอื้ออำนวยให้ หรือที่เรียกว่า การบริการของระบบนิเวศ หรือ Ecosystem Service) การเสื่อมถอยของผลิตภาพเชิงพื้นที่ในระยะยาว (ที่ดินซึ่งขาดการบำรุงที่ดีและปลูกพืชเชิงเดี๋ยวซ้ำซากย่อมส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพในการผลิตในระยะยาว คือ ผลผลิตจะลดลงเรื่อยๆ จนถึงจุดที่ไม่สามารถทำการผลิตได้)   นอกจากนี้ ด้วยความจำกัดของทรัพยากรท้องถิ่น (ดินเสื่อมโทรม ขาดแคลนน้ำหรือไม่อยู่ในพื้นที่ซึ่งมีระบบชลประทาน พื้นที่ป่าธรรมชาติที่ลดลง รวมถึงป่าหัวไร่ปลายนาในที่ดินตนเองที่ถูกเปลี่ยนเป็นพืชไร่) แรงงานที่นับวันหายากมากขึ้น และการใช้เครื่องจักรทดแทนแรงงานก็มีค่าใช้จ่ายที่สูงเช่นกัน (เช่นเกษตรกรที่ปลูกอ้อยต้องพึ่งพาเครื่องจักรด้วยการจ้างตั้งแต่ขึ้นการเตรียมดิน ปลูก ไปจนถึงการเก็บเกี่ยว และการขนส่งผลผลิตไปยังโรงงาน) สิ่งสำคัญคือ ผลกระทบเหล่านี้ ได้กลายเป็นปัญหาและภาระที่ดูเหมือนจะหนักหนามากขึ้นทุกปี และเกษตรกรเองก็มีข้อจำกัดและมีขีดความสามารถในการปรับตัวที่ต่ำ เมื่อเทียบกับนายทุนรายใหญ่ เจ้าของโควต้าอ้อย และลานรับซื้ออ้อยที่มีทุนหมุนเวียนและเครือข่ายสนับสนุนมากกว่า

การขยายตัวของอุตสาหกรรมอ้อย ในพื้นที่ศึกษา ชุมชนบ้านหินกอง ตำบลวานรนิวาส อำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร เป็นส่วนสำคัญในกระบวนการสร้างความเปราะบางทางเศรษฐกิจ และส่งผลให้เกิดการสูญเสียที่ดิน และความไม่มั่นคงทางอาหาร เนื่องจากอ้อยเป็นพืชเกษตรที่ต้องปลูกเป็นแปลงใหญ่ ต้องใช้เงินในการลงทุนมาก เพื่อจัดการแปลงปลูก ซึ่งแตกต่างกับการทำนา ทำไร่ ที่สามารถพึ่งพาคนในครอบครัวได้ การปลูกอ้อยมิใช่การทำเกษตรแบบครอบครัว การปลูกอ้อยเป็นการทำเกษตรที่ต้องพึงพาภายนอกทั้งระบบคือ ต้องมีแรงงาน เครื่องจักร ปุ๋ยเคมี สารเคมี มีตลาดที่รับซื้อ (โรงงานอ้อยหรือลานรับซื้อในพื้นที่) เหตุผลเหล่านี้ทำให้คนที่ปลูกอ้อยต้องกู้เงินในสถาบันการเงิน (ทั้งในและนอกระบบ) เพื่อมาเป็นทุนในการปลูก มีหลายครั้งที่ชาวบ้านในพื้นที่นำโฉนดที่ดินไปค้ำประกันเอาเงินทุนมาปลูกตามรอบปี จนทำให้เกิดภาระหนี้สิน และที่ดินหลุดมือไปในที่สุด เกิดปัญหามากมายที่ตามมา จนมีบางรายต้องผันตัวเองไปเป็นแรงรับจ้างภายนอก เพื่อหาเงินใช้หนี้รายเดือนและรายปีตามสัญญาเงินที่กู้ยืมมา สภาพที่เห็นเมื่ออ้อยเข้ามาในหมู่บ้านหินกอง ป่าหัวไร่ปลายนาเริ่มหายไป มีนายทุนในและนอกพื้นที่เข้ามากว้านซื้อและเช่าที่ดินแปลงใหญ่และโค่นป่าเพื่อปลูกอ้อย ดังนั้น ปัญหาและแนวโน้มที่ชุมชนจะได้รับผลกระทบจากการขยายตัวของอุตสาหกรรมอ้อย คือ 1) การแย่งชิงน้ำเพื่อการเกษตรในพื้นที่อ่างเก็บน้ำห้วยหินกอง จากการพัฒนาแหล่งน้ำของรัฐที่ไม่เป็นธรรม การจัดการน้ำเพื่อเกษตรแปลงใหญ่ (การจัดการน้ำในไร่ปลูกอ้อยแปลงใหญ่ในพื้นที่) เกษตรกรรายย่อยจึงขาดโอกาสเข้าถึงแหล่งน้ำ 2) ผลกระทบเรื่องแหล่งอาหารในชุมชน เนื่องจากป่าโคก (ป่าเต็งรัง) พื้นที่หาอาหารตามฤดูการเริ่มน้อยลงทุกปี ทำให้เกิดความไม่มั่นคงเรื่องอาหาร (ปลอดภัย) หากหมดป่าโคกและแหล่งน้ำที่อุดมสมบูรณ์แล้วคนในชุมชนอาจต้องพึงพาอาหารจากภายนอกเกือบทั้งหมด

ในพื้นที่ศึกษา ชุมชนบ้านหม้อ อำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย ข้อมูลจากสำรวจระหว่างเดือนมกราคม-เมษายน 2560 กลุ่มเป้าหมายเป็นเกษตรกรระดับล่าง หรือคนที่มีที่ดินทำกินเป็นของตนเองไม่เกิน 8 ไร่ พบว่า 1)  มีรายได้ครัวเรือนเฉลี่ย ไม่เกินครัวเรือนละ 100,000 บาท/ต่อปี ต่ำสุดอยู่ที่ 30,000 บาท/ต่อปี 2) ส่วนใหญ่ไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตนเอง การทำการเกษตรจะเป็นไปในลักษณะของการเช่าที่ดิน 3) มีปัญหาในการเข้าถึงการเช่าที่ดิน เนื่องจากการช่วงชิงที่ดินในการทำการเกษตรในพื้นที่มีความเข้มข้นสูง มีการตัดราคาการเช่าจากเกษตรกรที่มีทุนมากกว่า โดยราคามาตรฐานในการเช่าที่ดินเพื่อทำการเกษตรจะอยู่ที่ 1,000-1,500 บาท/ไร่/รอบการผลิต และ 4) มีลักษณะของเกษตรกรที่สลับไปมาระหว่างการเป็น “ผู้ประกอบการ” ในที่ทำกินตนเอง หรือที่เช่าและการเป็น “แรงงานรับจ้าง” ในแปลงเกษตรของคนอื่นในชุมชน 5) ยังคงมีช่วงเวลาของการสัมพันธ์กับแหล่งหาอยู่หากินอื่นนอกเหนือจากการทำการเกษตร เช่น ห้วยหินลาด พื้นที่ทามโขง ป่าโคก (วัดอรัญฯ) หนองบัว เป็นต้น และสาเหตุความเหลื่อมล้ำที่พบในกลุ่มเป้าหมายของชุมชนบ้านหม้อ สามารถจำแนกประเด็นได้ ดังนี้

  • การแบกรับความเสี่ยงต่อการผลิตในระบบพันธะสัญญาแต่เพียงผู้เดียวของเกษตรกรเมื่อถึงภาวะขาดทุนหรือราคาผลผลิตในกลไกตลาดตกต่ำ
  • การเข้าไม่ถึงการเช่าที่ดิน เนื่องจากการตัดราคาเช่าจากนายทุนที่มีกำลังเช่าที่ดินมากกว่าอันเนื่องมาจากการส่งเสริมพืชเศรษฐกิจของนโยบายรัฐและกลุ่มทุนการเกษตรที่เข้มข้นในพื้นที่
  • การสูญเสียที่ดินเพื่อลงทุนในระบบเกษตรพันธะสัญญา จากการจำนองค้ำประกัน
  • การจำนนต่อกลไกราคาตลาดและระบบเกษตรพันธะสัญญาที่ผูกมัด (ราคารับซื้อขยับเป็นหน่วยสตางค์ แต่ปัจจัยการผลิตขยับเป็นหน่วยร้อย)
  • การแข่งขันของนายทุนในการส่งเสริมการปลูกพืชเศรษฐกิจในพื้นที่ที่เข้มข้น ทำให้เกษตรกรขาดทางเลือกในการทำเกษตรกรรมตามความต้องการที่หลากหลาย เพราะต้องวิ่งตามกลไกการส่งเสริมการผลิตจากภายนอก

พื้นที่ศึกษา บ้านเชียงเพ็ง ตำบลป่าติ้ว อำเภอเมือง จังหวัดยโสธร ได้ให้ข้อมูลที่สำคัญอันจะส่งผลต่อความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจในอนาคตจากนโยบายของรัฐ คือ นโยบายประชารัฐกับความเหลื่อมล้ำจากการส่งเสริมให้เกิดอุตสาหกรรมอ้อย ในพื้นที่ลุ่มน้ำลำเซบาย โดยรัฐมีเป้าหมายเพื่อยกระดับรายได้ของประเทศให้สูงมากขึ้น ควบคู่กับการเติบโตอย่างมีส่วนร่วมในทุกภาคส่วน โดยแต่งตั้งคณะกรรมการภาครัฐและเอกชนเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ (Public-Private Steering Committee) หรือ “คณะกรรมการสานพลังประชารัฐ” ที่มีคณะทำงาน 12 คณะ ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ถือเป็นส่วนหนึ่งใน “คณะทำงานการพัฒนาการเกษตรสมัยใหม่” โดยมีแผนงานหลักๆ คือ โครงการรวมกลุ่มการผลิตการเกษตรให้เป็นระบบแปลงใหญ่แบบเกษตรสมัยใหม่ โครงการพัฒนาสหกรณ์การเกษตรประชารัฐ ปรับเปลี่ยนพื้นที่นาไม่เหมาะสมไปทำการเกษตรอย่างอื่นที่ให้ผลตอบแทนที่สูงกว่า ซึ่งการประกอบอาชีพการทำไร่อ้อย คือทางเลือกที่รัฐหยิบยื่นให้กับชุมชน โดยมีการโน้มน้าวว่าอาชีพการปลูกจะมีกฎหมาย พรบ. อ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2557 ที่คุ้มครองเกษตรกรผู้ปลูกอ้อยไม่ให้ประสบปัญหาการขาดทุน มีเจ้าหน้าที่ทั้งจากภาครัฐและเอกชนในการถ่ายทอดความรู้ และเทคโนโลยีสมัยใหม่ การพัฒนาระบบชลประทาน รวมทั้งการจัดการที่มีประสิทธิภาพ การมีตลาดที่รับซื้ออย่างแน่นอน และมีสินเชื่อด้านปัจจัยการผลิตในราคาที่ถูก

ดังนั้น ฐานทรัพยากรของท้องถิ่นกำลังถูกผลักให้เข้าไปรับใช้ระบบทุนขนาดใหญ่มากขึ้นเรื่อยๆ ชุมชนท้องถิ่นเริ่มที่จะสูญเสียโอกาสในการเลือกหนทางในการสร้างอาชีพที่ยั่งยืนและสอดคล้องกับฐานทรัพยากรที่พวกเขามี กรณี ชาวบ้านเชียงเพ็ง ป่าติ้ว ทรัพยากรอันอุดมสมบูรณ์ของพวกเขา คือ ลำเซบาย ป่าโคก ป่าบุ่งป่าทาม ที่นาที่อุดมสมบูรณ์ แต่สิ่งที่รัฐผลักดัน คือ โรงงานน้ำตาล ที่ต้องการพื้นที่ปลูกอ้อยจำนวนมาก (และอาจกระทบกับพื้นที่ป่าดังเช่นพื้นที่อื่นๆ) ต้องการน้ำจำนวนมากในการผลิต (แน่นอนว่าต้องใช้น้ำจากลำเซบาย) ต้องใช้สารเคมี ปุ๋ยเคมี และรูปแบบการผลิตที่เปลี่ยนไปจากเดิม และมีต้นทุนในการดำเนินการเปลี่ยนแปลงที่สูงขึ้น (ทั้งการปรับพื้นที่ พันธุ์อ้อย ปัจจัยการผลิต เครื่องจักร การขนส่ง แรงงาน และอื่นๆ) การมาของโรงน้ำตาล เป็นเรื่องที่ชุมชนห่วงกังวลมากกว่าจะยอมรับที่มีโรงงานรับซื้อผลผลิตใกล้บ้าน เนื่องจาก เป็นโรงงานน้ำตาลขนาดกำลังการผลิต 20,000 ตันอ้อย/วัน (หรือ 2,400,000 ตัน/ฤดูหีบอ้อย ซึ่งคิดเป็นพื้นที่ปลูกอ้อยประมาณ 200,000 ไร่) มีโรงไฟฟ้าชีวมวลขนาด 61 เมกะวัตต์ ซึ่งทั้งหมดตั้งในเขตพื้นที่ตำบลน้ำปลีก อำเภอเมืองอำนาจเจริญ จังหวัดอำนาจเจริญ ซึ่งอยู่ฝั่งตรงข้ามกับชาวบ้านเชียงเพ็ง ประมาณ 3 กิโลเมตร โดยมีลำน้ำเซบายขวางกั้นอยู่เท่านั้น   

2.การปรับตัวทางเศรษฐกิจของชุมชนอีสานเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ และการปฏิบัติการเศรษฐกิจฐานรากในระดับพื้นที่

แม้ว่าชุมชนชนบทอีสานจะเผชิญปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจหลายระลอกและหลายด้าน แต่ก็มีความพยายามในการปรับตัวเป็นอย่างมากเพื่อความอยู่รอด หรืออย่างน้อยก็ให้สามารถแก้ปัญหาได้บ้าง ซึ่งมีรูปแบบหลักๆ คือ การแสวงหารายได้นอกภาคเกษตร เป็นความพยายามแรกของทุกชุมชนในการแสวงหารายได้ทางอื่น หลักๆ ก็คือการรับจ้างในพื้นที่ (ในฤดูเก็บเกี่ยวข้าว อ้อย ที่มีความต้องการแรงงานมาก) การไปรับจ้างในเมือง รวมถึงที่กรุงเทพฯ และจังหวัดอื่นๆ ซึ่งมีเครือข่ายคนพื้นที่เป็นผู้รับเหมา ทั้งงานก่อสร้างและงานบริการต่างๆ การไปค้าขายในจังหวัดที่มีเศรษฐกิจดี (โดยเฉพาะการขายอาหารริมทางเท้า) การไปทำงานต่างประเทศ เช่น การไปเก็บผลไม้ในยุโรป (ประเทศแถบสแกนดิเนเวีย) การไปรับจ้างทำเกษตรในฟาร์มที่อิสราเอล เกาหลีใต้ เป็นต้น และสิ่งสำคัญคือ การที่สมาชิกรุ่นลูกรุ่นหลานที่มีโอกาสได้รับการศึกษา ได้ไปทำงานประจำและมีรายได้ส่งมาให้ครอบครัว และการลงทุนด้านนี้ ก็เป็นสิ่งที่ครัวเรือนชนบทอีสานพยายามที่จะให้ลูกหลานมุ่งไปสู่เป้าหมายนั้นมากกว่ามาทำการเกษตร ในพื้นที่ศึกษา บ้านหินกอง ตำบลวานรนิวาส อำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร นอกจากอาชีพหลักที่ทำการเกษตรแล้ว ชาวบ้านยังมีอาชีพอื่น หรือหารายได้ด้วยวิถีทางอื่น ได้แก่ การขายแรงงาน การค้าขาย รายได้จากลูกหลานที่ไปขายแรงงานต่างถิ่น ขายไอศกรีม ปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ขายรองเท้า ค้าขายรถเร่ รับจ้างทั่วไป รับขุดเจาะน้ำบาดาล เป็นต้น

ส่วนกิจกรรมหรือรูปแบบอื่นๆ ที่ชุมชนพื้นที่ศึกษาพยายามปรับตัว ยังไม่ปรากฏให้เห็นมากนัก แม้ว่าจะมีความพยายามในการเริ่มทำให้เป็นรูปธรรมแต่ก็ยังอยู่ในสภาวะยังไม่เป็นหลักให้กับระบบเศรษฐกิจฐานรากของชุมชนได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดการด้านการตลาด ซึ่งพอจะสรุปสิ่งที่ต้องพัฒนาหรือหนุนเสริมเพิ่มเติม ดังนี้

1) ยังขาดกิจกรรมที่หลากหลาย ส่วนใหญ่ยังมีแต่การผลิตพืชเชิงเดี่ยวที่มีผู้ผลิตมากรายแต่ผู้ซื้อน้อยราย เช่น ข้าว อ้อย มันสำปะหลัง

2) การลดความเสี่ยง หรือประกันความเสี่ยงจากการผลิต (ทั้งความเสี่ยงจากราคาผลผลิตที่ไม่แน่นอน ความเสี่ยงจากผลผลิตเสียหายด้วยสภาพลมฟ้าอากาศและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ) ซึ่งหลักๆ ยังเพียงแค่รอรับความช่วยเหลือจากรัฐในรูปแบบเงินชดเชยภัยพิบัติ

3) ความหลากหลายของสินค้า (โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าที่นอกเหนือจากสินค้าที่เป็นอาหาร หรือไม่ใช่สินค้าเกษตรพื้นฐาน) ซึ่งตลาดมีความต้องการสินค้าประเภทเหล่านี้อยู่ด้วยเช่นกัน เช่น ผลิตภัณฑ์จากไม้ ของใช้ในครัวเรือน เครื่องมือประกอบอาชีพ สิ่งของที่ใช้ในชีวิตประจำวัน เป็นต้น

4) ยังมีการรวมกลุ่มกิจกรรมทางการผลิตน้อย ทำให้ต้นทุนการผลิตสูง ประสิทธิภาพต่ำ ขาดการควบคุมคุณภาพสินค้า และมีปัญหาไม่สามารถผลิตตามยอดสั่งซื้อจำนวนมากๆ ได้ และความพยายามเชื่อมโยงกลุ่มการผลิตกับกลุ่มผู้บริโภค หรือการกระจายผลผลิตไปยังผู้ต้องการสินค้ายังไม่เป็นผลมากนัก

5) สถาบันการเงินของชุมชนยังไม่เข้มแข็ง แม้ว่าบางชุมชนจะมีกองทุนต่างๆ มากมาย เช่น พื้นที่ชุมชนบ้านสังคม ตำบลห้วยสามพาด อำเภอประจักษ์ศิลปาคม จังหวัดอุดรธานี มีกลุ่มสถาบันการเงิน ดังนี้ 1) กลุ่มเลี้ยงสัตว์ห้วยสามพาด แต่เดิมเป็นกลุ่มที่ตั้งขึ้นมาเป็นกองทุนเพื่อให้ซื้อควายแจกจ่ายให้ชาวบ้านเลี้ยง เป็นเงินที่ได้จากการจดทะเบียนกับสหกรณ์การเกษตร โดยเริ่มแรได้เงินมา 500,000 บาท อีกส่วนได้มาจากโครงการ SML เป็นเงินจำนวน 280,000 บาท อีกส่วนจากโครงการเศรษฐกิจพอเพียง จึงได้นำมาเปลี่ยนเป็นเงินให้ชาวบ้านกู้ยืม ร้อยละ3 ต่อปี 2) กองทุนเงินล้าน เป็นกองทุนที่ให้เงินมาในยุครัฐบาลทักษิณ ชินวัตร โดยเงินที่ได้มาขึ้นอยู่กับคณะกรรมการกองทุนของแต่ละหมู่บ้านว่าจะนำไปพัฒนาหรือทำสิ่งต่างๆในหมู่บ้าน ทางบ้านสังคมจึงนำมาปล่อยกู้ โดยมีอัตราดอกเบี้ยแต่เดิม ร้อยละ 3 ต่อปี ต่อมาเพิ่มเป็นร้อยละ 6 ต่อปี 3) กองทุนประชารัฐ เป็นกองทุนที่ได้เงินสนับสนุนในรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันโอชา เป็นเงินจำนวน 500,000 บาท โดยการนำเงินมาใช้ประโยชน์ขึ้นอยู่กับแต่หมู่บ้านบริหารจัดการ โดยทางบ้านสังคมได้นำเงินมาซื้อวัวจำนวน 12 ตัว เพื่อแจกจ่ายให้สมาชิกนำไปเลี้ยง เมื่อเลี้ยงไปจนวัวตกลูกสมาชิกที่เลี้ยงก็สามารถซื้อวัวไว้ได้ในราคาถูก โดยปัจจุบันมีสมาชิก 15 คน ซึ่งสมาชิกแต่ละคน ต้องมีการสมทบหุ้นคนละ 500 บาท 4) กองทุน กขคจ. (แก้ไขปัญหาความยากจนในหมู่บ้าน) สมาชิกในหมู่บ้านทุกครัวเรือนมีสิทธิยืม เป็นเงินที่ให้ผ่านกรมการพัฒนาชุมชน โดยให้หมู่บ้านละ 280,000 บาท มาในช่วง 2541 เป็นเงินที่ให้ยืมเป็นช่วงปีละครั้ง เป็นเงินที่แบ่งเป็น 2 รอบเพื่อให้ได้ยืมกันทั่วถึงในหมู่บ้าน 5) กองทุนเงินฉุกเฉิน เริ่มต้นเป็นเงินที่มาจากองค์การบริหารส่วนจังหวัด เริ่มแรกมีเงินในกองทุน 16,000 บาท สมาชิกในหมู่บ้านทุกครัวเรือนมีสิทธิยืม เป็นเงินที่ให้สมาชิกในชุมชนยืมในภาวะฉุกเฉิน โดยมี อัตราดอกเบี้ย ร้อยละ 6 ต่อเดือน 6) กองทุนแม่ของแผ่นดิน เป็นเงินที่ได้จากกองทุนแม่ของแผ่นดิน กองทุนมีเงินหมุนเวียนอยู่ 20,000 บาท เป็นเงินสำหรับเป็นเงินขวัญถุง โดยยืมได้ครั้งละ 1,000 บาท แต่ต้องสมทบเงินเข้ากองทุน 100 บาทต่อครั้ง 7) สหกรณ์การเกษตร มีอัตราดอกเบี้ย ร้อยละ 6 ต่อปี แต่ถ้าหากไม่มีการชำระจะมีการปรับดอกขึ้น ร้อยละ 12 ต่อปี  8) ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) มีการให้กู้ยืมเงิน เป็น 2 ส่วน เรียกสั้นๆ ว่าเงินสั้นและเงินยาว เงินยาวมีอัตราดอกเบี้ย ร้อยละ 10 ต่อปี แม้ว่าจะมีกองทุนต่างๆ หรือสถาบันทางการเงินมากมายขนาดนั้น แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของชุมชน

6) การจัดการปัญหาหนี้สินที่ไม่ยั่งยืน เกษตรกร หรือชาวบ้านในชุมชน มีหนี้สินจากเงินกู้หลายแหล่ง จึงวนเวียนพันตูอยู่กับการนำเงินจากที่หนึ่งไปใช้อีกที่หนึ่งเมื่อถึงรอบของการชำระเงินกู้ จนสุดท้ายต้องไปกู้เงินนอกระบบ ปัญหาสำคัญจึงเป็นเรื่องการไม่มีรายได้มากพอที่จะใช้หนี้ จึงทำได้เพียงหมุนเงินเพื่อใช้หนี้ตามรอบการชำระหนี้ของแต่ละกองทุน โดยเฉพาะหนี้ก้อนใหญ่อย่าง ธกส. รวมถึงการกู้เงินไปใช้ก็เป็นการใช้จ่ายในหลายๆ ด้าน จึงมีส่วนที่เอาไปพัฒนาระบบการผลิตจริงๆ ไม่มาก อีกทั้งเมื่อมีผลผลิตออกมา ก็ราคาไม่ดี หรือขาดทุน ก็ต้องกู้เพิ่ม จนอยู่ในวังวนของหนี้สินไม่สิ้นสุด

7) ขาดการรวมกลุ่มกันแปรรูปและเพิ่มมูลค่าจากผลผลิต ยังไม่เห็นแบบอย่างที่เป็นรูปธรรมจากพื้นที่ ด้วยเพราะแต่ละพื้นที่ขาดการเชื่อมโยงเครือข่ายความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับชุมชนอื่นหรือการหาตลาดใหม่ๆ ซึ่งมีความพยายามในการปฏิบัติการเรื่องนี้ ในพื้นที่ศึกษาชุมชนบ้านสังคม ตำบลห้วยสามพาด อำเภอประจักษ์ศิลปาคม จังหวัดอุดรธานี โดยการรวมกลุ่มกันผลิตผักแป้น (กุยช่าย) มีสมาชิกจาก 4 หมู่บ้าน ภายใต้ความคิดเศรษฐกิจแบบแบ่งปัน เป้าหมายที่วางเอาไว้เบื้องต้น คือ 1) สร้างรายได้หมุนเวียนในครัวเรือนและลดความเสี่ยงในการเพิ่มหนี้ 2) ให้ชาวบ้านแลกเปลี่ยน พึ่งพากันเองในกระบวนการผลิต ผลการดำเนินงานตลอด 1 ปี ที่ผ่านมา ชาวบ้านล้มลุกคลุกคลานกันมาพอสมควร โดยในระยะแรก มีปัญหาเรื่องตลาดขายผัก (ตลาดแคบ) ความต้องการมีจำกัด ช่วงนี้เองที่ชาวบ้านบางส่วนถอดใจออกจากกลุ่ม เพราะมองไม่เห็นอนาคต แต่ภัยน้ำท่วมพื้นที่แปลงผักแป้นในอีสาน ในช่วงปลายปี ได้เปลี่ยนวิกฤติเป็นโอกาสให้กลุ่มผักแป้นอย่างเหลือเชื่อ ในระยะเวลา 3 เดือน สามารถตัดผักได้กว่า 1,000 กิโลกรัม (ประมาณ 30,000 บาท) เฉลี่ยสัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง แต่ปัญหาที่ทางกลุ่มยังแก้ไม่ตกก็คือ เรื่องการส่งสินค้าไม่ได้อย่างต่อเนื่อง ด้วยเหตุผลเรื่อง 1) ระยะทางอุดรธานีมายังขอนแก่น (ตลาดอุดรฯ ไม่มีที่ว่างให้) 2) ปริมาณสินค้าไม่เพียงพอตามคำสั่งซื้อ 3) ต้องแข่งขันกับผู้ผลิตผักแป้นที่ขอนแก่น อีก 2 ราย ซึ่งยึดหัวหาดมาเป็น 20 ปี แม้ว่าจะรวมกลุ่มกันทำได้แล้ว แต่ปัญหาเรื่องการตลาดยังเป็นเรื่องใหญ่ที่สุดในระบบเศรษฐกิจชุมชนหมู่บ้านอีสาน

8) ความพยายามในการต่อรองเชิงอำนาจและนโยบายยังทำได้ไม่เต็มที่ ด้วยสถานการณ์ทางการเมืองและบรรยากาศที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการขับเคลื่อน แต่อาจจะทำได้บ้างในพื้นที่การเมืองระดับท้องถิ่นเอื้อประโยชน์ต่อเศรษฐกิจของชาวบ้านและชุมชนในบางเรื่อง เช่น การเข้าถึงที่ดินและสหกรณ์เช่าที่ดินของพื้นที่บ้านหม้อ อำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย ซึ่งพยายามที่จะแก้ปัญหานี้ ให้ผู้ไม่มีที่ดินสามารถเช่าที่ดินจากเจ้าของที่ดินซึ่งยินดีเข้าร่วมโครงการ หรือที่ดินซึ่งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดูแลอยู่ หรือ อปท. อาจให้ความช่วยเหลือด้านอื่นๆ ที่จำเป็น เป็นต้น รวมถึงกรณีการจัดสรรน้ำ จากอ่างเก็บน้ำบ้านหินกอง อำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร ซึ่งอยู่ในระหว่างการรวมกลุ่มผู้ใช้น้ำและใช้กลไกของผู้ใช้น้ำและสมาชิกของเครือข่ายชุมชนที่ใช้อ่างเก็บน้ำร่วมกัน อปท. และส่วนราชการในพื้นที่ เพื่อหาทางออกในการจัดสรรน้ำร่วมกันที่เป็นธรรมได้ในอนาคต การคัดค้านโครงการโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล บ้านเชียงเพ็ง ตำบลป่าติ้ว จังหวัดยโสธร ซึ่งอยู่ในระหว่างการรับฟังความเห็นและการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ โดยอยู่ในระหว่างการรวบรวมข้อมูลเพื่อเสนอความเห็นเพิ่มเติมต่อผู้ชำนาญการเพื่อพิจารณารายงาน เป็นต้น

 

3. ข้อเสนอแนะจากบทเรียนการปฏิบัติการเพื่อแก้ปัญหาระบบเศรษฐกิจฐานรากระดับพื้นที่

พื้นที่ปฏิบัติการทั้ง 5 พื้นที่ ได้เก็บข้อมูลและวิเคราะห์ให้เห็นถึงความเป็นมาและรากเหง้าของปัญหา และได้นำเสนอแนวทางหรือปฏิบัติการบางส่วนเพื่อแก้ปัญหาและพยายามสร้างระบบเศรษฐกิจที่เป็นธรรม ซึ่งบทเรียนที่ได้มีความสำเร็จในระดับหนึ่งและจำเป็นต้องพัฒนาต่อเพื่อให้ชุมชนสามารถสร้างเศรษฐกิจที่เป็นธรรมได้ โดยจะนำเสนอบทเรียนและแนวทางในการดำเนินการต่อไป ดังนี้

  1.  

3.1 ชุมชนบ้านหม้อ อำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย

ชุมชนนี้ นักวิจัยได้ลงไปทำงานกับกลุ่มตัวอย่างที่เป็นผู้ประสบปัญหาความเดือดร้อนมากที่สุด คือ กลุ่มคนไร้ที่ดิน ซึ่งต้องอาศัยพื้นที่ทำการผลิตด้วยการเช่าที่ดิน และมีปัญหาจากการขึ้นราคาค่าเช่า จนไม่สามารถเช่าที่ดินได้ รวมถึงถูกช่วงชิงโอกาสจากผู้ผลิตรายใหญ่ที่สามารถจะจ่ายค่าเช่าในราคาที่สูงขึ้นได้ กลุ่มคนไร้ที่ดินเหล่านี้ จึงเป็นได้เพียงลูกจ้างแรงงานในการผลิต และรายได้ก็ลดลงตามไปด้วย พื้นที่นี้ เป็นระบบเศรษฐกิจฐานรากของชุมชนที่อิงฐานทรัพยากรความอุดมสมบูรณ์ของดินและน้ำของภูมินิเวศแม่น้ำโขง และเป็นระบบเศรษฐกิจที่อิงระบบตลาดค่อนข้างมาก (ผลิตผลส่วนใหญ่เป็นพืชผักเพื่อส่งเขาโรงงาน) การเข้าไปสร้างกระบวนการให้เกิดการหาทางออกร่วมกันทั้งชาวบ้านที่ไร้ที่ดิน และผู้ให้เช่าที่ดิน หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น นั้นเป็นเรื่องที่เหมาะสมแล้ว และควรดำเนินการต่อไปให้บรรลุเป้าหมาย คือ การรวมกลุ่มของคนไร้ที่ดินเพื่อให้เกิดอำนาจต่อรองในการเช่า หรือซื้อที่ดิน เพื่อเป็นปัจจัยพื้นฐานสำคัญในการผลิตและความมั่นคงในอาชีพ โดยต้องดำเนินการ ดังต่อไปนี้

1) การจัดตั้งกลุ่มสมาชิกให้มีโครงสร้างที่สามารถดำเนินการร่วมกันได้อย่างมีเป็นระบบ มีพลังขับเคลื่อน และเหมาะสมกับบริบทของการแก้ปัญหาของสมาชิก เช่น กลุ่มเกษตรกร/สหกรณ์เช่าซื้อที่ดิน โดยต้องพิจารณาถึงความเป็นไปได้กฎหมายที่จะสามารถใช้ประโยชน์จากกลไกของรัฐในการเข้าถึงสินเชื่อ หรือเงินทุนของสถาบันการเงิน หรือกองทุนของรัฐที่มีอยู่ เช่น โฉนดชุมชน ธนาคารที่ดิน สหกรณ์เช่าที่ดิน หรือสหกรณ์เช่าซื้อที่ดิน ซึ่งกลุ่มสมาชิกและที่ปรึกษาจะต้องศึกษารายละเอียด ความเป็นไปได้ และเลือกแนวทางที่เหมาะสมสำหรับตนเองมากที่สุด ซึ่งรูปแบบที่เหมาะสมอาจจะเป็นกรรมสิทธิ์ร่วมในแปลงใหญ่มากกว่าการแบ่งย่อยเป็นแปลงเล็กแปลงน้อยที่พัฒนาประสิทธิภาพการผลิตได้ยากและมีปัญหาในการขายเปลี่ยนมือในภายหลัง และหากสมาชิกรายใดต้องการออกจากกลุ่มก็จะได้รับการชดเชยและผลตอบแทนจากหุ้นส่วนและสินทรัพย์ร่วมและหาสมาชิกรายใหม่เข้ามาแทน รวมถึงหากกิจการของกลุ่มสมาชิกมีผลกำไรและมีเงินทุนมากพอก็สามารถซื้อที่ดินแปลงอื่นเพิ่มขึ้นได้ เป็นต้น  

2) จัดหาที่ดินที่สมาชิกเห็นสมควรว่ามีความเหมาะสมในการเช่า หรือซื้อที่ดินดังกล่าว ทั้งขนาดของพื้นที่ เส้นทาง ระยะทางและการเข้าถึง ราคาที่เหมาะสม ความถูกต้องของหลักฐานที่ดินตามกฎหมายที่ดิน (เอกสารสิทธิ) ผู้ขาย/ให้เช่า ยินดีที่จะขาย หรือให้เช่า รวมถึงการทำสัญญาเช่าในระยะยาว หรือสัญญาซื้อขาย และที่ดินนั้นมีความเหมาะสมต่อการผลิตพืชเศรษฐกิจหลักที่จะดำเนินการ ทั้งด้านเนื้อดิน โครงสร้างของดิน ความอุดมสมบูรณ์ของดิน น้ำ หรือระบบสาธารณูปโภคที่รองรับตามสมควร เพื่อให้ได้พื้นที่ที่เหมาะสมและไม่ต้องลงทุนในการปรับปรุงสภาพพื้นที่มาก

3) จัดระบบระเบียบองค์กรของสมาชิกในการทำงานร่วมกันและการสร้างหน่วยธุรกิจเชิงสร้างสรรค์ (creative business) โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบริหารจัดการในการด้านการผลิต การตลาด กฎหมายและการเงิน ในการนี้ จำเป็นต้องมีผู้ช่วยสำคัญ คือ กลุ่มคนที่มีความสามารถในการบริหารจัดการแบบใหม่ เป็น Startup หรือ Boarder trade ที่จะช่วยให้การผลิตสินค้าตรงกับความต้องการของผู้บริโภค หรือลูกค้า ทั้งในด้านคุณภาพ (มาตรฐานสินค้า) ปริมาณ (ความต่อเนื่องในการผลิต) การขนส่งที่สะดวกรวดเร็ว การรักษาคุณภาพหลังการเก็บเกี่ยว ความหลากหลายของสินค้า การเสนอขายสินค้าผ่านระบบออนไลน์ วิธีการรับออร์เดอร์และการชำระเงินที่สะดวกรวดเร็วทันสมัยและลดความเสี่ยง การช่วยเหลือและพิจารณาเรื่องสัญญาว่าจ้างผลิตที่เป็นธรรม (contract farming) ซึ่งทั้งหมดนี้ชาวบ้าน หรือสมาชิกในกลุ่มผู้ไร้ที่ดินคงไม่สามารถจัดการได้ด้วยตนเอง ต้องมีองค์กรธุรกิจเชิงสร้างสรรค์ที่เข้ามาช่วย และคงไม่ใช่การทำงานที่เป็นลักษณะอาสาสมัคร หรือเพื่อสาธารณกุศล แต่ต้องเป็นหุ้นส่วนทางธุรกิจร่วมกับชาวบ้าน ซึ่งต้องทำมากกว่าการขนเอาผลผลิตมากองขายอยู่ริมถนน

4) การสร้างภาพลักษณ์ใหม่ของสินค้า (Brand Image Building) เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่จะทำให้สินค้านั้นแตกต่างและเข้าถึงผู้บริโภคที่หลากหลาย จึงต้องมีการพัฒนาและสร้างสรรค์สินค้าให้มีความแตกต่างและโดดเด่น เช่น การมุ่งไปที่การผลิตที่ปลอดภัย เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและผู้บริโภคในระบบเกษตรอินทรีย์ (Organic farming) การผลิตสินค้าที่หลากหลายสำหรับกลุ่มผู้บริโภคหลากหลายระดับ การเชื่อมโยงให้เห็นถึงคุณค่าที่ซ่อนเร้นในสินค้ามากกว่าตัวสินค้า เช่น เห็นถึงความพยายามสร้างเศรษฐกิจที่เป็นธรรม การใส่ใจต่อผู้บริโภคและระบบนิเวศ เป็นต้น กรณีตัวอย่างที่น่าสนใจเช่น กลุ่มวิสาหกิจชุมชนข้าวอินทรีย์บ้านสวายสอ จังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งชาวนาในพื้นที่แห่งนี้มีส่วนร่วมในการอนุรักษ์นกกระเรียนพันธุ์ไทย ได้นำระบบผลิตข้าวอินทรีย์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมาใช้ ส่งผลให้นกกระเรียนที่ถูกปล่อยคืนสู่ธรรมชาติยังมีชีวิตรอดและดำรงชีวิตอยู่ในถิ่นอาศัยตามธรรมชาติของระบบนิเวศอันสมบูรณ์และยั่งยืน เป็นต้น               

3.2 ชุมชนบ้านหินกอง ตำบลวานรนิวาส อำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร

สถานการณ์ปัญหาสำคัญของพื้นที่ คือ การแย่งชิงน้ำเพื่อการเกษตรของอ่างเก็บน้ำห้วยหินกอง เนื่องจากการพัฒนาแหล่งน้ำเป็นไปเพื่อการจัดการน้ำเกษตรแปลงใหญ่ (ไร่แปลงใหญ่ในพื้นที่) เกษตรกรรายย่อยจึงขาดโอกาสเข้าถึงแหล่งน้ำ นอกจากนี้ ยังมีการเปลี่ยนแปลงการถือครองที่ดินจากการกว้านซื้อโดยนายทุนรายใหญ่ และมีการบุกเบิกป่าในที่ดินเดิมเป็นไร่อ้อย ซึ่งเป็นพืชเชิงเดี่ยวในพื้นที่ขนาดใหญ่ อาจส่งผลกระทบเรื่องแหล่งอาหารในชุมชน เนื่องจากป่าโคก (ป่าเต็งรัง) พื้นที่หาอาหารตามฤดูกาลลดลงทุกปี ทำให้เกิดความไม่มั่นคงเรื่องอาหาร หากไม่มีป่าและขาดแหล่งน้ำที่อุดมสมบูรณ์แล้ว คนในชุมชนที่เป็นผู้มีรายได้น้อย ถือครองที่ดินขนาดเล็กและไม่มีเงินลงทุนในการพัฒนาอาชีพด้านการเกษตรอย่างเพียงพอ ชาวบ้านเหล่านี้อาจต้องพึงพาอาหารจากภายนอกเกือบทั้งหมด ดังนั้น โจทย์สำคัญ คือ การช่วงชิงเอาการจัดการป่า (ซึ่งส่วนใหญ่เป็นป่าครอบครัว) และการจัดการน้ำของชุมชนคืนมา โดยเน้นเรื่อง การจัดการน้ำโดยชุมชน ต้องมีการรวมกลุ่มผู้ใช้น้ำในพื้นที่รอบอ่างห้วยหินกอง และร่วมกันจัดทำระบบจัดการน้ำในระดับไร่นาเพื่อสร้างพลังของกลุ่มผู้ใช้น้ำเพื่อรองรับน้ำจากอ่างให้สามารถส่งน้ำมายังสมาชิกกลุ่มผู้ใช้น้ำรายย่อยได้ เช่น รวมกลุ่มกัน 5-10 ราย เพื่อแบ่งพื้นที่มาทำสระเก็บน้ำรวม ทำคลองไส้ไก่ (ลำเหมือง) หรือระบบท่อไปสู่แปลงของสมาชิก การจัดหาเทคโนโลยีประหยัดน้ำสำหรับพืช คลองหรือท่อเชื่อมจากสถานีสูบน้ำของรัฐ โดยต้องให้หน่วยงานทั้งภาครัฐและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้ามาสนับสนุน การเลือกชนิดพืช หรือกิจกรรมการผลิตที่เหมาะสมกับพื้นที่และมีมูลค่าสูง

ส่วนการจัดการป่า จะต้องรวบรวมสมาชิกที่มีป่าอยู่แล้ว หรือมีที่ดินแต่ต้องการฟื้นฟูป่ากลับคืนมา ให้เป็นป่าเศรษฐกิจครอบครัว (กินได้ ขายได้) และร่วมมือกับเครือข่ายป่าหัวไร่ปลายนา หรือป่าเศรษฐกิจครอบครัวของจังหวัดสกลนคร ที่มียุทธศาสตร์ป่าครอบครัวระดับจังหวัดรองรับ โดยมีสถาบันการศึกษา เช่น มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตสกลนคร หอการค้าจังหวัดสกลนคร ที่ผลักดันให้สกลนครเป็นเมืองแห่งสมุนไพร และมีพื้นที่ต้นแบบป่าเศรษฐกิจครอบครัวคือ เครือข่ายอินแปง และชุมชนบ้านโคกสะอาด ตำบลอุ่มจาน อำเภอกุสุมาลย์ ซึ่งเริ่มมีการอนุรักษ์ป่าครอบครัว การเพิ่มผลิตภาพในป่าด้วยพืชเศรษฐกิจพื้นเมือง เช่น ผักหวานป่า สมุนไพรต่างๆ พวกมะขามป้อม สมอ พืชพื้นล่าง และพืชจำพวกมันป่า เป็นต้น ดังนั้น การสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากที่เป็นธรรม จึงควรเริ่มจากการสร้างความชอบธรรมของชุมชนในการจัดการทรัพยากรก่อน ในที่นี้ คือ การจัดการน้ำและป่า ซึ่งก็คือการจัดการที่ดินอันจะเป็นรากฐานของการผลิต รายได้ และความมั่นคงทางอาหารของชุมชนต่อไป     

 

3.3 ชุมชนบ้านสังคม อำเภอประจักษ์ศิลปาคม จังหวัดอุดรธานี

การพัฒนาสถาบันการเงินท้องถิ่นให้เข้มแข็งและการต่อยอดจากกลุ่มผู้ผลิตกุยช่ายให้กลายเป็นองค์กรธุรกิจของชุมชน น่าจะเป็นแนวทางที่เหมาะสมสำหรับการสร้างเศรษฐกิจที่เข้มแข็งและเป็นธรรมของพื้นที่นี้ ด้วยเหตุว่าพื้นที่นี้มีการรวมกลุ่มกันทำกิจกรรมในนามกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมจังหวัดอุดรธานีมานานเกือบ 20 ปี และมีกิจกรรมที่หลากหลาย เช่น การมีประเพณีบุญกุ้มข้าวใหญ่ การทำนาเกษตรอินทรีย์แปลงรวม และการมีกองทุนมากมายเกือบ 10 กองทุนในชุมชน แต่ปัญหาสำคัญคือเรื่องการยกระดับกิจกรรมต่างๆ ให้ส่งผลกระทบในทางเศรษฐกิจอย่างมีพลัง ดังต่อไปนี้

1) การต่อยอดจากนาอินทรีย์ไปสู่ผลิตภัณฑ์ข้าวอินทรีย์ หรือการแปรรูป/พัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์อย่างอื่น เพื่อเพิ่มมูลค่าและความหลากหลายของสินค้าตอบสนองกับกลุ่มผู้บริโภคที่หลากหลาย  

2) การยกระดับให้งานบุญกุ้มข้าวใหญ่ต้านภัยเหมืองโปแตซ ให้เป็นเทศกาลแห่งการแบ่งปันและการร่วมพลังเครือข่ายของชุมชนเพื่อการจัดการฐานทรัพยากรท้องถิ่นและเพื่อให้ผลผลิตในชุมชนท้องถิ่นของอำเภอถูกนำเสนอต่อสาธารณะและเพื่อสร้างพื้นที่พบปะและแลกเปลี่ยนระหว่างผู้ผลิต ผู้บริโภค โดยเปลี่ยนสถานะไปเป็นเทศกาลประจำปีของอำเภอที่มีภาคส่วนต่างๆ มาเกี่ยวข้องมากขึ้น มีองคืประกอบของงานที่ครอบคลุมในทุกมิติของชุมชนมากขึ้น มีระยะเวลาในการจัดงานนานขึ้น โดยที่ยังคงรักษาอัตตลักษณ์และเป้าหมายของงานบุญกุ้มข้าวเอาไว้กับกลุ่มกิจกรรมด้านสิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อมของเครือข่ายชุมชนในพื้นที่

3) การดำเนินการเรื่องกลุ่มกิจกรรมทางการเงินของท้องถิ่น จะต้องสร้างสถาบันทางการเงินที่เข้มแข็งของท้องถิ่นให้เกิดขึ้น อาจจะเป็นในรูปแบบสหกรณ์ เพื่อให้มีระบบการจัดการ การตรวจสอบ การกำกับดูแลและการขยายฐานสมาชิกให้มากขึ้นและมีเงินทุนหมุนเวียนมากขึ้น มีการแบ่งปันผลประโยชน์จากการประกอบการที่จะนำไปสู่สมาชิกและแบ่งสรรเป็นสวัสดิการสำหรับชุมชนได้มากขึ้น โดยอาจจะผนวกรวมเอากลุ่มกิจกรรมทางการเงินบางกลุ่มที่มีลักษณะคล้ายคลึงกัน มีฐานสมาชิกร่วมกัน เพื่อรวมกันให้เกิดเป็นองค์กรทางการเงินของท้องถิ่นที่เติบโตขึ้น  

4) การพัฒนาวิสาหกิจชุมชนที่ต่อยอดจากกลุ่มผลิตกุยช่าย ซึ่งแต่เดิมประสบปัญหาคือ ส่วนแบ่งการตลาดที่ยังน้อย ระยะทางในการขนส่งที่ไกล ผลผลิตที่ไม่สม่ำเสมอ (ปริมาณและคุณภาพ) ความหลากหลายของสินค้าที่จะต้องมีมากกว่ากุยช่าย (อาจจะรวมถึงการทำกุยช่ายขาวที่ราคาดีกว่า) ดังนั้น ผู้ที่จะมาช่วยพัฒนาระบบควรจะเป็นการทำธุรกิจของคนรุ่นใหม่ จะต้องทำให้ระบบตลาดของสินค้าจากชุมชนเกิดขึ้นในหลากหลายมิติ เช่น การจัดให้มีตลาดสีเขียว (green market) ในพื้นที่โดยอาจจะช่วงชิงพื้นที่บางส่วนจากตลาดนัด ตลาดคลองถม ที่มีอยู่เพื่อสร้างเป็นมุมสีเขียว (green corner) ให้กลุ่มผู้ผลิตที่เป็นสมาชิกสามารถนำสินค้ามาวางขายในตลาดดังกล่าวได้ หรือหาสถานที่ทำตลาดนอกพื้นที่อันเป็นสถานที่ซึ่งสามารถดึงดูดผู้คนให้เข้ามาจับจ่ายในตลาดนี้ได้ เช่น ขอใช้พื้นที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สถาบันการศึกษา รวมถึงการเช่าที่ดินของเอกชนที่ทำเลดี ใกล้เส้นทางคมนาคม ใกล้ชุมชนเมือง และเห็นความสำคัญในเรื่องนี้ร่วมกัน

5) พัฒนาบุคลากรเพื่อสร้างกลุ่มธุรกิจสร้างสรรค์ในพื้นที่ เพื่อให้เป็นหน่วยธุรกิจในการขับเคลื่อนและยกระดับเศรษฐกิจชุมชนให้เข้มแข็ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาระบบตลาดของชุมชนในหลากหลายมิติ เช่น การนำเข้าสินค้าจากภายนอกที่เป็นที่ต้องการ มีคุณภาพดี ราคาที่เหมาะสมมาขายในชุมชน การสนับสนุนให้ชุมชนผลิตสินค้าอันจำเป็นที่มีคุณภาพดีเพื่อทดแทนสิ่งที่ต้องนำเข้าเมื่อมีความพร้อมที่จะผลิตได้ การนำสินค้าจากชุมชนที่มีมากไปขายนอกพื้นที่เพื่อนำรายได้เขาสู่ชุมชน (การรับออร์เดอร์และส่งวัตถุดิบไปให้กับร้านอาหาร ภัตตาคาร ซุปเปอร์มาร์เกต โรงเรียน โรงพยาบาล ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ทัณฑสถาน ฯลฯ) การนำความรู้ นวัตกรรม และวิธีการใหม่ๆ ในการผลิต การแปรรูปและการบรรจุหีบห่อมาสู่สมาชิก จะเห็นได้ว่าเฟืองจักรสำคัญของเศรษฐกิจฐานรากที่อิงระบบตลาด ก็คือหน่วยธุรกิจที่จะช่วยทำให้ชุมชนสามารถพัฒนาคุณภาพสินค้าและขายสินค้าได้มากขึ้น หน่วยธุรกิจนี้ อาจจะทำงานเต็มเวลาในแบบองค์กรธุรกิจทั่วไป หรือเริ่มจากการทำงานในวันหยุดที่ว่างเว้นจากงานประจำก่อน เมื่อมีความพร้อมและมั่นคงจึงขยับไปสู่การเป็นองค์กรธุรกิจเต็มรูปแบบ แต่สิ่งที่สำคัญที่เป็นเป้าหมายคือ การเป็นหน่วยกลางในการซื้อขายระหว่างผู้ผลิตกับเครือข่ายผู้บริโภค/ลูกค้า รวมถึงการจัดหาโอกาสและพื้นที่เพื่อให้ผู้บริโภคพบกับผู้ผลิตโดยตรง

3.4 ชุมชนบ้าน ห้วยเสือเต้น อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น

สิ่งที่มุ่งเน้นคือการปรับเปลี่ยนการผลิตไปสู่กิจกรรมใหม่ที่มีโอกาสและช่องทางที่มั่นคงกว่า ควบคู่ไปกับการฟื้นฟูระบบนิเวศและสิทธิในการจัดการทรัพยากรท้องถิ่นกลับคืนมา เช่น การเลี้ยงวัวนม หรือแพะเนื้อ/นม ด้วยเหตุว่ามีสหกรณ์โคนมที่รับซื้อน้ำนมดิบอยู่ไม่ไกลจากพื้นที่ การจัดการระบบผลิตอาหารสัตว์เพื่อลดต้นทุนโดยใช้วัตถุดิบหลักในพื้นที่ การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำแทนการจับหาจากธรรมชาติซึ่งมีปริมาณลดลงและมีรายได้ลดลง หรือไม่คุ้มทุนในการดำเนินการ โดยปรับสภาพพื้นที่นาที่อยู่ไม่ไกลจากห้วยเสือเต้นมากนักเป็นบ่อเลี้ยงปลา สร้างเครือข่ายความร่วมมือกับสมาชิกที่เห็นด้วยและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและกรมชลประทานเพื่อพัฒนาระบบการส่งน้ำเพื่อการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ เพื่อนำมาใช้ในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำแบบผสมผสาน (ทั้งแบบพัฒนา แบบกึ่งพัฒนา และแบบธรรมชาติ) การเลี้ยงเป็ด/ปลาในนาข้าว ที่เน้นระบบฟาร์มผสมผสานกับกิจกรรมอื่นๆ และการเพิ่มความหลากหลายของผลผลิตหรือสินค้า การเพิ่มมูลค่าผลิตผลด้วยการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ทั้งจากนม เนื้อสัตว์ ไข่ และสัตว์น้ำ ให้เป็นวิสาหกิจชุมชนที่เชื่อมโยงกับระบบตลาดที่ทันสมัย โดยอาจจะเชื่อมโยงหรือประสานความร่วมมือกับ เครือข่ายตลาดสีเขียวจังหวัดขอนแก่น (Khon Kaen Green Market) ซึ่งมีอยู่แล้ว ก็จะเป็นการยกระดับการแก้ปัญหาไปสู่การสร้างอาชีพที่หลากหลายมากกว่าการทำนาและปลูกมันสำปะหลัง หรือจับปลาจากแหล่งธรรมชาติเพียงอย่างเดียว

 

3.5 ชุมชนบ้านบ้านเชียงเพ็ง ตำบลเชียงเพ็ง อำเภอป่าติ้ว จังหวัดยโสธร 

เป็นชุมชนที่มีระบบเศรษฐกิจฐานรากที่พึ่งพาการผลิต โดยอาศัยความอุดมสมบูรณ์ในลุ่มน้ำลำเซบายที่มีน้ำดี ดินดี และมีแหล่งอาหารธรรมชาติจากลำเซบาย ป่าบุ่งป่าทาม และระบบนิเวศเกษตรตามฤดูกาล เศรษฐกิจที่พึ่งพาฐานทรัพยากรที่ยังอุดมสมบูรณ์ สามารถนำไปสู่การผลิตสินค้าอื่นๆ ได้มากมาย เช่น ข้าว พืชไร่ในนาข้าวหลังฤดูเก็บเกี่ยว (หากมีน้ำจากลำเซบาย) และการแลกเปลี่ยนทรัพยากรบนความแตกต่างของระบบนิเวศ หรือความสามารถในการปรับตัวจากภัยพิบัติต่างๆ เช่น ความแห้งแล้ง หรือน้ำท่วม กรณีบ้านเชียงเพ็ง มีการพยายามแก้ปัญหาเพื่อสร้างเศรษฐกิจที่เป็นธรรม ได้แก่

1) มีการสร้างพื้นที่ และกลไกให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการคิดวิเคราะห์และเข้าใจถึงสิทธิในการจัดการทรัพยากร ดิน น้ำ ป่า รวมถึงการออกแบบระบบเศรษฐกิจที่สอดคล้องกับสภาพพื้นที่ เช่น การรวมกลุ่มทำการเกษตรผสมผสาน การวางแนวทางในการสร้างพื้นที่ตลาด การยกระดับสินค้าเกษตรไปสู่การแปรรูป

2) ร่วมเรียนรู้ และเข้าร่วมการแก้ไขปัญหาในหลายกรณี ทั้งการคัดค้านการเข้ามาของอุตสาหกรรมโรงงานน้ำตาล การต่อรองเจรจาเพื่อเรียกร้องสิทธิในการจัดการดูแล และปกป้องทรัพยากรของท้องถิ่น

3) กระบวนการสื่อสารสาธารณะผ่านสื่อต่างๆ เพื่อสร้างความเข้าใจกับคนในสังคม 

4) การรื้อฟื้นกิจกรรมบุญประเพณีที่สำคัญ เพื่อหลอมรวมความศรัทธาของคนในชุมชน และสร้างความเข้าใจระบบเศรษฐกิจแบบเป็นธรรมให้กับชาวบ้านในพื้นที่ โดยเน้นย้ำเรื่องการใช้ทรัพยากรอย่างสมดุลระหว่างคน ทรัพยากร โดยอาศัยกลไกทั้งความเชื่อในอดีตและระบบคุณค่าของทรัพยากรตามแบบสมัยใหม่

5) การแลกเปลี่ยนสินค้า ผลผลิตอันจำเป็นข้ามพื้นที่ (ข้ามระบบนิเวศ) กับเครือข่ายพื้นที่อื่น เช่น การนำข้าว พริก หอม กระเทียม ที่มีอยู่มากในชุมชนเชียงเพ็ง ไปแลกปลา หรือปลาร้า กับชุมชนลุ่มน้ำชีในจังหวัดร้อยเอ็ดที่ประสบปัญหาน้ำท่วม นาข้าวเสียหาย แต่มีปลามาก เป็นต้น

ดังนั้น หากสามารถพัฒนาและเชื่อมโยงวัฒนธรรมประเพณี ฐานทรัพยากร และความหลากหลายของผลผลิตไปสู่กิจกรรมทางเศรษฐกิจในรูปแบบใหม่ๆ ที่อาจจะเหมือนการรื้อฟื้นเศรษฐกิจบนการแลกเปลี่ยนที่เป็นธรรม ก็จะช่วยให้เกิดการแก้ปัญหาเรื่องจำเป็นพื้นฐานได้อย่างมากในยุคที่เงินทองซึ่งเป็นสื่อกลางการแลกเปลี่ยนค่อนข้างหายาก ก็ใช้การแลกสินค้าที่มีอยู่มากของชุมชนหนึ่งไปสู่ชุมชนที่ขาดแคลนได้ ก็จะเป็นต้นแบบของเศรษฐกิจฐานรากที่อยู่บนฐานของการแลกเปลี่ยนได้

 

4. แนวคิดข้อเสนอเชิงนโยบายในการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากชุมชนอีสาน

“ทางออกที่ยั่งยืนชุมชนอีสานภายใต้เศรษฐกิจสมัยใหม่”

จากการวิเคราะห์ถึงประเด็นปัญหาทางเศรษฐกิจและความเหลื่อมล้ำของชุมชนอีสาน ทำให้เห็นว่า ชุมชนอีสานไม่สามารถมีเศรษฐกิจฐานรากที่ยั่งยืนได้หากรัฐยังมีแนวคิดในการใช้ทุนใหญ่กระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก เพราะนำมาซึ่งความเหลื่อมล้ำและการสูญเสียศักยภาพในการจัดการตนเองของชุมชนมากขึ้นเรื่อยๆ สร้างความเหลื่อมล้ำและความขัดแย้งมากขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่ฐานทรัพยากรท้องถิ่นก็ร่อยหรอและเสื่อโทรมลงอย่างมาก และแนวโน้มของการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ประชากร ก็ไม่อาจจะใช้วิธีการเดิมๆ ได้ จึงเสนอแนวคิดในการสร้างเศรษฐกิจฐานรากที่เข้มแข็งเอาไว้ดังนี้   

(1) หน่วยการผลิตเท่าเดิมแต่หน่วยธุรกิจต้องลดลง เกษตรกรบ้านเรายังมีจำนวนมาก แม้ว่าจะเปลี่ยนแปลงระบบเศรษฐกิจไปอย่างไร แต่ครัวเรือนเกษตรก็ยังมีจำนวนมากอยู่ การนำโมเดลแบบญี่ปุ่น หรือประเทศอุตสาหกรรมที่มีประชากรในภาคการเกษตรเพียงร้อยละ 3-5 มาใช้ เพื่อลดจำนวนครัวเรือนเกษตรในบ้านเราให้หันไปประกอบอาชีพอื่น ดูเหมือนจะไม่ใช่ทางออกที่ดี เพราะในระบบอุตสาหกรรมสมัยใหม่มีการลดจำนวนแรงงานลงจำนวนมาก หลายบริษัทประกาศลดจำนวนแรงงาน ปรับลดพนักงาน รวมถึงมีการใช้ระบบอัตโนมัติ หรือปัญญาประดิษฐ์ (artificial intelligence: AI) ในการผลิตทดแทนคนมากขึ้น รัฐก็ต้องเป็นภาระในการหางานให้กับคนที่ออกมาจากภาคเกษตรกรรมเหล่านั้น และที่ผ่านมา เมื่อมีวิกฤติเศรษฐกิจครั้งใด ภาคการเกษตร ก็ยังคงทำหน้าที่อุ้มชูผู้คนตกงานเหล่านั้นเสมอมา ดังนั้น หน่วยการผลิตทางการเกษตร (เครือเรือน) ไม่จำเป็นต้องลดลง แต่ต้องทำให้เป็นหน่วยธุรกิจที่ใหญ่ขึ้น และมีจำนวนน้อยลง (ตอนนี้ 1 ครอบครัว เป็นเหมือน 1 กิจการ หรือ 1 หน่วย ธุรกิจ และเป็นหน่วยธุรกิจที่ไร้ประสิทธิภาพ) กลุ่มของผู้ที่อยู่ละแวกเดียวกัน เครือญาติกัน ใช้ทรัพยากรการผลิตร่วมกัน อยู่ในระบบนิเวศเกษตรหรือลุ่มน้ำย่อยเดียวกัน ควรจะต้องรวมกันเป็นหน่วยธุรกิจเดียวที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น

(2) ปรับรูปแบบเศรษฐกิจประชารัฐไปสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่หลากหลาย ซึ่งถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของนโยบายที่ลงไปกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากได้ดี เช่น เกษตรแปลงรวม บริษัทประชารัฐจำกัด แต่ก็ยังมีข้อบกพร่องอยู่มาก เพราะเรื่องเศรษฐกิจฐานราก ต้องการมากกว่าการกระตุ้นเศรษฐกิจ (ผลิตสินค้า > ขาย > บริโภค > เศรษฐกิจเติบโต) แต่ต้องทำมากกว่านั้น เนื่องจากเศรษฐกิจฐานรากของชุมชนท้องถิ่นเป็นเรื่องของวิถีการผลิตและวิถีชีวิตที่สัมพันธ์กับฐานทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ความจำเพาะของระบบนิเวศท้องถิ่นและความเข้าใจอย่างถูกต้องในความเปราะบางของแต่ละระบบนิเวศ ข้อถกถียงถึงความพอเหมาะพอดีระหว่างการยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือกับการผูกขาดของทุนขนาดใหญ่จากนโยบายประชารัฐ บุคลากรและโครงสร้างของบริษัทประชารัฐระดับจังหวัดที่มาจากภาคราชการ ประชาสังคมและเอกชนที่อาจจะไม่ใช่กลุ่มคนที่เข้าใจเรื่องปัญหาของเศรษฐกิจฐานรากและฐานทรัพยากรท้องถิ่นอย่างแท้จริง ดังนั้น การมารวมกันทำ หรือรวมกันซื้อปัจจัยการผลิตร่วมกันแล้วส่งผลผลิตให้เอกชนเอาไปขายต่อในนามบริษัทประชารัฐ และไม่ได้จัดการอย่างอื่นมากไปกว่านี้น่าจะไม่ได้แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำมากนัก การพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากอาจจะต้องใช้วิธีการใหม่ๆ ที่มีลักษณะการทำธุรกิจร่วมกันและรับผิดชอบร่วมกันมากกว่านั้น เช่น ต้องสร้างหน่วยธุรกิจเชิงสร้างสรรค์ที่ครบวงจร ทั้งเรื่องการจัดการทุน ที่ดิน แรงงาน ความรู้ เทคโนโลยี ฐานทรัพยากรในการผลิต (ดิน น้ำ ป่า) การดูแลฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม การจัดการกับผลผลิต การแปรรูป การพัฒนาผลิตภัณฑ์ การจำหน่าย การต่อรองหรือจัดสรรแบ่งปันผลประโยชน์อย่างเป็นธรรม รวมไปถึงการสร้างตำแหน่งงานใหม่ๆ ที่เหมาะสมกับคนรุ่นใหม่ที่มีความรู้และความสามารถให้อยู่ในท้องถิ่นและเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาท้องถิ่นได้ เป็นต้น ซึ่งในประเทศอินเดีย มีการจัดตั้ง Producer Company "บริษัท ผู้ผลิต" ซึ่งเป็นองค์กรทางธุรกิจที่ดำเนินการเพื่ออำนวยความสะดวกในการจัดตั้งธุรกิจสหกรณ์ในฐานะบริษัท และเพื่อให้สามารถแปลงธุรกิจที่มีอยู่ให้เป็นบริษัทได้ หมายความว่าเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายบริษัทที่มีวัตถุประสงค์เพื่อการผลิต การเก็บเกี่ยว การจัดซื้อ การกำหนดเกรดคุณภาพ การรวบรวม การจัดการการตลาด การขายการส่งออกผลิตภัณฑ์หลักของสมาชิก หรือการนำเข้าสินค้า หรือบริการเพื่อประโยชน์ของตน บริษัทผู้ผลิต อาจดำเนินกิจกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่กำหนดในข้อนี้ด้วยตนเองหรือผ่านสถาบันอื่น การประมวลผล รวมทั้งการเก็บรักษา การทำแห้ง การกลั่น การต้ม การตีพิมพ์ บรรจุกระป๋อง และบรรจุภัณฑ์ของผลผลิตของสมาชิก ผลิตขาย หรือจัดหาเครื่องจักรอุปกรณ์ หรือวัสดุสิ้นเปลืองส่วนใหญ่ให้แก่สมาชิกของบริษัท การให้การศึกษาเกี่ยวกับหลักการให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกันแก่สมาชิกและคนอื่นๆ การให้บริการด้านเทคนิค การให้คำปรึกษา การฝึกอบรม การวิจัยและพัฒนาและกิจกรรมอื่นๆ ทั้งหมดเพื่อส่งเสริมผลประโยชน์ของสมาชิก การสร้างการเครือข่ายและการกระจายอำนาจการฟื้นฟูทรัพยากรที่ดินและแหล่งน้ำ การใช้ การอนุรักษ์ และการสื่อสารที่สัมพันธ์กับผลผลิตหลัก การประกันภัยของผู้ผลิตหรือผลิตภัณฑ์หลัก การส่งเสริมเทคนิค การร่วมกันและการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน มาตรการสวัสดิการหรือสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อประโยชน์ของสมาชิกตามที่คณะกรรมการกำหนด กิจกรรมอื่นๆ ซึ่งอาจส่งเสริมหลักเกณฑ์การร่วมกันและการช่วยเหลือซึ่งกันและกันระหว่างสมาชิกในลักษณะอื่นใด การจัดหาเงินทุนในการจัดซื้อการแปรรูป การตลาดหรือรวมถึงการขยายวงเงินสินเชื่อหรือบริการทางการเงินอื่นๆ ให้แก่สมาชิก ซึ่งภายใต้แนวทางนี้ จะช่วยให้เกิดหน่วยธุรกิจย่อยๆ ภายใต้ร่มของ Producer Company เกิดขึ้นมากมายที่จะช่วยให้สมาชิกได้ยกระดับรายได้ การพัฒนาอาชีพ การจ้างงาน การแก้ปัญหาเรื่องการเข้าถึงสินเชื่อ รวมถึงการสร้างมูลค่าจากการใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของท้องถิ่นอย่างยั่งยืน

(3) ตัดห่วงโซ่การผลิตจนถึงผู้บริโภคให้สั้นลง กลุ่มธุรกิจสมัยใหม่จะต้องพยายามตัดวงจรของการเอากำไรส่วนเกินเป็นทอดแบบเดิม จนทำให้ราคาจากผู้ผลิตต่ำมาก เพื่อให้พ่อค้าแต่ละช่วงมีกำไร เพราะพอถึงมือผู้บริโภคอาจจะแข่งขันไม่ได้ เช่น ข้าวเปลือกจากชาวนา กว่าจะถึงมือผู้บริโภคที่ยุโรป หรืออเมริกา สร้างส่วนต่างและกำไรอย่างมาก ขณะที่ราคาผลผลิตหน้าโรงสีไม่เพิ่มขึ้นเลย และค่อนข้างตกต่ำลงด้วย ดังนั้น กลุ่มธุรกิจที่เกิดจากการรวมกันของคนในชุมชนต้องหาวิธีการในการทำให้ผลผลิตถึงมือผู้บริโภค โดยผ่านห่วงโซ่ที่ไม่จำเป็นให้น้อยที่สุด ในการนี้ รวมถึงการซื้อสินค้าและบริการอันเป็นปัจจัยการผลิตด้วย ก็ต้องใช้หลักการเดียวกัน และหากสามารถสร้างให้เกิดการหมุนเวียนแลกเปลี่ยนกันในท้องถิ่นเป็นเบื้องต้นด้วยแล้ว ก็จะทำให้เศรษฐกิจของท้องถิ่นเข้มแข็งและเติบโตขึ้นได้ เช่น เกษตรกรแทบทุกชุมชนมีทั้งข้าว มันสำปะหลัง ข้าวโพด หรือแม้แต่วัตถุดิบอื่นๆ ค่อนข้างครบถ้วน แต่ต้องไปขายให้กับโรงงานต่างถิ่น และเมื่อพิจารณาจากความต้องการในการบริโภคสินค้าที่จำเป็นแล้ว ทุกชุมชนสามารถผลิตและแลกเปลี่ยนกันตามความถนัดได้ เช่น เกษตรกรที่เลี้ยงวัวนม ไม่จำเป็นต้องซื้ออาหารผสม (อาหารข้น) จากโรงงานเลย หากซื้อมันสำปะหลัง ข้าวโพด ถั่วเหลือง หรือหญ้า จากชุมชนที่อยู่ในท้องถิ่นเดียวกัน ซึ่งจะลดต้นทุนลงอย่างมาก และน้ำนมวัว หากมีการแปรรูปในท้องถิ่น เพื่อให้คนในท้องถิ่นได้บริโภคก่อน ย่อมสร้างมูลค่าและเกิดหน่วยธุรกิจใหม่ๆ เพิ่มขึ้น เพราะตลาดสินค้าบางอย่างรัฐสร้างให้มีขึ้นอยู่แล้ว เช่น โครงการนมโรงเรียน ซึ่งนักเรียนตั้งแต่ชั้นอนุบาล จนถึง ประถมศึกษาปีที่ 4 ต้องบริโภคทุกคน และการผลิตนมที่มีคุณภาพด้วยโรงงานขนาดเล็กและเครื่องจักรที่ทันสมัยก็ไม่ใช้เรื่องยากในปัจจุบัน แต่สิ่งสำคัญคือ ภาครัฐต้องสนับสนุนและลดอุปสรรคเกี่ยวกับข้อกำหนด/ระเบียบจัดซื้อจัดจ้างที่ไม่เอื้อให้เกิดสิ่งเหล่านี้ หากชุมชนมีกิจกรรมการผลิตที่หลากหลายและครบถ้วน และแลกเปลี่ยนหมุนเวียนกันอย่างเป็นระบบ จะสร้าง High volume หรือความต้องการสินค้ามหาศาลในท้องถิ่น และในทางเทคนิคแล้ว เกษตรกรไทยมีความเป็นเลิศที่สุดในแง่การผลิต รูปแบบนี้ สามารถนำไปใช้กับอาหารกลางวันในโรงเรียนที่ต้องซื้อวัตถุดิบประกอบอาหารให้ลูกหลานในชุมชนที่เข้าไปอยู่ในโรงเรียน แต่ที่ผ่านมากลับต้องซื้อจากภายนอก แทนที่เงินงบประมาณส่วนนี้จะไหลเข้ามาในชุมชน ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วแทบไม่มีอะไรที่ชุมชนผลิตไม่ได้ถ้ามีตลาดรองรับ เช่น ข้าว ไข่ หมู ไก่ เนื้อ ผัก เห็ด นม ปลา ผลไม้ ฯลฯ เราสามารถสร้างแบบแผนการบริโภคเพื่อให้เด็กในอนาคตเติบโตอย่างมีคุณภาพและสร้างความต้องการสินค้าที่เพิ่มขึ้นได้ ลองพิจารณาดูว่าหากเด็กทุกคนตั้งแต่นุบาลจนถึง ป.6 ต้องบริโภคหารดังกล่าวนี้ที่โรงเรียนเป็นอย่างน้อย เช่น นมวันละ 1 แก้ว กล้วยหอม 1 ลูก ไข่ 1 ฟอง ปลาสัปดาห์ละ 1 ตัว ไก่เดือนละ 2 ตัว เนื้อสัตว์อื่นๆ ผักและผลไม้ตามฤดูกาล นี่คือ การสร้างอุปสงค์ (Demand) ขึ้นมาอย่างมากมายและจะส่งผลต่อพลานามัย สมอง การเรียนรู้ และทรัพยากรบุคคลที่มีคุณภาพอย่างมาก พอกลับมาบ้าน ครอบครัวก็มีอาหารคุณภาพแบบนี้ให้บริโภค กำลังซื้อและการผลิตสินค้ามาขาย จึงจะสมดุลกัน ดังนั้น เศรษฐกิจฐานรากที่มั่นคงจึงต้องบูรณาการได้ครบถ้วน ต้องแต่การผลิต การแปรรูป การจำหน่าย การสร้างแบบแผนการบริโภคเพื่อให้เกิดการบริโภคซ้ำ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ และการจัดการที่ทันสมัย (สะดวก รวดเร็ว มีประสิทธิภาพ และคุณภาพ) ดังนั้น จึงต้องสนับสนุนและผลักดันให้ธุรกิจ startup เกิดขึ้นในท้องถิ่นให้มากๆ          

(4) ผลิตสินค้าอื่นที่ไม่ใช่อาหารและสินค้าเกษตรเพื่อสร้างอาชีพคนรุ่นใหม่จากภูมิปัญญาคนรุ่นเก่า คนรุ่นใหม่ๆ ในยุคสมัยใหม่ ไม่ได้มีพื้นฐานอาชีพและการงานมาแบบคนรุ่นก่อน สิ่งที่เขาเรียนในโรงเรียน ศึกษาต่อในระดับสูง หรือการใช้ชีวิตนอกชุมชนขณะออกจากบ้านไปเรียนหนังสือ ไปทำงาน เป็นชีวิตที่ค่อนข้างห่างไกลจากวิถีการเกษตร หรือวิถีชุมชนชนบท แต่เขาจะกลับมาใช้ชีวิตที่บ้านเกิดได้อย่างไรหากไม่มีพื้นที่และโอกาสในการแสดงศักยภาพสำหรับพวกเขา (ที่ไม่ได้ทำการเกษตร หรือไม่ถนัดอาชีพเกษตร) คนที่จบบัญชี คอมพิวเตอร์ ช่างเทคนิค วิศวกร วิทยาศาสตร์ หรือ บริหารธุรกิจ หรือแม้แต่ภาษาอังกฤษ จะสามารถใช้ชีวิตในชุมชนได้อย่างไร หากครอบครัวและชุมชนไม่ให้โอกาส และรัฐไม่สนับสนุนให้พวกเขาได้ทำคุณประโยชน์ต่อชุมชนและสังคมท้องถิ่นอย่างจริงจัง เขาต้องสามารถต่อยอดธุรกิจ หรือกิจการของครอบครัวได้ในแบบที่พวกเขาถนัด และเขาเหล่านั้นอาจจะเป็นเฟืองจักรสำคัญในการตัดห่วงโซ่วงจรการตลาดที่ยืดยาวออกเพื่อสร้างมูลค่าให้กับผลผลิตในท้องถิ่นมากขึ้น รวมทั้งเศรษฐกิจภาคบริการมากมายที่อาจจะเกิดขึ้นในท้องถิ่นด้วย ซึ่งอันที่จริงแล้วมีธุรกิจหลายอย่างที่สามารถทำให้เกิดขึ้นและสร้างงาน สร้างอาชีพและสร้างเศรษฐกิจที่ทันสมัยจากฐานทรัพยากรท้องถิ่นได้ เช่น การให้บริการด้านการส่งสินค้า การบรรจุหีบห่อ การออกแบบ การบริการด้านอาหาร สุขภาพ ความงาม หรือการผลิตเวชสำอางที่ผลิตจากทรัพยากรชีวภาพของท้องถิ่น การทำธุรกิจการท่องเที่ยวเชิงนิเวศและวัฒนธรรม ผลผลิตจากข้าวกล้องอินทรีย์และน้ำมันมะพร้าวบริสุทธิ์ สามารถนำมาทำสบู่และครีมถนอมผิวที่มีคุณภาพดีได้ การผลิตงานฝีมือเกี่ยวกับไม้พวกเฟอร์นิเจอร์ ของเล่นเด็ก สื่อการเรียนการสอยสำหรับเด็ก การทำร้านโชว์ห่วยที่ทันสมัย การซ่อมบำรุง การสร้างธุรกิจเกี่ยวกับการให้บริการด้านแรงงาน ฯลฯ ซึ่งจะสร้างงาน สร้างมูลค่าเพิ่ม สร้างกำลังซื้อจากคนในชุมชนและนอกชุมชนได้

(5) การจัดการด้านแรงงานและการพัฒนาด้านทักษะฝีมือ มีความจำเป็นอย่างมากในการที่จะต้องคำนึงถึงข้อขำกัดด้านแรงงานในอนาคต เนื่องจากอัตราการเพิ่มประชากรที่ลดลง ดังนั้น คน 1 คน หรือแรงงาน 1 หน่วย ต้องมีทักษะมากขึ้น หรือมีทักษะความสามารถที่หลากหลายขึ้น เพื่อที่จะจัดการหน่วยธุรกิจในท้องถิ่นให้ทันและพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว เพราะชุมชนชนบทที่ส่วนใหญ่พึ่งพาอยู่กับการเกษตรกรรมที่มีความเสี่ยงโดยธรรมชาติ นั่นคือ สภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง (climate change) ความแปรปรวนของฤดูกาล อุณหภูมิ ปริมาณน้ำฝน ความแห้งแล้ง พิบัติภัยต่างๆ อันเกิดจากธรรมชาติ ที่มีแนวโน้มแปรปรวน รุนแรง และสุดขั้วมากขึ้น (climate extremes) การสนับสนุนให้เกิด smart farmer จึงเป็นสิ่งที่ดี เพราะจะได้วางแผนการผลิต การบริหารจัดการ การใช้เทคโนโลยี ที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่สิ่งที่สำคัญกว่านั้นคือ ทักษะในการดำเนินกิจกรรมในท้องถิ่นที่ไม่แปลกแยกจากธรรมชาติ หรือระบบนิเวศพื้นถิ่น การสนับสนุนให้ทรัพยากรบุคลเหล่านั้นมีการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ สร้างมูลค่าเพิ่ม สร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ หรือสร้างเครือข่ายทางการตลาดใหม่ๆ เป็นต้น     

(6) พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสนับสนุนการผลิตระดับเล็กและมีความจำเพาะกับพื้นที่ เรื่องโครงสร้างพื้นฐานที่สนับสนุนเศรษฐกิจฐานรากของชุมชนท้องถิ่น ปัจจุบันนี้ดูเหมือนว่าจะเน้นไปในเรื่องระบบคมนาคม สาธารณูปโภคขนาดใหญ่ โครงการ Megaproject ต่างๆ เช่น การบริหารจัดการน้ำขนาดใหญ่ การผันน้ำข้ามลุ่มน้ำ ฯลฯ ซึ่งจะว่าไปแล้ว ทำอย่างไรก็ไม่ครอบคลุมทุกพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่ภาคอีสานในส่วนที่เป็นพื้นที่สูง (highlands) พื้นที่ลูกคลื่นลอนลาด (Undulating) ที่หาวิธีเอาน้ำมาให้ในปริมาณมากๆ นั้นยากมาก การจัดการน้ำและระบบสาธารณูปโภคที่หนุนเสริมเศรษฐกิจท้องถิ่น จึงควรเล็กและมีประสิทธิภาพ (small is beautiful) การจัดการน้ำควรเริ่มจากกาหาวิธีเก็บน้ำฝนเอาไว้ในพื้นที่ก่อน หากไม่พออาจจะหาวิธีชักน้ำจากลำห้วยที่หลากในฤดูฝนเข้ามาในพื้นที่เก็บน้ำของตนเองและเพื่อบ้านอย่างไร มากกว่าจะไปมองว่าจะเอาน้ำมาจากเขื่อนใหญ่ที่ใด หรือจะสร้างเขื่อน หรือแนวผันน้ำจากแม่น้ำใหญ่มาอย่างไร ดังนั้น แนวคิดนี้จึงไปตอบสนองและสอดรับกับข้อเสนอ ในข้อแรก คือ ละแวกเดียวกันต้องร่วมกันพัฒนาและทำกิจกรรมร่วมกันอย่างจริงจัง จนเป็นหน่วยธุรกิจเดียวกันได้ เช่น พื้นที่ใกล้กัน 5-10 ครอบครัว อาจจะหาวิธีจัดสรรที่ดินบางส่วนร่วมกันเพื่อใช้เป็นที่เก็บน้ำในการผลิต และนำพื้นที่บางส่วนมาใช้เพื่อการวางระบบชลประทานระดับไร่นาด้วยกัน และเชื่อมโยงกับลุ่มน้ำในระดับชุมชนและระดับใหญ่ไปเรื่อยๆ ก็จะเป็นการจัดการที่ตอบโจทย์ในระดับพื้นที่และความจำเป็นสูงสุดเป็นที่ตั้ง มีความจำเพาะและสอดคล้องกับภูมินิเวศของพื้นที่ด้วย ในการนี้อาจจะรวมถึง ถนน หรือเส้นทางที่จะสามารถเชื่อมต่อกันได้กับที่ดินทุกแปลงของสมาชิก เพื่อความสะดวกในการขนส่งผลผลิตและอาจจะมีบางพื้นที่ซึ่งเอาไว้ใช้ในยามจำเป็น เช่น พื้นที่เพื่อการรองรับอุทกภัยอุทกภัย โดยการยกระดับพื้นที่ให้สูงขึ้นโดยใช้ดินที่ขุดขึ้นมาเป็นแหล่งเก็บน้ำ ก็จะเป็นพื้นที่ลดความเสียหายจากพิบัติภัยได้ด้วย เช่น เอาไว้สำหรับพักสัตว์เลี้ยง เก็บข้าวของที่จำเป็นจำพวกผลผลิต เมล็ดพันธุ์ หรือแม้แต่อาหารสัตว์และคน ซึ่งในการนี้มีรูปแบบที่น่าสนใจ ซึ่งคนในรัฐบาลเองก็ได้ริเริ่มเอาไว้แล้วและสามารถตอยอดและทำให้เกิดผลอย่างรูปธรรมได้เลย คือ “โคก หนอง นา โมเดล” ของ ดร.วิวัฒน์ ศัลย์กำธร รัฐมนตรีช่วยว่าการเกษตรคนปัจจุบัน     


(7) การลดต้นทุนแต่เพิ่มคุณภาพ การลดต้นทุนเป็นความจำเป็นที่หน่วยธุรกิจในชุมชนต้องดำเนินการ ซึ่งอันที่จริงแล้ว ต้นทุนแฝง หรือต้นทุนสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ จากการใช้สารเคมีเกษตรอันไม่สามารถประเมินตัวเลขที่แน่นอนได้ แต่น่าจะเป็นความสูญเสียอย่างมหาศาลตลอดช่วงของการพัฒนาเพื่อผลิตพืชเศรษฐกิจเชิงเดียวกว่า 50 ปีที่ผ่านมา การลดต้นทุน จึงไม่ควรพิจารณาคับแคบจากปัจจัยการผลิตหรือตัวเลขที่เราคำนวณได้จากรายจ่ายที่จ่ายไปเท่านั้น แต่หมายถึงการที่เราเลือกวิธีการผลิตที่ดี ปลอดภัย เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เป็นการลดต้นทุนด้านสิ่งแวดล้อมและเพิ่มทุนด้านนี้ให้มากขึ้นด้วย เช่น ความหลากหลายของสิ่งมีชีวิต ระบบนิเวศที่ดีกลับคืนมา สุขภาพที่ดีทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค เป็นต้น นอกจากนี้ การใช้เทคโนโลยีและเครื่องจักรที่เหมาะสม ก็ช่วยลดต้นทุนอย่างมาก และโดยเฉพาะอย่างยิ่งแล้ว หากทุกครัวเรือนไม่จำเป็นต้องซื้อเอาไว้ออก การรวมกลุ่มกัน การออกเงินกันซื้อสิ่งที่จำเป็นมา 1 ชุด แต่สามารถหมุนเวียนใช้ร่วมกันได้ หรือการสนับสนุนให้มีธุรกิจสร้างสรรค์อย่างเช่น สหกรณ์การให้บริการเครื่องจักรกลเกษตร (cooperative for farm machinery services) ที่สมาชิกสหกรณ์รวมกลุ่มกันซื้อหามาให้บริการกับสมาชิก ในรูปแบบการให้เช่า หรือการยืมใช้และจ่ายค่าบริการ ก็จะเป็นการลดต้นทุนอย่างมหาศาล คือ ลดทั้งค่าใช้จ่าย การจัดการ และความคุ้มค่าในการใช้งานที่มากกว่า   

(8) การฟื้นฟูฐานทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมท้องถิ่น จากข้อมูลที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นว่า การพัฒนาเศรษฐกิจของชุมชนท้องถิ่นอีสาน ทำให้ป่าไม้หายไป ร้อยละ 42 จากที่เคยมีมาในช่วงปี 2485 พื้นที่ป่าเปลี่ยนไปเป็นที่นา ไร่อ้อย มันสำปะหลัง ข้าวโพด ยางพารา ฯลฯ เป็นจำนวนมาก ไม่มีทางอื่นนอกจากทำให้ป่ากลับมาในรูปแบบที่เป็นป่าที่สร้างเศรษฐกิจฐานรากของท้องถิ่นได้ สร้างรายได้ให้ครอบครัวได้ เป็นเงินออม หรือเป็นมรดกได้ แต่เงื่อนไขหลายๆ อย่างในบ้านเราไม่เอื้อให้คนอยากปลูกป่า ทั้งในด้านกฎหมายที่ยุ่งยาก ความไม่มั่นใจว่าจะขายได้ หรือมีคนซื้อ รวมถึงไม่เห็นผลในระยะสั้น ต้องใช้เวลาหลายปี ต่างจากอ้อย หรือ มันสำปะหลัง ที่มีรายได้ทุกปี แต่จะอย่างไรก็แล้วแต่ ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ต้องส่งเสริมเรื่องนี้ โดยลดอุปสรรคและข้อจำกัดต่างๆ ลง รัฐเองก็ต้องรับประกันในการที่จะทำให้เกิดการซื้อขายได้จริง เพราะป่าที่หายไป คือ ระบบนิเวศที่ดีสูญเสียไป สัตว์ต่างๆ ความหลากหลายทางชีวภาพ ยา อาหาร ก็ได้หายไปด้วย และนี่ก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้รายจ่ายด้านอาหารของครัวเรือนสูงขึ้นมาก ดังนั้น รัฐจะต้องมีมาตรการที่ดีในการคุ้มครองป่าที่ยังเหลืออยู่ รวมถึงสนับสนุนให้คนปลูกป่ามากขึ้น ให้การช่วยเหลือหรือให้เงินอุดหนุนแก่ครัวเรือนที่รักษาป่าเอาไว้ในที่ดินตนเอง การใช้มาตรการทางภาษีเพื่อสร้างแรงจูงใจในการรักษาป่าในพื้นที่ตนเอง เช่น ไม่ต้องเสียภาษีที่ดินในส่วนที่เป็นป่า การเป็นหน่วยเชื่อมประสานให้เกิดการซื้อขายคาร์บอนเครดิตจากป่าอย่างจริงจังในระดับชุมชน การจัดรูปที่ดินใหม่ นำที่ดินที่เหมาะสมจะทำป่าชุมชนมาจัดการโดยชุมชน ซึ่งทุกชุมชนควรจะมีป่าของตนเองอย่างน้อย 100-500 ไร่ ตลอดจนเปิดโอกาสให้ชุมชนที่อยู่อาศัยหรือทำหารผลิตพืชเชิงเดี่ยวในพื้นที่ป่าของรัฐอย่างผิดกฎหมาย ให้สามารถอยู่ได้อย่างถูกกฎหมายและในขณะเดียวกันก็เป็นกำลังสำคัญในการเพิ่มพื้นที่ป่าได้ด้วย เช่น การให้ชาวบ้านเช่าป่าสงวนที่ตนเองบุกรุกอยู่ด้วยค่าเช่าที่ไม่แพงมาก ให้สัญญาเช่าระยะยาวถึง 50 ปี และต่ออายุได้หากไม่ผิดเงื่อนไข โดยมีข้อตกลงร่วมกันว่าจะต้องปลูกป่า ร้อยละ 50 ของพื้นที่ที่ทำการเช่าอยู่ และที่เหลือก็ปลูกพืชเศรษฐกิจในรูปแบบที่ยังยืนต่อไป รัฐต้องส่งเสริมให้เอกชน ชุมชน สามารถตัดไม้ในที่ดินตนเองขายโดยไม่มีเงื่อนไขทางกฎหมายมาก สามารถแปรรูปไม้ สร้างผลิตภัณฑ์จากไม้ หรือการส่งออกไม้ ตลอดจนกิจกรรมที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวเชิงนิเวศจากพื้นที่เหล่านั้นด้วย ซึ่งเชื่อแน่ว่าชุมชนส่วนใหญ่จะสนับสนุนนโยบายนี้ หากรัฐดำเนินการได้ ส่วนเรื่องคุณภาพดิน แหล่งน้ำ ก็ใช้หลักการที่คล้ายๆ กัน คือ การเน้นเรื่องการจัดการในระดับนโยบายอย่างจริงจังก่อน เช่น การคุ้มครองพื้นที่ชุ่มน้ำ (wetland) ตามแบบแผนและข้อกำหนดที่อนุสัญญาแรมซาร์ (Ramsar Convention) ที่เราได้ร่วมสัตยาบันไว้อย่างเข้มงวด การสนับสนุนให้ชุมชนบริหารจัดการลุ่มน้ำกันเอง เป็นต้น รวมถึงการแก้ปัญหามลพิษที่เกิดขึ้นกับชุมชนท้องถิ่นต้องแต่ต้นทาง โดยเฉพาะผลพวงจากการพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ต่างๆ เช่น เหมืองแร่ อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ฯลฯ และการยกเลิกการสนับสนุนให้มีการนำเข้า ใช้และจำหน่ายสารเคมีทางการเกษตรที่มีพิษร้ายแรง เช่น สารเคมีกำจัดวัชพืชกลุ่ม Paraquat หรือ Glyphosate เป็นต้น มาตรการและนโยบายเหล่านี้จะช่วยฟื้นฟูฐานทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมด้วยไปพร้อมกัน

(9) การเพิ่มผลิตภาพจากระบบการผลิตที่มีอยู่เดิม การใช้ที่ดินของประชาชนในชนบทยังขาดการจัดการเพื่อการเพิ่มผลิตภาพ เช่น การนำที่ดินทั้งหมดมาปลูกพืชเพียงชนิดเดียวแล้วขายได้เพียงปีละครั้ง ซึ่งนอกจากจะมีความเสี่ยงสูงแล้วยังมีผลิตภาพและเสถียรภาพต่ำ ดังนั้น เศรษฐกิจฐานรากจากการปลูกไม้ยืนต้น เป็นหนทางสำคัญที่สามารถทำให้เกษตรกรมีเวลาว่างมากขึ้น (ไม่ต้องปลูกทุกปี เก็บเกี่ยวทุกปี) เป็นวงจรซ้ำซากอยู่อย่างนั้น ยิ่งผลิตซ้ำหลายครั้งในรอบปี ก็ยิ่งใช้แรงงานหนักและหาแรงงานยากมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งต่างจากการปลูกไม้ยืนต้น ไม่ว่าจะเป็นป่า ป่าไผ่ ผลไม้ หรืออื่นๆ ที่ปลูกครั้งเดียว เก็บผลผลิตไปตลอดในระยะเวลานาน ซึ่งจะว่าไปแล้วก็สอดคล้องกับข้อจำกัดด้านแรงงานในอนาคต และการเพิ่มผลผลิตจากเดิมที่มีอยู่ ซึ่งนัยสำคัญสองประการ คือ 1) ลดพื้นที่กิจกรรมหนึ่งลง แต่ทำให้มีผลผลิตเท่าเดิม หรือเพิ่มขึ้น เช่น จากที่เคยปลูกอ้อยได้ไร่ละ 10 ตัน พื้นที่ 10 ไร่ ได้ผลผลิต 100 ตัน แต่หากลดพื้นที่ลงเหลือ 5 ไร่ ได้ผลผลิตไร่ละ 20 ตัน ก็ได้ผลผลิตอ้อยเท่าเดิม แต่เหลือพื้นที่ไปทำอย่างอื่นได้อีก 5 ไร่ (ปศุสัตว์ ผลไม้ ปลูกป่า แหล่งน้ำ ผัก ฯลฯ) ซึ่งทำให้เกิดรายได้และเพิ่มผลิตภาพจากพื้นที่ขนาดเท่าเดิมได้ ส่วนกรณีที่ 2) คือ การเพิ่มกิจกรรมเข้าไปในระบบการผลิตเดิม เช่น การปลูกมันป่า ผักพื้นบ้านหลายชนิด ในสวนยางพารา การเลี้ยงเป็ดและปลาในนาข้าว การปลูกพริกไทยกับต้นมะพร้าว การปลูกผักกูด ผักหนาม ในขอบสระ หรือร่องน้ำ หรือแม้แต่การนำสมุนไพร มันป่า ไม้ยืนต้นที่มูลค่าสูง ปลูกลงไปเพิ่มเติมในป่าหัวไร่ปลายนาที่ตนเองมี อันนี้ เป็นการประกันความเสี่ยง เพิ่มความหลากหลายของกิจกรรมที่สร้างรายได้และสร้างมูลค่าเพิ่ม รวมถึงเพิ่มขีดความสามารถในการใช้ประโยชน์จากที่ดินอันจำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด        


(10) ความจำเป็นที่ต้องพึ่งพาภายนอกอย่างพอเหมาะพอดีและการสร้างระบบสวัสดิการชุมชน ต้องยอมรับความจริงว่า สัดส่วนคนทำงานนอกชุมชนที่มีมากขึ้นเรื่อยๆ ด้วยการผลิตในภาคการเกษตรสร้างรายได้ไม่มากพอในการใช้จ่าย ใช้หนี้สิน หรือใช้สำหรับการออม สมาชิกในครัวเรือนจึงต้องมีการไปทำงานภายนอกมากขึ้น และหลายคนทำงานทั้งการเกษตรและงานประจำไปพร้อมๆ กัน แต่หลายครอบครัวต้องไปทำงานทั้งพ่อและแม่ ดังนั้น ข้อจำกัดหรือความจำเป็นทางเศรษฐกิจของครัวเรือน ไม่ควรเบียดเบียนโอกาสที่ดีของการสร้างครอบครัวที่อบอุ่น การหารายได้จากต่างถิ่นจึงไม่ควรต้องทิ้งครอบครัวไปจนเกิดปัญหาทางสังคม ดังเช่นชุมชนท้องถิ่นที่ถูกทิ้งร้างให้มีแต่เด็กและคนแก่ ครอบครัวอย่างน้อย พ่อ หรือ แม่ คนใดคนหนึ่งควรได้อยู่ดูแลลูกๆ เพราะยุคสมัยใหม่ ลำพังการที่จะทิ้งภาระในการเลี้ยงดูเด็กภายใต้การดูแลของ ปู่ ย่า ตา ยาย คงไม่สามารถทำให้เด็กเติบโตอย่างมีคุณภาพ และรู้เท่าทันเด็ก เทคโนโลยี และสังคมยุคใหม่ได้ การจ้างงานและสร้างงานที่หลากหลายในท้องถิ่นจะต้องพยายามที่จะสร้างให้เกิดขึ้น ทั้งในรูปแบบงานประจำ อาชีพเสริม หรือการทำงานแบบ freelance หรือ part time รวมถึงการรับเหมางานฝีมือมาทำที่บ้านจะต้องเกิดขึ้นมากพอเพื่อรองรับคนที่จำเป็นต้องอยู่ในท้องถิ่น อันที่จริงแล้ว รัฐกำหนดบทบาทหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไว้มากมาย แต่กลับไม่มีตำแหน่งงานที่เหมาะสมกับภารกิจ (งานมาก คนน้อย) โดยเฉพาะงานสำคัญๆ ที่ต้องมาหนุนเสริมกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และการบริการสาธารณะในท้องถิ่น งานด้านการส่งเสริมอาชีพ การฝึกอบรมทักษะ หรือความเชี่ยวชาญในแขนงต่างๆ ที่จะดูแลท้องถิ่นได้ น่าจะมีมากมายหลายตำแหน่ง และมีความเป็นไปได้ หากรัฐจัดสรรงบประมาณส่วนท้องถิ่นเพิ่มขึ้น ซึ่งจะสามารถนำมาจัดระบบสวัสดิการที่ดีได้ เช่น การติดตามดูแลผู้สูงอายุ การให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพอนามัยและพัฒนาการของแม่และเด็ก การสร้างพื้นที่สาธารณะให้กับเด็ก เยาวชน และผู้สูงวัย การจัดการสิ่งแวดล้อมที่ดีของชุมชนท้องถิ่น ระบบสวัสดิการอื่นๆ ที่ไม่ใช่ตัวเงิน เช่น สวนสาธารณะที่ดี แหล่งน้ำที่สะอาด ป่าสาธารณะที่สามารถเก็บหาอาหารสำหรับบริโภคและเพื่อการพักผ่อน หรือกิจกรรมสันทนาการ ฯลฯ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ จะเพิ่มคุณภาพชีวิตและสร้างการจ้างงานเพิ่มขึ้น รวมถึงการทำให้เกิดอาชีพใหม่ๆ ในชุมชน เช่น ช่างตัดแต่งต้นไม้ (รุกขกร) ซึ่งทุกวันนี้ หาคนที่มีทักษะฝีมือตัดต้นไม้ใหญ่ หรือจัดการกิ่งไม้ใหญ่ที่ใกล้สายไฟ หรือใกล้บ้านยากมาก งานเกี่ยวกับช่างฝีมือต่างๆ ที่ต้องประยุกต์ตามสมัยและเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว เป็นต้น      

(11) ปรับบทบาทขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้ทำหน้าที่ในการลดความเหลื่อมล้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการหมุนเวียนทรัพยากรและสร้างการพึ่งกันเองของระบบเศรษฐกิจท้องถิ่น เช่น ขยะและวัสดุเหลือใช้มากมายในท้องถิ่น สามารถเปลี่ยนเป็นสินค้าและเพิ่มมูลค่าได้ เทศบาล อบต. ต้องเป็นผู้นำและผู้ประสานงานที่ดีให้สามารถนำของเสียจากกิจกรรมหนึ่ง ไปทำให้เกิดประโยชน์กับอีกกิจกรรมหนึ่ง หรือหลายๆ กิจกรรมได้ ฟางข้าวมีประโยชน์มาก เพียงแค่อัดก้อนขายก็มีราคาก้อนละ 25 บาท เอาไปเพาะเห็ด คลุมแปลงเพาะปลูก เป็นอาการสัตว์ ฯลฯ ปุ๋ยเทศบาล (สิ่งปฏิกูล) ก็สามารถนำไปทำประโยชน์ได้มาก ขยะอินทรีย์จากชุมชนเป็นทั้งอาหารสัตว์และปุ๋ย การเปลี่ยนขยะเป็นพลังงาน (ทั้งพลังงานไฟฟ้า หรือพลังงานความร้อน) ซึ่งอาจจะนำมาใช้เพิ่มมูลค่าผลผลิตได้ เช่น โรงอบแห้งข้าวและผลผลิตอื่นๆ ซึ่งเปิดให้บริการแก่ชุมชนในการเอาผลผลิตมาอบแห้งให้มีความชื้นอยู่ในเกณฑ์คุณภาพที่ดี โดยเฉพาะช่วงหน้าเก็บเกี่ยว หรืออาจจะมีฝนหลงฤดู นอกจากนี้ การที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจำเป็นจะต้องมีบทบาทอย่างมากเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจฐานรากของชุมชน ก็เพราะเป็นนิติบุคคลที่สามารถทำหลายๆ อย่างที่ประชาชนทำเองไม่ได้ให้ถูกต้องตามกฎหมายได้ เช่น การมีโรงฆ่าสัตว์ที่มีคุณภาพดี ได้มาตรฐาน มีระบบตรวจสอบสุขอนามัยของผลิตภัณฑ์จากสัตว์ที่ดี สามารถช่วยเพิ่มช่องทางในการเพิ่มมูลค่าจากปศุสัตว์ในท้องถิ่นได้ โดยไม่ต้องไปซื้อจากภายนอก หรือต้องนำเข้าจากต่างประเทศ รวมถึงการพัฒนากิจการของท้องถิ่นร่วมกับชุมชน เช่น อาจจะรวมถึงสหกรณ์ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กจากพลังงานหมุนเวียน โรงอบผลผลิตเกษตร การให้เช่าหรือบริการเครื่องจักร อุปกรณ์ที่จำเป็น นอกจากนี้ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นยังสามารถวางแผนการใช้ที่ดิน การออกข้อกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดิน ผังเมืองเฉพาะ การพัฒนาทางกายภาพเพื่อคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม หรือเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจฐานราก และแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ โดยเฉพาะระบบรวบรวมและจัดการของเสียรวม การสร้างทางระบายน้ำเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วม การสร้างพื้นที่รองรับภัยพิบัติและเหตุฉุกเฉินทางสิ่งแวดล้อม การแก้ปัญหาที่ดินที่ไม่มีทางออกสู่สาธารณะ การสร้างหรือพัฒนาตลาดของเทศบาลให้ทันสมัย สะอาด และปลอดภัย ฯลฯ ซึ่งทั้งหมดเป็นหน้าที่ตามกฎหมายของ อปท. ที่จะช่วยลดปัญหาความเหลื่อมล้ำและหนุนเสริมเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็งไปพร้อมๆ กัน

(12) สร้างของที่มีคุณภาพที่มีชิ้นเดียว อันที่จริงแล้ว มีงานหัตถกรรมมากมายที่สามารถต่อยอดเป็นงานฝีมือเพื่อการใช้สอยที่สมสมัยและทรงคุณค่าได้ ซึ่งทรัพยากรบุคคลที่มีฝีมือด้านนี้ของคนรุ่นเก่า กับการออกแบบ จัดการ และพัฒนาผลิตภัณฑ์ของคนรุ่นใหม่ น่าจะสร้างผลผลิตที่มีมูลค่าสูงได้ และเป็นสิ่งที่ต่อยอดจากภูมิปัญญาเดิม แต่นำมาเปลี่ยนรูปแบบใหม่ ก็จะสร้างอาชีพ และกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่หลาหลายเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะ online marketing ที่เชื่อมต่อโดยตรงระหว่างผู้ผลิต ผู้ขายและผู้บริโภค ซึ่งอาจจะเป็นทั้งของใช้ประจำวัน เครื่องปั้นดินเผา เฟอร์นิเจอร์ เครื่องจักสาน ผลิตภัณฑ์จากผ้า ของเล่น เป็นต้น  

(13) พัฒนาศักยภาพเศรษฐกิจท่องเที่ยวระดับท้องถิ่น การทำให้ผู้คนจากต่างถิ่นเดินทางมาท่องเที่ยวในชุมชน ย่อมเป็นช่องทางสำคัญในการสร้างรายได้ให้กับชุมชนและสร้างเศรษฐกิจฐานรากที่เข้มแข็ง ชุมชนที่มีศักยภาพในการเป็นแหล่งท่องเที่ยวอันเป็นอัตลักษณ์ของท้องถิ่น ทั้งทางธรรมชาติ วัฒนธรรม ศิลปะ สินค้าหรือผลิตภัณฑ์ที่โดดเด่น ย่อมสามารถสร้างแรงดึงดูดจากนักท่องเที่ยว และสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวได้ และทำให้เกิดกำลังซื้อของนักท่องเที่ยวจากการจับจ่ายใช้สอยไปกับสินค้า ผลิตภัณฑ์ และการบริการต่างๆ ของชุมชน

(14) สร้างกลไกการแก้ปัญหาหนี้สินในระดับฐานราก ซึ่งต้องใช้ทั้งกลไกด้านกฎหมายและนโยบายอย่างจริงจัง เพราะสถาบันการเงินส่วนใหญ่ทั้งของรัฐและเอกชนมีหน้าที่หลักคือให้การสนับสนุนสินเชื่อและได้กำไรจากดอกเบี้ยเงินกู้ แต่ไม่ได้มีหน้าที่ในการให้การสนับสนุนเรื่องการแก้ปัญหาหนี้สิน เงื่อนไขในการขอกู้เงินเพื่อนำไปใช้หนี้เป็นไปได้ยากมาก รัฐอาจจะต้องสร้างสถาบันการเงินแบบนี้ หรือปรับบทบาทสถาบันการเงินที่มีอยู่ของรัฐให้ทำหน้าที่จัดการเรื่องหนี้สินเป็นการเฉพาะ และรัฐอาจจะต้องสนับสนุนให้มีการสร้างทีมงาน หรือสร้างคนทำงานในรูปขององค์กรทางธุรกิจที่เข้าไปช่วยจัดการปัญหาหนี้สินต่างๆ ในระดับฐานรากอย่างจริงจังและเป็นระบบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องหนี้สินภาคครัวเรือนที่เกิดจากการประกอบอาชีพเกษตร นอกภาคเกษตร หนี้จากค่าใช้จ่ายในครัวเรือน รวมถึงหนี้นอกระบบ ซึ่งอาจต้องต้องดำเนินการ ดังนี้

1) การสร้างกลไกระดับท้องถิ่นในการช่วยเหลือเรื่องปัญหาหนี้สิน เช่น การรวมผู้ประสบปัญหาหนี้สินที่ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองเพียงลำพังได้ให้เป็นเครือข่ายเพื่อรับความช่วยเหลือแบบรวมกลุ่ม หรือเป็นสหกรณ์/บริษัทที่รับผิดชอบหนี้สินร่วมกัน แบ่งเบาภาระกันและกัน เป็นต้น

2) สหกรณ์/บริษัทบริหารหนี้สิน มีหน้าที่ให้คำปรึกษาและการวางแผนร่วมกันในระดับสมาชิก ระดับครัวเรือนและชุมชนในการจัดการหนี้สิน เช่น การรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลหนี้สินของสมาชิก หรือครัวเรือน/ชุมชน พิจารณาทางเลือกต่างๆ ที่จะเหมาะสมในการนำไปใช้แก้ปัญหาร่วมกัน การพัฒนาศักยภาพลูกหนี้ให้สามารถสร้างรายได้เพื่อลดภาระหนี้สินได้ การประสานและทำข้อตกลงกับเจ้าหนี้และสถาบันการเงินเพื่อการปรับโครงสร้างหนี้และร่วมกันทำแผนการชดใช้หนี้สินที่เป็นไปได้ระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้และการรักษาวินัยในการใช้หนี้ การเชื่อมโยงกับกลุ่มเครือข่ายอาชีพต่างๆ เพื่อสร้างอาชีพ สร้างรายได้ หรือเพิ่มช่องทางในการขายผลผลิต การแปรรูปผลผลิต การเพิ่มมูลค่าของผลผลิต การนำเอาสินทรัพย์ ที่ดิน กิจการ แรงงาน ทักษะความรู้หรือศักยภาพที่สมาชิกมีอยู่มาพัฒนาประสิทธิภาพร่วมกัน ทั้งในการผลิตและการบริหารจัดการ การติดตามประเมินผลการแก้ปัญหาและการขยายผลไปสู่การนำไปใช้ในพื้นที่อื่นๆ เป็นต้น

ทั้งหมดนี้ อาจจะเป็นเพียงแนวทางหนึ่ง ในการที่จะเอาไปประยุกต์ใช้เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากของชุมชนชนบทอีสาน เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ควบคู่ไปกับการพัฒนาเศรษฐกิจหลักในระดับมหภาค ซึ่งหนุนเสริมซึ่งกันและกันได้

 

 

อ้างอิง

 [1]ภาระหนี้สิน จากข้อมูลรายงานกิจการรอบปีบัญชี 2551 - 2552 ของ ธกส. ระบุว่า ในปี 2551 รวมเกษตรกรที่กู้เงินจาก ธกส.ทั้งสิ้น 6,070,381ราย/ครัวเรือน เป็นเงิน 308,087 ล้านบาท และเมื่อรวมกับเงินให้กู้ในโครงการนโยบายของรัฐและสินเชื่อประเภทอื่น ธกส. ให้สินเชื่อรวมในปี 2551 ทั้งสิ้น 479,858 ล้านบาท เฉลี่ย 80,000 บาท/ ราย (ครัวเรือน) ส่วนข้อมูลของสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร สาขาจังหวัดกาฬสินธุ์ ในการรับขึ้นทะเบียนหนี้ของเกษตรกร รอบที่ 1 ปี 2546 ถึงรอบที่ 7 ปี 2551 พบว่า มีหนี้สินของเกษตรกรเฉพาะที่เกี่ยวกับเกษตรกรรม มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมากกว่า 100,000 บาท/ ราย ในปี 2551 จากการวิเคราะห์ข้อมูลเบื้องต้นของเกษตรกร จำนวน 100 ราย ที่ยื่นขึ้นทะเบียนหนี้รอบที่ 8 ในปี 2552 ของสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร สาขาจังหวัดกาฬสินธุ์ พบว่า เกษตรกรมีหนี้สินในระบบที่เกี่ยวกับการทำการเกษตร จำนวน 10,484,976 บาท หรือ เฉลี่ยรายละ 104,850 บาท หนี้สินเหล่านี้เกิดจากค่าใช้จ่ายในครัวเรือน การศึกษาของบุตรหลาน และ หนี้สินจากค่าใช้จ่ายด้านสังคมอื่นๆ

[2] http://www.dft.go.th/bts/trade-report

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net