Skip to main content
sharethis

สัมภาษณ์คนรุ่นใหม่ถึงความเห็นกรณีพรรคประชาธิปัตย์และพรรคภูมิใจไทย ประกาศสนับสนุนพรรคพลังประชารัฐ ดัน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาขึ้นเป็นนายกฯ หลากความเห็นทั้งผิดหวัง คิดไว้อยู่แล้วว่าต้องเป็นแบบนี้ บางคนยังคาใจต่อกติกาในรัฐธรรมนูญ แต่ยังคงมีความหวังว่าบ้านเมืองต้องดีกว่านี้ได้

สืบเนื่องจากวานนี้ (4 มิ.ย. 2562) พรรคประชาธิปัตย์แถลงจุดยืนของพรรคเป็นแกนนำร่วมจัดตั้ง รัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐและพร้อมสนับสนุนพล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป จากแถลงการณ์นี้ทำให้เกิดกระแสในโลกโซเชียลมีเดียจนมีแฮชแท็ก #ประชาธิปัตย์ทรยศประชาชน ขึ้นในเทรนทวิตเตอร์อันดับหนึ่ง ผู้สื่อข่าวประชาไทจึงได้ไปสัมภาษณ์กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีความคิดเห็นต่อประเด็นนี้ด้วย

ฐาปนพงศ์ พะเนตรรัมย์ ว่าที่บัณฑิตนิเทศศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี แสดงความคิดเห็นหลังจากพรรคประชาธิปัตย์ตอบรับเข้าร่วมกับพรรคพลังประชารัฐว่า พรรคประชาธิปัตย์อาจวางเกมแบบนี้ไว้ตั้งแต่ต้น เนื่องจากพรรคนี้เก่งเรื่องการใช้วาทศิลป์ แถมยังมีลูกเล่นอันแพรวพราวอีกด้วย และคิดว่าพรรคนี้สนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์มาตั้งแต่ต้นอยู่แล้ว ซึ่งสิ่งนี้ต้องยอมรับว่าเขาอาจจะมีส่วนได้เสียกัน  และวันนี้คุณอภิสิทธิ์ได้ประกาศลาออกจากการเป็น ส.ส. ซึ่งมองว่า การลาออกของคุณอภิสิทธิ์ ไม่ใช่ทำเพื่ออุดมการณ์หรือจุดยืนอะไร แค่เป็นการรักษาหน้าของตัวเองไว้ เพราะอย่างไรแล้วก็มี ส.ส.ท่านอื่นถูกดันขึ้นมาแทนในการโหวตนายกรัฐมนตรีอยู่ดี  

ฐาปนพงศ์กล่าวต่อว่า รัฐธรรมนูญฉบับ 2560 มีปัญหา มีช่องโหว่ที่เอื้อประโยชน์แก่รัฐบาลชุดนี้อยู่ ลามมาถึงการแต่งตั้ง ส.ว. 250 คน โดยรัฐบาลเอง แถมยังให้ ส.ว.ทั้ง 250 คนมีสิทธิเลือกนายกรัฐมนตรีด้วย แต่อย่างไรก็ตามตอนนี้ประเทศไทยกลับเข้ามาในรูปแบบของการเลือกตั้งแล้ว แม้จะเอื้อประโยชน์แก่คนกลุ่มเดียวอยู่ก็ตาม แต่ก็ทำให้คนในประเทศส่วนมากหันมาสนใจและตื่นตัวต่อเรื่องพวกนี้ เพราะลึกๆ แล้วคนเราต้องการแสดงออก ต้องการความถูกต้องอยู่แล้ว ยิ่งมาบีบคั้นกดดันกันแบบนี้จึงกลายมาเป็นกระแสการต่อต้าน พล.อ.ประยุทธ์ขึ้นจากประชาชน นักเรียน นักศึกษาต่างๆ 

ในขณะที่เต้ (นามสมมติ) นักศึกษาคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เห็นตรงกับฐาปนพงศ์ว่า พรรคประชาธิปัตย์ที่ใช้ระยะเวลาจับขั้วรัฐบาลนานแต่สุดท้ายก็หันไปพึ่งซบกับพรรคพลังประชารัฐตามมติเสียงส่วนใหญ่ของพรรค ทั้งนี้สมาชิกพรรคแต่ละคนอาจมีเหตุผลส่วนตัว ตรงนี้ก็ต้องเคารพการตัดสินใจแต่การไปร่วมพรรคพลังประชารัฐที่เอานโยบายหลายอย่างของรัฐบาล คสช. ที่มาจากการยึดอำนาจมาใช้ แม้กระทั่งชื่อพรรคเอง ยังมีคำว่า 'ประชารัฐ' ไหนจะเสนอหนุน พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกคนต่อไปอีก นี่เรียกว่าการสนับสนุนให้เผด็จการหรือสนับสนุนการสืบทอดอำนาจหรือไม่ ถ้าคิดว่าพรรคพลังประชารัฐสนับสนุนเผด็จการ ก็ไปเอาข้อที่ 4 ของคำประกาศอุดมการณ์ของพรรค วันที่ 6 เม.ย. 2489 ออกเสีย

เต้กล่าวติดใจระบบสภาในเรื่องการแต่งตั้ง ส.ว. 250 คนว่ามาจากการแต่งตั้งของใครหรือเปล่า เพราะรายชื่อทั้งหมดมียศตำแหน่งประมาณร้อยคน แน่นอนว่าการให้ ส.ว. 250 คน สามารถลงคะแนนเสียงเลือกนายกฯ ได้ เขาจะเลือกใครและใครจะได้เป็นนายกฯ คงมโนได้ไม่ยาก แต่ก็ยังหวังว่าวันหนึ่งระบบสภาบ้านเราจะดีกว่านี้

ด้านวรัญญา โคตพิลา นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าวว่า  นักการเมืองมีมากขึ้น เพราะระบอบประชาธิปไตยที่เป็นตัวแทนของประชาชน และก่อนหน้านี้ทั้งสองพรรคก็เคยอ้างว่าทำเพื่อประชาชน เพื่อประชาธิปไตย แต่การที่พวกเขาเข้าร่วมกับเผด็จการซึ่งมีจุดยืนตรงข้ามกัน เท่ากับเขาพวกเขาไม่ได้ทำเพื่อประชาชนแต่ทำเพื่อผลประโยชน์ของตนเองเพราะประชาชนส่วนใหญ่อยู่ฝ่ายประชาธิปไตย ส่วนเรื่องระบบสภาไม่มีความหวังกับระบบสภานี้แล้ว เพราะทุกอย่างถูกจัดเตรียมไว้หมดและสมบูรณ์ด้วย เนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับนี้ถูกดีไซน์มาเพื่อให้พวกเขามีอำนาจรัฐอยู่ในมือ ส่วนกระบวนการยุติธรรมก็ไม่เคยเกิดขึ้นกับฝ่ายประชาธิปไตยเลย

ส่วนนิธิวัต อ้นรัตน์ นักศึกษาคณะวิทยาลัยสหวิทยาการ สาขาปรัชญา การเมือง เศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า พรรคภูมิใจไทยและพรรคประชาธิปัตย์ได้ตัดสินใจเข้าร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับพลังประชารัฐ ซึ่งเป็นสิทธิของทั้งสองพรรค

“มันเป็นสิทธิของทั้งสองพรรคที่จะไปเข้าร่วมแม้ว่าคำพูดอาจจะไม่เป็นไปตามคำก่อนหน้านี้ก็ตาม มันเป็นเรื่องการเมือง ผลประโยชน์และการได้ชื่อเสียง ประชาชนควรจะมีวิจารณญาณอยู่ตลอดเวลา ส่วนเรื่องประชาธิปไตยในประเทศไทย ผมไม่เคยเชื่อมั่นมาอยู่แล้วเพราะโครงสร้างประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ยังมีผลประโยชน์ทับซ้อนเกินกว่าจะให้ประเทศไทยเป็นระบอบประชาธิปไตย” นิธิวัตกล่าว

ปวุฒิ ชุมคง นักศึกษาคณะวิทยาลัยสหวิทยาการ สาขาปรัชญา การเมือง เศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ทั้งสองพรรคเป็นพรรคที่หักหลังประชาชน การหาเสียงก่อนและหลังการเลือกตั้งไม่ตรงกัน ซึ่งการกระทำเช่นนี้จะกลับมาทำลายทั้งสองพรรคนี้เอง จากสถานการณ์การเมืองตอนนี้คิดว่าพรรคที่หักหลังประชาชนมากที่สุดคือพรรคประชาธิปัตย์และพรรคภูมิใจไทย ที่ตอนแรกได้หาเสียงว่าจะอยู่ฝ่ายประชาธิปไตย แต่ไม่รักษาคำพูดและยึดมั่นถือมั่นในอุดมการณ์ตามสโลแกนของพรรคการเมืองดังกล่าว ไม่เคยเสียสละอะไรเลยสักอย่าง เอาแต่อ้างประชาชน แค่นี้ก็รู้แล้วว่าอุดมการณ์ของฝั่งไหนแข็งแกร่งกว่ากัน สุดท้ายการกระทำจะกลับมาทำลายล้างตัวคุณเองหมดแล้วซึ่งเกียรติและศักดิ์ศรี

ศศิประภา กันฉายและบุษกร ประวัติศรี เป็นนักศึกษาฝึกงานจากคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี 

ภูมิรพี โรจนะบุรานนท์ เป็นนักศึกษาฝึกงานจากคณะวิทยาลัยสหวิทยาการ สาขาปรัชญา การเมือง เศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net