นิธิ เอียวศรีวงศ์: อัตตาธิปไตยและอาญาสิทธิ์นิยม

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

มีคำภาษาอังกฤษอยู่สองคำ ซึ่งมักแปลเป็นไทยในปัจจุบันด้วยคำเดียวกันคือ “อำนาจนิยม” นั่นคือคำว่า autocracy และ authoritarianism ก็ไม่ได้ผิดอะไรนะครับ หากดูวิธีบริหารจัดการของสองระบอบนี้ ต่างใช้อำนาจเป็นเครื่องมือและความชอบธรรมเหมือนๆ กัน แต่ความหมายระดับรากศัพท์แล้ว สองคำนี้ต่างกัน และผมคิดว่าความต่างตรงนี้อธิบายความโน้มเอียงในระบอบปกครองของไทย ตั้งแต่โบราณจนถึงปัจจุบันได้ดีด้วย

Autocracy หมายถึงระบอบปกครองที่บุคคลคนเดียวหรือกลุ่มเดียวถืออำนาจสูงสุด ทำหน้าที่ตัดสินใจและกำกับควบคุมการใช้และกระจายทรัพยากรของสังคมทั้งหมดแต่ผู้เดียว ด้วยเหตุดังนั้นแต่ก่อนท่านจึงมักแปลว่า “เอกาธิปไตย” บ้าง “อัตตาธิปไตย” บ้าง

Authoritarianism หมายถึงระบอบปกครองที่อำนาจสูงสุดไม่ได้อยู่ที่บุคคลแท้ๆ แต่อยู่ที่สิ่งซึ่งเรียกอย่างรวมๆ ว่า authority หรืออาญาสิทธิ์ อันได้แก่ กฎหมาย, ขนบประเพณี, แบบปฏิบัติซึ่งมีมานานจนเป็นที่ยอมรับ ฯลฯ แน่นอนว่าสิ่งเหล่านี้ย่อมกำหนดให้อำนาจอยู่ในมือของคนกลุ่มใด คนอื่นในสังคมต้องเชื่อฟังอาญาสิทธิ์อย่างไม่ต้องซักถาม คนไม่เชื่อฟังอาจกลายเป็นได้ทั้งอาชญากรหรือคนบาป ซึ่งต้องถูกผู้ถืออำนาจตามอาญาสิทธิ์ลงโทษ ด้วยเหตุดังนั้นผมจึงขอแปลคำนี้ในภาษาไทยว่า “อาญาสิทธิ์นิยม”

ความต่างของเผด็จการสองอย่างนี้อยู่ตรงไหน? ผมขอใช้นิทานตำนานเรื่องพันท้ายนรสิงห์มาเป็นเครื่องมืออธิบายตรงนี้

เมื่อพันท้ายฯ คัดเรือพระที่นั่งพลาดจนทำให้โขนเรือชนกิ่งไม้หัก พันท้ายฯ เรียกร้องให้พระเจ้าเสือประหารชีวิตตนตามพระอัยการ แต่พระเจ้าเสือโปรดปรานพันท้ายฯ เป็นการส่วนพระองค์ จึงไม่ยอมและอภัยโทษให้พันท้ายฯ แต่พันท้ายก็ไม่ยอมอยู่นั่นเอง ยืนยันให้ประหารชีวิตเพื่อรักษาพระราชอำนาจให้คงความศักดิ์สิทธิ์ต่อไป

พระราชอำนาจในทัศนะของตัวละครทั้งสองตั้งอยู่บนหลักของ “อำนาจนิยม” ที่ต่างกัน พระเจ้าเสือต้องการใช้อำนาจตามหลักอัตตาธิปไตย พระเจ้าแผ่นดินคือผู้มีอำนาจล้นพ้น จะรับสั่งให้อะไรเป็นผิดหรือถูกก็ได้ทั้งนั้น ไม่มีอำนาจอื่นใดมาขวางกั้นได้ ฉะนั้น จึงมีพระราชอำนาจเต็มประตูที่จะยกเว้นกฎเกณฑ์อะไรก็ได้ทั้งนั้น แก่ใครก็ได้ทั้งนั้น

แต่พระราชอำนาจในทัศนะของพันท้ายฯ เกิดขึ้นและดำรงอยู่ได้เพราะ “อาญาสิทธิ์” (คือบทพระอัยการที่ว่านั้น จะมีจริงหรือไม่ผมก็ไม่แน่ใจ) หากทรงละเว้นไม่เอาโทษพันท้ายฯ ก็จะทำให้ “อาญาสิทธิ์” เสื่อมความศักดิ์สิทธิ์ จนอาจถูกล่วงละเมิดไปได้ไม่สิ้นสุด ดังนั้น เพื่อรักษาพระราชอำนาจไว้ให้สถิตสถาวรมั่นคง พันท้ายฯ จึงเรียกร้องให้ลงโทษประหารตนเสียตามบทพระอัยการ

คราวนี้ลองจินตนาการดูว่า หากข้าราชการกรุงศรีอยุธยาต่างเป็นเหมือนพันท้ายนรสิงห์หมด สืบไปในระยะยาว พระราชอำนาจของกษัตริย์อยุธยาก็จะถูกจำกัดไว้ด้วย “อาญาสิทธิ์” หนักขึ้นไปกว่านั้นอีกก็คือมีกลุ่มคนที่เป็นผู้เชี่ยวชาญในการตีความ “อาญาสิทธิ์” อาจเป็นพราหมณ์หรือเป็นเนติบริกรก็ตาม สภาของผู้เชี่ยวชาญ “อาญาสิทธิ์” นี้ย่อมได้อำนาจในการขัดขวางหรือแก้ไขการตัดสินพระทัยของกษัตริย์ได้

ประวัติศาสตร์ไทยก็คงสนุกกว่าที่เราต้องถูกบังคับให้เรียนในเวลานี้ เพราะตัว “รัฏฐาธิปัตย์” มันจะสลับซับซ้อนกว่าคุณสุเทพ เทือกสุบรรณ หรือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา (ซึ่งไม่ได้เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ แต่เป็นรัฏฐาธิปัตย์!!!) มาก

กล่าวโดยสรุปก็คือ ระบอบอาญาสิทธิ์นิยมถึงเป็นเผด็จการเหมือนกัน แต่โดยตัวของมันเองกลับมีอำนาจอื่น เป็นตำแหน่งหน้าที่บ้าง, เป็นสถาบันบ้าง, เป็นกฎหมายหรือจารีตประเพณีบ้าง ฯลฯ ที่คอยทานอำนาจของบุคคลที่ถืออำนาจสูงสุดไว้ในมือ

แน่นอนว่าในความเป็นจริงทางประวัติศาสตร์ สองระบอบนี้ไม่ถึงกับแยกขาดเป็นสองขั้วชัดเจนดังเช่นที่ผมบรรยาย อัตตาธิปไตยอ้างขนบธรรมเนียมประเพณีเพื่อเสริมอำนาจของตนให้เข้มแข็งขึ้นก็ได้ อาญาสิทธิ์นิยมที่ขาดบุคคลผู้ใช้อำนาจเลยก็เป็นไปไม่ได้ แต่ในขณะเดียวกัน ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าระบอบเผด็จการทั้งหลาย มีแนวโน้มไปในทางใดทางหนึ่งมากกว่ากัน

เช่น เกาหลีเหนือนั้นเป็นเผด็จการประเภทอัตตาธิปไตยของตระกูลคิมอย่างชัดเจน ในขณะที่สีจิ้นผิงอาจรวบอำนาจไว้ในมือมากกว่าเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์คนอื่นๆ ในระยะใกล้ที่ผ่านมา แม้กระนั้นก็ยังต้องทำให้ปรากฏชัดว่า อำนาจของเขามีที่มาจากการอนุมัติของกรมการเมืองของพรรค ไม่ใช่ช่วงชิงมาเอง (และว่ากันว่าที่จริงแล้วก็มีความแตกแยกกันในหมู่ผู้นำพรรคพอสมควร)

มองในแง่แนวโน้มเช่นนี้แหละครับ ที่ผมอยากจะพูดว่าระบอบปกครองของไทยตั้งแต่โบราณมา ค่อนข้างมีลักษณะเป็นอัตตาธิปไตยสูง และมีความพยายามของกษัตริย์ในทุกราชวงศ์ที่จะป้องกันมิให้ระบอบอาญาสิทธิ์นิยมพัฒนาขึ้นในระบบการเมืองได้อย่างมั่นคง เช่น ศาลาลูกขุนใน, ศาลาลูกขุนนอก ซึ่งเป็นเหมือน “สภา” ของขุนนางฝ่ายยุติธรรมและฝ่ายบริหาร ไม่เคยถูกพัฒนาขึ้นเป็นสถาบันจริงเลย ไทยอาจมีระบบกฎหมายและกระบวนการพิจารณาคดีที่ดูเหมือนจะเป็นระบบกว่าหลายประเทศในภูมิภาคนี้ แต่ถึงที่สุดแล้วกษัตริย์ก็เป็นศาลฎีกาเสมอ คือจะพลิกกลับคำพิพากษาอย่างไรก็ได้

และด้วยเหตุดังนั้น ราชสำนักอยุธยาจึงเป็นราชสำนักที่มีการแย่งชิงราชสมบัติกันบ่อยครั้งที่สุด ระบอบอัตตาธิปไตยเรียกร้องให้กษัตริย์ต้องมีพระราชอำนาจสูงสุด เหนือคนอื่นทั้งหมดไกลลิบเลย หากไม่เช่นนั้น คนที่มีอำนาจมากกว่าหรือใกล้เคียงย่อมชิงตำแหน่งไปครอบครอง อำนาจของบุคคลในสังคมอยุธยาเกิดจากเครือข่ายอุปถัมภ์ซึ่งสร้างขึ้นจากทรัพยากรและการสั่งสม กษัตริย์ต้องระวังป้องกันมิให้บุคคลอื่นสั่งสมทรัพยากรและเครือข่ายอุปถัมภ์ที่ใหญ่ใกล้เคียงได้

แม้แต่องค์กรศาสนาซึ่งถือทรัพยากรและเครือข่ายอุปถัมภ์ที่ใหญ่มาก ตกถึงกลางอยุธยาลงมา (เป็นอย่างน้อย) ก็มิได้เป็นองค์กรอิสระ แต่ตกอยู่ใต้การอุปถัมภ์ควบคุมของราชสำนักเช่นกัน

ตรงกันข้ามกับเผด็จการประเภทอาญาสิทธิ์นิยม ที่อำนาจไม่ได้มาจากการสั่งสมของบุคคลและเครือข่าย แต่มาจากอาญาสิทธิ์ที่ตราไว้ เช่น การสืบราชสมบัติตามสายเลือด เป็นอาญาสิทธิ์ของกษัตริย์ยุโรป ถึงขึ้นครองราชย์เมื่อทรงพระเยาว์ ก็ไม่มีใครมาชิงราชสมบัติไปได้ (แม้ไม่มีใครเกรงพระทัยเอาเลย)

ในเมืองไทยจนถึงทุกวันนี้ ใช่ว่า ผบ.ทบ.จะสามารถทำรัฐประหารได้เท่ากันทุกคน ผบ.ทบ.ที่ได้ขึ้นดำรงตำแหน่งโดยบังเอิญ ด้วยเหตุใดก็ตาม โดยที่ยังไม่ได้สั่งสมทรัพยากรเครือข่ายสายสัมพันธ์ส่วนบุคคลมาก่อน ก็ยากที่จะก่อรัฐประหารภายใต้การนำของตนได้ ตำแหน่งมีความสำคัญน้อยกว่าบุคคล

อย่างไรก็ตาม มีความพยายาม (ของใครไม่ทราบ แต่คงเป็นในหมู่ชนชั้นนำด้วยกัน) ที่จะพยายามสถาปนาอาญาสิทธิ์บางอย่างขึ้นถ่วงดุลอัตตาธิปไตยของพระราชอำนาจบ้าง เช่น นำเอาคติในพุทธศาสนาและพราหมณ์ เช่น ทศพิธราชธรรม, ราชนีติ, จักรวรรดิวัติ, พระมนูธรรมศาสตร์ เข้ามาเป็นอาญาสิทธิ์ซึ่งบุคคลอันเป็นพระราชาต้องยอมรับ แต่คติเหล่านี้ไม่อาจพัฒนาขึ้นเป็นสถาบันในเมืองไทยได้สักอย่างเดียว

พระราชบัญญัติในกฎหมายเก่าไม่ต้องอ้างพระมนูธรรมศาสตร์ (หรือมนูสัตถัมของมอญ) สักมาตราเดียว เพียงแต่ถือกันว่าคือการขยายความของพระธรรมศาสตร์ในเชิงปฏิบัติ พระราชอำนาจคือผู้ตีความและผู้ใช้อาญาสิทธิ์ตามแต่จะเห็นควรในแต่ละรัชกาล รวมทั้งยกเลิกหรือแก้ไขอะไรในกฎหมายที่สืบมาแต่ก่อนได้หมด

แม้กระนั้น ก็มีความพยายามในหมู่ชนชั้นนำบางกลุ่มตลอดมา ที่จะเปลี่ยนระบอบเผด็จการไทยจากอัตตาธิปไตยให้เป็นไปตามแนวอาญาสิทธิ์นิยมมากขึ้น ในปลายอยุธยามาจนต้นรัตนโกสินทร์ ขุนนางมีส่วนในการสืบราชสมบัติเพิ่มขึ้นตามลำดับ ทำให้พระราชอำนาจอัตตาธิปไตยของกษัตริย์ถูกกำกับ อย่างน้อยในทางพฤตินัย แม้ยังไม่ได้พัฒนาอำนาจขุนนางขึ้นเป็นอาญาสิทธิ์อย่างชัดเจนก็ตาม

จนกระทั่งถึง พ.ศ.2428 เจ้านายและขุนนางกลุ่มหนึ่งจึงได้ทำคำกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ให้เปลี่ยนแปลงการปกครอง โดยสรุปคือให้สร้างระบบราชการแบบใหม่, ระบบกฎหมายแบบใหม่, สืบราชสมบัติแบบใหม่, ประกันสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกระดับหนึ่ง และให้กษัตริย์มอบหมายภารกิจด้านการบริหารแก่ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่จัดการในนามของคณะรัฐมนตรีภายใต้พระบรมราชานุมัติ

“คำกราบบังคมทูลฯ” ไม่ได้ลดพระราชอำนาจลงแต่อย่างไร เพียงแต่ทำให้อำนาจและบทบาทของ “ข้าราชการ” (ซึ่งตอนนี้หมายรวมทั้งขุนนางและเจ้านาย โดยเฉพาะที่ได้รับการศึกษาแผนใหม่) โดดเด่นขึ้นจนเป็นหลักมากกว่าพระราชอำนาจอัตตาธิปไตย โดยมีหลักประกันที่อาญาสิทธิ์ประเภทที่เรียกว่า “คอนสติติวชั่น”

ไม่เกี่ยวอะไรกับระบอบประชาธิปไตย ดังที่ผู้เขียนกราบบังคมทูลในตอนท้ายว่า “ทางที่ข้าพระพุทธเจ้ากราบบังคมทูลพระกรุณาว่าเป็นคอนสติติวชั่นยุโรป หาได้ประสงค์จะมีปาลิเมนต์ในเวลานี้ไม่”

เนื้อแท้ของ “คำกราบบังคมทูลฯ” คือการเปลี่ยนเผด็จการแบบอัตตาธิปไตยให้มีลักษณะอาญาสิทธิ์นิยม ซึ่งจะทำให้มีพลังในการเผชิญกับคำวิพากษ์วิจารณ์ของผู้คน (และก็คงพอมองเห็นได้ในช่วงนั้นว่า คงไม่ใช่ประชาชนทั่วไป แต่คือกลุ่มชนชั้นนำด้วยกัน) จึงพร้อมจะประกันสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกได้ระดับหนึ่ง

แต่ก็ดังที่ทราบกันอยู่แล้วว่าไม่ประสบความสำเร็จ

คณะราษฎรอาจต้องการนำประชาธิปไตยมาสู่ประเทศอย่างแท้จริงในระยะแรก แต่การตอบโต้ของฝ่ายโต้การปฏิวัติมีความรุนแรงมาก จนเป็นอันตรายต่อคณะราษฎร ทำให้ต้องผนึกกำลังกับกองทัพเพื่อป้องกันตนเอง การนำอย่างเด็ดขาดจึงเคลื่อนไปหาผู้นำที่สามารถควบคุมกองทัพได้ ระบอบปกครองค่อยๆ แปรเปลี่ยนไปสู่อัตตาธิปไตยของบุคคลที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

คนไทยอยู่กับระบอบเผด็จการอัตตาธิปไตยมานานมาก จนทำให้เรามองการเมืองในลักษณะอัตตาธิปไตยอยู่เสมอ บ้านเมืองจะก้าวหน้ารุ่งเรืองหรือจะตกต่ำอับเฉา ก็ขึ้นอยู่กับผู้นำอัตตาธิปไตย ประชาธิปไตยไทยคือการเปิดโอกาสให้ประชาชนได้เลือกผู้นำอัตตาธิปไตย ไม่ว่าจะชื่อสฤษดิ์, เปรม, ทักษิณ หรือประยุทธ์ ประชาธิปไตยไทยจึงไม่ใช่การเปิดพื้นที่เสรีให้แก่พลังอันหลากหลายได้ต่อรองกัน ภายใต้การกำกับควบคุมของประชาชน

แม้แต่ความพยายามจะตั้งรัฐบาลผสมในครั้งนี้ พลังอันหลากหลายกลับพร้อมจะเข้าไปต่อรองผลประโยชน์กันภายใต้ผู้นำที่มีลักษณะอัตตาธิปไตย และที่จริงแล้วการเลือกตั้งก็พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า เสียงส่วนใหญ่ไม่ต้องการเขา แต่ไม่เป็นไร เพราะเขาคือผู้ที่ดูเหมือนยังได้รับการหนุนหลังจากอำนาจอื่นๆ อีกมาก ทั้งกองทัพ, ระบบราชการ และทุนขนาดใหญ่ ฯลฯ ดังนั้น ประชาธิปไตยในทัศนะของนักการเมืองเหล่านี้คือ โอกาสของการต่อรองอำนาจโดยเสรี ภายใต้อัตตาธิปไตยนั่นเอง

 

 

เผยแพร่ครั้งแรกใน: มติชนสุดสัปดาห์ www.matichonweekly.com/column/article_199475

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท