Skip to main content
sharethis

รัฐบาลญี่ปุ่นเตรียมจัดสรรอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ เช่น แลปทอปหรือแท็บเล็ตหนึ่งเครื่องให้กับนักเรียนประถมและมัธยมศึกษาทุกคนทั่วประเทศภายในห้าปี หวังเพิ่มความเข้าใจ ใช้ประโยชน์อุปกรณ์เทคโนโลยีให้ได้ตั้งแต่เล็กเพื่อให้ทันโลกนวัตกรรมดิจิทัล เตรียมสั่งรัฐบาลท้องถิ่นสำรวจ-จัดซื้อ ย้อนดูเส้นทาง ‘หนึ่งแท็บเล็ตหนึ่งนักเรียน’ ไทย ความหวัง ความพัง ความสำเร็จ ตัดจบด้วยรัฐประหาร

ภาพห้องเรียนภาษาในประเทศญี่ปุ่น (ที่มา:วิกิพีเดีย)

7 มิ.ย. 2562 เจ้าหน้าที่รัฐบาลญี่ปุ่นระบุว่า รัฐบาลญี่ปุ่นมีแผนจะจัดสรรให้นักเรียนประถมและมัธยมทั่วประเทศมีอุปกรณ์คอมพิวเตอร์อย่างคอมพิวเตอร์แลปทอปหรือแท็บเล็ตให้ได้ภายในห้าปี โดยมีแผนจะออกโรดแมปดังกล่าวในช่วงสิ้นปีงบประมาณ

ตัวโครงการดังกล่าวอยู่ในรายงานที่สภาเพื่อการส่งเสริมการปฏิรูปกฎหมายส่งให้กับชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีเมื่อวานนี้ (6 มิ.ย. 2562) รายงานดังกล่าวเรียกร้องให้รัฐบาลมีมาตรการที่ประกันว่าจะมีการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในทุกโรงเรียนประถมและมัธยมศึกษาภายในห้าปี

ผลสำรวจของกระทรวงการศึกษา วัฒนธรรม กีฬา วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเมื่อเดือน มี.ค. 2561 เปิดเผยว่า โดยเฉลี่ย อัตราเฉลี่ยของจำนวนนักเรียนประถมและมัธยมศึกษาต่อคอมพิวเตอร์ที่ใช้เพื่อวัตถุประสงค์ด้านการศึกษาหนึ่งเครื่องอยู่ที่ 5.6 คนต่อเครื่อง แต่เดิมรัฐบาลมีแผนจะลดค่าเฉลี่ยดังกล่าวให้เหลือ 3 คนต่อเครื่องภายในช่วงปีงบประมาณ 2561-2565 การเปลี่ยนนโยบายให้เป็นหนึ่งคนต่อหนึ่งเครื่องจึงถือว่าเป็นการเร่งรัดนโยบายที่เคยมี

ทางกระทรวงจะให้รัฐบาลท้องถิ่นไปสำรวจว่าโรงเรียนในท้องที่มีการติดตั้งคอมพิวเตอร์แบบพีซีอยู่แล้วเท่าไหร่ รัฐบาลท้องถิ่นเองก็ได้รับการร้องขอจากรัฐบาลให้เขียนแผนงานประจำท้องที่เพื่อบรรลุซึ่งนโยบายดังกล่าวด้วย โดยส่วนกลางจะสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมแก่รัฐบาลท้องถิ่นให้ซื้ออุปกรณ์ที่จำเป็นในราคาถูก เช่นคอมพิวเตอร์มือสอง หรือทำการจัดซื้อร่วมระหว่างหลายรัฐบาลท้องถิ่น

รัฐบาลคาดหวังให้นโยบายหนึ่งนักเรียน หนึ่งคอมพิวเตอร์ประกันให้ประชาชนสามารถใช้ประโยชน์จากอุปกรณ์ดิจิทัลได้อย่างเต็มที่ตั้งแต่อายุยังน้อย ท่ามกลางบริบทที่นวัตกรรมทางเทคโนโลยีอย่างปัญญาประดิษฐ์ (AI) กำลังก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว นอกจากนั้นรัฐบาลยังมีแผนจะเสริมสร้างการเรียนรู้ให้นักเรียนใช้เทคโนโลยีสารสนเทศผ่านแนวทางต่างๆ เช่นการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์

นอกจากนั้น การใช้แท็บเล็ตและอุปกรณ์ดิจิทัลอื่นๆ จะทำให้มีช่องทางเก็บข้อมูลว่านักเรียนกำลังมีปัญหากับเรื่องอะไรอยู่บ้าง ซึ่งจะทำให้การปรับปรุงการเรียนการสอนให้เข้ากับแต่ละตัวบุคคลได้ง่ายขึ้น นอกจากนั้น อุปกรณ์ดังกล่าวยังทำให้การใช้หนังสือเรียนออนไลน์หรือเนื้อหาที่เป็นวิดีโอได้ง่ายขึ้น

ย้อนเส้นทาง ‘หนึ่งแท็บเล็ตหนึ่งนักเรียน’ ไทย ความหวัง ความพัง ความสำเร็จ ตัดจบด้วยรัฐประหาร

ที่ผ่านมาประเทศไทยเคยมีนโยบายแจกแท็บเล็ตให้กับนักเรียนประถมศึกษาปีที่ 1 และมัธยมศึกษาปีที่ 1 ในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แม้จะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในแง่ความคุ้มค่าของงบประมาณที่มีมูลค่าหลายพันล้านบาท แต่ท้ายที่สุดก็มีการจัดซื้อและกระจายให้กับโรงเรียนต่างๆ เริ่มต้นในปีงบประมาณ 2555

ต่อมา การจัดซื้อในปีงบประมาณ 2556 เริ่มต้นแบ่งเป็นโซนได้แก่  โซนที่ 1 นักเรียนชั้น ป.1 ภาคกลางและภาคใต้ จำนวน 431,105 เครื่อง โซนที่ 2 ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 373,637 เครื่อง โซนที่ 3 นักเรียนชั้น ม.1 ภาคกลางและภาคใต้ จำนวน 426,683 เครื่อง และโซนที่ 4 นักเรียนชั้น ม.1 ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 402,889 เครื่อง รวมงบประมาณปี 2555-2556 มีมูลค่าราว 6,000 ล้านบาท

เมื่อโครงการดำเนินไปและมีการจัดประมูลประกวดราคาแท็บเล็ตในรอบปี 2556 2557 ก็มีปัญหาเรื่องข้อครหาฮั้วประมูล การจัดส่งล่าช้า มีการยกเลิกสัญญาเพราะส่งสินค้าไม่ได้ตามกำหนด มีปัญหาขาดศูนย์ซ่อม และพื้นที่ห่างไกลยังไม่มีไฟฟ้าใช้ และบางโรงเรียน ทั้งนักเรียนและครูขาดความพร้อมในการใช้อุปกรณ์เทคโนโลยีอย่างแท็บเล็ต

ส่วนผลสำรวจความพึงพอใจนโยบายนั้น ผู้บริหารส่วนกลางเห็นว่าไม่คุ้มค่ากับการใช้งบประมาณ แต่สำหรับครู นักเรียนและผู้ปกครองกลับไม่คิดเช่นนั้น สพฐ. ทำแบบสำรวจโรงเรียนที่ได้รับแท็บเล็ต 20,700 แห่ง โดยผู้ปกครองร้อยละ 86.1 เชื่อว่าส่งผลดีต่อการศึกษาของเด็ก และครูจำนวนร้อยละ 89 เห็นว่าแท็บเล็ตส่งผลดีต่อการจัดการเรียนการสอน ปลูกฝังนิสัยรักสะอาดร้อยละ 61.18 ส่วนความสนใจของนักเรียนในแท็บเล็ตเมื่ออยู่คนเดียวนั้นพบว่าเข้าไปใช้สื่อมัลติมีเดียร้อยละ 56 รองลงมาเป็นหนังสืออิเลกทรอนิกส์

แบบสำรวจเดียวกันยังเผยว่า ครูใช้แท็บเล็ตในการเรียนการสอนเฉลี่ยสัปดาห์ละ 4 วัน วันละประมาณ 55 นาที ใช้ในกลุ่มสาระการเรียนรู้วิชาภาษาไทยมากที่สุด

ในปี 2556 สำนักงานสถิติแห่งชาติเผยแพร่แบบผลสำรวจความพึงพอใจเกี่ยวกับนโยบายแจกแท็บเล็ตให้นักเรียน ป.1 พบว่าผู้บริหารและครูผู้สอนเห็นว่านโยบายการแจกเครื่อง Tablet มีผลดี 3 อันดับแรก ได้แก่ เรื่องมีสื่อการเรียน/การสอนที่ทันสมัย จูงใจให้เด็กอยากเรียนรู้/สนใจการเรียนมากขึ้น (ร้อยละ 93.1 และร้อยละ 87.5) ทําให้เด็กมีโอกาสเรียนรู้พื้นฐานในการใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ (ร้อยละ 85.8 และร้อยละ 83.4) และทําให้เด็กเรียนรู้ก้าวทันโลกโลกาภิวัตน์/การเรียนรู้ไม่จํากัดเวลาและสถานที่ (ร้อยละ 82.5 และร้อยละ 78.9) ส่วนผลเสีย 3 อันดับแรกได้แก่ เรื่องมีปัญหาเรื่องสายตา/มีปัญหาด้านสุขภาพ ออกกําลังกาย น้อยลง (ร้อยละ 56.5 และร้อยละ 59.4) ไม่เหมาะกับวุฒิภาวะของเด็กนักเรียนชั้น ป. 1 เพราะจะทําให้ทักษะ การใช้มือเขียนไม่เป็น (ร้อยละ 53.6 และร้อยละ 53.2) และมีโอกาสอยู๋ในโลก Cyber มาก ทําให้ขาดมนุษย์ สัมพันธ์/ลดการเล่นกับเพื่อน ๆ (ร้อยละ 45.0 และร้อยละ 44.6)

ครูผู้สอนของโรงเรียนที่อยู่ในข่ายของการได้รับการจัดสรรเครื่อง Tablet เห็นว่าเครื่อง Tablet มีคุณสมบัติเหมาะสมในระดับปานกลางถึงมาก ร้อยละ 92.3 แต่อย่างไรก็ตาม มีอีกร้อยละ 7.7 ที่เห็นว่าเหมาะสมในระดับน้อยถึงไม่มีคุณภาพ/ไม่เหมาะสมเลย โดยครูผู้สอนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเห็นว่าเครื่อง Tablet มีคุณสมบัติเหมาะสมในระดับปานกลาง ถึงมากอยู่ในสัดส่วนที่สูงกว่าภาคอื่น (ร้อยละ 93.8) รองลงมาภาคเหนือ (ร้อยละ 92.6) กรุงเทพมหานคร (ร้อยละ 92.0) ภาคกลาง (ร้อยละ 91.3) และน้อยสุดในภาคใต้ (ร้อยละ 89.3)

การสํารวจทําการเก็บข้อมูลด้วยวิธีการส่งแบบสํารวจทางไปรษณีย์ไปยังโรงเรียนที่อยู่ในข่ายได้รับแท็บเล็ตตัวอย่างจำนวน 4,930 แห่ง ได้รับตอบมา 2,854 แห่ง (ร้อยละ 57.9) ดำเนินการเก็บข้อมูลระหว่าง 16 ม.ค. - 31 มี.ค. 2556 โดยสามารถเลือกตอบได้ผ่านช่องทางไปรษณีย์ โทรศัพท์ โทรสารอินเทอร์เน็ต และอีเมล

หลัง คสช. รัฐประหารในปี 2557 ก็สั่งยกเลิกการจัดซื้อที่เหลือ (เหลือโซนที่ 4) พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) รองหัวหน้า คสช. ฝ่ายสังคมจิตวิทยามีมติให้ยุติการจัดซื้อ โดยให้เหตุผลว่า หนึ่ง นักเรียนไม่จำเป็นต้องได้รับแจกแท็บเล็ตเป็นของตัวเอง เพราะไม่คุ้มค่า เนื่องจากใช้แท็บเล็ตเรียนวันละ 1-2 ชั่วโมงต่อวัน สอง เด็กควรเรียนรู้จากครูผู้สอน แท็บเล็ตไม่เหมาะที่จะนำมาสอนตลอดเวลา สาม แท็บเล็ตมีขนาดหน้าจอเล็ก จะทำให้มีปัญหาด้านสายตา ส่วนการซ่อมบำรุงก็ไม่คุ้มที่จะซ่อมแซมกับแท็บเล็ตที่มีอายุใช้งานสั้นเพียงสามปี สี่ แท็บเล็ตเป็นครุภัณฑ์ของโรงเรียน ไม่เหมาะที่จะมอบให้นักเรียนเป็นของส่วนตัว

แปลและเรียบเรียงจาก

Japan plans 1 computer for every school student, Asia News Network (Referred The Japan News), Jun. 7, 2019

อวสานแท็บเล็ตนักเรียนคสช.สั่งยกเลิกซื้อทั้งหมด, โพสท์ทูเดย์, 16 มิ.ย. 2557

รายงานผลสำรวจความพึงพอใจเกี่ยวกับนโยบายการแจก Tablet ให้เด็กนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 พ.ศ. 2556, สำนักงานสถิติแห่งชาติ

แกะรอย 'แท็บเล็ต' คุ้มหรือไม่คุ้ม, Sanook (อ้างถึงมติชน), 7 ก.ค. 2557

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net