ความสนใจที่มีต่อคำว่า “พรรคแมลงสาบ” พุ่งสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในยอดการค้นหาของเว็บไซต์กูเกิล หลังพรรคประชาธิปัตย์ประกาศเข้าร่วมกับรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐในช่วงที่ผ่านมา
จากข้อมูลของ Google Trend ซึ่งเป็นเว็บไซต์ประมวลสถิติการค้นหาข้อมูลของผู้ใช้กูเกิล พบว่ายอดความสนใจที่มีต่อคำว่า “พรรคแมลงสาบ” ในช่วงระหว่างวันที่ 2-4 มิถุนายนพุ่งสูงถึง 100 คะแนน ซึ่งเป็นค่าคะแนนความนิยมระดับสูงสุด ตามเกณฑ์มาตรฐานคะแนนที่ออกแบบโดยกูเกิล จากที่ผ่านมาคำว่า “พรรคแมลงสาบ” ได้รับความสนใจเป็นระยะ
ความสนใจที่มีต่อคำว่า “พรรคแมลงสาบ” ในช่วงระหว่างวันที่ 2-4 มิถุนายนพุ่งสูงถึง 100 คะแนน
แหล่งที่มา: Google Trend
ในช่วงเดียวกัน (วันที่ 4 มิถุนายน 2562) พรรคประชาธิปัตย์ภายใต้การนำของ จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ได้ประกาศเข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ หลังลงมติพรรค 61-16 เสียง ทั้งที่ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรคเคยประกาศไว้ก่อนเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 ว่าจะไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี และได้รับเสียงสนับสนุนจากผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งกว่า 3 ล้าน 9 แสนเสียง
มีความสนใจที่มีต่อคำว่า “พรรคแมลงสาบ” มาโดยตลอดตั้งแต่ พ.ศ. 2548
แหล่งที่มา: Google Trend
ทั้งนี้ข้อมูลของ Google Trend ยังชี้ให้เห็นด้วยว่าผู้ใช้มีความสนใจและค้นหาคำว่า “พรรคแมลงสาบ” มาโดยตลอดตั้งแต่ พ.ศ. 2548 อย่างไรก็ตาม คำว่าพรรคแมลงสาบนั้นถูกใช้กับพรรคประชาธิปัตย์ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2545 โดย ศาสตราจารย์ กนก วงษ์ตระหง่าน ซึ่งเป็นนักการเมืองอาวุโสของพรรคประชาธิปัตย์เอง
เปิดที่มาของคำว่า “พรรคแมลงสาบ”
หลายคนพยายามยกประวัติศาสตร์ที่ยาวนานกว่า 73 ปี หรือพฤติการณ์ของพรรคประชาธิปัตย์ในยุคการเมืองร่วมสมัยมาใช้เป็นเหตุผลเพื่อให้ความชอบธรรมกับการใช้ชื่อเรียกดังกล่าว ซึ่งก็ไม่ได้ผิดเสียทีเดียว เพราะจากสถิติพบว่ามีนายกรัฐมนตรีจากพรรคประชาธิปัตย์ทั้งหมด 6 คน แต่มาจากการชนะเลือกตั้งเป็นพรรคคะแนนอันดับหนึ่งจริง ๆ เพียง 3 คน
ปี |
นายกจากพรรคประชาธิปัตย์ |
วิธีการขึ้นสู่อำนาจ |
2491 |
นายควง อภัยวงศ์ |
ได้รับการแต่งตั้งโดยคณะรัฐประหารของจอมพล ผิน ชุณหะวัณ |
2518 |
หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช |
ชนะเลือกตั้ง |
2519 |
หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช |
ชนะเลือกตั้ง |
2535 |
นายชวน หลีกภัย |
ชนะเลือกตั้ง |
2540 |
นายชวน หลีกภัย |
ปรากฏการณ์ “งูเห่า” นำโดยนายวัฒนา อัศวเหม |
2551 |
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ |
ปรากฏการณ์ “งูเห่า” นำโดยนายเนวิน ชิดชอบ |
นอกจากนี้ หากมองพรรคประชาธิปัตย์ในบริบทของการเมืองร่วมสมัยจะเห็นได้ว่า พรรคประชาธิปัตย์ไม่ชนะเลือกตั้งเลยมาตั้งแต่ พ.ศ. 2535 แต่กลับสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ถึง 2 ครั้งเพราะปรากฏการณ์ ‘งูเห่า’ มิพักว่ารัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะยังเป็นผู้นำการสลายชุมนุมซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 93 ศพ นอกจากนี้ พรรคประชาธิปัตย์ยังมีส่วนเกี่ยวข้องกับการชุมนุม กปปส. ซึ่งนำไปสู่การรัฐประหารโดย พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ใน พ.ศ. 2557
อย่างไรก็ตาม จากการสืบค้นข้อมูลเชิงนิรุกติศาสตร์ ผู้สื่อข่าวพบว่าคำว่า “พรรคแมลงสาบ” เป็นคำเพิ่งถูกใช้ครั้งแรกเมื่อ 17 ปีก่อน โดยมีที่มาจากการประชุมสามัญประจำปีของพรรคประชาธิปัตย์ เมื่อ 7 เมษายน พ.ศ. 2545 ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ กทม. ซึ่งเป็นช่วงเวลา 2 ปีหลังที่รัฐบาลชวน หลีกภัยประกาศยุบสภาและ 1 ปีหลังพรรคไทยรักไทยชนะเลือกตั้งจนนายทักษิณ ชินวัตรได้เป็นนายกรัฐมนตรี
ในช่วงดังกล่าวซึ่งเป็นช่วง 4 ปีก่อนการรัฐประหาร 2549 พรรคประชาธิปัตย์ในฐานะแกนนำฝ่ายค้านได้วิพากษ์วิจารณ์พรรคไทยรักไทยด้วยข้อถกเถียงหลายอย่าง เช่น การผูกขาดอุตสาหกรรมโทรคมนาคมโดยนายทุนไม่กี่คน ปัญหาของกองทุนหมู่บ้าน และการใช้งบประมาณสุรุ่ยสุร่ายเป็นกับการประชุม ครม. สัญจรอย่างไม่เกิดประโยชน์ โดยงบประมาณดังกล่าวเป็นเงินที่พรรคประชาธิปัตย์หามาได้อย่างยากลำบาก เนื่องจากรัฐบาลยุคนายชวน หลีกภัยเป็นผู้กอบกู้เศรษฐกิจไทยหลังวิกฤติการต้มยำกุ้งใน พ.ศ. 2540
ศาสตราจารย์ กนก วงษ์ตระหง่าน
แหล่งที่มา: Facebook Page ของศาสตราจารย์ กนก วงษ์ตระหง่าน
เพื่อทวงคืนรัฐบาลจากพรรคไทยรักไทย พรรคประชาธิปัตย์ได้จัดวงอภิปรายเกี่ยวกับการปฏิรูปการเมืองและการเตรียมพร้อมในการเลือกตั้งครั้งต่อไป ในบริบทนี้เองที่ศาสตราจารย์ กนก วงษ์ตระหง่าน กล่าวว่าการเลือกตั้งที่ผ่านมาชนะได้ด้วยการขายฝัน ขณะที่ในการเลือกตั้งครั้งหน้าประชาชนจะดูว่าใครคนไหนที่สามารถเข้ามาแก้ปัญหาได้อย่างแท้จริง เพื่อเตรียมพร้อมในยุคปฏิรูปทางการเมือง ศาสตราจารย์ กนก วงษ์ตระหง่านได้เสนอ ‘ทฤษฎีแมลงสาบ’ เป็นทางออกสำหรับพรรคประชาธิปัตย์:
“การปฏิรูปการเมืองควรใช้ทฤษฎีแมลงสาบ ที่วิเคราะห์มาจากพฤติกรรมของแมลงสาบ คือ ปรับตัวเองได้ดี มีเรดาห์คือหนวดในการตรวจสอบสิ่งต่างๆ มีสมอง และประสาท ไว้คอยประสานงานกับส่วนต่างๆ มีขา 6 ขาไว้เดินมีปีก 2 คู่เอาไว้บินเวลาคับขัน เวลาวิ่งจะวิ่งเร็วแต่วิ่งระยะสั้นๆ วิ่งไปแล้วหยุดแล้ววิ่งต่อ นอกจากนี้ยังมีจุดเด่นคือการแพร่พันธุ์ได้รวดเร็วมาก จึงทำให้แมลงสาบอยู่มาได้เป็นพันล้านปี ไม่สูญพันธุ์ ซึ่งนำมาประยุกต์ใช้กับการปฏิรูปการเมืองได้ 4 ประการ คือ 1.รู้จักฟัง แต่ถ้าฟังแล้วโมโหก็ถือเป็นเรื่องน่าเกลียด 2.รู้จักคิด 3.รู้จักจัดการ คือรู้ว่าจะแก้ ปัญหาและสถานการณ์ได้อย่างไร และ 4.รู้จักทำ คือนำข้อมูลที่ได้มาปฏิบัติให้ถูกทาง นี่คือบทเรียนที่แมลงสาปใช้ซึ่งหากเปรียบเทียบกับไดโนเสาร์ ที่ปรับตัวไม่ได้ก็สูญพันธ์การเมืองในยุคปฏิรูปก็เหมือนกัน”
จากซ้ายไปขวา: นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และนายสุรนันท์ เวชชาชีวะ
แหล่งที่มา: 411-11.com
หลังจากเสร็จสิ้นการอภิปรายของคนอื่น ๆ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ซึ่งเป็นผู้ดำเนินการอภิปรายได้นำเอาทฤษฎีแมลงสาบของศาสตราจารย์ กนก มาประยุกต์ใช้เพื่อโจมตีพรรคไทยรักไทย ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายตรงข้ามในเวลาดังกล่าวอย่างทันควัน และส่งผลให้เกิดปฏิกิริยาจากสมาชิกพรรคไทยรักไทยหลายคน
“ติดใจทฤษฎีแมลงสาบ กลัวว่าพรรคคู่แข่งจะว่า แต่ดูแล้วตอนนี้รัฐบาลชุดนี้ทำตัวเหมือนแมลงสาบเหมือนกัน ในแง่ชอบความสกปรก ความมืด ที่สำคัญคือขยายตัวได้เร็วมาก ปีกว่าๆ ก็แพร่พันธุ์ได้มากมาย ตนคิดว่าหลักการปฏิรูปที่แท้จริงคือทุกคนต้องเข้าใจในสิทธิเสรีภาพ หากนักการเมืองคิดถึงแต่อำนาจก็ไม่มีทางปฏิรูปได้สำเร็จ เพราะการปฏิรูปต้องผ่องถ่ายอำนาจ ไม่ใช่ใช้อำนาจได้ตามใจและกลัวว่าจะมีการตรวจสอบได้ตามขอบเขตที่กฎหมายกำหนด”
แม้ข้อถกเถียงทางการเมืองจะเป็นเรื่องปกติ แต่คงไม่มีใครคาดคิดว่าวันถัดมา 8 เมษายน พ.ศ. 2545 นายสุรนันท์ เวชชาชีวะ ซึ่งเป็นลูกพี่ลูกน้องกับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และเป็นโฆษกพรรคไทยรักไทยในเวลานั้น จะถือกระป๋องยาฆ่าแมลงไบก้อนมาพูดหน้าโพเดียมเพื่อตอบโต้ข้อวิจารณ์ของพรรคประชาธิปัตย์:
“เราได้รับการเลือกตั้งมาจากประชาชน ให้ถือกระป๋องไบกอนเขียวปราบแมลงสาบที่ชอบทำอะไรในมุมมืด ให้แตกออกจากรัง ประชาชนจะได้เห็นว่าทุกมุมมืดมีสิ่งที่ไม่ดี รัฐบาลได้เข้าไปรื้อเพื่อสกัดไม่ให้สัตว์พวกนี้มาเกาะกินประเทศ ในทางกลับกันแมลงสาบเท่านั้นถึงจะเข้าใจพวกสัตว์ ที่เป็นแมลงสาบด้วยกันดี และรู้ว่ามีพฤติกรรมอย่างไรและชอบอยู่แบบไหน ฝ่ายค้านในปัจจุบันเหมือนแมลงสาบที่กำลังแตกรัง เนื่องจากถูกไล่ฆ่า จะเห็นได้ว่าข้อวิจารณ์ต่างๆ ไม่มีข้อเสนอแนะ หรือนโยบายใหม่ๆ ให้ประชาชน”
หลังจากนั้นเป็นต้นมา ก็แทบไม่มีสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์คนใดพูดถึงคำว่า “แมลงสาบ” ต่อที่สาธารณะอีกเลย แต่คำว่า “พรรคแมลงสาบ” กลับกลายเป็นชื่อเล่นของประชาธิปัตย์ที่ประชาชนใช้ล้อเลียนเสียดสีมาจนถึงปัจจุบัน