Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

วิจารณ์ประชาธิปัตย์จะเกิดประโยชน์อะไร จะต่างอะไรกับการวิจารณ์สื่ออย่างผู้จัดการ, ไทยโพสต์, แนวหน้า, เนชั่น, ทีนิวส์เป็นต้น เพราะถึงอย่างไรเขาก็เชื่อของเขาหรือมีจุดยืนของเขาแบบนั้นอยู่แล้ว การวิจารณ์จึงไม่มีผลใดๆ ต่อการเปลี่ยนจุดยืนของเขา

แต่ผมคิดว่า หากเสียงวิจารณ์ เสียงด่าจากสังคมไม่มีผลใดๆ เลย อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และ ส.ส.กลุ่มนิวเดมบางคนก็คงไม่ลาออก ขณะที่ปฏิกิริยาของสังคมต่อการโหวตสืบทอดอำนาจเผด็จการของประชาธิปัตย์ ก็น่าจะสร้างความกังวลใจแก่ “ชาวประชาธิปัตย์” ณ ปัจจุบันว่า อนาคตของพรรคจะตกต่ำเสื่อมความนิยมจากประชาชนไปกว่านี้อีกไหม

ประเด็นหลักของผมคือ ถ้าเรายืนยัน “เสรีภาพและประชาธิปไตย” เราจำเป็นต้องเชื่อมั่นว่า ประชาชนทุกฝ่าย นักการเมือง สื่อ นักวิชาการ หรือใครก็ตามล้วนแต่มี “ความเป็นมนุษย์” ที่สามารถจะมี “สามัญสำนึก” อย่างที่คนในสังคมประชาธิปไตยทั่วโลกเขามีกันได้ นั่นคือ “สามัญสำนึกปกป้องเสรีภาพ” บางทีเรียกกันว่า “สามัญสำนึกปกป้องอิสรภาพของมนุษยชาติ” อันเป็น “สามัญสำนึกสากล” ที่สะท้อนจากจิตวิญญาณสิทธิมนุษยชนสากล สังคมที่คนส่วนใหญ่ขาดสามัญสำนึกพื้นฐานสากลนี้ ประชาธิปไตยย่อมไม่อาจหยั่งรากได้

การที่ประชาธิปัตย์ตัดสินใจเข้าร่วมขบวนสืบทอดอำนาจเผด็จการ ย่อมแสดงถึงการ “ขาดสามัญสำนึก”ปกป้องเสรีภาพและประชาธิปไตยอย่างถึงราก อย่าพูดแบบแสร้งไร้เดียงสาว่า “เลือกตั้งแล้วก็ไม่มีใครแป็นฝ่ายเผด็จการ” เพราะคุณไม่อาจปิดตาประชาชนจากความจริงที่ชัดแจ้งได้เลยว่า คนที่คุณโหวตให้เขาเป็นนายกฯ คือคนที่ทำรัฐประหาร มีอำนาจกำหนดรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตย, ยุทธศาสตร์ชาติสืบทอดอำนาจ, ตั้ง 250 สว.ที่เป็นพวกเดียวกันสืบทอดอำนาจ และเพื่อเลือกตัวเองสืบทอดอำนาจ และสร้างกติกาการเลือกตั้งที่ไม่เสรีและเป็นธรรม ทั้งหมดนี้ (เป็นต้น) คนทั้งประเทศรู้ชัดแจ้งอยู่แล้ว

คำถามก็คือ เมื่อประชาธิปัตย์มีโอกาสอยู่ตรงหน้าแล้วที่จะแสดงบทบาทเป็น “ตัวแทนประชาชน” ในการต่อต้านการสืบทอดอำนาจเผด็จการ ด้วยสำนึกเคารพสิทธิและเสรีภาพของประชาชนที่เลือกคุณมา แต่คุณกลับเข้าร่วมขบวนสืบทอดอำนาจที่ปล้นสิทธิและเสรีภาพของประชาชนไปอย่างหน้าตาเฉย หากไม่เรียกว่าเป็น “พรรคการเมืองที่น่าละอาย” ก็ไม่รู้จะเรียกอย่างไรแล้ว

เป็นสิทธิของประชาธิปัตย์ไหมที่จะปฏิเสธไม่ร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับ “พรรคเพื่อไทย” ด้วยเหตุผลที่อ้างเรื่องซื้อเสียง ทุจริต อย่างที่โจมตีเขามาตลอด หรือเหตุผลทางการเมืองอื่นๆ ก็ต้องตอบว่าเป็นสิทธิ แต่การไม่ร่วมกับเพื่อไทยก็ไม่ใช่เหตุบังคับให้ต้องร่วมขบวนสืบทอดอำนาจเผด็จการเลย ดังนั้น การเข้าร่วมขบวนสืบทอดอำนาจเผด็จการมันจึงเข้าใจเป็นอย่างอื่นไม่ได้ นอกจากตอกย้ำข้อกล่าวหาต่อประชาธิปัตย์ที่ว่า “สมคบคิด” กับฝ่ายเผด็จการมาตลอดในรัฐประหารสองครั้งที่ผ่านมา

คำพูดของบรรดาแกนนำสำคัญ อย่างคุณ “ชวน หลีกภัย” และคนอื่นๆ ที่ว่า “ไม่เห็นด้วยกับรัฐประหาร” จึงถูกชาวประชาธิปัตย์ลบทิ้งด้วยตีนอย่างหมดจด ด้วยการเข้าร่วมขบวนสืบทอดอำนาจเผด็จการในวันนี้

ผมขอย้ำประเด็นหลัก “สามัญสำนึก” ปกป้องเสรีภาพและประชาธิปไตยอีกครั้งว่า มันเป็นเรื่องของสามัญสำนักปกติอย่างที่สุดที่ประชาชนทั่วไปจะโกรธและลุกขึ้นมาต่อต้านรัฐประหารหรือเผด็จการรูปแบบใดๆ ที่ละเมิดสิทธิและเสรีภาพของประชาชน เพราะสิทธิและเสรีภาพของพลเมือง เสรีภาพทางการเมืองเป็น “สิ่งมีคุณค่าในตัวมันเอง” และเป็นสิ่งที่ “สำคัญสูงสุด” กว่าสถานะและอำนาจของชนชั้นปกครองใดๆ ทั้งสิ้น แต่ก็มีคำถามสำคัญอย่างที่ “ชองยุนซอก” นักทำหนังสายวิพากษ์ชาวเกาหลีใต้ ถามว่า “สังคมไทยยังโกรธไม่พอใช่ไหม” ดังเขาให้สัมภาษณ์ว่า

พอมารอบนี้ ผมได้ฟังเกี่ยวกับการเมืองไทยเยอะมาก ผมได้ยินว่าประมาณ 8 ปีที่แล้วมีคนตายเพราะการประท้วงกว่า 90 คน ผมสงสัยว่า แล้วทำไมถึงไม่มีคดีอาญาเกิดขึ้นเลย เพราะเหตุการณ์ประท้วงและมีคนตายที่เกาหลีนั้นเกิดขึ้นบ่อยมาก แต่ทุกครั้งที่มีคนตายเพียงแค่หนึ่งคนก็จะมีการประท้วงที่ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ตามมา จากร้อยเป็นพันเป็นหมื่นคนเพื่อประท้วงเรื่องนั้นต่อไป และหาวิธีเรียกร้องความเป็นธรรมจากรัฐบาล อาจจะเป็นการไล่ประธานาธิบดีในขณะนั้นออกก็ได้ เช่น ปีที่แล้วก็เพิ่งมีการรวมตัวประท้วงเพื่อไล่ประธานาธิบดีออก แต่ขณะที่ของไทยตายไปตั้ง 90 คน กลับไม่เห็นมีการเรียกร้องความรับผิดชอบต่อเรื่องแบบนี้ ผมเลยแปลกใจ แต่จะให้เข้าใจก็คงต้องเข้าใจ[i]

 

กลายเป็นว่า หากเราถามถึง “สามัญสำนึก” ที่จะโกรธหรือต่อต้านเผด็จการจากประชาธิปัตย์ กลับเปิดเผยให้เห็นปัญหาซับซ้อนมากขึ้นไปอีก เมื่อการสลายการชุมนุมเกือย 100 ศพ เกิดขึ้นในยุครัฐบาลประชาธิปัตย์ที่มีทหารกลุ่มเดียวกับที่ประชาธิปัตย์เข้าร่วมขบวนสืบทอดอำนาจในวันนี้หนุนหลัง และคดีความต่างๆ ในการสลายการชุมนุมก็จบลงแบบไม่มีใครต้องรับผิดต่อชีวิตประชาชนร่วมร้อย

อีกประเด็นสำคัญคือ หากประชาธิปไตยจะต่อต้านสิ่งที่พวกตนเรียกว่า “เผด็จการรัฐสภา” อย่างถึงที่สุด ถ้าหากว่าเผด็จการรัฐสภานั้นได้ใช้อำนาจเถื่อนฉีกรัฐธรรมนูญ ปล้นสิทธิและเสรีภาพทางการเมืองของประชาชนไป จับคนเข้าค่ายปรับทัศนคติ จับเข้าคุก ใช้คดีร้ายแรงกดดันให้หนีไปลี้ภัยการเมืองในต่างประเทศ สร้างกฎหมายเอาผิดฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองและอื่นๆ พรรคประชาธิปัตย์ก็จะกลายเป็น “วีรบุรุษประชาธิปไตย” ในสายตาประชาชนทั้งประเทศและสากลโลกทันที หากคุณต้านเผด็จการรัฐสภาที่กระทำสิ่งเลวร้ายต่างๆ ต่อสิทธิเสรีภาพและอำนาจของประชาชนดังกล่าวมา

แต่ถ้า “เผด็จการรัฐสภา” ตามที่คุณกล่าวหา ไม่ได้ทำสิ่งเลวร้ายต่างๆ ดังกล่าวมานั้น เขาเพียงแต่ทำผิดหลักการที่ชอบธรรมบางอย่าง แต่รัฐธรรมนูญยังอยู่ ระบบตรวจสอบถ่วงดุลในสภาและนอกสภายังอยู่ สิ่งที่ประชาธิปัตย์ควรจะทำก็คือ ต้องกระทำทุกวิถีทางที่จะเอาชนะพรรคฝ่ายตรงข้ามที่คุณเรียกว่าเผด็จการรัฐสภานั้นภายใต้ “หลักการและกติกาประชาธิปไตย” เท่านั้น จะต้องไม่สร้างเงื่อนไขใดๆ ให้นำไปสู่รัฐประหารอย่างเด็ดขาด เพราะการรักษาสิทธิ เสรีภาพทางการเมืองของประชาชนและระบอบประชาธิปไตยไว้ให้ได้คือ “สามัญสำนึก” ที่นักการเมืองจำเป็นต้องมี ไม่เช่นนั้นก็อย่าเรียกว่าตัวเองเป็น “นักการเมือง” เลย

ทว่าวันนี้ประชาธิปัตย์ได้เดินมาไกลจาก “สามัญสำนึก” สากลพื้นฐานมากเกินไปแล้ว เมื่อคุณรังเกียจพรรคการเมืองที่ตนกล่าวหาว่าเป็นเผด็จการรัฐสภาที่ไม่ได้ฉีกรัฐธรรมนูญและละเมิดสิทธิเสรีภาพทางการเมืองของประชาชนอย่างที่เผด็จการทหารทำ แต่คุณกลับเข้าร่วมขบวนสืบทอดอำนาจเผด็จการทหารที่ฉีกรัฐธรรมนูญ ละเมิดสิทธิเสรีภาพทางการเมืองของประชาชน

น่าคิดว่าว่าคำว่า “ประชาชน” ในนิยามของประชาธิปัตย์นับรวม “ประชาชนส่วนใหญ่” ที่เลือกพรรคการเมืองคู่แข่งด้วยหรือไม่ เห็นคุณชวนพูดซ้ำๆ ว่า “สมัยทักษิณ-ยิ่งลักษณ์ ไม่ให้งบฯพัฒนาภาคใต้” อันเป็นฐานเสียงประชาธิปัตย์ หากจริงตามนั้นก็เห็นด้วยครับที่จะต้องวิจารณ์เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาเช่นนั้นอีก แต่การที่ประชาธิปัตย์ร่วมขบวนสืบทอดอำนาจเผด็จการนอกจากคุณจะ “ไม่เห็นหัวประชาชนส่วนใหญ่” ที่เลือกพรรคการเมืองคู่แข่งแล้ว คุณยัง “เหยียบหัวประชาชนที่เลือกคุณมา” เพื่อยกชูและยืดอำนาจที่ปล้นสิทธิและเสรีภาพของทุกคนไปอีกด้วย

แต่อย่างไรก็ตาม ผมเชื่อว่าชาวประชาธิปัตย์ทุกคนมี “ความเป็นมนุษย์” ภายในตัวเอง ดังนั้น คำวิจารณ์ทวงถาม “สามัญสำนึก” จึงเป็นคำทวงถามต่อความเป็นมนุษย์และด้วยความเคารพในความเป็นมนุษย์ของชาวประชาธิปัตย์อย่างเสมอภาคกับที่ผมเคารพความเป็นมนุษย์ของตัวเองและทุกคน และเคารพความเป็นมนุษย์ดังกล่าวนี้ ผมจึงวิจารณ์และทวงถามต่อการกระทำใดๆ ที่ละเมิดและสนับสนุนการละเมิดสิทธิและเสรีภาพของผมและประชาชนทุกคน ซึ่งเท่ากับละเมิดความเป็นคนของเราทุกคน

ยังมีความหวังต่อประชาธิปัตย์อีกหรือ ผมคิดว่าเรายังมีความหวังต่อ “ความเป็นมนุษย์” ของพวกเขาครับว่า สักวันหนึ่งพวกเขาจะฉุกคิดและหันกลับมายึดมั่นในสามัญสำนึกปกป้องเสรีภาพและประชาธิปไตย ให้สมกับเป็น “ตัวแทน” ของประชาชนทุกคน

 

อ้างอิง

[i] ดู “สังคมไทยยังโกรธไม่พอ” มองไทยจากมุม ‘ชองยุนซอก’ นักทำหนังสายวิพากษ์, https://prachatai.com/journal/2018/08/78208 (เข้าถึงเมื่อ 26 พฤษภาคม 2562).

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net