Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

หากใช้เกณฑ์ประชาธิปไตยที่เรียบง่ายชัดเจนที่สุดเกณฑ์หนึ่งคือ ที่มาและขอบเขตของอำนาจ ประเมินว่าสิ่งใดคือประชาธิปไตยสิ่งใดไม่ใช่ก็จะชัดเจนว่าสิ่งที่ถูกเรียกว่า “เผด็จการประชาธิปไตย” นั้นไม่มีอยู่จริงเพราะโดยเนื้อแท้และในความเป็นจริง เผด็จการกับประชาธิปไตยเป็นของที่ไม่สามารถหลอมรวมเป็นสิ่งเดียวกันได้

แก่นสารหนึ่งของระบอบประชาธิปไตยคือการมุ่งกระจายอำนาจออกไปอย่างกว้างขวางโดยมิให้อำนาจนั้นกระจุกตัวอยู่ที่บุคคลหรือกลุ่มบุคคลส่งผลให้ในทางปฏิบัติสังคมที่ยึดถือระบอบประชาธิปไตยเป็นระบอบการปกครองจะมีการขยายวงของผู้มีส่วนร่วมในอำนาจรัฐออกไปจนกระทั่งสมาชิกส่วนใหญ่หรือทั้งหมดของสังคมคือผู้ที่ถือครองและมีส่วนร่วมในการใช้อำนาจดังกล่าวจึงมักเรียกนัยนี้ของประชาธิปไตยว่าอำนาจเป็นของประชาชน ดังนั้นการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอำนาจต้องมาจากประชาชน ในความหมายนี้เผด็จการจึงไม่มีความเป็นประชาธิปไตยและไม่สามารถที่จะเป็นประชาธิปไตยได้เพราะการเข้าสู่อำนาจของเผด็จการมาจากการใช้กำลังบังคับหรือกลวิธีการอื่นที่มิใช่การได้รับฉันทานุมัติจากประชาชนส่วนใหญ่

ในกรณีของประเทศไทย การขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาทั้งในครั้งแรกด้วยการรัฐประหารและในครั้งที่ 2 จากการลงคะแนนเลือกนายกรัฐมนตรีโดย ส.ส. และ ส.ว. ในรัฐสภาเมื่อวันที่ 5 มิถุนายนที่ผ่านมาตามพิธีกรรมที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับผ่านประชามติที่ไม่เสรีและเที่ยงธรรมนั้นล้วนมิใช่การเข้าสู่อำนาจโดยมีที่มาจากประชาชนโดย เฉพาะในครั้งหลังที่มีผู้ได้รับผลประโยชน์โดยตรงจากผู้ปกครองเผด็จการจำนวนหนึ่งมักชี้ว่าการอาศัยที่ประชุมรัฐสภาเป็นทางผ่านเข้าสู่ตำแหน่งบริหารนับเป็นนายกรัฐมนตรีตามระบอบประชาธิปไตยหรือบางคนก็ประดิษฐ์วลีที่เป็นปัญหาอย่างเผด็จการประชาธิปไตยเพื่อรับรองความชอบธรรมของพลเอกประยุทธ์

ตามข้อเท็จจริง คะแนนเสียง 500 คะแนนที่พลเอกประยุทธ์ได้รับนั้นมาจากการลงคะแนนของ ส.ว. แต่งตั้งที่พลเอกประยุทธ์และเครือข่ายเลือกขึ้นมาเองจำนวน 249 เสียงในขณะที่เสียงจำนวน 251 เสียงที่ได้รับจาก ส.ส. ที่มาจากการเลือกตั้งนั้นแม้ว่าอาจจะดูเป็นเสียงข้างมากคือเกินกึ่งหนึ่งของจำนวน ส.ส. ที่มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด 500 ที่นั่งไป 1 ที่นั่ง แต่ที่นั่งของ ส.ส. ที่มาลงคะแนนเสียงนั้นมาจากกติกาและวิธีการคำนวนคะแนนที่ทำลายเจตจำนงที่มาจากเสียงส่วนใหญ่ของประชาชนเพราะการได้รับเลือกจากประชาชนของพรรคที่ประชาชนให้การสนับสนุนลงคะแนนมากจะส่งผลให้พรรคที่ประชาชนสนับสนุนลงคะแนนน้อยได้รับเลือกเข้ามาด้วย ยกตัวอย่างเช่น การปัดเศษทำให้มีพรรคการเมืองที่ได้รับคะแนนเสียงจำนวนน้อยมีที่นั่งในสภาเพิ่มถึง 11 พรรค หรือในการเลือกตั้งซ่อม ส.ส. เขต 8 จังหวัดเชียงใหม่พรรคที่ชนะการเลือกตั้งอย่างเด็ดขาดด้วยคะแนนเสียงกว่าเจ็ดหมื่นคะแนนได้รับที่นั่ง ส.ส. เพิ่ม 1 ที่นั่งในขณะเดียวกันก็ส่งผลให้พรรคที่ได้รับคะแนนเสียงหลักพันอีกสองพรรคได้ที่นั่ง ส.ส. บัญชีรายชื่อเพิ่มขึ้นมาอีกพรรคละ 1 ที่นั่งด้วย ยังไม่ต้องพูดถึงว่าเสียงสนับสนุนจาก ส.ส. จำนวน 251 เสียงนั้นเป็นการลงคะแนนจากพรรคที่เคยประกาศจุดยืนไม่เลือกพลเอกประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีเพื่อหาเสียงให้ประชาชนเลือกพรรคตนเองรวมอยู่ด้วย

ข้อเท็จจริงเหล่านี้บ่งชี้ถึงข้อกังขาถ้าจะประเมินว่าพลเอกประยุทธ์เข้าสู่อำนาจตามระบอบประชาธิปไตย

การเข้าสู่อำนาจด้วยวิธีและกระบวนการที่มิได้มาจากประชาชนส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่ออีกแก่นสารหนึ่งของระบอบประชาธิปไตยนั่นคือการจำกัดขอบเขตอำนาจรัฐมิให้ล่วงล้ำเข้ามาในพื้นที่ส่วนบุคคลมากจนเกินไป ในการนี้สิทธิและเสรีภาพเป็นรากฐานของประชาชนที่จะธำรงรักษาพื้นที่ส่วนบุคคลและประโยชน์สุขของตนเองที่จะได้รับจากรัฐ หากขาดซึ่งสิทธิเสรีภาพแล้วรัฐก็มักจะล่วงละเมิดพื้นที่ส่วนบุคคลและกระทำการเพื่อผลประโยชน์ของบุคคลหรือกลุ่มบุคคลจำนวนน้อยในนามผลประโยชน์แห่งชาติเสมอ

โดยปกติหากอำนาจเป็นของประชาชนพวกเขาก็ย่อมเลือก/ตรวจสอบ/กดดัน/หรือถอดถอนผู้นำที่ไม่สามารถบริหารประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพผ่านกระบวนการต่าง ๆ ตามระบอบประชาธิปไตยซึ่งกระทำได้จากการรับรองสิทธิเสรีภาพของประชาชนเป็นฐาน แต่ในเมื่อผู้ปกครองผู้ถืออำนาจรัฐมิได้มาจากประชาชนเสียแล้วเขาผู้นั้นก็ไม่มีเหตุผลและความจำเป็นมากนักในการตอบสนองต่อข้อเรียกร้องและผลประโยชน์ของประชาชน หากประชาชนรวมตัวกันเรียกร้องต่อรองหรือต่อสู้ ผู้นำเผด็จการก็จะไม่รีรอที่จะใช้มาตรการต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายที่ออกแบบมาเพื่อลิดรอนสิทธิเสรีภาพประชาชนหรือการใช้กำลังข่มขู่ จับกุม คุมขังกระทั่งสังหารทั้งในที่ลับและที่แจ้งเพื่อรักษาอำนาจของตนเองเอาไว้ทำประโยชน์ให้เครือข่าย

สิทธิและเสรีภาพจึงเป็นสิ่งค้ำจุนประชาธิปไตยและก็มีแต่ประชาธิปไตยที่หนุนเสริมสิทธิเสรีภาพที่ประชาชนจำเป็นต้องมีเพื่อใช้เป็นฐานสำหรับการเรียกร้องปกป้องผลประโยชน์ของตนเองไม่ว่าจะเป็นประชาชนเสื้อสีใดหรือมีจุดยืนทางการเมืองแบบไหนหากไม่รักษาของสองสิ่งนี้ไว้แล้วไม่ช้านานอำนาจรัฐเผด็จการจะเอื้อมมือเข้ามาเบียดบังประโยชน์สุขอันควรมีควรได้ของประชาชนไปเป็นบรรณาการแด่ชนชั้นนำและเครือข่ายไม่ว่าจะเป็นเวลา พื้นที่ เงินทอง สิ่งของ น้ำ อากาศ ชีวิต ฯลฯ

ดังนั้นในระบอบเผด็จการที่อำนาจกระจุกตัวในวงแคบจะตามมาด้วยการฉ้อราษฎร์บังหลวงเพราะกลุ่มผู้มีอำนาจใช้อำนาจเอื้อประโยชน์ให้พวกพ้องวงใน การคอร์รัปชันจ่ายส่วนสินบนจากคนวงนอกเพื่อให้ได้เข้าไปสู่วงผลประโยชน์บ้าง การกระทำความรุนแรงหรือการก่อการร้ายทั้งโดยผู้มีอิทธิพลและโดยรัฐเพราะกฎหมายที่มักจะออกไว้อย่างกว้างขวางและมีบทลงโทษรุนแรงจะเก็บไว้ใช้กับเฉพาะฝ่ายตรงข้ามจนทำให้สถาบันตุลาการเสื่อมประชาชนจึงต้องหาทางยุติความขัดแย้งโดยกำลังด้วยตนเอง ส่วนรัฐเองนั้นก็ต้องใช้กำลังจัดการกับประชาชนที่เห็นต่างจากรัฐเพราะรัฐจนด้วยเหตุผล ปัญญากระทั่งกฎหมายที่จะไปถกเถียงกับประชาชน 

ความเสียหายใหญ่หลวงที่สุดของการไม่เลือกระบอบประชาธิปไตยคือการเลือกที่จะโยนทิ้งการเปลี่ยนผ่านอำนาจและจัดการความขัดแย้งโดยสันติเพราะหากไม่เปลี่ยนผู้นำประเทศหรือการหาที่ยุติของความขัดแย้งครั้งใหญ่ของสังคมด้วยการหย่อนบัตรเลือกตั้งแล้วก็เหลือหนทางอีกไม่มากนักนอกจากการเสียเลือดเนื้อ

แน่นอนว่าในระบอบประชาธิปไตยก็อาจจะให้กำเนิดผู้นำที่ยึดแนวทางอำนาจนิยมมีพฤติกรรมเผด็จการแต่นั่นก็มิได้ทำให้ระบอบประชาธิปไตยกลายเป็นระบอบเผด็จการไปได้เพราะลักษณะของระบอบแตกต่างจากลักษณะเฉพาะของระบบหรือบุคคล และควรจะต้องกล่าวด้วยว่าระบอบประชาธิปไตยนั้นมีกลไกที่จะปรับดุลอำนาจระหว่างรัฐกับประชาชนโดยสันติมากกว่าและมีโอกาสที่ประชาชนจะรักษาสิทธิเสรีภาพของตนเองเอาไว้ได้มากกว่าระบอบเผด็จการ

ด้วยเหตุนี้เผด็จการจึงเป็นเผด็จการไม่ว่าจะแต่งหน้าทาปากเข้าสู่พิธีกรรมแบบใดหากกระบวนการเข้าสู่อำนาจมิได้มีที่มาจากประชาชนและใช้อำนาจโดยปราศจากการกำกับควบคุมของประชาชนไปขึ้นตรงต่อแหล่งที่มาของอำนาจอื่นเช่นพวกพ้องเครือข่ายก็มิอาจนับเป็นประชาธิปไตยหรืออยู่ร่วมกับความเป็นประชาธิปไตยได้เพราะไม่มีองค์ประกอบสำคัญของประชาธิปไตยอยู่ในสิ่งนั้นเลย

“เผด็จการประชาธิปไตย” จึงเป็นสิ่งที่ไม่ดำรงอยู่ในความเป็นจริง สิ่งที่มีอยู่จริงคือเผด็จการที่อ้างตัวเป็นประชาธิปไตยเท่านั้นเอง 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net