สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 2-8 มิ.ย. 2562

ตลาดแรงงานตึงตัว ห่วงจ้างงานภาคเกษตร-ท่องเที่ยวลด

นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า ไตรมาสแรกปีนี้ ไทยมีการจ้างงานเพิ่มขึ้น 0.9% โดยผู้มีงานทำมีจำนวน 37.7 ล้านคน จากจำนวนแรงงานทั้งหมด 38.7 ล้านคน เป็นการจ้างงานนอกภาคการเกษตรเพิ่มขึ้น 3.2% ภาคก่อสร้างเพิ่มขึ้น 10.5% ภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น 1% ขณะที่สาขาโรงแรมและภัตตาคารลดลง 0.2% และผู้มีงานทำในภาคการเกษตรลดลง 4.2% ส่งผลให้อัตราการว่างงาน 0.9% หรือมีจำนวนผู้ว่างงาน 350,000 คน ซึ่งถือว่ายังอยู่ในระดับต่ำแต่มีแนวโน้มว่าตลาดแรงงานเริ่มตึงตัวมากขึ้น ดังนั้น สศช.ได้แนะนำให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามสถานการณ์ที่จะกระทบต่อการจ้างงานในช่วงที่เหลือของปี โดยเฉพาะภัยแล้งที่จะกระทบการจ้างงานภาคเกษตร ส่วนสงครามการค้าอาจไม่กระทบการจ้างงานภาคอุตสาหกรรมมากนัก แต่จะกระทบภาคท่องเที่ยว ซึ่งมีความชัดเจนมากขึ้นหลังไตรมาสแรกปีนี้ กิจการโรงแรมและภัตตาคารมีการจ้างแรงงานลดลง 0.2% เนื่องจากนักท่องเที่ยวจีน-สหรัฐฯ มีสัดส่วนท่องเที่ยวไทยรวมกัน 30% ของจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งหมดมีจำนวนลดลง และแรงงานกลุ่มนี้ยังได้ค่าจ้างงานระยะสั้นหรือรับค่าจ้างรายวัน

ขณะที่ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้เผยแพร่ข้อมูลดัชนีค่าจ้างแรงงาน ที่ครอบคลุมค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา (โอที) โบนัสและผลประโยชน์อื่นที่เป็นตัวเงินของลูกจ้างไทยช่วงไตรมาส 4 ปี 61 ลดลง โดยดัชนีอยู่ที่ 110.37 ลดลงจาก 111.1 ในไตรมาสก่อนหน้า สะท้อนค่าจ้างแรงงานไทยที่เป็นตัวเงินชะลอตัวลง โดยค่าจ้างแรงงานภาคเหมืองแร่เหมืองหินและอื่นๆลดลงมากที่สุด โดยดัชนีค่าจ้างแรงงานอยู่ที่ 80.36 ลดลงจาก 92.64 ในไตรมาสก่อนหน้า ส่วนภาคการผลิตดัชนีอยู่ที่ 108.88 ลดลงจาก 110.91 ภาคการไฟฟ้าก๊าซและประปาอยู่ที่ 96.41 ลดลงจาก 105.78 ขณะที่ภาคโรงแรมและภัตตาคารอยู่ที่ 116.88 ลดลงจาก 117.32 ส่วนภาคการเงินการธนาคารอยู่ที่ 92.12 ลดลงจาก 93.28 เช่นเดียวกับภาคการค้าอสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจให้เช่าและธุรกิจอื่นๆที่ดัชนีค่าจ้างแรงงานลดลงมาที่ 104.58 จาก 106.92 ขณะที่ภาคก่อสร้างและภาคการค้าส่งและค้าปลีกทรงตัว

ธปท.ระบุว่า การลดลงของดัชนีค่าจ้างแรงงาน สะท้อนการชะลอตัวของเศรษฐกิจ คำสั่งซื้อและการผลิตที่ลดลง ทำให้ค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา โบนัสและผลประโยชน์อื่นของลูกจ้างลดลง แต่ยังมี 3 ภาคการผลิตที่ดัชนีค่าจ้างแรงงานสูงขึ้น คือภาคการขนส่งและคมนาคม, ภาคบริการสุขภาพและสังคมสงเคราะห์ รวมทั้งภาคบริการชุมชนและส่วนบุคคล

ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์, 7/6/2562

ที่พักคนงานเป็นจุดระบาดโรคติดต่อ กทม.พบรอบ 5 ปีเกิด 20 ครั้ง-ไข้เลือดออก, หวัดใหญ่, พิษสุนัขบ้า

ที่โรงแรมเอเชีย เขตราชเทวี เมื่อวันที่ 4 มิ.ย. นายทวีศักดิ์ เลิศประพันธ์ รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าวหลังเป็นประธานเปิดการสัมมนาอนามัยสิ่งแวดล้อมในสถานที่ก่อสร้างอาคารและบ้านพักคนงานก่อสร้างในพื้นที่กรุงเทพฯ ว่า ขณะนี้ใน กทม.มีการก่อสร้างขนาดใหญ่หลายโครงการ ทั้งโครงการของภาครัฐ เช่น ถนน สะพาน รถไฟฟ้า และโครงการของเอกชน คอนโด ดังนั้น ต้องควบคุมเพื่อป้องกันไม่ให้ปัญหาอื่นๆตามมา เช่น ปัญหาด้านอนามัย อาทิ ที่พักคนงานบางแห่งนำลูกสุนัขมาเลี้ยงพอเสร็จโครงการกลับไม่ได้นำสุนัขไปด้วย ปล่อยทิ้งไว้จนกระทั่งมีการขยายพันธุ์ ส่งผลถึงปัญหาสุนัขจรจัด หรือพิษสุนัขบ้าตามมา ขณะที่โรคอุบัติใหม่ หรือโรคที่ไม่มีในเมืองไทยแล้วแต่กลับมามีอีก เช่น โรคเท้าช้าง ซึ่งต้องหาทางป้องกัน

นพ.ชวินทร์ ศิรินาค ผอ.สำนักอนามัย กทม. กล่าวว่า จากการสำรวจพบว่าปัจจุบันมีที่พักคนงานในพื้นที่กรุงเทพฯกว่า 700 แห่ง ขณะเดียวกันพบว่ามีปัญหาด้านอนามัย และพบการระบาดของโรคติดต่อ อาทิ โรคอุจจาระ อหิวาตกโรค ไข้เลือดออก ไข้หวัดใหญ่ พิษสุนัขบ้า ซึ่งตั้งแต่ปี 2554-2559 พบการระบาดของโรค 20 ครั้ง ทั้งนี้ ในการสัมมนาครั้งนี้เพื่อนำไปปรับปรุงร่างแนวทางปฏิบัติที่ดีอันนำไปสู่หลักเกณฑ์ มาตรฐานการปฏิบัติงานได้อย่างถูกต้องเหมาะสม เพื่อป้องกันปัญหา รวมทั้งการพัฒนาสถานที่พักคนงานก่อสร้างให้มีความสะอาด ถูกสุขลักษณะไม่เอื้อต่อการเกิดโรคติดต่อและโรคระบาดต่างๆ

นอกจากนี้ คนงานจะได้รับการส่งเสริมสุขภาพอนามัย และสวัสดิการแรงงานที่ดีได้มาตรฐานสากล โดย กทม.พร้อมที่จะให้การสนับสนุนผู้ประกอบการและเจ้าหน้าที่ให้ทำงานร่วมกันในการจัดการอนามัยสิ่งแวดล้อมในเขตเมืองเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน

ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์, 5/6/2562

พบวิกฤต 'แรงงานยาง' แปลงใหญ่ขาดแคลนหนัก

นายมนัส บุญพัฒน์ นายกสมาคมคนกรีดยางและชาวสวนยางรายย่อย เปิดเผยว่า สถานการณ์แรงงานกรีดยางเริ่มขาดแคลนมาตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมา โดยเฉพาะแปลงใหญ่ แต่แปลงขนาดเล็กตั้งแต่ 10-15-20 ไร่ ขนาด 1,400 ต้น จะไม่ขาดแคลาน ทั้งนี้ แปลงขนาดกลางและแปลงขนาดใหญ่ต้องใช้แรงงานรับจ้าง แต่แรงงานได้ไหลออกจากระบบเข้าสู่แรงงานอื่นๆ ไปมาก สาเหตุเพราะราคายางที่เปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะ จ.ระนอง และ จ.พังงา ฯลฯ ทางด้านนายประยูรสิทธิ์ คณานุรักษ์ ประชาสัมพันธ์คณะกรรมการเครือข่ายสถาบันเกษตรกร ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจัยที่ส่งผลให้แรง งานยางแปลงใหญ่ขาดแคลน เพราะราคายางที่เปลี่ยนแปลง จึงทำให้ไม่สามารถประกอบอาชีพต่อไปได้ ไหลไปยังตลาดแรงงานอื่นๆ เมื่อกรีดยางที่ราคา 40-50 บาท/กก. แบ่งปันกันแล้วไม่ใช้จ่าย เนื่องจากค่าครองชีพสูงขึ้น ถ้าราคาขึ้นอยู่ที่ 60 บาท เท่ากับต้นทุนการผลิต เรื่องปัญหาแรงงานไม่น่าจะเกิดผลกระทบ

ที่มา: ไทยโพสต์, 4/6/2562

กพร.ผนึกค่ายรถ ปั้นเด็กอาชีวะ สู่แรงงานมีฝีมือ รองรับ EEC พร้อมสร้างอาชีพมั่นคงในอนาคต

นายสุทธิ สุโกศล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) เปิดเผยว่า ในปัจจุบันตลาดแรงงานมีความต้องการผู้ที่จบการศึกษาในระดับ ปวช. ปวส. เป็นจำนวนมาก เนื่องจากมีความเชี่ยวชาญด้านทักษะฝีมือช่าง กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน จึงให้ความสำคัญในการพัฒนาทักษะฝีมือแก่นักศึกษาระดับปวช. ปวส มาโดยตลอด สอดคล้องกับนโยบายเร่งด่วน 3A ในการยกระดับทักษะฝีมือแรงงานให้เป็นแรงงานคุณภาพ (Super Worker) ตามมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติเพื่อรองรับ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่ EEC และเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ

ทั้งนี้ กพร. จึงร่วมกับบริษัท ไทยยามาฮ่ามอเตอร์ จำกัด จัดฝึกอบรมให้กับนักศึกษาระดับปวช. ปวส เป็นช่างซ่อมรถจักรยานยนต์ออโตเมติก ที่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีสมัยใหม่ของรถจักรยานยนต์ ล่าสุดสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 2 สุพรรณบุรี ดำเนินการเปิดฝึกอบรมหลักสูตรการฝึกยกระดับฝีมือ สาขาเทคโนโลยีรถจักรยานยนต์ YAMAHA รุ่นใหม่ ให้กับนักศึกษาวิทยาลัยเทคนิคสุพรรณบุรี ระดับ ปวส.2 ณ ศูนย์อบรมเทคนิคยามาฮ่า ที่ตั้งอยู่ในสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 2 สุพรรณบุรี โดยมีเจ้าหน้าที่ของบริษัทเป็นวิทยากรในการถ่ายทอดความรู้ให้กับนักศึกษา จะได้เรียนรู้ทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ

การฝึกอบรมในครั้งนี้จะมีส่วนผลักดันให้นักศึกษาระดับ ปวช. ปวส มีทักษะตรงกับความต้องการของสถานประกอบการทั้งการเป็นช่างในสถานประกอบกิจการ ช่างในศูนย์บริการ รวมถึงการเปิดร้านซ่อมรถจักรยานยนต์เป็นของตนเอง เพื่อส่งเสริมการมีงานทำอย่างมั่นคงในอนาคต มุ่งแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานในบางสาขาอาชีพ ทั้งนี้ นักเรียน นักศึกษาที่สนใจสามารถติดต่อเพื่อสอบถามข้อมูลและสมัครฝึกอบรมได้ที่ www.dsd.go.th สายด่วนกระทรวงแรงงาน 1506 กด 4

ที่มา: บ้านเมือง, 3/6/2562

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท