คณะทำงานฯ UN ร้องทางการไทยปล่อยตัว 'สิรภพ' ผู้ต้องขังคดี 112 ชี้เป็นการควบคุมตัวโดยพลการ

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เผยรายงานฉบับยาว คณะทำงานว่าด้วยการควบคุมตัวโดยพลการ ซึ่งเป็นกลไกพิเศษภายใต้คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติมติเห็นว่าการควบคุมตัว 'สิรภพ' ผู้ต้องขังตาม ม.112 เข้าข่ายเป็นการควบคุมตัวบุคคลโดยพลการ ขัดต่อกติการะหว่างประเทศที่ไทยเป็นภาคี พร้อมเรียกร้องให้ปล่อยตัวเขาโดยทันที

สิรภพ (ขวา) ที่มา แฟ้มภาพ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

8 มิ.ย.2562 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า คณะทำงานว่าด้วยการควบคุมตัวโดยพลการ (Working Group on Arbitrary Detention) ซึ่งเป็นกลไกพิเศษภายใต้คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UN Human Rights Council) ได้รับรองความคิดเห็นในกรณีของ สิรภพ (สงวนนามสกุล) อายุ 55 ปี กวีและนักเขียนในนามปากกา “รุ่งศิลา” ซึ่งเป็นผู้ต้องขังคดีตามมาตรา 112 ในการประชุมครั้งที่ 84 ระหว่างวันที่ 24 เม.ย.-3 พ.ค. 2562 โดยคณะทำงานฯ ลงมติเห็นว่าการควบคุมตัวสิรภพเข้าข่ายเป็นการควบคุมตัวบุคคลโดยพลการ ขัดต่อกติการะหว่างประเทศที่ไทยเป็นภาคี พร้อมเรียกร้องให้ปล่อยตัวเขาโดยทันที

สำหรับ สิรภพ  ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า เขา อายุ 55 ปี เป็นกวีและนักเขียนในนามปากกา “รุ่งศิลา” ผู้เผยแพร่บทความและบทกลอนในสื่อสังคมออนไลน์ รวมทั้งแสดงความคิดเห็นทางการเมือง โดยวิพากษ์วิจารณ์กองทัพและการทำรัฐประหารในประเทศไทย หลังการรัฐประหาร 2557 เขาถูกควบคุมตัว พร้อมกับกล่าวหาดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 (3) จากการเขียนบทกลอนและข้อความลงในโลกออนไลน์จำนวน 3 ข้อความ ข้อความหนึ่งเผยแพร่ลงในเว็บบอร์ดประชาไทในปี 2552 อีกสองข้อความเผยแพร่ในเว็บบล็อกและเฟซบุ๊กส่วนตัวในปี 2556 และ 2557

สิรภพถูกควบคุมตัวอยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพมาตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2557 ถึงปัจจุบันนับเป็นเวลา 4 ปี 11 เดือนเศษแล้ว โดยที่คดีความซึ่งถูกสั่งฟ้องต่อศาลทหารกรุงเทพยังสืบพยานไม่แล้วเสร็จ และศาลทหารเองก็ปฏิเสธการให้ประกันตัวมาแล้วทั้งหมด 7 ครั้ง โดยสองครั้งหลังสุดในเดือนเมษายนและพฤศจิกายน ปี 2561 ญาติยื่นขอประกันตัวด้วยหลักทรัพย์ 5 แสนบาท แต่ศาลทหารยังคงไม่อนุญาตให้ประกันตัว โดยอ้างว่าเกรงจำเลยจะหลบหนี และคดียังมีอัตราโทษสูง

การสืบพยานในคดีนี้ยังเป็นไปอย่างล่าช้า ด้วยรูปแบบการนัดความในศาลทหารที่ไม่ต่อเนื่องและยังมีการเลื่อนคดีบ่อยครั้ง ถึงปัจจุบันผ่านมาเกือบ 5 ปี คดียังสืบพยานโจทก์ปากที่ 3 ไม่แล้วเสร็จ โดยฝ่ายโจทก์มีการระบุพยานที่จะสืบจำนวนทั้งหมด 10 ปาก ส่วนฝ่ายจำเลยทั้งหมด 3 ปาก ทำให้คดียังต้องใช้เวลาต่อสู้อีกหลายปีกว่าจะเสร็จสิ้น ทั้งคดีนี้ศาลทหารยังมีคำสั่งให้พิจารณาเป็นการลับ บุคคลภายนอกไม่สามารถเข้าฟังการพิจารณาได้

ศาลทหารได้กำหนดวันนัดสืบพยานต่อไปในวันที่ 10 มิ.ย., 28 มิ.ย. และ 8 ก.ค. 2562

รายละเอียดเพิ่มเติม เกี่ยวกับ คณะทำงานว่าด้วยการควบคุมตัวโดยพลการฯ กลไกที่ทำหน้าที่ติดตามสถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเด็นการควบคุมตัวโดยพลการ (Arbitrary Detention) ในกรณีนี้นั้น ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานโดยระเอียดไว้ดังนี้

การซักถามและชี้แจง ระหว่างคณะทำงานฯ UN กับรัฐบาล คสช.

เมื่อวันที่ 17 พ.ค.ที่ผ่านมา คณะทำงานชุดนี้ได้เผยแพร่ความคิดเห็นฉบับที่ 4/2019 ซึ่งได้รับการรับรองแล้ว โดยเป็นความคิดเห็นถึงกรณีการควบคุมตัวสิรภพโดยเฉพาะ

คณะทำงานฯ ระบุว่ากรณีของสิรภพนั้น เคยเป็นประเด็นข้อซักถามเร่งด่วนของคณะทำงานว่าด้วยการควบคุมตัวโดยพลการ และผู้รายงานพิเศษคณะอื่นๆ ของสหประชาชาติ ถึงรัฐบาลไทยมาแล้วสามครั้ง เมื่อเดือนธันวาคม 2557, กุมภาพันธ์ 2559 และธันวาคม 2560 โดยผู้รายงานพิเศษฯ เน้นย้ำว่ามาตรา 112 และมาตรา 14 แห่งพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 ไม่สอดคล้องกับพันธกรณีสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ พร้อมแสดงความกังวลร้ายแรงเกี่ยวกับการฟ้องร้อง การควบคุมตัว และบทลงโทษที่กำหนดไว้ภายใต้ข้อกฎหมายเหล่านี้ ว่าไม่ได้สัดส่วนกับการกระทำที่ถือเป็นการใช้เสรีภาพในการแสดงความเห็น นอกจากนี้ ผู้รายงานพิเศษยังแสดงข้อกังวลเกี่ยวกับการปฏิเสธคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวของบุคคลในคดีมาตรา 112 ซึ่งเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการพิจารณาคดีพลเรือนในศาลทหารซึ่งขาดความโปร่งใส

ในการตอบข้อซักถามครั้งต่างๆ รัฐบาลคสช. ได้เน้นย้ำว่าประเทศไทยสนับสนุนการใช้เสรีภาพในการแสดงออกบนพื้นฐานของสังคมประชาธิปไตย แต่ต้องไม่ถูกใช้ในลักษณะที่กระทบกับความสงบเรียบร้อยหรือก่อให้เกิดความแตกแยกในสังคม หรือที่มีลักษณะละเมิดสิทธิของผู้อื่น การบังคับใช้กฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์ถือว่าสอดคล้องกับหลักการที่กล่าวมาข้างต้น

รัฐบาลไทยระบุว่าสถาบันกษัตริย์ไทยเป็นหนึ่งในเสาหลักด้านความมั่นคงของประเทศ กฎหมายมาตรา 112 มีไว้เพื่อปกป้องสิทธิของสถาบันกษัตริย์ในลักษณะที่คล้ายคลึงกับการป้องกันคำพูดให้ร้ายหรือการหมิ่นประมาทต่อพลเมืองทั่วไป กฎหมายนี้มิได้มีไว้เพื่อมุ่งหวังจะจำกัดเสรีภาพในการแสดงออก บุคคลที่ถูกฟ้องร้องมีสิทธิในกระบวนการพิจารณาคดี รวมถึงสิทธิในการอุทธรณ์คำพิพากษาเท่าเทียมกับบุคคลที่ถูกฟ้องด้วยข้อกล่าวหาอื่นๆ  กฎหมายไทยยังกำหนดให้ผู้พิพากษาสามารถใช้ดุลยพินิจในการออกคำสั่งพิจารณาคดีลับในกรณีพิเศษที่เชื่อได้ว่าเกี่ยวข้องกับประเด็นอ่อนไหว ที่เป็นไปเพื่อประโยชน์ของสาธารณชน ศีลธรรมอันดีของประชาชน และความมั่นคงของประเทศได้

ต่อมา เมื่อยังมีผู้ร้องเรียนกรณีสิรภพไปยังกลไกการรับข้อร้องเรียนรายกรณีของคณะทำงานว่าด้วยการควบคุมตัวโดยพลการอีกครั้ง ทางคณะทำงานฯ ได้สอบถามกลับมายังรัฐบาลไทยอีกเมื่อวันที่ 7 พ.ย. 2561 เพื่อเปิดโอกาสให้ชี้แจง แต่ทางรัฐบาลก็ไม่ได้มีการตอบกลับใดๆ ต่อข้อร้องเรียนที่คณะทำงานฯ สอบถามไป ทำให้คณะทำงานฯ จัดทำความเห็นคิดเห็นถึงข้อร้องเรียนในกรณีนี้ออกมาในที่สุด

 

คณะทำงานฯ UN ชี้การควบคุมตัว ‘สิรภพ’ เป็นการควบคุมตัวโดยพลการ

จากข้อมูลของกรณีสิรภพ คณะทำงานว่าด้วยการควบคุมตัวโดยพลการได้พิจารณาเห็นว่ากรณีของสิรภพมีลักษณะเป็นการควบคุมตัวโดยพลการ และขัดต่อกติกาสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ

ในการจัดทำความคิดเห็น คณะทำงานฯ ได้ย้อนทบทวนข้อวิเคราะห์ที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายมาตรา 112 ซึ่งเคยได้รับการพิจารณาจากทั้งคณะทำงานฯ ชุดนี้เอง และกลไกสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศอื่นๆ ในหลายปีที่ผ่านมา พบว่ามีข้อมูลอย่างต่อเนื่องว่าการควบคุมตัวบุคคลภายใต้มาตรา 112 เป็นไปโดยพลการ อันเป็นผลมาจากการใช้เสรีภาพในการแสดงออกอย่างสงบ

ผู้รายงานพิเศษว่าด้วยเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออก ได้เคยระบุถึงกฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์ของไทยว่า “ไม่ควรมีที่ยืนในประเทศที่เป็นประชาธิปไตย” และไม่สอดคล้องกับหลักเสรีภาพในการแสดงออกภายใต้กฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติก็ได้เคยแสดงออกความกังวลในลักษณะเดียวกัน

ในข้อสังเกตเชิงสรุปของรายงานระยะที่สองของประเทศไทย คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน (Human Rights Commission) ยังได้แสดงข้อกังวลที่การวิพากษ์วิจารณ์ราชวงศ์ไทยต้องโทษจำคุกตั้งแต่ 3-15 ปี ทั้งจำนวนบุคคลผู้ถูกควบคุมตัวและดำเนินคดีข้อหานี้ยังเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากตั้งแต่หลังการรัฐประหาร และยังมีบทลงโทษในอัตราที่สูง ซึ่งส่งผลให้เกิดการคุมขังบุคคลเป็นระยะเวลายาวนาน

อีกทั้ง ในระหว่างการรายงานทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของไทยต่อคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติครั้งล่าสุด ในเดือนพฤษภาคม 2559 กฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์ยังถูกยกเป็นประเด็นข้อกังวลบ่อยครั้ง โดยผู้แทนในที่ประชุม แนะนำให้รัฐบาลไทยทบทวนกฎหมายฉบับนี้ให้สอดคล้องกับพันธกรณีระหว่างประเทศ

จากภาพรวมที่ทั้งคณะทำงาน และกลไกต่างๆ ด้านสิทธิมนุษยชนล้วนแสดงข้อกังวลต่อรัฐบาลไทยเกี่ยวกับกฎหมายมาตรา 112 ดังกล่าว  คณะทำงานฯ จึงมีความเห็นว่านายสิรภพถูกควบคุมตัวตามกฎหมายที่ละเมิดต่อหลักการสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศอย่างชัดแจ้ง ดังนั้นจึงไม่มีมูลเหตุทางกฎหมายในการควบคุมตัวสิรภพ การลิดรอนเสรีภาพของเขาจึงนับเป็นการควบคุมตัวโดยพลการ

คณะทำงานฯ เห็นว่า “กฎหมาย” ที่ใช้ดำเนินคดีต่อสิรภพ คลุมเครือกว้างขวาง

คณะทำงานฯ ยังให้ความเห็นต่อไปว่าข้อความที่สิรภพถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิด ยังอยู่ภายใต้การใช้สิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออก ซึ่งได้รับการคุ้มครองภายใต้ข้อ 19 ของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และข้อ 19 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR)

คณะทำงานฯ เห็นว่ารูปแบบในการแสดงออกในลักษณะที่ถูกพิจารณาว่าเป็นการดูหมิ่นบุคคลสาธารณะ ยังไม่เป็นเหตุผลที่ชอบธรรมมากเพียงพอให้ต้องกำหนดบทลงโทษทางอาญา บุคคลสาธารณะทุกคน ซึ่งรวมถึงบุคคลที่ใช้อำนาจทางการเมืองสูงสุด เช่น ประมุขแห่งรัฐและรัฐบาล ถือว่าอยู่ในตำแหน่งที่จำต้องรับคำวิพากษ์วิจารณ์ และการมีความคิดเห็นทางการเมืองที่แตกต่าง หลักกฎหมายไม่ควรบัญญัติให้มีการลงโทษที่สาหัสขึ้น เพียงเพราะสถานะหรือตัวตนของบุคคลซึ่งไม่อาจกล่าวหาได้

คณะทำงานฯ ระบุเรื่องการรับทราบข้อโต้แย้งของรัฐบาลไทย ที่ว่ากฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์นั้นช่วยปกป้องความสงบเรียบร้อยและความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของสังคม รวมถึงป้องกันไม่ให้เกิดการละเมิดสิทธิของบุคคลอื่น  อย่างไรก็ตาม รัฐบาลไทยไม่ได้แสดงให้เห็นว่าการดำเนินคดีกับนายสิรภพ จากการเผยแพร่บทกลอน ภาพการ์ตูนล้อเลียน และคำบรรยายใต้ภาพ เป็นไปตามความจำเป็นและได้สัดส่วน คณะทำงานฯ ไม่เห็นว่าข้อความเหล่านี้คุกคามสิทธิหรือชื่อเสียงของบุคคลอื่น ความมั่นคงของประเทศ ความสงบเรียบร้อย สาธารณสุข หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน

คณะทำงานฯ ยังเห็นว่าหลักกฎหมายที่นายสิรภพถูกดำเนินคดีมีความคลุมเครือและกว้างขวางอย่างมากโดยมาตรา 112 ไม่ได้ระบุชัดเจนว่าการแสดงออกแบบใดถือเป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย และยังให้ดุลยพินิจทั้งหมดแก่เจ้าหน้าที่ในการตัดสินว่าเกิดการกระทำผิดขึ้น ในลักษณะคล้ายกันกับมาตรา 14 ของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 (แก้ไขใน พ.ศ. 2560) ล้วนขัดกับหลักความชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งต้องร่างกฎหมายด้วยความละเอียดชัดเจนเพียงพอให้บุคคลทั่วไปสามารถเข้าถึงและเข้าใจกฎหมายได้ จึงร้องขอให้รัฐบาลไทยยกเลิกหรือทบทวนให้สอดคล้องกับพันธกรณีระหว่างประเทศ

การพิจารณาในศาลทหาร ละเมิดต่อหลักการได้รับ “การพิจารณาคดีที่เป็นธรรม” 

ความคิดเห็นของคณะทำงานฯ ยังระบุต่อมาว่าการดำเนินคดีต่อนายสิรภพ ยังละเมิดต่อสิทธิในการได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม โดยเฉพาะการถูกพิจารณาคดีในศาลทหาร ซึ่งปราศจากความเป็นอิสระจากฝ่ายบริหาร เนื่องจากตุลาการศาลทหารถูกแต่งตั้งโดยผู้บัญชาการกองทัพบกและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รวมถึงขาดการอบรมทางกฎหมาย ตุลาการศาลทหารสองท่านคือเจ้าหน้าที่ทหารซึ่งได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่แทนผู้บัญชาการ ศาลทหารจึงไม่ถือว่าเป็นองค์กรที่มีความเป็นอิสระและความเป็นกลาง ตามที่บัญญัติไว้ในข้อ 10 ของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และข้อ 14 (1) ของ ICCPR

การพิจารณาคดีพลเรือนในศาลทหาร ยังขัดต่อกติกา ICCPR และกฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศ เพราะศาลทหารควรมีอำนาจในการพิจารณาเฉพาะกับเจ้าหน้าที่ทหารและในการละเมิดกฎหมายทางทหารเท่านั้น การถูกพิจารณาคดีโดยตุลาการศาลทหารผู้ขาดความเป็นอิสระทั้งโดยอาชีพและทางวัฒนธรรม มีแนวโน้มที่จะสร้างผลกระทบที่ตรงข้ามกับการส่งเสริมสิทธิมนุษยชน และต่อการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม

คณะทำงานฯ ยังระบุว่าทนายความของนายสิรภพได้เคยยื่นคำร้องโต้แย้งเรื่องเขตอำนาจของศาลทหารหลายครั้ง โดยอ้างว่าศาลทหารไม่ควรพิจารณาคดีพลเรือน แต่ข้อร้องเรียนทั้งหมดถูกปฏิเสธไม่รับฟัง ในมุมมองของคณะทำงานฯ ศาลทหารกรุงเทพได้ปฏิเสธไม่รับฟังข้อโต้แย้งต่อการควบคุมตัว และคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวอย่างต่อเนื่องและเป็นระบบ ถือเป็นอุปสรรคสำคัญในการใช้สิทธิขั้นพื้นฐานของผู้ถูกกล่าวหา รวมถึงสิทธิพื้นฐานที่จะมีเสรีภาพ และสิทธิในการได้รับการพิจารณคดีอย่างเป็นธรรม

การพิจารณาคดีเป็นการลับ ขัดต่อพันธกรณีระหว่างประเทศ

คณะทำงานฯ ยังระบุถึงการพิจารณาคดีของสิรภพเป็นการลับ โดยศาลทหารสั่งให้ครอบครัวของนายสิรภพ และผู้สังเกตการณ์จากสำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติในประเทศไทยออกจากห้องพิจารณาคดี โดยอ้างเรื่องอาจส่งผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของชาติ แม้ทนายความพยายามยื่นคำร้องคัดค้าน 4 ฉบับ ระหว่างปี 2557-2559 เพื่อขอให้ศาลเปลี่ยนคำวินิจฉัยจากการพิจารณาคดีลับ แต่ศาลทหารได้ปฏิเสธคำร้องคัดค้านทั้งหมด

คณะทำงานฯ เห็นว่ารัฐบาลไทยมิได้ชี้แจงข้อมูลหรือหลักฐานเพียงพอ ให้เห็นว่าการพิจารณาคดีของนายสิรภพเป็นภัยคุกคามต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน ความสงบเรียบร้อย หรือความมั่นคงของประเทศ จนถือเป็นข้อยกเว้นพิเศษในการพิจารณาคดีอย่างลับได้ คณะทำงานฯ ยังพบว่าไม่มีข้อยกเว้นพิเศษที่จะอนุญาตให้มีการพิจารณาคดีลับ ตามกติกา ICCPR จะเข้าข่ายกับการดำเนินคดีจำเลยในคดีหมิ่นประมาทกษัตริย์ได้เลย

คณะทำงานฯ จึงเห็นว่าการที่นายสิรภพไม่ได้รับการพิจารณาคดีที่เปิดเผยต่อสาธารณะกระทั่งถึงปัจจุบัน ถือเป็นการละเมิดต่อข้อ 10 และ 11 (1) ของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และข้อ 14 (1) ของกติกา ICCPR

นอกจากนี้ คณะทำงานฯ ยังระบุถึงการไม่ได้รับสิทธิในการอุทธรณ์หรือฎีกาคำพิพากษาของนายสิรภพ เนื่องจากคดีเกิดระหว่างการประกาศใช้กฎอัยการศึก และการประกาศใช้ศาลทหารตามประกาศคสช. ฉบับที่ 37/2557 แต่เนื่องจากคดียังอยู่ในระหว่างการพิจารณาในศาลทหาร และจำเลยยังไม่ถูกพิพากษากำหนดโทษ คณะทำงานฯ จึงยังไม่มีข้อสรุปต่อประเด็นสิทธิในการอุทธรณ์คดีในขณะนี้

หากคณะทำงานฯ ก็เรียกร้องให้รัฐบาลไทยรับประกันว่าจำเลยทั้งหมดในศาลทหาร พึงมีสิทธิในการอุทธรณ์คำพิพากษาไปยังคณะตุลาการระดับเหนือขึ้นไป  ทั้งภายใต้หลักการว่าศาลทหารไม่ควรดำเนินคดีกับพลเรือน คณะทำงานฯ ยังเห็นว่าบทลงโทษทั้งหมดที่ศาลทหารมีคำสั่งต่อพลเรือน ควรให้ศาลพลเรือนทบทวนอีกครั้ง แม้ว่าจะไม่มีการยื่นอุทธรณ์คดีก็ตาม

การพิจารณาที่ล่าช้า ละเมิดต่อสิทธิในการได้รับการพิจารณาคดีในระยะเวลาที่เหมาะสม

ในประเด็นสุดท้าย คณะทำงานฯ ยังพิจารณาเรื่องการพิจารณาคดีที่ล่าช้าของนายสิรภพในศาลทหารโดยไม่ได้รับการประกันตัว ทำให้เขาถูกควบคุมตัวเป็นระยะเวลายาวนาน ไม่สอดคล้องกับมาตรฐานระหว่างประเทศ

คณะทำงานฯ ระบุว่าในกรณีนี้ ศาลทหารไม่อาจอ้างความสาหัสของบทลงโทษของกฎหมาย ในการปฏิเสธคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว และระบุว่าการปฏิเสธคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวของผู้ต้องหาคดีหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์เกือบทุกกรณีก่อให้เกิดข้อสงสัยอย่างมาก ว่ามีการใช้เหตุผลส่วนตัววินิจฉัยความเสี่ยงในการหลบหนีการดำเนินคดี คณะทำงานฯ เห็นว่า รัฐบาลไทยไม่ได้แสดงให้เห็นถึงเหตุผลอันสมควรและความจำเป็นในการควบคุมตัวนายสิรภพเอาไว้

นอกจากนั้น ตามที่คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนระบุไว้ว่าสิทธิในการได้รับการพิจารณาคดีโดยไม่ล่าช้าเกินควร มีเจตนามุ่งหมายเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้บุคคลอยู่ในสภาวะความไม่แน่นอนในโชคชะตาของตนนานเกินไป หากศาลปฏิเสธคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวของผู้ถูกกล่าวหาแล้ว เขาหรือเธอต้องได้รับการพิจารณาคดีทันที

คณะทำงานฯ เห็นว่าระยะเวลาการควบคุมตัวนายสิรภพ ตั้งแต่การจับกุมตัวเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2557 กระทั่งปัจจุบัน — ซึ่งนับเป็นเวลาเกือบห้าปี — โดยไม่มีคำตัดสินอันเป็นที่สิ้นสุด ถือเป็นระยะเวลาที่ยาวนานเกินกว่าจะรับได้ คณะทำงานฯจึงเห็นว่า มีการละเมิดสิทธิของนายสิรภพในการได้รับการพิจารณาคดีในระยะเวลาที่เหมาะสม และไม่มีความล่าช้าเกินควร ตามข้อ 9 (3) และ 14 (3) (c) ของกติกา ICCPR

คณะทำงานของ UN ได้สรุปข้อคิดเห็นว่ากรณีของนายสิรภพถือเป็นหนึ่งในกรณีจำนวนมากที่ถูกส่งเรื่องมายังคณะทำงานฯ เกี่ยวกับการลิดรอนเสรีภาพโดยพลการของบุคคลในประเทศไทยในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยคณะทำงานฯ เห็นว่ากรณีเกี่ยวกับประเทศไทย โดยเฉพาะคดีหมิ่นประมาทกษัตริย์มักมีลักษณะเดียวกัน ได้แก่ การควบคุมตัวในชั้นก่อนฟ้อง โดยปราศจากการพิจารณาเป็นรายกรณีไป หรือการพิจารณาทางเลือกที่ไม่ต้องกักขังอื่น เช่น การอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว การฟ้องร้องและการดำเนินคดีโดยหลักกฎหมายที่มีภาษาคลุมเครือ มักนำไปสู่บทลงโทษหนัก และไม่มีมูลเหตุทางกฎหมายเพียงพอในการดำเนินคดีการพิจารณาคดีลับในศาลทหารก็มักนำไปสู่การจำกัดสิทธิในการอุทธรณ์ และกระบวนการในชั้นศาลมักดำเนินไปอย่างผิดหลักการ

คณะทำงานฯ UN เรียกร้องปล่อยตัวสิรภพทันที พร้อมทบทวนกฎหมาย 112

ภายใต้ข้อวินิจฉัยทั้งหมดดังกล่าว คณะทำงานฯ ได้เรียกร้องให้รัฐบาลไทยดำเนินการใดๆ ซึ่งจำเป็นในการแก้ไขสถานการณ์ของนายสิรภพโดยทันที และกระทำให้สอดคล้องกับบรรทัดฐานระหว่างประเทศ คณะทำงานฯ เห็นว่าวิธีการเยียวยาที่เหมาะสมที่สุดคือการปล่อยตัวนายสิรภพโดยทันที พร้อมทั้งอำนวยให้เขามีสิทธิในการชดเชยค่าเสียหายและค่าชดเชยอื่นๆ เพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศ

คณะทำงานฯ ยังเรียกร้องให้รัฐบาลไทยทบทวนกฎหมายตามมาตรา 112 แห่งประมวลกฎหมายอาญา และมาตรา 14 (3) และ (5) แห่ง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 (แก้ไขในปี 2560) ให้สอดคล้องกับข้อเสนอแนะในความคิดเห็นนี้ และต่อพันธกรณีอื่นๆ ที่ประเทศไทยมีต่อกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท