คดีทวงคืนผืนป่า มิ.ย.นี้ ปชช.จ่อขึ้นศาลอีก 6 ราย

สำนักข่าวปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน เผยคดีทวงคืนผืนป่า มิ.ย.นี้ จ่อขึ้นศาลอีก 6 ราย พร้อมเปิดข้อเท็จจริงบนพื้นที่พิพาท สู่ชะตากรรมของผู้ถูกคดีจากนโยบายทวงคืนผืนป่า ตามคำสั่งหัวหน้าคณะ คสช. ขณะที่ 'เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง' ชี้ จนท.ใช้ช่องทางแก้ไขปัญหาด้วยวิธีการอื่นๆ ได้โดยไม่ต้องใช้การดำเนินคดี

9 มิ.ย.2562 ศรายุทธ ฤทธิพิณ นักข่าวจากสำนักข่าวปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน รายงานความคืบหน้าคดีทวงคืนผืนป่าจากการตั้งข้อหาประชาชนบุกรุกป่าอุทยานแห่งชาติไทรทองว่า กรณีเมื่อวันที่ 15 พ.ค.ที่ผ่านมา นิตยา ม่วงกลาง เป็นรายแรกที่ศาลจังหวัดชัยภูมิ นัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ในคดีที่ 1 โดยศาลอุทธรณ์ยืนตามศาลชั้นต้น มีคำสั่งจำคุก 4 เดือน ให้ชดใช้ค่าเสียหายเป็นจำนวนเงิน 40,000 บาท จากคดีข้อหาบุกรุกป่าอุทยานแห่งชาติไทรทอง ส่วนคดีที่ 2 นิตยา ถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวออกมาจากเรือนจำชัยภูมิ มายังศาลจังหวัดชัยภูมิ เพื่อรับฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ในวันที่ 5 มิ.ย.62 ซึ่งในคดีที่ 2 ศาลอุทธรณ์ยืนตามศาลชั้นต้น มีคำสั่งจำคุก 8 เดือน ให้ชดใช้ค่าเสียหายเป็นจำนวนเงิน 150,000 บาท รวมทั้งสองคดีของนิตยา เธอถูกศาลสั่งจำคุก 12 เดือน ให้ชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงินจำนวน 190,000 บาท

ส่วนในคดีที่ 1 ของนิตยา นั้น ถือครองทำประโยชน์ในดินทำกินจำนวน 1 ไร่ เศษ และคดีที่ 2 จำนวน 8 ไร่ เศษ

ส่วนรายที่ 2 ศาลจังหวัดชัยภูมินัดฟังคำพิพากษาเมื่อวันที่ 4 มิ.ย.62 คือ สีนวล พาสังข์ โดยศาลอุทธรณ์ยืนตามศาลชั้นต้น พิพากษาจำคุก 5 เดือน 10 วัน ให้ชดใช้ค่าเสียหายเป็นจำนวนเงิน 150,000 บาท ซึ่งยายสีนวลถือครองทำประโยชน์จำนวน 5 ไร่

ศรายุทธ รายงานเพิ่มว่า ยังเหลือชาวบ้าน 12 ราย ที่ต้องมารับฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ในเดือนมิถุนายน 6 ราย ในวันที่ 12 มิ.ย.นี้ มี 5 คน คือ สุภาพร สีสุข, สุนี นาริน, ปัทมา โกเม็ด, วันชัย อาพรแก้ว และ พุธ สุขบงกช และวันที่ 25 มิ.ย.62 มี 1 คน คือ ทองปั่น ม่วงกลาง ชาวบ้านทั้งหมดที่ตกเป็นจำเลย ต่างประกอบอาชีพเกษตรกรทำไร่มันสำปะหลังที่สืบทอดมายาวนาน รวมทั้งถือครองทำประโยชน์มาก่อนจะมีประกาศอุทยานแห่งชาติไทรทอง ถือเป็นเป็นคดีความที่เกิดขึ้นจากความไม่เป็นธรรมที่เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติไทรทอง เข้ามาจับกุม ฟ้องดำเนินคดีชาวบ้านจำนวนทั้งสิน 14 คน 19 คดี

ศรายุทธ มองว่า เป็นความต่างกันราวฟ้ากับดินระหว่างชาวบ้านธรรมดากับพวกนายทุน, ผู้มีอำนาจ ส่งผลให้ชาวบ้านที่เป็นเพียงเกษตรกรคนธรรมดาต้องเดือดร้อนและต้องถูกจับขัง สูญสิ้นอิสรภาพ นอนในคุก สังเวยทวงคืนผืนป่า ตามนโยบายจากคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นความเหลื่อมล้ำที่พบเห็นมากที่สุดในยุคนี้

ศรายุทธ ยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ ปัญหาข้อพิพาทระหว่างอุทยานแห่งชาติไทรทองกับประชาชนในพื้นที่ โดยมีรายละเอียดดังนี้

ข้อเท็จจริงและปัญหาข้อพิพาทระหว่างอุทยานแห่งชาติไทรทอง ชาวบ้านต่างถูกกระทำกับมาต่อหลายครั้ง มีบทเรียนความปวดร้าวมานับตั้งแต่อดีต อาทิ เช่น การอพยพชาวบ้านออกจากที่ดินทำกินตามโครงการจัดสรรที่ดินทำกินให้กับราษฏรผู้ยากไร้ (คจก.)ในช่วงปี 2534 - 2535 เมื่อรัฐได้สร้างความเดือดร้อนส่งผลกระทบมากมาย ชาวบ้านในภาคอีสานจึงรวมตัวชุมนุมลุกขึ้นสู้เรียกร้อง รัฐบาลจึงมีมติให้ยกเลิกโครงการ คจก.ชาวบ้านผู้เดือดร้อนจึงได้กลับคืนสู่ถิ่นแผ่นดินแม่

แต่ปรากฏว่าพื้นที่อาศัยและที่ดินทำกินเดิม กลับถูกช่วงชิงโดยรัฐประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติไทรทอง ในช่วงปี 2535 ส่งผลให้ชาวบ้านเรียกร้อง และได้อาศัยอยู่ทำกินมานับแต่นั้น

ต่อมา เจ้าหน้าที่ได้เข้าดำเนินการสำรวจการถือครองและทำประโยชน์ที่ดิน ตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 30 มิ.ย.41ทั้งหมด 3 ช่วง คือครั้งแรกปี 2546 และในปี 2549 เข้ามาสำรวจการถือครองโดยการถ่ายรูปแปลงที่ดินเหมือนเดิม โดยไม่มีการแจ้งกับชาวบ้านเจ้าของที่ดินล่วงหน้า เจ้าหน้าที่เข้ามาทำการสำรวจเก็บ ทำให้มีชาวบ้านหลายรายไม่ได้ถ่ายสำรวจแปลง (ตกหล่น)

และในปี 2553 เจ้าหน้าที่ป่าไม้ได้แจ้งกับชาวบ้านที่ถือครองทำประโยชน์ที่ดินในเขตอุทยานแห่งชาติไทรทอง ว่าจะออกมารังวัดโดยการจับพิกัด GPS เพื่อออกเอกสารสิทธิ์ โดยการรังวัดรายแปลง และการปฏิบัติการมีทั้งปัญหา อุปสรรค และข้อผิดพลาด บกพร่องในการปฏิบัติงาน เช่น ปัญหาทางด้านสภาพอากาศ เวลา และงบประมาณ ทำให้หลายคนไม่ได้จับพิกัด

ซึ่งเจ้าหน้าที่บอกว่าไม่เป็นไร เพราะจะจับพิกัดสำรวจทุก 4 ปี สามารถทำกินได้ตามปกติ  

นอกจากนี้ ยังมีข้อจำกัดในการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่กล่าวคือ การจับพิกัดจีพีเอส จะไม่ตรงกับสภาพภูมิประเทศจริงของแปลงที่ดินที่มีการถือครองทำประโยชน์ เจ้าหน้าที่จะไม่เดินตามจุดหักมุม แต่จะเดินตัดเป็นเส้นตรง ทำให้ขนาดและรูปลักษณ์พื้นที่เปลี่ยนสภาพไป นำมาสู่ปัญหาในภายหลัง เนื่องจาก หากมีการทำประโยชน์ในพื้นที่ที่ไม่มีการรังวัด จะถูกพิจารณาเป็นพื้นที่บุกรุก ขยายเพิ่มเติมทันที และมีการบังคับให้เซ็นต์ยินยอมออกจากพื้นที่ในที่สุด

กระทั่งในปี 2557 ได้มีเจ้าหน้าที่มาสำรวจรังวัดจับพิกัดGPS อีกครั้ง โดยอ้างว่าจะมาจับพิกัดเพื่อออกเอกสารสิทธิ์ให้ผู้ที่ทำกินในพื้นที่ ทำให้มีชาวบ้านหลายคนได้มายืนยันการเป็นเจ้าของที่ดิน โดยมีการแบ่งแยกที่ดินให้กับ  บุตร ลูกเขย สะใภ้ ญาติพี่น้อง ต่อมากลุ่มบุตร เขย สะใภ้ ดังกล่าว จะถูกกล่าวหาว่าเป็นกลุ่มบุคคลใหม่ที่เข้ามาถือครองที่ดิน เนื่องจากข้อมูลมีการเปลี่ยนแปลง กลายเป็นกลุ่มที่ไม่ปรากฏรายชื่อของผู้ที่ผ่านการสำรวจถือครองตามมติครม.30 มิ.ย.41

อีกทั้ง ในปี 2557 รัฐบาล คสช.ได้ดำเนินนโยบายทวงคืนผืนป่า เป็นที่มาของปัญหาข้อพิพาทแห่งความบอบซ้ำสุดอีกรอบ ทั้งการเข้ามาคุกคาม ข่มขู่ จับกุม ดำเนินคดีความในที่สุด โดยมีผู้ถูกฟ้องดำเนินคดีทั้งสิ้น 14 ราย 19 คดี แม้ชาวบ้านจะมีความพยายามในการหาทางออก โดยผลักดันให้มีกลไกการตรวจสอบข้อเท็จจริงร่วมระหว่างรัฐกับประชาชนและการรับรองแผนการจัดการที่ดินและทรัพยากรที่ยั่งยืนโดยการมีส่วนร่วม กระทั่งที่ประชุมคณะทำงานระดับจังหวัด โดยมีรองผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิเป็นประธาน มีมติเห็นชอบแผนดังกล่าว ซึ่งชาวบ้านต่างคาดหวังว่าจะเป็นกุญแจสำคัญที่จะนำไปสู่การยุติความขัดแย้ง และปลดล๊อกปัญหาคดีความ

จนมาถึงช่วงปัจจุบัน สิ่งที่ชาวบ้านร่วมเรียกร้องผลักดันเพื่อการแก้ไขปัญหา กลับถูกเมินเฉยกับอำนาจของฝ่ายรัฐ ส่งผลให้ชาวบ้านทั้ง 14 ราย ต่างตกอยู่ในชะตากรรม ในชั้นคดีความ

ซึ่งในจำนวนผู้ถูกดำเนินคดี มีข้อน่าสังเกตุหลายประการเกี่ยวกับข้อเท็จจริงและสถานภาพการทำประโยชน์ที่ดิน เช่น พื้นที่ทำกินบางรายอยู่ในเขตที่มีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตปฎิรูปที่ดิน บางรายทำประโยชน์ประมาณ 30 ไร่ แต่ถูกฟ้อง 46 ไร่ บางรายแม่แบ่งแยกให้ 6 ไร่ 3 งานเศษ ถูกฟ้อง 12 ไร่ และบางรายเป็นพื้นที่ที่ผ่านการสำรวจตามมติ ครม.30 มิ.ย.41 ซึ่งควรได้รับการผ่อนผัน ตามแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ดินป่าไม้ของรัฐ 

ดังนั้น การอ้างเหตุว่าผู้เดือดร้อนที่ไม่ผ่านหรือตกหล่นจากการสำรวจตามมติ 30 มิ.ย.41 เป็นเสมือนผู้บุกรุกใหม่ จึงเป็นการไม่ให้ความเป็นธรรม และขาดความเข้าใจต่อกระบวนการแก้ไขปัญหาข้อพิพาท

ข้อเท็จจริงเหล่านี้ รวมทั้งความผิดพลาด บกพร่องในการแก้ไขปัญหาที่ผ่านมา ถูกนำเสนอผ่านการประชุมร่วมทุกครั้ง เพื่อกำหนดแนวทางการทำงานร่วม กระทั่งนำมาสู่การสำรวจใหม่ข้อเท็จจริงร่วมกัน โดยมีผู้เดือดร้อนทั้งสิ้น 5 ชุมชน จำนวน 187 ราย เนื้อที่ประมาณ 6,680 ไร่ และช่วงเวลาในการทำประโยชน์ของผู้เดือดร้อนทั้งสิ้น 187 ราย 273 แปลง พบว่า ปรากฏร่องรอยการทำประโยชน์ในภาพถ่ายออร์โธสีปี 2545 จำนวน 226 แปลง พบร่องรอยการทำประโยชน์ในภาพถ่ายออร์โธสีระหว่างปี 2545–2557 จำนวน 47 แปลง

นั่นหมายความว่า ชาวบ้านที่ถูกฟ้องดำเนินคดีทั้ง 14 คน อยู่ในเกณฑ์ที่ต้องได้รับการคุ้มครองตามนัยคำสั่งที่ 66/57 ข้อที่ 2.1 คือ “การดำเนินการใดๆ ต้องไม่ส่งผลกระทบต่อผู้ยากไร้ ผู้มีรายได้น้อย และผู้ไร้ที่ดินทำกิน ซึ่งได้อาศัยอยู่ในพื้นที่เดิมนั้นๆ ก่อนคำสั่งนี้มีผลบังคับใช้ ยกเว้นผู้ที่บุกรุกใหม่ จะต้องดำเนินการสอบสวน และพิสูจน์ทราบ เพื่อกำหนดวิธีปฏิบัติที่เหมาะสม และดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป”  

แต่กระบวนการต่อสู้ในสิทธิที่ดินทำกินของชาวบ้านดังกล่าวนั้น รวมทั้งการผลักดันแผนการจัดการที่ดินและทรัพยากรที่ยั่งยืนโดยการมีส่วนร่วมของชุมชน และคณะทำงานจังหวัดได้มีมติเห็นชอบแผนดังกล่าวเมื่อวันที่ 19 มี.ค.61เพื่อหวังว่าฐานะของแผนดังกล่าว จะนำไปสู่การยุติความขัดแย้ง และปลดล๊อคปัญหาคดีความได้อย่างสำคัญ แต่ทุกอย่างกลับล่าช้า แม้ชาวบ้านจะพยายามเร่งผลักดันอย่างต่อเนื่องก็ตาม ชะตากรรมของชาวบ้านจึงดำเนินมาจนถึงทุกวันนี้ และรอวันนัดหมายตามที่ศาลจังหวัดชัยภูมิ จะนัดหมายให้มาฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

สำหรับการดำเนินคดีกับประชาชนดังกล่าว เมื่อวัรนที่ 5 มิ.ยที่ผ่านมา เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (คนส.) ไอ้ออกแถลงการณ์แสดงความเป็นห่วงและขอส่งกำลังใจให้ประชาชนที่จะต้องติดคุก พร้อมทั้งเห็นว่าปัญหาความขัดแย้งด้านป่าไม้ที่ดินระหว่างรัฐกับประชาชนเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ต้องอาศัยความเข้าใจและการทำงานร่วมกันของทั้งสองฝ่าย เราเห็นว่า ชาวบ้านทั้ง 14 ราย ไม่ควรจะต้องเผชิญกับชะตากรรมเช่นนี้ เพราะยังมีช่องทางแก้ไขปัญหาด้วยวิธีการอื่นๆ ได้โดยไม่ต้องใช้การดำเนินคดี

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท