Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


ที่มาภาพ: Facebook วิวาทะ V2

"คนเท่ากัน" ไม่ใช่คำตัดสิน ไม่ใช่ข้อเรียกร้องลอยๆ แต่เป็นการยืนยันหลักแห่งความเสมอภาคสิทธิ เสรีภาพ และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และรัฐต้องปกป้องคุ้มครองหลักการนี้

ในขณะที่สากลโลกเข้าใจ แต่นายกษิดิ์เดช ชุติมันต์ ส.ส.พลังประชารัฐ เขต 8 กรุงเทพมหานคร ไม่เข้าใจ เขากล่าวอภิปรายในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2562 ว่า "คนเราเกิดมาไม่มีทางเท่ากันหรอกครับ หน้าตาก็ไม่เหมือนกันแล้ว และสิ่งที่เรียกร้องกันว่าอยากเท่าเทียมกัน แต่การศึกษาก็ไม่ได้เท่ากัน การมีมนุษยสัมพันธ์ก็ไม่เท่ากัน ไม่มีอะไรเท่ากันหรอกครับ"

นี่คือคำพูดประวัติศาสตร์ และเกิดขึ้นในวันที่นักการเมืองสองฝ่ายต้องอภิปรายคุณสมบัติของผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งนายกษิดิ์เดชอยู่ในฝ่ายหนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี

ที่ผมบอกว่าเป็นประวัติศาสตร์เพราะก่อนหน้านี้การปะะกันของแนวคิดคนเท่า-ไม่เท่ากันอยู่ภายในเวทีวิชาการและโลกโซเชียลเท่านั้น และเอาเข้าจริงจะหาคนมายืนยันแนวคิด "คนไม่เท่ากัน" ต่อสาธารณะได้ยาก เนื่องจากว่ามันขัดแย้งกับวิธีคิดการเมืองกระแสหลักของประเทศประชาธิปไตยเกือบทั้งโลก การหยิบเรื่องนี้มาอภิปราย แม้มุ่งหวังจะลดทอนความน่าเชื่อถือของพรรคอนาคตใหม่เป็นหลัก แต่ก็เชื่อได้ว่า นายกษิดิ์เดชยืนยันความเชื่อเช่นนั้นจริงๆว่า "คนไม่เท่ากัน" ซึ่งไม่แน่ใจว่าผู้แทนราษฎรในพรรคพลังประชารัฐรวมถึงพล.อ.ประยุทธ์คิดเช่นนี้ทั้งหมดหรือไม่ แต่การกล้าดีเฟนด์กลางสภาโดยไม่ยี่หระกับตำแหน่งผู้แทนราษฎร ตัวแทนของพรรคว่าคนไม่เท่ากันก็คงคิดเป็นอื่นไม่ได้ เพราะอย่างน้อยพรรคนี้ก็สนับสนุนระบอบเผด็จการอำนาจนิยม

เมื่อพิเคราะห์ในความหมายของคำที่เขาพูด ไม่ว่าจะหน้าตา การศึกษา มนุษย์สัมพันธ์ มันอยู่ในความหมายเรื่องความแตกต่างของบุคคล เช่นเดียวกับสูง ต่ำ ดำ ขาว ลักษณะรูปร่าง ขาโก่ง ขาตรง มันคือความต่างของบุคคล คนต่างจังหวัด คนในเมือง คือความต่างของสถานที่ ไม่ใช่ความเท่าเทียม ความเสมอภาค ในนิยามของ "คนเท่ากัน" หากคนในเมืองร่ำรวย สุขสบาย มีสาธารณูปโภคสมบูรณ์ แต่คนต่างจังหวัดยากจน ไม่มีน้ำกินน้ำใช้ ไม่ถูกใส่ใจ ประท้วงก็ถูกปิดกั้น ตรงนี้ต่างหากที่เป็นปัญหา ต้องดูเรื่องการกระจายรายได้ ความเจริญ กระจายอำนาจ คุณภาพขององค์กรปกครองท้องถิ่น แต่ไม่ได้หมายความว่าคนไม่เท่ากัน ต้องเรียกร้องเอาจากรัฐให้เข้ามาแก้ปัญหา

ซึ่งเขาอาจไม่มีความรู้ หรือเข้าใจผิด แต่สิ่งซ่อนเร้นอยู่ในคำพูดไร้เดียงสานั้น คือการยืนยันแนวคิดของตนว่า คนไม่อาจเท่ากัน จึงสงสัยว่าผู้แทนคนนี้เข้าใจบทบาทหน้าที่ในฐานะตัวแทนราษฎรหรือไม่ หรือคงอ่านรัฐธรรมนูญไม่เข้าใจ เพราะรธน.2560 หมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย มาตรา 25-49 มีหลักการสำคัญซึ่งระบุเหมือนกันในกฏหมายรัฐธรรมนูญก่อนหน้านี้(ที่ถูกฉีกซ้ำแล้วซ้ำเล่า) มีพื้นฐานมาจากปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติจนเป็นกฏหมายจารีตระหว่างประเทศ ล้วนแต่ยืนยันหลักการว่าบุคคลย่อมมีความเสมอภาคกันในด้านสิทธิ เสรีภาพ และต้องได้รับความคุ้มครองทางกฏหมาย

การบอกว่าคนไม่เท่ากัน หากไม่ใช่การเข้าใจผิด ไม่เข้าใจความหมาย คือการยอมรับและปกป้องสถานะของตัวเองไปในตัว เพราะมีฐานคิดว่ามีคนดีกว่า แย่กว่า สูงส่งกว่า มีคนด้อยกว่า มีคนที่สมควรได้รับโอกาสและการพัฒนา มีคนที่สมควรถูกทิ้งไว้ เหมือนวาทกรรม โง่ จน เจ็บ หรือคนต่างจังหวัดไม่สมควรมีสิทธิ์เสียงเท่าเทียมคนกรุงเทพฯ

ทั้งที่หน้าตา ผิวพรรณ เป็นความแตกต่างโดยกำเนิด ความร่ำรวย ทรัพย์สิน ต้องดูว่าเป็นความแตกต่างโดยชาติกำเนิด หรือถูกปิดกั้นโดยนโยบายรัฐ ฐานะทางเศรษฐกิจ การกระจุกตัวของความร่ำรวย โอกาสการศึกษา การเข้าถึงทรัพยากร การถือครองที่ดิน ซึ่งรัฐมีหน้าที่บริหารจัดการในเชิงโครงสร้างเพื่อกระจายโอกาสนั้น ฯลฯ นี่เป็นหลักการสั้นๆ โดยไม่ต้องถกกันในเชิงปรัชญา และเป็นข้อเท็จจริงว่าที่กล่าวมาทั้งหมดนั้นยังเป็นปัญหาฝังรากลึกในสังคมไทย รวมถึงการอำนวยความยุติธรรม ความเสมอภาคทางกฏหมาย การเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม ฯลฯ

คนจำนวนมากจึงกระโจนเข้าสู้กับแก๊สน้ำตา ยื่นอกรับกระสุนจริง เจ็บตายกันมามากมายมหาศาลตั้งแต่อดีตอันไกลโพ้นจนถึงประวัติศาสตร์ระยะใกล้ เพื่อยืนยันหลักการว่าคนเท่ากัน รัฐต้องไม่เลือกปฏิบัติ ไม่อคติ ไม่มองเห็นคนกลุ่มหนึ่งในชาติเป็นศัตรู เป็นสิ่งชั่วร้ายต้องกำจัด สิ่งเหล่านี้ไม่เคยเกิดขึ้นจริงใช่ไหม?

ย้ำว่า โดยฐานคิดเรื่องคนเท่ากันไม่ใช่เรื่องความแตกต่างของตัวบุคคล -คนละเรื่อง คนละความหมาย แต่คือความเสมอภาค ความเท่าเทียมกัน อย่าหลงประเด็น และอย่าไร้เดียงสา

คนตายมาตั้งเท่าไหร่เพื่อสู้กับปัญหานี้ หากใจไม่มืดบอดจนเกินไปนักก็ย่อมมองเห็น

เว้นแต่มองไม่เห็น ไม่สนใจ และเชื่อมั่นว่าคนไม่เท่ากัน โดยสะท้อนผ่านการเลือกจิ้ม ส.ว. 250 คน พร้อมปัดเศษพรรคเล็กเพื่อเพิ่มจำนวน ส.ส.ไปโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีเอาเปรียบพรรคคู่แข่ง ซึ่งเป็นสันดานอำนาจนิยมขี้ฉ้อ ถ้ายอมรับกติกาแบบนั้น ก็ไม่แปลกที่จะเชื่อว่าคนไม่เท่ากัน แต่มันก็เป็นแค่การแถหน้าด้านๆ ไม่ใช่หลักการแต่อย่างใด.

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net