Skip to main content
sharethis

ในช่วงวันหยุดเทศกาลไหว้บ๊ะจ่าง-แข่งเรือมังกร ชาวฮ่องกงจัดชุมนุมครั้งใหญ่ มีผู้เข้าร่วมเรือนล้านคน เพื่อประท้วงร่างกฎหมายส่งตัวนักโทษข้ามแดนระหว่างจีน-ฮ่องกง นับเป็นการประท้วงที่มีจำนวนผู้เข้าร่วมมากที่สุดในประวัติศาสตร์หลังยุคอาณานิคมของฮ่องกง โดยผู้จัดการชุมนุมหวั่นจีนใช้อำนาจส่งตัวนักโทษข้ามแดนโดยไม่ผ่านกระบวนการกฎหมาย

ผู้ชุมนุมต่อต้านร่างกฎหมายส่งตัวนักโทษข้ามแดน เมื่อ 9 มิ.ย. ที่ฮ่องกง (ที่มา: HKFP/Apple Daily)

ในรายงานของ HKFP ผู้จัดการชุมนุมประเมินว่าในการประท้วงต่อต้านกฎหมายส่งตัวนักโทษข้ามแดนระหว่างจีน-ฮ่องกง-ไต้หวัน เมื่อวันที่ 9 มิ.ย. ที่ผ่านมา มีประชาชนเข้าร่วมราว 1,030,000 คน กลุ่มผู้ประท้วงรวมตัวกันที่สวนสาธารณะวิคตอเรีย ในคอสเวย์เบย์ ผู้ชุมนุมมีจำนวนมากจนทำให้ตำรวจต้องขอให้เริ่มเดินขบวนก่อกำหนดการบ่าย 3 โมงเพื่อลดความคับคั่งของฝูงชน

การประท้วงในครั้งนี้ยังมีการใช้แฮชแท็ก #NoToChinaExtradition โดยจำนวนผู้ชุมนุมเรือนล้านนับเป็นจำนวนร้อยละ 14 ของประชากรในฮ่องกงทั้งหมด ขณะที่ตัวเลขของตำรวจประเมินว่ามีผู้ชุมนุมสูงสุดในช่วงเดินขบวนราว 270,000 คน

การชุมนุมในครั้งนี้มีขึ้นพร้อมกับที่องค์กรสื่อนานาชาติ 4 แห่งส่งสัญญาณเตือนว่ากฎหมายส่งนักโทษข้ามแดนระหว่างจีน-ฮ่องกงเป็นภัยต่อเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและทำให้นักข่าวกับแหล่งข่าวเสี่ยงต่อระบบกฎหมายที่คลุมเครือและการถูกดำเนินคดีจาก "ข้อกล่าวหาที่กุขึ้นเอง" โดยทางการ

องค์กรสื่อทั้ง 4 แห่ง ได้แก่สมาพันธ์เพื่อผู้สื่อข่าวนานาชาติ, องค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน, คณะกรรมการเพื่อการคุ้มครองผู้สื่อข่าว และสมาคมผู้จัดพิมพ์แห่งเอเชีย ต่างก็ออกแถลงการณ์ของตัวเองเรียกร้องให้รัฐบาลฮ่องกงยกเลิกหรือปรับเปลี่ยนเนื้อหาในกฎหมายให้มีการอุดช่องโหว่เพื่อป้องกันไม่ให้มีการส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนตามอำเภอใจได้

นอกจากในระดับองค์กรแล้ว ผู้สื่อข่าวและอดีตผู้สื่อข่าวรวม 400 รายต่างก็ร่วมลงนามเรียกร้องโดยโฆษณาคำเรียกร้องขอให้ยกเลิกกกฎหมายนี้ผ่านสื่อหนังสือพิมพ์หมิงเปา

ก่อนหน้านี้ในเดือน ก.พ. ที่ผ่านมารัฐบาลฮ่องกงเสนอให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายที่อนุญาตให้ทางการสามารถจัดการกับการส่งตัวนักโทษข้ามแดนได้เป็นรายกรณีระหว่างฮ่องกง ไต้หวัน และจีนโดยไม่ต้องมีการทำข้อตกลงล่วงหน้า นั่นทำให้ผู้ว่าการฮ่องกงและศาลในฮ่องกงมีอำนาจส่งตัวนักโทษข้ามแดนโดยไม่ผ่านกระบวนการกฎหมาย เรื่องนี้ทำให้ทั้งทนายความ, นักข่าว, นักการเมืองต่างประเทศ และนักธุรกิจ ต่างก็มีความกังวลเรื่องการถูกหาเรื่องส่งตัวไปยังจีนแผ่นดินใหญ่ในฐานะนักโทษข้ามแดน กฎหมายฉบับดังกล่าวนี้อาจจะเข้าสู่การลงมติพิจารณาครั้งสุดท้ายในช่วงก่อนหมดวาระสภานิติบัญญัติของฮ่องกงชุดนี้ภายในปลายเดือน ก.ค.

การประกาศเปลี่ยนแปลงกฎหมายส่งตัวนักโทษข้ามแดนนี้ยังจุดชนวนให้เกิดการอภิปรายเรื่องความเชื่อมั่นต่อระบบนิติบัญญัติของฮ่องกงและต่อระบบกฎหมายของจีน มีการลงนามต่อต้านกฎหมายนี้ทางออนไลน์ซึ่งหนึ่งในนั้นมีชื่อของผู้พิพากษาศาลสูงของฮ่องกง แพทริก ลี อยู่ในนั้นด้วย ถึงแม้ว่าเพื่อนร่วมงานของเขาจะเคยเตือนไม่ให้เขาเข้าร่วมการลงนามโดยอ้างเรื่องความเป็นกลางของตุลาการ นอกจากแพทริก ลีแล้วมีผู้พิพากษาระดับสูงในฮ่องกงรวม 3 ราย และทนายความชั้นนำรวม 12 ราย ร่วมกันประท้วงในเรื่องนี้เนื่องจากกังวลว่ากฎหมายใหม่นี้จะทำลายหลักนิติธรรมของฮ่องกง โดยที่น้อยครั้งคนทำงานด้านกฎหมายระดับสูงเหล่านี้จะทำการประท้วงทางการเมือง

การชุมนุมในวันที่ 9 มิ.ย. มาจากการจัดตั้งของกลุ่มแนวร่วมสนับสนุนประชาธิปไตยในฮ่องกงทุกฝ่ายรวมกันที่มีชื่อว่า "ซีวิลฮิวแมนไรท์ฟรอนต์" (Civil Human Rights Front) โดยมีคำขวัญของการประท้วงคือ "พิทักษ์ฮ่องกง" "ยุบกฎหมายชั่วร้าย" และเรียกร้องให้แคร์รี่ หลำ ผู้ว่าการเขตปกครองฮ่องกงลาออก พวกเขาเริ่มตั้งขบวนในตอนบ่ายและมีการเดินขบวนมุ่งหน้าไปยังย่านแอดไมรัลตี โดยที่ก่อนหน้านี้ชาวฮ่องกงเคยทำการประท้วงต่อต้านกฎหมายนี้มาแล้วหลายครั้ง เช่นเมื่อเดือน เม.ย. ที่มีผู้เข้าร่วมราว 130,000 คน

 

เรียบเรียงจาก

Record turnout expected for Hong Kong’s anti-extradition protest, as int’l journalism organisations raise alarm, Hong Kong Free Press, 09-06-2019

BREAKING: Over a million attend Hong Kong protest against controversial extradition law, organisers say, Hong Kong Free Press, 09-06-2019

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net