Skip to main content
sharethis

สื่อเซาธ์ไชน่ามอร์นิ่งโพสท์รายงานเสียงผู้ร่วมชุมนุมต่อต้านกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนให้จีน-ไต้หวัน-ฮ่องกง ผู้ชุมนุมขอให้อย่างน้อยได้แสดงออกซึ่งการคัดค้าน นักวิชาการระบุ การชุมนุมครั้งนี้ที่มีผู้เข้าร่วมในหลักแสน-ล้านคน เป็นหมุดหมายสำคัญ แม้ที่ผ่านมามีการชุมนุมใหญ่มาแล้วก็ตาม แต่ครั้งนี้ให้ภาพคนจากพื้นเพทางการเมืองที่หลากหลายออกมาต่อสู้ในเรื่องเดียวกัน

ป้ายคัดค้านกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนในการชุมนุม (ที่มา: dw.com)

10 มิ.ย. 2562 เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (9 มิ.ย. 2562) หน้าสื่อทั่วโลกให้ความสนใจกับการประท้วงที่เกิดขึ้นในสวนสาธารณะวิคตอเรียในฮ่องกง เขตปกครองพิเศษของสาธารณรัฐประชาชนจีน ที่คนออกมาประท้วงต่อต้านความพยายามแก้ไขกฎหมายส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนระหว่างจีน ไต้หวันและฮ่องกง โดยจำนวนผู้ประท้วงนั้นได้รับการบันทึกอยู่ระหว่างราว 270,000 ถึง 1 ล้านคน

ฮ่องกงชุมนุมเรือนล้านค้านร่าง กม.ส่งตัวนักโทษข้ามแดน-หวั่นจีนใช้จัดการฝ่ายต่อต้าน

ตามกำหนด กฎหมายดังกล่าวอาจจะเข้าสู่การลงมติพิจารณาครั้งสุดท้ายก่อนสภานิติบัญญัติของฮ่องกงชุดนี้จะหมดวาระภายในปลายเดือน ก.ค. สื่อเซาธ์ไชน่ามอร์นิ่งโพสท์ (SCMP) รายงานว่าอาจมีการพิจารณาในวันที่ 12 ก.ค.

การประกาศเปลี่ยนแปลงกฎหมายดังกล่าวจุดชนวนให้เกิดการอภิปรายเรื่องความเชื่อมั่นต่อระบบนิติบัญญัติของฮ่องกงและระบบกฎหมายของจีน เมื่อเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา รัฐบาลฮ่องกงเสนอให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายที่อนุญาตให้ทางการสามารถจัดการกับการส่งตัวนักโทษข้ามแดนได้เป็นรายกรณีระหว่างฮ่องกง ไต้หวันและจีนโดยไม่ต้องมีการทำข้อตกลงล่วงหน้า ทำให้ผู้ว่าการฮ่องกงและศาลในฮ่องกงมีอำนาจส่งตัวนักโทษข้ามแดนโดยไม่ผ่านกระบวนการกฎหมาย สร้างความกังวลต่อทนายความ นักข่าว นักการเมืองต่างประเทศ และนักธุรกิจ ว่าจะถูกหาเรื่องส่งตัวไปยังจีนแผ่นดินใหญ่ในฐานะนักโทษข้ามแดน

นอกจากในฮ่องกงแล้ว กระแสการคัดค้านยังปรากฏขี้นในรูปแบบของการเดินขบวน 29 แห่ง ใน 12 ประเทศทั่วโลกตามเมืองต่างๆ อย่างนิวยอร์ก ซานฟรานซิสโก วอชิงตัน โตรอนโต โตเกียว ซิดนีย์ หรือไทเป

การชุมนุมของมวลชนจำนวนมากเพื่อส่งเสียงคัดค้าน วิพากษ์วิจารณ์มาตรการของภาครัฐในฮ่องกงไม่ใช่เรื่องใหม่ เคยมีการชุมนุมของคนหลักห้าแสนเพื่อคัดค้านกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติในปี 2546 และการประท้วงเรียกร้องสิทธิการเลือกตั้งผู้นำสูงสุดของฮ่องกงโดยตรงเมื่อปี 2557 หรือที่รู้จักกันในชื่อ ‘ปฏิวัติร่ม’ ที่ผู้ประท้วงใช้ร่มเป็นสัญลักษณ์การประท้วง ซึ่งต่อมารัฐบาลตอบโต้ด้วยการควบคุมพื้นที่การชุมนุมและดำเนินคดีกับแกนนำหลายคน หนึ่งในนั้นคือโจชัว หว่อง นักกิจกรรมหนุ่มที่เนติวิทย์ โชติภัทรไพศาล นักกิจกรรมชาวไทยเชิญมาร่วมงานเสวนาที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยแต่ถูกทางการไทยส่งตัวกลับฮ่องกง

SCMP ไปสัมภาษณ์ผู้ชุมนุมถึงสาเหตุการออกมาประท้วง โดยมีหลายคนตอบว่าพวกเขาไม่อยากจะยอมแพ้โดยไม่ใช้เสรีภาพในการทำให้ความไม่เห็นด้วยเป็นที่รับรู้ แจนัส หว่อง นักทำงานด้านสังคมอายุ 40 ปียอมรับว่ารัฐบาลฮ่องกงอาจไม่ได้สนใจการชุมนุม

“แต่ชาวฮ่องกงยังต้องส่งเสียงเพื่อแสดงออกและบอกต่อโลกว่าฮ่องกงไม่เหมือนกับจีน” แจนัสกล่าว

“พวก (จีน) แผ่นดินใหญ่อาจไม่บังอาจที่จะพูดว่ารัฐบาลพวกเขาทำอะไรลงไป แต่พวกเราชาวฮ่องกงจะ(พูด)”

การชุมนุมในวันอาทิตย์เริ่มต้นในช่วงบ่ายต้นๆ และดำเนินไปจนถึงเวลาโพล้เพล้ จากนั้นมวลชนเดินเป็นแถวยาวไปยังใจกลางเมืองและล้อมสภานิติบัญญัติและทำเนียบรัฐบาลเอาไว้ในช่วงกลางคืน ซึ่งเจ้าหน้าที่รัฐเองก็พยายามควบคุมพื้นที่เอาไว้ ในหลายพื้นที่ แต่ในช่วงดึก การเผชิญหน้าระหว่างผู้ชุมนุมกับเจ้าหน้าที่รัฐยกระดับเป็นการใช้ความรุนแรงต่อกัน โดยเจ้าหน้าที่ใช้กระบองและสเปรย์พริกไทย ส่วนผู้ชุมนุมก็ขว้างปาสิ่งของใส่เจ้าหน้าที่

แมธธิว ง็อค กว๊อกบัน อายุ 50 ปี ผู้พิการทางสายตาที่มาร่วมชุมนุม สะท้อนความกลัวของผู้ร่วมชุมนุมคนอื่นว่ากฎหมายดังกล่าวจะนำไปสู่การไต่สวนที่ไม่เป็นธรรม และการละเมิดสิทธิมนุษยชนบนแผ่นดินใหญ่

“ผมไม่มีความศรัทธาต่อผู้นำของเมือง (ฮ่องกง) ว่าคนที่ไม่กล้าแม้แต่จะพูดเรื่องการสลายการชุมนุมที่จัตุรัสเทียนอันเหมินจะรับมือกับคำร้องขอส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนจากแผ่นดินใหญ่ได้ดีพอ” แมธธิวกล่าว

โรส หวู ผู้จัดตั้งกลุ่ม"ซีวิลฮิวแมนไรท์ฟรอนต์" (Civil Human Rights Front) กลุ่มที่จัดการชุมนุมในวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นองค์กรเดียวกันกับที่จัดชุมนุมในปี 2546 กล่าวว่าการชุมนุมรอบนี้ไม่สามารถเทียบกับการชุมนุมปี 2546 ได้ เนื่องจากครั้งนี้ประชาชนตั้งกลุ่มออกมาแสดงออกกันเองแทนที่จะจัดตั้งกลุ่มก้อนที่เป็นสถาบันขึ้นมา สะท้อนจากการลงชื่อคัดค้านร่างกฎหมายออนไลน์หลายร้อยรายชื่อที่เซ็นโดยนักเรียน ศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยไปจนถึงแม่บ้าน

การชุมนุมคัดค้านกฎหมายส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนกลายเป็นพื้นที่พบปะของฝ่ายประชาธิปไตยอีกครั้ง หลังอกหักและกระจัดกระจายไปหลังการปฏิวัติร่มเมื่อปี 2557 ที่รัฐบาลกดปราบการนั่งชุมนุมนาน 79 วัน ออสการ์ ฟัง ชุนยู (Fung Chun-yu) ศิลปินอายุ 38 ปีที่เคยชุมนุมเมื่อปี 2557 และกลับมาลงถนนเพราะเห็นว่าทุกคนกลับมาต่อสู้อีกครั้ง

“สิ่งที่เกิดขึ้นวันนี้ได้พิสูจน์แล้วว่าชาวฮ่องกงยังไม่ได้เปลี่ยนไป พวกเขายังต้องการปกป้องบ้านของพวกเขาและมันยังมีพื้นที่ให้พวกเราทำงานร่วมกันได้อยู่” ออสการ์กล่าว

เอ็ดมุนด์ เฉิง หวาย นักรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยบัปติสต์กล่าวว่า การชุมนุมเมื่อวันอาทิตย์เป็นหมุดหมายสำคัญของประวัติศาสตร์ฮ่องกง เพราะว่าชาวฮ่องกงหลากจากหลากหลายพื้นเพทั้งอายุและแนวคิดทางการเมืองได้ออกมาต่อสู้ เรียกร้องในประเด็นเดียวกัน

“ผู้ประท้วงยังคงต้องการแสดงจุดยืนแม้ว่าปักกิ่งจะมีท่าทีสนับสนุนตัวกฎหมายดังกล่าว”

“พวกเขากลัวว่าจะสูญเสียสิทธิในการแสดงออกหลังจากการผ่านกฎหมาย พวกเขายังคงต้องการแสดงออกและเก็บรักษาสิทธินั้นไว้ และสิ่งนั้นทำให้ฮ่องกงมีความพิเศษ” เอ็ดมุนด์กล่าว

แม่บ้านอายุ 70 ปี สกุลหว่อง กล่าวว่า รัฐบาลฮ่องกงควรจะเคารพและใส่ใจประชาชน กฎหมายดังกล่าวเป็นกฎหมายโบราณที่จะส่งผลถึงคนรุ่นหลัง และถ้ารัฐบาลยังไม่ออกมาพูดอะไร เธอก็พร้อมที่จะออกมาร่วมชุมนุมอีก

แปลและเรียบเรียงจาก

As it happened: How Hong Kong's protest march against the extradition bill turned ugly, South China Morning Post, Jun. 9, 2019

Why did Hongkongers join million-strong march to protest extradition bill? It’s about protecting freedom, and it’s in their DNA, South China Morning Post, Jun. 9, 2019

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net