Skip to main content
sharethis

บอร์ด สปสช.ลงพื้นที่เขต 8 อุดรธานี รับข้อเสนอการปรับปรุงระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 9 ประเด็นหลัก ย้ำจะนำทุกข้อเสนอไปพัฒนาต่อ แต่บางส่วนสามารถทำได้เลยในระดับพื้นที่และเขต เช่น การมีส่วนร่วมของพระสงฆ์ในการจัดการสุขภาพ เป็นต้น

10 มิ.ย.2562 ทีมสื่อสารสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) รายงานว่า เมื่อวันที่ 7 มิ.ย. ที่ผ่านมา สปสช. ได้จัดการประชุมมอบข้อเสนอนโยบายพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติระดับเขตพื้นที่ต่อคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติและหน่วยงานภาคียุทธศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง ในพื้นที่รับผิดชอบ สปสช. เขต 8 อุดรธานี ณ โรงแรมนภาลัย อ.เมือง จ.อุดรธานี โดยมีตัวแทนผู้ให้บริการและผู้รับบริการจาก 7 จังหวัดในภาคอีสานตอนบน (เลย หนองบัวลำภู อุดรธานี หนองคาย สกลนคร นครพนม และบึงกาฬ) เข้าร่วมประชุมกว่า 200 คน

ทพ.กวี วีระเศรษฐกุล ผู้อำนวยการ สปสช. เขต 8 อุดรธานี กล่าวว่า การจัดรับฟังความคิดเห็นครั้งนี้เป็นกระบวนการรับฟังความคิดเห็นทั่วไปของผู้ให้บริการและผู้รับบริการตามมาตรา 18 (13) ภายใต้ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 เพื่อพัฒนาข้อเสนอนโยบายสู่การพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติทั้งในระดับชาติ เขตพื้นที่ และจังหวัด โดยมีการรับฟังความคิดเห็นผ่านระบบออนไลน์ควบคู่ไปกับการจัดประชุมตั้งแต่เดือน ม.ค.- พ.ค. 2562 โดยมีผู้แสดงความคิดเห็นออนไลน์ 1,945 ราย และแสดงความคิดเห็นต่อข้อเสนอนโยบาย 678 ราย โดยหลังการดำเนินการพบว่าการรับฟังความคิดเห็นออนไลน์เป็นช่องทางที่เพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการรับฟังความคิดเห็น ลดต้นทุน ประหยัดเวลาและเพิ่มการมีส่วนร่วมความครอบคลุมทุกภาคส่วน

ทั้งนี้ ประเด็นการรับฟังความคิดเห็นมีทั้งหมด 9 ประเด็น แบ่งเป็น 7 ประเด็นตามข้อบังคับและ 2 ประเด็นปัญหาเฉพาะพื้นที่ มีจำนวนข้อเสนอพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 50 ข้อ แบ่งเป็นข้อเสนอใหม่ 37 ข้อ (74%) และข้อเสนอเก่าที่เคยเสนอแล้วและต้องการเสนออีกจำนวน 13 ข้อ (37.6%)

รศ.พญ.ประสบศรี อึ้งถาวร กรรมการหลักประกันสุขภาพ และประธานอนุกรรมการกำหนดประเภทและขอบเขตในการบริการให้บริการสาธารณสุขที่จำเป็นต่อสุขภาพและการดำรงชีวิต กล่าวว่า กระบวนการรับฟังความคิดเห็นของเขต 8 ดำเนินการมาหลายเดือนและวันนี้เป็นวันที่คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติมารับข้อเสนอนโยบายโดยจะพยายามนำข้อคิดเห็นที่ได้รับไปพัฒนาต่อไป อย่างไรก็ดี โดยส่วนตัวคิดว่าการพัฒนาปรับปรุงระบบหลักประกันสุขภาพมี 3 ระดับ คือ ระดับส่วนกลาง ระดับพื้นที่ และผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง การประชุมครั้งนี้ตนดีใจที่ระดับพื้นที่เข้าร่วมประชุมจำนวนมาก ซึ่งข้อเสนอแนะบางส่วนสามารถนำไปปฏิบัติได้เลยในพื้นที่ ในจังหวัดหรือเขตของตัวเอง และถ้าทำได้ดีก็สามารถพัฒนาไปใช้ในระดับประเทศได้ เช่น การดูแลสุขภาพพระสงฆ์ การมีส่วนร่วมของพระสงฆ์ ซึ่งเขต 8 มีความเข้มแข็งและสามารถนำไปพัฒนาต่อได้

ขณะเดียวกัน สปสช.ก็จะไม่ทิ้งกลุ่มเปราะบางไว้ข้างหลัง เรื่องนี้นี้สำคัญมากเพราะเป้าประสงค์ของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติคือสิ่งที่เรียกว่า Effective Coverage คือไม่ใช่ว่ามีประชาชนมาลงทะเบียนได้ 99% แต่อยากเห็นประชาชนเข้าถึงบริการ ใช้บริการและมีความสุขในการใช้บริการด้วย การประชุมครั้งนี้เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่าเขต 8 ก้าวไปถึงจุดที่เรียกว่า Effective Coverage แล้ว และขอให้มั่นใจในระบบหลักประกันสุขภาพว่าจะมีต่อไปเรื่อยๆเพื่อให้ประชาชนทุกคนก้าวไปสู่การมีสุขภาพที่ดีตลอดช่วงชีวิต

ด้าน พระครูสุตโพธิคุณ เจ้าคณะตำบลนาแสง อ.ศรีวิไล จ.บึงกาฬ กล่าวถึงข้อเสนอนโยบายในประเด็นการเพิ่มการเข้าถึงบริการในกลุ่มเปราะบาง (พระสงฆ์) สู่การพัฒนารูปแบบการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคในกลุ่มพระสงฆ์ในระดับอำเภอและตำบลแบบมีส่วนร่วม โดยมีข้อเสนอ 3 ข้อ คือ 1.ขอให้ สปสช.ประสานกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการผลักดันให้เกิดการจัดสรรงบประมาณจากกองทุนสุขภาพตำบลในการดูแลสุขภาพของพระสงฆ์ 2.ขอให้คณะสงฆ์ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เข้ามามีส่วนร่วมในการออกแบบโครงการในการดูแลสุขภาพพระสงฆ์ให้มากขึ้น 3.ขอให้ สปสช.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดบริการเชิงรุกเพิ่มการเข้าถึงสิทธิหลักประกันสุขภาพพื้นฐานสำหรับพระสงฆ์

นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า ขอชื่นชมสิ่งที่เสนอจากเวทีรับฟังความคิดเห็นในวันนี้คือความเป็นรูปธรรม เช่น ประเภทและขอบเขตของสิทธิประโยชน์ที่มีความชัดเจน หลังจากนี้เป็นหน้าที่ของ สปสช.ที่ไปดำเนินการต่อในการศึกษาความคุ้มค่า ความเป็นไปได้ งบประมาณ และเชื่อมโยงกับหน่วยงานต่างๆ นอกจากนั้น เนื้อหาส่วนใหญ่เป็นการเสนอเรื่องพื้นที่มากขึ้น ลงลึกกองทุนสุขภาพตำบล กองทุนฟื้นฟู และการดูแลสุขภาพพระสงฆ์ ซึ่งนับเป็นมิติที่ดีมากของการรับฟังความเห็น เป็นการแก้ไขประเด็นที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่ของตัวเอง ส่วนการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานอื่น สปสช.มีบทบาทมีหน้าที่เอาข้อเสนอที่เกี่ยวข้องไปเสนอเป็นความร่วมมือที่ดำเนินการ

“การรับฟังในวันนี้พบว่าความคาดหวังของคนในพื้นที่กับสิ่งที่เป็นจริงใกล้กันมากขึ้น ขอขอบคุณทีมงาน ผู้ร่วมรับฟังความเห็นทุกท่าน ที่ได้นำเสนอมา จะรวบรวมสู่บอร์ด สปสช.เพื่อการตัดสินใจเชิงนโยบายต่อไป” เลขาธิการ สปสช. กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net