Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

หากเอ่ยชื่อประเทศรวันดา สิ่งแรกที่ผู้อ่านหลายท่านจะนึกถึงนอกจากภาพยนต์ Hollywood สุดสะเทือนใจเรื่อง Hotel Rwanda แล้วก็คือเหตุการณ์จริงของหนังเรื่อง Hotel Rwanda การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ครั้งประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ ที่คร่าชีวิตประชาชนถึง 8 แสนคน ในช่วงเวลาแค่ 100 วัน ในปี 1994 ขั้นตอนการเกิดขึ้นของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์นี้สามารถหาอ่านได้อย่างละเอียดได้ในอินเทอร์เน็ตทั่วไป แต่ผมขอเล่าคร่าว ๆ ว่ามันเกิดขึ้นจากการอยู่ร่วมกันของเผ่าสองเผ่าในประเทศเดียวกัน คือ เผ่าฮูตู และ ทุซซี่ 

เดิมทีรวันดาเป็นอาณานิคมของเบลเยี่ยม สัดส่วนของประชากรในประเทศเผ่าฮูตูจะเป็นคนส่วนมากที่ประมาณ 85% ของคนทั้งประเทศ และที่เหลือเป็นเผ่าทุซซี่ แต่กระนั้นก็ตามในสมัยใต้อาณานิคมเบลเยี่ยมก็วางระบบการปกครองให้เผ่าทุซซี่มีอำนาจมากกว่า และหลังจากได้รับเอกราช รวันดาก็ปกครองในระบบกษัตริย์ ซึ่งก็มาจากเผ่าทุซซี่เช่นกัน พอได้รับเอกราชไม่นานเผ่าฮูตูเลยรวมตัวกันก่อกบฏและล้มล้างระบบการปกครองแบบเก่า และขับไล่ชาวทุซซี่จำนวนหนึ่งออกจากประเทศ 

ชาวทุซซี่ที่ออกนอกประเทศ นานเข้าก็รวมตัวกันตั้งกองกำลังติดอาวุธชื่อ Rwandan Patriotic Front (RPF) 
โดยได้รับการสนับสนุนจากประเทศอูกันดาที่เป็นเพื่อนบ้าน จนสุดท้าย RPF ก็เข้าไปทำสงครามกลางเมืองกับกองทัพรวันดาซึ่งเป็นชาวฮูตูตั้งแต่ปี 1990 จนยืดเยื้อไปได้ 3 ปี นำมาซึ่งการเจรจาต่อรองร่วมกับสหประชาชาติในสนธิสัญญาอารูซาในปี 1993 

หลังการเซ็นสัญญาอารูซาต่างฝ่ายต่างวางอาวุธ แต่ดูเหมือนความเกลียดชังระหว่างเผ่าทั้งสองนั้นไม่ได้คลี่คลาย กลุ่มหัวรุนแรงฮูตูยังคงทำการโฆษณาชวนเชื่อเรื่องการกวาดล้างชาวทุซซี่ โดยเรียกชาวทุซซี่ว่าแมลงสาบ และส่งสัญญาณวิทยุเชิญชวนให้ชาวฮูตูเตรียมพร้อมสำหรับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวทุซซี่อยู่ตลอด จนมาถึงฟางเส้นสุดท้ายในปี 1994 เกิดเหตุสังหารประธานาธิบดีของรวันดาในขณะนั้น ซึ่งเป็นชาวฮูตู โดยการยิงจรวดต่อต้านอากาศยานไปยังเครื่องบินที่ประธานาธิบดีโดยสาร กลุ่มหัวรุนแรงฮูตูได้กล่าวหาว่ากลุ่ม RPF อยู่เบื้องหลังเหตุดังกล่าว และได้ก่อรัฐประหารตามด้วยการปิดประเทศฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวทุซซี่ในประเทศ 100 วัน จนมีผู้เสียชีวิตมากถึง 800,000 คน ทำให้ประชากรของประเทศ ณ ขณะนั้นลดลงจาก7 ล้านคนเหลือเพียง 5.9 ล้านคนเท่านั้น เหตุการณ์คลี่คลายเมื่อกองทัพ RPF เข้ามาช่วยเหลือชาวทุซซี่และยึดอำนาจกลับจากชาวฮูตูอีกครั้ง 


Figure 1 ความสูญเสียจากการฆ่าล้างเผ่าพันธ์

ปัจจุบันประธานาธิบดีของประเทศรวันดาเป็นชาวทุซซี่ที่มีชื่อว่า พอล คากาเม่ เขาเติบโตจากกองกำลัง RPF จนสุดท้ายเป็นผู้นำกองทัพ RPF และเป็นผู้นำรัฐบาลตั้งแต่เหตุการณ์ครั้งนั้นจนถึงปัจจุบัน 

การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในระยะสั้น ๆ แค่ 100 วันนั้นปวดร้าวและเป็นแผลเป็นขนาดใหญ่ของชาวรวันดาทุกคน เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อ 26 ปีที่แล้วนี่เอง มีคนจำนวนมากที่เป็นประจักษ์พยานในความเลวร้ายของมัน และทุกคนเข็ดขยาดต่อการนำประเทศกลับไปสู่ภาวะเช่นนั้นอีกครั้ง 

พอล คากาเม่ นอกจากเป็นวีรบุรุษของชาวทุซซี่ที่เข้าช่วยกอบกู้สถานการณ์ในคราวนั้นแล้ว ตอนนี้ยังได้รับการยอมรับจากชาวรวันดาทั้งหมดในการเป็นผู้นำประเทศสู่ยุคสมัยใหม่ จากประเทศที่ประชากรหายไปเกือบ 20% ในช่วงเวลา 1 ปี ปัจจุบันรวันดาเป็นประเทศที่มีอัตราความเจริญสูงที่สุดในทวีปแอฟริกา เป็นประเทศที่เข้าไปลงทุนทำธุรกิจง่ายที่สุดอันดับ 2 ของแอฟริกา อินเทอร์เน็ตเร็วที่สุดในแอฟริกา ดาวน์โหลดเฉลี่ย 7Mbps อัตราอาชญากรรมต่ำมาก ดัชนีอาชญากรรมอยู่ที่ 16.18 ซึ่งต่ำกว่าไทย!! (อัตราดัชนีอาชญากรรมไทยอยู่ที่ 51.2)  ความเจริญเหล่านี้เกิดขึ้นไม่ได้หากผู้คนในประเทศยังขุ่นเคืองต่อกันไม่หาย และจ้องจะฆ่าล้างกันตลอดเวลา


Figure 2 รวันดาในปัจจุบัน

สิ่งที่รวันดาเรียนรู้จากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์คือ ก่อนที่พวกเข้าจะฆ่ากัน ชาวฮูตูและทุซซี่มีพื้นที่ร่วมกันน้อยมาก ชาวทุซซี่อยู่ในเมืองหลวง ทำงานดี ๆ ส่วนชาวฮูตูอยู่ตามชนบท พวกเขาทำสัญลักษณ์ให้กันและกัน เปิดพื้นที่ให้ความเคลือบแคลงและหวาดระแวงเพิ่มมากขึ้น และอ่อนไหวต่อคำเชื้อเชิญให้เกลียดชังกันและกัน 


Figure 3 ประธานาธิบดีพอล คากาเม ร่วมกิจกรรม Umuganda

หลังเหตุฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ 4 ปี รัฐบาลรวันดาได้กำหนดกิจกรรมหนึ่งชื่อ Umuganda ซึ่งเป็นกิจกรรมที่รวมใจชาวรวันดาทุกเผ่าให้ร่วมกันทำงานอย่างใดอย่างหนึ่งในชุมชน โดยกำหนดว่าทุกวันเสาร์สุดท้ายของทุกเดือนเป็นวัน Umuganda ของชาติ ชาวรวันดาทุกเพศ ทุกเผ่า ที่มีอายุระหว่าง 18-65 ปี ร่วมกันพัฒนาชุมชนของตัวเองร่วมกัน ตัวอย่างงานง่าย ๆ เช่น การช่วยถางหญ้า ขุดลอกคูคลอง จำพวกงานพัฒนาพื้นที่อย่างง่ายทั้งหลายนั่นแหละ กิจกรรมนี้กินเวลาประมาณ 3 - 4 ชั่วโมง ช่วงเวลานี้เมืองทั้งเมืองก็จะสงบ รถโดยสารไม่ทำการ บริษัทห้างร้านก็ปิดกันหมด เพื่อให้เป็นวาระของชาติจริง ๆ ที่สำคัญคือทำด้วยกันทุกเดือน กิจกรรมที่ทำร่วมกันนี้ได้ลบเลือนความเป็นฮูตูและทุซซี่ออกจากผู้เข้าร่วมกลายเป็นวรวันดาเดียวกัน ผู้เข้าร่วม Umuganda ด้วยกันบางคนเคยประหัตประหารกัน บางคนเคยฆ่าครอบครัวของเพื่อนบ้านที่ร่วมกันทำกิจกรรมนี้ด้วยกัน แต่การเยียวยาที่เป็นทำซ้ำ ๆ ระหว่างกันได้เอาชนะแผลใจพวกนี้ 
 
จนถึงตอนนี้ Umuganda ก็ปฏิบัติต่อเนื่องเข้าสู่ปีที่ 21 แล้ว เป็นการยืนยันว่าการเยียวยาและสร้างความสมานฉันท์จากแผลเป็นที่ยากยิ่งแก่การสมานนี้ได้กลายเป็นวิถีชีวิตของชาวรวันดาทุกคน มันไม่ใช่กิจกรรมสร้างภาพ หรือทำกันเพียงแค่ชั่วครั้งชั่วคราวแล้วล้มเลิกกันไป  

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net