สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ: เหลียวหน้าแลดูอินเดียย้อนมองหลังดูความรุนแรงสามจังหวัดชายแดนใต้

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

Suzanna Arundhati Roy นักเขียนสาวชาวอินเดีย เกิดเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2504 (ปัจจุบันอายุ 58 ปี) ผู้สะท้อนเรื่องจริงของความเหลื่อมล้ำในอินเดีย ได้เขียนหนังสือไว้หลายเล่ม เล่มหนึ่งที่ผมกำลังอ่านคือ Walking with the comrades[1] (เดินไปกับสหาย)

เนื้อหาในช่วงแรกของเล่มนี้ บอกเล่าถึง ความขัดแย้งที่รัฐโอริสสา รัฐยากจนที่ยังมีทรัพยากรสมบูรณ์ มีป่าเขาที่สมบูรณ์ มีเทือกเขานิยามคีรีเป็นเสมือนภูเขาที่สถิตย์ของเทพ เป็นดินแดนของคนพื้นเมืองหลายเผ่า ดินแดนที่รัฐบาลกลางไม่เคยเหลียวแลมาพัฒนา ชนเผ่าพื้นเมืองที่นี่ไม่ได้เข้าถึงการศึกษา ไม่มีบริการสุขภาพ การทำทะเบียนประชากรแห่งรัฐก็ไม่ครอบคลุม ในพื้นที่นี้มีกลุ่มนิยมลัทธิเหมา (เหมาอิสต์) เคลื่อนไหวด้วยกองกำลังติดอาวุธอยู่ด้วย รัฐบาลอินเดียส่งกำลังเข้าปราบ การปราบนั้นใช้วิธีการรุนแรงกับชาวบ้านที่เป็นผู้ต้องสงสัยจำนวนมาก ไล่ชาวบ้านออกจากป่า อีกทั้งรัฐบาลยังให้มหาเศรษฐีอินเดียสัมปทานภูเขานิยามคีรี เพื่อทำเหมืองแร่บ็อกไซท์ ซึ่งเมื่อนำหินไปถลุงจะได้แร่อลูมิเนียมไปขาย ทิ้งตะกอนพิษสีแดงที่ตกค้างกว้างใหญ่เป็นอ่างเก็บน้ำแดงฉานไว้ในแผ่นดิน

ด้วยความรู้สึกที่ไม่เคยได้รับการดูแลจากรัฐบาล ไม่ดูแลยังไม่ว่า นี่รัฐบาลยังมาเอาผืนดินผืนสุดท้ายที่เขามีไปประเคนให้บริษัทขุดเหมืองอีก คนพื้นเมืองจึงเจ็บแค้นเข้าร่วมขบวนการเหมาอิสต์มากขึ้น รัฐบาลอินเดียก็ยิ่งปราบหนักขึ้น แยกแยะน้อยลง เกิดวัฎจักรแห่งหายนะอันเจ็บปวด ยืดเยื้อ และทุกข์ยากต่อเนื่องยาวนาน

สิ่งที่น่าสนใจที่หนังสือเล่มนี้เขียนไว้คือ รัฐบาลอินเดียได้ตั้งกรรมาธิการขึ้นมาชุดหนึ่งเพื่อจัดทำข้อเสนอต่อรัฐบาลเรื่อง การแก้ปัญหากลุ่มก่อการร้ายเหมาอิสต์ ซึ่งเป็นภัยคุกคามทางการเมืองที่ใหญ่ที่สุดของอินเดียในสายตารัฐบาล

คณะกรรมาธิการเสนอประมาณว่า "รัฐบาลควรมองปรากฏการณ์การจับอาวุธขึ้นสู้ของประชาชนว่าเพราะ ประชาชนเขาไม่มีทางเลือกอื่นที่จะเรียกร้องขอความเป็นธรรม ทั้งจากความหิวโหย จากการถูกคุกคามโดยไม่มีความผิด การถูกยึดที่ดินไปทำเหมือง การหลอกลวงให้ความหวังลมๆแล้งมายาวนาน จนชาวบ้านชัดเจนว่า สิ้นหวังกับรัฐในปัจจุบัน การจับอาวุธขึ้นสู้จึงเป็นหนทางเดียวที่เหลืออยู่"

คณะกรรมาธิการนี้ยังเสนอว่า "รัฐบาลควรมองกลุ่มกองกำลังเหมาอิสต์เป็นกลุ่มการเมืองไม่ใช่กลุ่มก่อการร้าย เคารพเขาในฐานะกลุ่มการเมือง ให้ความสำคัญกับการจัดการพูดคุยเจรจา เพื่อยุติปัญหาความไม่เป็นธรรมและความรุนแรงอย่างสิ้นเชิง คิดและคุยร่วมกัน แสวงหาทางออกร่วมอย่างสันติ" แต่ข้อเสนอนี้รัฐบาลอินเดียเก็บไว้บนหิ้ง ยังใช้วิธีปราบหนักเหมือนเดิม จับผิดสิบคนดีกว่าปล่อยฝ่ายตรงข้ามหนีไปได้"

ย้อนมองเรื่องราวจากรัฐโอริสสาของอินเดีย ทำให้นึกถึงสามจังหวัดชายแดนใต้ 15 ปีของเหตุรุนแรงชายแดนใต้ รัฐบาลไทยยังมีจุดยืนการจัดการปัญหาเหมือนรัฐบาลอินเดีย

ที่อินเดีย นอกจากรัฐบาลจะดำเนินการปราบหนักด้วยกำลังทหารแล้ว การใช้อำนาจและกฎหมายเข้าจัดการกับชาวบ้านเพื่อเปิดพื้นที่ให้กลุ่มทุนสามารถเข้าสัมปทานเหมืองแร่และยึดพื้นที่กว้างใหญ่เพื่อทำเกษตรแปลงใหญ่ ยึดน้ำจากที่เดิมเป็นของชุมชนมาเป็นของรัฐด้วยการสร้างเขื่อนและคลองส่งน้ำ ออกกฎหมายออกระเบียบที่ล้วนแต่เอื้อต่อทุนใหญ่ให้ได้รับความสะดวกในการประกอบการ ทุนใหญ่ในอินเดียได้ขับเบียดชุมชนและคนทั่วไปอย่างหนัก สร้างความเดือดร้อนแก่คนเล็กคนน้อยทั่วอินเดีย ด้วยข้ออ้างที่สวยงามว่าเพื่อการพัฒนาเพื่อตัวเลข GDP ของประเทศ แต่แท้จริงคือการคอรับชั่นและผลประโยชน์เฉพาะของชนชั้นนำเป็นสำคัญ

แม้ความขัดแย้งในชายแดนใต้ จะยังไม่ร้าวลึกและเจ็บปวดสองชั้นเช่นในอินเดีย ซึ่งเจ็บปวดจากการถูกรัฐกระทำด้วยความรุนแรงอย่างไม่แยกแยะ และเจ็บปวดจากความไม่เป็นธรรมที่คนชนบทได้รับจากรัฐบาลที่มาแย่งชิงทรัพยากรและที่ดินไปจากเขา[2] แต่เราก็ปล่อยให้บาดแผลความเจ็บปวดในชายแดนใต้เรื้อรังมา 15 ปี และยังมีแนวโน้มจะลากยาวไปอีกนับเท่าตัว

ความขัดแย้งชายแดนใต้ ความจริงก็มีการเจรจากันอยู่ ทั้งในที่ลับและที่แจ้ง[3] แต่เป็นการเจรจาที่ทั้งสองฝ่ายไม่มีความจริงใจในการเจรจา ฝ่ายรัฐบาลเองก็เห็นว่าตนได้เปรียบอยู่มาก จะกี่ระเบิดหรือกี่เหตุความไม่สงบก็ไม่ได้สั่นคลอนรัฐไทยเพราะวิธีการนี้ในสถานการณ์ปัจจุบันนี้ไม่สามารถแบ่งแยกดินแดนได้แล้ว ส่วนฝ่ายขบวนการเองนั้นก็มองการเจรจาเป็นเพียงเวทีสร้างความชอบธรรมให้กับกลุ่ม หวังใช้แรงกดดันจากนานาชาติ เพื่อที่จะกดดันให้รัฐไทยหันมาเจรจาอย่างจริงจัง ทั้งสองฝ่ายจึงยังใช้เวทีการเจรจาพูดคุยเป็นเพียงเกมส์เพื่อรอเวลาที่ตนจะได้เปรียบเท่านั้น คนที่รับความเสี่ยงก็คือประชานในพื้นที่ ที่ไม่รู้ว่าจะมีระเบิดหรือยิงกันตรงไหน ที่ไม่รู้ว่าหมู่บ้านตนเองจะถูกปิดล้อมจับกุมวันไหน

เชื้อไฟที่สำคัญที่สุดของแนวคิดการแบ่งแยกดินแดน หรือการลุกขึ้นสู้ของประชาชนชั้นล่างนั้นคือ ความรู้สึกไม่เป็นธรรมที่ตนและชุมชนได้รับ บทเรียนจากทั่วโลกนั้น การผันชีวิตจากคนทั่วไปมาเป็นนักรบนั้น ต้องมีแรงผลักภายในที่มหาศาล ต้องเปลี่ยนจากคนที่หวังเพียงใช้ชีวิตอย่างคนธรรมดา ยอมหันมาใช้ชีวิตหลบซ่อน ต้องฝึกฝนร่างกายอย่างหนัก ต้องใช้ชีวิตในป่าเขาอย่างยากลำบาก ต้องทิ้งบ้านทิ้งครอบครัว และที่สำคัญต้องยอมที่จะตายเพื่ออุดมการณ์และเส้นทางนักรบที่ตนได้เลือกเดินแล้ว แม้ในอนาคตจะถอยออกมามอบตัว แต่ภยันตรายก็ยังมากมายจนยากที่จะมีชีวิตที่ปกติได้ รัฐจึงมีทางเลือกเพียงสองทาง คือ ยิงหรือจับเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมให้หมด หรือจะผันให้ขบวนการของนักรบเหล่านี้มาต่อสู้ในเวทีการเมือง

ในประเทศไทยก็เคยมีการตั้งคณะกรรมการอิสระขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาไฟใต้ คือคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.) ที่ตั้งขึ้นมาเพื่อวิเคราะห์เสนอแนะการดับไฟใต้เมื่อปี 2548 แต่หลังจากหมดหน้าที่ไปนั้นก็ไม่มีคณะกรรมการเช่นนั้นอีก มีแต่คณะรัฐมนตรีส่วนหน้าที่ไม่สามารถคัดง้างเสนออะไรที่แตกต่างกับรัฐบาลได้ เพราะ ครม.ส่วนหน้าก็คือส่วนหนึ่งของรัฐเอง และมีมุมมองแต่เพียงด้านความมั่นคงที่เป็นตัวปัญหาเสียเองด้วย 

หากมองแบบอินเดีย การมีคณะกรรมาธิการอิสระชุดหนึ่งที่ทุกฝ่ายยอมรับมาจัดทำข้อเสนอแนะเพื่อการดับไฟใต้ ร่วมกับการรณรงค์ในสังคมเพื่อให้เกิดกระบวนการเจรจาที่เข้มแข็งที่คนทั้งสังคมสนับสนุน สร้างกระบวนการยอมรับความจริงต่อกลุ่มขบวนการในฐานะองค์กรที่มีส่วนได้เสียที่ต้องนำเข้ามาในกระบวนการแสวงหาทางออกร่วมกัน รวมทั้งการสร้างความเป็นธรรมในสังคมและปลดเงื่อนไขความไม่เป็นธรรมทั้งปวงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ แม้จะเป็นความหวังริบหรี่ในปลายอุโมงค์ที่พอมีของจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ก็ใช่ว่าจะสิ้นหวัง

ความเจ็บปวดจากการสูญเสียไม่ว่าจะฝ่ายใดก็ไม่ควรเกิดขึ้นอีก จะให้รุนแรงและสูญเสียไปอีกสิบปียี่สิบปีกระนั้นหรือ หากเรามีการตั้งเป้าหมายให้ชายแดนใต้มีสันติภาพมีสันติสุขในสี่ปี คือในรัฐบาลนี้ หนทางที่เหลืออยู่ก็คือการยอมรับคู่เจรจาและดำเนินการเจรจาอย่างจริงจัง เพื่อแสวงหาทางออกที่ดีที่สุดเท่าที่ทุกฝ่ายจะยอมรับได้ ทั้งนี้ คนในพื้นที่ก็ได้แต่หวังว่ารัฐบาลใหม่จะจริงจังและใส่ใจกับการดับไฟใต้ที่ถูกวิธี

ไฟใต้ไม่อาจดับด้วยการใช้อาวุธปืนเข้าจับกุมห้ำหั่นฝ่ายตรงข้าม  ไฟใต้จะดับมอดได้ด้วยการพูดคุยเจรจา นี่คือความจริงที่สังคมไทยและรัฐบาลต้องยอมรับ

 

[1] Roy, A. (2011). Walking with the Comrades. Penguin.

[2] ดูกรณีตัวอย่างกรณีปัญหาสิ่งแวดล้อมเช่น โรงไฟฟ้าถ่านหิน ได้ใน The Standard. (2560).  รื้อปมปัญหา โรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ทำไมชาวบ้านต้องค้านยิบตาhttps://bit.ly/2r7mT8j และกรณีตัวอย่างท่อก๊าซจะนะไทย-มาเลย์ มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม. (2556). มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม. https://bit.ly/2EZxHwV

[3] ดอน ปาทาน. (2018). บทต่อไปของกระบวนเจรจาสันติสุขชายแดนใต้ คืออะไร. สืบค้นจาก https://deepsouthwatch.org/th/node/11582

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท