Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

เรามักเชื่อกันว่า ความรุนแรงในนามศาสนาในประวัติศาสตร์และปัจจุบันเกิดจากการใช้ศาสนาเป็น “เครื่องมือ” เท่านั้น ไม่ได้เกิดจาก “คำสอน” ของศาสนาต่างๆ เพราะคำสอนของศาสนาต่างๆ ล้วนแต่สอนให้มนุษย์มีความรักและเมตตาต่อกัน ไม่มีคำสอนของศาสนาใดๆ สนับสนุนความรุนแรง แต่ก็น่าสงสัยว่าที่เชื่อเช่นนี้เพราะอยากที่จะเชื่อ หรือเพราะศึกษาคำสอนศาสนาอย่างถ่องแท้แล้วจึงเชื่อ

อันที่จริง มนุษย์เราในฐานะเป็นสัตว์โลกประเภทหนึ่งก็ดูเหมือนจะมีความโน้มเอียงที่จะใช้ความรุนแรงต่อกันและสัตว์ประเภทอื่นๆ อยู่แล้ว ประวัติศาสตร์ของมนุษย์คือประวัติศาสตร์ของ “นักล่า” เราล่าสัตว์อื่นๆ มาตั้งแต่ยุคหิน ปัจจุบันเราล่าปลาวาฬ หรือสร้างฟาร์มสัตว์ชนิดต่างๆ ไว้เชือดเป็นอาหารและอุตสาหกรรมพาณิชย์ ขณะเดียวกันเราก็รบกันเองตั้งแต่ใช้ก้อนหิน ท่อนไม้ จนกระทั่งอาวุธนิวเคลียร์ อาวุธชีวภาพและอื่นๆ

ศาสนาคือประดิษฐกรรมทางปัญญาชนิดแรกๆ ที่มนุษย์ใช้อธิบายตัวเองว่า ทำไมเราจึงรุนแรงต่อกันและต่อสัตว์ชนิดอื่นๆ และศาสนาอีกนั่นแหละที่รับรองความชอบธรรมของความรุนแรงอย่างหมดจดงดงามที่สุด

สำหรับความรุนแรงต่อสัตว์ต่างๆ นั้น เรารู้กันอยู่แล้วว่าพระเจ้าสร้างสัตว์และสรรพสิ่งในธรรมชาติให้เป็นสมบัติใช้สอยของเรา ดังนั้น เราจึงมีความชอบธรรมที่จะใช้ความรุนแรงกับสัตว์ทั้งหลาย อย่าตอแหลนะครับว่า พระเจ้าสอนให้เราเมตตาต่อสัตว์ด้วยการใช้มีดคมๆ เชือดมันเป็นอาหาร เพื่อไม่ให้มันทรมาน คุณถามสัตว์ที่ถูกเชือดคอหรือยังว่ามันเคยรู้สึกว่ามันได้รับ “ความเมตตา” อะไรจากคนที่เชือดคอมันไหม?

แต่ทำไมล่ะมนุษย์เราจึงรุนแรงต่อกันและกัน ก็เพราะมนุษย์คู่แรกคืออาดัมกับอีฟขัดคำสั่งของพระเจ้าไปกินผลไม้แห่งความรู้ดีรู้ชั่ว พระเจ้าคงต้องการให้ลูกของพระองค์เป็นเด็กน่ารักบริสุทธิ์ไร้เดียงสาอยู่บนสวรรค์กับพระองค์ชั่วนิรันดร์ แต่ธรรมชาติด้านหนึ่งของเด็กๆ คือความสงสัยใคร่รู้ เมื่อพระบิดาห้ามกินผลไม้ชนิดนั้น ก็ยิ่งกระตุ้นให้อยากรู้ว่ากินแล้วจะเกิดอะไรขึ้น

แต่เมื่อมนุษย์ผู้บริสุทธิ์ไร้เดียงสาทั้งสองทดลองกินผลไม้ต้องห้าม ก็ได้เห็นสัจธรรมว่า ชีวิตที่ได้ลิ้มรสของสิ่งที่เรียกว่า “ดี-ชั่ว” นั้น มันไม่มีอะไรเรียบง่ายราบรื่นอีกต่อไปแล้ว เพราะ “ดี-ชั่ว” ที่ตนกลืนกินเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตได้กลายเป็นความฝันอันงดงาม พร้อมๆ กับเป็นเครื่องมือครอบงำกดขี่ กระทั่งเป็นอาวุธประหัตประหารทำร้ายกันทางกายภาพและฉีกจิตวิญญาณของเราออกเป็นเสี่ยงๆ

โทษทัณฑ์ที่พระเจ้ามอบให้แด่ “ลูกรัก” ของพระองค์ก็คือ “บาปกำเนิด” หรือ “original sin” นี่คือคำตอบว่าทำไมมนุษย์จึงรุนแรงต่อกัน ตั้งแต่ความรุนแรงในครอบครัว ยันการก่อการร้าย สงครามศาสนา สงครามโลก ก็เพราะพระเจ้าได้ใส่ “โปรแกรมบาปกำเนิด” ไว้ภายในมนุษย์ จึงทำให้มนุษย์มีกิเลสตัณหาและกระทำสิ่งชั่วร้ายต่างๆ นานา มนุษย์ไม่มีทางที่จะมีอิสรภาพจากบาปได้ ยกเว้นว่าเขาสำนึกบาป หันมาศรัทธาเชื่อฟังพระเจ้าอย่างสุดจิตสุดใจ และได้รับการอภัยบาปจากพระองค์

แล้วทำไมพระเจ้าจึงลงโทษมนุษญ์ด้วยบาปกำเนิดที่ร้ายแรงเช่นนั้น ก็เพราะพระองค์ “ทรงเปี่ยมล้นด้วยพระเมตตาสูงสุด” ต่อมนุษย์ไงครับ นี่ก็คือตรรกะเดียวกับ “รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี” เพราะผู้ที่รักเราอย่างที่สุดเท่านั้นจึงสมควรใช้ความรุนแรงกับเรา จริงไหมครับ? เด็กชนบทรุ่นผมคงจำ “รสไม้เรียว” จากคนที่รักเราได้ดี ผมจำได้ว่าเมื่อแม่ผมเงื้อไม้เรียวสุดแขน แต่เวลาฟาดลงแม่ก็ผ่อนมือให้พอรู้ว่าเจ็บเพื่อให้จำ แต่ครูที่อ้างความรักในฐานะ “พ่อแม่คนที่สอง” เขามักจะฟาดไม้เรียวลงแบบไม่ยั้งมือ ทว่าสำหรับพระเจ้าผู้ทรงเปี่ยมด้วยพระเมตตาสูงสุดนั้น พระองค์ฟาด “ไม้เรียวบาปกำเนิด” ลงมาที่จิตวิญญาณของเราอย่างสุดแรง ทำให้มนุษย์เราต้อง “ติดกับดักบาปกำเนิด” และกระทำสิ่งชั่วร้ายสารพัดต่อกันและกันอย่างที่เห็นมาตลอดประวัติศาสตร์ แม้แต่บุตรของพระเจ้าหรือพระเจ้าในร่างมนุษย์(?)อย่างพระเยซูก็ต้องรับโทษทัณฑ์จากการถูกตรึงกางเขนสังเวยบาปของมนุษย์  

เราไม่สามารถจะจินตนาการถึง “ความรู้สึก” ของพระเจ้าได้เลยว่า ด้วยพระเมตตาเปี่ยมล้นพระองค์ทรงรู้สึกเช่นไร เมื่อเห็นบรรดาลูกๆ ของพระองค์เข่นฆ่ากัน ทำสงครามกันด้วยอานุภาพของบาปกำเนิดที่พระองค์ลงทัณฑ์ เพียงเพราะเด็กไร้เดียงสาสองคนแอบกินผลไม้ด้วยความอยากรู้อยากเห็นประสาเด็กๆ เท่านั้นเอง

หรือคิดอีกอย่างว่า หากพระเจ้าทรงเป็น “สัพพัญญู” หรือทรง “รู้ทุกอย่าง” พระองค์ย่อมจะรู้อยู่แล้วว่าอาดัมกับอีฟต้องแอบทำผิดคำสั่งและต้องรับโทษทัณฑ์ ในฐานะผู้ทรงปัญญาฉลาดสูงสุด พระองค์จะสั่งห้ามอะไรทั้งๆ ที่รู้ว่าคนรับคำสั่งจะไม่ทำตามคำสั่งเลยไปทำไม แต่ก็นั่นแหละ มนุษย์อย่างเราๆ ไหนเลยจะสามารถเข้าใจความรักและสติปัญญาอันสูงสุดของพระเจ้าได้

สมมติว่าเราเชื่อว่า เรื่องที่ว่ามาเป็นเพียงนิทานเหลวไหล แต่ศาสนาก็ไม่ใช่เพียงบอกว่า “จงเชื่อ” ในคำสอนนั้นๆ หากศาสนายังอ้างว่ามี “บัญชาสวรรค์” ที่มนุษย์ต้องสร้างสังคมและการเมืองให้เป็นไปตามแผนการของพระเจ้า ดังนั้น จึงต้องมีกษัตริย์ที่ใช้อำนาจเทวสิทธิ์ของพระเจ้าปกครองอาณาจักรทางโลก และศาสนจักรใช้อำนาจเทวสิทธิ์ปกครองอาณาจักรทางจิตวิญญาณ หรือควบคุมความเชื่อของมนุษย์ให้ดำเนินไปในวิถีแห่งศรัทธาต่อพระเจ้า ยุคกลางที่สังคมยุโรปถูกปกครองให้เป็นไปตามแผนการของพระเจ้า บรรดา “คนนอกรีต” ย่อมสมควรจะถูกแขวคอ เผาทั้งเป็น ท่ามกลางเสียงประณามสาปแช่งของสาธารณชน นี่นับว่าเป็นโทษที่เบามากแล้วหากเทียบกับโทษทัณฑ์ที่จะได้รับจากพระเจ้าผู้ทรงเมตตา นั่นคือ ความทุข์ทรมานในไฟนรกชั่วนิรันดร์

บางคนอาจบอกว่านั่นเป็นประวัติศาสตร์ของยุโรป สังคมศาสนาตะวันออกเราหาได้รุนแรงเช่นนั้นไม่ แต่ที่จริงคือ พระพรหมหรือพระเจ้าของชาวตะวันออกสร้างระบบวรรณะสี่อันเป็นระบบกดขี่ที่รุนแรงมาก หนึ่งในววรณะสี่คือ “ศูทร” ที่เป็นชนชั้นทาส หนักกว่าทาสคือ “จัณฑาล” ที่เป็นคนนอกวรรณะน่ารังเกียจยิ่งกว่าเศษสวะ กฎหมายธรรมศาสตร์ของพระเจ้านั้นกำหนดวิธีลงโทษที่ทารุณโหดร้ายมาก เช่น คนวรรณะศูทรปลอมตัวเป็นพราหมณ์ไปเรียนคัมภีร์พระเวทย์ หากจับได้จะถูกเลื่อยลำตัวขาดเป็นสองท่อน หากแอบสาธยายพระเวทย์จะถูกเอาน้ำทองแดงต้มเดือดกรอกปากหรือตัดลิ้น

ระบบศักดินา เจ้าขุนมูลนาย ไพร่ ทาสในรัฐพุทธศาสนานั้นก็ถูกให้ความชอบธรรมด้วยความเชื่อเรื่องบุญกรรมที่ทำมาไม่เท่ากัน คำบรรยายในไตรปิฎกพูดถึงคนชั่วที่ถูกลงโทษโดยพระราชาชาด้วยการเฆี่ยน ตัดมือ ตัดศีรษะเสียบประจานสี่ทิศ นับว่าเป็นโทษเพียงเล็กน้อยหากเทียบกับโทษทัณฑ์ที่ต้องได้รับอย่างแน่นอนในนรก และคำบรรยายวิธีลงโทษสัตว์นรกได้ถูกนำมาใช้ในการบัญญัติกฎการลงโทษและออกแบบคุกในรัฐพุทธศาสนาแม้ในยุค “ธรรมราชา” ผู้เรืองนามอย่างยุคอโศก

ประเด็นคือ การปกครองแบบใช้อำนาจเด็ดขาด (despotism) ในรัฐต่างๆ ยุคโบราณและยุคกลางมันย่อมมีการดกขี่และความรุนแรงอยู่แล้ว แต่ศาสนามีท่าทีอย่างไร ก็อาจเป็นไปได้ว่าจะมีบุคคลทางศาสนาบางคนไม่เห็นด้วยกับความรุนแรงเหล่านั้น แต่ถ้าความรุนแรงเหล่านั้นเกิดขึ้นในนามอำนาจเทวสิทธิ์ของกษัตริย์ ศาสนจักร ธรรมราชา พระโพธิสัตว์ พระพุทธเจ้าอยู่หัว เราก็คงไม่สามารถจะเข้าใจเป็นอื่นไปได้นอกจากเข้าใจว่าความรุนแรงเหล่านั้นเกิดจาก “พระเมตตา” ของพระเจ้า และความกรุณาปราณีของบรรดาผู้ปกครองที่ใช้อำนาจในนามของพระเจ้า, ธรรม หรือความเชื่อทางศาสนาแบบอื่นๆ ในยุคที่ศาสนาไม่แยกจากรัฐ

ทุกวันนี้บ้านเรายอมรับหลักการที่ว่า “ครูไม่คววรตีเด็ก” เพราะความคิดเรื่อง “สิทธิ” เข้ามาแทนที่ความคิดอำนาจนิยมในนามความรักแบบ “รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี” มากขึ้น ขณะเดียวกันการปกครองแบบ “ลัทธิพ่อปกครองลูก” (paternalism) ก็ผ่านประวัติศาสตร์ของการถูกปฏิเสธโดยปรัชญาเสรีนิยมมาก่อน เช่น คานท์ (Immanuel Kant) มองว่า การปกครองเผด็จการแบบพ่อปกครองลูก ที่ผู้ปกครองอ้างความรักความเมตตาปกปักรักษาผู้ใต้ปกครองนั้นมันคือ “ระบบเผด็จการอาญาสิทธิ์ที่เลวร้ายที่สุดเท่าที่เราจะสามารถจินตนาการไปถึงได้”[i] เพราะมันปฏิบัติต่อผู้ถูกปกครองเสมือนเป็น “ผู้อ่อนเยาว์ไร้ดียงสา” ที่ไม่สามารถจะตัดสินใจด้วยตนเองได้ว่า อะไรคือสิ่งที่ดีสำหรับชีวิตตนเองและอะไรคือความยุติธรรมทางสังคม ทั้งนี้เพราะผู้ปกครองผูกขาดอำนาจในการบอกว่าอะไรดีไม่ดี ยุติธรรมไม่ยุติธรรม มวลประชาชนผู้จงรักภักดีจึงได้แต่ต้องเชื่อฟังและเฉื่อยเนือย เพราะเขาเหล่านั้นถูกครอบงำไม่ให้ตระหนักว่า ตนเองควรจะมีสิทธิและเสรีภาพที่เท่าเทียมในการจัดการกับชีวิตของตนและเรื่องสาธารณะต่างๆ อย่างไร

ศาสนาลดบทบาทในการกดขี่และความรุนแรงลงไปได้ ในแง่หนึ่งเพราะเกิดการตีความ “พระเจ้า” ในความหมายใหม่ เช่น พระเจ้าในทัศนะของล็อค (John Locke) ไม่ใช่พระเจ้าผู้ใส่ “โปรมแกรมบาปกำเนิด” ไว้ในธรรมชาติของมนุษย์ แต่คือพระเจ้าผู้ใส่ “โปรแกรมสิทธิเท่าเทียม” ไว้ในธรรมชาติของมนุษย์ พระองค์มีเจตจำนงให้มนุษย์มีสิทธิและเสรีภาพ และมอบให้เป็น “หน้าที่” ของมนุษย์ในการปกปักรักษาสิทธิและเสรีภาพของตนเอง มอบสิทธิและหน้าที่ดังกล่าวเสร็จแล้ว พระองค์ก็ไม่มายุ่งเกี่ยวกับสังคมการเมืองของมนุษย์อีกเลย เพราะพระองค์ถือว่ามนุษย์ที่รู้จักว่าตนเองมีสิทธิและเสรีภาพคือคนที่ “โตแล้ว” สามารถปกครองตัวเองได้แล้ว ไม่ใช่ “ลูกแหง่” ที่คอยแต่เรียกหาพ่อ(พระเจ้า) และอ้างพ่อมาทะเลาะทำร้ายกันอีกต่อไป

ส่วนคานท์ได้ปลดล็อก “บาปกำเนิด” ของพระเจ้า ด้วยการกำหนดตำแหน่งแห่งที่ของ “ความเป็นมนุษย์” กับ “พระเจ้า” เสียใหม่ ทำให้อำนาจของพระเจ้าเอง, ศีลธรรมของพระเจ้า, อำนาจเทวสิทธิ์ของกษัตริย์และศาสนจักรในนาของพระเจ้าเอื้อมไม่ถึงอิสรภาพของมนุษย์ได้อีกต่อไป

กล่าวคือ คานท์เสนอว่า ความเป็นมนุษย์ในฐานะ “สัตผู้มีเหตุผล (rational being) อิสรภาพ และศักดิ์ศรีในตัวเองเสมอภาคกัน” นั้น เป็น “ภาวะที่มีคุณค่าในตัวเอง” และเป็นภาวะนิรันดร์ที่ไม่ได้ถูกสร้างขึ้นโดยพระเจ้า ดังนั้น มนุษย์จึงเป็นอิสระจากอำนาจของพระเจ้าอย่างสิ้นเชิง แต่เมื่อภาวะนิรันดร์ของความเป็นมนุษย์ดังกล่าวเป็นไปได้ในเชิงเหตุผล (คือไม่ได้ขัดกับหลักเหตุผลที่เราจะเชื่อเช่นนั้น หรืออันที่จริงเหตุผลต่างหากที่บอกว่าเราจำเป็นต้องเชื่อเช่นนั้น) พระเจ้าที่เป็นภาวะนิรันดร์ก็ย่อมจะมีอยู่จริงได้เช่นกัน แต่ถึงตอนนี้พระเจ้ากับมนุษย์ก็ต่างคนต่างอยู่เสียแล้ว ไม่มีใครมีอำนาจแทรกแซงใครอีก

ดังนั้น มนุษย์จึงไม่อาจใช้ความรุนแรงในนามของพระเจ้าหรือในนามของศาสนาใดๆ ได้อีก เพราะเมื่อมนุษย์เป็นอิสระจากพระเจ้า ก็ไม่มีการใช้อำนาจศีลธรรมในแบบที่ใช้เป็นเครื่องมือแสดงความเคารพและปกป้องพระเจ้าด้วยความรุนแรงและการกดขี่ได้อีก และไม่มีศีลธรรมแบบศาสนาอื่นๆ ที่ใช้เป็นเครื่องมือทำสิ่งชั่วร้ายใดๆ ได้อีก เพราะเมื่อเรายืนยันความเป็นมนุษย์ที่มีเหตุผล อิสรภาพ และศักดิ์ศรีในตัวเองเสมอภาคกัน ศีลธรรมที่เราจำเป็นต้องมี ก็คือศีลธรรมที่ถือเป็นหน้าที่ต้องกระทำการใดๆ บนการเคารพสิทธิ เสรีภาพ ศักดิ์ศรีในตัวเองของเราและทุกคนเสมอกันเท่านั้น ในฐานะที่คุณค่าพื้นฐานดังกล่าวนี้เป็น “สิ่งมีคุณค่าในตัวมันเอง” ไม่ใช่สิ่งที่จะเป็น “เครื่องมือ” หรือ “วิถี” (means) ตอบสนองความต้องการหรือเป้าหมายอื่นใด

เมื่อเราไม่ใช้ศีลธรรมเป็น “เครื่องมือ” เชิดชูตัวบุคคล (ตัวเราเอง หรือผู้ปกครองและอื่นๆ), เป็นเครื่องมือรับใช้พระเจ้า, ตอบสนองประโยชน์, ความสุขส่วนตัว หรือส่วนรวมใดๆ โอกาสที่จะใช้ศีลธรรมไปในทางละเมิดสิทธิ เสรีภาพ ศักดิ์ศรีและความเสมอภาคของมนุษย์ เพื่อบรรลุเป้าหมายหรือตอบสนองความต้องการนั้นๆ ก็ถูกตัดทิ้งไป

ความคิดเช่นนี้คือรากฐานของการ “แยกศีลธรรมสากลออกจากศีลธรรมแบบศาสนา” และ “แยกศาสนาจากรัฐ” เมื่อแยกศาสนาจากรัฐ ประชาชนที่ลงเล่นการเมืองหรืออภิปรายถกเถียงในเรื่องสาธารณะใดๆ ก็ไม่ต้อง “เผชิญหน้ากับพระเจ้า” หรืออำนาจผู้ปกครองและศาสนจักรในนามของพระเจ้า ในนามของธรรม พระโพธิสัตว์เป็นต้นอีกต่อไป เมื่อไม่ต้องเผชิญหน้าเช่นนั้น ก็ไม่ถูกกล่าวหา ใส่ร้าย โจมตี ทำลายกันและกันไม่จบสิ้นด้วยวาทกรรม “ไม่จงรักภักดี” ต่อพระเจ้าหรือชนชั้นปกครองที่มีสถานะและอำนาจที่ถูกสถานปนาขึ้นด้วยความเชื่อทางศาสนาใดๆ อีกต่อไป

เมื่อเป็นเช่นนี้ เรื่องการเมืองหรือเรื่องสาธารณะ ก็ย่อมมีทางเป็นไปได้ที่มันจะดำเนินไปอย่างเป็นธรรมบนหลักการแห่งสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาคในฐานะที่เราทุกคนเป็น “คนเท่ากัน” ได้ การกดขี่และความรุนแรงในนามความเชื่อทางศาสนา ศีลธรรมแบบศาสนา หรืออำนาจในนามศาสนาใดๆ ก็จะจางคลายไป เราทุกคนก็จะได้มี “ความเป็นคน” กันจริงๆ เสียที ไม่ใช่ถูกปฏิบัติเยี่ยงสัตว์เลี้ยงในฟาร์มของกลุ่มชนชั้นผูกขาดอำนาจที่อุปโลกน์กันขึ้นมาเองใดๆ ที่ไม่ได้มาจากความยินยอมของประชาชนอีกต่อไป   

 

 

อ้างอิง

[i] ดู เกษียร เตชะพีระ (แปล), เสรีนิยมกับประชาธิปไตย, (กรุงเทพฯ: โครงการจัดพิมพ์คบไฟ, 2558), 25.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net