‘นักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง’ ชี้ ‘รัฐเถื่อน’ 3 ระดับ กดขี่ด้วย กม.จนถึงทำร้ายนักกิจกรรมการเมือง

อนุสรณ์ อุณโณ ระบุรัฐไทยเถื่อนขึ้นทุกวัน ทั้งในแง่การออกกฎหมาย เนื้อหากฎหมาย และการใช้กำลังรุนแรงต่อนักกิจกรรม เป็นความรุนแรงที่มีแบบแผน ผู้กระทำได้รับการฝึกฝน ชี้เป้าใครได้ประโยชน์ที่สุดจากการใช้ความรุนแรงอาจเป็นผู้สั่งการณ์

อนุสรณ์ อุณโณ จากเครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (คนส.)

5 ปีของการดำรงอยู่ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เกิดการข่มขู่ คุกคาม ทำร้ายร่างกายนักกิจกรรมทางการเมืองหลายครั้ง โดยแทบทั้งหมดไม่สามารถจับกุมตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษได้ นี่เฉพาะนักกิจกรรมในประเทศเท่านั้น ส่วนผู้ที่ลี้ภัยการเมืองไปอยู่ในประเทศเพื่อนบ้าน บางส่วนถูกบังคับให้สูญหาย

เราคงบอกไม่ได้ว่าเป็นฝีมือของใคร แต่พอจะเห็นได้ว่าภาวการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ ใครได้ประโยชน์

อนุสรณ์ อุณโณ จากเครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (คนส.) เรียกภาวะที่เกิดขึ้นว่า ‘รัฐเถื่อน’ เขามีข้อสังเกตต่อการทำร้ายนักกิจกรรมทางการเมืองว่า

ความรุนแรงที่มีแบบแผน

“ผู้กระทำมักทำกับบุคคลที่ไม่มีสถานะที่จะปกป้องคุ้มครองหรืออยู่ในช่วงวัยที่ไม่มีเครือข่ายความสัมพันธ์ที่จะหนุนหลังได้ แบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนที่ไม่มีสถานะทางสังคม อาจจะเป็นกลุ่มชายขอบหรือปริ่ม แต่ไปอยู่แถวหน้าและท้าทายอย่างแหลมคมก็จะโดน นอกจากจะมีการข่มขู่คุกคาม ยังมีการดำเนินคดีด้วย แต่ระยะหลังมีลักษณะการใช้กำลังมากขึ้น ซึ่งกรณีของคุณเอกชัย หงส์กังวาน เป็นตัวอย่างที่ชัดที่สุด เพราะคุณเอกชัยอาจจะเป็นนักกิจกรรมชายขอบ โดนข่มขู่ คุกคาม และทำร้ายมาตามลำดับ หรือกรณีของคุณฟอร์ด เส้นทางสีแดง (อนุรักษ์ เจนตวนิชย์) จริงๆ อาจจะมีเครือข่ายกว้างกว่าหรือเป็นกลุ่มเป็นก้อนกว่าเมื่อเทียบกับคุณเอกชัยซึ่งเคลื่อนไหวในนามตัวบุคคลเป็นส่วนใหญ่

“แต่ในระยะหลังที่คุณฟอร์ดทำกิจกรรมที่คาบเกี่ยวกับการขึ้นสู่อำนาจของ คสช. ก็ถูกเพ่งเล็งมากขึ้น ซึ่งกรณีของคุณเอกชัยและคุณฟอร์ดมีความคล้ายคลึงกันคือดำเนินการโดยบุคคลเป็นกลุ่ม มีลักษณะเป็นชายฉกรรจ์ ก่อนหน้านั้น กรณีเอกชัยบุคคลที่เข้ามาทำร้ายเป็นวัยรุ่น จิ๊กโก๋ แต่ระยะหลังกลุ่มบุคคลที่มาจะเป็นลักษณะชายฉกรรจ์ กำยำ และได้รับการฝึกฝนมาอย่างดี มันมีแนวโน้มที่จะใช้คนที่สังกัดกลุ่มหรือองค์กรอะไรมากขึ้น ไม่ใช่กลุ่มวัยรุ่นเหมือนเมื่อก่อนแล้ว และเมื่อมาถึงก็จะใช้กำลังทันที เช่นเดียวกับกรณีล่าสุดของคุณฟอร์ดก็มีลักษณะเดียวกันคือเป็นชายฉกรรจ์ เราจะเห็นรูปแบบที่คล้ายคลึงกัน

“กับอีกกลุ่มหนึ่งกรณีที่เป็นนักศึกษา ในแง่หนึ่งอาจจะมีพลัง เป็นกลุ่มเป็นก้อน แต่ในแง่เครือข่ายที่จะคอยปกป้องคุ้มครอง มันไม่มี จะว่าไปถ้าหลุดไปจากเพื่อนฝูงที่ทำกิจกรรม ก็จะอยู่เป็นลำพังเป็นส่วนใหญ่ กรณีนี้เราพบตั้งแต่กรณีของจ่านิว นานมากแล้ว สมัยที่จ่านิวยังเป็นนักศึกษาอยู่ มีอยู่คืนหนึ่งระหว่างเดินอยู่ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต ก็มีรถตู้พร้อมชายฉกรรจ์อุ้มขึ้นรถตู้ ใช้ผ้าปิดตา แล้วไปปล่อยในที่อีกแห่ง ถือเป็นความคุกคามอย่างรุนแรงมาก แล้วมาเกิดขึ้นอีกในช่วงที่การเมืองคุกรุ่น คสช. กำลังจะสืบทอดอำนาจ ทำให้นักศึกษาขึ้นมาแถวหน้าเยอะ เราจะเห็นกรณีความรุนแรงที่มีต่อจ่านิวคล้ายคลึงกับคุณเอกชัยและคุณฟอร์ด เราจะเห็นแบบแผนความรุนแรงคล้ายคลึงกัน ประกอบด้วยกลุ่มชายฉกรรจ์ 4-5 คน มาถึงก็รุมทำร้ายเลย

“นอกจากจ่านิวแล้ว เท่าที่ทราบก็มีนักศึกษาคนอื่นๆ อีกที่ออกมาแถวหน้าและถูกคุกคาม กรณีที่ชัดที่สุดคือเพนกวิน (พริษฐ์ ชิวารักษ์) ที่เผยแพร่บทสนทนาทางโทรศัพท์ที่กลุ่มบุคคลประกาศอย่างชัดเจนว่าจะดำเนินการอย่างไร หรือกรณีที่อดีตแกนนำ กปปส. โพสต์ข่มขู่ คุกคามว่าจะทำร้ายร่างกาย เราจะเห็นการกลับมาของความรุนแรงซึ่งหน้าโดยไม่กลัวเกรงกฎหมายบ้านเมืองแต่อย่างใดค่อนข้างจะหนาแน่นขึ้นในช่วงที่ผ่านมา”

การขจัดให้สูญสิ้นไป

“คนที่ถูกความรุนแรงเช่นนี้คือกลุ่มบุคคลที่เห็นต่างทางการเมืองหรือกระด้างกระเดื่องต่อผู้ยึดอำนาจ ในแง่ของพฤติการณ์หรือสิ่งที่คนเหล่านี้ทำแล้วต้องประสบก็อาจจะคล้ายคลึงกัน เพียงแต่กลุ่มคนเหล่านั้นอาจจะนำเสนอความคิดหรือรูปแบบวิธีการที่ท้าทายและหมิ่นเหม่กับประเด็นทางกฎหมายที่จะถูกเล่นงานได้ ก็เลยจำเป็นต้องอัปเปหิตัวเองออกไปจากประเทศนี้ เปรียบเทียบกับกลุ่มคนที่เราพูดถึงเมื่อสักครู่ ในแง่หนึ่ง คนเหล่านี้ไม่ได้กระทำการใดๆ ที่ผิดกฎหมายปกติ เมื่อเป็นเช่นนี้จึงถูกใช้วิธีการนอกรีตและไม่มีคนรับผิดชอบ

“อย่างไรก็ดี เราจะเห็นชะตากรรมที่คนเหล่านี้ต้องประสบขณะอยู่ต่างประเทศ การไล่ล่า คุกคาม ก็ยังคงเกิดขึ้น เพียงแต่มันไม่ใช่การใช้ความรุนแรงข่มขู่ให้หวาดกลัว แต่เป็นการขจัดให้สูญสิ้นไป ผมคิดว่าเป้าหมายไม่เหมือนกันระหว่างคนที่อยู่ต่างประเทศกับคนที่อยู่ในประเทศ”

ข่มขู่ไม่ให้เกิดความกระด้างกระเดื่อง

“มันเป็นการขู่ไม่ให้คนอื่นที่คิดจะกระทำตามลุกขึ้นมากระด้างกระเดื่อง ตรงนี้เป็นวิธีการนอกรีต ถ้าเป็นคนที่มีอำนาจทำ ก็คือวิธีการที่มีอยู่ ช่องทางปกติ หรือช่องทางทางกฎหมายไม่สามารถระงับยับยั้งการต่อต้านท้าทายนี้ได้ จึงต้องใช้วิธีการนอกรีตเช่นนี้ ไม่อยากใส่ความโดยไม่มีหลักฐาน แต่มันพอที่จะอนุมานได้ระดับหนึ่งว่าต้องเป็นกลุ่มบุคคลที่มาจากองค์กรหรือหน่วยงานซึ่งมีคนของตัวเองที่ได้รับการฝึกฝนมาเพื่อการนี้เป็นการเฉพาะ แล้วปกติก็มีหน้าที่ในลักษณะคล้ายคลึงกันนี้ คงมองไปได้ยากว่าถ้าเป็นบุคคลทั่วไปซึ่งไม่ได้มีความขุ่นข้องหมองใจกันจะต้องมาใช้วิธีการแบบนี้

“ถ้ามองว่าใครจะเป็นผู้ได้ประโยชน์ที่สุดจากการกระทำเช่นนี้ ทำให้คนที่ท้าทายเกิดความหวาดกลัวและพลอยทำให้คนอื่นหวาดกลัวไปด้วย ถ้ามองตรงนี้ก็คงไม่พ้นจากคนที่มีอำนาจในตอนนี้ เพียงแต่คนที่ได้ประโยชน์ที่สุดตอนนี้ปฏิเสธความรับผิดชอบ รวมถึงยังไม่สามารถหาความโยงใยไปได้ แม้ว่าในฐานะของคนที่ได้ประโยชน์ก็ดี แบบแผน หรือคนที่มีศักยภาพจะทำได้ มันหนีไม่พ้นที่จะมองไปจุดนั้น”

รัฐเถื่อน

“ผมคิดว่ารัฐไทยมีลักษณะที่เถื่อนขึ้นเรื่อยๆ ทั้งในแง่ในการออกกฎหมาย ตั้งแต่ขั้นตอนและกระบวนการที่ผิดหลักนิติวิธี การใช้มาตรา 44 เป็นต้น สองคือโดยตัวเนื้อหาของมันเองมีลักษณะกดขี่ผู้คน โดยเฉพาะประชาชนที่ควรจะมีสิทธิมีเสียงในการแสดงออกทางการเมืองก็ถูกจำกัดลงไปเรื่อยๆ รัฐเถื่อนประการที่ 3 ก็คือแม้จะมีกฎหมายก็แล้ว มีอาวุธยุทโธปกรณ์ครบมือก็แล้ว กับกลุ่มคนที่ไม่สามารยับยั้งได้ก็จะใช้วิธีการนอกรีตอย่างที่เราเห็น มันก็เป็นรัฐเถื่อนใน 3 ระดับด้วยกัน เป็นปรากฏการณ์ของรัฐเถื่อนซึ่งไม่น่าอภิรมย์เลยสำหรับประชาชนที่ไม่ควรต้องเจอกับรัฐเถื่อนหรือรัฐอันธพาลเหล่านี้

“ผมคิดว่านักกิจกรรมต้องพยายามยืนอยู่ในที่สว่างให้มากที่สุด อย่าพาตัวเองเข้าไปในมุมอับ กิจกรรมทั้งหลายที่ทำถ้าจะท้าทายก็ท้าทายบนหลักการ และดึงประเด็นที่ตัวเองทำให้เป็นที่ตระหนักของสาธารณะให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ผมเชื่อว่ารัฐต่อให้เถื่อนขนาดไหน แต่ถ้าเผชิญหน้าในที่สาธารณะ คนทั่วไปรับรู้ ผมว่าเขาจะต้องมีความยับยั้งชั่งใจ

“เนื่องจากตอนนี้เป็นรัฐเถื่อนมาก เราคงไม่สามารถกดดันอะไรได้มากไปกว่านี้ นอกจากรัฐเถื่อนที่ไม่ยี่หระแล้ว เราก็ไม่มีพยานหลักฐานอะไร ที่จะไปปรักปรำเขาได้ เพราะฉะนั้นผมคิดว่าในแง่การเรียกร้องจากรัฐค่อนข้างเปล่าประโยชน์ แต่สิ่งที่เราจะทำซึ่งน่าจะเป็นแรงกดดันต่อรัฐเถื่อนให้ประพฤติตัวดีขึ้นอย่างหนึ่งก็คือการไปพูดคุยหรือเรียกร้องกับองค์กรระหว่างประเทศหรือยูเอ็น ตอนนี้เรามีแผนว่าวันพุธที่ 12 นี้ พวกเราจะเดินทางไปพบ OHCHR (สำนักงานคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ: Office of the United Nations High Commissioner for Human Rights) ซึ่งดูแลเรื่องสิทธิเสรีภาพของประชาชน อาจรวมไปถึง UNHCR (สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ: United Nations High Commissioner for Refugees)ในกรณีของผู้ลี้ภัยในต่างประเทศและถูกไล่ล่าในตอนนี้ อย่างน้อยที่สุดอยากให้องค์กรเหล่านี้ยื่นมือเข้ามาหารือกระตือรือร้นมากขึ้นในการดูแลสิทธิเสรีภาพของผู้คน เพราะภายใต้รัฐที่ไม่เห็นหัวคนและพยายามจะกดขี่ ลิดรอน สิทธิเสรีภาพของผู้คน เราคงจะไม่สามารถเรียกร้องอะไรจากรัฐประเภทนี้ได้”

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท