Skip to main content
sharethis

    เนื่องจากประเทศอังกฤษเลิกใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพไปตั้งแต่ ค.ศ. 1848 ตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เดนนิส สกินเนอร์ ส.ส. พรรคแรงงาน อายุ 87 ปี (เกิดปี ค.ศ. 1932 ปีที่รายงานข่าว ค.ศ. 2019) จึงสามารถวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ของอังกฤษได้อย่างอิสระ และล้อเลียนพระราชินีในพิธีเปิดสภามาได้ตลอด 38 ปี จนความริเริ่มของเขาแทบจะกลายเป็นประเพณีใหม่ไปแล้ว ส.ส. 13 สมัยซ้อนผู้นี้พยายามเรียกร้องให้อังกฤษเป็นสาธารณะรัฐมาทั้งชีวิต แต่ดูเหมือนสถาบันกษัตริย์ของอังกฤษจะไม่ได้สั่นคลอนเลยแม้แต่น้อย

    ประเทศอังกฤษปกครองมีขนบวัฒนธรรมเกี่ยวกับรัฐสภาที่สืบทอดมายาวนานหลายร้อยปี อย่างที่สำนักข่าวบีบีซีไทยได้เคยนำเสนอธรรมเนียมแปลก ๆ ไปบ้างแล้ว แต่เดนนิส เอ็ดเวิร์ด สกินเนอร์ (Dennis Edward Skinner) ส.ส. พรรคแรงงานตัวแสบของอังกฤษได้ริเริ่มประเพณีใหม่ขึ้นอีก นั่นคือ การพูดล้อเลียนพระราชินีอลิซาเบ็ธที่ 2 ในพิธีเปิดสภาที่พระราชวังเวสต์มินสเตอร์เป็นประจำเกือบทุกปี ปัจจุบันการล้อเลียนราชินีของเดนนิส สกินเนอร์แทบจะกลายเป็นธรรมเนียมใหม่ของรัฐสภาแล้ว เนื่องจากเขาชนะเลือกตั้งได้เป็น ส.ส. ถึง 13 สมัยและล้อเลียนพระราชินีในพิธีเปิดสภามากว่า 38 ปี

    เดนนิส สกินเนอร์

    ปกติแล้ว รัฐสภาอังกฤษจะจัดพิธีเปิดสภาประจำปีในช่วงเดือนพฤษภาคม โดยสมเด็จพระราชินีอลิซาเบ็ธจะเสด็จมายังรัฐสภาเพื่อกล่าวสุนทรพจน์ จากนั้น คนที่มีตำแหน่งเรียกว่าแบล็ค ร็อด (Black Rod) ซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากสภาขุนนาง (House of Lords) ให้เป็นผู้ดูแลกิจการต่าง ๆ ในห้องประชุมของสภาขุนนาง จะเดินมายังห้องประชุมสภาผู้แทนราษฎร (House of Commons) เพื่อเรียกผู้แทนที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนไปฟังสุนทรพจน์เปิดสภาของพระราชินี ซึ่งรัฐบาลจากการเลือกตั้งเป็นผู้ร่างบท

    ตอนนี้เองที่พิธีการแปลก ๆ เริ่มถือกำเนิดขึ้น ทุก ๆ ปี ขณะที่แบล็คร็อดเดินเข้าไปที่ห้องประชุมสภาผู้แทนราษฎรในฐานะผู้เป็นธุระให้พระราชินี ส.ส. จะปิดประตูใส่หน้าแบล็คร็อด จากนั้น แบล็คร็อดจะต้องใช้ไม้เท้าประจำตำแหน่งเคาะประตูห้องประชุมสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมด 3 ครั้ง ส.ส. ถึงจะยอมเปิดประตูให้แบล็คร็อดเข้ามาพูดเชิญสมาชิกสภาผู้ทรงเกียรติไปฟังสุนทรพจน์ของพระราชินี พิธีการในช่วงนี้ มีไว้เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ที่กษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 1 กระทำการขัดรัฐธรรมนูญด้วยการนำทหารบุกเข้าสภาเพื่อจับกุม ส.ส. 5 คนในปี ค.ศ. 1642 แล้วถูก ส.ส. ปิดประตูใส่หน้า ต่อมาการปิดประตูใส่แบล็คร็อดจึงเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงให้เห็นว่าอำนาจของ ส.ส. ที่มาจากการเลือกตั้งเป็นอิสระจากการแทรกแซงของสถาบันกษัตริย์และขุนนาง

    ประเพณีปิดประตูใส่หน้าแบล็กร็อดในพิธีเปิดสภา
    ที่มา: Royal Family Channel

    อย่างไรก็ตาม ใน ค.ศ. 1980 พิธีการที่ว่านี้ได้หยุดชะงักลงชั่วขณะ เนื่องจากเดนนิส สกินเนอร์ และ ส.ส. พรรคแรงงานอีกจำนวนหนึ่งไม่ยอมเปิดประตูสภาให้กับแบล็คร็อด ทั้งที่แบล็ดร็อกใช้ไม้เท้าเคาะประตูครบ 3 ครั้งแล้ว ข้อเรียกร้องของเดนนิส สกินเนอร์คือต้องการให้รัฐบาลพรรคอนุรักษ์นิยม ซึ่งในขณะนั้นมากาเร็ต แทชเชอร์เป็นนายกรัฐมนตรี ชี้แจงเรื่องการขึ้นค่าเช่าบ้านพักจัดสรรของรัฐที่เปิดให้ประชาชนพักอาศัย นับแต่นั้นเป็นต้นมา เดนนิส สกินเนอร์ก็เป็นที่รู้จักมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะหลังจากที่เขาเริ่มแซวหรือล้อเลียนพระราชินีใน ค.ศ. 1988 และทำเช่นนั้นเรื่อยมากว่า 38 ปี

    อสุรกายแห่งโบลส์โอเวอร์

    เดนนิส สกินเนอร์เป็นใคร ? เดนนิส สกินเนอร์ เกิดวันพฤหัสบดีที่ 11 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1932 ในครอบครัวชนชั้นแรงงาน ปัจจุบันอายุ 87 ปี เมื่อครั้งยังหนุ่ม เขาเคยเป็นคนงานในเหมืองแร่ ต่อมาลงสมัครรับเลือกตั้งในเขตโบลส์โอเวอร์ (Bolsover) ใน ค.ศ. 1970 และชนะเลือกตั้งเรื่อยมา จนตอนนี้ได้เป็น ส.ส. ถึง 13 สมัยแล้ว ปัจจุบันเดนนิส สกินเนอร์เป็น ส.ส. อาวุโสผู้ดำรงตำแหน่งยาวนานที่สุดในรัฐสภาอังกฤษด้วยสถิติการดำรงตำแหน่งกว่า 49 ปี และมีภาพยนตร์สารคดีของตัวเองด้วยชื่อว่า "Nature of the Beast"

    เดนนิส สกินเนอร์นับว่าเป็นบุคคลสำคัญของพรรคแรงงาน แม้จะมีช่วงที่ว่างเว้นไปบ้าง แต่เดนนิสก็ได้รับเลือกเป็นกรรมการบริหารระดับชาติของพรรคแรงงานมากว่า 30 ปี เมื่อพิจารณาจุดยืนทางการเมืองของเดนนิส สกินเนอร์ จะพบว่า ส.ส. ฝีปากกล้าคนนี้จัดอยู่ในกลุ่มขนบสังคมนิยมดั้งเดิมของพรรคแรงงาน ที่ต่อสู้เพื่อสิทธิแรงงานและรัฐสวัสดิการมาโดยตลอด ขนบอุดมการณ์ที่ว่านี้เองเป็นหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้ประเทศอังกฤษลงหลักปักฐานเป็นรัฐสวัสดิการหลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2

    ขณะเดียวกัน เดนนิส สกินเนอร์ก็มีจุดยืนในการยกเลิกสภาขุนนางและสถาบันกษัตริย์ เพื่อให้อังกฤษเป็นสาธารณรัฐด้วย โดย ส.ส. 13 สมัยผู้นี้เป็นพันธมิตรคนสำคัญของ เจเรมี คอร์บิน หัวหน้าพรรคแรงงานในปัจจุบันที่มีจุดยืนลักษณะเดียวกัน ซึ่งช่วงชิงการอำนาจนำในพรรคคืนจากกลุ่มของโทนี แบลร์ได้สำเร็จ ทั้งนี้ โทนี แบลร์ เคยเป็นนายกรัฐมนตรีของอังกฤษระหว่าง ค.ศ. 1997 – 2007 และเป็นผู้นำของกลุ่ม “พรรคแรงงานใหม่ (New Labour)” ซึ่งมีเป้าหมายคือการเจือจางอุดมการณ์ดั้งเดิมของพรรคแรงงานให้อ่อนลง และส่งเสริมนโยบายที่เอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มธุรกิจนายทุนมากยิ่งขึ้น

    ด้วยความที่รักษาเก้าอี้ ส.ส. เอาไว้ได้อย่างยาวนาน บวกกับความฝีปากกล้า เดนนิส สกินเนอร์จึงได้รับสมญานามว่า “อสุรกายแห่งโบลส์โอเวอร์” เขาเคยถูกประธานสภาขอให้ออกจากห้องประชุมสภาไม่ต่ำกว่า 10 ครั้ง เนื่องจากใช้คำพูดที่ไม่ควรใช้ในรัฐสภา ตัวอย่างเช่น ใน ค.ศ. 1984 เขาถูกขอให้ออกจากห้องประชุมสภา 2 ครั้ง ครั้งแรกเนื่องจากโจมตีเดวิด โอเว่น (David Owen) หัวหน้าพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตย (Social Democratic Party) ว่า “ไอ้เวรขี้โม้" (pompous sod) เมื่อประธานสภาขอให้ถอนคำพูด เขายอมถอนเฉพาะส่วนที่บอกว่า “ขี้โม้" (pompous)  แต่ไม่ยอมถอนส่วนที่บอกว่า "ไอ้เวร" (sod) ครั้งที่สอง เขาถูกไล่ออกจากห้องประชุมสภา เนื่องจากกล่าวหามากาเร็ต แทชเชอร์ว่าอาจจะให้เงินสินบนแก่ผู้พิพากษา

    คำพูดของ ส.ส. สูทเทาเนคไทค์แดง (สีแดงเป็นสัญลักษณ์ของพรรคแรงงาน) ผู้นี้ ยังคงแสบสันเหมือนเดิมตลอดหลายทศวรรษของการเป็นสมาชิกสภาอันทรงเกียรติ สมกับที่เขานั่งอยู่บริเวณที่นั่งแถวหน้า (Front Bench) ริมทางเดินของห้องประชุมสภา ซึ่งคนในสภาเรียกกันว่า “ที่นั่งหน่วยพิสดาร (Awkward Squad Seat)” เพราะโดยขนบธรรมเนียมแล้ว ส.ส. หัวขบถของพรรคแรงงานจะชอบนั่งในตำแหน่งดังกล่าว

    แถวหน้าริมทางเดิน ที่นั่งประจำของ "อสูรกายแห่งโบลส์โอเวอร์"
    ที่มา: BBC

    ใน ค.ศ. 2005 พรรคแรงงานได้เป็นรัฐบาล และนายโทนี่ แบลร์ได้เป็นนายกรัฐมนตรี พรรคอนุรักษ์นิยมซึ่งเป็นฝ่ายค้านได้พูดถึงผลงานของตนในสมัยทศวรรษที่ 1980 ว่าช่วยให้เศรษฐกิจเติบโต เดนนิส สกินเนอร์ ตอบโต้ว่า “สิ่งเดียวที่เติบโตในช่วงนั้นคือปริมาณโคเคนที่อยู่ตรงหน้าเด็กชายจอร์จและสมาชิกพรรคอนุรักษ์นิยมคนอื่น ๆ” โดยเดนนิส สกินเนอร์ อ้างถึงรายงานข่าวที่เปิดเผยเกี่ยวกับพฤติกรรมการใช้โคเคนในวัยหนุ่มของจอร์จ ออสบอร์น ซึ่งในขณะนั้นเป็นรัฐมนตรีเงาคอยตรวจสอบการทำงานของกระทรวงการคลัง หลังจากพูดจาไม่เหมาะสม เดนนิส สกินเนอร์จึงถูกประธานสภาเชิญออกจากห้องประชุม

    เมื่อไม่นานมานี้ “อสุรกายแห่งโบลส์โอเวอร์” ถูกเชิญออกจากห้องสภาอีกครั้งในปี ค.ศ. 2016 เมื่อเขาโจมตีเดวิด คาเมรอน ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีจากพรรคอนุรักษ์นิยมว่า "ไอ้เดฟสุดแถ" (Dodgy Dave) หลังจากมีเอกสารหลุดจากบริษัทแห่งหนึ่งในประเทศปานามา (หรือที่รู้จักกันในนาม Panama Papers) ว่าเดวิด คาเมรอน ได้รับอานิสงส์จากการที่พ่อของเขาไปลงทุนในต่างประเทศเพื่อฟอกเงิน แต่ไม่ยอมตอบคำถามต่อสาธารณชน​ แต่เดวิด คาเมรอนเองก็โจมตีเดนนิสว่าเป็น “ไดโนเสาร์” อยู่หลายต่อหลายครั้งในการประชุมสภาครั้งต่าง ๆ เช่นกัน เนื่องจากเป็น ส.ส. วัยวุฒิสูง ตัวอย่าง​ความปากคอเราะร้ายเหล่านี้​ คงสะท้อนให้เห็นได้ไม่มากก็น้อยว่าเพราะเหตุใด​เขาถึงได้รับสมญานาม​ว่าเป็น​อสูร​กาย

    ล้อเลียนสมเด็จพระราชินีมากว่า 38 ปี แต่สถาบันกษัตริย์ยังแข็งแรง

    อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ทำให้เดนนิส สกินเนอร์มีชื่อเสียงที่สุดในช่วงที่ผ่านมา คือ การที่เขาเป็น ส.ส. เพียงคนเดียวที่พูดแซวแบล็คร็อดและพระราชินีกลางพิธีเปิดสภาเป็นประจำเกือบทุกปีมาตั้งแต่ ค.ศ. 1988

    เดนนิส สกินเนอร์ ในปี 1990 และ 2011 ที่มา: (1) VICE (2) Duncan Harris/Flickr

    ในพิธีเปิดสภาประจำปี ค.ศ. 1988 เดนนิส สกินเนอร์ได้เริ่มแซวแบล็คร็อด ขุนนางผู้เป็นธุระให้พระราชินี ด้วยการพูดลอย ๆ ว่า “เอ้า ลุกสิ พุซอินบู๊ตส์มาแล้ว” (Ey up, here comes Puss In Boots!) เพราะแบล็คร็อดแต่งตัวเหมือนกับตัวการ์ตูนดังกล่าว ใน ค.ศ. 1989 ท่ามกลางความจริงจังเคร่งครัดของพิธีเปิดสภา เดนนิสพูดแซวแบล็คร็อดต่ออีกว่า “อู้ว์ ชุดดูดีจัง" (Oh, it's a good outfit!) และหลังจากนั้น เดนนิสก็ใช้โอกาสช่วงพิธีเปิดสภาเพื่อสื่อสารความเห็นทางการเมืองของตัวเองมาโดยตลอด หลายครั้งเขากระหน่ำล้อเลียนแบล็คร็อดอย่างต่อเนื่อง จนต่อมาปีนเกลียวมาถึงการล้อเลียนพระราชินีด้วย ตัวอย่างที่น่าสนใจ เช่น

    ค.ศ. 1992 พูดว่า "บอกให้หล่อนไปจ่ายภาษีด้วย" (Tell her to pay her tax)

    ค.ศ. 2000 พูดว่า “บอกให้หล่อนไปอ่านเดอะการ์เดี้ยนด้วย" (Tell her to read the Guardian) เนื่องจากช่วงดังกล่าวหนังสือพิมพ์เดอะการ์เดี้ยนพยายามรณรงค์ให้ยกเลิกสถาบันกษัตริย์ในอังกฤษ

    ค.ศ. 2005 พูดว่า “หล่อนพาคามิเลียมาด้วยหรือเปล่า" (Has she brought Camilia with her?) เนื่องจากเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์เพิ่งแต่งงานใหม่กับนางคามิลลา ปาร์กเกอร์ โบว์ลส์

    ค.ศ. 2006 พูดว่า “บอกให้เฮเลน เมอร์เรน สแตนบายไว้หรือยัง" (Have you got Helen Mirren on standby?) เนื่องจากพระราชินีทรงเจริญพระชนมายุมากแล้ว และเฮเลน แสดงเป็นพระราชินีอลิซาเบธในภาพยนตร์ปี 2006 เรื่อง The Queen

    ค.ศ. 2013 พูดว่า “ไปรษณีย์หลวงพร้อมขาย หัวราชินีแปรรูปวิสาหกิจ" (Royal Mail for sale. Queen's head privatised.) เนื่องจากตราสัญลักษณ์ของไปรษณีย์หลวงเป็นรูปมงกุฎราชินี และรัฐบาลพรรคร่วมเสนอให้แปรรูปวิสาหกิจบริการไปรษณีย์หลวง ทั้งที่นโยบายดังกล่าวขัดกับเจตนารมย์ของมากาเร็ต แทชเชอร์ อดีตนายกรัฐมนตรี​ของพรรคอนุรักษ์​นิยมซึ่งเคยกล่าวไว้ว่า “ไม่พร้อมถ้าจะเอาหัวราชินีไปแปรรูปวิสาหกิจ” ทั้งนี้ บริบทดังกล่าวเป็นช่วงที่มากาเร็ต แทชเชอร์เพิ่งเสียชีวิตไปได้ไม่นาน

    ค.ศ. 2017 พูดว่า “อืม ใส่รองเท้าได้แล้ว รอบแรกเริ่มแข่งบ่ายสองครึ่ง" (Yeah, get your skates on, first race is half past two!) เพราะหลังจากเปิดสภาเสร็จพระราชินีมีนัดต้องรีบไปดูกีฬาแข่งม้าต่อ อีกทั้งพระราชินีเองยังชอบดูการแข่งม้าเป็นชีวิตจิตใจด้วย

    ตัวอย่างการพูดล้อเลียนในพิธีเปิดสภาของเดนนิส สกินเนอร์ ใน ค.ศ. 2016 ตะโกนว่า "อย่ายุ่งกับบีบีซี" หลังจากมีรายงานเปิดเผยว่าบีบีซีใช้จ่ายฟุ่มเฟือย และมีข้อเสนอให้แปรรูปบีบีซีเป็นเอกชน ที่มา: บีบีซี

    เนื่องจากปัจจุบันอังกฤษไม่มีกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเหมือนประเทศไทย (อังกฤษใช้กฎหมายหมิ่น ฯ ครั้งสุดท้ายเมื่อ ค.ศ. 1848 ตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) เดนนิส สกินเนอร์จึงสามารถวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ของอังกฤษได้อย่างอิสระ และล้อเลียนพระราชินีในพิธีเปิดสภามาได้ตลอด 38 ปี สื่อมวลชนในอังกฤษเองก็คอยเฝ้าลุ้นและติดตามการพูดแซวพระราชินีโดย ส.ส. ฝีปากกล้าอย่างเปิดเผยมาโดยตลอดทุกครั้งที่มีการเปิดสภา เสมือนหนึ่งว่าสิ่งที่เดนนิสทำกำลังกลายเป็นประเพณีอีกอย่างหนึ่งของพิธีเปิดสภาไปแล้ว

    ทั้งที่มีการเปิดให้วิพากษ์วิจารณ์ได้อย่างเปิดเผย และมีการต่อสู้เรียกร้องให้อังกฤษเป็นสาธารณะรัฐมาโดยตลอดจากกลุ่มต่าง ๆ แต่สถาบันกษัตริย์ของอังกฤษดูเหมือนจะยังคงอยู่สืบทอดต่อไปอย่างไม่สั่นคลอน จากข้อมูลของ YouGov เมื่อ 4 ปีที่แล้วพบว่าประชาชนร้อยละ 68 เชื่อว่าสถาบันกษัตริย์ให้ผลดีแก่ประเทศ ขณะที่ประชาชนร้อยละ 62 เชื่อว่าอังกฤษจะยังมีสถาบันกษัตริย์อยู่ต่อไปในอีก 100 ปีข้างหน้า ข้อมูลของ YouGov เมื่อปีที่แล้วยังระบุด้วยว่าประชาชนถึงร้อยละ 31 ของประเทศเคยเจอพระราชินีด้วยตัวเอง

      อัพเดต: ปัจจุบันเดนนิส สกินเนอร์ ไม่ได้เป็น ส.ส. แล้ว หลังจากแพ้การเลือกตั้งให้กับตัวแทนจากพรรคอนุรักษ์นิยม เมื่อปลายปี 2562 ที่ผ่านมา 

      หมายเหตุ: ข่าวนี้มีการแก้ไขเนื้อหา

      • จากเดิมระบุว่า ประเทศอังกฤษเลิกใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพไปต้งแต่ ค.ศ. 1715 ตรงกับรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ ราชวงศ์บ้านพลูหลวง สมัยกรุงศรีอยุธยา ตรวจสอบแล้วพบว่าข้อมูลคลาดเคลื่อนจึงแก้ไขเป็น ค.ศ. 1848 ตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
      • สาเหตุของการรายงานคลาดเคลื่อนมาจากการอ้างอิงข้อมูลในวิกิพีเดีย ซึ่งอาจก่อให้เกิดความสับสนระหว่างกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพของอังกฤษ กับกฎหมายกระบวนการพิจารณาคดีอาญาของสก๊อตแลนด์ที่มีการแก้ไขในปี 2010 โดยสภาของสก๊อตแลนด์ระบุว่าไม่มีการฟ้องคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพในดินแดนสก๊อตแลนด์มาตั้งแต่ ค.ศ. 1715 
      • ทั้งนี้ ทีมข่าวการเมืองขออภัยผู้อ่านต่อความผิดพลาดดังกล่าวด้วย

      ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

      ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net