คนส.ยื่นหนังสือ UN ห่วงกรณีข่มขู่คุกคามนักกิจกรรม-ผู้ลี้ภัย ตปท. [12 มิ.ย. 62]

12 มิ.ย. 2562 เวลาราว 14.00 น. นักวิชาการจากเครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (คนส.) เดินทางไปยังอาคารสำนักงานสหประชาชาติ กรุงเทพฯ เข้ายื่นหนังสือและหารือกับสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชน (The Office of the United Nations High Commissioner for Human Rights หรือ OHCHR) เรื่องการข่มขู่คุกคามและทำร้ายผู้เห็นต่างทางการเมือง และการไล่ล่าผู้ลี้ภัยในต่างประเทศ

รศ.อนุสรณ์ อุณโณ คณบดีคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวว่า ที่มาวันนี้ เบื้องต้นนัดไว้กับตัวแทนภูมิภาคของ OHCHR ซึ่งมีพันธกิจในการปกป้องคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในภูมิภาคนี้เพื่อรายงานสถานการณ์การถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนและหาแนวทางที่จะร่วมมือกันเพื่อป้องกันการละเมิดสิทธิและถูกคุกคามต่อไป ที่ผ่านมามีการละเมิดสิทธิต่อประชาชนหลายประการ ไม่เพียงแต่สิทธิการรวมตัวทางการเมือง การแสดงความเห็น แต่ยังมีเรื่องของการถูกคุกคามและทำร้ายร่างกายอย่างต่อเนื่อง ทั้งยังมีแบบแผนคล้ายคลึงมากขึ้น อย่างกรณีอดีตนักศกษา ถูกทำร้ายด้วยชายฉกรรจ์และไม่สามารถสืบหาตัวการได้ หน่วยงานรัฐยังไม่สามารถคุ้มครองสวัสดิภาพแก่พลเมืองได้ และยังมีพลเมืองไทยจำนวนหนึ่ง ที่ด้วยสถานการณ์การเมือง จำเป็นต้องไปอยู่ต่างประเทศซึ่งก็มีข่าวทังการถูกอุ้มหาย การหายตัวไปแบบไร้ร่องรอย ไปจนถึงการพบศพ โดยไม่รู้ว่าใครเป็นคนลงมือ จนกระทั่งบัดนี้คดีทั้งหลายแหล่ก็ยังเงียบหาย หลายคนยังคงต้องหลบๆ ซ่อนๆ อยู่ต่างประเทศ

อนุสรณ์หวังว่า ด้วยบทบาทองค์กรระหว่างประเทศตอนนี้ผนวกกับบริบประเทศไทยที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้นไม่ว่าจะโดยในนามหรือเป็นประชาธิปไตยจำแลงก็ตาม UN ในฐานะองค์กรระหว่างประเทศที่ไทยเองก็เป็นภาคี คงสามารถส่งสัญญาณให้รัฐบาลไทยที่อ้างว่ามาจากการเลือกตั้ง จากกระบวนการประชาธิปไตย ดังนั้น OHCHR น่าจะส่งสัญญาณให้รัฐบาลไทยมาดูแลสวัสดิภาพของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องการยุติการข่มขู่ คุกคามหรือทำร้าย ต้องมีการสืบสวนคดีที่เกิดขึ้นก่อนหน้านั้นอย่างจริงจัง ในเมื่อรัฐบาลอ้างตัวว่ามาจากกระบวนการประชาธิปไตยก็จำเป็นต้องปฏิบัติตามกติกาสากลที่พึงปฏิบัติ จำเป็นต้องให้ความสำคัญตั้งแต่การส่งสัญญาณให้คนที่เห็นต่างมีความอดทนต่อการแสดงออก เพราะต่อจากนี้ที่จะมีรัฐบาลประชาธิปไตย สิทธิการแสดงออกและการชุมนุมเป็นสิ่งที่ได้รับการรับรองอยู่แล้ว ผู้ที่มีความเห็นต่างก็ควรแสดงออกอย่างเป็นอารยะ ไม่ใช่การล่าแม่มดหรือการข่มขู่ คุกคาม ลอบทำร้าย

ศรีประภา เพชรมีศรี อาจารย์จากสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา ม.มหิดล ทวงถามแนวทางการปฏิบัติในเรื่องการยกให้สิทธิมนุษยชนเป็นวาระแห่งชาติตั้งแต่รัฐบาลที่แล้วว่าจะทำอย่างไร จะปล่อยให้คนเห็นต่างถูกทำร้าย ถูกกระทำโดยที่ไม่มีการแสวงหาข้อเท็จจริงตามกฎหมายมากน้อยแค่ไหน หวังว่าหลังเลือกตั้งจะเห็นพื้นที่ทางการเมืองที่มีให้กับทุกคนไม่ว่าจะเห็นพ้องหรือเห็นต่าง

เบญจรัตน์ แซ่ฉั่ว อาจารย์จากสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดลกล่าวว่า เนื่องจากตอนนี้มีการเปลี่ยนระบอบการปกครอง ยังไม่มั่นใจว่าสถานการรณ์การเมือง สิทธิมนุษยชนจะเป็นอย่างไร การทำร้ายคนอย่างเป็นระบบมากขึ้น เป็นสถานการณ์ที่ คนส. เกิดความกังวลใจ ถ้ารัฐบาลจริงใจต่อการจะสร้างสังคมที่เคารพสิทธิมนุษยชนและความเห็นต่างทางการเมือง ก็ควรจะดำเนินการสืบสวนให้เห็นชัดว่าใครเป็นผู้รับผิดชอบต่อการคุกคามที่เกิดขึ้น

ราว 15.00 น. อนุสรณ์และกลุ่มได้หารือเสร็จสิ้น และให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่า ได้เข้าหารือแล้วเสร็จ โดยระบุว่าทาง OHCHR ก็ได้ติดตามสถานการณ์ในไทยเรื่อยมา แม้ไม่มีภารกิจด้านการสอบสวน มีเพียงด้านการติดตามและทำรายงาน แต่ข้อมูลที่ คนส. ส่งให้ก็จะทำให้รายงานที่ส่งให้กับองค์กรระดับบนและสำนักงานใหญ่ที่เจนีวา สวิตเซอร์แลนด์มีความชัดเจนและสะท้อนสภาพความเป็นจริงที่ มีความจำเพาะเจาะจงมากขึ้น เพราะวันนี้ก็มีนักวิชาการที่ทำงานในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและประเด็นสามจังหวัดชายแดนใต้มาร่วมหารือด้วย

ต่อประเด็นเรื่องความลำบากในการทำงานของ OHCHR ร่วมกับรัฐบาลไทย อนุสรณ์ตอบว่า เป็นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่าง UN กับรัฐบาล เพราะว่าที่ UN เข้ามาทำงานได้นั้นก็เพราะรัฐบาลอนุญาต UN ก็จำเป็นต้องรักษาพื้นที่ของเขาในการจะทำงาน ขอบเขตอำนาจทำได้เท่าไหร่ก็ต้องทำเท่านั้น ทั้งนี้ อาณัติ (Mandate) ที่ให้ทำเรื่องการติดตามและรายงานก็ไม่ไปกระทบกับตัวรัฐบาลมากนัก ซึ่งก็เป็นความหนักใจของทางสำนักงานระดับภูมิภาค (OHCHR) ว่าอำนาจที่มีในมือตอนนี้ไม่ได้ทำให้ทำอะไรได้มากไปกว่านี้ ซึ่งอาจต้องแก้ไขที่ตัวอาณัติ ว่าจะให้ทำอะไรได้บ้าง

หมายเหตุ: ประชาไทเพิ่มเนื้อหาหลังการหารือระหว่าง คนส. กับผู้แทนของ OHCHR เมื่อเวลา 16.25 น. วันที่ 12 มิ.ย. 2562

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท