Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

โครงการเหมืองแร่หินทรายอุตสาหกรรม ในท้องที่บ้านนาคำน้อย หมู่ 6 ตำบลคำป่าหลาย อำเภอเมือง จังหวัดมุกดาหาร ซึ่งในขณะนี้ผู้ประกอบการกำลังยื่นขออนุญาตประทานบัตรเพื่อทำเหมืองแร่ และอยู่ระหว่างขั้นตอนการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นโดยสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดมุกดาหาร

ขณะที่กำลังมีการยื่นคำขอประทานบัตร สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม หรือ สผ. ได้เห็นชอบผ่านรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรืออีไอเอ แล้วตั้งแต่ปีพ.ศ.2559 ซึ่งชาวบ้านผู้มีส่วนได้เสียในรัศมีที่จะได้รับผลกระทบขาดการมีส่วนร่วม ขาดการรับรู้ข้อมูลหน่วยงานของรัฐและบริษัท เพื่อประกอบการตัดสินใจ

ขณะเดียวกันกลุ่มอนุรักษ์น้ำซับคำป่าหลายก็ลุกขึ้นมาติดตามคัดค้านโครงการฯ เนื่องจากมีความห่วงกังวลว่าจะเกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ เรื่องฝุ่นละออง เสียง ความเสียหายด้านทรัพยากร ป่าไม้ และแหล่งอาหาร รวมถึงการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศโดยรวมของชุมชน

นอกจากนี้ บริเวณพื้นที่กำลังยื่นคำขอประทานบัตร เป็นป่าน้ำซับซึม ซึ่งเป็นน้ำผุดสามารถใช้ได้ตลอดทั้งปีที่ชาวบ้านหลายหมู่บ้านเข้าไปใช้ประโยชน์ทั้งอุปโภค บริโภค และยังต่อท่อจากแหล่งน้ำดังกล่าว ลงมาใช้ในหมู่บ้านประมาณ 100-200 หลังคาเรือน โดยไม่เสียค่าน้ำแต่อย่างใด

29 พ.ย. 2559 กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ประกาศเป็นพื้นที่แหล่งหินเพื่ออุตสาหกรรม เนื้อที่ 131,686 ตารางกิโลเมตร ในท้องตำบลคำป่าหลาย ซึ่งตั้งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติดงหมูแปลงที่ 2

30 พ.ย. 2559 บริษัท ทรีมาเธอร์ เทรดดิ้ง จำกัด ยื่นคำขอประทานบัตร ที่ 2/2559 โดยมีพื้นที่คำขอประทานบัตร เนื้อที่ / 215 ไร่ 3 งาน 38 ตารางวา ตั้งอยู่หมู่ 6 ตำบลคำป่าหลาย อำเภอเมือง จังหวัดมุกดาหาร

กลุ่มอนุรักษ์น้ำซับคำป่าหลายตั้งข้อสังเกตว่า บริเวณพื้นที่ทำเหมืองที่บริษัทฯ ยื่นขอประทานบัตร เป็นบ่อน้ำผุดที่ไหลตลอดทั้งปี หรือตามกฎหมายแร่เรียกว่าเป็นพื้นที่ “ป่าน้ำซับซึม” ซึ่ง พ.ร.บ.แร่ พ.ศ. 2560 มาตรา 17 วรรค 4 ห้ามไม่ให้ทำเหมือง ทางกลุ่มอนุรักษ์ฯ จึงได้ยื่นหนังสือกับอุตสาหกรรมจังหวัดมุกดาหาร และกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่เพื่อให้ทบทวน

ขณะที่ยังรอความชัดเจนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และช่วงเวลาระหว่างจะการมีเวทีรับฟังความคิดเห็นตามขั้นตอนการทำเหมือง กลับพบว่ามีหน่วยงานของป่าไม้ ได้เข้ามาขอคืนพื้นที่บริเวณรอบคำขอประทานบัตร โดยอ้างประชาชนบุกรุกป่าจึงมีการขอคืนพื้นที่ป่า

23-24 พ.ค. 2562 มีการตัดฟันต้นยางและรื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง การกระทำของเจ้าหน้ารัฐในครั้งนี้ ตั้งข้อสังเกตว่าหน่วยงานดังกล่าวกำลังจะอนุมัติ อนุญาตให้ทำเหมืองในเขตป่าซึ่งเป็นการทำลายป่า และสวนทางกับนโยบายของรัฐบาลที่ต้องรักษาพื้นที่ป่าไม้ แต่กับประชาชนซึ่งอยู่มาก่อนการประกาศป่าสงวนแห่งชาติ กลับเป็นกระทำความผิด

สถานการณ์ปัจจุบัน 
กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ยังไม่ได้อนุญาตทำเหมือง เพราะต้องรอการรับฟังความคิดเห็นใหม่ ทั้ง 4 หมู่บ้าน โดยอุตสาหกรรมจังหวัดมุกดาหาร ยังไม่ชัดเจนเรื่องรายชื่อและขอบเขตผู้มีส่วนได้เสียจากการทำเหมือง ซึ่งเดิมทำแค่ 3 หมู่บ้าน แต่หลังจากการตรวจสอบพบว่า ต้องทำเพิ่มอีก 1 หมู่บ้าน ดังนั้นจึงต้องรอรายชื่อทะเบียนราษฎร ยืนยันกับทางนายอำเภอเมืองมุกดาหารเสียก่อน ว่ามีจำนวนเท่าไร ซึ่งเวทีการรับฟังความคิดเห็นดังกล่าว คาดว่าจะมีขึ้นเร็วๆ นี้ อีกทั้งก็รอจากอนุมัติ อนุญาตจากกรมป่าไม้ ให้เข้าใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติด้วย

 

เผยแพร่ครั้งแรกใน: Facebook Isaanvoice

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net