นิธิ เอียวศรีวงศ์: ความดีและคนดี

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ผมจำได้ว่าไม่กี่เดือนก่อนการยึดอำนาจของ คสช. สถานทูตแห่งหนึ่งจัดงานอำลาให้แก่ ผอ.ขององค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศ นอกจากมีการกินเลี้ยงกันตามปกติของงานประเภทนี้แล้ว เขายังจัดอภิปรายเกี่ยวกับการเมืองไทยขึ้น โดยเชิญนักวิชาการไทยผู้มีชื่อเสียง 4-5 ท่านร่วมในการอภิปราย

ในช่วงนั้นความขัดแย้งและต่อสู้กันระหว่าง กปปส.และ นปช.กำลังเป็นไปอย่างตึงเครียดและเข้มข้น ไม่มีใครบนเวทีอภิปรายแสดงตนว่าอยู่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่หนึ่งในผู้อภิปรายก็กล่าวว่า แม้ฝ่าย กปปส.อาจพูดถึงอภิสิทธิ์ของ “คนดี” ที่ควรเป็นผู้ปกครองบ้านเมืองอย่างสับสนระหว่างความดีกับชนชั้น แต่หลักการว่าคนดีควรได้เป็นผู้ปกครองบ้านเมืองนั้น เป็นหลักการที่ถูกต้องอย่างปฏิเสธไม่ได้

ผู้อภิปรายท่านอื่นเห็นด้วย และดูเหมือนผู้ฟังส่วนใหญ่ก็คงเห็นด้วยเช่นกัน เพราะไม่มีใครซักค้านประเด็นนี้เลย

แต่จะหาอะไรเป็นรากเหง้าของความขัดแย้งในเมืองไทย ที่อยู่ลึกสุดและมีนัยยะครอบคลุมไปอย่างกว้างขวาง ไม่เฉพาะแต่ทางการเมืองเท่านั้น แต่รวมไปถึงทุกด้านของชีวิตผู้คน ไม่ว่าในทางสังคมหรือส่วนตัว ยิ่งไปกว่าเรื่องคนดีและความดีเป็นไม่มีแล้ว

และว่ากันที่จริง ความขัดแย้งว่าเอาหรือไม่เอาทักษิณ-ยิ่งลักษณ์, เอาเลือกตั้งหรือไม่เอาเลือกตั้ง หรือความขัดแย้งอื่นๆ ที่แฝงนัยยะอยู่ในเวลานั้น สืบมาจนถึงเวลานี้ ก็ล้วนมีมูลเหตุมาจากความเปลี่ยนแปลงซึ่งทำให้คนไทยคิดว่าอะไรดี อะไรไม่ดี อะไรถูก อะไรผิด ไม่ตรงกันเสียแล้ว

ทั้งเป็นความเปลี่ยนแปลงที่กว้างใหญ่ไพศาลอย่างที่เราไม่เคยเผชิญมาก่อน ย้อนกลับไปดูในประวัติศาสตร์ พุทธศาสนาเข้าสู่ดินแดนแถบนี้ในลักษณะที่พร้อมจะอยู่ร่วมกับศาสนาผีท้องถิ่นและผีบรรพบุรุษ วัฒนธรรมตะวันตกเคยเข้าสู่สังคมไทยผ่านการกรองของชนชั้นนำ แต่บัดนี้คนจำนวนมากอย่างไม่เคยมีมาก่อน ได้เผชิญกับค่านิยมและ “ทางเลือก” ของสังคมวัฒนธรรมอื่นอย่างกว้างขวางทั้งโลก เผชิญโดยตรงบ้าง โดยอ้อมผ่านการเรียนรู้บ้าง

ดังนั้น ถึงจะเห็นพ้องว่าคนดีควรได้เป็นผู้ปกครองบ้านเมืองหรือมีอำนาจ แต่เราไม่อาจเห็นพ้องต้องกันได้อีกแล้วว่าใครคือคนดี เพราะเราไม่ได้ยึดถือมาตรฐานความดีอันเดียวกันอีกแล้ว

คนที่เที่ยวคุกคามคนเห็นต่างด้วยการเป่านกหวีดไล่ ไปจนถึงการยึดและปิดสถานที่สาธารณะ หรือขัดขวางการใช้สิทธิเลือกตั้งของคนอื่น อาจทำไปด้วยความรักชาติ แต่ความรักชาติเป็นคุณธรรมที่ทำให้สามารถละเมิดคุณธรรมข้ออื่นได้หมด เป็นหลักการที่ไม่ใช่ยอมรับกันทั่วหน้าเสียแล้ว ในหมู่คนจำนวนมากเช่นกันที่คิดว่า สิทธิซึ่งรัฐธรรมนูญรับรองไว้และเสรีภาพที่มีทางเลือกจะใช้ชีวิตเป็นปกติสุขช่วยจรรโลงชาติยิ่งกว่าอื่นใด เพราะชาติอย่างนี้ต่างหากที่เราควรรักษาหวงแหนไว้ในฐานะสมบัติร่วมกันของคนไทยทุกคน

จะเห็นได้ว่า ไม่แต่เพียงเรามีความคิดความเชื่อว่าอะไรดีอะไรไม่ดีแตกต่างกันเท่านั้น การจัดลำดับความดียังต่างกันด้วย เช่น ระหว่างข้ออ้างว่ารักชาติ กับข้ออ้างว่าให้ความเคารพต่อความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกัน ข้ออ้างอย่างไหนควรมาก่อนก็เห็นไม่ตรงกัน

การใช้กำลังบังคับเพื่อรักษาค่านิยมที่ตนยึดถือ ซึ่งเริ่มมาแต่ความเคลื่อนไหวของกลุ่มพันธมิตรเพื่อประชาธิปไตย มาจนถึง กปปส. ได้ไต่ระดับขึ้นถึงจุดสุดยอดในการยึดอำนาจของ คสช. เกือบทันทีที่สามารถยึดอำนาจไว้ในมือได้เด็ดขาด หัวหน้า คสช.ก็ประกาศค่านิยมสิบสองประการ

แต่เขาอาจประกาศช้าไปสัก 50 ปี เพราะค่านิยมเหล่านั้นไม่ได้เป็นที่เห็นพ้องต้องกันในสังคมไทยเสียแล้ว ถึงเรื่องที่เห็นพ้องก็มีความหมายต่างกัน เช่น ควรเชื่อฟังพ่อ-แม่ครูบาอาจารย์อย่างไร จึงจะเป็นคุณแก่ทั้งสองฝ่ายที่สุด โลกปัจจุบันบังคับให้วิถีชีวิตของแต่ละคนแตกต่างกันสุดกู่ ทำให้ไม่อาจมีสูตรตายตัวในทางปฏิบัติอย่างที่หัวหน้าคณะยึดอำนาจเข้าใจ

คําประกาศค่านิยม 12 ประการจึงกลายเป็นเรื่องตลก ความหมายที่แท้จริงของมันคือการประกาศความดีของผู้ประกาศ เพื่อยืนยันว่าการยึดอำนาจครั้งนี้เพื่อสถาปนาคนดีขึ้นสู่อำนาจ ตรงตามกระแสเรียกร้องของนักประท้วงป่วนเมือง และตรงตามคติการปกครองที่องค์กรพุทธศาสนาไทยใช้อ้างเพื่อสนับสนุนผู้อุปถัมภ์ตนตลอดมา

อะไรคือดีนี่แหละ คือรากฐานที่ลึกและแรงที่สุดของความขัดแย้งในสังคมไทยปัจจุบัน และที่จริงผมคิดว่าในโลกทั้งใบเลยก็ว่าได้ ยิ่งในสังคมที่มุ่งจะเอาความดีเป็นตัวกรองอำนาจ ใครดีก็กรองให้ผ่าน ใครชั่วก็กักเอาไว้ไม่ผ่าน จึงเป็นหลักการที่ใช้จริงไม่ได้ ยกเว้นแต่ยึดอำนาจไว้ในมือของตนอย่างเด็ดขาด แล้วตั้งตัวเป็นยมบาล นั่งชี้นิ้วพิพากษาว่าใครดีใครชั่ว แม้กระนั้นก็ยังล้มเหลวเสมอ เพราะยมบาลไม่เขลาเหมือนมนุษย์ มีอานุภาพที่จะรู้แม้แต่ความนึกคิดในจิตใจของคน จึงไม่ต้องลูบหน้าปะจมูกกับใครเลย

การใช้กำลังบังคับให้ทุกคนในสังคมยอมรับความดีให้ตรงกัน แนวปฏิบัติให้ตรงกัน และลำดับชั้นของความดีที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน จึงเป็นไปไม่ได้แล้วในสังคมปัจจุบัน ยกเว้นแต่ในสังคมปิดซึ่งไม่เหลือที่ไหนในโลกอีกแล้ว ส่วนใหญ่ของชาวเอสกิโมหยุดเร่ร่อนล่าสัตว์เพื่อยังชีพ พากันตั้งภูมิลำเนาถาวรในชุมชนซึ่งมีทั้งคน ความคิด และเครื่องใช้ไม้สอยของสังคมอื่นหลั่งไหลเข้ามาในชุมชน

ในทุกสังคมของปัจจุบัน ล้วนเต็มไปด้วยการยึดถือค่านิยมที่หลากหลายขัดแย้งกันไปเกือบทุกเรื่อง อีกทั้งแต่ละคนก็ยังอาจโอนย้ายจากค่านิยมหนึ่งไปยังอีกค่านิยมหนึ่งได้ตลอดชีวิต กรรมกรเหมืองถ่านหินอาจเห็นด้วยว่า เราควรยุติภาวะโลกร้อนด้วยการลดการใช้ถ่านหินลง แต่ที่เชื่ออย่างนั้นก็เพราะคิดว่าจะมีกระบวนการเปลี่ยนผ่านที่ไม่กระทบชีวิตตนอย่างรุนแรงนัก แต่พอลดการใช้ถ่านหินเข้าจริง ตนก็ตกงานและไม่มีรายได้เลี้ยงครอบครัวอีกต่อไป มีนักการเมืองเสนอตัวเป็นผู้นำทางการเมืองซึ่งสัญญาว่าจะหันกลับมาใช้ถ่านหินอีก ย่อมเป็นธรรมดาที่กรรมกรเหมืองถ่านหินย่อมตัดสินใจเลือกหมอนั่นเป็นผู้นำ อย่างน้อยก็เพื่อต่อชีวิตของตนและครอบครัว แม้จะรู้ว่านโยบายถ่านหินแบบนี้ ไม่มีทางจะยั่งยืนได้เป็นอันขาดก็ตาม

ในแง่หนึ่งก็น่าตกใจที่ทุกสังคมล้วนมีความ “แตกแยก” อยู่ลึกๆ ในสังคมนั้นทั้งสิ้น แต่ในอีกแง่หนึ่งก็น่ายินดีที่ความแตกแยกนั้นไม่ตายตัว คือไม่ใช่ระหว่าง ก.และ ข.ตลอดไป วันหนึ่ง ก.อาจกลายเป็นพันธมิตรของ ข.เพื่อไปขัดแย้งแข่งขันกับ ค.ก็ได้

ความขัดแย้งประเภทนี้จึงไม่บ่อนทำลายความเป็นอันหนึ่งอันเดียวของชาติ ตราบเท่าที่ยังเปิดให้มีเสรีภาพในการแสดงออกอย่างเต็มที่ ดอกไม้ร้อยดอกต่างสีต่างพันธุ์ย่อมเบ่งบานได้พร้อมกัน วันหนึ่งคนที่เก็บแต่ดอกสีแดงก็อาจเก็บสีเหลืองไปแซม และกลับกัน จนในที่สุดก็ตระหนักได้ว่าไม่มีมิตรและศัตรูถาวรในโลกแห่งความหลากหลายและเสรีเช่นนี้ ตระหนักอย่างจริงใจด้วย ไม่ใช่เพื่อประโยชน์เฉพาะหน้า

ที่น่ากลัวกว่าคือความแตกแยกที่ตายตัว ไม่เปลี่ยนแปลง มีแต่รุนแรงขึ้น ได้แก่อคติ “ประจำชาติ” ต่างๆ เช่น ชาวพุทธมองมุสลิมด้วยความระแวง คนกรุงเทพฯ มองคนอีสานว่าด้อยกว่า คนพื้นราบมองคนบนที่สูงอย่างเหยียดหยาม คนชั้นกลางมองคนจนว่าเกียจคร้าน ฯลฯ ความแตกแยกเช่นนี้ต่างหากที่ไม่เปลี่ยนง่ายๆ และมักนำไปสู่ความแตกแยกในชาติได้

แม้กระนั้น อคติเหล่านี้ยังอาจถูกลบล้างหรือบรรเทาลงได้ด้วยเสรีภาพในการแสดงออกอยู่นั่นเอง โดยเฉพาะเมื่อเปิดให้ผู้ด้อยอำนาจทั้งหลายเข้าถึงพื้นที่สาธารณะได้เท่าเทียมกับฝ่ายที่มีอคติ (และโอกาสดังกล่าวในเมืองไทยปัจจุบันมีเปิดมากขึ้นกว่าเดิม) ประเด็นที่มาจากอคติเหล่านี้จะถูกนำมาถกเถียงอภิปรายกันในที่สาธารณะมากขึ้น ซึ่งคือการให้การเรียนรู้แก่คนทั่วไปด้วย จนวันหนึ่งอคตินั้นก็อ่อนกำลังลง

และหนึ่งในการเรียนรู้ที่สำคัญก็คือ หลักสูตรการเรียนในการศึกษาพื้นฐานควรมีส่วนช่วยทำลายอคติเหล่านี้ด้วยความรู้และประสบการณ์จริง แทนที่จะตอกย้ำอคติเหล่านี้ให้แน่นแฟ้นมากขึ้น (เช่น “กะเทย”, “ผู้หญิง”, “คนจน” ฯลฯ)

เมื่อกล่าวโดยสรุปก็คือ ในสังคมและรัฐสมัยใหม่ซึ่งกลายเป็น “ชาติ” ไปแล้ว เราหนีส่วนประกอบที่เป็น “ประชาธิปไตย” และ “เสรีนิยม” ไปไม่พ้น จะมากจะน้อยก็ต้องมี ซ้ำจะจำกัดให้มีเฉพาะเพียงบางด้านเช่นเศรษฐกิจด้านเดียวก็ไม่ได้ เพราะเศรษฐกิจจะไปได้ดีก็ต้องมีเสถียรภาพทางการเมืองและสังคมหนุนอยู่ด้วย

ที่จะเตือนไว้เป็นเรื่องสุดท้ายก็คือ ในสังคมและรัฐที่สามารถจำกัดส่วนประกอบของ “ประชาธิปไตย” และ “เสรีนิยม” ให้มีอยู่น้อย ต้องเป็นสังคมและรัฐซึ่งมีประสิทธิภาพสูง เช่นจีนและสิงคโปร์ เป็นต้น สังคมและรัฐไทยไม่เคยมีประสิทธิภาพใกล้เคียงกับสองประเทศนั้นเลย แต่กลับสร้างเผด็จการที่ตึงเครียดสุดโต่งอย่าง คสช. และรัฐธรรมนูญ 2560 จึงไม่มีทางนำไปสู่เสถียรภาพทางด้านใดได้เลย

 

 

เผยแพร่ครั้งแรกใน: มติชนสุดสัปดาห์ www.matichonweekly.com/column/article_201515

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท